ชีวิตที่พอเพียง 4152. อยู่กับผู้ป่วยโรคสมองเสื่อม (๓๔) บันทึกเดือนมกราคม ๒๕๖๕ 


 

ผมเล่าเรื่องชีวิตยามสมองเสื่อมของสาวน้อยเป็นระยะๆ () ((๓)  (๔)  (๕)  (๖)   (๗)   (๘)   (๙)   (๑๐)   (๑๑)    (๑๒)   ๑๓   ๑๔   ๑๕  ๑๖  ๑๗  (๑๘)  (๑๙)  (๒๐)  (๒๑)   (๒๒)  (๒๓)   (๒๔)   (๒๕)   (๒๖)    (๒๗)    ๒๘  ๒๙   ๓๐   ๓๑   ๓๒   ๓๓   เพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้ประสบการณ์กับท่านผู้อื่นที่ต้องเผชิญสภาพคล้ายๆ กัน ที่นับวันจะมีจำนวนมากขึ้น   

บันทึกของเดือนมกราคม ๒๕๖๕ ขอเล่าเน้นที่การสร้างความรู้สึกปลอดภัย ว่าตนเองจะได้รับการดูแล ไม่ถูกทอดทิ้ง    ซึ่งเป็นความต้องการขั้นต่ำสุดของ Maslow’s hierarchy of needs    และตามที่แนะนำในหนังสือ ฮิวแมนนิจูด แนวคิดและเทคนิคใหม่ในการดูแลคนในครอบครัว 

การแสดงออกในด้านการให้ท่าทีความสัมพันธ์ใกล้ชิด    และเบี่ยงเบนความคิดแบบหลงผิดออกไป   ให้เธอนึกขึ้นได้เองว่าที่คิดไปนั้นไม่ใช่ความจริง     ช่วยได้มาก   โดยที่เราไม่ต้องอธิบายหรือยืนยันว่าเธอคิดผิด   

 

คุณวินิจ รอเดี๋ยว

คืนวันที่ ๘ มกราคม ราวๆ ห้าทุ่ม ผมตกใจตื่นเพราะได้ยินเสียงภรรยาพูด และลุกขึ้นจากเตียงนอน เดินไปทางประตู    ผมถามว่า ตุ๋นจะไปไหน    เธอบอกว่า มีคนมาเรียก    แล้วก็พูดว่า “คุณวินิจ รอเดี๋ยว”    ผมบอกเธอว่า ไม่มีคนมาเรียกหรอก    กลับมานอนเถอะ   เธอเดินกลับไปทางเตียงฟากที่เธอนอน    แล้วแหวกม่านหน้าต่าง พูดว่า “คุณวินิจ” รอเดี๋ยวนะ 

“คุณวินิจ” คือ พ.ต.อ. พิเศษ วินิจ รัญเสวะ ที่เสียชีวิตไปกว่าสิบปีแล้ว    เป็นลูกพี่ลูกน้องกับเธอ ที่เคยเลี้ยงเธอมาตั้งแต่เธอเป็นเด็ก   

ผมตีความว่าเธอเกิดอาการ “หูแว่ว” คือได้ยินเสียงที่สมองจินตนาการขึ้นเอง ที่เรียกว่า “ประสาทหลอน” (hallucination)    ในกรณีนี้เป็น auditory hallucination (หูแว่ว)   ซึ่งเกิดจากสมองจินตนาการเสียงขึ้นเอง   และสมองส่วนควบคุม (executive functions - EF) ชำรุดจากโรคสมองเสื่อมจากหลอดเลือดเล็กๆ ตัน    ทำให้เซลล์สมองตายเป็นจุดเล็กๆ กระจายทั่วสมอง (เห็นจากการตรวจ MRI สมองเมื่อหลายปีก่อน)    เมื่อ EF ชำรุด ทำให้แยกไม่ออกว่าการรับรู้ส่วนไหนมาจากภายนอก (จริง)   ส่วนไหนเกิดขึ้นเองภายในสมอง (จินตนาการ)   จึงเกิดพฤติกรรมประสาทหลอนขึ้น   

เหตุการณ์แบบนี้เธอจะจำไม่ได้เลย    และผมจะไม่เอ่ยกับเธออีก    แต่จะบอกลูกๆ ให้รับรู้ไว้ จะได้เข้าใจและระมัดระวัง   โชคดีที่ลูกสาวคนที่สอง (ต้อง) ไปเป็นล่ามเรื่องผู้สูงอายุจนรู้เรื่องแบบนี้ดี             

 

ถูกลักพาตัว

นี่เป็นอีกจินตนาการหนึ่ง    เช้าวันที่ ๑๐ มกราคม เธอมีสีหน้าบึ้งตึงกับผม   ในลักษณะที่ผมเป็นคนแปลกหน้า    โชคดีที่ต้องโผล่หน้ามาจากบ้านเขา   ผมจึงร้องบอกขอความช่วยเหลือ ว่า แม่จำพ่อไม่ได้   ลูกสาวเขาจะมีวิธีพูดให้เธอหน้าตาแช่มชื่นขึ้นทันที    และหันกลับมารู้จักใกล้ชิดกับผมดังเดิม

แต่เมื่อนั่งกินอาหารเช้าด้วยกัน    จู่ๆ เธอก็ถามว่า เธอถูกลักพาตัวมาอยู่ที่นี่นานเท่าไรแล้ว    ผมตอบว่า ไม่ใช่เธที่ถูกลักพาตัว   แต่ผมต่างหากที่ถูกตัวมาเป็นข้ารับใช้หมออมราอยู่นี่   แล้วก็จาระไนว่าเช้านี้ผมทำอะไรให้เธอบ้าง    เธอหัวเราะชอบใจ แล้วเลิกพูดเรื่องลักพาตัวอีก   แต่ความกังวลเรื่องนี้น่าจะค้างอยู่ในใจเธอ   

 

ไล่ไม่ให้นอนบนเตียง

เย็นวันที่ ๑๙ มกราคม ๒๕๖๕ เธอมีสีหน้าบึ้งตึงกับผม   และถามลูกสาวคนโตว่าผู้ชายคนนี้เป็นใคร   ลูกสาวบอกว่าพ่อ นี่คือพ่อของเขา เธอถามว่าใช่แน่หรือ 

ตกค่ำหลังอาบน้ำแต่งตัวเตรียมนอน    เธอบอกว่า ให้ลูกสาวมานอนด้วย    ลูกสาวบอกว่าเขามีห้องนอนข้างบน   แล้วหลบขึ้นห้อง    เธอเข้านอนโดยบอกให้ผมไปนอนที่อื่น    ผมนอนที่เก้าอี้นอน LazBoy จนเธอหลับดีก็ค่อยๆ ย่องไปนอนบนเตียง    รุ่งขึ้นเช้าตื่นขึ้นมาปกติดี   ไม่เอ่ยเรื่องเมื่อคืนก่อนเลย   

ลูกสาวกับแม่บ้านตั้งข้อสังเกตว่าหมู่นี้ผมนั่งฟังวิดีทัศน์การบรรยายที่ผู้บรรยายเป็นผู้หญิง เธอหึง จึงแสดงอาการดังกล่าวออกมา 

 

เดินไม่ไหว

การเดินออกกำลังตอนเย็นก่อนค่ำ เป็นวิธีชะลอความเสื่อมอย่างหนึ่ง    ในปี ๒๕๖๓ เธอเดินรอบหมู่บ้านได้ อย่างน้อยก็รอบเล็ก   ปีที่เล้วต้นปี เดินไปถึงสระน้ำ ไปนั่งเล่นครู่หนึ่ง     เดี๋ยวนี้เดินไปเพียงค่อนทางก็ชวนกลับ    บอกว่าเหนื่อยบ้าง ปวดสะโพกบ้าง    ต้องโหนแขนผมเดินกลับ   

 

จะไปเอาอะไรนะ

บ่อยครั้ง ที่เธอนั่งกินอาหารที่ระเบียงหน้าบ้าน   แล้วต้องการดื่มน้ำ ก็เดินไปในครัว (ผมไม่บริการ เพราะต้องการให้เธอได้เคลื่อนไหวร่างกาย – physical activity)    สักครู่ก็เดินกลับมา และถามผมว่า “จะไปเอาอะไรนะ”   

 

ทำตามความเคยชิน

กิจวัตรประจำวันต่างๆ   จัดให้ซ้ำๆ เหมือนๆ กันทุกวัน    เธอจะช่วยตัวเองได้มาก    วันไหนเราไปนั่งกินอาหารที่โต๊ะอาหาร    พอเธอต้องการน้ำ และไปเอาจากในครัว   ได้น้ำที่เทจากขวดในตู้เย็นใส่แก้วได้เองแล้ว  จะเดินออกไปทางหน้าบ้านด้วยความเคยชิน    หากผมไม่ออกไปตาม เธอจะไปนั่งเล่นที่หน้าบ้าน   ลืมอาหารที่กินค้างอยู่บนโต๊ะสนิท   พอผมไปตาม เธอจะหัวเราะในความหลงลืมของตนเอง        

วิจารณ์ พานิช 

๓๐ ม.ค. ๖๕ 

 

 

1 ๒ มกราคม ๒๕๖๕

2 ๓ ม.ค. ๖๕

3 ไปฉีดวัคซีนเข็มที่สามกับลูกสาว

4

 

5 ๑๔ มกราคม สามีไม่อยู่กินข้าวไม่ลง

 

6 ๑๘ ม.ค. ๖๕

หมายเลขบันทึก: 697742เขียนเมื่อ 14 กุมภาพันธ์ 2022 19:41 น. ()แก้ไขเมื่อ 14 กุมภาพันธ์ 2022 19:41 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท