ชีวิตที่พอเพียง 3534. ทำงานเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (๓๒) คัดเลือกภาคีพัฒนา TSQP


บันทึกที่ ๑      บันทึกที่ ๒      บันทึกที่ ๓       บันทึกที่ ๔      บันทึกที่ ๕

บันทึกที่ ๖     บันทึกที่ ๗    บันทึกที่ ๘       บันทึกที่ ๙       บันทึกที่ ๑๐

บันทึกที่ ๑๑      บันทึกที่ ๑๒     บันทึกที่ ๑๓      บันทึกที่ ๑๔     บันทึกที่ ๑๕

บันทึกที่ ๑๖       บันทึกที่ ๑๗      บันทึกที่ ๑๘  บันทึกที่ ๑๙      บันทึกที่ ๒๐        

บันทึกที่ ๒๑       ตอนที่ ๒๒     ตอนที่ ๒๓      ตอนที่ ๒๔         ตอนที่ ๒๕     

ตอนที่ ๒๖       ตอนที่ ๒๗         ตอนที่ ๒๘         ตอนที่ ๒๙       ตอนที่ ๓๐

ตอนที่ ๓๑

TSQP ย่อมาจาก Teacher and School Quality Development Program Zโครงการสนับสนุนการพัฒนาครูและโรงเรียนเพื่อยกระดับคุณภาพการศึกษาอย่างต่อเนื่อง)     ที่ผมเคยเขียนบันทึกไว้ที่ (๑), (๒) โดยผมเรียกชื่อว่า โครงการโรงเรียนพัฒนาตนเอง    

วันที่ ๑๖ สิงหาคม ๒๕๖๒ มีการประชุมพิจารณากลั่นกรองข้อเสนอโครงการของทีมงานที่เสนอตัวเข้ามาเป็นภาคีดำเนินการพัฒนาโรงเรียน รวม ๖ ทีม    ได้แก่

  1. 1. มูลนิธิลำปลายมาศพัฒนา (ครูใหญ่วิเชียร ไชยบัง)
  2. 2. มหาวิทยาลัยพะเยา (ดร. สุมล นิลรัตน์นิศากร)
  3. 3. มูลนิธิโรงเรียนสตาร์ฟิชคันทรีโฮม (ดร. นรรธพร จันทร์เฉลี่ย เสริบุตร)
  4. 4. มหาวิทยาลัยศรีปทุม (รศ. ดร. ธันยวิช วิเชียรพันธ์)
  5. 5. สถาบันวิจัยและพัฒนาวิชาชีพครูสำหรับอาเซียน มข. (รศ. ดร. ไมตรี อินทร์ประสิทธิ์)
  6. 6. มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (รศ. ดร. ไพโรจน์ คีรีรัตน์)

ในมุมมองของผม ทีมงานเหล่านี้ต้องเข้าไปเอื้อหนุนการพัฒนาตนเองของโรงเรียนและครู  ไม่ใช่เข้าไป “ทำโครงการ”    เน้นการเข้าไปหนุนให้โรงเรียนพัฒนาหรือเปลี่ยนแปลงรูปแบบการจัดการเรียนรู้ในชั้นเรียน ให้เป็น active learning    และหนุนกระบวนการเรียนรู้ของครูและผู้อำนวยการโรงเรียน ในการพัฒนารูปแบบการเรียนรู้ และผลลัพธ์การเรียนรู้ของนักเรียน    

ก่อนการนำเสนอ ซักถาม และให้ข้อเสนอแนะ    คณะทำงานใช้เวลา ๓๐ นาที คุยกันเรื่องทั่วๆ ไป หรือทำความเข้าใจภาพใหญ่ของโครงการที่จะนำไปคุยกับผู้เสนอโครงการ    ผมจับประเด็นสำคัญได้ ๕ ประเด็น

  1. 1. เป็นโครงการ ๒ ปี    โดยที่รูปแบบในปีแรกกับปีที่ ๒ อาจแตกต่างกัน    และน่าจะมีกิจกรรมเชื่มโยงเครือข่ายเรียนรู้ต่อเนื่องไปในปีที่ ๓
  2. 2. ต้องระบุเป้าหมายผลลัพธ์ที่จะวัดในแต่ละปี ให้ชัด
  3. 3. มีระบบข้อมูลกลางของโครงการที่ทุกภาคี ทุกโรงเรียน ใช้ร่วมกัน    เพื่อใช้ประโยชน์ต่อทีมภาคี  ต่อโรงเรียน  และต่อการติดตามความก้าวหน้าโดย กสศ.
  4. 4. แม้โครงการนี้จะเลือกโรงเรียนประถม และประถมขยายโอกาส (ถึง ม. ๓) ซึ่งเป็นโรงเรียนของนักเรียนด้อยโอกาสเป็นส่วนใหญ่    แต่ก็ต้องการย้ำให้ดำเนินการเน้นที่เด็กด้อยโอกาสในโรงเรียนเป็นเป้าหมายหลัก
  5. 5. เน้นการบริหารจัดการโรงเรียนให้มากกว่าที่เขียนไว้ใน TOR   โดยเฉพาะอย่างยิ่งการที่ผู้อำนวยการโรงเรียนทำงานร่วมกับครูในการพัฒนากิจกรรมในห้องเรียน เพื่อยกระดับผลลัพธ์การเรียนรู้อย่างครบด้าน    การจัดกิจกรรมร่วมกันเรียนรู้จากการปฏิบัติของครู (PLC)    การจัดการให้มีแรงจูงใจให้ครูดีอยู่ทำงานในโรงเรียน  ฯลฯ    

ทีมงานของ กสศ. จัดให้ใช้เวลา ๑ ชั่วโมงสำหรับแต่ละทีม    โดยทีมงานนำเสนอ ๑๕ นาที ตามด้วยการซักถามและให้ข้อเสนอแนะ ๔๕ นาที    ทำให้เกิดความเข้าใจร่วมกันมากทั้งต่อผู้เสนอ และในหมู่คณะกรรมการกลั่นกรอง   

ในช่วงเช้า ๓ ทีมแรกเสนอ    โดยทีมอื่นนั่งฟังอยู่ด้วย    จากสาระและบรรยากาศในช่วงเช้า ซึ่งเสนอโดยทีมที่ ๑ – ๓ ผมคิดว่าการนำเสนอและซักถามรวมทั้งเสนอแนะน่าจะช่วยให้ทีมจัดการโครงการของ กสศ. มีประเด็นไปเจรจาให้แต่ละทีมปรับปรุงข้อเสนอ ได้อย่างมั่นใจแล้ว     ในช่วงบ่ายผมจึงขอกลับบ้าน ไปดูแลสาวน้อย ที่ตอนนั้นมีอาการทางอารมณ์ของโรคหลงลืมปะทุขึ้น 

ทีมงานที่ ๑ และ ๓ มีความเข้มแข็งมาก    เพราะมีประสบการณ์ทำงานโรงเรียนของตนเองมายาวนาน    รวมทั้งเคยช่วยพัฒนาโรงเรียนอื่นอยู่บ้างแล้ว        

ผมติดใจที่ครูใหญ่วิเชียร ไชยบัง แห่งโรงเรียนลำปลายมาศพัฒนา ที่บอกว่าหัวใจสำคัญที่สุดที่จะดำเนินการคือ สร้างสนามพลังบวกขึ้นในโรงเรียนและห้องเรียน    รวมทั้งดำเนินการเปลี่ยนแปลงระบบและโครงสร้างการทำงาน    ใช้เครื่องมือหลัก ๓ ตัวคือ จิตศึกษา  PBL และ PLC    ผมเชื่อมือครูใหญ่วิเชียรเพราะเคยไปเห็นการเปลี่ยนแปลงภายในเวลา ๑ ปี ที่โรงเรียนวัดเนินกระปรอกมาแล้ว (๓)    มาฟังวันนี้เห็นชัดว่าท่านมีการเรียนรู้ต่อเนื่อง

ดร. นรรธพร จันทร์เฉลี่ย เสริบุตร หัวหน้าทีมมูลนิธิโรงเรียนสตาร์ฟิชคันทรี่โฮม ก็น่าทึ่งมาก    มีประสบการณ์ทำโรงเรียนบ้านปลาดาวมาแล้ว ๑๖ ปี   ใช้หลัก constructivism    จัดการเรียนรู้แบบ PBL  โดยเน้นกระบวนการ STEAM (Science, Technology, Engineering, Art, Mathematics) design process    และพื้นที่สำหรับนักสร้างสรรค์ (Makerspace)    และกิจกรรม PLC  

ดังกล่าวแล้วว่า ผมได้ฟังการนำเสนอและเสวนาของ ๓ ทีมแรกเท่านั้น    แต่ก็เห็นชัดเจนว่า กระบวนการที่ใช้ในวันนี้ได้ผลดีมาก    ทำให้เห็นจุดแข็งจุดอ่อนของแต่ละทีมงานชัดเจน    สำหรับให้ทีมจัดการของ กสศ. นำไปหารือต่อรองทำความชัดเจนกับแต่ละทีม   

จากการเสวนา เห็นได้ชัดเจนว่า โครงการนี้จะสำเร็จได้ กลไกของ สพฐ. ในพื้นที่ต้องรู้เรื่อง เข้าใจ เห็นคุณค่า  และเข้ามาร่วมส่งเสริม   จึงต้องการหนังสือสั่งการหรือแจ้งขอความร่วมมือไปยังเขตพื้นที่การศึกษาของโรงเรียนที่ได้รับคัดเลือกเข้าโครงการ

ผมบอกทีม กสศ. ว่า    ต้องคัดเลือกโรงเรียนที่สมัครเข้าโครงการ ไม่ใช่จำใจเข้า    ทีมผู้นำโรงเรียนต้องมีสปิริตของผู้นำการเปลี่ยนแปลง    ต้องการลงมือเปลี่ยนแปลงโรงเรียนด้วยตนเอง  โดยมีโครงการ ครคศ. เป็นตัวช่วย    ถ้าไม่เห็นสปิริตนี้ อย่าเลือกโรงเรียนนั้น

วิจารณ์ พานิช  

๑๘ ส..ค. ๖๒


หมายเลขบันทึก: 669719เขียนเมื่อ 1 ตุลาคม 2019 15:58 น. ()แก้ไขเมื่อ 1 ตุลาคม 2019 15:58 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท