ชีวิตที่พอเพียง 3481. ทำงานเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (๒๗) ประชุมคณะอนุกรรมการกำกับทิศทาง “โครงการพัฒนาครูและโรงเรียน เพื่อยกระดับคุณภาพการศึกษาอย่างต่อเนื่อง”




บันทึกที่ ๑      บันทึกที่ ๒      บันทึกที่ ๓      บันทึกที่ ๔      บันทึกที่ ๕

บันทึกที่ ๖      บันทึกที่ ๗      บันทึกที่ ๘      บันทึกที่ ๙      บันทึกที่ ๑๐

บันทึกที่ ๑๑      บันทึกที่ ๑๒     บันทึกที่ ๑๓      บันทึกที่ ๑๔     บันทึกที่ ๑๕

บันทึกที่ ๑๖      บันทึกที่ ๑๗      บันทึกที่ ๑๘     บันทึกที่ ๑๙  บันทึกที่ ๒๐        

บันทึกที่ ๒๑        ตอนที่ ๒๒     ตอนที่ ๒๓       ตอนที่ ๒๔      ตอนที่ ๒๕     

ตอนที่ ๒๖

บ่ายวันที่ ๗ มิถุนายน ๒๕๖๒ ผมไปเป็นประธานการประชุมคณะอนุกรรมการกำกับทิศทาง “โครงการพัฒนาครูและโรงเรียนเพื่อยกระดับคุณภาพการศึกษาอย่างต่อเนื่อง”  ครั้งที่ ๓/๒๕๖๒ ที่ กสศ.    นี่คือการประชุมอย่างเป็นทางการ    ในขณะที่การประชุมเมื่อวันที่ ๔ มิถุนายน ตามบันทึกที่ ๒๖ เป็นการหารืออย่างไม่เป็นทางการ 

โครงการนี้ชื่อยาว จำยาก ผมตั้งชื่อย่อเองว่า ครต. ย่อมาจาก “ครูโรงเรียนต่อเนื่อง” ซึ่งจะช่วยนำไปสู่หัวใจของโครงการคือ ยกระดับคุณภาพของการศึกษา    ซึ่งผมคิดว่า ต้องมีคนคอยกระตุกอยู่เสมอว่า หมายถึงยกระดับผลลัพธ์การเรียนรู้ของเด็ก    ต้องตัดกิจกรรมที่ไปไม่ถึงตัวเด็กออกไป  

หัวใจสำคัญของการประชุมวันนี้คือ ขอคำแนะนำ management platform ของโครงการ    โดยคุณเพ็ญพรรณ จิตตะเสนีย์ ผู้จัดการโครงการ คิดรูปแบบมาเสนอ ๓ แบบ    คณะอนุกรรมการไม่ลงมติแบบฟันธงว่าอนุมัติให้ดำเนินการรูปแบบใด    แต่ให้ข้อแนะนำว่า ให้โรงเรียนเลือกรูปแบบเองว่าต้องการการสนับสนุนในลักษณะใด    โดยเมื่อได้โรงเรียนมา ๒๘๐ โรงเรียนแล้ว    มีการประชุมปรึกษาหารืออย่างเข้มข้น  เพื่อให้แกนนำในโรงเรียนเข้าใจรูปแบบการสนับสนุนที่โครงการจัดไว้ให้เลือก  

ทั้งหมดนั้น เพื่อให้โรงเรียนได้เป็นตัวของตัวเองอย่างเต็มที่    ดำเนินกิจกรรมทั้งหมดเพื่อยกระดับผลลัพธ์การเรียนรู้ของนักเรียน    ไม่ใช่ทำตามที่ กสศ. กำหนด เพราะอยากได้ชื่อว่าได้อยู่ในโครงการที่ทำให้โรงเรียนมีชื่อเสียง    ผู้อำนวยการมีความสามารถนำโรงเรียนเข้าไปอยู่ในโครงการพัฒนาชั้นนำได้   

รูปแบบการจัดการของโครงการนี้ท้าทายมาก    เพราะมีเป้าหมายหลายชั้น    อีกชั้นหนึ่งคือต้องการใช้เป็นกลไกเปลี่ยนแปลงสถาบันผลิตครูในพื้นที่    ให้มีทักษะผลิตครูที่มีสมรรถนะสอดคล้องกับความต้องการที่แท้จริง    เดิมคิดว่าจะให้สถาบันผลิตครูเป็นผู้จัดการกิจกรรมของโรงเรียนที่เข้าโครงการในพื้นที่    แต่ก็มีคนเตือนว่า หากทำเช่นนั้นจะเสี่ยงต่อความล้มเหลวสูง    จึงต้องวางบทบาทของสถาบันผลิตครูใหม่    ให้เน้นเป็น co-learning partner   คือต้องไม่ทำตัวเป็น “ผู้รู้” ไปสอน “ผู้ไม่รู้”

คำแนะนำของคุณหญิงกษมา วรวรรณ ณ อยุธยา ที่ปรึกษาของคณะอนุกรรมการฯ คือ    “อย่าให้โรงเรียนเป็นสาวกสำนักใด”    ตรงกันข้ามกับความเห็นของ รศ. ดร. ไมตรี อินทร์ประสิทธิ์ ตามบันทึกที่ ๒๖   และผมเห็นด้วยกับคุณหญิงกษมา     เพราะเราต้องการให้โรงเรียนเป็นตัวของตัวเอง    ส่วนสำคัญของการเป็นตัวของตัวเองคือการตัดสินใจ    เห็นความซับซ้อนของโครงการไหมครับ   

คณะอนุกรรมการให้ความเห็นว่า วิธีการของ ๔ สำนัก ตามในบันทึกที่ ๒๖ ยังไม่ครบถ้วน    ฝ่ายจัดการโครงการอาจต้องเพิ่มเมนูอื่นอีก เช่น ระบบดูแลช่วยเหลือนักเรียน    ระบบประเมินตนเอง  

มีคำแนะนำให้เชื่อมโยงโรงเรียนที่อยู่ในสถานะคล้าย ๘,๐๐๐ โรงเรียนเป้าหมาย  ที่เขาพัฒนาก้าวหน้าไปแล้ว    มาร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ และเป็นต้นแบบ หรือแหล่งเรียนรู้ให้แก่ ๒๘๐ โรงเรียนในโครงการรุ่นแรก    มีคนเอ่ยถึงโรงเรียนราชประชานุเคราะห์ ๑๕ (เวียงเก่าแสนภูวิทยาประสาท) ที่เชียงแสน ()      

ทำให้ผมนึกถึงเครื่องมือวัดผลสำเร็จในการพัฒนาตนเองของโรงเรียน    สำหรับเสาะหาโรงเรียนในกลุ่ม ๘,๐๐๐ โรงเรียนขนาดกลางที่รับผิดชอบนักเรียนยากจน    ที่มีวิธีพัฒนาตนเองจนเห็นผลในระดับหนึ่ง    สำหรับเชื้อเชิญมาเข้าโครงการนี้ในรุ่นแรก หากทำทัน   หรือหากไม่ทันก็ต้องเชื้อเชิญเข้ามาในรุ่นที่สองหรือสาม   

ผมชอบสถานการณ์ที่ไม่ชัดเจนแบบนี้    เพราะจะนำไปสู่ความสร้างสรรค์สูง    แต่ฝ่ายจัดการโครงการจะเหนื่อยหน่อย    ต้องฟังและคิดอยู่ตลอดเวลา     โดยโจทย์ในขณะนี้คือ กสศ. จะดำเนินการให้โครงการ ครต. นี้เป็นโครงการเรียนรู้ร่วมกันในโรงเรียน  ระหว่างโรงเรียน  ร่วมกับสำนักพัฒนาต่างๆ (ที่เอ่ยถึง ๔ สำนัก)   ร่วมกับสถาบันผลิตครู    เพื่อยกระดับผลลัพธ์การเรียนรู้ของนักเรียนอย่างต่อเนื่อง    ในโรงเรียนขนาดกลางที่ดูแลเด็กยากจน  ได้อย่างไร    

วิจารณ์ พานิช  

๑๐ มิ.ย. ๖๒


   



ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท