ผมเล่าเรื่องชีวิตยามสมองเสื่อมของสาวน้อยเป็นระยะๆ (๑) (๒) (๓) (๔) (๕) (๖) (๗) (๘) (๙) (๑๐) (๑๑) (๑๒) ๑๓ ๑๔ ๑๕ ๑๖ ๑๗ (๑๘) (๑๙) (๒๐) (๒๑) (๒๒) (๒๓) (๒๔) (๒๕) (๒๖) (๒๗) ๒๘ ๒๙ ๓๐ ๓๑ ๓๒ ๓๓ ๓๔ ๓๕ (๓๖) (๓๗) (๓๘) (๓๙) (๔๐) (๔๑) (๔๒) (๔๓) (๔๔) (๔๕) (๔๖) (๔๗) (๔๘) (๔๙) (๕๐) (๕๑) (๕๒) (๕๓) (๕๔) (๕๕) (๕๖) (๕๗) (๕๘) (๕๙) เพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้ประสบการณ์กับท่านผู้อื่นที่ต้องเผชิญสภาพคล้ายๆ กัน ที่นับวันจะมีจำนวนมากขึ้น
ถูกวางยา
วันที่ ๒๐ มีนาคม ๒๕๖๘ ลูกสาวและผมพบว่าเธอง่วงหลับตลอดเวลา ปลุกกินข้าว ระหว่างกินก็สลึมสลือ กินเสร็จก็หลับต่อ พาไปเดินตอนเย็นก็จะหลับอยู่เรื่อย ที่จริงอาการนอนมากนี้เริ่มเป็นตั้งแต่วันที่ ๑๙ แต่ไม่รุนแรงเท่าวันที่ ๒๐
ค่ำวันที่ ๒๐ ผมไปเปิดกล่องยา Madopar ที่เป็นยารักษาโรคพาร์กินสัน กินครั้งละ ๑/๔ เม็ด เช้า กลางวัน เย็น โดยผมบิยาเป็น ๑/๔ เม็ดใส่ไว้ในกล่องยาสำหรับตอนเที่ยง ไว้ให้ชมพู่ (care giver) ป้อน โดยชมพู่หยุดพักผ่อนประจำเดือนวันที่ ๑๘ - ๒๑ มีนาคม ๒๕๖๘ แป๋ม แม่บ้านของลูกสาวช่วยทำหน้าที่สลับกับลูกสาม โดยแป๋มป้อนยาเที่ยง
ค่ำวันที่ ๒๐ ผมเปิดกล่องยากินตอนเที่ยงดู พบว่ายา ๓ ชิ้นหายไปหมด ก็รู้ทันทีว่าที่เธอง่วงนอนตลอดเวลา เพราะได้รับยาเกินขนาด โดยได้รับเกินขนาดมา ๒ วัน และเป็นความผิดของผมที่ไม่เฉลียวใจตั้งแต่เย็นวันที่ ๑๙
วันที่ ๒๑ กำชับแป๋มให้ป้อนยาเที่ยงเพียง ๑ ชิ้น อาการง่วงหลับก็หายไป ยิ้มแย้มแจ่มใสดังเดิม
เป็นข้อเรียนรู้ ให้ระมัดระวังเรื่องการป้อนยา ทั้งป้อนไม่ครบ และป้อนเกิน
หลับจริงๆ
วันที่ ๒๓ - ๒๕ เมษายน ๒๕๖๘ เธอนอนหลับแทบทั้งวัน มีอาการง่วงตลอดเวลา แม้เวลาออกไปเดินออกกำลังตอนเย็น ก็ยืนหลับ เย็นวันที่ ๒๕ ผมจึงโทรศัพท์ไปปรึกษา รศ. นพ. ยงชัย นิละนนท์ แพทย์ผู้ดูแลเธอ ได้รับคำแนะนำว่าอาจเป็นอาการของ metabolic imbalance หรือโรคติดเชื้อที่ซ่อนอยู่ แนะให้ไปเจาะเลือดที่ห้องฉุกเฉินโรงพยาบาลศิริราช
ลูกสาวคนที่สองกับผมจึงพาเธอขึ้นรถจะพาไปศิริราช แต่ก็นึกขึ้นได้ว่ามีโรงพยาบาลใกล้บ้านที่อาจช่วยเจาะเลือดตรวจได้ คือโรงพยาบาลกรุงไทย (เอกชน) กับโรงพยาบาลชลประทาน ลูกสาวบอกว่า รพ. ชลประทาน (ศูนย์การแพทย์ปัญญานันทะภิกขุ) ไปง่ายกว่า เราจึงเลือกไปที่นั่น ไปที่ห้องฉุกเฉิน ลงทะเบียนทำบัตร และแนะนำตัวกับแพทย์ห้องฉุดเฉินว่าเราเป็นอดีตอาจารย์แพทย์ของศิริราช และเธอเป็นคนไข้ประจำของศิริราช โรคสมองเสื่อม
บริการของ ER ที่ศูนย์การแพทย์ปัญญานันทะภิกขุ ดีมาก รออยู่ไม่ถึงชั่วโมง ก็ได้ผลการตรวจเลือดและปัสสาวะ เลือดอยู่ในเกณฑ์ปกติ ผลการตรวจปัสสาวะพบเม็ดเลือดขาว และไนไตรท์ หมอบอกว่ามีการติดเชื้อในระบบปัสสาวะ เป็นครั้งแรกที่ผมทราบว่าการตรวจปัสสาวะมีการตรวจไนไตรท์ด้วย และเป็นตัวบอกว่ามีการติดเชื้อ
หมอสั่งยาเม็ด Amoxy + clavu (clavulanic acid) 1 gm ๒๐ เม็ด กินครั้งละ ๑ เม็ด เช้า – เย็น และยาพาราเซตามอล กินเวลามีไข้ ค่าบริการเก็บจากต้นสังกัดในฐานะข้าราชการบำนาญ จ่ายค่าบริการ ๑๒๕ บาท ผมขอทราบผลการตรวจเอ็กซเรย์ปอด พยาบาลให้ไปขอรับแผ่นซีดี บรรจุข้อมูลภาพเอ็กซเรย์ เสียค่าบริการ ๑๒๕ บาท
กลับถึงบ้าน สามทุ่ม รวมเวลาทั้งหมดตั้งแต่ออกจากบ้านจนกลับถึงบ้าน ๓ ชั่วโมง
ผมและลูกสาวบอกพี่เลี้ยงให้ป้อนทั้งยาและน้ำเพื่อรักษาโรคติดเชื้อทางเดินปัสสาวะ โดยยา Amoxy + clavu เม็ดใหญ่มาก และเป็นเวลาเกือบปีแล้วที่เราต้องป้อนยาโดยบดและละลายน้ำ ส่วนน้ำดื่มให้ป้อนบ่อยๆ ให้ได้วันละ ๑ - ๑.๕ ลิตร
ดื่มน้ำรักษาโรคมีอาการข้างเคียง
วันที่ ๒๖, ๒๗ เราสังเกตว่าเธอถ่ายอุจจาระวันละ ๒ ครั้ง และถ่ายไม่เป็นก้อนอย่างตามปกติ ตามปกติเธอถ่ายทุกๆ ๑ - ๒ วัน ลูกสาวที่เป็นหมอฟันบอกว่าอาจเป็นผลของยา Amoxy
ความเขลาของผม
คืนวันที่ ๒๗ เมษายน ตอนเที่ยงคืนเศษ เธอปลุกผม และพูดแบบระล่ำระลักไม่เป็นภาษา ผมบอกเธอให้หลับเสีย เธอยังพยายามบอกผมอีกสองสามครั้ง แล้วก็หลับไป
เช้าวันที่ ๒๘ เมษายน หลังออกไปเดินออกกำลัง และกินอาหารเช้า เวลาราวๆ ๗ น. ผมเดินเข้าไปในห้องนอน พบว่าเธอพยายามลุกจากเตียง ลงมาซบอยู่กับเตียง โดยมีผ้าห่มพันตัวอยู่ กว่าผมจะช่วยเธอเอาผ้าห่มออก และพบว่าผ้าอ้อมของเธอมีอึเต็ม การพยุงตัวเธอเข้าห้องน้ำยากลำบากมาก เพราะเธอไม่มีแรงขาพยุงตัว ต้องอุ้มตลอด กว่าจะเอาผ้าอ้อมที่มีอุจจาระเต็มออก ล้างก้น และเปลี่ยนผ้าอ้อม ผมเหงื่อแตกและหอบ
ผมจึงนึกขึ้นได้ว่า ตอนที่เธอสื่อสารกลางดึกคือ บอกว่าเธออึ
หลังจากนั้น เธอลงน้ำหนักขาไม่ได้
ต้องใช้รถเข็นนั่งในบ้าน
วันที่ ๒๘ - ๓๐ เมษายน เธอลงน้ำหนักขาไม่ได้ จึงต้องใช้รถเข็นนั่งตั้งแต่ลงจากเตียง เข็นไปเข้าห้องน้ำ แล้วเข็นไปนั่งกินอาหารที่ระเบียงบ้าน เธออยู่บนรถเข็นตลอด ลูกสาวคนที่สองเริ่มพูดถึงการเตรียมซื้อเตียงสำหรับผู้ป่วยติดเตียง ผมเองก็บอกตัวเองว่าช่วงป่วยติดเตียงของเธอมาเร็วกว่าที่คิด
ไปตรวจที่คลินิกพิเศษ ศิริราช
เรามีนัดพาเธอไปให้หมอตรวจที่คลินิกพิเศษ รพ. ศิริราช ห้อง ๒๑๕ ของ รศ. นพ. ยงชัย นิละนนท์ เวลานัด ๑๗.๐๐ น. แต่วันนี้ อ. หมอพงษธร ตรวจแทน เวลา ๑๖.๓๐ น. เราก็เอาใบนัดไปรายงานตัว แล้วนั่งรอตรวจตามคิว โดยเธอนั่งบนรถเข็นของโรงพยาบาล เธอได้รับการตรวจเวลา ๑๙ น. โดยผมเอาผลตรวจเลือด ปัสสาวะ และเอ็กซเรย์ปอด ที่ศูนย์การแพทย์ปัญญานันทะภิกขุ ให้หมอดู ลูกสาวถามว่าขอยา Amoxy + clavu ชนิดน้ำได้ไหม เพราะยาเม็ดเราต้องบดและละลายน้ำ แต่ในเอกสารของยาบอกว่าห้ามเคี้ยวห้ามบด เราจึงได้ยาชนิดน้ำมาแทน และได้ยาอย่างอื่นมากิน ๖ เดือนอย่างที่ผมขอ
หมอขอให้ยืนและเดินให้ดู พบว่าเธอยืนและเดินได้ดีกว่าตอนอยู่ที่บ้าน (ต้องพยุง)
เย็นวันที่ ๑ พ.ค. ๖๘ ไปเดินออกกำลังได้ตามปกติ
คงเพราะอาการโรคติดเชื้อทางเดินปัสสาวะทุเลาลงมาก วันที่ ๑ พ.ค. เธอลุกขึ้นยืนได้โดยมีคนช่วยพยุงตอนลุกขึ้น เหมือนตอนก่อนวันที่ ๒๓ เมษายน ตอนเที่ยงลูกสาวคนเล็กมารับไปกินอาหารเที่ยงที่ร้านฮงเส็งโภชนา ริมแม่น้ำเจ้าพระยา ที่ตลาดปากเกร็ด เธอก็ตื่นดีและกินอาหารอย่างเอร็ดอร่อย
เย็นวันที่ ๑ พฤษภาคม ออกไปเดินออกกำลังได้ตามปกติ
ข้อเรียนรู้สำคัญยิ่งที่ผมได้รับคือ อาการของโรคติดเชื้อในผู้สูงอายุ ไม่เหมือนในคนอายุน้อย ที่มีปฏิกิริยาแสดงออกเป็นอาการไข้ ครั่นเนื้อครั่นตัว แต่ผู้สูงอายุแสดงออกเป็นอาการง่วงเหงาหาวนอน เมื่อผมเอาไปเล่าให้หมอผู้สูงอายุฟัง ก็ได้รับคำบอกเล่าว่าหมอผู้สูงอายุระวังเรื่องนี้มาก
วิจารณ์ พานิช
๒ พ. ค. ๖๘
1 ระหว่างรอที่ห้องตรวจ ๒๑๕ โอพีดี รพ. ศิริราช
2 นั่งรถเข็นกลับจากฮงเส็งโภชนา หลังอาหารเที่ยง
3 เดินออกกำลังเย็นวันที่ ๑ พ.ค.