ชีวิตที่พอเพียง 3233. สิบประการที่คนเราไม่รู้จักตัวเอง



บทความเรื่อง 10 Things You Don’t Know About Yourself  (1) เขียนโดย  Steve Ayan  ลงพิมพ์ใน Scientific American Mind ฉบับเดือนกรกฎาคม ๒๕๖๑ น่าอ่านมาก   

  • ภาพลักษณ์ที่คนเรามีต่อตัวเอง เป็นภาพที่บิดเบี้ยว ไม่ตรงกับความเป็นจริง     เขาเรียกสภาพนี้ว่า introspection illusion   กล่าวง่ายๆ ว่า คนเราย่อมเข้าข้างตัวเองเสมอ    และเรามักมองตัวเองในแง่ดีเกินจริง
  • ไม่รู้แรงขับดันภายในของตนเอง     หรืออาจเรียกว่า “ตัวตนที่แท้จริง” ของตนเอง     เรื่องนี้นักจิตวิทยาพยายามหาวิธีทดสอบ    เขาคิดวิธี implicit association test   เพื่อขุดค้นหาเจตคติที่แฝงเร้นของคนเรา     การทดสอบนี้ ทำให้คนตอบตอบอย่างเร็ว ไม่ใช้ความคิด    ผลแตกต่างจากการกรอกแบบสอบถาม (ซึ่งผ่านการคิด) อย่างมากมาย 
  • ไม่ตระหนักว่า ภาพลักษณ์ภายนอกและพฤติกรรมของตน บอกคนทั่วไปว่าคุณเป็นคนอย่างไร    โดยที่ผลงานวิจัยบอกว่า คนใกล้ชิดรู้จักตัวเรามากกว่าเรารู้จักตัวเอง
  • แยกใจออกจากตัวเอง อาจช่วยให้รู้จักตัวเองมากขึ้น    เขาบอกว่าการเขียนอนุทินแบบใคร่ครวญสะท้อนคิด (reflective diary)   และการทำสมาธิอาจช่วย    คือช่วยลดวิธีคิดแบบบิดเบี้ยว  และลดการปกป้องตนเอง    
  • คนเรามักคิดว่าตนทำบางสิ่งได้ดีกว่าที่เป็นจริง     มีคนเสนอ Dunning Kruger Effect (2) ที่เสนอว่า ยิ่งคนเราด้อยสมรรถนะเรื่องใดมากเพียงใด   ผู้นั้นจะยิ่งประเมินสมรรถนะของตนสูงเกินจริงมากเพียงนั้น    เรื่องนี้ผมตระหนักมานานกว่าสี่สิบปี โดยการสังเกตน้องๆ    เสียดายที่ไม่ได้เสนอทฤษฎีไว้    เพราะ Dunning Kruger Effect นี้เพิ่งเสนอเมื่อ ๑๙ ปีมานี้เอง
  • คนที่มองภาพลักษณ์ตนเองในแง่ลบ  จะมีสุขภาพจิตไม่แข็งแรง    จากข้อ ๕ และข้อ ๖ ทำให้ผมตีความว่า  คนเราต้องมองตนเองเชิงบวก    แต่ต้องไม่มากเกินไป
  • คนเราหลอกตัวเองโดยไม่รู้ตัว    เพราะเราแสดงออกเกินจริงเพื่อให้ผู้อื่นชื่นชมหรือเชื่อถือ    การหลอกคนอื่นบ่อยๆ ทำให้ตนเองก็ถูกหลอกไปด้วย
  • การอยู่กับ “ตัวตน” ที่แท้จริง เป็นชีวิตที่ดี    เขาอธิบายการศึกษาทางจิตวิทยามากมาย    แต่ผมมีความเห็นว่า การรู้จักตัวเอง และอยู่กับตัวตนที่แท้จริงคือการมีชีวิตที่มีปัญญา และแปดเปื้อนกิเลสตัณหาน้อย
  • คนที่รู้สึกไม่ปลอดภัย มักจะแสดงพฤติกรรมว่าตนเป็นคนดี    หัวข้อนี้อ่านแล้วตกใจ    เขาอธิบายว่า คนที่ไม่มั่นใจว่าตนไม่มีคุณสมบัติบางข้อ จะพยายามปรับปรุงตนเอง     เช่นคนที่กังวลใจว่าตนเป็นคนตระหนี่ มักจะให้เงินคนขอทานมากกว่า
  • หากคุณคิดว่าตนเองเป็นคนยืดหยุ่น คุณจะประพฤติไปในทางยืดหยุ่นยิ่งขึ้น    เขาอ้างถึงผลงานวิจัยของ Carol Dweck แห่งมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด    โดยไม่เอ่ยถึงคำว่า Growth Mindset เลย    แต่ผมตีความว่า นี่คือการมี Growth Mindset ในเรื่องนั้นๆ นั่นเอง

วิจารณ์ พานิช

๑๐ ก.ค. ๖๑


 

หมายเลขบันทึก: 649391เขียนเมื่อ 6 สิงหาคม 2018 22:24 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 สิงหาคม 2018 22:24 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

“การรู้จักตัวเอง และอยู่กับตัวตนที่แท้จริงคือการมีชีวิตที่มีปัญญา และแปดเปื้อนกิเลสตัณหาน้อย” ฝึกปฏิบัติ ได้ด้วย “การเขียนอนุทินแบบใคร่ครวญสะท้อนคิด (reflective diary) และการทำสมาธิอาจช่วย คือช่วยลดวิธีคิดแบบบิดเบี้ยว และลดการปกป้องตนเอง” ขอบพระคุณค่ะ อาจารย์

ผู้ที่…เกริ่น มา ..ตลอด..สองพัน ปี..และ น่า จะเป็น ตำรา ที่..สามารถ..ฝึกฝนได้ตลอด..ให้เข้าใจ ถึง..อัตตา และ อนัตตา…แม้ว่าผู้นั้น..จะ ไม่มีปัญญา ไปหาหนังสือมาอ่าน..ก็ตาม..ผู้นั้นคือ..สิทธารถะ…ที่กล่าวถึง “ธรรม”…นั่นแล..

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท