วิพากษ์ยุทธศาสตร์การวิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ ๒๐ ปี (พ.ศ. ๒๕๖๐ - ๒๕๗๙) : 31. เปรียบเทียบนโยบายพัฒนาเทคโนโลยีอุตสาหกรรม และนวัตกรรม ของไทยกับไต้หวัน เรียนรู้จากข้อเขียนของ ศ. ดร. ภัทรพงศ์ อินทรกำเนิด (2) พัฒนาการของไทย


  

ตอนที่ ๑       ตอนที่ ๒       ตอนที่ ๓       ตอนที่ ๔       ตอนที่ ๕

ตอนที่ ๖      ตอนที่ ๗       ตอนที่ ๘       ตอนที่ ๙      ตอนที่ ๑๐

ตอนที่ ๑๑      ตอนที่ ๑๒       ตอนที่ ๑๓       ตอนที่ ๑๔       ตอนที่ ๑๕

ตอนที่ ๑๖      ตอนที่ ๑๗       ตอนที่ ๑๘       ตอนที่ ๑๙      ตอนที่ ๒๐

ตอนที่ ๒๑      ตอนที่ ๒๒       ตอนที่ ๒๓       ตอนที่ ๒๔      ตอนที่ ๒๕

ตอนที่ ๒๖      ตอนที่ ๒๗ ตอนที่ ๒๘          ตอนที่ ๒๙     ตอนที่ ๓๐

ดังเล่าแล้วใน ตอนที่ ๒๙ ว่า ศ. ดร. ภัทรพงศ์ อินทรกำเนิด กรุณาส่งข้อเขียนของท่านเรื่อง Intarakumnerd, P., and Liu, Mengchun, (2019). ‘Industrial Technology Upgrading and Innovation Policies: A Comparison of Taiwan and Thailand,’ in K. Tsunekawa and Y. Todo (eds.), Emerging States at Crossroads, Emerging-Economy State and International Policy Studies, Springer: Tokyo, pp. 119-143 มาให้    และในตอนที่ ๒๙ ได้ตีความนโยบายพัฒนาเทคโนโลยีอุตสาหกรรมและนวัตกรรมของไต้หวันมาเล่าแล้ว    พอจะสรุปได้ว่า ไต้หวันใช้นโยบายการค้านำ  บูรณาการกับนโยบายพัฒนาอุตสาหกรรม แบบยกระดับขึ้นไปแข่งขันในตลาดบนขึ้นเรื่อยๆ   จนเวลานี้อยู่ในตลาดโลกชั้นนำ    ส่วนนโยบายพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม เป็นตัวสนองนโยบายการค้าและนโยบายอุตสาหกรรม   จนเวลานี้นโยบายการค้า  อุตสาหรรม  และการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมของไต้หวัน มุ่งที่ “การผลิตผสานบริการ” (manufacturing servitization)    

ต่อไปนี้เป็นรายละเอียดเกี่ยวกับนโยบายพัฒนาเทคโนโลยีอุตสาหกรรม และนวัตกรรม ของไทย

ในช่วง ๕๐ ปีที่ผ่านมา ประเทศไทยประสบความสำเร็จในการพัฒนาเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง คือ อัตราเพิ่ม จีดีพี เฉลี่ยอยู่ที่ ร้อยละ ๗   เพิ่งมาสะดุดเมื่อไม่กี่ปีมานี้    และประเทศไทยยังอยู่ในกลุ่มประเทศรายได้ปานกลางขั้นสูง    ไม่กระโดดไปเป็นประเทศรายได้สูงอย่างไต้หวัน       

ไทยเริ่มพัฒนาอุตสาหกรรมในช่วงทศวรรษ 1950 พร้อมๆ กับไต้หวัน    แต่ใช้ยุทธศาสตร์ต่างกัน คือไทยเน้นพึ่ง “การลงทุนจากต่างประเทศ” (FDI – Foreign Direct Investment) มากกว่าไต้หวันมาก    ผมเข้าใจว่า ยุทธศาสตร์ดังกล่าว ทำให้เราพึ่งพิงต่างประเทศมากเกินไป ไม่เฉพาะด้านเงินทุน คือรวมทั้งด้านการพัฒนาเทคโนโลยีอุตสาหกรรมด้วย    ทำให้เราไม่พยายามยืนบนขาตนเองด้านการพัฒนาเทคโนโลยีอุตสาหกรรม   หรือยืนบนขาตัวเองไม่เป็น  

ความแตกต่างสำคัญคือ อุตสาหกรรมไทย (จริงๆ) ขาดการพัฒนาเทคโนโลยีระยะยาวของตนเอง (ไม่ได้ทำ technology deepening)    รวมทั้งการเรียนรู้เทคโนโลยีของอุตสาหกรรมไทยช้า หรือไม่ได้เอาใจใส่เรียนรู้   

ผมตีความว่า กล่าวง่ายๆ ไต้หวันเรียนรู้เร็ว  ไทยเรียนรู้ช้า  ในเรื่องการพัฒนาเทคโนโลยีอุตสาหกรรมและนวัตกรรม    ถ้าเทียบกับเด็ก ไต้หวันเป็นเด็กรักเรียน  ไทยเป็นเด็กไม่สนใจเรียน    ไม่คิดว่าชีวิตที่ดีขึ้นกับการเรียนรู้  

ข้อความในย่อหน้าบนน่าจะผิด หากตีความแบบชั้นเดียว    เพราะจริงๆ แล้ว “ผู้เรียนรู้” คือภาคอุตสาหกรรมการผลิต    โดยที่ภาครัฐต้องสร้างสภาพแวดล้อมและ “ตัวช่วย” ให้ภาคอุตสาหกรรมการผลิตเรียนรู้และพัฒนาตนเอง เพื่อความเข้มแข็งและอยู่รอดในระยะยาว    ดังที่ไต้หวันทำ (ดูบันทึกตอนที่ ๒๙)   

ที่จริงไทยเราก็ทำคล้ายๆ ไต้หวัน   แต่เมื่อลงไปในรายละเอียดมีความแตกต่างกันมาก    ทั้งในระดับวิธีคิด (กระบวนทัศน์)  ยุทธศาสตร์  วิธีปฏิบัติ  และวงจรการเรียนรู้เชิงระบบของนโยบายการพัฒนาประเทศ (feedback loop)    โดยผมตีความว่า feedback loop ของนโยบายทุกด้านของไทยอ่อนแอมาก       

กลับไปที่สาระในข้อเขียนของ ศ. ดร. ภัทรพงศ์ ท่านบอกว่า การเปลี่ยนแปลงชัดเจนเริ่มในสมัยรัฐบาลทักษิณ (ปี 2001 – 2006) ที่ใช้ “นโยบายเศรษฐกิจคู่ขนาน” (dual track policy)    คือพัฒนาทั้งเศรษฐกิจส่งออก และเศรษฐกิจภายในประเทศ    หรือกล่าวอีกแนวหนึ่งว่า ทั้งเศรษฐกิจมหภาค และเศรษฐกิจจุลภาค

ข้อเขียนบอกว่า นโยบายอุตสาหกรรมไทย มีลักษณะครอบจักรวาล (functional คือส่งเสริมกว้างๆ ในด้าน โครงสร้างพื้นฐาน  การศึกษา  การส่งออก)   ขาดมาตรการที่ส่งเสริมจำเพาะบางอุตสาหกรรม (เช่นทุนส่งเสริม หรือมาตรการด้านภาษี)   

แต่ก็มีตัวอย่างมาตรการที่จำเพาะและได้ผลดีมากที่รัฐบาลไทยดำเนินการ ก่อผลส่งเสริมการพัฒนาเทคโนโลยีอุตสาหกรรมและนวัตกรรมด้านยานยนต์    คือข้อกำหนดสัดส่วนของชิ้นส่วนรถยนต์นั่งที่ผลิตภายในประเทศที่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จนเป็นร้อยละ ๕๔ ในปี 1986   (ผมเข้าใจว่า สัดส่วนของชิ้นส่วนเพิ่มขึ้นอีกในภายหลัง ทั้งรถเก๋งและรถปิกอัพ)

ประเทศไทยขาดมาตรการหรือเงื่อนไขที่เชื่อมโยงการส่งเสริมการลงทุนต่างประเทศ เข้ากับการยกระดับพัฒนาการของเทคโนโลยีในประเทศของอุตสาหกรรมนั้นๆ อย่างที่ประเทศอื่นๆ ทำ (เช่นญี่ปุ่น เกาหลี)   ทำให้ความเชื่อมโยงระหว่างอุตสาหกรรมข้ามชาติกับอุตสาหกรรมภายในประเทศไม่เชื่อมโยง หรือไม่ใกล้ชิดกัน    ทำให้มาตรการคุ้มครองและส่งเสริมอุตสาหกรรมภายในประเทศก่อผลร้ายต่ออุตสาหกรรมภายในประเทศเอง    คือกลายเป็นตัวปิดกั้นการดูดซับเทคโนโลยี   และการพัฒนาเทคโนโลยีของอุตสาหกรรมภายในประเทศ  

จุดเด่นของนโยบายพัฒนาเศรษฐกิจคู่ขนาน อยู่ที่มาตรการพัฒนาอุตสาหกรรมภายในประเทศ    โดยโครงการ “หนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์”    ที่มีการสนับสนุนการยกระดับเทคโนโลยีของผลิตภัณฑ์ท้องถิ่น    เป็นการริเริ่มการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมในเศรษฐกิจระดับ meso และ micro   แทนที่จะเน้นเฉพาะระดับ macro เท่านั้น อย่างในอดีต       

ในช่วงเวลาเดียวกัน มีการจัดตั้งคณะกรรมการยกระดับการแข่งขันของประเทศ มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน   กำหนดเป้าหมายการแข่งขันใน ๕ อุตสาหกรรมหลัก ได้แก่ ยานยนต์  อาหาร  การท่องเที่ยว  แฟชั่น  และ ซอฟท์แวร์    โดยใช้คำที่เข้าใจง่ายต่อไปนี้   “ดีทรอยท์ของเอเชีย” (Detroit of Asia),   “ครัวโลก” (Kitchen of the World),  “เมืองหลวงด้านการท่องเที่ยวของเอเชีย” (Asia Tourism Capital),  “แฟชั่นเขตร้อนของเอเชีย” (Asia Tropical Fashion),  และ “ศูนย์ graphic design และ animation ของโลก (World Graphic Design and Animation Center)”    ผมตีความว่า เป็นการจัดการนโยบาย industrial globalization ของไทยที่น่าชื่นชมยิ่ง    รัฐบาลกำหนดเป้าหมายการพัฒนาประเทศให้เป็น “ประเทศนวัตกรรมบนฐานปัญญาและการเรียนรู้”    และมอบหมายให้สำนักงานคณะกรรมการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติรับผิดชอบแผนพัฒนาคลัสแตอร์อุตสาหกรรมดังกล่าว    

มีการจัดสัมมนา และการประชุมปฏิบัติการรายคลัสเตอร์ในแต่ละภาคของประเทศ     และมีหน่วยงานดำเนินการตามนโยบายดังกล่าว ได้แก่  (๑) กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม  (๒) สถาบันเฉพาะอุตสาหกรรม ภายใต้กระทรวงอุตสาหกรรม ได้แก่ สถาบันยานยนต์  สถาบันสิ่งทอ  สถาบันอาหาร  สถาบันไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์  (๓) สวทช. ภายใต้กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี  (๔) สำนักงานส่งเสริม SME   ต่างก็ดำเนินการตามแนวทางที่ตนรับผิดชอบ

แต่การบริหารงานตามนโยบายดังกล่าวของรัฐบาลทักษิณ ไม่ประสบความสำเร็จในการยกระดับอุตสาหกรรมของประเทศ    เพราะไม่สามารถบริหารให้ดำเนินกิจกรรมไปในทางเดียวกันอย่างต่อเนื่อง    และไม่ได้สร้างกลไกขับเคลื่อน ติดตาม และประเมินผลลัพธ์ของการดำเนินการตามนโยบาย    มองในมุมหนึ่งการบริหารประเทศแบบรวมศูนย์เบ็ดเสร็จของนายกฯ ทักษิณ น่าจะสามารถขับเคลื่อนนโยบายยกระดับอุตสาหกรรมของประเทศได้    แต่อำนาจรวมศูนย์เบ็ดเสร็จของรัฐบาล และของทักษิณนั้นเอง เป็นบ่อเกิดของการดำเนินการเพื่อผลประโยชน์บางอย่าง, ความไม่แน่นอนของนโยบาย, การตัดสินใจเอื้อต่อบางโครงการเพื่อผลประโยชน์ของนักการเมืองบางคน, และการโฆษณาชวนเชื่อ แทนที่จะเป็นการดำเนินการจริงจัง    

ในปี 2009 รัฐบาลอภิสิทธิ์ เน้นนโยบาย “เศรษฐกิจสร้างสรรค์” (creative economy)  และความเป็นไทย    นำไปสู่การส่งเสริม “อุตสาหกรรมสร้างสรรค์” (creative industry)    ได้แก่ อาหารไทย  หัตถกรรมไทย  นวดไทย  ภาพยนตร์ไทย  และมัลติมีเดียซอฟท์แวร์ไทย    ซึ่งเชื่อมโยงสู่การพัฒนานวัตกรรมได้ไม่ชัดเจน    นโยบายดังกล่าวจึงก่อผลไม่ชัดเจน   

เกิดการปฏิวัติในปี 2014  รัฐบาล คสช. นำนโยบายคลัสเตอร์อุตสาหกรรมมาใช้ใหม่    ในปี 2015 คณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนให้การสนับสนุน super cluster   และในขณะนี้มีการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC – Eastern Economic Corridor) รวม ๓ จังหวัดคือ ชลบุรี  ฉะเชิงเทรา และระยอง     เน้นพัฒนา ๑๐ อุตสาหกรรมเป้าหมายคือ (๑) next generation car  (๒) smart electronics  (๓) affluent medical and wellness tourism  (๔) agriculture & biotechnology  (๕) food  (๖) robotic for industry  (๗) logistics  (๘) aviation  (๙) biofuels & biochemicals  (๑๐) digital & medical services     

ท่านผู้อ่านพึงระวังว่า ผมมีความรู้เรื่องนี้น้อย   อาจตีความเอามาลงบันทึกแบบเข้าใจผิดในบางตอน    นอกจากนั้น บันทึกนี้ยังเขียนแบบทำให้ง่าย ตัดข้อความและข้อมูลส่วนที่เป็นวิชาการออกไป    หากจะให้ได้สาระที่ถูกต้องครบถ้วน  ควรอ่านต้นฉบับเอง    

วิจารณ์ พานิช        

๒๗ พ..ค. ๖๒

หมายเลขบันทึก: 662230เขียนเมื่อ 23 มิถุนายน 2019 15:27 น. ()แก้ไขเมื่อ 14 เมษายน 2020 20:04 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท