มหาวิทยาลัย ๔.๐



วันที่ ๒๕ มิถุนายน ๒๕๖๓ ในการประชุมคณะทำงานคลังสมองและยุทธศาสตร์การทำงานของมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์    ฝ่ายเลขานุการนำเรื่อง โครงการมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ๔.๐    เข้านำเสนอเพื่อขอคำแนะนำ   

เป็นการเข้าร่วมโครงการมหาวิทยาลัย ๔.๐ ที่มี ๓ มหาวิทยาลัยร่วมกันดำเนินการ คือ มช., มข. และ มอ.    ภายใต้โปรแกรมวิจัย Spearhead เรื่อง คนไทย ๔.๐   ที่มี ศ. ดร. มิ่งสรรพ์ ขาวสะอาด เป็นประธานโปรแกรม  และผมร่วมเป็นกรรมการอำนวยการแผนงานด้วย (๑) โปรดสังเกตว่า แผนงานวิจัยนี้มีเป้าหมายเพื่อขับเคลื่อนสังคม (๒)     ดังนั้น โครงการมหาวิทยาลัย ๔.๐ ในที่นี้จึงมุ่งขับเคลื่อนมหาวิทยาลัย ๓ แห่ง ให้ทำหน้าที่สร้าง “คนไทย ๔.๐”  ที่มีคุณลักษณะ พอเพียง มีวินัย สุจริต มีจิตสาธารณะ และมีความรับผิดชอบ   ตามเป้าหมายของโปรแกรม

ผมมีความเห็นว่า มหาวิทยาลัยต้องทำหน้าที่นี้อย่างซับซ้อน    แต่ที่สำคัญคือ ต้องทำหน้าที่อย่างสอดคล้องกับสภาพสังคมปัจจุบันและอนาคต    เพราะโปรแกรม คนไทย ๔.๐ เป็นการวิจัยอนาคต (Futures Studies)    โปรดสังเกตคำว่า Futures ว่ามีตัว s ด้วย    เพราะเป็นอนาคตที่มีโอกาสเกิดได้หลายแบบ    

ผมมองว่า โครงการแบบนี้ มอ. ต้องเริ่มที่ เป้าหมายอันทรงคุณค่า (purpose) ที่ชัดเจนไม่คลอนแคลน    ที่ต้องระบุ positioning ของการเป็นมหาวิทยาลัย    แล้วจึงใช้เทคนิค foresight ในการหาเป้าหมาย และยุทธศาสตร์ เชิงปฏิบัติ    ที่จะช่วยสร้างความมุ่งมั่นร่วมกันภายใน    และที่สำคัญไม่ยิ่งหย่อนกว่า solidarity ของบุคลากรภายใน มอ.    คือ solidarity ของ engagement partners ในแต่ละวิทยาเขต   

ข้อแนะนำของผมคือ ก่อนกระโจนเข้าใส่เทคนิควิธิการ foresight    ต้องตั้งหลักเสียก่อน ว่าทำไปทำไม     

ในที่ประชุมมีการเสนอสัญญาณที่กวาดมาได้ ๑๘ สัญญาณ (ที่จำเพาะต่อ มอ.)  ได้แก่

  1. 1. ความหลากหลายของประชากร
  2. 2. ความรุนแรงในจังหวัดชายแดนภาคใต้
  3. 3. การยอมรับวิถีชีวิตใหม่
  4. 4. การก้าวสู่สังคมเสมือน
  5. 5. รูปแบบปฏิสัมพันธ์และการสื่อสารระหว่างมนุษย์
  6. 6. ผลกระทบของเทคโนโลยีใหม่ต่อการวิจัยและการศึกษา
  7. 7. กฎหมายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล
  8. 8. ระบบบูรณาการเพื่อการจัดการภาวะวิกฤติที่มีผลกระทบเร็วและรุนแรง
  9. 9. อาเซียนเป็นศูนย์กลางทางการแพทย์ของโลก
  10. 10. ยกระดับประเทศไทยสู่การท่องเที่ยวคุณค่าสูง เพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน
  11. 11. ภูมิทัศน์เศรษฐกิจใหม่และใต้ใหม่
  12. 12. การจัดการห่วงโซ่คุณค่าของงานวิจัยเชิงพาณิชย์
  13. 13. การเปลี่ยนแปลงของสิ่งแวดล้อม
  14. 14. การขับเคลื่อนสังคมโดยใช้เป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน  
  15. 15. ส่งเสริมการศึกษามุ่งคุณค่าเพื่อดึงดูดผู้เรียนสู่มหาวิทยาลัย
  16. 16. ทิศทางด้านงบประมาณ การวิจัย และกฎระเบียบ
  17. 17. แนวโน้มการบริหารมหาวิทยาลัย
  18. 18. การมีส่วนร่วมกับสังคมที่มีมูลค่าสูง  

การนำเสนอและบรรยากาศในที่ประชุม (แบบ ออนไลน์) สร้างสรรค์มาก    เป็นเวทีรับฟังข้อคิดเห็นเรื่อง มหาวิทยาลัย ๔.๐   จากคณะกรรมการ    ทำให้ได้ทั้งข้อคิดเห็นในเชิงวิธีมองสัญญาณที่กวาดมาได้ในปัจจุบัน    และรายละเอียดของสิ่งสำคัญที่กำลังจะเกิดขึ้นในอนาคต   

สัญญาณที่กวาดมาได้นั้น มีทั้งสัญญาณที่อาจอยู่ชั่วคราวระยะสั้น    และสัญญาณที่จะดำรงอยู่ยาวนาน    รวมทั้งสัญญาณเหล่านั้นยังมีปฏิสัมพันธ์กัน   

ทีมวิจัยของ มอ. สังเคราะห์ภาพอนาคตสำหรับ มอ. ด้วย ๒ แกนดังภาพ






คือแกนตั้ง physical – virtual    แกนนอน business – social     เมื่อถามว่าทีมวิจัยเลือกพื้นที่ใดสำหรับ มอ.   ได้คำตอบว่า ๒ พื้นที่ทางขวา    แต่ก็มีกรรมการบางท่านบอกว่าควรเลือกพื้นที่ด้านล่าง    ที่ประชุมให้ความเห็นว่า ควรเลือกอนาคตแบบผสมผสาน    แต่ก็ต้องมีจุดโฟกัสที่ชัดเจน    โดยมีกรรมการให้ความเห็นว่า สัญญาณข้อ ๓ น่าจะรุนแรงที่สุด และคงอยู่ยาวนาน หรือถาวร   

ผมเองมองว่า ควรยึดข้อ ๑๘ เป็นแก่นแกนของ mindset    คือความเป็นมหาวิทยาลัยที่ทำงานหลักแบบเน้นการเป็นหุ้นส่วนสังคม (social engagement)    ซึ่งหากเชื่อตามนี้ งานวิจัยชิ้นนี้ต้องไปชวนหุ้นส่วนสำคัญๆ ในปัจจุบัน และที่คาดว่าจะทำงานร่วมกันมากขึ้นในอนาคตมาร่วมคิดฉากทัศน์    เพื่อทำความเข้าใจอนาคตร่วมกัน    เตรียมสร้างความเป็นหุ้นส่วนที่เข้มแข็ง และมีผลประโยชน์และเป้าหมายร่วมที่ชัดเจนยิ่งขึ้น    โดยเฉพาะที่เป้าหมายระยะยาว     และเป้าหมายเชิงนวัตกรรม

และหากเชื่อว่าในอนาคต มหาวิทยาลัยต้องยึด social engagement เป็นแกนหลัก    ก็ต้องทำ SWOT ว่าในปัจจุบัน มอ. เป็นอย่างไร    จะอาศัยพลังของสัญญาณทั้ง ๑๗ ที่กวาดมาได้    และที่คณะกรรมการแนะนำ     เป็นพลังส่งให้ มอ. ทำภารกิจมหาวิทยาลัยในอนาคตได้อย่างมีผลกระทบสูงต่อสังคม และมีการสร้างสรรค์สูงในเชิงวิชาการและการสร้างคน 

วิจารณ์  พานิช

๒๗ ก.ค. ๖๓


หมายเลขบันทึก: 679533เขียนเมื่อ 27 กรกฎาคม 2020 17:00 น. ()แก้ไขเมื่อ 27 กรกฎาคม 2020 17:00 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท