ชีวิตที่พอเพียง 4110. อยู่กับผู้ป่วยโรคสมองเสื่อม (๓๒) บันทึกเดือนพฤศจิกายน ๒๕๖๔


 

ผมเล่าเรื่องชีวิตยามสมองเสื่อมของสาวน้อยเป็นระยะๆ () ((๓)  (๔)  (๕)  (๖)   (๗)   (๘)   (๙)   (๑๐)   (๑๑)    (๑๒)   ๑๓   ๑๔   ๑๕  ๑๖  ๑๗  (๑๘)  (๑๙)  (๒๐)  (๒๑)   (๒๒)  (๒๓)   (๒๔)   (๒๕)   (๒๖)    (๒๗)    ๒๘  ๒๙   ๓๐   ๓๑  เพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้ประสบการณ์กับท่านผู้อื่นที่ต้องเผชิญสภาพคล้ายๆ กัน ที่นับวันจะมีจำนวนมากขึ้น   

บันทึกของเดือนพฤศจิกายน ๒๕๖๔ ขอเขียนเชิงสรุป    ว่าอาการสมองเสื่อมของสาวน้อยค่อยๆ รุนแรงขึ้นทีละน้อย    ในลักษณะที่ขึ้นๆ ลงๆ    อาการแสดงออกที่บ่งบอกความกังวล เพราะรู้ตัวว่าช่วยตัวเองไม่ได้ แสดงออกมาชัดเจนขึ้นๆ    โดยเฉพาะคำถามสนทนาเรื่องพ่อแม่ ว่าพ่อแม่รู้ไหมว่าเธอมาแต่งงานกับผม   พ่อแม่ยังอยู่ไหม    ทำไมเธอจึงมาอยู่ที่นี่    บ้านนี้เราเช่าเขาอยู่หรือเป็นของเรา    ตุ๋นหลับไปนานเท่าไร   ฯลฯ   

แต่เมื่อผมชวนพูดคุยแบบเย้าหยอกด้วยถ้อยคำ หรือเล่นมุข   เธอรับมุขได้เก่งอย่างน่าอัศจรรย์   แสดงว่าสมองส่วนอารมณ์ยังดีอยู่   ผมจึงตั้งใจหาทางกระตุ้นสมองเธอด้วยคำพูดเย้าแหย่ ให้เธอตอบโต้    นอกเหนือจากการกระตุ้นด้วยกิจกรรมทางกาย เช่น ขนขวดน้ำ    ให้เดินไปชงกาแฟเอง   เดินไปเอาน้ำเย็นเอง    ให้สวม pampers เอง    ให้ปีนขึ้นเตียงเอง  เป็นต้น     

วันที่ ๑๗ พฤศจิกายน ผศ. ดร. สุวิณี วิวัฒน์วานิช กรุณาส่งหนังสือ ฮิวแมนนิจูด แนวคิดและเทคนิคใหม่ในการดูแลคนในครอบครัว  มาให้   เป็นหนังสือแปล จากต้นฉบับภาษาญี่ปุ่น   สำหรับใช้เป็นคู่มือดูแลผู้สูงอายุ   อ่านแล้วได้หลักการดีมาก    โดย ดร. ภัทรพร คงบุญ ได้เขียนเล่าไว้อย่างดีเยี่ยมใน เรื่องเล่า ดร. ผึ้งตอนที่ ๒๕ ซึ่งอ่านได้ที่ (ก)         

ทำให้ผมได้รับการยืนยันจากหนังสือว่า ที่ผมปล่อยให้เธอช่วยตัวเองในเรื่องที่เธอพอทำได้นั้น ตรงกับหลักการที่แนะนำในหนังสือ คือ “ไม่ช่วงชิงเอาความสามารถของผู้นั้นไป”   

หลักการข้อที่ ๔ ในหนังสือ “อย่าลังเลที่จะแสดงความรัก” ช่วยกระตุ้นให้ผมหมั่นกอดเธอบ่อยขึ้น   และใช้คำพูดแสดงความรักความเอาใจใส่บ่อยขึ้น    รวมทั้งเกิดความมั่นใจว่าเป็นสิ่งถูกต้อง ที่ทุกคืนผมส่งเธอขึ้นนอนบนเตียง ห่มผ้าให้ และแจกหอมหนึ่งฟอด โดยเธอต้องไม่ลืมที่จะร้องว่า “ชื่นใจ”    หากวันไหนเธอลืม ผมก็จะเตือนความจำให้ ให้เธอร้องอกมาจนได้     

ขอบันทึกว่า ที่ผ่านมามีบางคืนที่เธอจำผมไม่ได้   เธอจะทำหน้าตึง และไม่ยอมให้หอม   แต่ก็เกิดขึ้นนานๆ ครั้ง    เดือนพฤศจิกายนเกิดครั้งเดียว   และเป็นอาการที่ท้าทายให้ผมหาทางขจัดให้ได้โดยวิธีสร้างสัมพันธ์    หนังสือฮิวแมนนิจูด ช่วยให้กำลังใจผมเป็นอย่างดี

ฮิวแมนนิจูด แปลว่า การนำความเป็นมนุษย์กลับคืนมา    มี ๔ เทคนิคคือ (๑) สบตา  (๒) พูด (๓) สัมผัส  (๔) ท่าทางแนวตั้ง    ผมจะหมั่นทำ ๓ เทคนิคแรกให้บ่อยขึ้น    ส่วนเทคนิคที่ ๔ หวังว่าคงยังอีกนานกว่าเธอจะเข้าสู่สภาพติดเตียง   

การสบตา ช่วยให้เธอได้มองปากผมด้วย เพราะเธอหูตึง ฟังอย่างเดียวโดยไม่เห็นการขยับปากบางครั้งเธอไม่เข้าใจ    เรื่องพูดด้วยนั้น เราทำทุกเช้า เมื่อเธอออกมาจากห้องนอน   และผมนั่งทำงานอยู่ที่ระเบียงบ้าน   โดยผมตอบคำถามซ้ๆ วันละหลายครั้ง วันนี้วันอะไร   พ่อไปไหน   ฯลฯ           

 ในเวลา ๑๐ วันหลังจากอ่านหนังสือ ฮิวแมนนิจูด    และผมเปลี่ยนวิธีพูดคุยกับเธอ    ให้เป็นถ้อยคำที่แสดงความใกล้ชิด   หลีกเลี่ยงการพูดตามเธอที่พูดแสดงความห่างเหิน    พบว่าอารมณ์ของเธอดีขึ้นอย่างชัดเจน    ความมั่นใจในตนเอง  ความรู้สึกปลอดภัยดีขึ้น   

ผมเลิกเล่นบท ปู่ – หลาน   หันมาใช้ บทบาทจริง คือ ภรรยา – สามี     หากเธอถามว่า “คุณเป็นใคร”  ผมจะตอบว่าจำสามีไม่ได้หรือ    สามีของตุ๋นชื่ออะไร    เธอจะหัวเราะแล้วค่อยๆ นึก    และส่วนใหญ่จะตอบถูก    ซึ่งก็น่าจะมีผลสร้างความมั่นใจ 

ทุกเช้าเมื่อเธอตื่นและเดินออกมาที่ระเบียงบ้าน ที่ผมนั่งอ่านหนังสือหรือทำงานอยู่   ผมจะรีบลุกขึ้นไปทักทาย และกอดเธอ   พร้อมกับบอกว่าสามีพร้อมรับใช้   เธอจะหัวเราะชอบใจและกอดตอบแน่น   ผมจะถามว่า หลับดีไหม ตื่นดีหรือยัง   มีของโปรดรออยู่ในไมโครเวฟ (ข้าวเหนียวปิ้ง)    ต้มน้ำร้อนไว้ให้แล้ว จะได้ชงกาแฟกิน (จงใจไม่ชงให้)     และไข่ต้มอยู่ในตู้เย็น    บางวันผมก็เอากล้วยหอม (ของโปรด) ๑ ผลวางไว้ให้ด้วย                    

 ผลคือ คำพูดของเธอที่แสดงความกังวลลดลงไปมาก   แต่ก็ไม่ถึงกับหมดไป 

วิจารณ์ พานิช 

๓๐ พ.ย. ๖๔

 

 

 

1 ที่สกลนคร ๒๗ ต.ค. ๕๘

2 หน้าบ้าน ๓๑ ธ.ค. ๕๘

3 สหรัฐอเมริกา ๕ ต.ค. ๕๙

4 ที่หมู่บ้าน ๒๕ ก.พ. ๖๐

5 สวิส ๑๑ พ.ค. ๖๐

6 สิงคโปร์ ๑๗ ก.ย. ๖๑

7 เลี้ยงส่งเยเชไปเข้าโรงเรียนประจำ ๑๓ พ.ย. ๖๔

8 นั่งพักเหนื่อยเดินออกกำลัง ๑๔ พ.ย. ๖๔

9 เลี้ยงวันเกิดสามี ๒๗ พ.ย. ๖๔

 

หมายเลขบันทึก: 694131เขียนเมื่อ 14 ธันวาคม 2021 18:21 น. ()แก้ไขเมื่อ 14 ธันวาคม 2021 18:21 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท