วิพากษ์ยุทธศาสตร์การวิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ ๒๐ ปี (พ.ศ. ๒๕๖๐ - ๒๕๗๙) : 26. เรียนรู้จากอังกฤษ


ตอนที่ ๑     ตอนที่ ๒       ตอนที่ ๓      ตอนที่ ๔     ตอนที่ ๕

ตอนที่ ๖     ตอนที่ ๗      ตอนที่ ๘     ตอนที่ ๙      ตอนที่ ๑๐

ตอนที่ ๑๑     ตอนที่ ๑๒      ตอนที่ ๑๓     ตอนที่ ๑๔     ตอนที่ ๑๕

ตอนที่ ๑๖     ตอนที่ ๑๗     ตอนที่ ๑๘      ตอนที่ ๑๙      ตอนที่ ๒๐

ตอนที่ ๒๑     ตอนที่ ๒๒      ตอนที่ ๒๓   ตอนที่ ๒๔ ตอนที่ ๒๕

บ่ายวันที่ ๑๓ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๒ ผมไปประชุม ทีมจัดการ SiCORE-M ของศิริราช    ได้ฟัง รศ. พญ. อรณี แสนมณีชัย เล่าเรื่องการไปดูงานจัดการงานวิจัยของมหาวิทยาลัย กลาสโกว์ แห่งสหราชอาณาจักร เมื่อเดือนมกราคม ๒๕๖๒    ผมจึงตีความนำมาเล่า   เพื่อให้เห็นนวัตกรรมของการจัดการงานวิจัยของมหาวิทยาลัยแห่งหนึ่งของสหราชอาณาจักร

ที่จริง อ. หมออรณี ไปดูงานการจัดการงานวิจัยที่คณะแพทยศาสตร์ สัตวแพทยศาสตร์ และวิทยาศาสตร์ชีวภาพ (College of Medical, Veterinary & Life Sciences)  มหาวิทยาลัยกลาสโกว์    และได้เรียนรู้ว่า คณะนี้มีหน่วยสนับสนุนการวิจัยถึง ๓ หน่วยงาน ที่ทำงานประสานงานกัน    เพื่อสนองนโยบายทำงานวิจัยที่มี impact ต่อโลก ที่มหาวิทยาลัยกำหนดไว้ในวิสัยทัศน์   ได้แก่

  • Transformation Research Management Office   เพิ่งก่อตั้งมาได้ ๓ ปี   ทำหน้าที่ช่วยเหลืออาจารย์นักวิจัยของคณะ ให้เสนอโครงการวิจัยต่อแหล่งทุนได้อย่างเหมาะสม   ได้เงินเพียงพอต่อการทำงาน   และส่งผลงานคุณภาพสูงต่อแหล่งทุน   และมีผลงานที่มี impact สูง    สร้างความน่าเชื่อถือของทีมวิจัยของมหาวิทยาลัยต่อ funding agency    รวมทั้งช่วยพิจารณาและให้คำแนะนำว่า  ควรนำผลงานที่ได้ไปสร้างคุณค่าหรือมูลค่าต่ออย่างไร    ในช่วงเวลา ๓ ปีที่ทำงาน มีผลงานน่าประทับใจมาก   โดยทีมงานมีประสบการณ์สูง เป็นผู้จบปริญญาเอกทั้งสิ้น

                   ทีมงานของหน่วยงานนี้ทำหน้าที่ด้านการจัดการ ให้แก่ทีมวิจัย   ได้แก่ grant application   รับรู้เรื่องทุนวิจัย  และแจ้งอาจารย์ให้เขียนโครงการสมัครรับทุน    และดำเนินการสมัครให้   เป็นการสร้างการเปลี่ยนแปลงให้แก่ระบบวิจัย     แต่ละภารกิจมี “ผู้เชี่ยวชาญ” เฉพาะเรื่องรับผิดชอบทั้งสิ้น   โดยนักวิจัยมุ่งทำงานวิจัย ไม่ต้องเสียเวลากับงานธุรการ    เพราะหน่วย TRMO ช่วยทำงานธุรการเชิงรุกให้    ผลงานใน ๓ ปีคือเพิ่มทุนวิจัยของมหาวิทยาลัยขึ้น ๖๐๐ ล้านปอนด์ 

                       เป็นหน่วยงานที่ช่วยเพิ่ม quality ranking ของมหาวิทยาลัย    เพราะได้รับทุนวิจัยเพิ่มขึ้น   ผลงานวิจัยคุณภาพสูงขึ้น มี impact เพิ่มขึ้น   เพราะทีมงานของ TRMO ช่วยเพิ่มความสามารถของ GU สู่การทำงานเป็น global research player    เป็นข้อเรียนรู้ที่ดียิ่งสำหรับมหาวิทยาลัยวิจัยไทย       

                       ที่น่าสนใจคือ หน่วยงานที่เรียกว่า SiCRES ของศิริราช   ที่มี ศ. พญ. กุลกัญญา โชคไพบูลย์กิจ ก็คิดให้มีหน่วยงานนี้อยู่ภายใต้ SiCRES ทำหน้าที่พัฒนาโครงการ (protocol development) และหาทุน (grant hunting)     

  • Clinical Research Centre   ทำหน้าที่อำนวยความสะดวกแก่การวิจัย clinical trial ของเวชภัณฑ์ใหม่    โดยกำหนดนโยบายการทำ clinical trial, สนับสนุน logistics ในการทำ clinical trial, และเป็นกลไกกำกับดูแล (governance) การทำ clinical trial    ซึ่งมีรายละเอียดด้านแนวทางการบำบัดโรคใหม่ๆ มากมาย     
  • Research and Innovation Office   ทำหน้าที่ commercialization ของผลงานวิจัยของทั้งมหาวิทยาลัย   มีทีมงานเพียง ๕ คน    เป็นหน่วยงานที่ทำรายได้ให้แก่คณะปีละ ๑๘๐ ล้านปอนด์ (ร้อยละ ๖๕ - ๗๐ จากงานด้านวิทยาศาสตร์ชีวภาพ)    มีหน้าที่ ๕ ด้านคือ intellectual property, licensing, spin-outs, start-up companies, และเชื่อมโยง private partner   สรุปว่า ทำหน้าที่เชื่อมโยงให้เกิด innovation ต่อยอดจากผลงานวิจัย (research-led innovation)     

                          ผลงานอยู่ในสาขา sensor & imaging ด้านการแพทย์,  precision medicine, urban big data, quantum technologies   มีรายละเอียดมากมาย    เกิดบริษัท start-up อยู่ภายใต้  GU Holdings Ltd.  กว่า ๒๐ บริษัท   บางบริษัทมีบริษัทใหญ่มาซื้อไป    ผลงานส่วนใหญ่เกิดจากการทำงานร่วมกันระหว่างนักวิจัยสาขาชีวการแพทย์และวิศวกรรมศาสตร์

ผมฟังรู้เรื่องไม่ถึงครึ่ง    จับคุณค่าได้ว่า นี่คือวิธีที่มหาวิทยาลัยทำงานเป็น engagement partner หรือ development partner กับเมือง  กับประเทศ    และกับโลก

หากประเทศไทยจะพัฒนาเป็น ปทท. ๔.๐ (อย่าลืมว่าโลกเขากำลังไปที่ ๕.๐ กันแล้ว)  เราต้องพัฒนากลไกทำนองนี้    และพัฒนาคนที่มีสมรรถนะทำงานจัดการงานวิจัยในลักษณะดังกล่าว    หากกระทรวงอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ที่กำลังอยู่ระหว่างจัดตั้ง และวิ่งกันฝุ่นตลบในขณะนี้ พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานนี้ไม่ได้ภายใน ๕ ปี   การตั้งกระทรวงนี้ก็ไร้คุณค่า

วิจารณ์ พานิช        

๑๔ ก.พ. ๖๒

หมายเลขบันทึก: 660684เขียนเมื่อ 24 มีนาคม 2019 13:33 น. ()แก้ไขเมื่อ 14 เมษายน 2020 20:39 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท