ชีวิตที่พอเพียง 3471. ทำงานเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (๒๕) มองไปข้างหลัง ก้าวไปข้างหน้า สู่การยกระดับโรงเรียนพัฒนาคุณภาพต่อเนื่อง


บันทึกที่ ๑       บันทึกที่ ๒       บันทึกที่ ๓       บันทึกที่ ๔       บันทึกที่ ๕

บันทึกที่ ๖        บันทึกที่ ๗       บันทึกที่ ๘       บันทึกที่ ๙       บันทึกที่ ๑๐

บันทึกที่ ๑๑       บันทึกที่ ๑๒     บันทึกที่ ๑๓    บันทึกที่ ๑๔     บันทึกที่ ๑๕

บันทึกที่ ๑๖      บันทึกที่ ๑๗      บันทึกที่ ๑๘    บันทึกที่ ๑๙  บันทึกที่ ๒๐     

 บันทึกที่ ๒๑        ตอนที่ ๒๒    ตอนที่ ๒๓     ตอนที่ ๒๔


เช้าวันที่ ๑๔ พฤษภาคม ๒๕๖๒ ผมไปร่วมเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ “มองย้อนหลัง ก้าวไปข้างหน้า สู่การยกระดับโรงเรียนพัฒนาคุณภาพต่อเนื่อง”   จัดโดย กสศ. ที่ โรงแรมเซนจูรี่พาร์ค ถนนราชปรารภ กรุงเทพฯ 

ผมเล่าเรื่องโครงการโรงเรียนพัฒนาคุณภาพต่อเนื่องไว้ ที่นี่    เราเรียกโครงการนี้ด้วยชื่อสั้นๆ ว่า sQip – School Quality Improvement Program  

จะเห็นว่า เราสามารถมองเป้าหมายของโครงการนี้ได้หลายมุม หลายมิติ    

ในมุมมองของผม ผมอยากเห็นโครงการนี้ทำหน้าที่ “เป็นเพื่อนร่วมทาง” (empowerment) ให้แก่โรงเรียนที่ ต้องการเป็นตัวของตัวเอง  ในการพัฒนาตัวเอง ให้เป็นโรงเรียนคุณภาพสูง     ไม่ใช่โครงการเข้าไปชวน หรือเข้าไปสร้างภาระให้แก่โรงเรียน   

ในอดีตจนปัจจุบัน ผู้รับผิดชอบคุณภาพการศึกษาของโรงเรียนแต่ละแห่งอยู่ที่ไหนก็ไม่รู้    ไม่มีผู้รับผิดชอบ    เพราะเมื่อโรงเรียนมุ่งทำตามคำสั่งของหน่วยเหนือ    หากผลออกมาไม่ดี โรงเรียนก็บอกว่าเป็นความรับผิดชอบของหน่วยเหนือ    หน่วยเหนือมีหลายชั้นหลายหน่วย ซับซ้อนจนจับมือใครดมไม่ได้    สภาพของระบบการศึกษาของเราจึงตกต่ำลงไปเรื่อยๆ    ด้วยสาเหตุที่พบบ่อยมาก แต่มักไม่ตระหนักกัน คือ ไร้ผู้รับผิดชอบ     

             ผมจึงมองว่า โครงการยกระดับโรงเรียนพัฒนาคุณภาพต่อเนื่อง นี้ เป็นโครงการเปลี่ยน (transform) ระบบการศึกษา    จากระบบที่ไร้ความรับผิดรับชอบ (accountability)  ไปสู่ระบบที่โรงเรียนยืดอกออกมารับผิดรับชอบ ต่อคุณภาพของผลลัพธ์การเรียนรู้ของนักเรียนของตน   

            ผมตีความว่า  ภายใต้การดำเนินการของ โครงการยกระดับโรงเรียนพัฒนาคุณภาพต่อเนื่อง    โรงเรียนต้องการ และมีอิสระในการกำหนดเป้าหมายพัฒนาคุณภาพของโรงเรียน  และร่วมกันดำเนินการพัฒนาคุณภาพของโรงเรียน    โดยมุ่งที่เป้าหมายผลลัพธ์การเรียนรู้ของนักเรียน    ฝ่ายจัดการโครงการ และ กสศ. ทำหน้าที่ “กองหนุน” ไม่ใช่เจ้าของงาน    เจ้าของงานคือโรงเรียน   

            ในโครงการ sQip ที่มีโรงเรียนเข้าร่วม ๑๙๗ โรงเรียน และกำลังจะจบนั้น    “กองหนุน” เอาอาวุธ ๕ ชิ้น ไปมอบให้โรงเรียนเลือกใช้ และปรับใช้    ได้แก่ 5Q  คือ (๑) Q-Goal เป้าหมายการพัฒนาคุณภาพของโรงเรียน  (๒) Q-Coach   (๓) Q-Info  (๔) Q-PLC   (๕) Q-Network

            เครื่องมือทั้ง ๕ นี้ ทางโรงเรียนอาจมองเป็นภาระก็ได้  มองเป็นตัวช่วยก็ได้    ขึ้นกับ mindset ของผู้บริหารและครูในโรงเรียน    และแน่นอนว่า มีโรงเรียนที่มองว่าเป็นภาระ เพราะเมื่อเริ่มต้นโครงการเมื่อ ๒ ปีก่อน มีโรงเรียนเข้าร่วมจำนวน ๒๐๑ โรงเรียน    การที่มีโรงเรียนสมัครใจออกจากโครงการ ๔ แห่ง  น่าจะเป็นตัวสะท้อนกระบวนทัศน์ภาระ   

             ใน โครงการยกระดับโรงเรียนพัฒนาคุณภาพต่อเนื่อง โครงการใหม่นี้ จะมี อาวุธ ๖ ชิ้น  คือเพิ่ม Q-Classroom    และมีคุณเพ็ญพรรณ จิตตะเสนีย์ เป็นผู้จัดการโครงการ    ผมทำหน้าที่ประธานคณะกรรมการกำกับทิศฯ    ผมได้เสนอต่อที่ประชุมคณะกรรมการกำกับทิศว่า ควรรับสมัครและคัดเลือกโรงเรียนที่จะเข้าร่วม ๒๘๐ โรงเรียนที่เป็นกลุ่มแรก    เอาเข้ามาเฉพาะโรงเรียนที่มีความมุ่งมั่นจริงจังที่จะเป็นตัวของตัวเอง เท่านั้น    ไม่เอาพวกเข้ามาเพราะเกรงใจ หรือเพื่อเข้าร่วมขบวน    หรือหวังผลประโยชน์ส่วนตัวจากการเข้าร่วมโครงการ 

            โครงการนี้เป็นโครงการ ๕ ปี    มีเป้าหมายโรงเรียนเข้าร่วม ๘๐๐ โรงเรียน    คิดเป็นร้อยละ ๑๐ ของโรงเรียนขนาดกลาง ที่ดูแลเด็กด้อยโอกาส   ที่มีจำนวนประมาณ ๘,๐๐๐ โรงเรียน      

               ชื่อของการประชุมวันนี้ “มองไปข้างหลัง ก้าวไปข้างหน้า สู่การยกระดับโรงเรียนพัฒนาคุณภาพต่อเนื่อง”  บอกชัดเจนว่า มีเป้าหมายเพื่อเรียนรู้จากโครงการที่ทำไปแล้ว    ในมิติที่ลึก และหลากหลายมุมมอง    สำหรับเอามาปรับใช้ใน โครงการยกระดับโรงเรียนพัฒนาคุณภาพต่อเนื่องที่กำลังจะเริ่ม    โดยมีเป้าหมายคือ การขับเคลื่อนขบวนการพัฒนาคุณภาพโรงเรียน  โดยโรงเรียนลุกขึ้นมาพัฒนาตัวเอง    เปลี่ยนจากวัฒนธรรมรอรับคำสั่ง    มาเป็นตัวของตัวเอง คิดเอง ทำเอง โดยมี เพื่อนคู่คิด หรือ empowerment partner คือกลไกต่างๆ ของโครงการ   

              ทำให้ผมคิดว่า ความสำเร็จแท้จริงของโครงการนี้  คือ โรงเรียนเป็นตัวของตัวเอง     โดยที่ในโครงการนี้ โรงเรียนต้องลุกขึ้นมาดำเนินการ    กลไกของ กสศ. ร่วมกับ สพฐ. เป็น “กองหนุน”   

             ข้อความข้างบนนั้น เขียนก่อนการประชุม    และผมใช้เป็นประเด็นเกริ่นนำการประชุม    แล้วอยู่ร่วมการประชุมเฉพาะในช่วงเช้า ซึ่งคุณเพ็ญพรรณ ทำหน้าที่ดำเนินการด้วยการตั้งคำถาม ให้เกิดการสะท้อนคิดจากประสบการณ์จากโครงการ sQip   เกิดการเรียนรู้มากมาย   

             เริ่มการประชุมด้วย อ. นคร ตังคพิภพ เล่ากลับไปที่ปี ๒๕๔๔   สมัยที่ที่ท่านเป็นผู้อำนวยการโรงเรียนมัธยมขนาดใหญ่ ดำเนินการ ยุทธศาสตร์การบริหารแบบหลอมรวม IAS    โดยมียุทธศาสตร ๕ ข้อ คือ

  • SBM (School-Based Management) โรงเรียนมีอิสระในการคิด   กบฏสีขาว   
  • Learning Reform ปรับการเรียน เปลี่ยนการสอน
  • ระบบดูแลช่วยเหลือเด็กทุกคน
  • เทคโนโลยีสารสนเทศช่วยการเรียนการสอนและการบริหาร  
  • ระบบประกันคุณภาพ   

          ฟัง อ. นครแล้ว ผมได้ตระหนักว่า กระบวนการคุณภาพโรงเรียน มีการริเริ่มมานานนม    แต่น่าเสียดายไม่เข้าไปครอบครองระบบใหญ่ของการศึกษา     ที่เลื่อนไหลไปในทางเสื่อม    อ. นครบอกว่า ในโครงการ sQip  ทีมงานใช้ทั้งแรงกดดัน และแรงหนุน

          หลังจากนั้น มีการพูดคุยกันเรื่อง ระบบ Q-Info ที่ ดร. วรลักษณ์ คงเด่นฟ้า อาจารย์คณะวิศวกรรมศาสตร์ มน. ผู้พัฒนาโปรแกรมนี้  มาเล่าประโยชน์ใช้งานของโปรแกรมที่มีมากด้าน    แล้วคุณเพ็ญพรรณชี้ให้ Q-coach, ผอ. โรงเรียน และครู เล่าประสบการณ์การใช้งาน   และความต้องการเพิ่มเติม    เป็นประโยชน์มากต่อการดำเนินการ  โครงการยกระดับโรงเรียนพัฒนาคุณภาพต่อเนื่อง ในโอกาสต่อไป

        ต่อด้วย รศ. ดร. ธันยวิช วิเชียรพันธ์ ผอ. สำนักวิจัยและพัฒนานวัตกรรม  ม. ศรีปทุม วข. ชลบุรี เล่าเรื่อง Q-classroom ที่ปรับมาจากโครงการสร้างเครื่องมือสอน และวัด critical thinking และ creativity  ร่วมกับ OECD    ซึ่งเป็นเรื่องใหม่สำหรับผู้เข้าประชุม ราวๆ ๕๐ คน ที่เป็น Q-coach ๒๕ คน   นอกนั้นเป็นผู้อำนวยการและครูจาก ๓ โรงเรียน   วิทยากร และทีมงานของ กสศ.    และผมมองว่า เราควรจะปรับเครื่องมือของ OECD ให้เหมาะสมต่อการใช้งานของเราเอง    โดยเฉพาะอย่างยิ่งการตีความผลการทดสอบ

ผมกลับบ้าน เพื่อเตรียมตัวเดินทางไปประชมที่สวิตเซอร์แลนด์ด้วยความรู้สึกชื่นมื่น    ว่า โครงการยกระดับโรงเรียนพัฒนาคุณภาพต่อเนื่อง    จะทำหน้าที่ขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงใหญ่  ให้แก่ระบบการศึกษาไทยในอนาคต   

วิจารณ์ พานิช  

๑๔ พ.ค. ๖๒


  



ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท