ชีวิตที่พอเพียง 3804. อยู่กับผู้ป่วยโรคสมองเสื่อม (๑๘) บันทึกเดือนกันยายน ๒๕๖๓


ผมเล่าเรื่องชีวิตยามสมองเสื่อมของสาวน้อยเป็นระยะๆ () () (๓)  (๔)  (๕)  (๖)   (๗)   (๘)   (๙)   (๑๐)   (๑๑)    (๑๒)   ๑๓   ๑๔   ๑๕  ๑๖  ๑๗ เพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้ประสบการณ์กับท่านผู้อื่นที่ต้องเผชิญสภาพคล้ายๆ กัน ที่นับวันจะมีจำนวนมากขึ้น  

ช่วงเดือนกันยายน ๒๕๖๓    เป็นช่วงที่ผมเริ่มออกไปประชุมภายนอกมากขึ้น   

สนุกกับการเป็นคุณหนู

เธอยอมรับการกลับไปเป็นคล้ายเด็กอีกครั้ง    เพราะความหลงๆ ลืมๆ    แต่ก็เป็นเด็กที่ยังตามมุขตลกได้    และบางครั้งก็ปล่อยมุขของตนเองได้   

ผมเรียกเธอว่า หนูอมรา หรือ หนูตุ๋น ซึ่งเธอชอบ    และเธอเรียกผมว่า พ่อ

 เรื่องปฏิสัมพันธ์ในลักษณะผู้ใหญ่ (ผม) กับเด็ก (เธอ) นี้    น่าจะยอมรับได้ง่ายจากการที่เธอเป็นลูกคนสุดท้อง และผมเป็นลูกคนโต    น่าจะมีพื้นฐานทางจิตวิทยาที่ทำให้เข้ากันง่าย   

  

ยืนยันความปลอดภัย

ชีวิตคนมีความต้องการเป็นขั้นๆ ตาม Maslow’s Hierarchy of Needs    ผมเอามาประยุกต์ใช้ ให้เธอมั่นใจว่าเธอได้รับ ๓ ประการล่างอย่างมั่นคงแน่นอน    ซึ่งช่วยลบเลือนความหลงผิด (delusion) ว่าผมมีกิ๊กลงไปได้เกือบหมด    แต่ก็ไม่หมดนะครับ ความหลงผิดเป็นสิ่งที่ลบออกไปไม่ได้    แต่เธอก็จะพร่ำแสดงความขอบคุณที่ผมรับใช้ดูแลเธออย่างดี     

บริการทุกๆ ครึ่งชั่วโมง

ในหนึ่งสัปดาห์ ผมประชุมทางไกลอยู่ที่บ้านอย่างน้อยสองสามวัน    ระหว่างประชุม เธอจะคือเอาผลไม้มาเสิร์พ    บางวันมีผลไม้มาก    เธอเอามาเสิร์พทุกๆ ครึ่งชั่วโมงก็เคยมี    เพราะลืมไปแล้วว่าได้เอามาให้แล้ว  

ลุกขึ้นแต่งตัวตอนเที่ยงคืน

น่าจะเรียกเหตุการณ์นี้ว่า ละเมอ    เที่ยงคืนระหว่างวันที่ ๑๒ กับ ๑๓ กันยายน ๒๕๖๓ ผมตื่นขึ้นมาพบว่าไฟหน้าห้องน้ำเปิด    จึงลุกขึ้นไปดู    พบว่าสาวน้อยเปลี่ยนชุดนอนเป็นชุดเที่ยวที่แปลก    คือนุ่งกระโปรง สวมเสื้อแขนยาว    เป็นชุดที่ไม่ใช่ชุดอยู่บ้านที่สวมเสื้อยืด   

ผมบอกเธอว่า เพิ่งเที่ยงคืน ให้กลับไปนอนต่อ    เธอก็นอนต่ออย่างว่าง่าย    

รุ่งขึ้นเช้า    ผมเล่าให้เธอฟังเรื่องเหตุการณ์เมื่อคืน    เธอจำไม่ได้เลย    และเมื่อชวนออกไปกินก๋วยเตี๋ยวราดหน้าที่ร้านในชุดนั้น เธอไม่ยอมไป    ต้องเปลี่ยนชุดก่อนทั้งชุด  

กลั้นฉี่ไม่ได้

อาการฉี่ราดเป็นบ่อยขึ้น    ส่วนหนึ่งเพราะกลั้นไม่อยู่    อีกส่วนหนึ่งเพราะเคลื่อนไหวช้า    ไปห้องน้ำไม่ทัน    ผมบอกเธอให้สวมผ้าอ้อม    เธอก็สวมบ้างไม่สวมบ้าง การตามไปล้างฉี่และซักผ้าและเบาะเปื้อนฉี่เป็นภาระที่ต้องยอมรับ   

ความจำและการพูดดีขึ้น

นี่คือข้อสังเกตของลูกชาย ที่ไม่เห็นแม่เป็นเวลาเกือบเดือน     พบตอนต้นเดือนกันยายนก็ตั้งข้อสังเกต    ต่อมาเป็นข้อสังเกตของเก๋ หลานสาว ที่ไม่พบมากว่าเดือน    บอกว่าคราวนี้จำเขาได้ เรียกชื่อถูก    เมื่อราวๆ เดือนเศษๆ มาแล้วเธอถามผมว่า เก๋ลูกใคร (ลูกพี่ชาย)      

  

ความหลงผิดกลับมาแล้ว

เช้าวันที่ ๑๘ กันยายน ๒๕๖๓    เธอพูดกับผมด้วยสีหน้ามึนตึง “เมื่อคืนไปทำอะไร”    และเมื่อคุยกันจึงได้ความว่า เธอกล่าวหาว่าผมไปมีเพศสัมพันธ์กับ ....    โดยที่น่าจะเป็นเพราะ .... มาถามผมเมื่อสักครู่ก่อนหน้านั้น     คล้ายๆ กับเมื่อหลายเดือนก่อนมีผู้หญิงจากบ้านใกล้ๆ ยกมือไหว้ผม     สาวน้อยก็คิดว่าเป็นกิ๊กทันที   

สมองที่เสื่อมมันมีความสามารถเชื่อมโยงเรื่องไปยังความหลงผิดได้อย่างรวดเร็ว     โดยมีความหลงผิดเป็นฐานที่ไม่สั่นคลอน    แต่เรื่องที่เอามาโยงมันไม่สมเหตุสมผล  และไม่อยู่บนฐานความจริง    แต่อยู่บนฐานจินตนาการ  

หมอนวดศาสตราจารย์

พื้นที่ผ่อนคลายที่บ้านที่หนึ่งคือระเบียงหน้าบ้าน    ผมมักนั่งทำงานแบบเอกเขนกอยู่ด้านหน้า    เธอนั่งอยู่ข้างหลัง    และมักเสนอบริการนวดไหล่ให้    หรือบางครั้งผมก็เป็นผู้ขอรับบริการ    จากหมอนวดศาสตราจารย์     ทำให้หมอนวดมีความสุขด้วย    ผู้รับบริการก็สบายตัวด้วย   

             

วิจารณ์ พานิช

๒๙ ก.ย. ๖๓

1 ถ่ายวันที่ ๒๐ ก.ย. ๖๓ กับสามี ลูกชาย และหลานสาว

2 หลานสาวเซลฟี่ มีป้าต้องด้วย

หมายเลขบันทึก: 683928เขียนเมื่อ 14 ตุลาคม 2020 09:06 น. ()แก้ไขเมื่อ 14 ตุลาคม 2020 22:53 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท