ชีวิตที่พอเพียง 3665. ทำงานเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (๔๐) สะท้อนคิดจากเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ร่วมยกระดับคุณภาพการศึกษาอย่างต่อเนื่อง ครั้งที่ ๔ “โรงเรียนพัฒนาตนเอง สู่พื้นที่นวัตกรรมการศึกษาเชียงใหม่”


บันทึกที่ ๑

บันทึกที่ ๒

บันทึกที่ ๓

บันทึกที่ ๔

บันทึกที่ ๕

บันทึกที่ ๖

บันทึกที่ ๗

บันทึกที่ ๘

บันทึกที่ ๙

บันทึกที่ ๑๐

บันทึกที่ ๑๑

บันทึกที่ ๑๒

บันทึกที่ ๑๓

บันทึกที่ ๑๔

บันทึกที่ ๑๕

บันทึกที่ ๑๖

บันทึกที่ ๑๗

บันทึกที่ ๑๘

บันทึกที่ ๑๙

บันทึกที่ ๒๐

บันทึกที่ ๒๑

บันทึกที่ ๒๒

บันทึกที่ ๒๓

บันทึกที่ ๒๔

บันทึกที่ ๒๕

บันทึกที่ ๒๖

บันทึกที่ ๒๗

บันทึกที่ ๒๘

บันทึกที่ ๒๙

บันทึกที่ ๓๐

บันทึกที่ ๓๑

บันทึกที่ ๓๒

บันทึกที่ ๓๓

บันทึกที่ ๓๔

บันทึกที่ ๓๕

บันทึกที่ ๓๖

บันทึกที่ ๓๗

บันทึกที่ ๓๘

บันทึกที่ ๓๙




การประชุมนี้จัดวันที่ ๒๕ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๓   ที่กรีนเลค รีสอร์ท เชียงใหม่    เป็นการจัดร่วมกันระหว่าง กสศ. กับพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาจังหวัดเชียงใหม่ ที่ศึกษาธิการจังหวัดเชียงใหม่เป็นกรรมการและเลขานุการคณะกรรมการขับเคลื่อน    มีผู้อำนวยการและครูจากโรงเรียนพัฒนาตนเองของ กสศ. ๖๖ โรงเรียน    และโรงเรียนนำร่องพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาจังหวัดเชียงใหม่ ๖๑ โรงเรียน    รวม ๑๒๓ โรงเรียน (มีโรงเรียนที่อยู่ในทั้งสองโครงการ ๔ โรงเรียน)    มาร่วมประชุมกับ คณะกรรมการกำกับทิศทางโครงการโรงเรียนพัฒนาตนเอง    ทีมพี่เลี้ยงในโครงการ    และเจ้าหน้าที่ของ กสศ.    รวมทั้งสิ้นกว่า ๒๐๐ คน 

เป้าหมายของการประชุมนี้ ก็เพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้วิธีจัดการเรียนรู้ที่นักเรียนมีผลลัพธ์การเรียนรู้สูงและครบด้าน        

 เราได้เรียนรู้เรื่องสถานการณ์จัดการศึกษาจังหวัดเชียงใหม่ จากศึกษาธิการจังหวัดเชียงใหม่ นายกิตติ์ธเนศ พันธ์ภานุฉัตร์     และได้รับฟังเรื่องราวพัฒนาการด้านการพัฒนานักเรียนของโรงเรียนพัฒนาตนเองในเครือข่ายพี่เลี้ยง ๔ เครือข่ายคือ เครือข่ายมูลนิธิสตาร์ฟิช คันทรีโฮม    เครือข่ายมหาวิทยาลัยศรีปทุม    เครือข่ายมูลนิธิลำปลายมาศพัฒนา     และเครือข่ายมหาวิทยาลัยขอนแก่น    ที่ต่างก็มีจุดแข็งและจุดอ่อนด้านวิธีการคนละแบบ    แต่มีเป้าหมายเดียวกัน คือพัฒนานักเรียนให้บรรลุทักษะแห่งศตวรรษที่ ๒๑    วิธีการที่ถือเป็นแนวเดียวกันคือ ต่างก็เป็น active learning ทั้งสิ้น        

นักเรียนในโรงเรียนของทุกเครือข่ายมีการเปลี่ยนแปลง เป็นเด็กที่ฉะฉานกล้าพูดกล้าถามกล้าทำ    มีความมั่นใจในตนเอง    โดยที่นักเรียนของโรงเรียนเหล่านี้เป็นเด็กจากครอบครัวด้อยโอกาสทั้งสิ้น    ความสำเร็จเบื้องต้นของโรงเรียนใน “โครงการโรงเรียนพัฒนาตนเอง”  จึงจะนำไปสู่การลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา    

เนื่องจากทีมพี่เลี้ยงแต่ละทีมต่างก็มีเครื่องมือที่ให้ผลดีต่างชนิดกัน    กรรมการชี้ทิศทางจึงแนะว่า  ขอให้โรงเรียนสามารถเลือกใช้เครื่องมือข้ามเครือข่ายได้    สมกับที่เป็น “โรงเรียนพัฒนาคุณภาพตนเอง”    เช่นเครือข่ายมูลนิธิลำปลายมาศพัฒนามีเครื่องมือจิตศึกษา  โรงเรียนในเครือข่ายอื่นอาจขอเรียนรู้และนำเอาไปใช้    หรืออาจใช้เครื่องมือ STEAM Design Process ของสตาร์ฟิชฯ  เป็นต้น  

ตอนบ่ายเป็นการพูดคุยกันเรื่องพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา จังหวัดเชียงใหม่    เริ่มจากการนำเสนอเรื่อง การสนับสนุนเพื่อการพัฒนาพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา โดยนายพิทักษ์ โสตถยาคม รองผู้อำนวยการสำนักงานบริหารพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา สพฐ.    ตามด้วยการตั้งคำถามและเสนอความเห็นเรื่องพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา   

การเดินทางไปเชียงใหม่สองวันนี้ ผมได้ข้อมูลเชิงลึกของวงการศึกษาจากหลายทาง และในหลายประเด็น    ยิ่งทำให้ผมคิดว่า ข้อความในบันทึกชุด การศึกษาคุณภาพสูงระดับโลกเป็นจริงมากในระบบการศึกษาไทย    คือหลากหลายฝ่ายเข้าไปแสวงประโยชน์ตน    แย่งทรัพยากรมาจากเด็ก    ทำให้การศึกษาคุณภาพต่ำ    ผู้รับเคราะห์คือเด็ก และประเทศ    เพราะจะมีผลให้ประเทศไทยมีพลเมืองคุณภาพต่ำ  

เราจึงเห็นว่า พรบ. พื้นที่นวัตกรรมการศึกษา พ.ศ. ๒๕๖๒    มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ ๑ พฤษภาคม ๒๕๖๒    จนเวลานี้ผ่านมากว่า ๙ เดือน    ยังไม่มีการตั้งคณะกรรมการนโยบาย    โดยข้อเสนอตั้งคณะกรรมการสรรหากรรมการผู้ทรงคุณวุฒิไปดองอยู่ที่รัฐมนตรี ๒ เดือนแล้ว   

เราได้รับทราบว่าที่เชียงใหม่ มีการกำหนดโรงเรียนนำร่อง ๖๑ โรงเรียน    แต่เรื่องอื่นๆ ที่สมควรก้าวหน้าก็นิ่งอยู่    มีคนเล่าความขัดแย้งระหว่างหน่วยงานด้านการศึกษากันเอง    รวมทั้งความขัดแย้งที่ตัวบุคคลด้วย    ผมชี้ให้ที่ประชุมเห็นว่า ที่เชียงใหม่ขาดหน่วยงานทำหน้าที่ประสานงาน (coordinator)     โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ประสานงานที่ไม่เป็นทางการและมีความคล่องตัว มีความจริงใจเอาจริงเอาจัง    

จะเห็นว่า โรงเรียนในโครงการโรงเรียนพัฒนาตนเอง ดำเนินการมาเพียงภาคการศึกษาเดียว     การจัดการเรียนรู้ในโรงเรียนก้าวหน้าไปมาก    นักเรียนได้รับประโยชน์    ทำให้ชีวิตการเรียนในโรงเรียนเป็นเรื่องสนุก ได้เป็นตัวของตัวเอง     เกิดการเรียนรู้อย่างแท้จริง    เพราะโครงการนี้มีการจัดการดี มีการประสานงานดี    มีวงแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างทีมพี่เลี้ยงทั้ง ๕ ทีม  และระหว่างโรงเรียนในโครงการ 

ผมหวังว่า ผู้บริหารโรงเรียนและครูที่เชียงใหม่จะได้เข้าใจอุปสรรคที่แท้จริงของความเลื่อมล้ำทางการศึกษา    และของความด้อยคุณภาพของการศึกษา    

ในที่ประชุมมีการพูดกันเรื่อง school-based education development    คือในเมื่อระบบมันเน่า โรงเรียนและครูก็อย่าไปกังวลกับมันนัก    หันมาทำงานสร้างสรรค์ที่ตัวเด็กดีกว่า    ดังมีตัวอย่างโรงเรียนแม่คือวิทยา ผู้อำนวยการ คือนายสุริยน สุริโยดร ดำเนินการปรับย่อหลักสูตร ๘ สาระให้กลายเป็นหลักสูตรบูรณาการ ลดสาระให้เหลือน้อยที่สุด    เพื่อประโยชน์ต่อการเรียนของเด็กนักเรียน    และต่อครู    คือให้นักเรียนได้เรียนรู้และพัฒนาได้ดีกว่าเดิมโดยการบูรณาการหลักสูตร    ทำได้โดยไม่มีปัญหาใดๆ (ดูบันทึกชุด ทำงานเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา บันทึกที่ ๓๙) อย่างที่มีคนบ่นในที่ประชุม

ในชุมชนที่มีปัญหา เพราะถูกอำนาจกดทับ    คนที่มีความสร้างสรรค์บางคนไม่กล้าออกนอกกรอบ    นั่นคือสภาพที่วงการศึกษาไทยต้องแก้ไขเชิงระบบ    เราต้องการสร้างคนที่กล้าออกนอกกรอบ เพื่อประโยชน์เชิงสร้างกุศล    ไม่ใช่ออกนอกกรอบเชิงสร้างอกุศลอย่างที่ดาษดื่นในสังคมไทยเวลานี้         

ตอนเสวนาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ดร. สุธีระเอ่ยเรื่องการถูกครอบงำทางความคิด   ว่าเป็นอุปสรรคต่อการเรียนรู้    ผมจึงเสนอว่าการถูกครอบงำทางความคิดอย่างหนึ่งคือครอบโดยทฤษฎี    ยึดมั่นถือมั่นกับทฤษฎีที่สอนตามๆ กันมาจนไม่กล้าคิดนอกกรอบ    ใครไม่คิดตามทฤษฎีถือว่าอุตริ หรือผิด    ในขณะที่ผลงานวิจัยสมัยใหม่ว่าด้วยกลไกการเรียนรู้ บอกว่าการเรียนรู้ที่ลึกและเชื่อมโยงเกิดจากการปฏิบัติ แล้วโยงไปทำความเข้าใจทฤษฎีหรือสร้างทฤษฎีใหม่ (หรือปรับปรุงทฤษฎีเดิม)    คนที่จะคิดสร้างสรรค์ได้จึงต้องไม่ถูกครอบงำโดยทฤษฎี           

ช่วงหนึ่งของการเสวนา ที่มีคนเอ่ยเรื่องการทำหน้าที่โค้ชให้แก่โรงเรียน    ทำให้ผมชี้ให้ที่ประชุมสังเกตว่าการโค้ชอาจมีหลายแบบ หลายจุดเน้น    มองมุมหนึ่งมีสองขั้วตรงกันข้ามของแนวทางโค้ช    คือแนวทางเน้นข้อมูลจากห้องเรียน จากการเรียนรู้หรือพฤติกรรมของนักเรียน (student-based coaching)    กับอีกขั้วหนึ่ง เป็นการโค้ชโดยเน้นอิงทฤษฎี หลักสูตรมาตารฐาน และกฎระเบียบของกระทรวงศึกษาธิการ (rule-based coaching)    ผมมีความเห็นว่า การโค้ชที่ดีต้องโน้มเอียงไปทางขั้วแรกให้มากๆ  

ในที่ประชุม เราได้สัมผัสกับคนที่พูดเก่ง จับประเด็นได้เร็ว     แต่ไม่เคลื่อนงาน    เดาว่าเพราะไม่อยากเข้าไปอยู่ภายใต้ความขัดแย้งทางการเมืองระหว่างกลุ่มผลประโยชน์   

สังคมนี้มีคนยึดประโยชน์ตนมากเกินไป (ครูเพื่อกู)     แต่เราก็โชคดี ที่ยังมีผู้บริหารโรงเรียนและครูจำนวนหนึ่ง มุ่งมั่นทำงานเพื่อประโยชน์ของการเรียนรู้ของนักเรียนอย่างแท้จริง     ผมขอเป็นกำลังใจและคารวะท่านเหล่านี้ ... ครูเพื่อศิษย์ 

วิจารณ์ พานิช  

๒๖ ก.พ. ๖๓

บนรถยนต์ เดินทางไปประชุมที่สถาบันอาศรมศิลป์



1 บรรยากาศในห้องประชุม

2 ถ่ายจากอีกมุมหนึ่ง

หมายเลขบันทึก: 676532เขียนเมื่อ 2 เมษายน 2020 19:24 น. ()แก้ไขเมื่อ 2 เมษายน 2020 19:24 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท