ชีวิตที่พอเพียง 3546. อยู่กับผู้ป่วยโรคสมองเสื่อม (๖) เผชิญอาการหลงลืม และอาการหลงผิด



ผมเล่าเรื่องชีวิตยามสมองเสื่อมของสาวน้อยเป็นระยะๆ () () (๓)  (๔)  (๕)  เพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้ประสบการณ์กับท่านผู้อื่นที่ต้องเผชิญสภาพคล้ายๆ กัน ที่นับวันจะมีจำนวนมากขึ้น      

คราวนี้ขอเล่าประสบการณ์ของตนเอง ในการดูแลสาวน้อย ที่ทั้งอาการหลงลืมและอาการหลงผิดทวีความรุนแรงขึ้น

การหลงลืมมาเป็นช่วงๆ    บางวันสาวน้อยเพิ่งกินอาหารเช้าไปเมื่อ ๑๐ นาทีที่แล้ว    เธอถามว่ากินข้าวหรือยัง     หรือกินยาไปเมื่อ ๑๕ นาทีที่แล้ว แต่บอกว่ายังไม่ได้กินยา    

วิธีการที่ผมใช้ฝึกสมองของสาวน้อยคือ ถามว่าวันนี้วันอะไร    เธอตอบได้ราวๆ ครึ่งหนึ่ง    อีกครึ่งหนึ่งตอบผิด    อีกคำถามหนึ่งคือ วันนี้วันที่เท่าไร    ก็เช่นเดียวกัน ตอบได้ถูกต้องราวๆ ครึ่งหนึ่ง    

เพื่อให้สมองตระหนักรู้เรื่อง กาละ    ผมแนะให้เธอดูปฏิทินที่ ไอแพ็ด    และหมั่นพลิกปฏิทิน (ที่คุณหมอวิโรจน์ทำให้) ทุกเช้า     และขีดปฏิทินแขวนที่มีวันที่เป็นรายเดือน     แต่เธอทำได้ไม่สม่ำเสมอ       

   อาการที่บอกความเสื่อมของสมองที่ผมสังเกตว่า เป็นอาการเริ่มแรกคือความสามารถในการจัดระบบ (organize) เสื่อมลงไป     ที่แสดงออกในลักษณะเก็บของไม่เป็นที่    ตัวอย่างเช่น กระเป๋าเงิน    ไม่มีการจัดระบบว่า แบ๊งค์ ๑๐๐๐ ไว้ที่หนึ่ง    แบ๊ง ๑๐๐ ไว้อีกที่ ฯลฯ ให้หาง่าย หยิบง่าย    อีกตัวอย่างหนึ่งคือของในกระเป๋าถือ    เธอเสียเวลาหาของในกระเป๋าถืออยู่เสมอ เกิดขึ้นมานานเป็นสิบปี    เธอมีแหวนเพชรแถว ๔ เม็ดอยู่วงหนึ่ง ไม่รู้ว่าเอาไปเก็บไว้ที่ไหน หาไม่พบมาเกือบสิบปี     อีกตัวอย่างหนึ่งคือตู้เสื้อผ้า    ไม่มีการแยกที่เก็บตามประเภทของเสื้อผ้า และตามลักษณะการใช้   

ผมนั่งเขียน (พิมพ์) บันทึกตอนนี้ที่สนามหน้าบ้าน สายวันที่ ๔ กันยายน ๒๕๖๒   เธอเดินถือจานใส่กล้วยอบ (กล้วยน้ำว้าห่าม อบในหม้ออบไฟฟ้า) มาให้ผม    แสดงว่าเธอยังรู้ว่ากล้วยน้ำว้าห่ามแค่ไหน อบกินอร่อย  และปอกกล้วยเอง อบเองได้    

อาการหลงผิดที่เธอเป็นเรียกว่า หลงผิดประเภทหึงหวง (delusional jealousy)    แก้ยากกว่าที่ผมคิด    และมาเป็นช่วงๆ เดี๋ยวดีเดี๋ยวร้าย    คาดเดาไม่ได้    เดิมผมคิดว่า หาหลักฐานให้เธอรู้ว่าเข้าใจผิด    เป็นหลักฐานเชิงประจักษ์ชัดแจ้งน่าจะช่วยได้    เธอกล่าวหาว่าผมเตรียมพากิ๊กไปลอนดอน    ลูกสาวกับผมช่วยกันทำให้เธอเห็นหลักฐานว่าผมไม่ได้ทำอย่างที่เธอเข้าใจ โดยพาเธอไปลอนดอนด้วย    ต้องไปทำวีซ่าแบบฉุกละหุก  และจองตั๋วเครื่องบินแบบค่อนข้างกะทันหัน ทำให้แพง    รวมแล้วค่าใช้จ่ายน่าจะราวๆ ๒ แสนบาท เพราะลูกสาวต้องไปดูแลด้วย (ระหว่างวันที่ ๒๑ - ๒๖ กันยายน ๒๕๖๒)     แต่วันที่ ๔ กันยายน ผมก็เริ่มได้สติว่า มาตรการดังกล่าวใช้ไม่ได้ผล    วิธีคิดของผมใช้ไม่ได้กับความหลงผิดของคนสมองเสื่อม    แต่ก็ได้ผลในแง่ของการทำให้เธอมีความสุขที่ได้ไปเที่ยว

ตามปกติเธอเป็นคนประหยัด (ขี้เหนียว) ตอนนี้ผมบอกเธอว่าไปลอนดอนคราวนี้ ค่าทำวีซ่าคนละ ๕๐๐ เหรียญ เธอก็เฉยๆ    บอกว่าค่าใช้จ่ายทั้งหมดราวๆ สองแสน เธอก็เฉยๆ        

บางช่วงเธอก็บอกว่า เชื่อแล้ว ว่าไม่มีกิ๊ก    แต่ต่อมาอีกไม่กี่นาที เธอบอกว่า ยกผมให้กิ๊กก็ได้    ผมเริ่มเรียนรู้ว่า คำพูดนั้นมีผลอยู่แค่นาทีเดียว หรืออาจจะไม่ถึงหนึ่งนาที    และเริ่มเข้าใจว่า ไม่มีวิธีลบความหลงผิดให้หายไปจากสมองเธอได้     ต้องใช้วิธีประคับประคอง   

อาการสมองเสื่อมอีกอย่างหนึ่งคือ เปลี่ยนใจกลับไปกลับมา เอาแน่ไม่ได้    อย่างวันนี้ (๔ กันยายน) ผมจะออกจากบ้านเวลา ๑๑.๔๕ น. ไปประชุมที่ศิริราช   และชวนเธอไปด้วย    เมื่อวานเธอบอกว่าไม่ไป    ตื่นเช้าขึ้นมาบอกว่าขอไปด้วย    เข้าใจว่าตอนนอนหลับสมองเธอคงจะเตือนเรื่องผมมีกิ๊ก    เรื่องตัวตนของกิ๊กนี้ ก็เปลี่ยนไปเรื่อยๆ แล้วแต่ในช่วงก่อนหน้านั้นเธอไปเห็นว่าผมทำงานกับผู้หญิงคนไหนบ้าง      

 วิจารณ์ พานิช

๕ ก.ย. ๖๒

 

หมายเลขบันทึก: 671166เขียนเมื่อ 17 ตุลาคม 2019 20:11 น. ()แก้ไขเมื่อ 17 ตุลาคม 2019 20:11 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

การกินยาตามแผนการรักษาของแพทย์ จะช่วยให้ความหลงผิดลดลงไหมคะอาจารย์

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท