ชีวิตที่พอเพียง 3753. ทำงานเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (๕๗) หาวิธีส่งมอบความเสมอภาคทางการศึกษาแก่เด็กในพื้นที่ห่างไกล


บันทึกที่ ๑

บันทึกที่ ๒

บันทึกที่ ๓

บันทึกที่ ๔

บันทึกที่ ๕

บันทึกที่ ๖

บันทึกที่ ๗

บันทึกที่ ๘

บันทึกที่ ๙

บันทึกที่ ๑๐

บันทึกที่ ๑๑

บันทึกที่ ๑๒

บันทึกที่ ๑๓

บันทึกที่ ๑๔

บันทึกที่ ๑๕

บันทึกที่ ๑๖

บันทึกที่ ๑๗

บันทึกที่ ๑๘

บันทึกที่ ๑๙

บันทึกที่ ๒๐

บันทึกที่ ๒๑

บันทึกที่ ๒๒

บันทึกที่ ๒๓

บันทึกที่ ๒๔

บันทึกที่ ๒๕

บันทึกที่ ๒๖

บันทึกที่ ๒๗

บันทึกที่ ๒๘

บันทึกที่ ๒๙

บันทึกที่ ๓๐

บันทึกที่ ๓๑

บันทึกที่ ๓๒

บันทึกที่ ๓๓

บันทึกที่ ๓๔

บันทึกที่ ๓๕

บันทึกที่ ๓๖

บันทึกที่ ๓๗

บันทึกที่ ๓๘

บันทึกที่ ๓๙

บันทึกที่ ๔๐

บันทึกที่ ๔๑

บันทึกที่ ๔๒

บันทึกที่ ๔๓

บันทึกที่ ๔๔

บันทึกที่ ๔๕

บันทึกที่ ๔๖

บันทึกที่ ๔๗

บันทึกที่ ๔๘

บันทึกที่ ๔๙

บันทึกที่ ๕๐

บันทึกที่ ๕๑

บันทึกที่ ๕๒

บันทึกที่ ๕๓

บันทึกที่ ๕๔

บันทึกที่ ๕๕

บันทึกที่ ๕๖




บ่ายวันที่ ๗ กรกฎาคม ๒๕๖๓ ผมเข้าประชุมคณะอนุกรรมการกำกับทิศทางสถาบันวิจัยเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา ครั้งที่ ๓/๒๕๖๓ ทางออนไลน์    มีวาระสำคัญเรื่อง (ร่าง) รายงานฉบับสมบูรณ์ โครงการวิจัยพัฒนานวัตกรรม เพื่อความเสมอภาคทางการศึกษาของสถานศึกษาระดับประถมศึกษาในพื้นที่ห่างไกลทุรกันดาร (Innovative Equity Education Program for Small Primary Schools)    ที่นำมาสู่บันทึกนี้

ชื่อวาระการประชุมเน้นที่โรงเรียน แต่ผมเอามาแปลงชื่อบันทึกให้เน้นที่ตัวมนุษย์ คือเด็กในพื้นที่ห่างไกล    เพราะผมคิดว่า การศึกษาต้องเน้นที่คนเป็นหลัก ไม่ใช่เอาโรงเรียนเป็นหลัก    การเรียนกับการไปโรงเรียนไม่ใช่สิ่งเดียวกัน   

กล่าวอย่างนี้ ไม่ได้หมายความว่าโรงเรียนไม่สำคัญ โรงเรียนสำคัญยิ่ง  แต่ เราต้องไม่หลงให้ความสำคัญแก่โรงเรียนจนลืมเด็ก   

จากรายงานผลการวิจัยที่ วสศ. สนับสนุนทุนให้ธนาคารโลกดำเนินการ เพื่อหาวิธีจัดการเพื่อแก้ปัญหาโรงเรียนขนาดเล็กในพื้นที่ห่างไกลและทุรกันดาร  จำนวนกว่า ๑,๕๐๐ แห่งที่ยุบไม่ได้    แต่หากได้รับทรัพยากรด้วยเกณฑ์ในปัจจุบัน จะเป็นโรงเรียนคุณภาพต่ำ    จึงต้องหาเกณฑ์จัดสรรงบประมาณด้วยหลักความเสมอภาค    โดยธนาคารโลกมีเครื่องมือเรียกว่า FSQL (Fundamental School Quality Level) ให้ยึด    แล้วคิดต่อไปยังวิธีคิดเกณฑ์จัดสรรทรัพยากรให้แก่โรงเรียนเหล่านั้น   

เท่ากับเป็นการพลิกกระบวนทัศน์ในการจัดสรรทรัพยากรแก่โรงเรียน    ที่เดิมรัฐบาลไทยใช้เกณฑ์เดียวครอบคลุมทุกโรงเรียน    ไม่ได้ดูบริบทของโรงเรียน    เอาเกณฑ์เป็นตัวตั้ง ปล่อยให้คุณภาพของโรงเรียนเป็นตัวแปร     บัดนี้ ในร่างรายงานที่เอามาเสนอในวันนี้ ทีมวิจัยของ WB (ซึ่งก็เป็นคนไทย คือ ดร. ดิลกะ ลัทธพิพัฒน์) เสนอให้เอาเกณฑ์คุณภาพของโรงเรียนเป็นตัวตั้ง   ให้เกณฑ์จัดสรรทรัพยากรเป็นตัวแปร  

ถือเป็นการเปลี่ยนใหญ่ระดับกระบวนทัศน์ทีเดียว

จึงเป็นยุทธศาสตร์ที่แหลมคมยิ่ง ที่ ผอ. วสศ. ไปเชื้อเชิญประธาน กพฐ.  คือ รศ. ดร. เอกชัย กี่สุขพันธ์ มาเป็นผู้เสนอแนวทางนำผลการวิจัยไปใช้ต่อที่ประชุมด้วย       

ผมมองว่า การประชุมวาระนี้เป็น downstream management ของการจัดการงานวิจัย    เป็นเรื่องการนำผลการวิจัยไปใช้ประโยชน์    ซึ่งกรณีนี้เป็นการเอาไปใช้ทดลองดำเนินการในพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา     สำหรับเป็น pilot project  สู่การเรียนรู้ สู่การขยายผลไปใช้ทั่วประเทศ ในโรงเรียนจำนวนกว่า ๑,๕๐๐ คน   มีนักเรียน ๑ แสนคนในพื้นที่ห่างไกลทุรกันดารได้รับประโยชน์เชิงความเสมอภาคของคุณภาพการศึกษาที่ได้รับ   

ในภาพใหญ่ นี่คือเรื่องโรงเรียนขนาดเล็ก ซึ่งมีร้อยละ ๕๗ ในกลุ่มโรงเรียนสังกัด สพฐ. (๑๖,๖๕๗ จากจำนวนทั้งหมด ๒๙,๔๖๖ โรงเรียน)    ซึ่งต่อไปจะต้องมีมาตรการควบรวมเพื่อให้โรงเรียนขนาดเล็กมีคุณภาพได้มาตรฐาน    แต่ในจำนวนนี้มีราวๆ ๑,๕๐๐ โรงเรียนที่ไม่มีทางควบรวม เพราะอยู่ในพื้นที่ห่างไกล    จะยุบก็ไม่ได้เพราะมีเด็กจำนวนหนึ่งต้องการเรียน    จะไปเรียนที่อื่นก็ไม่ไหว เพราะมันไกลมาก    จึงต้องใช้มาตรการปรับเกณฑ์และวิธีสนับสนุนทรัพยากร เพื่อให้เป็นโรงเรียนที่มีคุณภาพเข้าเกณฑ์    โดย WB เสนอเกณฑ์ FSQL

รายงานการวิจัยนี้มีตัวเลขเพียบ    ชี้ให้เห็นว่า ปัญหาของโรงเรียนขนาดเล็กคือมีครูไม่ครบชั้น    หากจะทำให้มีครูครบชั้น ต้องเพิ่มครูอีก ๗๖,๐๐๐ คน   ซึ่งผมเถียง    

ผมเคยไปเห็นที่ ฟินแลนด์ ว่าการเรียนคละชั้น มีประโยชน์ หากจัดเป็น    ได้ผลลัพธ์การเรียนรู้ครบถ้วน    โดยที่เด่นด้านการเรียนจาก socialization    เด็กโตได้เรียนรู้จากการช่วยเด็กเล็ก    และเคยได้ยินว่า ตอนเริ่มต้นโรงเรียนรุ่งอรุณก็จัดการเรียนแบบคละชั้น    

ผมจึงสงสัยว่า ทีมวิจัยของ WB ย้ำคิดเรื่องครูต้องมีครบชั้นมากไปหรือเปล่า    โดยไม่คิดแนวทางทางเลือกสำหรับการจัดการเรียนการสอนในพื้นที่ห่างไกล    ข้อจำกัดอย่างหนึ่งคือ ทีมวิจัยไม่เคยเป็นครู   

แต่มองเชิงโครงสร้างภาพใหญ่ รายงานผลการวิจัยนี้น่าสนใจมาก    เสนอ transformation ของระบบการศึกษาขั้นพื้นฐานของประเทศที่ผมชอบมาก    เพราะจะนำไปสู่ Good education at reasonable cost   แทนที่ Poor education at high cost อย่างที่เป็นอยู่    โดยเขาเสนอว่า ปิดโรงเรียนจำนวน ๑๗,๑๒๐ โรงเรียนลงไปได้    คือโรงเรียนของ สพฐ. สามารถลดจำนวนลงเหลือเพียงร้อยละ ๔๒ ของจำนวนทั้งหมดในปัจจุบัน    และคุณภาพการศึกษาเพิ่มสูงขึ้น    แต่เรื่องนี้ขอละไว้ นำไปเขียนในบันทึกต่อไป

ขอกลับมาที่โรงเรียนประมาณ ๑,๕๐๐ โรงเรียนในพื้นที่ห่างไกล    ผมชอบเครื่องมือ SFQL (Standard Fundamental School Quality) มาก    เพราะเป็นการยึดคุณภาพขั้นพื้นฐานของโรงเรียน    โดยที่มีการปรับรายละเอียดของมาตรฐานตามสถานการณ์ได้    

ยิ่งเมื่อได้อ่านปัจจัยหลัก ๘ ประการของ FSQL ผมยิ่งชอบ    ปัจจัยดังกล่าวได้แก่

  • การจัดการโรงเรียน แบบโรงเรียนเป็นฐาน (School-based management)    ซึ่งหมายความว่า ต้องกระจายอำนาจให้แก่พื้นที่  และแก่โรงเรียน    มี ๓ ปัจจัยหลักคือ (๑) ภาวะผู้นำของผู้บริหารโรงเรียน  (๒) วิธีการจัดการ และ (๓) การตัดสินใจ     โดยจะต้องมีการเรียนรู้และพัฒนาทั้งเชิงทฤษฎีและเชิงปฏิบัติ ด้านสำคัญๆ ได้แก่ การจัดการประชุม,  การเป็นพี่เลี้ยงให้แก่ครู,  การจัดกิจกรรมเพื่อยกระดับคุณภาพของโรงเรียนอย่างต่อเนื่อง,  การใช้ข้อมูล/สารสนเทศ ในการตัดสินใจด้านงบประมาณ วางแผน บริหารแผน และเชื่อมโยงผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย  เป็นต้น    
  • ความเป็นอิสระและรับผิดรับชอบของโรงเรียน (School autonomy and accountability)     ควรมีการส่งเสริมอย่างเป็นขั้นเป็นตอน และตามบริบทของโรงเรียนแต่ละกลุ่ม     มีการสร้างขีดความสามารถในการมีอิสระอย่างรับผิดชอบ  และมีข้อมูลหลักฐานเพื่อแสดงความรับผิดรับชอบ      
  • ความเท่าเทียม (Equity)   เมื่อกำหนดมาตรฐานขั้นต่ำร่วมทั้งประเทศ และมีการดำเนินการเพื่อบรรลุผล    ความเท่าเทียมของคุณภาพการศึกษาระหว่างโรงเรียนก็ตามมา    โดยเฉพาะระหว่างโรงเรียนในเมือง กับโรงเรียนในชนบท และในพื้นที่ห่างไกลทุรกันดาร    การบรรลุเกณฑ์มาตรฐานขั้นต่ำในนักเรียนทุกคน ก็จะมีผลสร้างความเสมอภาคให้แก่นักเรียนกลุ่มด้อยโอกาส
  • คุณภาพและผลงานของครู (Teacher quality and effectiveness)    WDR 2018 บอกว่า ผลลัพธ์การเรียนรู้ของนักเรียนขึ้นกับความพร้อมของครู  โดยมีปัจจัยสำคัญที่ทักษะและแรงจูงใจต่อการทำหน้าที่ (๑)     ปัญหาเรื่องนี้แก้ได้โดย FSQL    โดยบรรจุกลไกตรวจสอบและพัฒนาสมรรถนะครูไว้ใน FSQL    เขาแนะนำว่าต้องใช้ผลการประเมินเพื่อพัฒนา (formative assessment) เป็นเครื่องมือของการจัดการให้บรรลุมาตรฐานขั้นต่ำ   
  • ข้อมูลด้านคุณภาพครู (Meaningful information on teacher quality)     เขาแนะนำว่าระบบการศึกษาไทยต้องเอาจริงเอาจังต่อการจัดระบบเข้าสังเกตการณ์ชั้นเรียน    และให้คะแนนการจัดการเรียนการสอน    สำหรับใช้เป็นข้อมูลปรับปรุงคุณภาพการศึกษา     เครื่องมือช่วยการสังเกตชั้นเรียนอย่างหนึ่งที่เขาแนะนำคือ TEACH (๒)
  • โครงสร้างพื้นฐานและเครื่องอำนวยความสะดวกของโรงเรียน (School infrastructures and facilities)    เขาบอกว่าโรงเรียนไทยได้มาตรฐาน    สิ่งที่ควรเอาใจใส่คือความปลอดภัย    และบรรยากาศที่เอื้อต่อการเรียนรู้   
  • การใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิผลและประสิทธิภาพ (Effective and efficient utilization of resources)     เครื่องมือสำหรับใช้เพื่อการนี้คือ FSQL  
  • การมีส่วนร่วมของชุมชน (Community engagement)    มีทั้งบทบาทร่วมพัฒนาโรงเรียน  และบทบาทร่วมตัดสินใจปิดโรงเรียน    เพื่อให้ลูกหลานได้เรียนในโรงเรียนที่มีคุณภาพสูงกว่า  

มาตรฐานมีไว้เป็นเครื่องมือจัดการคุณภาพ    ซึ่งต้องตามมาด้วยการประเมิน (Assessment  ไม่ใช่ evaluation) ตามมาตรฐานนั้น    สำหรับใช้ผลการประเมินเพื่อพัฒนากิจกรรมในชั้นเรียน    นี่คือส่วนที่ระบบการศึกษาไทยอ่อนแออย่างน่าตกใจ     โดยที่ FSQL ที่เสนอโดย WB มีความยืดหยุ่นให้เรากำหนดระดับและจุดเน้นของมาตรฐานขั้นต่ำได้  

ผมจึงคาดหวังว่า จะมีข้อตกลงในการประชุมนี้ ว่าจะมีการวิจัยเพื่อนำ FSQL ไปประยุกต์ใช้ในการยกระดับโรงเรียนในกลุ่มโรงเรียนขนาดเล็กในพื้นที่ห่างไกลและทุรกันดารจำนวนหนึ่ง    สำหรับขยายผลไปทั่วทั้ง ๑,๕๐๐ โรงเรียนในโอกาสต่อไป    และสู่การขยายผลไปใช้กับทุกโรงเรียนในประเทศ    

ข้างบนผมเขียนก่อนประชุม    ในการประชุมหลังจาก ดร. ดิลกะ เสนอผลการวิจัยที่ชี้ให้เห็นจุดอ่อนด้านความไม่เท่าเทียมเชิงระบบของการศึกษาไทยแล้ว    รศ. ดร. เอกชัย ก็เสนอว่า จะสนับสนุนการนำ FSQL ไปใช้ในโครงการนำร่อง ทั้งในโรงเรียนในพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา    ในเขตพื้นที่การศึกษาที่มีความพร้อม    รวมทั้งในบางจังหวัดที่มีความพร้อม    ซึ่งหมายความว่า จะมีการทดลองควบรวมบางโรงเรียนเข้าด้วยกัน    เพื่อให้เด็กได้รับการศึกษาคุณภาพสูง    ข้อมูลจากผลงานวิจัยนี้ บอกชัดเจนว่า     หากดำเนินการตาม FSQL จำนวนครูเท่าที่มีอยู่มากเกินพอ    และในภาพรวม เด็กจะเดินทางไปโรงเรียนด้วยระยะทางสั้นลง     เด็กที่ต้องเดินทางไกล ก็สามารถจัดงบประมาณช่วยค่าเดินทางได้   

ผลการวิจัยใช้ Software model คิด    คำนึงถึงสารพัดมิติ    แต่ไม่มีมิติทางการเมืองสารพัดด้าน    ที่ในทางปฏิบัติเป็นเรื่องของชีวิตจริง ละเลยไม่ได้    เราคงจะได้เห็นกันว่า ตอนเอาผลวิจัยลงสู่การปฏิบัติ    มันมีมิติที่มากกว่าตอนวิจัยมากมาย    โดยเฉพาะอย่างยิ่งการสื่อสารสังคม ตามทฤษฎีสามเหลี่ยมเขยื้อนภูเขา

วิจารณ์ พานิช

๘ ก.ค. ๖๓


   

หมายเลขบันทึก: 679970เขียนเมื่อ 4 สิงหาคม 2020 17:43 น. ()แก้ไขเมื่อ 4 สิงหาคม 2020 17:43 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท