วิพากษ์ยุทธศาสตร์การวิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ ๒๐ ปี (พ.ศ. ๒๕๖๐ - ๒๕๗๙) : 34. บูรณาการและนวัตกรรมของการกำกับระบบ อววน.


 ตอนที่ ๑      ตอนที่ ๒      ตอนที่ ๓      ตอนที่ ๔      ตอนที่ ๕   

ตอนที่ ๖       ตอนที่ ๗       ตอนที่ ๘       ตอนที่ ๙      ตอนที่ ๑๐   

ตอนที่ ๑๑       ตอนที่ ๑๒       ตอนที่ ๑๓       ตอนที่ ๑๔       ตอนที่ ๑๕  

ตอนที่ ๑๖       ตอนที่ ๑๗      ตอนที่ ๑๘       ตอนที่ ๑๙       ตอนที่ ๒๐   

ตอนที่ ๒๑        ตอนที่ ๒๒       ตอนที่ ๒๓        ตอนที่ ๒๔       ตอนที่ ๒๕

ตอนที่ ๒๖        ตอนที่ ๒๗       ตอนที่ ๒๘        ตอนที่ ๒๙       ตอนที่ ๓๐ 

ตอนที่ ๓๑     ตอนที่ ๓๒      ตอนที่ ๓๓

วันที่ ๒๖ มิถุนายน ๒๕๖๒ ผมไปร่วมประชุมคณะที่ปรึกษาทรงคุณวุฒิเพื่อเสนอแนะนโยบายและยุทธศาสตร์ ด้านวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ครั้งที่ ๕/๒๕๖๒ ที่ สอวช. (สำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ)    หรือ สวทน. เดิม

  คณะที่ปรึกษาชุดนี้ประชุมกันไปแล้ว ๔ ครั้งตั้งแต่เดือนเมษายน ๒๕๖๒ เป็นต้นมา โดยผมไม่ได้เข้าร่วมเลย เพราะวันนัดตรงกับวันที่ผมไม่ว่างทั้งหมด    แต่ประชุมครั้งที่ ๕ นี้ผมว่าง    จึงมีโอกาสได้เข้าร่วมประชุมเพื่อเรียนรู้   

โชคดีที่ก่อนประชุมหนึ่งวัน คุณธันยพร แห่ง สอวช. ส่งรายงานการประชุม ๔ ครั้งก่อน รวมทั้งสรุปการประชุม ๔ ครั้งมาให้    ผมจึงได้เรียนรู้ก่อนว่าเขาคุยกันเรื่องอะไรไปแล้ว    และคิดว่าเขายังไม่ได้คิดตรงไหนที่มีความสำคัญมาก    และผมสรุป (อาจจะสรุปผิด) ว่าเขายังคิดเรื่องบูรณาการระบบน้อยไป  

ผมคิดว่าในเรื่องนี้มีบูรณาการสองชั้น  

ชั้นแรกเป็นบูรณาการกันเองภายในกระทรวง อว.    คือบูรณาการระหว่างสองส่วนคือ อุดมศึกษา,  กับ  วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม     หรืออาจมองว่า เป็นการบูรณาการระหว่างสี่ส่วน คือ (๑) อุดมศึกษา, (๒) วิทยาศาสตร์, (๓) วิจัย, (๔) นวัตกรรม    ที่ผมมองว่า ต้องทำสอง (หรือหลาย) อย่างไปพร้อมๆ กัน    คือ transform (เปลี่ยนระดับรากฐาน) และ integrate (บูรณาการ) ระบบ    ที่จะต้องดำเนินการสร้างวัฒนธรรมองค์กรขึ้นใหม่ ทดแทนวัฒนธรรมเดิมที่ปัจจุบันใช้ไม่ได้ผลแล้ว       

ชั้นที่สองเป็นบูรณาการระหว่างกระทรวงอื่นๆ กับกระทรวง อว.    ผมคิดว่า หากมียุทธศาสตร์ทำเรื่องชั้นที่สองนี้ได้ผลจริงจัง    ก็จะได้ผลกระทบไปยังบูรณาการชั้นแรก    ซึ่งผมคิดว่าทำยากกว่า

บูรณาการชั้นที่สองนี่แหละที่เป็น “นวัตกรรม” เชิงกระบวนทัศน์    ที่แหวกแนวไปจากที่มนุษย์ทั่วไปคุ้นเคย   คือ การให้ความสำคัญแก่ผู้อื่นหรือหน่วยงานอื่น สูงกว่าความสำคัญของตนเองหรือหน่วยงานที่ตนรับผิดชอบ   ที่ผมใช้ได้ผลสำเร็จมาแล้วตอนสร้าง สกว. ในช่วงปี พ.ศ. ๒๕๓๖ - ๒๕๔๔

ในตอนปลายปี ๒๕๓๕ ต่อต้นปี ๒๕๓๖ ผมครุ่นคิดแล้วครุ่นคิดอีก ว่าในฐานะผู้อำนวยการคนแรกของ สกว.   ผมจะสร้างวัฒนธรรมองค์กรแบบไหน ที่จะวางฐานความเข้มแข็งให้แก่องค์กร    ที่จะทำให้ สกว. ทำประโยชน์แก่ประเทศ ในการสร้างความเข้มแข็งของระบบวิจัยของประเทศได้อย่างแท้จริง     คิดแล้วคิดเล่าอยู่หลายเดือนก็คิดไม่ออก    เพราะผมไม่ใช่คนสมองดีขนาดนั้น

แต่ผมเป็นคนโชคดี ที่มักมีเทวดามาคอยดลใจ ชี้แนวทางใหม่ๆ ให้    เทวดาดลใจนี่แปลว่า คิดได้แบบมัวๆ ไม่ชัด    มองเห็นพอจะเอาไปดำเนินการได้ (คิดวิธีการ หรือ how ได้)      แต่อธิบายทฤษฎีไม่ได้    ต้องใช้เวลาอีกนานจึงอธิบายหลักการหรือทฤษฎีได้    นาน ๒๖ ปีเชียวนะครับ (ทำตอนปี ๒๕๓๖   อธิบายเป็นหลักการในปี ๒๕๖๒ คือตอนที่กำลังเขียนอยู่นี่ ที่ร้าน Café Amazon ที่ตึกจามจุรี สแควร์)   

หลักการเชิงยุทธศาสตร์ที่ผมใช้ คือ การให้ความสำคัญแก่ผู้อื่นหรือหน่วยงานอื่น สูงกว่าความสำคัญของตนเองหรือหน่วยงานที่ตนรับผิดชอบ ที่กล่าวแล้ว    

พระราชบัญญัติกองทุนสนับสนุนการวิจัย พ.ศ. ๒๕๓๕ ระบุไว้ที่มาตรา ๔ ว่า “ต้องไม่ทำวิจัยเอง”    นี่แหละครับ เทวดาดลใจ หรือพรายกระซิบของผม    ให้คิดหลักการเชิงยุทธศาสตร์ในการสร้าง สกว. ให้เป็นที่ยอมรับนับถือในคุณค่าต่อบ้านเมืองได้    เพราะ “ไม่ทำวิจัยเอง”  แปลว่า สกว. ไม่ใช่หน่วยงานหลักในการทำวิจัย แต่เป็นหน่วยสนับสนุน    

“หน่วยสนับสนุน” ต้องไม่ทำตัวเป็นผู้มีอำนาจบงการหรือสั่งการ    จึงจะ “ได้ใจ” ผู้ปฏิบัติ หรือหน่วยปฏิบัติ    และ “ได้งาน” ให้แก่บ้านเมือง     หัวใจคือ บ้านเมืองได้ประโยชน์   

ข้างบนนั้น เขียนก่อนการประชุม

หลังการประชุม ผมสรุปว่า ท่านประธาน (รศ. ดร. ศักรินทร์ ภูมิรัตน) ต้องการคำแนะนำวิธีการที่ สอวช. ทำหน้าที่ “ชง” เรื่อง เข้าสู่การประชุมคณะกรรมการขับเคลื่อนการปฏิรูป การอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม    ซึ่งจาก “ข้อมูลที่ได้จากห้องน้ำ”  (หมายความว่าได้จากการพูดคุยกันในห้องน้ำ  ไม่คุยกันตรงๆ ในที่ประชุม) ต้องหาทางเอาชนะการประชุมเพื่อแบ่งเค้กระหว่างหน่วยงาน   ไปสู่การทำงานเพื่อเป้าหมายพัฒนาบ้านเมืองจริงๆ    โดยมีแผนยุทธศาสตร์ชาติ ๒๐ ปี เป็นเข็มทิศชี้นำ   

เราคุยกันว่า สอวช. ควรชงเรื่อง What, Why และ How Much ให้แก่คณะกรรมการขับเคลื่อนฯ    ปล่อยให้หน่วยปฏิบัติคิด How หลายๆ แบบเอง    โดย สอวช. มีระบบข้อมูลสำหรับติดตามผลเพื่อใช้สร้าง Double Loop Learning    เป็นการเสนอโครงสร้างการทำนโยบายแบบใหม่เอี่ยมหลุดโลก    เพื่อให้ระบบนโยบาย อววน. เป็นระบบที่เรียนรู้ (Learning Systems)    มี Systems Learning ฝังอยู่ในระบบ วิธีทำงาน และวัฒนธรรม  

แต่ก็มีคนเตือนว่า หลักการดีๆ ทั้งหมาย เมื่อเอาเข้ามาใช้ในราชการและการเมืองไทยแล้วเดี้ยงทุกที    เพราะเราเป็สังคม “ขอ” กันได้    คนไม่เคยขออย่างผมบอกตัวเองว่า สภาพนั้นนั่นแหละที่เราจะต้องช่วยกันแก้    มิฉนั้น “ประเทศไทย ๔.๐” ก็ไม่เกิด

What หมายถึงมีเป้าหมายอะไร    ฝ่ายนโยบายกำหนดเป้าหมาย    พร้อมกับอธิบาย Why ว่าเป้าหมายนั้นมีความสำคัญหรือคุณค่าอย่างไร   หากไม่ทำสิ่งนั้นประเทศจะสูญเสียอะไร    และระบุ How Much ว่าประเทศจะลงทุนเท่าไรเพื่อบรรลุเป้าหมายนั้น

How เป็นเรื่องของฝ่ายปฏิบัติ ที่มีอิสระที่จะคิดเอง  ทดลองใช้เอง    เพื่อการบรรลุเป้าหมาย What    โดย สอวช. จัดระบบข้อมูลสำหรับติดตามผลเป็นระยะๆ ส่งสัญญาณให้แก่ฝ่ายปฏิบัติ และต่อสังคมวงกว้าง    เพื่อให้ฝ่ายปฏิบัติปรับ How หากผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นไม่เป็นไปตามเป้าหมายรายทาง    หรือเพื่อให้ฝ่ายปฏิบัติเกิดกำลังใจว่าใช้วิธีการที่ถูกต้อง หากผลออกมาดีหรือดีมาก    จะได้ดำเนินการตามวิธีการที่คิดขึ้นอย่างมั่นใจ   

ระบบการทำงานในแนวทางดังกล่าว จะเป็นการให้เกียรติ ให้โอกาสแก่หน่วยปฏิบัติ    ในการสร้างสรรค์วิธีการแปลกใหม่ (innovation) ในการทำงานใหญ่    คืองานพัฒนา อววน. ให้แก่ประเทศ    

จะบรรลุเป้าหมาย มั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน เท่าเทียม ได้ ต้องการการคิดใหม่ ทำใหม่ เพื่อประโยชน์ของส่วนรวม    

วิจารณ์ พานิช        

๒๗ มิ.ย. ๖๒

  

หมายเลขบันทึก: 664833เขียนเมื่อ 6 สิงหาคม 2019 13:47 น. ()แก้ไขเมื่อ 14 เมษายน 2020 19:57 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท