วิพากษ์ยุทธศาสตร์การวิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ ๒๐ ปี (พ.ศ. ๒๕๖๐ - ๒๕๗๙) : 29. เปรียบเทียบนโยบายพัฒนาเทคโนโลยีอุตสาหกรรม และนวัตกรรม ของไทยกับไต้หวัน เรียนรู้จากข้อเขียนของ ศ. ดร. ภัทรพงศ์ อินทรกำเนิด


ตอนที่ ๑     ตอนที่ ๒     ตอนที่ ๓      ตอนที่ ๔      ตอนที่ ๕

ตอนที่ ๖     ตอนที่ ๗      ตอนที่ ๘      ตอนที่ ๙     ตอนที่ ๑๐

ตอนที่ ๑๑      ตอนที่ ๑๒      ตอนที่ ๑๓      ตอนที่ ๑๔    ตอนที่ ๑๕

ตอนที่ ๑๖     ตอนที่ ๑๗     ตอนที่ ๑๘      ตอนที่ ๑๙     ตอนที่ ๒๐

ตอนที่ ๒๑     ตอนที่ ๒๒      ตอนที่ ๒๓      ตอนที่ ๒๔      ตอนที่ ๒๕

ตอนที่ ๒๖     ตอนที่ ๒๗       ตอนที่ ๒๘

ศ. ดร. ภัทรพงศ์ อินทรกำเนิด กรุณาส่ง อีเมล์ มาขอบคุณที่ผมช่วยเผยแพร่ผลงานวิจัยของท่าน () พร้อมทั้งแนบข้อเขียนของท่านเรื่อง Intarakumnerd, P., and Liu, Mengchun, (2019). ‘Industrial Technology Upgrading and Innovation Policies: A Comparison of Taiwan and Thailand,’ in K. Tsunekawa and Y. Todo (eds.), Emerging States at Crossroads, Emerging-Economy State and International Policy Studies, Springer: Tokyo, pp. 119-143 มาให้    

เป็นบทหนึ่งในหนังสือที่ว่าด้วยประเทศที่ต้องการพัฒนาตนเอง    บทที่ ศ. ดร. ภัทรพงศ์เขียน เป็นการเปรียบเทียบประเทศไทยกับไต้หวัน ในเรื่องนโยบายยกระดับเทคโนโลยีอุตสาหกรรม และนโยบายนวัตกรรม    ซึ่งรู้ๆ กันอยู่ว่า ดำเนินการได้ผลดีในไต้หวัน ช่วยให้หลุดจาก middle income trap (รายได้ต่อประชากร $ 22,000 ในปี 2015)   ไม่ค่อยได้ผลในประเทศไทย ทำให้ไทยยังติดอยู่ใน middle income trap (รายได้ต่อประชากร $ 5,400 ในปีเดียวกัน)    โดยที่ทั้งสองประเทศเริ่มพัฒนาอุตสาหกรรมในช่วงทศวรรษ 1950 เช่นเดียวกัน     

ในส่วนของไต้หวัน ผมติดใจที่ในข้อเขียนระบุว่า กระทรวงเศรษฐการ (Ministry of Economic Affairs)  ตัดสินใจให้ธุรกิจเอกชนแสดงบทเป็นผู้ดำเนินการหลักในกิจกรรมการลงทุนด้าน R&D    รัฐบาลร่วมลงทุนโดยจัดสรร mutual fund ให้แก่โครงการ R&D ที่กำหนด    ภาคธุรกิจเอกชนของไต้หวันมีอำนาจตัดสินใจว่าจะซื้อหรือจะพัฒนาเทคโนโลยีเอง    โดยภาครัฐให้การสนับสนุน และให้คำแนะนำ     ซึ่งสรุปได้ว่า โมเดลของการพัฒนานวัตกรรมที่ประสบความสำเร็จต้องใช้ยุทธศาสตร์ “ภาคประกอบการนำ”    ไม่ใช่ “ภาครัฐนำ” หรือ “ภาควิชาการนำ” อย่างที่ประเทศไทยใช้ตลอดมา ๖๐ ปี 

ข้อเขียนนี้มีความยาวและรายละเอียดมาก    หลายส่วนผมเข้าใจไม่ชัด    แต่ก็มีบทสรุปที่บอกข้อแตกต่าง ๖ ประการ    ได้แก่

  1. 1. วิวัฒนาการร่วม ระหว่างเครื่องมือกำหนดและดำเนินการตามนโยบายของประเทศ  กับระดับความสามารถด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมของบริษัท    การพัฒนาเทคโนโลยี หรือนวัตกรรม แต่ละอย่าง ต้องการเครื่องมือเชิงนโยบายแบบจำเพาะ    ความสามารถในการริเริ่มและดำเนินการเครื่องมือเชิงนโยบายใหม่ๆ ที่สอดคล้องกับระดับขีดความสามารถของบริษัทที่แตกต่างกัน มีความสำคัญมาก กลไกของประเทศต้องสามารถทำความเข้าใจสถานการณ์ของตนเอง    และออกมาตรการหรือเครื่องมือสนับสนุนที่เหมาะสม ตามจำเพาะสถานการณ์ของประเทศ    ไม่ใช่หลงมุ่งดำเนินการแบบลอกวิธีการของประเทศอื่นที่ใช้ได้ผลมาก่อนแล้ว    แต่มีบริบทแตกต่างกัน    ซึ่งจะไม่ได้ผล              
  2. 2. การเชื่อมโยงประสานงานด้านนโยบาย ที่แข็งแรงและยืดหยุ่น    รวมทั้งขีดความสามารถสูงในการเรียนรู้    มาตรการสนับสนุนนวัตกรรมในบริษัทต้องมีความหลากหลาย  เพื่อให้บริษัทมีโอกาสเลือกมาตรการที่เหมาะต่อความต้องการของตน    ซึ่งแตกต่างกันตามกลุ่มอุตสาหกรรม   ตามเทคโนโลยี   ตามลักษณะของบริษัท  และอาจรวมถึงความต้องการที่จำเพาะของบริษัทนั้นๆ    มาตรการเหล่านั้นควรให้ผลส่งเสริมความเข้มแข็งในภาพรวม    และในกรณีที่มาตรการดังกล่าวใช้ไม่ได้ผลต่อบริษัทบางแบบ  ก็สามารถปรับความยืดหยุ่นของมาตรการให้ก่อประโยชน์ต่อบริษัทแบบนั้นๆ ได้      
  3. 3. โครงการสนับสนุนของรัฐบาลที่เอาจริงเอาจัง  ใช้เวลายาว  และต่อเนื่อง     แต่ละมาตรการต้องผ่านการจัดลำดับความสำคัญมาแล้ว  และเมื่อกำหนดมาตรการ รัฐต้องมุ่งมั่นสนับสนุนอย่างจริงจัง และในระยะยาว
  4. 4. ผู้กำหนดนโยบาย มีความเข้าใจลึกซึ้งต่อธรรมชาติของนวัตกรรม และระบบนวัตกรรม รวมทั้งการเปลี่ยนแปลงตามเวลา    ประเทศไทยเน้นที่ นวัตกรรมที่นำโดยการวิจัยและพัฒนาเท่านั้น   แต่ไต้หวันส่งเสริมนวัตกรรมหลากหลายแบบ ทั้งที่พัฒนาภายในบริษัท และที่พัฒนาร่วมกันหลายบริษัท หรือร่วมกับสถาบันวิจัย    ไต้หวันยังให้แรงจูงใจต่อการสร้างนวัตกรรมด้านบริการ ด้านรูปแบบการทำธุรกิจ และด้านการแก้ปัญหาอย่างมีนวัตกรรม  
  5. 5. การกำหนดนโยบายยกระดับเทคโนโลยี และนโยบายนวัตกรรม ต้องสอดคล้องกัน และหนุนเสริมซึ่งกันและกัน   รวมทั้งต้องการนโยบายพัฒนากำลังคนของประเทศ  ดึงดูดคนมีความสามารถจากต่างประเทศ   รวมทั้งการทำให้องค์กรที่เกี่ยวข้องทำงานร่วมมือกัน    ดังตัวอย่างไต้หวันประสบความสำเร็จในการเพิ่มจำนวน ช่างเทคนิค  วิศวกร และนักวิจัย    จำนวนนักวิจัยต่อประชากร ๑ ล้านคน ในปี ค.ศ. 2009 เท่ากับ ๓๑๑  เพิ่มเป็น ๕,๒๐๐ ในปี 2014    นอกจากนั้น ไต้หวันยังประสบความสำเร็จสูงมากในการดึงคนไต้หวันที่มีความสามารถสูงที่ไปเรียนและทำงานในต่างประเทศ ให้กลับมาทำงานในไต้หวัน   
  6. 6. ทางเลือกและผลสัมฤทธิ์ในการดำเนินการประยุกต์ใช้นโยบาย ขึ้นอยู่กับปัจจัยเชิงสถาบันที่มากมายหลากหลายมาก ได้แก่ กฎหมาย  ข้อบังคับ  ความเข้มแข็งและเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันของระบบราชการ  ความน่าเชื่อถือ  ความเป็นผู้ประกอบการ  ท่าทีต่อคอร์รัปชั่น  และบทบาทของภาครัฐ ในการสนับสนุนบริษัทเอกชน   มีหลักฐานว่า สามารถแก้ไขจุดอ่อนเชิงสถาบันได้   ดังกรณีไต้หวันใช้ สถาบันวิจัยที่รัฐสนับสนุน (GSRI) เป็นกลไกตัวกลางประสานงานกับฝ่ายต่างๆ  

เพื่อให้บันทึกนี้ไม่ยาวเกินไป    ผมจะนำสาระสำคัญของไต้หวันมาลงบันทึกไว้ก่อน    ส่วนของไทย จะนำไปลงแยกอีกบันทึกหนึ่ง

เขาแบ่งยุคของการพัฒนาเศรษฐกิจของไต้หวันออกเป็น ๔ ยุค    แต่ละยุคมีเครื่องมือหรือกลไกสำคัญต่อไปนี้

  1. 1. ยุค การผลิตเพื่อทดแทนการนำเข้า   ใช้แรงงานเป็นหลัก  ในช่วงปี ค.ศ. 1950 – 1962    ในปี 1959 มีการประกาศ แนวทางพัฒนาวิทยาศาสตร์ระยะยาว    และออกกฎหมายชื่อเดียวกัน ในปีเดียวกัน    เพื่อวางรากฐานการพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของประเทศ ด้านกำลังคน ส่งเสริมการวิจัย ลงทุนเครื่องมือวิจัย และการสนับสนุนทุนเพื่อกิจการด้านวิทยาศาสตร์    ในขณะเดียวกัน รัฐบาลได้จัดตั้ง สภาแห่งชาติเพื่อการพัฒนาวิทยาศาสตร์ระยะยาว     ซึ่งต่อมาเปลี่ยนเป็น สภาวิทยาศาสตร์แห่งชาติ  ในปี 1969   
  2. 2. ยุค เน้นส่งออก  โดยนำเข้าสินค้าที่เป็นวัตถุดิบ หรือชิ้นส่วนเพื่อการผลิต   ช่วงปี 1962 – 1980    มีการเน้นพัฒนาอุตสาหกรรมต้นน้ำ ที่มักเป็น SME  และส่งเสริมให้รวมตัวกัน    มีการส่งเสริมบริษัทขนาดใหญ่ ที่ต้องการทุนเข้มข้น และเทคโนโลยีสมัยใหม่    เกิดแผนพัฒนาวิทยาศาสตร์แห่งชาติ 1969 – 1980   ในปี 1979 มีการดำเนินการ โปรแกรมพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเพื่อส่งเสริมธุรกิจด้านเทคโนโลยี    ช่วงก่อนหน้านี้ จุดเน้นของการพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีได้เปลี่ยนจากเน้นวิทยาศาสตร์บริสุทธิ์และการวิจัยพื้นฐาน เป็นการวิจัยเพื่อพัฒนาเทคโนโลยี    เพื่อสนองแผนพัฒนาประเทศ  

                       กลไกสำคัญในการสนับสนุนการวิจัยและพัฒนาของอุตสาหกรรมในประเทศคือสถาบันในกลุ่ม GSRI (Government-Supported Research Institute)    เริ่มจากการจัดตั้ง ITRI (Industrial Technology Research Institute) ในปี 1973   ทำวิจัยพัฒนาเทคโนโลยีหนุนอุตสาหกรรมภายในประเทศให้แข่งขันได้    ต่อมาในปี 1979 ตั้ง III (Institute for Information Industry) เน้นพัฒนา hardware technology    และในปี 1980 ตั้ง Hsinchu Science-based Industrial Park (HSP)     และกลไกสนับสนุนชิ้นใหญ่มากคือ Program for Strengthening Education, Training and Recruitment of High-level Science and Technology Personnel ที่เริ่มในปี 1983        

                         HSP ประสบความสำเร็จอย่างรวดเร็ว ในการดึงบริษัทเอกชนเข้ามาอยู่    และพัฒนาสินค้าไฮเทคส่งออก    จนในที่สุดมี ๒๐๓ บริษัท    พื้นที่คับแคบ ต้องเปิดอุทยานวิทยาศาสตร์เพิ่มอีก ๕ แห่ง     

                          ความสำเร็จในเรื่องกำลังคนระดับสูงด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ที่สำคัญยิ่งของไต้หวัน คือการดึงคนไต้หวันที่ไปเรียนต่อและทำงานในประเทศตะวันตก    ให้กลับมาพัฒนาอุตสาหกรรมไฮเทคของไต้หวัน    กว่าครึ่งหนึ่งของบริษัทใน HSP 203 บริษัท ก่อตั้งโดยคนไต้หวันในต่างประเทศที่กลับไปสร้างบริษัทในประเทศ   

                           เขาบอกว่า ในช่วง ๒ ทศวรรษระหว่างปี 1980 – 2000 บัณฑิตไต้หวันถึงร้อยละ ๑๕ เดินทางออกนอกประเทศ ไปเรียนต่อและทำงาน    คนเหล่านี้กลายเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาอุตสาหกรรมไฮเทคของประเทศ เมื่อกลับมาด้วยมาตรการดึงดูดของรัฐบาล           

  1. 3. ยุค เปิดเสรีการค้า และเน้นเทคโนโลยี    ปี 1980 – 2000    เป็นผลของการกดดันจากสหรัฐอเมริกา    ไต้หวันจำต้องลดภาษีนำเข้า และลดมาตรการป้องกันการนำเข้า     นำไปสู่การปฏิรูปการค้าในปี 1986   โดยสร้างความเข้มแข็งด้านเทคโนโลยีอุตสาหกรรม ต่อสู้กับค่าแรงและค่าที่ดินที่แพงขึ้น รวมทั้งการแข่งขันจากต่างประเทศ    เพื่อสร้างความเข้มแข็งของประเทศ ด้านการพัฒนาเทคโนโลยีอุตสาหกรรม    กระทรวงเศรษฐการจึงตัดสินใจครั้งสำคัญ ให้ภาคเอกชนทำหน้าที่เป็นแกนนำด้านการพัฒนาเทคโยโลยีและนวัตกรรม ดังกล่าวในตอนต้น     

                  ที่จริงการเปิดเสรีการค้า ทำด้วยความจำเป็นจากแรงกดดันจากปฏิสัมพันธ์กับนานาชาติ    การเปิดเสรีการค้านำไปสู่การปรับตัวด้านต่างๆ มากมาย    โดยเฉพาะอย่างยิ่งด้านขีดความสามารถในการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม    และเป็นแรงขับดันให้ไต้หวันยกระดับสินค้าของตน สู่สินค้าไฮเทค   

  1. 4. ยุค เศรษฐกิจโลกาภิวัฒน์   ปี 2000 ถึงปัจจุบัน    ไต้หวันมีเป้าหมายทำหน้าที่เป็นแหล่งทำงานวิจัยและพัฒนา ให้แก่บริษัทข้ามชาติขนาดใหญ่    มีการก่อตั้งโปรแกรม DoIT Taiwan (Multinational Innovative R&D Center in Taiwan) ในปี 2002    เพื่อดึงดูดบริษัทข้ามชาติ    มีผลให้เกิด Intel R&D Innovation Center, ตามมาด้วยบริษัท Sony, Hewlett Packard, Dell, และ IBM    รวมมีบริษัทต่างชาติขนาดใหญ่เข้าไปตั้งศูนย์วิจัยและนวัตกรรมในไต้หวัน ๔๗ บริษัท   รวม ๖๕ ศูนย์    ความพร้อมของไต้หวันอยู่ที่ความเข้มแข็งของภาคอุตสาหกรรมการผลิตในประเทศ ที่สั่งสมความรู้จากกิจการ OEM/ODM,  การมีนักวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่มีความสามารถสูง แต่ค่าจ้างต่ำกว่า,  และการสนับสนุนเอื้ออำนวยจากรัฐบาล  

               โปรแกรม DoIT Taiwan เอื้อสิทธิพิเศษแก่บริษัทข้ามชาติขนาดใหญ่ ๔ ประการคือ  (๑) กำลังคน  (๒) ทุน  (๓) ยกเว้นภาษี  (๔) one-stop service    

                วิกฤติเศรษฐกิจโลกในปี 2008 ช่วยเป็นพลังขับเคลื่อนความก้าวหน้าของการวิจัยและนวัตกรรมของไต้หวันขึ้นไปอีก    โดยกระทรวงเศรษฐการจัดตั้งโปรแกรม LIIEP(Local Industry Innovation Engine Program) เพื่อส่งเสริมให้สถาบันวิจัย (GSRI) เข้าไปจัดตั้งกลุ่มวิจัยให้แก่บริษัทในท้องถิ่นของไต้หวัน รวมทั้งจัดทุนวิจัยสนับสนุนด้วย    เพื่อยกระดับความสามารถในการเข้าถึงการสนับสนุน R&D โดยรัฐบาล    ซึ่งอาจเรียกว่าเป็นรูปแบบการสนับสนุน SME ให้พัฒนาขีดความสามารถในการทำวิจัยและนวัตกรรม   โดยรัฐบาลสร้างกลไกสนับสนุนให้เข้าถึง SME จริงๆ    โดยทั้งหมดนั้น อยู่ภายใต้ “ระบบนวัตกรรมแห่งชาติ”    โดยที่เขาคำนึงถึงผลต่อ “การสร้างงาน” อยู่เสมอ

              ความก้าวหน้าไปอีกขั้นหนึ่ง ของการสนับสนุนของรัฐบาลไต้หวัน หลังยุควิกฤติเศรษฐกิจโลกปี 2008 คือนโยบาย manufacturing servitization    ซึ่งหมายถึงการพัฒนาธุรกิจในลักษณะที่อุตสาหกรรมการผลิต กับอุตสาหกรรมบริการ หลอมรวมเป็นเนื้อเดียวกัน     คือแทนที่จะขายผลิตภัณ์เป็นชิ้นๆ (product)  เปลี่ยนเป็นขายเป็นชุด (integrated products) รวมเอาบริการหลังการขายเข้าไปด้วย    เพื่อให้ลูกค้าได้รับคุณค่าเพิ่มอย่างมากมาย   

              จะเห็นว่า ได้หวันขับเคลื่อนนวัตกรรมหลายด้านไปพร้อมๆ กัน    ใช้นวัตกรรมของระบบธุรกิจเป็นตัวนำนวัตกรรมของระบบการผลิต และนวัตกรรมของระบบวิจัยและนวัตกรรม    ที่ผมขอเรียกว่า “ระบบนวัตกรรมบูรณาการ” (Integrated Innovation Systems)    ไม่ใช่ fragmented innovation systems    โดยที่มียุทธศาสตร์และมาตรการยกระดับของระบบดังกล่าว  เพื่อหนีการแข่งขันจากประเทศที่ค่าแรงต่ำ    มุ่งแข่งขันกับประเทศรายได้สูงและระดับพัฒนาการของเทคโนโลยีสูง  

           และที่สำคัญคือนโยบายพัฒนาเทคโนโลยีอุตสาหกรรม  และ ระบบวิจัยและนวัตกรรม  ของประเทศหันไปมุ่งส่งเสริม manufacturing servitization   ซึ่งหมายความว่า เป็นงานวิจัยและนวัตกรรมที่โจทย์ซับซ้อนยิ่งขึ้น   

           รวมทั้งรัฐบาลมีนโยบายส่งเสริมให้ภาคอุตสาหกรรมการผลิตเปลี่ยนกระบวนทัศน์ สินค้า ๔ ด้านคือ  (๑) ผลิตตามความต้องการของลูกค้า (customized services)  (๒) เปลี่ยนจากขายผลิตภัณฑ์ เป็นขายบริการ  (๓) มุ่งสร้างนวัตกรรมเพื่อให้บริการที่เพิ่มคุณค่า  (๔) ส่งเสริมให้ภาคอุตสาหกรรมรวมตัวกันเพื่อเสริมพลังซึ่งกันและกันในการสนองความต้องการของลูกค้า (demand-oriented alliances)     

ท่านผู้อ่านพึงระวังว่า ผมมีความรู้เรื่องนี้น้อย   อาจตีความเอามาลงบันทึกแบบเข้าใจผิดในบางตอน    นอกจากนั้น บันทึกนี้ยังเขียนแบบทำให้ง่าย ตัดข้อความและข้อมูลส่วนที่เป็นวิชาการออกไป    หากจะให้ได้สาระที่ถูกต้องครบถ้วน  ควรอ่านต้นฉบับเอง    

วิจารณ์ พานิช        

๒๖ พ..ค. ๖๒

หมายเลขบันทึก: 661903เขียนเมื่อ 3 มิถุนายน 2019 16:34 น. ()แก้ไขเมื่อ 14 เมษายน 2020 20:25 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท