วิพากษ์ยุทธศาสตร์การวิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ ๒๐ ปี (พ.ศ. ๒๕๖๐ - ๒๕๗๙) : 27. เรียนรู้จากงานวิจัยของ ศ. ดร. ภัทรพงศ์ อินทรกำเนิด


ตอนที่ ๑     ตอนที่ ๒     ตอนที่ ๓      ตอนที่ ๔       ตอนที่ ๕

ตอนที่ ๖      ตอนที่ ๗      ตอนที่ ๘       ตอนที่ ๙       ตอนที่ ๑๐

ตอนที่ ๑๑      ตอนที่ ๑๒     ตอนที่ ๑๓      ตอนที่ ๑๔      ตอนที่ ๑๕

ตอนที่ ๑๖       ตอนที่ ๑๗      ตอนที่ ๑๘      ตอนที่ ๑๙      ตอนที่ ๒๐

ตอนที่ ๒๑     ตอนที่ ๒๒      ตอนที่ ๒๓      ตอนที่ ๒๔     ตอนที่ ๒๕

ตอนที่ ๒๖  

ศ. ดร. ภัทรพงศ์ อินทรกำเนิด (National Graduate Institute for Policy Studies, Tokyo) ส่งบทความวิจัยมาให้   เรื่อง Is the Fourth Industrial Revolution a window of opportunity for upgrading or reinforcing the middle-income trap? Asian model of development in Southeast Asia (1)    เป็นรายงานการวิจัยที่บอกว่า ปฏิวัติอุตสาหกรรมยุคที่ ๔ อาจเป็นคุณหรือเป็นโทษต่อประเทศไทยก็ได้    ขึ้นอยู่กับการจัดการด้านการยกระดับฝีมือแรงงานของประเทศ    ซึ่งต้องการการดำเนินการที่เชื่อมโยงระหว่างหลายกระทรวง โดยมีหน่วยประสานงานกลางของประเทศ   

ทำให้ผมคิดต่อว่า นี่คือ “หน้าต่างแห่งโอกาส” ของสถาบันอุดมศึกษาในภาพรวม ที่จะเข้าไปทำหน้าที่ยกระดับฝีมือแรงงานของประเทศอย่างเป็นระบบ   

ผมได้โอกาสทำความเข้าใจ กับดักรายได้ปานกลาง ว่าตัวการสำคัญคือ  ยึดติดอยู่กับการผลิตสินค้าราคาต่ำ ตามความเคยชิน  

เขาให้นิยาม อุตสาหกรรมยุคที่ ๔ (4IR = 4th Industrial Revolution) ว่า    เป็นกระแสนวัตกรรม ที่ใช้เทคโนโลยีใหม่ๆ เช่น 3D printing, IOT (Internet of Things), AI (Artificial Intelligence), รถยนต์อัจฉริยะ (smart car), big data, on-demand economy (sharing economy) อ่านแล้วผมตั้งข้อสังเกตว่า     เมื่อไรก็ตาม โลกมีการเปลี่ยนแปลงใหญ่ ทุกสังคมหรือทุกประเทศก็จะต้องปรับตัวครั้งใหญ่    ผลคือ จะเกิดผู้ชนะและผู้แพ้    ผู้ชนะคือประเทศที่รู้จักนำการเปลี่ยนแปลงมาเป็นข้อได้เปรียบ    ผู้แพ้คือประเทศที่ทำอย่างนั้นไม่เป็น   หรือไม่ตระหนักว่าต้องปรับตัวอย่างแรง     และผมรู้สึกว่าสังคมไทยมัวแต่สู้รบกันเองภายในประเทศ    จนเอาใจใส่การจัดการนำเอาการเปลี่ยนแปลงใหญ่มาเป็นพลังยกระดับประเทศ น้อยเกินไป  

มีการพูดกันว่ายุคนี้เราต้องจัดการให้เกิด disruptive change    รายงานผลการวิจัยชิ้นนี้บอกว่าความท้าทายของ 4IR ต่อประเทศที่ต้องการไล่กวด สู่ประเทศรายได้สูง (อย่างไทย) มีดังนี้

  1. 1. อย่าหลงอยู่กับข้อได้เปรียบด้านค่าแรงต่ำ
  2. 2. การผลิตมีแนวโน้มจะวนกลับไปผลิตในประเทศที่เจริญแล้ว
  3. 3. ห่วงโซ่อุปทานจะแบนราบ

บทความบอกว่า ปัจจุบันไทยอยู่ในยุค อุตสาหกรรม ๒.๐  คือเน้นการผลิตปริมาณมาก อาศัยข้อได้เปรียบที่แรงงานราคาถูก    การก้าวกระโดดสู่ อุตสาหกรรม ๔.๐ (smart industry)    ก้าวข้าม อุตสาหกรรม ๓.๐ (automation) จึงท้าทายมาก   

บทความนี้ให้ความรู้มาก แต่ผมไม่สันทัดเรื่องนี้ การอ่านจึงใช้เวลามาก    แต่ก็คุ้ม    เพราะบทความนี้ค้นคว้าหาข้อมูลเอามาวิเคราะห์สังเคราะห์    และจัดกลุ่มประเทศในอาเซียนตาม 4IR readiness (ระดับการศึกษาสูง และค่าแรงสูง) ออกเป็น ๓ กลุ่ม    คือ กลุ่มบน ได้แก่มาเลซียและไทย   กลุ่มกลางคือฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย และเวียดนาม   กับกลุ่มล่าง ได้แก่ กัมพูชากับเมียนมาร์ 

ขอตั้งข้อสังเกตว่า เมื่อผมอ่านถึงตอนจัดให้ประเทศไทย แรงงานมีระดับการศึกษาค่อนข้างสูง ผมไม่ค่อยเห็นด้วยในทางปฏิบัติ    เพราะไม่น่าจะนับที่ระดับการศึกษาที่เรียนจบ    ควรวัดที่สมรรถนะของแรงงานจริงๆ    ซึ่งของไทยในภาพรวมผู้จบการศึกษาในระดับต่างๆ มีคุณภาพต่ำ  

เขายกตัวอย่างกรณีศึกษา ๒ ตัวอย่าง คือ รัฐปีนัง ของมาเลเซีย   กับอุตสาหกรรมยานยนต์ของไทย    ที่ผมสรุปว่า ยกระดับอุตสาหกรรมขึ้นได้โดย ๓ กลไกหลัก ที่มีการจัดการอย่างเป็นระบบ คือ (๑) การมีบริษัท supply chain ภายในประเทศที่เข้มแข็ง  (๒) มีกลไกพัฒนา ยกระดับ ฝีมือแรงงาน  (๓) มีกลไก R&D  

การหลุดพ้นจากกับดักรายได้ปานกลางของรัฐปีนัง

กรณีรัฐปีนัง เขาบรรลุการเป็นสังคมรายได้สูง (ประชากรมีรายได้เฉลี่ยสูงกว่ารายได้เฉลี่ยของประเทศมาเลเซียมาก)  ผ่านการเป็นนิคมอุตสาหกรรมอีเล็กทรอนิกส์    โดยเริ่มเมื่อประมาณ ๖๐ ปีมาแล้ว    และมีพัฒนาการยกระดับอุตสาหกรรมขึ้นโดยลำดับ    เน้นที่ co-evolution ระหว่างบริษัทยักษ์ใหญ่ข้ามชาติ กับบริษัทspin-off ภายในปีนัง    มีการจัดตั้งหน่วยงานร่วมมือระหว่างภาคเอกชนกับภาครัฐ ได้แก่ PSDC (Penang Skill Development Centre)  และ CREST ซึ่งก็คือ Penange R&D Consortium            

ทักษะที่ PSDC จัดฝึกอบรม เป็นทักษะเพื่อ 4IR เช่น I 4.0 : the idea, architecture, demand and approach; Embedded Systems for IOT; Cloud Architecture and Technologies; Cybersecurity Fundamentals for Industry 4.0; Big Data : Methods and Solutions; The Robot Operating Systems

นอกจากนั้นรัฐยังจัดตั้ง Penang Career Assistance and Talent Centre   ทำหน้าที่ให้ข้อมูลความต้องการคนมีความสามารถพิเศษ ของอุตสาหกรรม   และจัดตั้งพื้นที่สำหรับก่อตั้งบริษัท start-up   ถึงกับมีคนสิงคโปร์เข้าไปดำเนินการ อาศัยข้อได้เปรียบที่ค่าครองชีพต่ำกว่าสิงคโปร์มาก 

โอกาสยกระดับอุตสาหกรรมยานยนต์ไทย สู่อุตสาหกรรม ๔.๐

ประเทศไทยยกระดับจากประเทศรายได้ต่ำ สู่รายได้ปานกลางขั้นต่ำในช่วง ทศวรรษ 1970   และบรรลุรายได้ปานกลางขั้นสูงในปี ๒๕๔๘   ในช่วง ๒๐ ปีเศษที่ผ่านมา ประเทศไทยเผชิญวิกฤตครั้งแล้วครั้งเล่า  คือวิกฤตเศรษฐกิจครั้งใหญ่ในปี ๒๕๔๐   วิกฤตการเมืองในปี ๒๕๔๙   วิกฤตการเงินโลกในปี ๒๕๕๑   ภาวะการค้าฝืดเคืองในปี ๒๕๕๒   และน้ำท่วมใหญ่ ปี ๒๕๕๔  

รัฐบาลปัจจุบัน ดำเนินการปรับเปลี่ยนเศรษฐกิจไทยจาก productivity-driven economy สู่ innovation-driven economy ที่เรียกว่า ประเทศไทย ๔.๐  

อุตสาหกรรมยานยนต์ไทยเริ่มใน ทศวรรษ 1960   และมีพัฒนาการเรื่อยมา     โดยมีปัจจัยหลักที่ขับเคลื่อนพัฒนาการคือ

  • รัฐบาลออกกฎหมายกำหนดให้ใช้ชิ้นส่วนยานยนต์ที่ผลิตภายในประเทศ ในสัดส่วนที่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จากร้อยละ ๒๕ ในปี ๒๕๑๒   เพิ่มเป็นร้อยละ ๕๐ สำหรับรถนั่ง ในทศวรรษที่ 1970   และต่อมาเพิ่มเป็นร้อยละ ๕๔ สำหรับรถนั่ง  และร้อยละ ๖๐ - ๗๒ สำหรับรถกระบะ    ส่งผลให้มีการถ่ายทอดเทคโนโลยีสู่ประเทศไทยอย่างมโหฬาร    รวมทั้งกระตุ้นอุตสาหกรรมต้นน้ำภายในประเทศ    ซึ่งช่วยกระตุ้นจากเหตุการณ์เงินเยนแข็งค่าในช่วงทศวรรษ 1980
  • BOI กำหนดแรงจูงใจให้บริษัทที่มาลงทุนในประเทศ ลงทุนทำ R&D  และพัฒนาทักษะฝีมือแรงงาน 
  • การก่อตั้งสถาบันยานยนต์ ในปี ๒๕๔๑   ทำหน้าที่ประสานความร่วมมือระหว่างภาคอุตสาหกรรม กับภาครัฐ   เพื่อสร้างความสามารถในการแข่งขันของอุตสาหกรรมยานยนต์ไทย (ซึ่งเวลานี้เป็นอันดับ ๑ ในอาเซียอาคเนย์)   
  • การก่อตั้งโครงการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ของอุตสาหกรรมยานยนต์   เป็นความร่วมมือระหว่างรัฐบาลญี่ปุ่น (JICA) กับรัฐบาลไทย   เริ่มปี ๒๕๔๙   เพื่อยกระดับทักษะของแรงงานในอุตสาหกรรมยานยนต์   ได้ผลดีเป็นอย่างยิ่ง

ในปี ๒๕๖๐ ประเทศไทยมีหุ่นยนตร์อุตสาหกรรม ๒,๖๐๐ ตัว    อยู่ในอุตสาหกรรมยานยนต์ร้อยละ ๕๑.๔   และมีอัตราเพิ่มหุ่นยนตร์อุตสาหกรรมเป็นที่ ๒ รองจากจีน   

ข้อท้าทายของไทยในเรื่องอุตสาหกรรมยานยนต์คือ ยิ่งนับวันรถยนต์ยิ่งมีชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์เพิ่มขึ้น   แต่ไทยยังขาดขีดความสามารถในการก่อตั้งบริษัทชิ้นส่วนอิเล็ดทรอนิกส์เทคโนโลยีสูง    นอกจากนั้นยานยนต์ในอนาคตจะเป็นรถไฟฟ้า ซึ่งมีชิ้นส่วนเพียง ๑,๕๐๐ ชิ้น  เทียบกับ ๓๐,๐๐๐ ชิ้นในรถยนต์ปัจจุบัน    อุตสาหกรรมชิ้นส่วนยานยนต์ไทยจะปรับตัวอย่างไร    

สาระในบทความส่วนของปีนัง บอกผลกระทบต่อรายได้ของประชากรปีนังอย่างชัดเจน    แต่สาระส่วนอุตสาหกรรมยานยนต์ไทยไม่ระบุข้อมูลนี้  

  ข้อเรียนรู้สำคัญจากบทความวิจัยชิ้นนี้สำหรับผมคือ การออกจากกับดักรายได้ปานกลางต้องมีพลังฉุดขึ้น   โดยต้องมีอุตสาหกรรม ๔.๐ นำ    มีระบบภาษี  ระบบแรงจูงใจต่อการลงทุนจากต่างชาติ   ระบบพัฒนาคน   ระบบวิจัยและนวัตกรรม ที่ประสานสอดคล้องกัน

ที่บทความนี้ไม่ได้ระบุ คือระบบดูแลเรื่องสิ่งแวดล้อม (มลภาวะ)    และระบบสังคมและวัฒนธรรม ที่ได้รับผลดี ป้องกันผลกระทบทางลบ   

ขอขอบคุณ ศ. ดร. ภัทรพงศ์ อินทรกำเนิด ที่ส่งบทความนี้มาให้   

วิจารณ์ พานิช        

๙ มี.ค. ๖๒

หมายเลขบันทึก: 660843เขียนเมื่อ 1 เมษายน 2019 18:50 น. ()แก้ไขเมื่อ 14 เมษายน 2020 20:32 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท