ชีวิตที่พอเพียง 4419. อยู่กับผู้ป่วยโรคสมองเสื่อม (๔๗) บันทึกเดือนกุมภาพันธ์ ๒๕๖๖ 


 

ผมเล่าเรื่องชีวิตยามสมองเสื่อมของสาวน้อยเป็นระยะๆ () ((๓)  (๔)  (๕)  (๖)   (๗)   (๘)   (๙)   (๑๐)   (๑๑)    (๑๒)   ๑๓   ๑๔   ๑๕  ๑๖  ๑๗  (๑๘)  (๑๙)  (๒๐)  (๒๑)   (๒๒)  (๒๓)   (๒๔)   (๒๕)   (๒๖)    (๒๗)    ๒๘  ๒๙   ๓๐   ๓๑   ๓๒   ๓๓   ๓๔   ๓๕   (๓๖)   (๓๗)    (๓๘)   (๓๙)   (๔๐)   (๔๑)   (๔๒)  (๔๓)   (๔๔)  (๔๕)  (๔๖)  เพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้ประสบการณ์กับท่านผู้อื่นที่ต้องเผชิญสภาพคล้ายๆ กัน ที่นับวันจะมีจำนวนมากขึ้น   

 

ไปกินเลี้ยงกับเพื่อนแพทย์ศิริราช รุ่น ๗๓

นพ. เกต สายเพชร เพื่อนร่วมรุ่นแพทย์ศิริราช ๗๓ ของเธอ   และเป็นเพื่อนร่วมรุ่นกับผมที่โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา และคณะวิทยาศาสตร์จุฬาฯ เจ้าของโรงพยาบาลบางโพ โทรศัพท์มาบอกผมให้พาเธอไปกินอาหารกลางวันกับเพื่อนๆ ที่ร้านพงหลี อนุสาวรีย์ชัยฯ วันที่ ๓ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๖     

เขารู้ว่าหมออมราเดินไม่สะดวก จึงจัดที่จอดรถให้ใกล้ทางเข้าร้านที่สุด   เราไปนั่งที่โต๊ะหนึ่งอยู่ ๑ ชั่วโมง (เราต้องรีบกลับเพราะผมมีประชุมทางออนไลน์ที่บ้านเวลา ๑๓.๓๐ น.)    มีเพื่อนๆ ที่สนิทกันมากๆ จำนวนหนึ่งมาทักทายและถ่ายรูปด้วย   เธอจำเพื่อนบางคนได้ เมื่อเพื่อนทักทายและบอกชื่อ    แต่พูดคุยเป็นเรื่องเป็นราวไม่ได้เลย   

แต่เมื่อกลับมาถึงบ้าน ในตอนเย็นผมถามว่าไปพบเพื่อนมาจำได้ไหม   พบว่าจำไม่ได้      

 

คุณเป็นใคร

เย็นวันที่ ๕ กุมภาพันธ์ สังเกตหน้าตาของเธอตึงเครียด    ระหว่างกินอาหารเย็นเธอพูดถึงพ่อแม่    และถามว่าเธอมาอยู่ที่นี่ได้อย่างไร   เมื่อกินอาหารเย็นเสร็จเตรียมออกไปเดินออกกำลัง เธอถามผมว่า คุณเป็นใคร    ผมตอบว่า “พี่วิจารณ์ สามีของตุ๋น    เราแต่งงานกัน มีลูก ๔ คน”   เธอทำหน้าไม่เชื่อ   เมื่อผมเอ่ยชื่อลูกทีละคน เธอทำหน้าไม่เชื่อ

ระหว่างเดินออกกำลัง ผมถ่ายรูปให้และบอกให้ยิ้มสดชื่น เธอยิ้มอย่างดี  เมื่อเอารูปให้ดู เธอชอบใจ   น่าจะเป็นวิธีเรียกความจำและอารมณ์ดีได้ 

แต่ต่อมาระหว่างเดินกลับบ้าน ความจำของเธอก็กลับมาอย่างเดิม   ดูได้จากสีหน้า

อาการความจำ “หลุด” เช่นนี้ ไม่เกิดมานานหลายเดือน      

 

อึใส่ผ้าอ้อมบอกไม่ได้

เช้าวันที่ ๑๕ ก.พ. เมื่อเธอตื่นและเดินออกมาที่ระเบียงบ้านที่ผมนั่งอยู่    ผมทักทาย เข้าไปกอด และถามว่าใส่ฟันปลอมหรือยัง   เป็นคำสนทนาประจำวัน    คำตอบคือ ยัง    ผมจึงพาเดิน (หาเรื่องให้เดิน) กลับไปยังห้องนอน   ถอดเสื้อนอนกันหนาวให้   ถอดผ้าอ้อมให้ (ตามที่ทำประจำทุกวัน)   แต่วันนี้พบเหตุการณ์พิเศษ คือเธออึใส่ผ้าอ้อมกองโต   เมื่อถอดออกมาอึส่วนหนึ่งก็หลุดออกมาราดที่พื้นในห้องนอน   

ตอนนี้ผมทำหน้าที่ care giver เต็มตัว   ก็ทำหน้าที่ล้างก้นให้   เก็บอึและเช็ดถูพื้นห้องนอน   ซึ่งไม่ใช่งานยาก 

ตามด้วยการพาไปห้องน้ำ    แปรงฟันให้ และสวมฟันปลอม   และบอกให้เดินกลับมาที่ระเบียงหน้าบ้าน   โดยผมเตรียมอาหารเช้าให้แล้ว   

 

คิดถึงแม่

วันที่ ๑๕ ลูกสาวคนโตกลับมาบ้าน ได้ปรนนิบัติแม่ นั่งคุยกับแม่    หมออมราถามถึงแม่ของตนเอง ว่าคิดถึงแม่    ก่อนหน้านั้นหนึ่งวัน เธอก็ถามผมว่า แม่อยู่ที่ไหน   โดยที่แม่ของเธอสิ้นไปแล้ว ๒๒ ปี   

นี่คือช่วงสับสน    ที่บางช่วงผมจะสังเกตเห็นสีหน้าตึงๆ เมื่อเห็นผม   คือน่าจะเป็นเพราะเธอจำผมไม่ได้ไปชั่วขณะ    พอคุยกันก็จำได้ และสีหน้าเป็นปกติ    สภาพอย่างนี้ แบม ที่มาเป็น care giver อยู่สองเดือน ต้องเผชิญบ่อยมาก 

 

เป็นเดือนที่ผมทำหน้าที่ care giver เต็มตัว    โดยผมออกไปประชุมข้างนอกมากขึ้น    ต้องนัดแนะกับลูกสาว และแม่บ้านของลูกสาว ว่าช่วงที่ผมไม่อยู่เขาช่วยดูแลแทน   ผมได้ฝึกความยืดหยุ่นและปรับตัว    ในบางกรณี มีนัดออกไปประชุมข้างนอก ผมต้องขอประชุมทาง ออนไลน์ จากบ้าน เพราะออกไปไม่ได้ ไม่มีคนอยู่เป็นเพื่อนหมออมรา     

คุณหมอสมศักดิ์ ชุณหรัศมิ์ เป็นห่วง   ช่วยแนะนำแหล่งจ้าง ผู้ดูแลผู้ป่วย มืออาชีพให้    แต่เขาทำงานแบบมาเช้า เย็นกลับ    และฟังแล้ว เหมาะสำหรับผู้ป่วยติดเตียงที่ช่วยตัวเองไม่ได้    กรณีของเรายังช่วยตัวเองได้    ผมจึงไม่ได้ติดต่อ 

ผมกับลูกสาวคนโต ๒ คน ที่ช่วยกันดูแล   จะต้องปรับตัว และปรึกษากันเรื่องหาคนมาช่วย    โดยที่ความเห็นของเราไม่ค่อยตรงกันนัก    ผมต้องปรับตัวเข้าหาความคิดของเขาด้วย       

วิจารณ์ พานิช          

๒๘ ก.พ. ๖๖

 

1 เพื่อนศิริราช ๗๓ วันที่ ๓ ก.พ. ๖๖ ที่ร้านพงหลี

2 เพื่อนอีกกลุ่มหนึ่ง

3 เย็นวันที่ ๕ ก.พ. ถ่ายรูปแก้ความจำหลุด

4 ท่าเข็นรถ เย็นวันที่ ๑๔ ก.พ. ๖๖ วันแห่งความรัก

5 ลูกสาวพาไปกินก๋วยเตี๋ยววัดศาลเจ้า ๑๘ ก.พ.

6 ร้านก๋วยเตี๋ยว

7 ที่ร้านก๋วยเตี๋ยว

8 ที่วัดศาลเจ้า ๑๘ ก.พ.

9 ที่วัดศาลเจ้า

หมายเลขบันทึก: 711942เขียนเมื่อ 14 มีนาคม 2023 16:12 น. ()แก้ไขเมื่อ 14 มีนาคม 2023 16:12 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

ดีใจครับที่เห็นหมออมรายังมีสุขภาพดีอย่างยิ่ง แม้ความจำจะยังไม่กลับคืนมา ขอเป็นกำลังใจให้หมอวิจารณ์และผู้ดูแลด้วยครับ ..วิโรจน์ ครับ ป.ล. ผมก็เป็นลูกค้าอีกคนหนึ่งของร้านพงหลีครับ

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท