ชีวิตที่พอเพียง 4172. อยู่กับผู้ป่วยโรคสมองเสื่อม (๓๕) บันทึกเดือนกุมภาพันธ์ ๒๕๖๕ 


 

ผมเล่าเรื่องชีวิตยามสมองเสื่อมของสาวน้อยเป็นระยะๆ () ((๓)  (๔)  (๕)  (๖)   (๗)   (๘)   (๙)   (๑๐)   (๑๑)    (๑๒)   ๑๓   ๑๔   ๑๕  ๑๖  ๑๗  (๑๘)  (๑๙)  (๒๐)  (๒๑)   (๒๒)  (๒๓)   (๒๔)   (๒๕)   (๒๖)    (๒๗)    ๒๘  ๒๙   ๓๐   ๓๑   ๓๒   ๓๓   ๓๔  เพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้ประสบการณ์กับท่านผู้อื่นที่ต้องเผชิญสภาพคล้ายๆ กัน ที่นับวันจะมีจำนวนมากขึ้น   

บันทึกของเดือนกุมภาพันธ์ ๒๕๖๕ ขอเล่าเน้นที่ความเสื่อมถอย ที่สังเกตเห็นได้จากพฤติกรรม   

 

ช่วยตัวเองได้น้อยลง

ที่เห็นชัดคือการอาบน้ำในตอนค่ำก่อนนอน   ก่อนหน้านี้สองสามดือนหากผมเข้าไปช่วยอาบไม่ทัน เธอจะอาบเองได้    แม้จะไม่ค่อยสะอาด   

แต่ช่วงต้นเดือนกุมภาพันธ์ ๒๕๖๕  หลายวันติดกัน ที่ผมเข้าไปช่วยเธอช้า    เธอก็จะยังไม่ได้อาบ เพราะเปิดก๊อกน้ำไม่เป็นเสียแล้ว   เมื่อผมเข้าไปในห้องอาบน้ำ เธอจะหัวเราะ ที่ตนเองไม่รู้ว่าจะทำอะไรต่อไป   บางวันก็หยิบฝักบัวมาอยู่ในมือ แต่เปิดน้ำไม่เป็น    บางวันหนักกว่า คือหยิบฝักบัวก็ไม่เป็น   

เรื่องการปอกผลไม้ให้ผมกิน เพื่อฝึกกล้ามเนื้อมัดเล็กตามที่เคยเล่า เป็นอดีตไปแล้ว     เวลานี้ผมต้องปอกให้เธอกิน     อาหารทุกมื้อ ผมต้องช่วยจัดใส่จานสำหรับเธอตักกินจากจานนั้น   เธอตักกินเองจากจานกับข้าวไม่เป็นแล้ว 

การแปรงฟันตอนก่อนนอนก็ต้องมีคนช่วย    เพราะเปิดก๊อกน้ำไม่เป็น    บีบยาสีฟันจากหลอดใส่แปรงไม่เป็น    และแปรงฟันไม่สะอาด    ถอดฟันปลอมไม่เป็น    แต่สภาพดังกล่าวไม่ใช่ทุกวันนะครับ    บางวันก็ทำได้เองค่อนข้างดี    แต่มีเพียงไม่ถึงร้อยละ ๑๐ ที่ทำได้เอง       

 

ชอบกินขนม

กินอาหารหลักตามมื้อน้อยลง    แต่กินจุบจิบ กินขนมและผลไม้มากขึ้น    วันที่ ๒ กุมภาพันธ์ มีกล้วยหอมใบโตน่ากินที่มีคนเอามาให้ตอนตรุษจีนอยู่ในตู้    เธอหยิบมากินเอง ๓ ผล     ทำให้ไม่กินอาหารเที่ยงเลย   

 

ความจำวูบหายเป็นช่วงๆ

ที่เห็นชัดคือจำผมไม่ได้    คำถามประจำวัน วันละหลายครั้งคือ “คุณเป็นใคร”    ตอนนี้ผมค้นพบคำตอบแล้ว    คือ “ไม่มีคุณ มีแต่พี่วิจารณ์”    หากเธอได้ยินชัด จะหัวเราะทันที (เธอหูตึงขึ้นมาก)    เท่ากับคำตอบของผมช่วยกระตุ้นความจำ    แต่อีกครู่เดียว ความจำก็เลือนไปอีกแล้ว    ผมกลายเป็นคนแปลกหน้า    เธอพูดว่า “ฉันเป็นคนมีสามีแล้วนะ”    

สภาพเช่นนี้ น่าจะตรงกับภาษาไทยว่า “ผีเข้าผีออก”    คือคุยกันรู้เรื่องอยู่หลัดๆ    กลายเป็นพูดกันไม่รู้เรื่องอีกล้ว     และอีกสักครู่ก็อาจจำได้อีกแล้ว   

 

การขับถ่าย

Pampers ช่วยมากจริงๆ   เพราะตอนนี้ร้อยละ ๘๐ – ๙๐ ของการขับถ่าย เธอไปเข้าห้องน้ำได้    แต่ราวๆ ร้อยละ ๑๐ – ๒๐ เกิดตอนเธออยู่ในช่วง “ผีเข้า” คือจำอะไรไม่ได้  ไม่มีสติสัมปชัญญะ   การขับถ่ายก็จะออกมาเอง    pampers ก็ช่วยรับไว้    หากไม่มี pampers ก็จะเลอะเทอะมาก   

จึงต้องคอยดูแลให้สวม pampers อยู่ตลอดเวลา   เพราะเธอจะถอดเองเอาแขวนไว้ในห้องน้ำ   หรือบ้างครั้งก็วางไว้ไม่เป็นที่   ผู้บริบาลต้องหมั่นคลำ ว่าสวม pampers อยู่หรือไม่ 

 

เดินออกกำลังได้น้อยลง

ปีที่แล้วต้นปีเดินไปนั่งเล่นที่ริมสระน้ำ (ระยะทางราวๆ ๓๐๐ เมตร) ได้  ปลายปีเดินไม่ถึงขอกลับระหว่างทาง    มักเดินได้ราวๆ ๒๐๐ เมตร   และต้องพักเป็นระยะๆ    บางวันแสดงท่าทีเหนื่อยมาก    วันที่ ๒๘ กุมภาพันธ์ เดินช้ามากตั้งแต่อยู่ในบ้าน   และเดินออกนอกบ้านไปได้เพียง ๒๐ - ๓๐ เมตร ก็ขอกลับ    บอกว่าปวดเอว    วันนี้พูดไม่ค่อยรู้เรื่อง    ลูกสาวมาคุยด้วยก็คุยไม่รู้เรื่อง    และหูตึงมากขึ้น    โชคดีที่เธอย้ำกับลูกสาวว่าผมเป็นพ่อ   

วิจารณ์ พานิช 

๒๘ ก.พ. ๖๕ 

 

 

1 ๒ ก.พ. ๖๕ กินอาหารเช้าที่ถูกสุขลักษณะ

2 ๔ ก.พ. ๖๕ สามีไม่อยู่ ลูกสาวปรนนิบัติ

3 ๖ ก.พ. ๖๕ คุยกับลูกชาย

4 ๖ ก.พ. ๖๕ ลูกชาย

5 ลูกชายป้อนอาหารเย็น

6 ๖ ก.พ. ลูกชายมาเยี่ยม

7 ๖ ก.พ. ลูกสาวป้อนอาหารเย็น

8 ๑๒ ก.พ. ๖๕ ถ่ายกับดอกชมพูพันธ์ทิพย์

9 ๑๙ ก.พ. กับลูกสาวที่วัดราชบูรณะ อยุธยา

10 ๑๙ ก.พ. ที่ร้านก๋วยเตี๋ยวผักหวาน อยุธยา

หมายเลขบันทึก: 699000เขียนเมื่อ 14 มีนาคม 2022 20:19 น. ()แก้ไขเมื่อ 14 มีนาคม 2022 20:19 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)
อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท