ชีวิตที่พอเพียง 3667. ทำงานเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (๔๑) ใคร่ครวญสะท้อนคิดจากการลงพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ สู่การพัฒนาทักษะของครู


บันทึกที่ ๑

บันทึกที่ ๒

บันทึกที่ ๓

บันทึกที่ ๔

บันทึกที่ ๕

บันทึกที่ ๖

บันทึกที่ ๗

บันทึกที่ ๘

บันทึกที่ ๙

บันทึกที่ ๑๐

บันทึกที่ ๑๑

บันทึกที่ ๑๒

บันทึกที่ ๑๓

บันทึกที่ ๑๔

บันทึกที่ ๑๕

บันทึกที่ ๑๖

บันทึกที่ ๑๗

บันทึกที่ ๑๘

บันทึกที่ ๑๙

บันทึกที่ ๒๐

บันทึกที่ ๒๑

บันทึกที่ ๒๒

บันทึกที่ ๒๓

บันทึกที่ ๒๔

บันทึกที่ ๒๕

บันทึกที่ ๒๖

บันทึกที่ ๒๗

บันทึกที่ ๒๘

บันทึกที่ ๒๙

บันทึกที่ ๓๐

บันทึกที่ ๓๑

บันทึกที่ ๓๒

บันทึกที่ ๓๓

บันทึกที่ ๓๔

บันทึกที่ ๓๕

บันทึกที่ ๓๖

บันทึกที่ ๓๗

บันทึกที่ ๓๘

บันทึกที่ ๓๙

บันทึกที่ ๔๐




ดังเล่าในบันทึกที่ ๓๙ และ ๔๐ ว่าระหว่างวันที่ ๒๔ - ๒๕ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๓ ผมร่วมไปกับคณะของ กสศ. ลงพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่     เพื่อเยี่ยมโรงเรียนในโครงการ “โรงเรียนพัฒนาตนเอง”    ที่เน้นพัฒนาแบบ whole school     ในเวลาที่จำกัดเราเยี่ยมได้แค่ ๓ โรงเรียน    จากจำนวนโรงเรียนในโครงการที่จังหวัดเชียงใหม่ ๖๖ โรงเรียน (จำนวนโรงเรียนในโครงการระยะที่ ๑ ทั้งหมด ๒๙๐ โรงเรียน)    โดยตอนเช้าทั้งคณะไปเยี่ยมโรงเรียนเดียวกัน คือโรงเรียนชุมชนบ้านบวกครกน้อย ตอนบ่ายแยกเป็น ๒ คณะ ผมไปเยี่ยมโรงเรียนแม่คือวิทยา    อีกทีมหนึ่งไปเยี่ยมโรงเรียนวัดกู่คำ          

แต่ละโรงเรียนที่เราไปเยี่ยมมีทีมพี่เลี้ยงต่างทีมกัน  คือโรงเรียนชุมชนบ้านบวกครกน้อย อยู่ในทีม มข.    โรงเรียนแม่คือวิทยา อยู่ในทีมมูลนิธิสตาร์ฟิชคันทรีโฮม     โรงเรียนวัดกู่คำ อยู่ในทีม ม. ศรีปทุม    เราจึงได้เห็นจุดแข็งและจุดอ่อนของแต่ละทีม    โดยที่ส่วนใหญ่ก็เป็นจุดแข็ง  กับจุดที่พัฒนาต่อเนื่องได้     รวมทั้งจุดที่หลักสูตรผลิตครูควรนำไปปรับปรุงวิธีผลิตครูของตน       

จุดสำคัญที่สุดของการผลิตครู คือต้องผลิตครูที่เข้มแข็งด้าน Learning Skills    ซึ่งต้องเริ่มที่ฉันทะต่อการเรียนรู้    และฉันทะต่อการเรียนวิธีเรียนรู้ หรือกลไกการเรียนรู้    ซึ่งเรียนได้ไม่รู้จบ    และแหล่งเรียนรู้ที่ดีที่สุดคือนักเรียน   ซึ่งแต่ละคนจะมีพฤติกรรมและวิธีเรียนที่แตกต่างหลากหลาย    เป็นกรณีเรียนรู้ (case study) ให้ครูได้สนุกสนานกับการแก้ปัญหาสารพัดแบบ  

หากทำหน้าที่ครูได้ถูกต้อง การทำหน้าที่ครูจะสนุกและท้าทาย    แต่หากทำหน้าที่ครูอย่างผิดๆ ชีวิตครูจะจำเจน่าเบื่ออย่างที่สุด   

ในการทำหน้าที่ครูที่ถูกต้อง ครูสังเกตความคิดเด็ก    เมื่อเด็กพูดและแสดงพฤติกรรม ครูทำความเข้าใจความคิดของเด็ก    ในลักษณะมองทะลุเข้าไปในสมองเด็ก    มองเห็นกระบวนการคิดที่กำลังเกิดขึ้น    แล้วครูทำหน้าที่โค้ช โดยการตั้งคำถาม    ที่ยั่วยุให้นักเรียนคิดต่อและทำต่อ เพื่อการเรียนรู้ของตน  และของเพื่อนๆ ในชั้นเรียน    รวมทั้งเพื่อเบี่ยงเบนความคิดผิดๆ ไปสู่ความคิดที่เหมาะสมถูกต้อง

พฤติกรรมแนวนี้ของครู จะทำให้นักเรียนใส่ใจการเรียน ที่เรียกว่า student engagement    หรือ student-centered learning    คือนักเรียนเป็นผู้กระทำเพื่อการเรียนรู้ของตน    ครูเป็นโค้ช หรือผู้สนับสนุน หรือเป็นผู้ให้ “นั่งร้าน” (scaffolding) แก่การเรียนรู้ที่ยากและซับซ้อน     

 ครูไม่ได้สังเกตการณ์คิดในสมองของนักเรียนแบบไร้เป้าหมาย    แต่สังเกตว่ากระบวนการคิดนั้นจะนำไปสู่การแก้ปัญหา หรือการบรรลุผลของกิจกรรมที่กำหนดอย่างไร เพื่อการเรียนรู้อะไร    โดยมีฐานคิดว่า มีวิธีคิดหรือวิธีการหลากหลายแบบ    นักเรียนแต่ละคนควรได้ฝึกคิดหาเอง และได้ฟังความคิดและวิธีการของเพื่อนๆ    เพื่อให้เกิดการเรียนรู้ที่ลึกและซับซ้อน    และได้เข้าใจว่า มีวิธีการที่ดีแตกต่างกัน ในต่างสถานการณ์

ในการเรียนแบบนี้ นักเรียนแต่ละคนจะค่อยๆ ค้นพบตัวตนของตน ว่าถนัดอะไร  ชอบอะไร     ได้มีโอกาส “ปล่อยของ”   หรือแสดงความสามารถพิเศษของตนหรือพวกตน    โดยครูต้องมีวิธี scaffold ให้ศิษย์ “ปล่อยของดี” คือทำดี ทำประโยชน์แก่ผู้อื่น หรือแก่ชุมชน    ไม่อุตริก่อความวุ่นวายหรือเดือดร้อน   

ครูต้องฝึกทักษะการออกแบบกิจกรรม เพื่อให้นักเรียนได้เรียนรู้ตามทฤษฎี 50:50     คือครึ่งหนึ่งของการเรียนเป็นการเรียนคนเดียว    อีกครึ่งหนึ่งเรียนเป็นทีม     การเรียนโดยทำกิจกรรมเป็นทีม และใคร่ครวญสะท้อนคิดร่วมกัน    จะช่วยให้นักเรียนได้พัฒนาคุณลักษณะสำคัญในศตวรรษที่ ๒๑    ได้แก่ ทักษะด้านสังคมและอารมณ์  ทักษะการสื่อสาร  ทั้งการแสดงออก และการรับฟังเพื่อน    การประนีประนอม  ทักษะความร่วมมือ  ความริเริ่มสร้างสรรค์  ความอดทนต่อความขัดแย้ง  เป็นต้น   

ครูต้องเอาใจใส่ประเมินการเรียนรู้และพัฒนาการด้านต่างๆ ของศิษย์แต่ละคน     ต้องมีทักษะในการประเมินดังกล่าว  และมีทักษะในการให้คำแนะนำป้อนกลับแก่ศิษย์    รวมทั้งมีทักษะในการออกแบบกระบวนการเรียนรู้เพื่อเสริมความรู้หรือทักษะที่นักเรียนบางคนยังอ่อนแอ    เพื่อให้นักเรียนทุกคนได้บรรลุผลลัพธ์การเรียนรู้ตามที่กำหนดไว้ในมาตรฐานขั้นต่ำ    

ถามว่า ใครช่วยพัฒนาทักษะของครู    คำตอบของผมคือ ครูต้องพัฒนาตนเองเป็นกลไกหลัก    การเรียนรู้และพัฒนาของตัวครู ร้อยละ ๙๐ ครูต้องทำเอง     อีกร้อยละ ๑๐ เท่านั้นที่จะได้จากการเรียนต่อหรือเข้ารับการอบรม    ในร้อยละ ๙๐ นั้น    ประมาณครึ่งหนึ่งได้จากการทบทวนใคร่ครวญสะท้อนคิดกับตัวเอง     อีกครึ่งหนึ่งเรียนรู้ร่วมกับเพื่อนครู ที่เรียกว่ากระบวนการ PLC

กระบวนการ PLC ต้องเป็นกิจกรรมที่มีเป้าหมายจำเพาะในแต่ละช่วง     โดยเป้าหมายนั้น เป็นเรื่องการเรียนรู้ของศิษย์     จับโฟกัสเฉพาะประเด็น    ว่าครูกำหนดเป้าหมายการเรียนรู้ไว้อย่างไร    และออกแบบการเรียนรู้ไว้อย่างไร    เมื่อดำเนินการไปแล้ว ผลเป็นอย่างไร    ในทุกขั้นตอนดังกล่าว ครูมาร่วมกันคิด และอาจแยกย้ายกันไปทำ หรือร่วมกันทำ     ร่วมกันวัดผล    และร่วมกันใคร่ครวญสะท้อนคิดตีความ    เน้นตีความตามคำอธิบายของทฤษฎีที่ใช้    หากทฤษฎีอธิบายได้ไม่ชัดเจนหรือไม่ครบ  ร่วมกันหาคำอธิบายใหม่    โดยอาจค้นหาทฤษฎีใหม่มาอธิบาย  หรือร่วมกันตั้งทฤษฎีขึ้นเอง   

นอกจากใคร่ครวญสะท้อนคิดผลจากการปฏิบัติสู่ทฤษฎีแล้ว    ยังต้องสะท้อนคิดสู่แนวปฏิบัติที่พัฒนาขึ้นกว่าเดิม     ที่จะใช้ช่วยให้ศิษย์เรียนสนุกกว่า และเกิดผลลัพธ์การเรียนรู้ในระดับที่สูงกว่า     

ครูจึงเป็นผู้เรียนรู้อยู่ตลอดเวลา     โดยสิ่งที่ช่วยให้ครูเรียนรู้คือนักเรียน ห้องเรียน และเพื่อนครู    ยิ่งมีครูใหญ่มาร่วมด้วยการเรียนรู้จะยิ่งมีพลัง     กล่าวใหม่ว่า ชีวิตการทำงานประจำวันของครูนั่นเอง เป็นการเรียนรู้    โดยที่ครูต้องมีทักษะของการเรียนรู้นี้    และคณะครุศาสตร์ ศึกษาศาสตร์ ต้องฝึกทักษะนี้ให้แก่นักศึกษาครู    หากการณ์เป็นไปตามนี้ ชีวิตครูคือชีวิตที่อุดมสมบูรณ์ที่สุด    ในมุมมองของผม ชีวิตครู เป็นชีวิตที่ประเสริฐ ทั้งในฐานะผู้สร้างคน (ศิษย์)     และในฐานะผู้สร้างความรู้ว่าด้วยการเรียนรู้     

วิจารณ์ พานิช  

๑๐ มี.ค. ๖๓

บนรถยนต์ เดินทางไปประชุมที่สถาบันอาศรมศิลป์


   

หมายเลขบันทึก: 676674เขียนเมื่อ 6 เมษายน 2020 17:39 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 เมษายน 2020 17:39 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท