ชีวิตที่พอเพียง 3463. ผู้ป่วยโรคสมองเสื่อม ๒ เดือนหลังการผ่าตัด


สาวน้อยได้รับการผ่าตัดต่อท่อระบายน้ำไขสันหลังลงช่องท้อง เพื่อแก้ไขโรคน้ำคั่งในโพรงสมอง (NPH – Normal Pressure Hydrocephalus) เมื่อวันที่ ๒๙ มีนาคม ๒๕๖๒ ()    และอาการของ NPH ดีขึ้นชัดเจน ()   

วันที่ ๑๗ เมษายน ๒๕๖๒ ผศ. ดร. นพ. ศรัณย์ นันทอารี นัดไปติดตามผลการผ่าตัด    ใบนัดบอกว่านัดเวลาประมาณ ๙.๓๖ น.   เราไปถึงราวๆ ๘ น.    ลงจากรถที่อาคารผู้ป่วยนอกสภาพที่เห็นดังรูป    คือรถเข็นและรถนอนเต็มไปหมด    ผมเล่าให้ รศ. นพ. เชิดชัย นพมณีจำรัสเลิศ รอง ผอ. รพ. ศิริราช ฟัง    ท่านบอกว่าสภาพเป็นอย่างนั้นตั้งแต่ตีห้าแล้ว สภาพเช่นนี้ นำไปใช้เป็นนโยบายบริหารบ้านเมืองให้คนได้รับความสะดวกได้มาก    ที่สำคัญคือ ผู้คนในต่างจังหวัดควรได้รับบริการดูแลสุขภาพที่ดีเทียบเท่าที่โรงเรียนแพทย์

กว่าสาวน้อยจะได้รับการตรวจก็ ๑๑ น. เศษๆ    โดยเธอนั่งรออยู่บนรถเข็น    ไปเข้าห้องน้ำ ๑ ครั้ง    ตอนตรวจหมอเดินมาคุยตรงที่นั่งรอ โดยไม่ได้ตรวจร่างกาย    หมอถามว่า ผลเป็นอย่างไรบ้าง  พอใจไหม    คำตอบคือ พอใจมาก ผมขอให้หมอสั่งยา ๓ เดือน    ท่านบอกว่าท่านไม่มีสิทธิ์สั่งยา Aricept Evess ซึ่งเป็นยาแก้สมองเสื่อม    เพราะมีการทุจริตให้หมอสั่งเอาไปขายต่อ    ทางโรงพยาบาลจึงกำหนดให้สั่งยาได้เฉพาะหมอรักษาโรคสมองเสื่อมเท่านั้นที่สั่งยานี้ได้

หมอสั่งให้ไปตรวจสมองด้วย CT วันที่ ๒๘ พฤษภาคม    และไปพบหมอวันที่ ๕ มิถุนายน

ชีวิตในช่วง ๑ เดือนเศษๆ ของผู้ป่วยโรคสมองเสื่อมดีขึ้นมาก     คือเดินคล่องขึ้น    อาการกลั้นปัสสาวะไม่อยู่เกือบจะหายไป     พูดคล่องขึ้น (แต่ไม่ถึงกับเหมือนคนปกติ)    เข้าใจว่าที่ดีขึ้นนั้น เกิดจากการระบายน้ำหล่อสมอง ลดอาการ NPH   

แต่อาการหลงลืมเพราะสมองเสื่อมจากโรค vascular dementia ยังคงเดิม    กินข้าวแล้วเพียงสิบห้านาที ถามว่ากินข้าวแล้วหรือยัง    ถามว่าพรุ่งนี้ตนเองต้องไปไหนบ้างบ่อยๆ เกือบทุกวัน    เข้าใจว่าเกิดจากความกังวลเรื่องไปโรงพยาบาล    เนื่องจากไปแล้วเหนื่อย    เพราะสภาพที่โรงพยาบาลคนแน่นมากและรอหมอนาน  

อาการหูตึงก็ยังคงเดิม เพราะนั่นเป็นอีกโรคหนึ่ง    

เช้าวันหนึ่ง เธอตื่นขึ้นมาก็เล่นงานผมทันที    ด้วยถ้อยคำในความหมายว่าไปทำอะไรกับกิ๊ก    และเธออารมณ์เสียอยู่ครึ่งวัน    วันรุ่งขึ้นเธอจึงนึกได้และบอกผมว่าฝันไป    ฝันว่าผมไปมีผู้หญิงคนอื่น    เอามาเล่าเพื่อบอกคนที่ดูแลผู้ป่วยสมองเสื่อมว่า ผู้ป่วยอาจแยกความฝันกับความจริงไม่ออก   

วันที่ ๒๘ พฤษภาคม ผมไม่รับนัดใดๆ    ทำหน้าที่ care giver เต็มตัว    พาสาวน้อยไปเจาะเลือดตอน ๙ น. (ซึ่งคนว่าง ต่างจากการเจาะเลือดคราวก่อนๆ ซึ่งเราไปตอน ๘ น. โดยสิ้นเชิง)   แล้วไปนั่งดื่มกาแฟ  และของว่างที่ล็อบบี้อันแสนสบายของโรงพยาบาลปิยมหาราชการุณย์     จน ๑๑ น. สาวน้อยไปเข้าห้องน้ำ     และหายไปนานมากจนผมเป็นห่วง    จนในที่สุดเธอเดินกลับมา บอกว่าหลง    คือออกจากห้องน้ำแทนที่จะกลับมาที่โซฟาใกล้ๆ    กลับเดินวนไปไกล 

ตอนก่อนเที่ยง เราลงไปกินอาหารเที่ยงที่ food court ของโรงพยาบาล      

เวลานัดตรวจ CT สมอง คือ ๑๓.๓๐ น.   สถานที่ตรวจ CT อยู่ที่ชั้น ๑ อาคารเฉลิมพระเกียรติ   ต้องขึ้นลิฟท์ไป ๑ ชั้น    เราไปกัน ๓ คน คือมิ้ว จากหน่วย R2R ไปช่วยบริการ    ผมได้แต่นั่งรอตรงที่ญาตินั่งอยู่ข้างนอก     ไม่ได้เข้าไปข้างใน ซึ่งมีม่านกั้น   แต่ก็ได้ยินเสียงผู้ช่วยพยาบาลพูดเสียงแจ้ว    ได้ยินว่า สาวน้อยความดันสูงนิดหน่อย คือ ๑๕๐ กับ ๙๐ เศษๆ    ทำเสร็จเขาให้เอกสารไปจ่ายค่าบริการส่วนที่เบิกไม่ได้ มิ้วไปช่วยจ่าย เป็นเงิน ๑,๓๐๐ บาท   

เวลา ๑๔ น. เศษๆ เราก็นั่งรถกลับบ้าน   สาวน้อยอารมณ์ดี เพราะผมอยู่เป็นเพื่อนตลอด   ทำให้เธอรู้สึกปลอดภัย   

     

 วิจารณ์ พานิช

๕ มิ.ย. ๖๒

1 ทางเข้าหอผูป่วยนอก

หมายเลขบันทึก: 662288เขียนเมื่อ 27 มิถุนายน 2019 08:04 น. ()แก้ไขเมื่อ 24 กรกฎาคม 2019 19:25 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

It can be a strong motivation to see what is going around ‘outpatient clinics’ in (any) provincial hospital (in Thailand). I am quite sure that doctors and nurses try to do their best to cope with the pressure of number and variety of complaints they have to face –everyday–.

I think IT can help. I think pre-processing (via telecommunication and ‘experts’) can make patients’ experience much better and possibly more efficient care with less stress staff.

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท