ชีวิตที่พอเพียง 3655. อยู่กับผู้ป่วยโรคสมองเสื่อม (๑๑) บันทึกเดือนกุมภาพันธ์ ๒๕๖๓



ผมเล่าเรื่องชีวิตยามสมองเสื่อมของสาวน้อยเป็นระยะๆ () () (๓)  (๔)  (๕)  (๖)   (๗)   (๘)   (๙)   (๑๐)  เพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้ประสบการณ์กับท่านผู้อื่นที่ต้องเผชิญสภาพคล้ายๆ กัน ที่นับวันจะมีจำนวนมากขึ้น  


ช่วงเดือนกุมภาพันธ์ ๒๕๖๓ สัปดาห์แรกอารมณ์ดีต่อเนื่องมาจากเดือนที่แล้ว แต่มีอาการ “จับแพะชนแกะ”     ค่ำวันหนึ่งเธอเปิดไฟหน้าบ้าน     บอกว่าไว้รอแต้วกลับบ้าน คืนนี้แต้วจะกลับมานอนบ้าน    ผมสงสัยว่าเป็นวันพฤหัสซึ่งแต้วทำงานเสร็จก็จะไปนอนที่คอนโด    จึงโทรศัพท์ไปถามแต้ว ก็ทราบว่าจริงๆ แล้วแต้วจะไปนอนคอนโด

อีกวันหนึ่ง เธอบอกว่า ต้องไปเชียงใหม่ ไม่อยู่บ้าน    ตกเย็นต้องก็ออกมาจากบ้าน    ถามได้ความว่า บอกแม่ไว้ว่าวันรุ่งขึ้นจะไปเชียงใหม่     แต่แม่จำเป็นว่าไปตั้งแต่วันนั้น  


ตื่นตีสอง จะเตรียมตัวออกจากบ้าน

ตีสองคืนวันที่ ๗ ต่อวันที่ ๘ กุมภาพันธ์  ผมตกใจตื่น เพราะเธอลุกขึ้นมาเปิดประตูออกจากห้องนอนและปิดแอร์    ผมถามว่าจะออกไปไหน    เธอกลับถามว่า “วันนี้ตุ๋นไปไหน” (ตุ๋นคือชื่อเล่นในครอบครัวและเพื่อนสนิท)     ผมบอกว่าไม่ไปไหน ตอนนี้ยังเพิ่งตีสอง    ให้กลับมานอน    เธอหัวเราะ    แล้วกลับมานอน  


มอมยาเมีย เพื่อหลบไปหากิ๊ก

นี่คือข้อกล่าวหาผม เช้าวันอาทิตย์ที่ ๙ กุมภาพันธ์     ทั้งหมดนั้นมาจากความผิดพลาดของผมเอง     เพราะคืนวันที่ ๘ ผมเอายา Seroquel ให้เธอกินก่อนนอน    ในความเชื่อของเธอ นั่นคือยานอนหลับ    เช้าวันที่ ๙ ผมตื่น ๕ น.    นั่งทำงานจน ๖.๓๐ น. ก็ออกไปเดินออกกำลัง     จน ๗ น. เศษ เธอยังหลับอยู่ ผมจึงไปปลุก    และถูกกล่าวหา    รวมทั้งระเบิดอารมณ์ในเวลาต่อมา     อารมณ์นี้อยู่ค่อนวันก็ลืม

ปฏิเสธอย่างไรก็ไร้ประโยชน์    ทางป้องกันและแก้คือ ผมต้องปลุกเธอตั้งแต่เช้ามืดก่อนออกไปเดิน  


บางเรื่องจำ บางเรื่องลืม

คืนวันที่ ๙ กุมภาพันธ์  เธอบอกผมว่า ควรซักผ้าห่ม เพราะใช้มา ๑ ปีแล้ว    ผมบอกเธอว่า ต่อไปนี้ผมจะปลุกเธอตั้งแต่เช้า เพื่อออกไปเดินด้วยกัน จะได้มั่นใจว่าไม่ได้ออกไปหากิ๊ก   

เช้าวันที่ ๑๐ กุมภาพันธ์ ผมปลุกเธอหลังตีห้าเล็กน้อย    สักครู่เธอก็เปลี่ยนชุดเป็นเสื้อกางเกงพร้อมไปเดินโดยไม่ต้องเตือน     ผมดึงผ้าปูที่นอนและผ้าห่มเพื่อจะเอาไปซัก เธอถามว่าจะทำอะไร    ผมบอกว่าเอาไปซักตามที่เมียบอกเมื่อวาน    เธอหัวเราะ บอกว่าลืมไปแล้ว


ชอบถ่ายรูป

สายวันที่ ๑๐  เธอกำลังดูทีวี    ผมไปชวนออกไปถ่ายรูปกับดอกเฟื่องฟ้าที่ปีนี้ดอกดกสวยงามเป็นพิเศษ    เธอไปถ่ายและพูดว่า “ยังกับเพิ่งแต่งงานใหม่ๆ”    ผมเอารูปมาโชว์ด้วย      


สวมรองเท้าเองได้

เป็นเวลาปีเศษ ที่เมื่อจะออกไปเดินออกกำลังตอนเย็น  ผมต้องสวมรองเท้าผ้าใบให้     แต่ในสัปดาห์ที่สองของเดือนกุมภาพันธ์เป็นต้นมา เธอสวมรองเท้าเองได้    โดยใช้ช้อนคัดรองเท้าช่วย    เป็นการเรียนรู้ทักษะใหม่


อย่ารื้อฟื้นเรื่องเก่า

   คืนวันที่ ๑๐ กุมภาพันธ์ ผมบอกเธอว่า รุ่งขึ้นผมจะปลุกเธอออกไปเดินออกกำลังด้วยกัน    เธอรับปาก    แต่เมื่อปลุกเช้าวันที่ ๑๑ เธอขอนอนต่อ   ผมจึงออกไปเดินคนเดียว    กลับมา ๖.๓๐ น. เธอตื่นแล้ว      ผมขึ้นไปอาบน้ำแต่งตัวเตรียมออกไปทำงาน    เมื่อลงมาเวลา ๘ น. เธอแสดงท่าทีโกรธไม่พูดกับผม    หนีเข้าห้องน้ำปิดประตู    ผมต้องบอกให้ต้องป้อนยาตอนเช้าให้แม่กิน

ตกบ่าย ผมกลับบ้านเวลาบ่ายสามโมงเศษ พร้อมผลไม้ของฝาก    เธอยิ้มร่าทักทายอย่างดี    ผมบอกตัวเองว่า อย่ารื้อฟื้นเรื่องเก่า    อย่าเอาอารมณ์คนสมองเสื่อมมาเป็นอารมณ์ เพราะเดี๋ยวเดียวก็ลืม    เหมือนเด็กๆ     


สวมรองเท้าเองได้แล้ว

ตั้งแต่ต้นเดือนกุมภาพันธ์เป็นต้นมา เธอสวมรองเท้าผ้าใบสำหรับไปเดินออกกำลัง ได้เอง     และทำได้ทุกวัน    โดยที่ที่ผ่านมาผมหรือลูกๆ ต้องสวมรองเท้าให้และผูกเชือกให้     พัฒนาการนี้ คู่ไปกับการฟื้นความสามารถด้านอื่นๆ เช่น สวมและถอดเสื้อผ้าเอง    หุงข้าวได้เอง   


ควบคุมระบบขับถ่ายได้ไม่ดี

การกลั้นปัสสาวะเป็นปัญหาสำคัญอย่างหนึ่ง     เวลาออกจากบ้านจึงต้องสวมผ้าอ้อม    และตอนนี้สังเกตว่าอยู่บ้านเธอก็สวม    และเมื่อถอดตอนค่ำก่อนอาบน้ำ ผ้าอ้อมโชกปัสสาวะทุกวัน

เช้าวันที่ ๒๑ กุมภาพันธ์ เวลาประมาณ ๖.๓๐ น. หลังจากผมกลับมาจากเดินออกกำลัง เธอก็ตื่นและถือผ้ายางรองนอนพร้อมทั้งเสื้อนอนและผ้าเช็ดเท้าที่อยู่ข้างเตียง มาให้ผมซัก    บอกว่าลุกขึ้นฉี่ไม่ทัน จึงฉี่รดผ้ายางรอง เสื้อนอน และผ้าเช็ดเท้า   

 

เก็บทุกอย่าง

ในตู้เย็นเต็มไปด้วยอาหารที่กินไม่หมด หรือยังไม่ได้กิน     ไม่รู้จักการทิ้ง     ผมต้องคอยทำหน้าที่เทศบาล     เอาไปกินบ้างทิ้งบ้าง  ตามความเหมาะสม     ที่จริงเรื่องเก็บของและเก็บไม่เป็นที่    คือไม่มีระบบเก็บและจำ     เป็นมาหลายปีก่อนอาการสมองเสื่อมจะปรากฎชัดๆ        


วิจารณ์ พานิช

๖ ก.พ. ๖๓





1 วันที่ ๑๐ กุมภาพันธ์

1 วันที่ ๑๐ กุมภาพันธ์

หมายเลขบันทึก: 676177เขียนเมื่อ 19 มีนาคม 2020 18:48 น. ()แก้ไขเมื่อ 19 มีนาคม 2020 18:48 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

เป็นกำลังใจให้อาจารย์นะครับ ด้วยความเคารพครับ

อย่างน้อยยังช่วยเหลือตัวเองได้ดีขึ้น ให้กำลังใจอาจารย์นะคะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท