ฝึกทำหน้าที่ PPC โครงการคนไทย ๔.๐ : 1. การทำหน้าที่ PC – Program Chair



โครงการคนไทย ๔.๐ เป็นหนึ่งในโครงการ Spearhead research ด้านสังคม ที่ให้ทุนโดย วช. ปี ๒๕๖๒   ที่เป็นโปรแกรม ๓ ปี   งบประมาณ ๒๗๐ ล้านบาท    แบ่งเป็นปีละ ๙๐ ล้านบาท    มี ศ. ดร. มิ่งสรรพ์ ขาวสะอาด เป็น Program Chair    มีการสื่อสารสาธารณะมากพอสมควร เช่นที่ (๑)    ผมเป็นกรรมการอำนวยการแผนงาน (PPC – Program Promoting Committee) ด้วยคนหนึ่ง จึงได้อ่านรายงานการดำเนินการ ๑ ปี (กุมภาพันธ์ ๒๕๖๒ - กุมภาพันธ์ ๒๕๖๓)     ที่สะท้อนความสามารถสูงของท่านประธานโปรแกรม    จึงนำมาบันทึกไว้

 เป้าหมายของแผนงานวิจัยคือ สร้างกระแสสังคม ๔.๐    ที่ผลักดันให้เกิดคนไทย ๔.๐    ที่มีคุณลักษณะ พอเพียง มีวินัย สุจริต มีจิตสาธารณะ และมีความรับผิดชอบ   และกระบวนการวิจัยเป็นกระบวนการขับเคลื่อนสังคมไปในตัว งานวิจัยนี้จึงถือได้ว่า เป็นงานวิจัยขับเคลื่อนสังคม    ท่านประธานโปรแกรมก็คือผู้อำนวยการโปรแกรมนั่นเอง   

แผนงานนี้ในปีแรกได้งบประมาณ ๘๕ ล้านบาท ในเวลา ๑๒ เดือน และขอขยายเป็น ๒๔ เดือนในวงเงินเดิม    ในสายตาของผม เป็นการบริหารเงินวิจัยแบบร้อนรนของหน่วยงานแหล่งทุน    ที่เป็นข้อจำกัดของการทำงานวิจัยแบบนี้ให้เกิดคุณภาพและผลกระทบที่หนักแน่นคุ้มค่า    แผนงานจึงตกอยู่ใต้ข้อจำกัดนี้    โดยที่ข้อเสนอโครงการของแผนงานเป็นเวลา ๓ ปี    เพื่อสร้าง impact ให้ได้จริงๆ ตามเป้าหมายของการจัดการงานวิจัยแบบ spearhead  

อย่างไรก็ตาม ผมดีใจที่ท่านประธานแผนงานมีความคล่องตัวในการปรับแผนงาน    ในช่วง ๖ เดือนหลังของปีแรก ได้คิดโครงการวิจัยที่มีคุณค่ายิ่งขึ้นมาอีก ๓ โครงการใหญ่ คือ (๑) ความสามารถของมหาวิทยาลัยในการสร้างคนไทย ๔.๐  (๒) การสร้างผู้ประกอบการดิจิทัล  (๓) การศึกษาด้านจริยธรรมในมหาวิทยาลัย   

     อ่านรายงานผลงาน ๑ ปี (กุมภาพันธ์ ๒๕๖๒ - กุมภาพันธ์ ๒๕๖๓) ของท่านประธานแผนงาน และรายงานอีก ๓ ชุด จบด้วยความอิ่มเอม    และได้ความรู้หลากหลายด้านเกี่ยวกับการจัดการงานวิจัยด้านสังคมศาสตร์ เพื่อสร้างผลกระทบต่อสังคม     เห็นชัดว่า โครงสร้างการจัดการในลักษณะ PC + ODU ใช้ได้ผลในกรณีนี้    ยิ่งมีกลไกทีมประเมินที่ใช้แนวทาง EE (Empowerment Evaluation) หรือ DE (Developmental Evaluation) ยิ่งช่วยเสริมความเข้มแข็งในการจัดการ    รวมทั้งสร้างกลไกการเรียนรู้วิธีจัดการงานวิจัยเพิ่มขึ้น    (ดูบันทึกตอนที่ ๔)

เห็นได้ชัดเจนว่า ความสำเร็จของโปรแกรมนี้ ปัจจัยหลักมาจากความสามารถของ ท่านประธานโปรแกรม    ที่ทีมติดตามและประเมินผลภายในบอกว่าท่านทำหน้าที่ต่อคุณภาพของผลงาน คือเป็น coach และ mentor ให้แก่ทีมจัดการ ODU   และแก่นักวิจัยในโครงการ

ผมมองภาพใหญ่ว่า งบประมาณ ๘๕ ล้านบาทในเวลา ๒๔ เดือน กับผลงานในระดับนี้   ถือว่าคุ้มค่า     ผมมองว่ามีผลกระทบต่อเนื่องได้มาก    คำถามของผมคือ (๑) จะมีกลไกวางโครงสร้างพื้นฐานของงานวิจัยด้านสังคมศาสตร์ ให้ผลงานใน ๓ ปี สร้างความเข้มแข็งของงานวิจัยในระยะยาวได้อย่างไร  (๒) สร้างโจทย์วิจัยเชื่อมสู่ชีวิตความเป็นอยู่ของผู้คน  โดยเฉพาะคนส่วนใหญ่ในสังคม ที่ต้องใช้ความรู้สหศาสตร์เชื่อมกับสังคมศาสตร์ได้อย่างไร    โดยที่ในปีที่ ๑ นี้ เน้นการดำเนินการในกลุ่มคนมหาวิทยาลัยเป็นหลัก   ในปีต่อๆ ไปจะเคลื่อนออกจากมหาวิทยาลัยสู่สังคมวงกว้างอย่างไร   

ที่จริงที่ประธานแผนงานได้เสนอแนวทางการดำเนินการปีที่ ๒ ไว้ ๖ ข้อ    ซึ่งเป็นแนวทางที่ดีมาก    แต่ผมยังอยากเห็นการดำเนินการเชื่อมลงสู่ชุมชน   ในลักษณะปลุก (empower) ชุมชนให้ลุกขึ้นมาเป็นผู้กระทำการ ตามในหนังสือ สิ่งใดเล่าทำให้เราเป็นมนุษย์  และ A World of Three Zeros    เพื่อให้เกิดการพัฒนาคนไทย ๔.๐ ที่ลุกขึ้นมาร่วมกันกระทำการเพื่อแก้ปัญหาของตน และพัฒนาชุมชน พัฒนาบ้านเมืองของตน    โครงการนี้ก็จะเชื่อมโยงจากวิชาการสู่สังคมภาพรวมได้อย่างแท้จริง     คนไทย ๔.๐ ต้องพัฒนาขึ้นในทุกภาคส่วนของสังคม    

วิจารณ์ พานิช

๒๘ มี.ค. ๖๓   ปรับปรุง ๓๑ มี.ค. ๖๓

   

หมายเลขบันทึก: 677070เขียนเมื่อ 20 เมษายน 2020 16:22 น. ()แก้ไขเมื่อ 20 เมษายน 2020 16:22 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท