ชีวิตที่พอเพียง 3747. ทำงานเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (๕๖) โค้ชให้โรงเรียนพัฒนาตนเอง


บันทึกที่ ๑

บันทึกที่ ๒

บันทึกที่ ๓

บันทึกที่ ๔

บันทึกที่ ๕

บันทึกที่ ๖

บันทึกที่ ๗

บันทึกที่ ๘

บันทึกที่ ๙

บันทึกที่ ๑๐

บันทึกที่ ๑๑

บันทึกที่ ๑๒

บันทึกที่ ๑๓

บันทึกที่ ๑๔

บันทึกที่ ๑๕

บันทึกที่ ๑๖

บันทึกที่ ๑๗

บันทึกที่ ๑๘

บันทึกที่ ๑๙

บันทึกที่ ๒๐

บันทึกที่ ๒๑

บันทึกที่ ๒๒

บันทึกที่ ๒๓

บันทึกที่ ๒๔

บันทึกที่ ๒๕

บันทึกที่ ๒๖

บันทึกที่ ๒๗

บันทึกที่ ๒๘

บันทึกที่ ๒๙

บันทึกที่ ๓๐

บันทึกที่ ๓๑

บันทึกที่ ๓๒

บันทึกที่ ๓๓

บันทึกที่ ๓๔

บันทึกที่ ๓๕

บันทึกที่ ๓๖

บันทึกที่ ๓๗

บันทึกที่ ๓๘

บันทึกที่ ๓๙

บันทึกที่ ๔๐

บันทึกที่ ๔๑

บันทึกที่ ๔๒

บันทึกที่ ๔๓

บันทึกที่ ๔๔

บันทึกที่ ๔๕

บันทึกที่ ๔๖

บันทึกที่ ๔๗

บันทึกที่ ๔๘

บันทึกที่ ๔๙

บันทึกที่ ๕๐

บันทึกที่ ๕๑

บันทึกที่ ๕๒

บันทึกที่ ๕๓

บันทึกที่ ๕๔

บันทึกที่ ๕๕




บ่ายวันที่ ๑๖ มิถุนายน ๒๕๖๓ และทั้งวันของวันที่ ๒๔ มิถุนายน ๒๕๖๓ ผมเข้าประชุมคณะกรรมการกลั่นกรองโครงการ    และในบ่ายวันที่ ๑๙ มิถุนายน ประชุมคณะกรรมการกำกับโครงการ  โครงการสนับสนุนการพัฒนาครูและโรงเรียน เพื่อยกระดับคุณภาพการศึกษาอย่างต่อเนื่อง (ชื่อที่ผมดัดแปลงเอง) รุ่นที่ ๒   ที่เรียกชื่อย่อๆ ว่า โครงการโรงเรียนพัฒนาตนเองหรือใช้ตัวย่อภาษาอังกฤษว่า TSQP  ของ กสศ.

บันทึกนี้สะท้อนคิดจากการประชุมทั้งสาม 

ก่อนอ่านบันทึกนี้ต่อ ผมขอเชิญชวนให้อ่านบันทึกเรื่อง มายาคติเรื่องการเรียนรู้ กับโครงการโรงเรียนพัฒนาตนเอง ก่อน    จะเข้าใจสาระของการสะท้อนคิดในบันทึกนี้ได้ดีขึ้น

เนื่องจากเรามีประสบการณ์ในการกำกับโครงการนี้มากว่าปี ตั้งแต่เริ่มคิดออกแบบโครงการ    รู้จุดแข็งจุดอ่อนของการออกแบบโครงการ  การจัดการโครงการ   รู้จุดแข็งจุดอ่อนของทีมพี่เลี้ยง หรือโค้ชภายนอก แต่ละทีม    ในการประชุมกลั่นกรองข้อเสนอโครงการนี้ ผมจึงจ้องตรวจสอบว่าหัวหน้าทีมโค้ชแต่ละทีมลงคลุกโรงเรียนหรือไม่ และการดำเนินการของแต่ละทีมโค้ชเป็นการหนุนให้โรงเรียนเป็นตัวของตัวเองในการดำเนินการพัฒนา    หรือทีมโค้ชเข้าไปกำหนดรูปแบบการพัฒนาแบบตายตัว     เราต้องการเห็นแนวทางแบบแรก  และหาทางป้องกันไม่ให้เกิดแนวทางแบบหลัง 

ที่จริงทีมโค้ชภายนอก ๕ ทีมที่เคยทำงานให้แก่รุ่นที่ ๑   ต่างก็เป็นทีมที่เข้มแข็งมากในทางวิชาการและในทางปฏิบัติของท่านเอง    เรียกได้ว่าเป็นหัวหน้าทีมระดับซือแป๋    แต่จากการดำเนินการรุ่น ๑ เราพบว่า ซือแป๋บางท่านเชื่อมเข้าสู่การหนุนให้บรรลุเป้าหมายของโครงการโรงเรียนพัฒนาตนเองได้ไม่ชัดเจนนัก    คือบางท่านเก่งเชิงทฤษฎี แต่ implement สู่การโค้ชโรงเรียนให้ได้ผลไม่ได้ หรือได้ไม่ชัดเจน  

ผมคิด (ไม่ทราบว่าคิดถูกหรือผิด) ว่าโครงการนี้หัวหน้าทีมโค้ชต้องลงภาคสนาม    ไม่ใช่ใช้สานุศิษย์ดำเนินการโดยสิ้นเชิง      

เมื่อพิเคราะห์ชื่ออย่างเป็นทางการที่ กสศ. ใช้ในการติดต่อกับโรงเรียนว่า “โครงการพัฒนาครูและโรงเรียนเพื่อยกระดับการศึกษาอย่างต่อเนื่อง”   และข้อความในแบบสอบถามของทีมวิจัย ติดตามและประเมินผล ที่มีข้อหนึ่งว่า “โรงเรียนได้นำนวัตกรรมของสถาบัน/หน่วยงานรับทุนมาใช้ในการจัดการเรียนการสอน....”    ผมคิดว่า เป็นการใช้ถ้อยคำที่สื่อประสบการณ์เดิมๆ ของโรงเรียน ที่มีกลไกภายนอกมาจัดการพัฒนาโรงเรียน    ไม่สื่อแนวคิดใหม่ว่าโครงการนี้ต้องการหนุนให้โรงเรียนพัฒนาตนเอง     ไม่ใช่พัฒนาตามแนวทางสำเร็จรูปของทีมโค้ช     

จะเห็นว่า การหลุดออกมาจากชุดความคิดเดิม ที่ยึดถือกันมานาน ไม่ใช่เรื่องตรงไปตรงมา     แต่มีความซับซ้อนมาก    ความคิดชุดเดิมในที่นี้คือ โรงเรียนและครู ทำตามสูตรสำเร็จที่สั่งการมาจากเบื้องบน    ครูและผู้บริหารโรงเรียนคุ้นเคยกับการไม่ต้องคิดเอง ไม่ต้องรับผิดชอบผลลัพธ์การเรียนรู้    ท่านเหล่านี้จึงคุ้นกับการทำงานอยู่ใน safety zone   สมองอยู่ในสภาพผ่อนพักตลอดเวลา    ไม่ต้องคิดเอง ไม่ต้องขวนขวายศึกษาการเปลี่ยนแปลงด้านการเรียนรู้ และหาทางจัดการเรียนรู้ให้นักเรียนบรรลุ core learning outcome เพื่อเป็นฐานในการดำรงชีวิตในสังคมปัจจุบันและอนาคต   

ผมตีความว่า ระบบการศึกษาไทย ทำให้คนที่อยู่ในระบบ อยู่ในสภาพ สมองผ่อนพัก   ซึ่งเป็นสภาพที่สมองมนุษย์ชอบ    เพราะไม่เปลืองพลังงาน    อยู่ในสภาพอย่างนี้นานๆ จะกลายเป็นความเคยชิน    หรือกลายเป็นวัฒนธรรมหรือวิถีที่คุ้นเคย   

ข้อวินิจฉัยข้างบน เป็นการกล่าวแบบ “เหมารวม” ซึ่งผิด    ในระบบการศึกษาไทยมีผู้บริหารและครูจำนวนหนึ่งที่เป็น “นวัตกร” คิดหาวิธีการพัฒนานักเรียนแบบ “พัฒนาอย่างเป็นองค์รวม” (holistic development)   อย่างน่าชื่นชม    เป็น “คุรุควรคารวะ”    แต่ท่านเหล่านี้มีจำนวนน้อย และต้องทำงานแบบฟันฝ่า    เนื่องจากระบบไม่เอื้อ    ระบบการศึกษาของเราเอื้อการผ่อนพักมากกว่าเอื้อนวัตกร    

โครงการโรงเรียนพัฒนาตนเอง ต้องการเข้าไปหนุนให้ครูและผู้บริหารของโรงเรียนเป็น “นวัตกร” (innovator)    ทำงานเปลี่ยนแปลงพัฒนารูปแบบการเรียนรู้ให้เหมาะต่อนักเรียนของตน    เอื้อต่อการเรียนรู้ของนักเรียนเป็นรายคน   ซึ่งเป็น “ชีวิตที่ท้าทาย” ตรงกันข้ามกับ “ชีวิตที่ผ่อนพัก” ตามปกติ

ผมมีความเชื่อ ยืนยันจากประสบการณ์ส่วนตัว ว่า “ชีวิตที่ท้าทาย” ไม่จำเป็นต้องตรงกันข้ามกับ “ชีวิตที่ผ่อนพัก” เสมอไป    ในเชิงระบบ เราสามารถออกแบบองค์กร และสร้างวัฒนธรรมองค์กร  หรือวัฒนธรรมประจำวิชาชีพ ให้การทำงานอยู่ใน “วิถีที่ท้าทาย” (challenging mode)   ที่นำไปสู่ “ชีวิตที่อุดมความสำเร็จ” (rewarding working life)    เป็นชีวิตที่ทั้งความท้าทาย และความผ่อนพัก อยู่ด้วยกัน    และส่งเสริมซึ่งกันและกัน

สมองมนุษย์ฝึกได้  

เราฝึกให้สมองเฉื่อยก็ได้  ฝึกให้สมองขยันก็ได้    เมื่อฝึกดีแล้ว “สมองขยัน” จะใช้พลังงานไม่มากนัก  ไม่เหนื่อยง่าย    แต่ชะโลม หรือจรรโลง พลังสมอง ด้วยปิติสุข จากการเห็นผลสำเร็จที่ทรงคุณค่ของการทำงาน    นี่คือการตีความของผม จากความรู้ด้าน learning science  และ cognitive psychology   ผมไม่รับรองว่าผมตีความถูกต้อง  

โรงเรียนพัฒนาตนเอง  จึงเป็นชุมชนเรียนรู้ เพื่อการพัฒนาครู ผู้บริหาร และผู้เกี่ยวข้อง    ที่เรียนรู้และเปลี่ยนแปลงเพื่อทำหน้าที่หนุนการพัฒนาคนรุ่นใหม่ของสังคม หรือของบ้านเมือง    ให้เป็นมนุษย์แห่งศตวรรษที่ ๒๑   มีทักษะแห่งศตวรรษที่ ๒๑    ผ่านรูปแบบการเรียนรู้แบบ active learning   คือเรียนรู้ผ่านการปฏิบัติแล้วคิด ร่วมกันเป็นทีมในหมู่เพื่อนนักเรียน    และหนุนหรือโค้ชโดยครู

ครูทำหน้าที่โค้ชแบบท้าทาย ตามบริบทของนักเรียน    ไม่ใช่โค้ชโดยมีสูตรสำเร็จ   

ครูทำหน้าที่โค้ชโดยยึดนักเรียนเป็นศูนย์กลาง    ไม่ใช่เอาสูตรสำเร็จ (หรือนวัตกรรม) เป็นศูนย์กลาง

ทีมโค้ชของโครงการโรงเรียนพัฒนาตนเองก็เช่นเดียวกัน    ต้องโค้ชโดยยึดโรงเรียนเป็นศูนย์กลาง    ไม่ใช่โค้ชโดยใช้นวัตกรรมของโค้ชเองเป็นศูนย์กลาง   

กล่าวอย่างนี้แล้ว ผมก็เถียงตัวเอง    ว่าข้อความในย่อหน้าข้างบนนั้น ผิด    เพราะเป็นการมองโลกแบบสองขั้วตรงกันข้าม หรือที่เรียกว่า แบบ either … or …    โลกที่เป็นจริงมันซับซ้อนยิ่ง จึงมักอยู่ในแนวทาง both … and …   

หากคิดและดำเนินการโครงการโรงเรียนพัฒนาตนเองแนว both … and …   เราก็ยอมรับการที่ทีมโค้ชภายนอกนำเอานวัตกรรมที่ตนพัฒนาขึ้นไปให้โรงเรียนใช้งาน    แต่ต้องไม่เน้นตัวนวัตกรรมมากเกินไป    ในขณะเดียวกัน ต้องมีวิธีการสร้างความมั่นใจให้ทีมงานในโรงเรียนกล้าคิดเอง (ร่วมกันคิด – PLC)    กล้าตั้งเป้า (Q-Goal) ของโรงเรียน    กล้าตั้งเป้าระดับห้องเรียน    กล้าตั้งเป้าระดับตัวนักเรียนเป็นรายคน    กล้าวางแผนยุทธศาสตร์เพื่อการบรรลุเป้าหมายนั้น    มีการเก็บข้อมูล (Q-Info) เอามาใช้เป็น feedback loop  เพื่อการปรับตัว หรือพัฒนาวิธีการจัดการเรียนรู้   

จะเห็นว่า โครงการโรงเรียนพัฒนาตนเอง เน้นการจัดกลไกหนุน (หรือโค้ช) ให้โรงเรียนเป็น “องค์กรเรียนรู้และพัฒนาตนเองอย่างต่อเนื่อง”   ซึ่งหมายความว่า ต้องหลุดออกมาจากความเคยชิน หรือวัฒนธรรมเดิมๆ   

ผมจึงมองว่า เป้าหมายที่ยิ่งใหญ่ ของโครงการนี้ คือการเปลี่ยนแปลงวิถีปฏิบัติในโรงเรียน    ให้หลุดออกจากวัฒนธรรมผ่อนพักอยู่ในพื้นที่ปลอดภัยที่คุ้มครองโดยหน่วยเหนือ    ให้สร้างวัฒนธรรมการเป็นตัวของตัวเอง ในวิถีของการสร้างนวัตกรรมเล็กๆ อยู่ตลอดเวลา ในการปฏิบัติงานตามปกติ    ผู้ทำงานในระบบเติบโตทั้งด้านใน และด้านวิชาชีพ จากการปฏิบัติงานประจำ  

ผมได้เขียนไว้ในบันทึกก่อนๆ ของบันทึกชุด โรงเรียนพัฒนาตนเอง  ว่า หน่วยดำเนินการของโครงการนี้คือโรงเรียน    ดังนั้น กสศ. น่าจะมีเงื่อนไขให้ทีมโค้ชภายนอกรายงานผลงานที่โรงเรียนเป็นรายโรงเรียน    ว่าโรงเรียนได้ดำเนินการอะไรบ้าง    เกิดผลที่เห็นได้ในขณะนั้นอย่างไรบ้าง    เน้นผลต่อนักเรียน  ครู  บรรยากาศการเรียนรู้ของนักเรียน  บรรยากาศการทำงานของครูและผู้บริหาร  และบรรยากาศของโรงเรียน          

  ทีมติดตามประเมินผล ก็น่าจะเน้นติดตามประเมินผลที่โรงเรียนเช่นเดียวกัน    แล้ว กสศ. นำรายงานทั้งสองมาเทียบกัน เพื่อหาทางขับเคลื่อนการดำเนินการให้เกิดการหนุนโรงเรียนสู่เป้าหมายของโรงเรียนได้อย่างแท้จริง   

หากเราไม่ระวัง การดำเนินการทั้งหมดของโครงการจะไปเน้นที่การกระทำของทีมโค้ช    ไม่ได้เน้นที่การกระทำของโรงเรียนแต่ละโรงเรียน    ทำให้โรงเรียนในโครงการไม่ได้เรียนรู้ร่วมกันว่า การกระทำอะไรที่ก่อผลดี  ที่ทำให้ผลงานของโรงเรียนยกระดับขึ้น             

ในการนำเสนอเมื่อวันที่ ๒๔ มิถุนายน ทีมหนึ่งเสนอว่า จะเน้นการทำ reflective coaching    จึงขอนำมาเสนอไว้ในที่นี้ถึงพลังของ reflective coaching    โดยเฉพาะ question list และ set of activities

ในโครงการ TSQP รุ่นที่ ๒ มูลนิธิสยามกัมมาจล ได้รับการชักชวนให้เสนอโครงการที่จะเชื่อม TSQP เข้ากับพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา     โดยเข้าไปดำเนินการในโรงเรียน ๕๐ โรงเรียนในจังหวัดศรีสะเกษ และระยอง     ซึ่งจะทำให้โรงเรียนในสองจังหวัดพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา มี Q-Goal ที่เชื่อมประสานกับเป้าหมายการพัฒนาจังหวัด    เป็นการเพิ่มมิติของนวัตกรรมของโรงเรียนอีกชั้นหนึ่ง    

วิจารณ์ พานิช

๒๔ มิ.ย. ๖๓


   

หมายเลขบันทึก: 679534เขียนเมื่อ 27 กรกฎาคม 2020 17:15 น. ()แก้ไขเมื่อ 27 กรกฎาคม 2020 17:15 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท