ชีวิตที่พอเพียง 3510. อยู่กับผู้ป่วยโรคสมองเสื่อม (๕)


ผมเล่าเรื่องชีวิตยามสมองเสื่อมของสาวน้อยเป็นระยะๆ () () (๓)  (๔)   เพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้ประสบการณ์กับท่านผู้อื่นที่ต้องเผชิญสภาพคล้ายๆ กัน ที่นับวันจะมีมากขึ้น      

หลังจากผ่าตัดระบายน้ำไขสันหลัง อาการของ NPH ก็ทุเลาลงอย่างชัดเจน    แต่อาการของโรค vascular dementia  และหูตึงยังคงอยู่    อาจจะหูตึงเพิ่มขึ้นด้วยซ้ำ   

ส่วนที่ดีขึ้นมากคืออารมณ์  แทบไม่เหลืออาการซึมเศร้าเลย    แต่มีอาการกลั้นปัสสาวะไม่อยู่ ต้องสวม แพมเพิร์ส    มีการปัสสาวะราดใส่เสื้อผ้าเป็นครั้งคราวและลืมบอก    วันที่ ๑๔ มิถุนายน ๒๕๖๒ สาวน้อยกับผมกลับจากสวนสามพราน ผมเข้าไปในห้องนอนถึงกับสะอึก   เพราะกลิ่นปัสสาวะฉุนมาก   ตรวจที่ที่นอนก็ไม่พบร่องรอย   ต้องไปตามแป๋มมาสำรวจจึงพบว่าปัสสาวะนองที่พื้นข้างเตียง    ดีที่เธอไม่ปัสสาวะรดที่นอนเลย  

แต่ก็มีอยู่วันหนึ่งปัสสาวะรดเบาะของโซฟา ต้องเอาไปซักและตาก 

วันที่ ๕ มิถุนายน ๒๕๖๒ เราไปโรงพยาบาลเพื่อพบ ผศ. ดร. นพ. ศรัณย์ นันทอารีตามนัดเวลา ๑๐.๐๖ น.    เราไปถึงทางรถขี้น โอพีดี ๙.๑๕ น. และเดินเอง ไม่นั่งรถเข็น    ขึ้นบันไดเลื่อน ๒ ชั้นไปที่โอพีดีศัลยศาสตร์ และเดินเข้าไปนั่งที่หน้าห้อง ๒๐ ด้วยความชำนาญ    หนึ่งนาทีต่อมามิ้วก็มาถึงและบอกข่าวร้าย ว่าวันนี้ อ. หมอศรัณย์ติดคุมสอบ ไม่ออกโอพีดี ขอเลื่อนนัด    ทันใดนั้นพยาบาลก็มาถามว่า ให้แพทย์ประจำบ้านตรวจแทนเอาไหม    ผมบอกว่าเอา เพราะเราต้องการรู้ผล CT ที่ทำเมื่อวันที่ ๒๘ พฤษภาคม (๓)     

รอจนเวลาราวๆ ๑๑ น. เราจึงได้พบหมอ เป็นแพทย์ประจำบ้านปี ๒ ผู้ชาย    อัธยาศัยดีมาก   เปิดรูป MRI เมื่อวันที่ ๑ กุมภาพันธ์ เทียบกับรูป CT เมื่อวันที่ ๒๘ พฤษภาคม ให้ดูและอธิบาย    ยิ่งผมแนะนำตัวว่าเราทั้งสองคนเป็นหมอและเคยเป็นอาจารย์ที่ศิริราชเมื่อนานมากแล้ว    ยิ่งอธิบายรายละเอียดดีมาก    ผมได้เรียนรู้ว่าการฝึกเป็นแพทย์เฉพาะทางประสาทศัลยศาสตร์ใช้เวลา ๕ ปี    คุณหมอหนุ่มท่านนี้เมื่อฝึกอบรมจบจะไปทำงานที่ รพ. ศูนย์ราชบุรี   

สรุปว่า เวลานี้โพรงน้ำในสมอง (ventricles) ที่เคยถ่างกว้างออกไปกดเนื้อสมองนั้น ได้หดเล็กลง และเนื้อสมองที่เคยโดนเบียดก็ฟื้นตัว    สอดคล้องกับอาการที่ดีขึ้นมาก   

สิ่งที่หมอต้องการตรวจติดตามผลคือ ดูว่าการตั้งค่าอัตราการไหลของน้ำหล่อสมอง (ไปลงช่องท้อง) ยังตรงตามที่ตั้งไว้ไหม   และเครื่องกำหนดอัตราไหลมันเคลื่อนไปจากที่เดิมหรือไม่    โดยมีเครื่องมือตรวจจากภายนอก (ดูรูป)    ตรวจยากเอาการ    จนในที่สุดเครื่องถ่านไฟอ่อนต้องเอาไปเปลี่ยนถ่าน   จึงตรวจหาเครื่องที่ฝังอยู่ในหน้าท้องด้านซ้ายพบ    และหมอใช้ตัวขันลองขันดูว่าเครื่องกำหนดอัตราไหลมันทำงานได้ดีหรือไม่    พบว่าเครื่องทำงานดี    ผมบอกว่า อ. หมอศรัณย์บอกว่าได้ตั้งอัตราไหลปานกลาง    แพทย์ประจำบ้านบอกว่าได้ตั้งให้ที่ ๑.๕ ตามเดิม   เป็นอันเสร็จ    และนัดมาติดตามผลอีก ๓ เดือน    นัดวันที่ ๒๘ สิงหาคม    

ตรวจเสร็จราวๆ ๑๑.๓๐ น. เราไปที่ชั้น ๔ เพื่อฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ ชนิด ๔ สายพันธุ์ ซึ่งมิ้วต้องเอาใบสั่งยาไปซื้อ แล้วมาให้เขาฉีด    รออยู่ราวๆ ครึ่งชั่วโมงจึงได้วัคซีนมา  ผมฉีดเลย    ส่วนสาวน้อยผมขอเอาวัคซีนไปฉีดเองที่บ้าน    เพื่องดยาละลายลิ่มเลือดก่อนฉีด    กันเลือดออกหลังฉีดวัคซีน   

คุณหมี โชเฟอร์ประจำตัว พาสาวน้อยกลับบ้านพร้อมวัคซีนไข้หวัดใหญ่ชนิด ๔ สายพันธุ์ ผมอยู่ประชุม SiCORE-M ต่อตอนบ่าย             

ขอขอบคุณทางทีม R2R ที่ช่วยติดต่อขอให้พยาบาลโอพีดีช่วยอำนวยความสะดวก    ขอบคุณมิ้วที่มาช่วยเหลือตลอด ๓ ชั่วโมง    ผมภูมิใจที่เราไปเข้าคิวเหมือนผู้ป่วยคนอื่นๆ ไม่ได้ลัดคิว     จึงได้เรียนรู้สภาพการไปโรงพยาบาลว่าหนักหนาสาหัสแค่ไหนสำหรับคนแก่ที่ป่วย  

วันที่ ๑๐ มิถุนายน ทางภาควิชาวิสัญญีวิทยา โทรศัพท์มาชวนไปกินเลี้ยงภาควิชาตอนเที่ยง    ต้องเป็นคนพาไป โดยเตรียมซื้อเป็นพะโล้ที่ตลาดปากเกร็ดไปสมทบสองตัว    เช้าวันที่ ๑๐ ไปทำผมก่อน   โดยตัดและโกรกผม    เมื่อกลับมาบ้าน ผมทักว่าได้เมียใหม่ เธอชอบใจ   

เธอฝังใจเรื่องผมโกรธอาจารย์หมอประเวศ    ไม่ทราบว่าเอาความคิดนี้มาจากไหน    เธอพร่ำบอกผมว่า “อาจารย์หมอประเวศก็เหมือนพ่อพี่วิจารณ์ อย่าโกรธอาจารย์นะ” นับสิบครั้ง    ผมจึงชวนเธอไปกราบอาจารย์หมอประเวศที่สวนสามพราน    โดยไปนอนค้างคืนวันพฤหัสที่ ๑๓ มิถุนายน  และกราบอาจารย์เช้าวันที่ ๑๔   คุณแอ็คช่วยนัดอาจารย์ไปที่ล็อบบี้ของโรงแรมสวนสามพรานเวลา ๘.๓๐ น.  ก่อนประชุมกลุ่มสามพรานเวลา ๙.๐๐ น.   เธอมีความสุขมาก    อาจารย์บอกผมว่าให้ “ดูแลอมราให้ดี”   เธอตอบว่า “เขาดีมาก”   

อาการของโรคหลงลืมที่ตอนนี้เป็นบ่อยคือนึกคำไม่ออก    ทำให้ผมสงสัยว่า การไหลของน้ำหล่อสมองน้อยไปหรือไม่    

อาการอย่างหนึ่งของโรคสมองเสื่อมคือ ความคิดและการตัดสินใจไม่เป็นเหตุเป็นผล    หรือไม่สมเหตุสมผล    ผมชวนเธอไปเที่ยวเชียงราย วันที่ ๒๑ - ๒๓ มิถุนายน ๒๕๖๒     โดยผมไปงาน retreat ของฝ่ายบริหารและสภามหาวิทยาลัยเชียงใหม่    และ นพ. วิชัย น้องชายผมและครอบครัวอยู่ที่นั่น    เธอเตรียมของฝากไปให้หมอวิชัย    ผมบอกว่าไม่ต้องห่วง ผมเตรียมเอง    แต่คำบอกนี้ไม่เข้าสมองเธอ    วันที่ ๑๙ เธอไปซื้อเงาะโรงเรียนขนานแท้ที่อร่อยมากมากิน    แล้วบอกว่าจะไปซื้อเอาไปฝากหมอวิชัย    วันที่ ๒๐ เธอไปซื้อเงาะที่ผูกเป็นพวงสวยงาม แต่ไม่ใช่เงาะโรงเรียนขนานแท้ และไม่อร่อย    ผมบอกว่าอย่าเอาไปเลย มันไม่อร่อย    ก็ไม่เป็นผล    เช้าวันที่ ๒๑ เธอเตรียมเอาเงาะทั้งพวงใส่กระเป๋าผ้า ว่าจะถือขึ้นเครื่อง    ผมบอกว่าถือไหวหรือ แค่เดินในสนามบินตัวเปล่ายังไม่รู้ว่าจะไหวหรือเปล่า     เพราะเดินไกลมาก    ให้เอาใส่กล่องแล้วเช็กอินดีกว่า    เธอก็ยอม    โดยในช่วงนั้นเธอโกรธผมมาก   ผมมียาขนานเดียวคือกอด และบอกว่าผมรักเธอและอยากให้เธอไปเที่ยวได้   ผมเล่าสภาพชีวิตร่วมกับคนสมองเสื่อมเพื่อแลกเปลี่ยนประสบการณ์ให้แก่ผู้ที่กำลังเผชิญสภาพเดียวกัน   ว่าต้องอดทน 

การเดินในสนามบินสุวรรณภูมิไม่ใช่ใกล้    ผมทดลองให้เธอเดิน ไม่นั่งรถเข็น เธอเดินได้ดีทั้งขาไปและขากลับ    เมื่อไปถึงเชียงรายและเข้าพักที่โรงแรม The Riverie ซึ่งสวยงามร่มรื่น    และห้องพักก็สบาย    เธอบอกหมอวิชัยว่า ไม่ต้องมารับไปเที่ยว    เธออยู่ที่ห้องในโรงแรมได้    เพราะสถานที่เที่ยวเคยไปหมดแล้ว     แต่เย็นวันที่ ๒๒ มิถุนายน ๒๕๖๒ หมอวิชัยก็ไปรับเราไปกินข้าวที่ร้านอร่อยในเมือง ชื่อ จ. เจริญชัย    อร่อยจริงๆ

แต่เมื่อกลับมาจากเชียงรายในวันที่ ๒๓ มิถุนายน    รุ่งขึ้นวันที่ ๒๔ ต้องสังเกตว่าแม่อยู่ในสภาพหมดแรง นอนซม     แต่เธอพอใจ ไม่บ่นว่าเหนื่อยเลย   

ช่วงต้นเดือนกรกฎาคม  วันที่ ๑ ผมไปประชุมคณะกรรมการอำนวยการคณะแพทยศาสตร์ มช.    ออกจากบ้านตีสี่ครึ่ง กลับถึงบ้านสี่โมงเย็น    และมีกำหนดไปประชุมที่อุตรดิตถ์ ๒ - ๔ กรกฎาคม    โดยนัดให้ต้องมานอนเป็นเพื่อนแม่    ในเย็นวันที่ ๑ และเช้าวันที่ ๒ เธอถามผมนับสิบครั้ง ว่าจะออกจากบ้านเวลาไหน    กลับวันไหน เวลาเท่าไร    ที่ลำบากคือเมื่อตอบบางครั้งเธอก็ไม่ได้ยิน

ผมเริ่มจับทางได้ ว่าต้องฝึกให้เธอช่วยตัวเองได้เรื่องการกินอาหาร กินยา และชีวิตประจำวัน    คล้ายๆ ฝึกเด็กที่สมองยังไม่เจริญเต็มที่ หรือฝึกสุนัขที่สมองของเขาไม่ซับซ้อน   

ผมมีข้อสังเกตว่า สิ่งที่คนสมองเสื่อมทำไม่ได้คือ การจัดสิ่งของให้เป็นระเบียบเป็นหมวดหมู่  เช่นเสื้อผ้า จานชาม    


๒๔ กรกฎาคม ๒๕๖๒    

เรานัดไปให้ รศ. นพ. ยงชัย นิละนนท์ ติดตามผลการรักษาด้านอายุรศาสตร์ด้วย    นัดได้วันที่ ๒๔ กรกฎาคม ๒๕๖๒  เวลาเที่ยงตามเคย    โดยมิ้ว (อริสา โพธิ์ชัยสาร) กับ เอิ๊ก จากหน่วย R2R ไปอำนวยความสะดวก    ไปพบ อ. หมอสิงหพันธุ์ ทองสวัสดิ์ ไปนั่งรออยู่ก่อน    สาวน้อยจำได้    ก่อนตรวจมีการวัดความดันโลหิต ขึ้นไป ๑๖๐/๑๑๔  

ผมบอก อ. หมอยงชัยว่า หลังการผ่าตัดอาการดีขึ้นมาก    แต่หลังติดตามผลกับแพทย์ด้านศัลยศาสตร์เมื่อวันที่ ๕ มิถุนายน หลังจากนั้นไม่นานผมสังเกตว่าการเดินและการพูดด้อยลงเล็กน้อย    อ. หมอยงชัยลองให้สาวน้อยเดินให้ดู เมื่อลุกขึ้นเดินไปก้าวเดียวเธอก็เซทำท่าจะล้ม    หมอต้องเข้าประคอง    แต่หลังจากนั้นก็เดินได้ดี    อ. หมอยงชัยบอกว่า ที่หลังผ่าตัดอาการดีขึ้นมาก แล้วนานไปอาการเลวลงเล็กน้อยเป็นเรื่องธรรมดาของโรค NPH    อาการจะขึ้นกับการไหลของน้ำไขสันหลังผ่านท่อที่ต่อลงช่องท้อง    สิ่งที่หมอกลัวคืออาการเลือดออกในสมองที่เรียกว่า subdural hematoma    ที่เป็นอาการแทรกซ้อนจากการต่อท่อระบายน้ำไขสันหลังดังกล่าว    

เนื่องจากความดันโลหิตสูงกว่า ๑๓๐/๙๐  หมอจึงเพิ่มยาลดความดัน Madiplot เป็นครึ่งเม็ดเช้า-เย็น    และแนะนำว่า ที่ลานหน้าอาคาร ๑๐๐ ปีมีนิทรรศการโรคน้ำคั่งในโพรงสมอง    เราจึงไปชมและได้ภาพในนิทรรศการมาฝาก (ดูรูปที่ ๕ - ๙)

เย็นวันเดียวกัน ลูกสาวคนเล็กมาจากสิงคโปร์    เครื่องลง ๑๗.๒๕ น.   พอราวๆ ทุ่ม สาวน้อยก็กระวนกระวาย กลัวลูกสาวบอกแท็กซี่มาบ้านไม่ถูก    ผมอธิบายอย่างไรก็ไม่ฟัง    ออกไปนั่งรอที่ริมถนน    ผมไปตามพบเพราะเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยบอก   เป็นอาการของ executive functions เสื่อมอย่างชัดเจน        

วันที่ ๒๘ สิงหาคม ๒๕๖๒ ผศ. ดร. นพ. ศรัณย์ นันทอารี นัดไปติดตามผล แต้วรับหน้าที่พาไป    เพราะผมติดเป็นประธานการประชุมสภาสถาบันอาศรมศิลป์    ผมเขียนรายงานให้แต้วนำไปให้หมอดังต่อไปนี้

  Progress อาการป่วยของ อ. หมออมรา พานิช

เขียนโดย นพ. วิจารณ์ พานิช (สามี)  วันที่ ๒๖ สิงหาคม ๒๕๖๒

เรียน อ. หมอ ศรัณย์ ที่นับถือยิ่ง

     ผมติดงานสำคัญที่ผมเป็นประธาน เลื่อนวันยาก  จึงให้ลูกสาว (ผศ. ทญ. มุรธา พานิช) พาแม่มารับการตรวจแทน    ขอรายงานดังนี้

  • ผ่าตัดทำ shunt แก้ปัญหา NPH   ๒๙ มีนาคม ๒๕๖๒
  • รับการตรวจติดตามผลครั้งที่ ๑  วันที่ ๑๗ เมษายน   ทำ CT สมอง ๒๘ พฤษภาคม   ตรวจติดตามผลครั้งที่ ๒ วันที่ ๕ มิถุนายน (ตรวจโดยแพทย์ประจำบ้าน)
  • รับการตรวจติดตามผลโรค vascular dementia โดย รศ. นพ. ยงชัย นิละนนท์ วันที่ ๒๔ กรกฎาคม    เพิ่มยา Madiplot เป็น ½ tab เช้า – เย็น    เพราะความดันโลหิตสูงถึง ๑๖๐/๑๑๔   ยาอย่างอื่นคงเดิม  
  • ระหว่าง ๕ มิ.ย. - ๒๖ ส.ค. ๖๒ อาการทั่วไปด้อยลง    เดินช้าลงเล็กน้อย   ที่เห็นชัดคือการพูดตะกุกตะกักมากขึ้น นึกคำไม่ออกบ่อย   ต้องสวม pampers ตลอดเวลา    นอนมากขึ้น ผล็อยหลับในตอนกลางวันทุกวัน    แต่บอกว่าตนเองนอนกลางวันไม่เป็น    มีอาการ delusion  แบบ delusional jealousy   ระแวงว่าสามีมีกิ๊ก   เริ่มตั้งแต่เดือนพฤษภาคม   และรุนแรงขึ้นในช่วง ๒ สัปดาห์ที่ผ่านมา    ได้โทรศัพท์ปรึกษา อ. หมอยงชัย  และ รศ. พญ. อรพรรณ ทองแตง (เพื่อนศิริราช ๗๓ ด้วยกันกับ อ. อมรา)    อ. หมออรพรรณแนะนำให้กินยา Tab Seroquel 25 mg  ½ tab hs   แต่ผมเลือกใช้วิธี non-medical ก่อน   โดยจะพาไปทำงานด้วยในโอกาสเหมาะสม    และปลายเดือนหน้าจะพาไปลอนดอน (ผมไปประชุม) โดยลูกสาวไปดูแล    เพื่อให้มีสติว่าที่คิดว่าผมมีกิ๊กนั้นไม่ใช่ความจริง  

ด้วยความขอบพระคุณยิ่ง

วิจารณ์ พานิช

๒๖ สิงหาคม ๒๕๖๒

แต้วกลับมาบอกว่า อ. หมอศรัณย์ บอกว่าอาการหลงผิดไม่ได้เกิดจาก NPH    ได้ปรับให้การไหลของน้ำหล่อสมองเร็วขึ้น    และนัดไปติดตามผล ๓ สัปดาห์

วิจารณ์ พานิช

๒๘ ส.ค.. ๖๒

1 ทางเข้าหอผูป่วยนอก

2 เครื่องค้นหาเครื่องกำหนดการไหลของน้ำหล่อสมอง

3 หมุนตรวจสอบอัตราการไหล

4 หมุนไปที่ ๑๐ แล้วตั้งไว้ที่ ๑๕ ในภายหลัง

5 ที่นิทรรศการโรคน้ำคั่งในโพรงสมอง

6 อาการโรค NPH

7 อาการโรค

8 ลักษณะการเดิน

9 วิธีดูแลผู้ป่วย

หมายเลขบันทึก: 667208เขียนเมื่อ 1 กันยายน 2019 15:28 น. ()แก้ไขเมื่อ 1 กันยายน 2019 17:58 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

เป็นเรื่องเล่าที่เขียนได้เห็นภาพเลยค่ะ อาจารย์สาวน้อยโชคดีที่มีอาจารย์เป็นคู่ชีวิตนะคะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท