ชีวิตที่พอเพียง 3423. ป่วยโรคสมองเสื่อม และน้ำคั่งในสมอง หลังการผ่าตัดทำท่อระบายน้ำหล่อสมอง



          การผ่าตัดทำเมื่อวันที่ ๒๙ มีนาคม ๒๕๖๒ เวลาราวๆ ๙ น. คือผ่าตัดเป็นรายแรกของวันนั้น ของ ผศ. นพ. ศรัณย์  นันทอารี   ตกบ่ายเธอคุยจ้อ ในแบบจับแพะชนแกะ หลงๆ เลอะๆ    แต่พูดคล่อง   

คืนวันที่ ๒๙ หลังผ่าตัด ต้องนอนเฝ้า   

ตกเย็นเอาน้ำเกลือออก    ต้องเล่าว่า การเดินดีขึ้นนิดหน่อย คล้ายหลัง tap test    กลางคืนราวๆ ตีสาม ต้องสะดุ้งตื่นเพราะเสียงพยาบาล “จะไปไหน”    สาวน้อยลงจากเตียงเอง ว่าจะไปเข้าห้องน้ำ ปวดอึ    ตอนเช้าพยายามเบ่งอึ พยาบาลบอกว่าอย่าเบ่ง เดี๋ยวแผลแยก    เธอบ่นปวดข้างในท้อง    เมื่อคืนความดันขึ้นไป ๑๖๐ หมอสั่งยาลดความดัน    พยาบาลมาวัดความดันทุกชั่วโมง     จึงได้นอนน้อย


เสาร์ที่ ๓๐ มีนาคม ๒๕๖๒

บ่ายวันที่ ๓๐ ผมไปถึงห้องพักเวลาเลยบ่ายโมงครึ่ง     พบว่าสาวน้อยลงมานั่งกินผลไม้ที่ลูกชาย (ตั้ม) ปอกให้    หน้าตาแจ่มใส    และบอกว่าไม่ค่อยเจ็บแล้ว    ผมนัด อ. หมอวราลักษณ์  และ อ. หมออรุโณทัย มาคุยปรึกษางาน    คุยกันจนเกือบบ่ายสี่โมง    ก็มานั่งเป็นเพื่อนกับสาวน้อยในห้อง    ผมขอให้เธอเดินให้ดู    การลุกนั่งเดินคล่องขึ้นชัดเจน    ส่วนการพูดนั้นดีขึ้นตั้งแต่เมื่อวาน   

เวลาราวๆ ๑๔.๓๐ น. คุณหมอสุวิทย์ วิบุลผลประเสริฐ มาเยี่ยม    สาวน้อยจำได้ คุณหมอสุวิทย์ให้กำลังใจว่า เดือนพฤษภาคม ไปเที่ยวสวิสได้แล้ว      

คืนนี้ต้องนอนเฝ้า


อาทิตย์ที่ ๓๑ มีนาคม ๒๕๖๒

ผมนั่งแท็กซี่ไปถึงโรงพยาบาล ๑๐.๑๕ น.  คุณแอนน์กับคุณรามจิตติ กำลังมาเยี่ยม พร้อมของเยี่ยมเป็นมะม่วงสุกน่ากิน    เมื่อถามว่า จำชื่อได้ไหม สาวน้อยตอบว่องไว “คุณแอนน์”    ก่อนหน้านั้น รศ. พญ. อรทัย ตันติศิรินทร์  และภาควิชาวิสัญญีวิทยา รามา มาเยี่ยม   

แต่เมื่ออยู่กับผมสองคน เธอเอ่ยขึ้นว่า     คิดผิดที่มาผ่าตัด  เพราะทำให้ต้องเดิน    แต่เดี๋ยวเดียวเธอก็ลืม

อีกไม่นาน เธอพูดว่า  “ถ้าเดินได้ดี ก็ไปเที่ยวสวิส”

เธอเดินไปเข้าห้องน้ำได้เอง    

จันทร์ที่ ๑ เมษายน ๒๕๖๒

ผมนั่งรถออกจากบ้านเวลา ๙.๐๐ น. เพื่อไปเยี่ยม    ระหว่างทางโทรศัพท์ไปหาต้อง    ได้ทราบข่าวว่า หมอที่เป็นแพทย์ประจำบ้านมาตรวจอาการเมื่อเย็นวานและถามว่าอยากกลับบ้านหรือยัง    เธอตอบว่าอยากอย่างที่สุด    หมอก็เลยให้กลับได้วันนี้    และน่าจะพร้อมกลับราวๆ ๑๐.๓๐ น.  

ผู้ช่วยพยาบาลมาถามว่าจะรอรูดบัตรเครดิตจ่ายเงินค่าบริการส่วนเกินที่ห้อง หรือลงไปจ่ายที่ข้างล่าง     เราขอรูดที่ห้อง    สักครูเจ้าหน้าที่ก็มา     มีรายการค่าใช้จ่ายละเอียดยิบ  รวมค่าบริการ ๑๑๔,๙๖๖ บาท  เบิกตามสิทธิ์ข้าราชการบำนาญได้ ๘๗,๖๘๗ บาท    ต้องจ่ายเอง ๒๗,๒๗๙ บาท    ได้สิทธิ์ลดในฐานะที่ผมเป็นสมาชิกสมาคมศิษย์เก่า ๔,๘๐๐ บาท    เหลือต้องจ่ายเงินโดยรูดบัตร ๒๒,๔๗๙ บาท    ขอบคุณราชการที่ ให้ความคุ้มครองสุขภาพของข้าราชการบำนาญ    และขอบคุณโรงพยาบาลศิริราชที่ลดหย่อนค่าบริการให้แก่ศิษย์เก่า     ขอบคุณ ผศ. ดร. นพ. ศรัณย์ นันทอารี และทีมงาน ที่ผ่าตัดให้    และขอบคุณทีมพยาบาลและเจ้าหน้าที่ของหอผู้ป่วย ชั้น ๗ ฝั่งตะวันตก  อาคาร ๘๔ ปี

ค่าใช้จ่ายส่วนที่แพงที่สุดคือค่าอุปกรณ์ในการทำท่อระบายน้ำหล่อไขสันหลัง ๖๔,๔๔๐ บาท   เบิกได้ ๔๗,๕๐๐ บาท    ต้องจ่ายเอง ๑๖,๙๔๐ บาท    ส่วนที่เกินเบิกได้คือราคาที่ต่างกันระหว่าง shunt ชนิดควบคุมอัตราการไหลไม่ได้   กับ ชนิดควบคุมอัตราการไหลได้     คือกรมบัญชีกลางให้เบิกได้เฉพาะ shunt ธรรมดา  ที่ไม่มี regulator   

ผู้ช่วยพยาบาลมาบอกตั้งแต่วันเสาร์ ว่าเจ้าหน้าที่ของบริษัทจะมาเก็บค่า shunt ราวๆ สี่หมื่นบาท     แต่จนเราจะออกจากโรงพยาบาลก็ไม่เห็นมา     แต่เขาได้เบอร์โทรของต้อง และต้องก็ได้เบอร์โทรของเขา    เกิดข้อสงสัยว่า ทางราชการจ่ายค่า shunt ไปแล้ว    และเราก็จ่ายส่วนเกินแล้ว    ยังต้องจ่ายตรงที่บริษัทอีกหรือ    ผมตัดสินใจโทรไปถาม อ. หมอศรัณย์    ท่านไม่รู้เรื่องค่า shunt แต่รู้ว่าใช้ shunt ไปกว่า ๑ ชุด    คือใช้สายต่อเพิ่มอีก ๑ เส้น    ท่านช่วยถามเจ้าหน้าที่ให้ และทราบว่า จ่ายเพียงค่าสาย ๑ เส้น ๘,๐๒๕ บาท

ก่อนเที่ยงเล็กน้อย ภรรยาคนใหม่ของผมก็กลับมาถึงบ้าน

วิจารณ์ พานิช

๑ เม.ย. ๖๒


1 สองวันหลังผ่าตัด

2 เตรียมกลับบ้าน

3 สามวันหลังผ่าตัด เตรียมกลับบ้าน

หมายเลขบันทึก: 661461เขียนเมื่อ 1 พฤษภาคม 2019 15:56 น. ()แก้ไขเมื่อ 1 พฤษภาคม 2019 15:56 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (4)

ยินดีกับภรรยาคนใหม่ของอาจารย์นะคะ สดใสค่ะ

ขอบพระคุณอาจารย์ที่บันทึกเรื่องราวที่น่ารัก อบอุ่นนี้นะคะ ขอให้ผลบุญในการส่งผ่านความรู้ความคิดให้ผู้คนอยู่เสมอของอาจารย์ ได้โปรดดลบันดาลให้สาวน้อยของอ.แข็งแรงขึ้นทั้งร่างกายและสมองนะคะ จะได้เป็นกำลังใจให้อาจารย์มีเรื่องมาเล่าให้พวกเราได้มีความสุขไปด้วยค่ะ

อ่านแล้วรู้สึก ทึ่งมาก จากที่คิดว่าตนเองจะรู้สึกรันทดหดหู่ แต่กลับรู้สึกถึงสุขที่ได้จากการเรียนรู้ ผมเรียนรู้ว่า เมื่อมีความเจ็บป่วยเกิดขึ้น ต้องรับมือไปตามกระบวนการรักษาที่มีอยู่อย่างดีแล้ว การอยู่ดูแลและสังเกตทุก ๆ อย่าง ข้าง ๆ คนที่เรารักเป็นเรื่องสำคัญที่สุด

พอดีคุณแม่เป็นโรคนี้ค่ะ ได้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์มาก ขอบคุณอาจารย์ค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท