วิพากษ์ยุทธศาสตร์การวิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ ๒๐ ปี (พ.ศ. ๒๕๖๐ - ๒๕๗๙) : 32. ระบบ ววน. ภายใต้ กระทรวง อว.


ตอนที่ ๑      ตอนที่ ๒      ตอนที่ ๓      ตอนที่ ๔      ตอนที่ ๕

ตอนที่ ๖      ตอนที่ ๗      ตอนที่ ๘      ตอนที่ ๙      ตอนที่ ๑๐

ตอนที่ ๑๑      ตอนที่ ๑๒      ตอนที่ ๑๓      ตอนที่ ๑๔      ตอนที่ ๑๕

ตอนที่ ๑๖      ตอนที่ ๑๗      ตอนที่ ๑๘      ตอนที่ ๑๙      ตอนที่ ๒๐

ตอนที่ ๒๑      ตอนที่ ๒๒      ตอนที่ ๒๓      ตอนที่ ๒๔      ตอนที่ ๒๕

ตอนที่ ๒๖      ตอนที่ ๒๗         ตอนที่ ๒๘          ตอนที่ ๒๙     ตอนที่ ๓๐   


 ตอนที่ ๓๑

     เย็นวันที่ ๒๘ พฤษภาคม ๒๕๖๒ ท่านประธาน สกสว. (ดร. กฤษณพงศ์ กีรติกร) นัดคนแก่จำนวนหนึ่งไปคุยกับผู้บริหาร สกสว. (สกว. เดิม) เพื่อแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นการดำเนินการของ สกสว. ในช่วงเปลี่ยนผ่าน ราวๆ ๓ ปีข้างหน้า

             ผมโชคดีได้รับเชิญไปร่วมด้วย ทั้งๆ ที่ตระหนักว่าตนเองล้าสมัยไปมากแล้ว    รวมทั้งไม่รู้ความเคลื่อนไหวระดับนโยบายหรือการเมืองของประเทศ    จึงกลายเป็นว่า ผมไปเรียนรู้เป็นหลัก     โดยที่ท่านประธานเป็นผู้ร่วมร่างพระราชบัญญัติกระทรวง อว. (อุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม) นี้     จึงเข้าใจเรื่องราวทั้งหมดในตอนก่อเกิดกระทรวงใหม่    แต่ที่เราไปคุยกัน เน้นที่การดำเนินการให้เกิดผล    ซึ่งแน่ใจได้ว่า มีประเด็นท้าทายสารพัดด้าน   โดยเฉพาะด้านผลประโยชน์เฉพาะบุคคล    ซึ่งที่ผ่านมาก็ได้ทำให้ร่างพระราชบัญญัติกระทรวงใหม่ (, ) เป๋ไปไม่น้อย    

               ท่านประธานบอกว่า เป็นการหารือกันเรื่อง transformation ของ สกว.    โดยเชิญอดีตประธาน และอดีตผู้อำนวยการ สกว. มาให้ความเห็นในฐานะคนกึ่งนอกกึ่งใน   

               ท่านประธานเล่าว่า ตอนยกร่าง พรบ. กระทรวงอุดมศึกษาฯ    กำหนดให้มีคณะกรรมการนโยบายการวิจัยฯ ทำหน้าที่กำกับทิศทางการวิจัยของประเทศ ผ่านการกำหนดงบประมาณวิจัย (budget allocation) ของทุกหน่วยงานในประเทศ    โดยมี สกสว. (สกว. เดิม) ทำหน้าที่เลขานุการของคณะกรรมการนโยบาย

              มีเป้าหมายว่า สกสว. ควรดูแลระบบนิเวศการวิจัย  ได้แก่ ระบบนักวิจัยและสายงานอาชีพ  กฎหมายและสิ่งจูงใจ  ระบบห้องปฏิบัติการ  ระบบมาตรฐาน ฯลฯ    และอีกส่วนหนึ่งของ สกสว. ทำหน้าที่ research funding ในลักษณะ project funding ทำหน้าที่บริหารให้เกิดโครงการวิจัย  กำกับให้มีผลงานที่มีคุณภาพและเผยแพร่  รวมทั้งการสร้างนักวิจัย นักศึกษา ผ่านทุนประเภทต่างๆ       

             แต่เมื่อร่างกฎหมายผ่าน สนช. มีการแก้ไขสำคัญคือ วช. ยังคงอยู่    และทำหน้าที่ สกว. เดิม คือ project funding    แต่กฎหมายก็เปิดช่องให้มีการทบทวน เพื่อตั้ง Research project funding agency ได้ในอนาคต    ผมตีความว่า ถนนสู่  “การมีระบบวิจัยและนวัตกรรมของประเทศไทยที่ทรงพลัง” คดเคี้ยววกวน เพราะผลประโยชน์ของบุคคล    เพราะมีการวิ่งเต้นทางการเมือง เพื่อตำแหน่งของบางคน    

             ท่านประธานบอกว่า transformation ของ สกว. สู่ สกสว.    ควรมี ๓ ด้าน ดำเนินการคู่ขนานกัน     

  • การสร้างสมรรถนะ ของบุคลากรทุกระดับ ทั้งด้าน นโยบาย  บริหาร  และปฏิบัติ
  • การกำหนดยุทธศาสตร์ ทิศทาง วาระ
  • การกำหนดโครงสร้าง และระเบียบภายใน   

      

              ซึ่งผู้รับผิดชอบปฏิบัติการ คือฝ่ายบริหารของ สกสว.   พวกคนแก่เพียงไปร่วมให้ข้อคิดเห็นรับใช้ท่านประธาน บอร์ด สกสว. ที่กำลังทำหน้าที่ strategic function ของ บอร์ด   

              ท่านประธาน บอกว่า การทำงานของ สกสว. ควรมี ๓ มิติ บนหนึ่ง platform คือ

  • Growth  ทั้งด้านเศรษฐกิจ และสังคม
  • Relevant excellence   ทั้งงานวิจัยใกล้ตลาด  งานวิจัยประยุกต์  และงานวิจัยพื้นฐาน 
  • Equity   ซึ่งหมายถึงงานวิจัยชาวบ้าน หรืองานวิจัยท้องถิ่น    เพื่อการเรียนรู้ของชาวบ้าน

               ใน พรบ. กระทรวง อว. ซึ่งประกาศในราชกิจจานุเบกษา เมื่อ ๑ พฤษภาคม ๒๕๖๒ ระบุให้มีบทเฉพาะกาล ๑๘๐ วัน    เป็นช่วงของการเปลี่ยนผ่าน    จะต้องโอนงาน project funding ไปให้ วช.    และ สกสว. จะเริ่มงานใหม่ในปีงบประมาณ ๒๕๖๓    ซึ่งผมเดาว่า งบประมาณวิจัยของประเทศในปี ๒๕๖๓ คงจะจัดสรรตามแบบเดิม    สกสว. คงจะเข้าไปทำอะไรไม่ได้แล้ว     และต้องไม่ลืมว่าหน่วยงานต่างๆ รวมทั้งสำนักงบประมาณคงจะชอบแบบเดิมมากกว่า   

               เพื่อให้ พรบ. กระทรวง อว. ก่อผลได้จริง จึงมีการตั้งคณะกรรมการขับเคลื่อน ที่มี รองนายกรัฐมนตรี ประจิน จั่นตอง เป็นประธาน   มี ๓ คณะทำงาน    คณะทำงานด้านระบบและประสิทธิภาพ มี รศ. ดร. ศักรินทร์ ภูมิรัตน เป็นประธาน    

                คณะกรรมการขับเคลื่อนฯ ให้นโยบายว่า ให้ อว. (รวมทั้ง สกสว.) ตอบคำถาม ๓ เรื่อง (๑) ความสามารถในการแข่งขัน  (๒) การยกระดับ/พัฒนา ทางสังคม  (๓) การสร้างคนและความรู้   

               ผมเห็นด้วยกับท่านประธาน ว่า สกสว. ต้องมีงานวิจัยเพื่อกำหนดทิศทาง  

วิจารณ์ พานิช        

๓๑ พ..ค. ๖๒

หมายเลขบันทึก: 662397เขียนเมื่อ 1 กรกฎาคม 2019 18:34 น. ()แก้ไขเมื่อ 14 เมษายน 2020 20:01 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท