ชีวิตที่พอเพียง 3439. อยู่กับผู้ป่วยโรคสมองเสื่อม หลังการผ่าตัด



ผมได้เล่าเรื่องอาการทรุดลงของสาวน้อย    จนในที่สุดพบว่ามีโรค NPH แทรกซ้อนโรคสมองเสื่อมจากเซลล์สมองตาย (Vascular Dementia)    และได้รับการผ่าตัดต่อท่อระบายน้ำไขสันหลังลงช่องท้อง เมื่อวันที่ ๒๙ มีนาคม ๒๕๖๒ (https://www.gotoknow.org/posts/661461) 

หลังผ่าตัดสามวัน สาวน้อยก็กลับบ้านในวันที่ ๑ เมษายน    โดยที่พูดคล่องขึ้นมาก  และการเดินก็ดีขึ้น    การเดินยิ่งดีขึ้นมากในช่วงพักฟื้นที่บ้าน    แต่เธอบ่นปวดศีรษะตั้งแต่วันแรกหลังผ่าตัด    และบ่นทุกวันในสัปดาห์แรกหลังผ่าตัด แล้วอาการปวดศีรษะก็หายไป   โดยหมอนัดไปติดตามผลการผ่าตัดวันที่ ๑๗ เมษายน

วันที่ ๑๕ เมษายน อ. องุ่น (รศ. ดร. ดวงรัตน์ อินทร อาจารย์คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล) ก็ส่งอีเมล์มาสวัสดีปีใหม่    และส่งลิ้งค์ () เล่าเรื่องความเจ็บป่วยของแม่ ที่เป็นโรค Alzheimer ตามด้วย NPH คล้ายๆ สาวน้อย    แต่อาการรุนแรงกว่ามาก    ผมจึงนำมาลิ้งค์ไว้ด้วย เผื่อจะเป็นประโยชน์แก่ผู้ที่ต้องดูแลคนเป็นโรคสมองเสื่อม  

ในช่วงราวๆ ๑ สัปดาห์ที่ผ่านมา สาวน้อยอาการดีขึ้นมาก    ส่วนหนึ่งของสมองดีขึ้นคือเธอจับแพะชนแกะในเรื่องเก่าๆ เอามาเล่นงานผม    เล่นงานเสร็จก็ลืม    ลูกสาวบอกว่าตอนสมองไม่ดี คิดหวงพ่อไม่เป็น    พอสมองดีขึ้นอาการหวงสามีที่มีมาตั้งแต่สาวๆ ก็หวนกลับมา แต่ตอนสาวๆ สมองด้านยับยั้งดีกว่านี้    จึงไม่อาละวาด แต่ระวังระไว    ตอนนี้สมองไม่ดีเท่าเก่า จึงใช้วิธีอาละวาด    

   ในช่วงเดือนเมษายนทั้งเดือน จนสัปดาห์ที่สองของเดือนพฤษภาคม ๒๕๖๒ สาวน้อยเดินดีขึ้นทีละน้อยๆ จนเวลานี้เดินออกกำลังรอบสระน้ำได้โดยไม่บ่นว่าเหนื่อย    การพูดก็คล่องขึ้น    อาการกลั้นฉี่ไม่ได้ลดลง    ที่ผมลืมเล่าคือเธอมีอาการหูตึงด้วย เป็นอีกโรคหนึ่งแยกต่างหาก    เข้าใจว่าเกิดจากฤทธิ์ข้างเคียงของยา Streptomycin ที่ฉีดรักษาวัณโรคปอด ตอนเรียนแพทย์ปี ๑  ที่ฉีดทุกวัน นาน ๓ เดือน    ผมรู้สึกว่า อาการหูตึงแรงขึ้น  

วิธีรักษาโรคสมองเสื่อมอย่างหนึ่งคือออกไปเที่ยวนอกบ้าน    วันที่ ๔ - ๕ พฤษภาคม ผมมีประชุม retreat ของ วสศ. ที่สวนสามพราน   ชวนเธอไปด้วย เธอชอบมาก    ได้พบคนคุ้นเคยในอดีต ๑๐ - ๒๐ ปีก่อน    เธอจำไม่ได้  

อาการโรค NPH ดีขึ้น    แต่อาการของโรค Vascular Dementia ยังอยู่    ดังนั้น ความหลงลืม ความไม่เป็นระเบียบ การคุ้ยหาของ และอารมณ์ขึ้นๆ ลงๆ ยังคงอยู่       

 วิจารณ์ พานิช

๑๓ เม.ย. ๖๒  เพิ่มเติม ๘ พ.ค. ๖๒


หมายเลขบันทึก: 661784เขียนเมื่อ 23 พฤษภาคม 2019 18:35 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 พฤษภาคม 2019 18:35 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

การคุ้ยหาของเป็นเรื่องที่พบเห็นได้ค่ะ เพราะเห็นหลายคนเป็น

ต้องทำนวัตกรรมกระเป๋าใส่ของผู้สูงอายุผู้หญิงใหม่อาจรวยได้นะคะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท