พระไตรปิฎกอ่านง่าย เล่มที่ ๙ (พระสูตร เล่มที่ ๑) เรื่องที่ ๓ อัมพัฎฐสูต เรื่องความประเสริฐของความรู้และความประพฤติ


๓. อัมพัฏฐสูตร   ว่าด้วยชายหนุ่มชื่ออัมพัฏฐะ

เรื่องอัมพัฏฐมาณพ

ครั้งหนึ่ง พระผู้มีพระภาคเสด็จจาริกไปในโกศลชนบท พร้อมด้วยภิกษุหมู่ใหญ่ประมาณ ๕๐๐ รูป เสด็จไปจนถึงพราหมณคาม แห่งชาวโกศล ชื่ออิจฉานังคลคาม ทรงประทับอยู่ ณ ราวป่าอิจฉานังคลวัน เขตอิจฉานังคลคาม

มีพราหมณ์ ชื่อโปกขรสาติ ปกครองนครอุกกัฏฐะ ซึ่งคับคั่งด้วยประชาชนและหมู่สัตว์ อุดมด้วยหญ้า ด้วยไม้ ด้วยน้ำ สมบูรณ์ด้วยธัญญาหาร  ซึ่งเป็นราชสมบัติที่พระเจ้าปเสนทิโกศล พระราชทานไว้

พราหมณ์โปกขรสาติได้สดับข่าวว่า พระสมณโคดมศากยบุตร ทรงผนวชจากศากยสกุลแล้ว เสด็จจาริกไปในโกศลชนบท พร้อมด้วยภิกษุสงฆ์หมู่ใหญ่ประมาณ  ๕๐๐ รูป ถึงอิจฉานังคลคามโดยลำดับ ประทับอยู่ ณ ราวป่าอิจฉานังคลวัน เขตอิจฉานังคลคาม ก็กิตติศัพท์อันงามของท่านพระโคดมพระองค์นั้นแล ขจรไปแล้วอย่างนี้ว่า พระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น เป็นพระอรหันต์ตรัสรู้เองโดยชอบถึงพร้อมด้วยวิชชาและจรณะ เสด็จไปดีแล้วทรงรู้แจ้งโลก เป็นสารถีฝึกบุรุษที่ควรฝึก ไม่มีผู้อื่นยิ่งกว่า เป็นศาสดาของเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย เป็นผู้เบิกบานแล้ว เป็นผู้จำแนกพระธรรมพระตถาคตพระองค์นั้น ทรงทำโลกนี้พร้อมทั้งเทวโลก มารโลก พรหมโลก ให้แจ้งชัดด้วยพระปัญญาอันยิ่งของพระองค์เองแล้ว ทรงสอนหมู่สัตว์พร้อมทั้งสมณพราหมณ์เทวดาและมนุษย์ให้รู้ตาม พระองค์ทรงแสดงธรรมงามในเบื้องต้น งามในท่ามกลาง งามในที่สุด ทรงประกาศพรหมจรรย์ พร้อมทั้งอรรถ พร้อมทั้งพยัญชนะ บริสุทธิ์บริบูรณ์สิ้นเชิง ก็การได้เห็นพระอรหันต์ทั้งหลายที่มีคุณสมบัติเช่นนี้ ย่อมเป็นการดี

ครั้งนั้น อัมพัฏฐมาณพ ศิษย์ของพราหมณ์โปกขรสาติ เป็นผู้เล่าเรียนทรงจำมนต์ รู้จบไตรเวท พร้อมทั้งคัมภีร์นิฆัณฑุ  คัมภีร์เกตุภะ พร้อมทั้งประเภทอักษร คัมภีร์อิติหาส เป็นผู้เข้าใจตัวบท เป็นผู้เข้าใจไวยากรณ์ ชำนาญในคัมภีร์โลกายตะ และมหาปุริสลักษณะ ซึ่งอาจารย์ได้รับรองและให้การยกย่องว่าเชี่ยวชาญความรู้ในไตรเวท เทียบเท่าอาจารย์

พราหมณ์โปกขรสาติ ได้เล่าให้อัมพัฏฐมาณพรับฟังการมาประทับของพระพุทธเจ้า และพระสงฆ์หมู่ใหญ่ ประมาณ ๕๐๐ รูป และขอให้อัมพัฏฐะ ไปเฝ้าพระพุทธเจ้าเพื่อไปพิสูจน์พระคุณของพระพุทธเจ้าเป็นจริงตามนั้นหรือไม่

อัมพัฏฐมาณพถามพราหมณ์โปกขรสาติผู้เป็นอาจารย์ว่า เราจะไปพิสูจน์ได้อย่างไร

พราหมณ์โปกขรสาติตอบว่า คัมภีร์ของเรากล่าวถึงมหาปุริสลักษณะ ๓๒ ประการ ถ้าผู้ใดมีแล้ว มีเพียง ๒ ทางเท่านั้น คือ หากครองเรือนจะได้เป็นพระเจ้าจักรพรรดิ ผู้ทรงธรรม เป็นพระราชาโดยธรรม เป็นใหญ่ในแผ่นดิน มีมหาสมุทร๔ เป็นขอบเขต ทรงชนะแล้ว มีราชอาณาจักรมั่นคง สมบูรณ์ด้วยแก้ว ๗ ประการ คือ จักรแก้วช้างแก้ว ม้าแก้ว แก้วมณี นางแก้ว คฤหบดีแก้ว ปริณายกแก้ว เป็นที่ ๗ พระราชบุตรของพระองค์มีกว่าพัน ล้วนกล้าหาญ มีรูปทรงสมเป็นวีรกษัตริย์ สามารถย่ำยีเสนาของข้าศึกได้พระองค์ทรงชำนะโดยธรรม มิต้องใช้อาชญา มิต้องใช้ศาตรา ครอบครองแผ่นดินมีมหาสมุทรเป็นขอบเขต ถ้าเสด็จออกผนวชเป็นบรรพชิต จะได้เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า หมดสิ้นจากกิเลส

อัมพัฏฐมาณพรับคำพราหมณ์โปกขรสาติแล้ว ลุกจากที่นั่ง ไหว้พราหมณ์โปกขรสาติกระทำประทักษิณ แล้วขึ้นรถม้าพร้อมด้วยมาณพหลายคน ขับรถม้าตรงไปยังราวป่าอิจฉานังคลวัน บนถนนเท่าที่รถม้าจะไปได้ ลงจากรถเดินตรงไปยังพระอาราม

ขณะนั้น มีภิกษุหลายรูปกำลังจงกรมอยู่กลางแจ้ง  อัมพัฏฐมาณพเข้าไปหาภิกษุเหล่านั้นถึงที่จงกรม ถามว่า เวลานี้ท่านพระโคดมพระองค์นั้นประทับอยู่ที่ไหน พวกข้าพเจ้าพากันเข้ามาที่นี่ เพื่อจะเฝ้าพระองค์ท่าน

ภิกษุเหล่านั้นคิดเห็นตรงกันเช่นนี้ว่า อัมพัฏฐมาณพผู้นี้เป็นคนเกิดในสกุลที่มีชื่อเสียง ทั้งเป็นศิษย์ของพราหมณ์โปกขรสาติผู้มีชื่อเสียง การสนทนาปราศรัยกับพวกกุลบุตรเช่นนี้ ย่อมไม่เป็นการหนักพระทัยแก่พระผู้มีพระภาคเลย จึงตอบอัมพัฏฐมาณพว่า พระวิหารมีประตูปิดอยู่ ท่านจงสงบเสียงเข้าไปทางพระวิหารนั้น ค่อยๆ เข้าไปที่เฉลียง กระแอมไอแล้ว เคาะบานประตูเถิด พระผู้มีพระภาคจักทรงเปิดประตูรับท่าน

อัมพัฏฐมาณพสงบเสียง เข้าไปทางพระวิหารซึ่งมีประตูปิดอยู่นั้น ค่อยๆเข้าไปยังเฉลียง กระแอมไอแล้ว เคาะบานประตู พระผู้มีพระภาคทรงเปิดประตู อัมพัฏฐมาณพเข้าไปแล้ว ได้ทักทายปราศรัยกับพระองค์

ระหว่างปราศรัย อัมพัฏฐมาณพ เดินบ้าง ยืนบ้าง พระผู้มีพระภาคผู้ประทับนั่งอยู่ พระผู้มีพระภาคตรัสถามว่า อัมพัฏฐะ เธอเคยสนทนาปราศรัยกับพวกพราหมณ์ผู้เฒ่า ผู้แก่ ผู้เป็นอาจารย์ เป็นหัวหน้า แต่เดินบ้าง ยืนบ้าง เหมือนที่กำลังปราศรัยกับเราหรือไม่

อัมพัฏฐมาณพตอบว่า ไม่ได้ทำเช่นนี้ เพราะว่าพราหมณ์ผู้เดินก็ควรเจรจากับพราหมณ์ผู้เดิน พราหมณ์ผู้ยืนก็ควรเจรจากับพราหมณ์ผู้ยืน พราหมณ์ผู้นั่งก็ควรเจรจากับพราหมณ์ผู้นั่ง พราหมณ์ผู้นอนก็ควรเจรจากับพราหมณ์ผู้นอน แต่การปราศรัยกับนักบวชหัวโล้น เป็นคฤหบดีเชื้อสายกัณหโคตร คือโคตรตัวดำ เกิดจากพระบาทของท้าวมหาพรหม ข้าพเจ้าย่อมสนทนาปราศรัยกับผู้นั้น เหมือนกับที่สนทนาปราศรัยกับท่าน

พระพุทธเจ้าตรัสว่า อัมพัฏฐะเธอมีธุระจึงได้มาที่นี้ เธอมาเพื่อประโยชน์ใด ก็พึงใส่ใจในประโยชน์นั้น เธอยังไม่ศึกษาอะไรเลย ก็คิดว่ามีการศึกษาดูแล้ว อย่างนี้เรียกว่าไม่ได้รับการศึกษา

อัมพัฏฐมาณพถูกพระผู้มีพระภาคตรัสตำหนิด้วยพระวาจาว่า เป็นคนไม่ได้รับการศึกษา จึงโกรธ ขัดใจ และคิดว่าต้องการข่มพระผู้มีพระภาคเจ้าให้ได้รับความอับอายเสียหาย จึงกล่าวว่า  พวกชาติศากยะดุร้าย หยาบช้า ใจน้อย พูดพล่าม เป็นแต่พวกคฤหบดีแท้ๆ ยังไม่สักการะพวกพราหมณ์ ไม่เคารพพวกพราหมณ์ ไม่นับถือพวกพราหมณ์ ไม่บูชาพวกพราหมณ์ ไม่อ่อนน้อมพวกพราหมณ์ นี้เป็นการไม่เหมาะสม

พระผู้มีพระภาคถามว่า พวกศากยะได้ทำผิดอะไรต่อเธอหรือ

ท่านโคดม ครั้งหนึ่ง ข้าพเจ้าได้ไปยังนครกบิลพัสดุ์ ด้วยกรณียกิจบางอย่างของพราหมณ์โปกขรสาติผู้อาจารย์ ได้เดินเข้าไปยังสัณฐาคารของพวกศากยะ เวลานั้นพวกศากยะและศากยกุมารจำนวนมาก นั่งเหนืออาสนะสูงๆ ในสัณฐาคารเอานิ้วมือสะกิดกันและกันเฮฮาอยู่ เห็นทีจะหัวเราะเยาะข้าพเจ้าเป็นแน่ ไม่มีใครเชื้อเชิญให้ข้าพเจ้านั่งเลย การไม่เคารพ นับถือ บูชา ไม่อ่อนน้อมต่อพราหมณ์นี้ เป็นการไม่สมควรเลย

อัมพัฏฐะ แม้นางนกไส้ก็ยังเป็นสัตว์พูดได้ตามความปรารถนาในรังของตน พระนครกบิลพัสดุ์เป็นถิ่นของพวกศากยะ อัมพัฏฐะไม่ควรจะข้องใจ เพราะการหัวเราะเยาะเพียงเล็กน้อยนี้

ท่านโคดม วรรณะ ๔ เหล่านี้ คือ กษัตริย์ พราหมณ์ แพศย์ ศูทร  บรรดาวรรณะ ๓ วรรณะ คือ กษัตริย์ แพศย์ ศูทร เป็นคนบำเรอของพราหมณ์ การที่พวกศากยะ ที่เป็นตระกูลคหบดี ไม่สักกาะพราหมณ์ จึงเป็นการไม่เหมาะสม

ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคทรงพระดำริว่า อัมพัฏฐมาณพผู้นี้ กล่าวเหยียบย่ำพวกศากยะอย่างหนัก โดยเรียกว่า เป็นแต่พวกคฤหบดี เราจะถามถึงโคตรเขาดูบ้าง พระองค์จึงตรัสถามว่า เธอมีโคตรตระกูลอะไร

อัมพัฏฐะ ตอบว่า โคตรตระกูลชื่อ กัณหายนโคตร

พระผู้มีพระภาคเจ้า ตรัสว่า โคตรตระกูลของเธอ เป็นเพียงลูกนางทาสีของพวกศากยะ บรรพบุรุษของพวกศากยะ ก็คือ พระเจ้าอุกกากราช

ว่าด้วยศากยวงศ์

อัมพัฏฐะ เธอระลึกถึงโคตรเก่าแก่อันเป็นของมารดาบิดาดูเถิด พวกศากยะเป็นลูกเจ้า เธอเป็นลูกทาสีของพวกศากยะ

 ในอดีต พระเจ้าอุกกากราชทรงพระประสงค์จะพระราชทานสมบัติให้แก่พระโอรสของพระมเหสีผู้ที่ทรงรักใคร่โปรดปราน จึงทรงรับสั่งให้พระเชฏฐกุมาร คือ พระอุกกามุขราชกุมาร ส่วนพระกรกัณฑุราชกุมาร พระหัตถินีกราชกุมาร และพระสีนิปุระราชกุมาร ให้ออกจากพระราชอาณาเขต พระกุมารเหล่านั้น เสด็จออกจากพระราชอาณาเขตแล้ว จึงไปตั้งสำนักอาศัยอยู่ ณ ราวป่าไม้สากะใหญ่ริมฝั่งสระโปกขรณีข้างภูเขาหิมพานต์ พระราชกุมาร และพระราชกุมารีเหล่านั้นทรงอภิเษกสมรสกันเอง เพราะกลัวว่าจะมีสายเลือดไม่บริสุทธิ์

ต่อมาพระเจ้าอุกกากราชตรัสถามหมู่อำมาตย์ราชบริษัทว่า บัดนี้พวกกุมารอยู่กัน ณ ที่ไหน พวกอำมาตย์กราบทูลว่า ขอเดชะ มีราวป่าไม้สากะใหญ่อยู่ริมฝั่งสระโบกขรณีข้างภูเขาหิมพานต์ พระราชกุมารทั้งหลายอยู่ ณ ที่นั้น พระราชกุมารและพระราชกุมารีเหล่านั้นทรงอภิเษกสมรสกันเอง เพราะกลัวว่าจะมีสายเลือดไม่บริสุทธิ์

พระเจ้าอุกกากราชทรงเปล่งพระอุทานว่า ท่านทั้งหลาย พวกกุมารกุมารีนี้ ช่างเก่งและมีความสามารถจริงหนอ พวกเขาจึงได้ชื่อว่า ศากยะ มีพระเจ้าอุกกากราชพระองค์ เป็นบรรพบุรุษ

พระเจ้าอุกกากราชมีนางทาสีคนหนึ่งชื่อทิสา นางคลอดบุตรคนหนึ่ง ชื่อกัณหะ กัณหะพอเกิดมาก็พูดได้ว่า แม่จงทำความสะอาดให้ฉัน จงให้ฉันอาบน้ำ จงปลดเปลื้องฉันจากสิ่งโสโครก ฉันเกิดมาเพื่อประโยชน์แก่แม่

มนุษย์สมัยนั้น เรียกคนดำที่แปลกประหลายว่าปีศาจ ฉันใด  ทารกคนนี้ เป็นคนดำ เป็นคนแปลกประหลาด เกิดมาก็พูดได้แล้ว เขาจึงมีชื่อว่า กัณหะ และกัณหะคนนี้ เป็นบรรพบุรุษของพวกกัณหายนะนั่นเอง 

ว่าด้วยวงศ์ของอัมพัฏฐมาณพ

เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสอย่างนี้แล้ว พวกมาณพที่มาด้วยกัน ได้กราบทูลว่าพระโคดมผู้เจริญ ขอพระองค์อย่าทรงเหยียดหยามอัมพัฏฐมาณพด้วยถ้อยคำว่าเป็นลูกทาสีเลย อัมพัฏฐมาณพมีชาติตระกูลดี เป็นพหูสูต เจรจาไพเราะ เป็นบัณฑิต เขาสามารถจะโต้ตอบกับพระองค์ได้

พระผู้มีพระภาคได้ตรัสกับพวกมาณพเหล่านั้นว่า ถ้าพวกเธอคิดเช่นนี้ว่าอัมพัฏฐมานพไม่มีชาติตระกูลที่ดี ไม่ฉลาด ไม่มีความสามารถ พวกเธอจงมาโต้ตอบกับเรา แต่ถ้าเห็นว่า อัมพัฏฐมานพเป็นมีชาติตระกูลดี เป็นคนฉลาด มีปัญญา เป็นพหูสูตพวกเธอจงหยุดพูด ให้อัมพัฏฐมานพมาโต้ตอบกับเราแทน

พวกมาณพกราบทูลว่า ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ อัมพัฏฐมาณพมีชาติตระกูลที่ดี เป็นพหูสูต เป็นบัณฑิต จักโต้ตอบกับท่าน พวกเราจักนิ่งเฉย

ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคตรัสกะอัมพัฏฐมาณพว่า เธอเป็นคนตั้งปัญหาเอง ปัญหาย้อนกลับมาที่เธอแล้ว หากเธอไม่ตอบ กลบเกลื่อนถ้อยคำ นิ่งเสีย หรือหลบหลีกไป ศีรษะของเธอจะแตกเป็นเจ็ดเสี่ยง

เธอเคยได้ยินพวกพราหมณ์ผู้เฒ่า ผู้เป็นอาจารย์เล่ามาบ้างไหม พวกกัณหายนะเกิดมาจากใคร และใครเป็นบรรพบุรุษของพวกกันหายนะ

พระผู้มีพระภาคตรัสถามถึงสองครั้ง อัมพัฏฐ ก็ยังนั่งนิ่ง พระผู้มีพระภาคจึงตรัสว่า อัมพัฏฐ เธอจงตอบเดี๋ยวนี้ หากพระตถาคตถามถึงสามครั้ง ศีรษะเธอจะแตกเป็นเจ็ดเสี่ยงทันที

ระหว่างนั้น มียักษ์ชื่อวชิรปาณีถือค้อนเหล็กใหญ่ลุกโพลงโชติช่วงยืนอยู่ในอากาศเบื้องบนอัมพัฏฐมาณพ คิดว่า ถ้าอัมพัฏฐมาณพถูกพระผู้มีพระภาคตรัสถามปัญหาที่ประกอบด้วยเหตุถึงสามครั้งแล้ว แต่ไม่แก้ เราจักต่อยศีรษะของเขาให้แตกเป็นเจ็ดเสี่ยงทันที

พระผู้มีพระภาคและอัมพัฏฐมาณพเท่านั้นเห็นยักษ์วชิรปาณีตนนั้น

อัมพัฏฐมาณพตกใจกลัวขนพองสยองเกล้า ทูลขอให้พระผู้มีพระภาคเป็นที่พึ่ง กระเถิบเข้าไปใกล้ๆ พระพุทธองค์  แล้วกราบทูลว่า ขอพระองค์ได้ตรัสถามอีกครั้ง

เมื่อพระพุทธองค์ทวนคำถามแล้ว อัมพัฏฐตอบว่า ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ ข้าพเจ้าได้ยินมาเหมือนอย่างที่พระโคดมผู้เจริญตรัสนั่นแหละ พวกกัณหายนะเกิดมาจากกัณหะ และกัณหะนั้นเป็นบรรพบุรุษของพวกกัณหายนะ

เมื่ออัมพัฏฐมาณพกล่าวเช่นนี้แล้ว มาณพเหล่านั้นส่งเสียงอื้ออึงเกรียวกราวว่า ท่านผู้เจริญ อัมพัฏฐมาณพมีชาติตระกูลต่ำ มิใช่บุตรผู้มีสกุล เป็นลูกทาสีของพวกศากยะ พวกศากยะเป็นโอรสของเจ้านายอัมพัฏฐมาณพ พวกเราคิดว่าพระสมณโคดมจะถูกไล่ต้อนให้จนมุมเสียแล้ว

พระผู้มีพระภาคทรงดำริเช่นนี้ว่า มาณพเหล่านี้พากันเหยียดหยามอัมพัฏฐมาณพด้วยถ้อยคำว่า เป็นลูกทาสี เราจะช่วยปลดเปลื้องถ้อยคำนี้

พระผู้มีพระภาคได้ตรัสกับพวกมาณพเหล่านั้นว่า พวกเธออย่าเหยียดหยามอัมพัฏฐมาณพด้วยคำว่า เป็นลูกทาสี เพราะกัณหะนั้นได้เป็นฤาษีคนสำคัญ เขาได้ไปยังชนบทเรียนมนต์อันประเสริฐ แล้วเข้าไปเฝ้าพระอุกกากราชทูลขอพระราชธิดาพระนามว่ามัททรูปี พระเจ้าอุกกากราชทรงพระพิโรธพระฤาษีนั้นว่าบังอาจนักที่ลูกทาสีมาขอธิดาของเรา พระองค์ทรงยกพระแสงศร แต่ก็ไม่อาจจะแผลงศร และจะลดลงปล่อยมือก็ไม่ได้

ครั้งนั้น หมู่อำมาตย์ราชบริษัทพากันเข้าไปหากัณหฤาษี แล้วได้กล่าวคำว่า ข้าแต่ท่านผู้เจริญ ขอให้พระราชามีความสวัสดี ฤาษีตอบว่า  หากพระราชาทรงแผลงพระแสงศรลงไปข้างล่าง แผ่นดินจักทรุดตลอดพระราชอาณาเขต  หากทรงแผลงพระแสงศรขึ้นไปเบื้องบน ฝนจักไม่ตกทั่วพระราชอาณาเขตถึงเจ็ดปี  แต่พระราชาต้องทรงวางพระแสงศรไว้ที่พระราชกุมารพระองค์ใหญ่ แล้วกล่าวว่า ขอให้พระราชกุมารเป็นผู้มีความสวัสดี พระราชกุมารก็จะปลอดภัย พระเจ้าอุกกากราชทรงกลัวถูกขู่ด้วยพรหมทัณฑ์ จึงได้พระราชทานพระนางมัททรูปีราชธิดาแก่ฤาษีนั้น

มาณพทั้งหลาย พวกเธออย่าเหยียดหยามอัมพัฏฐมาณพด้วยคำว่า เป็นลูกทาสี กัณหะนั้นได้เป็นฤาษีคนสำคัญแล้ว

พระผู้มีพระภาครับสั่งกะอัมพัฏฐมาณพว่า หากพระราชกุมารแต่งงานกับนางพราหมณ์ แล้วมีบุตรด้วยกัน  บุตรที่เกิดจากนางพรหมณ์และขัตติยกุมารนั้น ควรจะได้นั่งร่วมกัน หรือกินดื่มร่วมกันกับพวกพราหมณ์บ้างหรือไม่  ควรจะได้รับเชิญมาบริโภคในงานศพ งานมงคล งานยัญพิธี หรืองานเลี้ยงแขกหรือไม่  ควรจะได้มาเรียนพระเวทหรือไม่ ควรจะได้แต่งงานหรือไม่

เขากราบทูลว่า “ควรจะได้ ท่านพระโคดม”

“เขาควรจะได้รับอภิเษกเป็นกษัตริย์หรือไม่”

“ไม่ควรจะได้รับ เพราะเขาไม่บริสุทธิ์ข้างมารดา”

“อัมพัฏฐะ พราหมณกุมารแต่งงานกับนางขัตติยกัญญา จนมีบุตร บุตรที่เกิดจากนางขัตติยกัญญากับพราหมณกุมารควรจะได้นั่งร่วมกันหรือกินดื่มร่วมกันกับพวกพราหมณ์บ้างหรือไม่ ควรจะได้เช้าร่วมทานข้าวในงานศพ งานมงคล งานยัฯพิธี หรืองานเลี้ยงทั่วไปหรือไม่  ควรจะได้เรียนพระเวทหรือไม่ ควรจะแต่งงานได้หรือไม่ 

“ควรจะได้ ท่านพระโคดม”

“เขาควรจะได้รับอภิเษกเป็นกษัตริย์หรือไม่”

“ไม่ควรจะได้รับ เพราะเขาไม่บริสุทธิ์ข้างบิดา”

พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “อัมพัฏฐะ เมื่อเทียบหญิงกับหญิง เทียบชายกับชาย กษัตริย์พวกเดียวเท่านั้นที่จัดว่าประเสริฐ พราหมณ์จัดว่าต่ำกว่า

พวกพราหมณ์ในโลกนี้ โกนศีรษะพราหมณ์คนหนึ่งแล้วละเลงหัวด้วยขี้เถ้า เนรเทศออกจากแว่นแคว้น หรือจากเมืองเพราะความผิดบางอย่าง พราหมณ์คนนั้นควรจะได้นั่งร่วมกันหรือกินดื่มร่วมกันกับพวกพราหมณ์บ้างหรือไม ควรจะเชิญเขามาทานเลี้ยงในงานศพ งานมงคล งานยัญพิธี งานเลี้ยงทั่วไปหรือไม่ ควรจะให้เรียนพระเวทหรือไม่ ควรจะให้มาแต่งงานหรือไม่

“ควรถูกห้าม”

“อัมพัฏฐะ พวกกษัตริย์ในโลกนี้ปลงพระเกศากษัตริย์องค์หนึ่งแล้วละเลงหัวด้วยเถ้า เนรเทศออกจากแว่นแคว้นหรือจากเมืองเพราะความผิดบางอย่าง กษัตริย์องค์นั้นควรจะได้นั่งร่วมกันหรือกินดื่มร่วมกันกับพวกพราหมณ์บ้างหรือไม่ ควรจะให้เชิญมางานเลี้ยงในงานศพ งานมงคล งานยัญพิธี หรืองานเลี้ยงทั่วไปหรือไม่ ควรจะได้เรียนวิชาหรือไม่ ควรจะได้แต่งงานหรือไม่”

“ควรจะได้ ท่านพระโคดม”

พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “อัมพัฏฐะ กษัตริย์ที่ถูกกษัตริย์ด้วยกันปลงพระเกศา ละเลงหัวด้วยเถ้าแล้วเนรเทศออกจากแว่นแคว้นหรือจากเมือง ชื่อว่าเป็นผู้ถึงความตกต่ำอย่างยิ่ง กษัตริย์เมื่อถึงความตกต่ำอย่างยิ่งเช่นนี้ ก็ยังจัดว่าประเสริฐอยู่ พราหมณ์ต่างหากที่ยังต่ำกว่า สมดังคาถาที่สนังกุมารพรหมกล่าวไว้ว่า

‘ในหมู่ชนที่ถือตระกูลเป็นใหญ่ กษัตริย์จัดว่าประเสริฐที่สุด

ส่วนท่านผู้เพียบพร้อมด้วยวิชชาและจรณะจัดว่า

เป็นผู้ประเสริฐที่สุดในหมู่เทวดาและมนุษย์

แม้เราก็กล่าวอย่างเดียวกันนี้ว่า

ในหมู่ชนที่ถือตระกูลเป็นใหญ่ กษัตริย์จัดว่าประเสริฐที่สุด

ส่วนท่านผู้เพียบพร้อมด้วยวิชชาและจรณะ

จัดว่าเป็นผู้ประเสริฐที่สุดในหมู่เทวดาและมนุษย์

เรื่องวิชชาและจรณะ

อัมพัฏฐมาณพทูลถามว่า “่ท่านพระโคดม จรณะนั้นเป็นอย่างไร วิชชานั้นเป็นอย่างไร”

พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า “อัมพัฏฐะ วิชชาสมบัติ และจรณสมบัติอันเป็นคุณยอดเยี่ยม เขาไม่อ้างชาติ ไม่อ้างตระกูล หรือไม่อ้างความถือตัวว่า  ท่านคู่ควรกับเราหรือท่านไม่คู่ควรกับเรา  แต่ในที่ที่มีอาวาหมงคล วิวาหมงคล เขาจึงอ้างชาติ อ้างตระกูล หรืออ้างความถือตัวว่า ท่านคู่ควรกับเราหรือท่านไม่คู่ควรกับเรา หมู่ชนที่ยึดติดเพราะอ้างชาติ อ้างตระกูล อ้างความถือตัว หรือยึดติดอยู่กับอาวาหมงคลและวิวาหมงคล ชื่อว่ายังอยู่ห่างไกลจากวิชชาสมบัติและจรณสมบัติอันเป็นคุณยอดเยี่ยม อัมพัฏฐะ การทำให้แจ่มแจ้งในวิชชาสมบัติและจรณสมบัติอันเป็นคุณยอดเยี่ยม ย่อมมีได้เพราะละการยึดติดในชาติ ตระกูล ยึดติดในความถือตัว และการยึดติดอยู่กับอาวาหมงคลและวิวาหมงคลแล้วเท่านั้น”

“ตถาคตอุบัติขึ้นมาในโลกนี้ เป็นพระอรหันต์ตรัสรู้ด้วยตนเองโดยชอบ ฯลฯ”

ภิกษุนั้นสงัดจากกามและอกุศลธรรมทั้งหลายแล้ว บรรลุปฐมฌานที่มีวิตกวิจารปีติและสุขอันเกิดจากวิเวกอยู่ ฯลฯ ข้อนี้จัดเป็นจรณะอย่างหนึ่งของภิกษุนั้น

เพราะวิตกวิจารสงบระงับไป ภิกษุบรรลุทุติยฌานมีความผ่องใสในภายในมีภาวะที่จิตเป็นหนึ่งผุดขึ้น ไม่มีวิตกไม่มีวิจาร มีแต่ปีติและสุขอันเกิดจากสมาธิอยู่ ฯลฯ ข้อนี้จัดเป็นจรณะอย่างหนึ่งของภิกษุนั้น

เพราะปีติจางคลายไป ภิกษุมีอุเบกขา มีสติสัมปชัญญะเสวยสุขด้วยนามกาย บรรลุตติยฌานที่พระอริยะทั้งหลายสรรเสริญว่า ผู้มีอุเบกขามีสติ อยู่เป็นสุข ฯลฯ ข้อนี้จัดเป็นจรณะอย่างหนึ่งของภิกษุนั้น

เพราะละสุขและทุกข์ได้ เพราะโสมนัสและโทมนัสดับไปก่อนแล้ว ภิกษุบรรลุจตุตถฌานที่ไม่มีทุกข์ไม่มีสุข มีสติบริสุทธิ์เพราะอุเบกขาอยู่ ฯลฯ

เมื่อจิตเป็นสมาธิบริสุทธิ์ผุดผ่อง ไม่มีกิเลสเพียงดังเนิน ปราศจากความเศร้าหมอง อ่อน เหมาะแก่การใช้งาน ตั้งมั่น ไม่หวั่นไหวอย่างนี้ ภิกษุนั้นน้อมจิตไปเพื่อญาณทัสสนะ ฯลฯ ข้อนี้จัดเป็นวิชชาอย่างหนึ่งของภิกษุนั้น  ฯลฯ รู้ชัดว่า ชาติสิ้นแล้ว อยู่จบพรหมจรรย์แล้ว ทำกิจที่ควรทำเสร็จแล้ว ไม่มีกิจอื่นเพื่อความเป็นอย่างนี้อีกต่อไป ข้อนี้จัดเป็นวิชชาอย่างหนึ่งของภิกษุนั้น

อัมพัฏฐะ ที่แสดงมาทั้งหมดนี้ จัดเป็นวิชชา

ภิกษุผู้ปฏิบัติเช่นนี้เรียกว่า ผู้เพียบพร้อมด้วยวิชชาบ้าง ผู้เพียบพร้อมด้วยจรณะบ้าง ผู้เพียบพร้อมด้วยวิชชาและจรณะบ้าง  วิชชาสมบัติและจรณสมบัติอย่างอื่นซึ่งเหนือกว่าและประณีตกว่าวิชชาสมบัติและจรณสมบัตินี้ไม่มีอีกแล้ว

ทางเสื่อม ๔ ประการแห่งวิชชาสมบัติและจรณสมบัติ

อัมพัฏฐะ วิชชาสมบัติและจรณสมบัติอันยอดเยี่ยมนี้ มีทางเสื่อมอยู่ ๔ ประการ คือ

(๑) สมณพราหมณ์บางคนในโลกนี้ เมื่อยังไม่บรรลุวิชชาสมบัติและจรณสมบัติอันยอดเยี่ยมนี้ จึงหอบหิ้วบริขารดาบสเข้าไปสู่ราวป่า ด้วยตั้งใจว่าจักบริโภคผลไม้หล่น เขาต้องเป็นคนรับใช้ของท่านที่เพียบพร้อมด้วยวิชชาและจรณะโดยแท้

(๒) สมณพราหมณ์บางคนในโลกนี้ เมื่อยังไม่บรรลุวิชชาสมบัติและจรณสมบัติอันยอดเยี่ยมนี้ ทั้งไม่สามารถจะหาผลไม้ที่หล่นบริโภคได้ จึงถือเสียมและตะกร้าเข้าไปสู่ราวป่า ด้วยตั้งใจว่าจักบริโภคเหง้า ราก และผลไม้ เขาต้องเป็นคนรับใช้ของท่านที่เพียบพร้อมด้วยวิชชาและจรณะโดยแท้

(๓ สมณะพราหมณ์บางคนในโลกนี้ เมื่อยังไม่บรรลุวิชชาสมบัติและจรณสมบัติอันยอดเยี่ยมนี้ ไม่สามารถจะหาผลไม้ที่หล่นบริโภคได้ ทั้งไม่สามารถจะหาเหง้า ราก และผลไม้บริโภคได้ จึงสร้างเรือนไฟไว้ใกล้บ้านหรือนิคมแล้วบูชาไฟอยู่เขาต้องเป็นคนรับใช้ของท่านที่เพียบพร้อมด้วยวิชชาและจรณะโดยแท้

(๔) สมณพราหมณ์บางคนในโลกนี้ เมื่อยังไม่บรรลุวิชชาสมบัติและจรณสมบัติอันยอดเยี่ยมนี้ ไม่สามารถจะหาผลไม้ที่หล่นบริโภคได้ ไม่สามารถหาเหง้า ราก และผลไม้บริโภคได้ ทั้งไม่สามารถจะบูชาไฟได้ จึงสร้างเรือนมีประตู ๔ ด้านไว้ที่หนทางใหญ่สี่แพร่งแล้วพักอยู่ด้วยตั้งใจว่า เราจะบูชาท่านผู้ที่เดินทางมาจากทิศทั้ง ๔ ตามสติกำลัง ไม่ว่าผู้นั้นจะเป็นสมณะหรือพราหมณ์ก็ตาม เขาต้องเป็นคนรับใช้ของท่านที่เพียบพร้อมด้วยวิชชาและจรณะโดยแท้

อัมพัฏฐะ เธอกับอาจารย์ย่อมปรากฏมีในวิชชาสมบัติและจรณสมบัติอันยอดเยี่ยมนี้บ้างหรือไม่”

เขากราบทูลว่า “ไม่ปรากฏมีเลย ท่านพระโคดม ข้าพเจ้ากับอาจารย์ปฏิบัติไปทางหนึ่ง วิชชาสมบัติและจรณสมบัติอันยอดเยี่ยมนั้นอยู่อีกทางหนึ่ง ข้าพเจ้ากับอาจารย์ยังอยู่ห่างไกลจากวิชชาสมบัติและจรณสมบัติอันยอดเยี่ยมนี้”

พระผู้มีพระภาคตรัสถามว่า “อัมพัฏฐะ เธอกับอาจารย์เมื่อยังไม่บรรลุวิชชาสมบัติและจรณสมบัติอันยอดเยี่ยมนี้ ก็หอบหิ้วบริขารดาบสเข้าไปสู่ราวป่าด้วยตั้งใจว่าจักบริโภคผลไม้หล่น อย่างนั้นหรือ”

“เธอกับอาจารย์เมื่อยังไม่บรรลุวิชชาสมบัติและจรณสมบัติอันยอดเยี่ยมนี้ ทั้งไม่สามารถจะหาผลไม้ที่หล่นบริโภคได้ ก็ถือเสียมและตะกร้าเข้าไปสู่ราวป่าด้วยตั้งใจว่า จักบริโภคเหง้า ราก และผลไม้ อย่างนั้นหรือ”

“เธอกับอาจารย์เมื่อยังไม่บรรลุวิชชาสมบัติและจรณสมบัติอันยอดเยี่ยมนี้ ไม่สามารถจะหาผลไม้ที่หล่นบริโภคได้ ทั้งไม่สามารถจะหาเหง้า ราก และผลไม้บริโภคได้ ก็สร้างเรือนไฟไว้ใกล้บ้านหรือนิคมแล้วบูชาไฟ อย่างนั้นหรือ”

“เธอกับอาจารย์เมื่อยังไม่บรรลุวิชชาสมบัติและจรณสมบัติอันยอดเยี่ยมนี้ ไม่สามารถจะหาผลไม้ที่หล่นบริโภคได้ ไม่สามารถจะหาเหง้า ราก และผลไม้บริโภคได้ ทั้งไม่สามารถจะบูชาไฟได้ ก็สร้างเรือนมีประตู ๔ ด้านไว้ที่หนทางใหญ่สี่แพร่งแล้วพักอยู่ด้วยตั้งใจว่า เราจะบูชาท่านผู้ที่เดินทางมาจากทิศทั้ง ๔ ตามสติกำลัง ไม่ว่าผู้นั้นจะเป็นสมณะหรือพราหมณ์ก็ตามอย่างนั้นหรือ”

พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “อัมพัฏฐะ เธอกับอาจารย์เสื่อมจากวิชชาสมบัติและจรณสมบัติอันยอดเยี่ยมนี้แล้ว และยังเสื่อมเพราะมีทางเสื่อม ๔ ประการแห่งวิชชาสมบัติและจรณสมบัติอันยอดเยี่ยมนี้ด้วย ก็พราหมณ์โปกขรสาติผู้เป็นอาจารย์ของเธอได้พูดว่า ‘สมณะโล้นบางเหล่าเป็นคนรับใช้ เป็นคนวรรณะต่ำ เกิดจากพระบาทของท้าวมหาพรหม ไม่มีประโยชน์เลยที่พวกพราหมณ์ผู้ได้ไตรเพทจะสนทนาด้วย ตนเองก็ตกอยู่ในความเสื่อม บำเพ็ญวิชชาสมบัติและจรณสมบัติให้บริบูรณ์ไม่ได้ อัมพัฏฐะ เธอจงดูความบกพร่องของพราหมณ์โปกขรสาติผู้เป็นอาจารย์ของเธอ

ฤๅษีผู้เป็นบูรพาจารย์

อัมพัฏฐะ ถึงพราหมณ์โปกขรสาติปกครองเมืองที่พระเจ้าปเสนทิโกศลพระราชทานให้ พระเจ้าปเสนทิโกศลก็ยังไม่โปรดให้เขาเข้าเฝ้าเฉพาะพระพักตร์ เวลาจะทรงปรึกษาก็ทรงปรึกษานอกพระวิสูตร ทำไมท้าวเธอจึงไม่โปรดให้เขาเข้าเฝ้าเฉพาะพระพักตร์ ทั้งๆ ที่เขาได้รับพระราชทานภิกษาหารอันชอบธรรม

พระเจ้าปเสนทิโกศลทรงช้างทรงม้าหรือประทับอยู่บนรถพระที่นั่ง จะทรงปรึกษาราชกิจบางเรื่องกับมหาอำมาตย์หรือพระบรมวงศานุวงศ์แล้วเสด็จจากที่นั้นไปประทับ ณ ที่แห่งหนึ่ง ต่อมา ศูทรหรือจัณฑาลพึงมายืนปรึกษาอย่างเดียวกัน ณ ที่เดียวกัน แต่จะจัดว่าเขาเป็นพระราชาหรือราชอำมาตย์ก็ไม่ได้

“อัมพัฏฐะ เธอก็เป็นอย่างนั้น เหมือนกันพวกฤๅษีผู้เป็นบูรพาจารย์ของพราหมณ์ คือ ฤๅษีอัฏฐกะ ฤๅษีวามกะ ฤๅษีวามเทวะ ฤๅษีเวสสามิตร ฤๅษียมตัคคิ ฤๅษีอังคีรส ฤๅษีภารัทวาชะ ฤๅษีวาเสฏฐะฤๅษีกัสสปะ ฤๅษีภคุ ซึ่งเป็นผู้ผูกมนตร์บอกมนตร์ที่พวกพราหมณ์ในเวลานี้ ขับกล่อมตามซึ่งบทมนตร์เก่าที่ท่านขับกล่อมไว้ รวบรวมไว้ กล่าวได้ถูกต้องตามที่ท่านกล่าวไว้ บอกได้ถูกต้องตามที่ท่านบอกไว้ เพียงคิดว่า ‘เรากับอาจารย์เรียนมนตร์ของท่านเหล่านั้น’ เธอได้ชื่อว่าเป็นฤๅษีหรือผู้ปฏิบัติฤาษีเท่านั้น

เธอเข้าใจอย่างไร เธอได้ฟังพราหมณ์ผู้แก่ผู้เฒ่าผู้เป็นอาจารย์และปาจารย์เล่ากันมาอย่างไร พวกฤๅษีผู้เป็นบูรพาจารย์ของพราหมณ์คือ ฤๅษีอัฏฐกะ ฤๅษีวามกะ ฤๅษีวามเทวะ ฤๅษีเวสสามิตร ฤๅษียมตัคคิ ฤๅษีอังคีรสฤๅษีภารัทวาชะ ฤๅษีวาเสฏฐะ ฤๅษีกัสสปะ ฤๅษีภคุ ซึ่งเป็นผู้ผูกมนตร์บอกมนตร์ที่พวกพราหมณ์ในเวลานี้ขับตามกล่อมตามซึ่งบทมนตร์เก่าที่ท่านขับกล่อมไว้รวบรวมไว้ กล่าวได้ถูกต้องตามที่ท่านกล่าวไว้ บอกได้ถูกต้องตามที่ท่านบอกไว้ฤๅษีเหล่านั้นอาบน้ำทาตัวเรียบร้อย แต่งผมและหนวด ประดับพวงดอกไม้ นุ่งห่มผ้าขาว บำเรออยู่ด้วยกามคุณ ๕ เธอก็ไม่เหมือนกันพราหมณ์ผู้เป็นบูรพาจารย์”

“ถึงเธอจะบริโภคข้าวสาลีที่เก็บกากแล้ว มีแกงและกับหลายอย่าง  ถึงจะถูกบำเรอด้วยนางงามผู้มีรูปร่างอ่อนช้อย ตกแต่งด้วยผ้าโพกศีรษะ ถึงเธอจะใช้รถเทียมม้าหางตัด ใช้ปฏักด้ามยาวแทงสัตว์พาหนะห้อไป ถึงเธอจะใช้บุรุษขัดกระบี่ รักษาเชิงเทินแห่งนครมีคูล้อมรอบ ลงลิ่มเหมือนเธอ  เธอก็ไม่เหมือนกับบูรพาจารย์ของเธอ”  

ทรงแสดงลักษณะมหาบุรุษ ๒ ประการ

ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคเสด็จออกจากพระวิหารมาเดินจงกรม อัมพัฏฐมาณพก็ออกจากพระวิหารมาเดินจงกรมอยู่เหมือนกัน ขณะที่เขาเดินตามพระผู้มีพระภาคอยู่ ได้สังเกตดูลักษณะมหาบุรุษ ๓๒ ประการ ในพระวรกายของพระผู้มีพระภาค ได้เห็นลักษณะมหาบุรุษ ๓๒ ประการโดยส่วนมาก เว้นอยู่ ๒ ประการคือ พระคุยหฐาน คืออวัยวะเพศชายซึ่งเร้นอยู่ในฝัก กับพระชิวหาใหญ่ จึงยังเคลือบแคลงสงสัย ไม่เชื่อสนิทใจ

พระผู้มีพระภาคทรงพระดำริว่า ‘อัมพัฏฐมาณพนี้เห็นลักษณะมหาบุรุษ ๓๒ ประการของเราโดยส่วนมาก เว้นอยู่ ๒ ประการคือ คุยหฐาน กับชิวหาใหญ่ จึงยังเคลือบแคลงสงสัย ไม่เชื่อสนิทใจ’ ทันใดนั้นพระผู้มีพระภาคทรงบันดาลอิทธาภิสังขารให้เขามองเห็นพระคุยหฐานซึ่งเร้นอยู่ในฝัก และทรงแลบพระชิวหาสอดเข้าช่องพระกรรณทั้ง ๒ ข้างกลับไปมา สอดเข้าช่องพระนาสิกทั้ง ๒ ข้างกลับไปมาแผ่ปิดจนมิดมณฑลพระนลาฏ

อัมพัฏฐมาณพพอได้เห็นลักษณะมหาบุรุษครบทั้ง ๓๒ ประการแล้ว จึงกราบบังคมทูลลากลับ

ครั้งนั้น พราหมณ์โปกขรสาติลุกออกมานั่งคอยอัมพัฏฐมาณพ ณ อารามของตนพร้อมกับคณะพราหมณ์หมู่ใหญ่ ฝ่ายอัมพัฏฐมาณพขับยานพาหนะไปทางอารามของตนจนสุดทางที่ยานพาหนะจะเข้าไปได้ จึงลงเดินเข้าไปหาพราหมณ์โปกขรสาติ กราบแล้วนั่งอยู่ในที่เหมาะสมข้างหนึ่ง

พราหมณ์โปกขรสาติถามอัมพัฏฐมาณพว่า “อัมพัฏฐะ เธอได้เห็นท่านพระโคดมพระองค์นั้นแล้วหรือ”

เขาตอบว่า ได้เห็นแล้ว และเล่าเหตุการณ์ทุกอย่าง รวมทั้งการได้เห็นลักษณะของมหาบุรุษ ๓๒ ประการให้พราหมณ์โปกขรสาติ ได้รับฟังทุกประการ

“กิตติศัพท์ของท่านพระโคดมที่ขจรไปเป็นเช่นนั้นจริง ไม่เป็นอย่างอื่นเลยหรือ ท่านพระโคดมทรงเป็นเช่นนั้นจริง ไม่เป็นอย่างอื่นเลยหรือ”

เมื่ออัมพัฏฐมาณพเล่าให้ฟังอย่างนี้ พราหมณ์โปกขรสาติกล่าวว่า อัมพัฏฐมาณพเป็นพหูสูต รอบรู้ไตรเวท ไปฟังพระพุทธเจ้าแล้วประพฤติเช่นนี้ ตายไปย่อมไปบังเกิดในอบาย ทุคติ และนรกเป็นแน่แท้ จึงโกรธเคือง ไม่พอใจ  เตะอัมพัฏฐมาณพจนล้มกลิ้ง ทั้งอยากเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคในเวลานั้น

พราหมณ์โปกขรสาติเข้าเฝ้าพระผู้มีพระภาค

บรรดาพราหมณ์เหล่านั้นกล่าวกับพราหมณ์โปกขรสาติว่า “วันนี้เกินเวลาที่จะไปเข้าเฝ้าพระสมณโคดมเสียแล้ว รอพรุ่งนี้ค่อยไปเถิด”

ต่อมา พราหมณ์โปกขรสาติสั่งให้จัดเตรียมของขบฉันอันประณีตไว้ในนิเวศน์ของตน แล้วขึ้นยานพาหนะเดินทางออกจากเมืองอุกกัฏฐะ ตั้งแต่ยังไม่สว่าง ขับยานพาหนะตรงไปยังราวป่าอิจฉานังคลวัน เมื่อเข้าไปจนสุดทางยานพาหนะจึงลงเดินเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ สนทนากับพระผู้มีพระภาคพอคุ้นเคยแล้ว จึงนั่งลงในที่สมควรข้างหนึ่ง เมื่อถามถึงเรื่องราวของอัมพัฏฐมานพที่มาที่นี่ และได้รับคำตอบจากพระผู้พระภาคแล้ว จึงกราบทูลว่า “ท่านพระโคดม อัมพัฏฐมาณพเป็นคนโง่ โปรดยกโทษให้เขาเถิด” พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “ขอให้อัมพัฏฐมาณพจงมีความสุขเถิด พราหมณ์”

ครั้งนั้น พราหมณ์โปกขรสาติได้สังเกตดูลักษณะมหาบุรุษ ๓๒ ประการในพระวรกายของพระผู้มีพระภาค ได้เห็นลักษณะมหาบุรุษ ๓๒ ประการโดยส่วนมาก เว้นอยู่ ๒ ประการ คือ พระคุยหฐานซึ่งเร้นอยู่ในฝักกับพระชิวหาใหญ่จึงยังเคลือบแคลงสงสัย ไม่เชื่อสนิทใจ พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงทรงบันดาลให้พราหมณ์โปกขรสาตินี้เห็นลักษณะมหาบุรุษ ๓๒ ประการ

เมื่อพราหมณ์โปกขรสาติเห็นพระสมณโคดมทรงประกอบด้วยลักษณะมหาบุรุษ ๓๒ ประการครบถ้วน จึงได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคพร้อมกับภิกษุสงฆ์โปรดรับภัตตาหารเช้าที่บ้านของตนในวันนี้ พระผู้มีพระภาคทรงรับนิมนต์ด้วยพระอาการดุษณี

ครานั้น พราหมณ์โปกขรสาติทราบอาการที่พระผู้มีพระภาคทรงรับนิมนต์แล้วจึงกราบทูลภัตกาลว่า “ท่านพระโคดม ได้เวลาแล้ว ภัตตาหารเสร็จแล้ว” พระผู้มีพระภาคทรงครองอันตรวาสก ถือบาตรและจีวรเสด็จเข้าไปยังนิเวศน์ของพราหมณ์โปกขรสาติพร้อมด้วยภิกษุสงฆ์ ประทับนั่งบนอาสนะที่ปูไว้

พราหมณ์โปกขรสาติได้นำของขบฉันอันประณีตประเคนพระผู้มีพระภาคให้ทรงอิ่มหนำด้วยตนเอง และพวกมาณพก็ได้ประเคนภิกษุสงฆ์เช่นกัน เมื่อพระผู้มีพระภาคเสวยเสร็จทรงวางพระหัตถ์ พราหมณ์โปกขรสาติจึงเลือกนั่งในที่เหมาะสมที่หนึ่ง ซึ่งต่ำกว่าพระพุทธองค์

พระผู้มีพระภาคตรัสอนุปุพพีกถา คือ ทรงประกาศเรื่องทาน เรื่องศีลเรื่องสวรรค์ เรื่องโทษ ความต่ำทราม ความเศร้าหมองแห่งกาม และอานิสงส์ในการออกบวช แก่พราหมณ์โปกขรสาติ เมื่อทรงทราบว่าพราหมณ์โปกขรสาติมีจิตควรบรรลุธรรม สงบ อ่อน ปราศจากนิวรณ์ เบิกบานผ่องใส จึงทรงประกาศสามุกกังสิกเทศนา คือ ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค ธรรมจักษุอันไร้ธุลีคือกิเลส ปราศจากมลทิน เกิดขึ้นแก่พราหมณ์โปกขรสาติว่า ‘สิ่งใดสิ่งหนึ่งมีความเกิดขึ้นเป็นธรรมดา สิ่งนั้นทั้งหมดล้วนดับไปเป็นธรรมดา’ เปรียบเหมือนผ้าขาวสะอาดปราศจากมลทินควรรับน้ำย้อมได้เป็นอย่างดี

ลำดับนั้น พราหมณ์โปกขรสาติเห็นธรรม บรรลุธรรม รู้ธรรม หยั่งลงสู่ธรรม หมดความสงสัย ไม่มีคำถามใดๆ มีความแกล้วกล้า ไม่ต้องเชื่อใครอีกในหลัก คำสอนของพระศาสดา ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคว่า “ข้าแต่ท่านพระโคดม คำสอนของท่านชัดเจน ไพเราะยิ่งนัก ท่านประกาศธรรมแจ่มแจ้งโดยประการต่างๆ เปรียบเหมือนบุคคลหงายของที่คว่ำ เปิดของที่ปิด บอกทางแก่ผู้หลงทาง หรือตามประทีปในที่มืดโดยตั้งใจว่า คนมีตาดีจักเห็นรูปได้ ข้าพระองค์นี้พร้อมด้วยบุตรภรรยา บริวาร และมิตรสหาย ขอถึงท่านพระโคดมพร้อมทั้งพระธรรมและพระสงฆ์เป็นสรณะ ขอท่านพระโคดมจงทรงจำข้าพระองค์ว่า เป็นอุบาสกผู้ถึงสรณะตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไปจนตลอดชีวิต ขอท่านพระโคดมจงเสด็จเข้าไปสู่โปกขรสาติตระกูล เหมือนดังที่เสด็จเข้าไปสู่ตระกูลอุบาสกอื่นๆ ในเมืองอุกกัฏฐะ เหล่ามาณพหรือมาณวิกาในโปกขรสาติตระกูลจักไหว้ ลุกรับ ถวายอาสนะและน้ำ จักทำจิตให้เลื่อมใส ข้อนั้นจักเป็นไปเพื่อประโยชน์สุขแก่พวกเขาตลอดกาลนาน”

พระไตรปิฎก เล่มที่ ๙  พระสุตตันตปิฎก เล่ม ๑  ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค เรื่องที่ ๓ อัมพัฎฐสูตร ว่าด้วยชายหนุ่มชื่ออัมพัฏฐะ    ข้อ ๑๔๑ –  ๑๗๗
เรียบเรียงใหม่ โดย ดร.ศักดิ์ ประสานดี 

หมายเลขบันทึก: 676530เขียนเมื่อ 2 เมษายน 2020 18:00 น. ()แก้ไขเมื่อ 10 กรกฎาคม 2020 23:18 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

ฝากสะท้อนด้วยครับว่า การเรียบเรียงของผม ช่วยทำให้อ่านง่ายขึ้น เข้าใจดีขึ้นแค่ไหน โดยเฉพาะท่านที่เคยอ่านพระไตรปิฎกฉบับเดิม เช่น ฉบับหลวง ฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย และฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท