ชีวิตที่พอเพียง 3999. อยู่กับผู้ป่วยโรคสมองเสื่อม (๒๗) บันทึกเดือนมิถุนายน ๒๕๖๔


 

ผมเล่าเรื่องชีวิตยามสมองเสื่อมของสาวน้อยเป็นระยะๆ () ((๓)  (๔)  (๕)  (๖)   (๗)   (๘)   (๙)   (๑๐)   (๑๑)    (๑๒)   ๑๓   ๑๔   ๑๕  ๑๖  ๑๗  (๑๘)  (๑๙)  (๒๐)  (๒๑)   (๒๒)  (๒๓)   (๒๔)   (๒๕)   (๒๖)  เพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้ประสบการณ์กับท่านผู้อื่นที่ต้องเผชิญสภาพคล้ายๆ กัน ที่นับวันจะมีจำนวนมากขึ้น   

   

๒ มิถุนายน เช้าแห่งความหลงลืม

เช้านี้เธอตื่นเช้าเป็นพิเศษ    ผมกลับจากเดินออกกำลังเวลาประมาณ ๖.๑๕ น. พบว่าเธอเปิดประตูบ้านออกมานั่งที่ระเบียงแล้ว   ผมบอกเธอว่าขอกาแฟ    โดยที่ก่อนออกไปเดินผมได้เติมน้ำในกระติกต้มน้ำและเปิดไฟต้มน้ำไว้แล้ว

สักครู่เธอก็เดินถือแก้วใส่น้ำเย็นออกมา ๑ แก้ว ยื่นให้ผม     ผมบอกว่า นี่น้ำเย็น ไม่ใช่กาแฟ   เธอหัวเราะและกลับเข้าครัวเพื่อไปชงกาแฟ   สักพักใหญ่ก็ร้องเรียกผมให้ไปช่วยรับกาแฟกับไข่ต้ม    แต่ปรากฎว่ามีกาแฟแก้วเดียว    ผมรับเอาไปวางที่ระเบียงและบอกเธอว่ามีแก้วเดียว    ขอให้ชงให้ผมด้วย    เธอหัวเราะตนเองอีก    และกลับเข้าครัวใหม่     หายไปนาน ในที่สุดก็ร้องเรียกผมให้ไปรับกาแฟ (เธอถือไม่ถนัดกลัวทำแก้วตกแตก)   คราวนี้ชงอีก ๒ แก้ว    ผมไม่ว่าอะไร รับมาและเอาไปวางให้เธออีกแก้วหนึ่ง     ของผมแก้วหนึ่ง     เมื่อเธอเห็นของตนเองมีกาแฟ ๒ แก้ว ก็บอกให้ผมเอาไปหนึ่งแก้ว    ผมบอกว่าผมมีแล้วเพราะครั้งก่อนชงมาแล้ว ๑ แก้ว เธอก็หัวเราะตัวเองอีก 

ก่อนออกไปเดิน ผมเอาข้าวเหนียวปิ้ง ๑ ห่อ อุ่นไว้ใน ไมโครเวฟ   เมื่อเธอชงกาแฟ ๓ แก้วแล้ว ผมก็บอกให้เธอไปหยิบข้าวเหนียวปิ้งในไมโครเวฟมากิน    ซึ่งก็เป็นกิจวัตรที่ผมบอกเธอทุกวัน    แต่วันนี้เธอทำท่างงๆ คล้ายไม่เข้าใจว่าให้ทำอะไร   ต้องบอกและอธิบาย ๓ หนจึงเข้าใจและไปหยิบมากินเอง

ท่านผู้อ่านจะสังเกตว่า ผมจะไม่บริการเธอทั้งหมด   แม้ว่าหากผมทำให้ก็จะเสร็จภายในหนึ่งถึงสองนาที     แต่ผมจะหาทางให้เธอทำเอง     เพื่อให้ได้เคลื่อนไหวร่างกาย (physical activity)  ซึ่งจะช่วยกระตุ้นสมอง     โดยที่เธอทำเองจะช้ามาก    ผู้ดูแลคนสมองเสื่อมก็ต้องไม่รำคาญ    และไม่รีบทำให้เพื่อให้กิจกรรมเสร็จโดยเร็ว    

เช้าวันนี้คุยหรือพูดอะไร เธอก็จะทำท่างงๆ   มีการตั้งคำถามแปลกๆ    บ่นเรื่องผมดุลูกสาวคนโต และว่าลูกสาวกลัวผมลนลาน    เพราะผมดุ ซึ่งเธอจะพูดซ้ำๆ วันละหลายๆ ครั้ง   ในทำนองเห็นใจลูกสาว    ซึ่งเป็นเรื่องที่เธอคิดเอาเอง               

   

๕ มิถุนายน  อ่านสัญญาณผิด

เมื่อผมกลับมาจากเดินออกกำลัง เวลาราวๆ ๖.๑๕ น.  พบว่าเธอตื่น ถอดเสื้อแขนยาวกันหนาวเวลานอน  และออกมานั่งที่ระเบียงบ้านแล้ว    เป็นสัญญาณว่าวันนี้อาการทางสมองน่าจะดี   ผมทักทายว่าหลับดีไหม ได้รับคำตอบว่าดี

แต่เมื่อเข้าไปในห้องนอนก็พบว่าไม่มีการทำเตียงให้เรียบร้อยอย่างทุกๆ วัน     และโถฉี่ยังไม่ได้เท    เข้าไปดูใกล้ๆ พบว่านอกจาฉี่ยังมีอึกองโต   ผมจัดการเอาไปเทและล้างโถโดยไม่พูดอะไร   และคาดว่าน่าจะเป็นวันแห่งความสับสน

แต่ผมคาดผิด วันนี้เธอทำหน้าที่ชงกาแฟ และหน้าที่ประจำวันได้ตามปกติ     อารมณ์ก็มั่นคงดี   

 

ไอตอนกลางคืน

คืนวันที่ ๘ มิถุนายน เธอเข้านอนเวลาราวๆ สองทุ่มครึ่ง   หลังจากผมสวมเสื้อกันหนาวแขนยาวให้    และห่มผ้าพร้อมหอมหนึ่งฟอด และเธอร้องออกมาว่า “ชื่นใจ”   แล้วผมก็เข้าห้องทำงานที่อยู่ติดห้องนอน   สามทุ่มเศษๆ เธอไอสามสี่ครั้ง    ผมรีบลุกไปหยิบยาอมสมุนไพร รสมะขามป้อม ของอ้วยอันโอสถ    ที่มีไว้เพื่อการนี้โดยเฉพาะ    เพราะเธอจะมีอาการไอกลางคืนแบบนี้เดือนละ ๑ - ๒ ครั้ง    เมื่อเอายาอมแก้ไอใส่ปาดหนึ่งเม็ด อาการหายเป็นปลิดทิ้ง    ผมเข้าใจว่า ได้ทั้งผลแก้คันคอ และผลทางจิตใจ   นำมาเล่าไว้เผื่อใครต้องดูแลผู้สูงอายุที่คันคอและไอ    ยาแก้ไอ ๑ หลอด (๒๐ บาท) เก็บไว้ใช้ได้เกือบปี   

อาการไอนี้เป็นมากตอนบ่ายวันเสาร์ที่ ๒๖ มิถุนายน เมื่อเอายาอมให้ก็ทุเลาลง   ตกกลางคืนไม่ไอ    แต่บางคืนก็ไอ เมื่อให้ยาอม ๑ เม็ดก็หายไอและนอนหลับดี   

 

เรามีลูกกี่คน

สายวันอาทิตย์ที่ ๑๓ มิถุนายน ผมนอนอ่านหนังสือในห้องนอน   สาวน้อยเดินเข้ามาถามว่า “เรามีลูกกี่คน” ผมตอบว่า ๕ คน   “ใครบ้าง”    ผมบอกให้เธอบอก   เธอค่อยๆ บอกจนครบ ๔ คน    ผมบอกต่อว่า คนที่ ๕ ชื่อตุ๋น (ชื่อเล่นของเธอ)    เธอตอบว่า อย่าพูดเล่น  เรามีลูก ๕ คนจริงๆ    คนสุดท้องเป็นครู    วันก่อนยังมาที่หน้าบ้าน แต่ไม่เข้ามาในบ้าน กลัวพ่อดุ 

บ่ายวันจันทร์ ที่ ๑๔ เธอเรียกแป๋ม แม่บ้านของลูกสาวมาคุย ถามว่าเธอมีลูก ๕ คนใช่ไหม    เมื่อคืนลูกคนที่ห้ามาเรียกขอข้าวกิน    แป๋มบอกว่ามีแค่ ๔ คนก็ไม่เชื่อ    สั่นกระดิ่งจะเรียกต้องมาถาม    ผมต้องห้ามไว้ เพราะต้องมีงานยุ่ง 

นี่คืออาการสับสน    ที่มีสัญญาณประสาทเกิดขึ้นในสมอง  ที่เรียกว่า มโนเอาเอง   คนสมองเสื่อมกลไกแยกจินตนาการกับความจริงมันเสื่อม    จึงเชื่อจินตนาการเป็นตุเป็นตะ   และที่สำคัญสัญญาณมันไม่ได้มาแวบเดียวแล้วหายไป    มันมาบ่อยๆ    คล้ายๆ เรื่องผมมีกิ๊ก 

 

หวาดระแวง

วันเดียวกัน (๑๓ มิถุนายน) ตอนเพล (๑๑ น.) แป๋ม แม่บ้านของลูกสาว เอาหารเที่ยงมาให้     และเล่าว่า ก่อนไปทำกับข้าว สาวน้อยจับตัวไว้ซักถามอยู่นาน   ว่าตอนป้าจิตร (พี่สาวคนโต) ตาย   ใครอยู่กับป้าจิตรบ้าง    และใครเอาสมบัติของป้าจิตรไป   

ผมสังเกตว่า ก่อนเข้านอนเธอจะถือกล่องแว่นตาเอามาไว้ที่เตียงตรงหัวนอน   พอตื่นเช้าก็ไปซ่อนไว้ในตู้เสื้อผ้า    เธอบอกว่าในนั้นมีเงิน ซึ่งผมก็ไม่เคยสำรวจ   

ลูกสาวบอกว่า แม่ชอบเอาของไปซ่อนในตู้เสื้อผ้า  เช่นกาแฟ 3 in 1    และสิ่งของอื่นๆ    หากมีของหายไปผิดสังเกต บอกลูกสาวคนนี้ เขาจะรู้ว่าต้องไปหาที่ไหน         

 

จะไปก็ได้

คืนวันอาทิตย์ที่ ๒๗ มิถุนายน เธอท่าทางกระสับกระส่าย   เมื่อเข้านอนยิ่งกระสับกระส่าย   บอกผมว่าจะไปก็ได้ ในทำนองคิดว่าผมจะไปหาสาวอื่น   และบอกว่านอนไม่หลับเพราะกังวลใจ   จนในที่สุดผมหลับไปก่อน   

เช้าวันรุ่งขึ้นเธอมีท่าทีแจ่มใส อารมณ์ดี    ผมถามว่านอนหลับดีไหม    เธอตอบว่าหลับดี    ลืมเรื่องเมื่อคืนก่อนเสียสนิท   

นิทานเรื่องนี้สอนให้รู้ว่า คนดูแลผู้สมองเสื่อมต้องอย่าถือความหลงผิดของเขาเป็นอารมณ์    เพราะจะทำให้ตนเองเครียด 

     

อ่านเอกสารภาษาอังกฤษ

สายๆ วันที่ ๒๖ มิถุนายน ลูกสาวคนโตเปิดไอแพ็ดให้แม่อ่านข่าวภาษาอังกฤษ และบอกให้แปล   และชมว่าแม่ยังอ่านออกและรู้เรื่องดี 

 

วันเวลาจากกันใกล้เข้ามา

ตอนอาบน้ำค่ำวันที่ ๒๘ มิถุนายน เธอพูดว่า “วันเวลาจากกันใกล้เข้ามาแล้ว”    ผมถามว่าใครจะตายก่อน    เธอบอกว่าเธอจะตายก่อน    ผมถามว่าแล้วจะไปรอที่ไหน    เธอถามว่าจะให้ไปรอที่ไหน    ผมบอกว่าบนสวรรค์ก็แล้วกัน    เรานัดไปพบกันอีกที่นั่นไม่ใช่หรือ    เธอตอบว่าใช่ และหัวเราะชอบใจ   

 

เดือนมิถุนายน ๒๕๖๔ โควิดระบาดรุนแรง   ยิ่งช่วงปลายเดือนยิ่งแรง   ผมจึงแทบไม่ได้ออกไปไหนเลย   เธอชอบมากที่เมื่อถามตอนเช้า “วันนี้พ่อไปไหน” ได้คำตอบว่า “วันนี้ปู่เลี้ยงหลาน”  ก็ชอบใจ และอารมณ์ดี   แต่ก็เอาแน่นอนไม่ได้ว่าอาการประสาทหลอนจะมาเมื่อไร    ช่วงปลายเดือนเวลาออกไปเดินตอนเย็นเธอจะบ่นปวดขาปวดท้อง     ต้องหยุดพักบ่อยขึ้น    ส่วนหนึ่งน่าจะมาจากเธออ้วนขึ้น    จากการที่กินอาหารบ่อย  เพราะลืมว่ากินแล้ว   ส่วนหนึ่งน่าจะเป็นเพราะสมองส่วนบอกความรู้สึกอิ่มไม่ทำงาน   

วิจารณ์ พานิช 

๓๐ มิ.ย. ๖๔

 

 

1 ๒๒ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๙

 

2 ๒๐ กรกฎาคม ๒๕๕๙

3 ๒๓ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๐

4 ๕ มีนาคม ๒๕๖๐

5 ๑๕ กันยายน ๒๕๖๑

 

6 ๑๘ มิถุนายน ๒๕๖๔

หมายเลขบันทึก: 691525เขียนเมื่อ 14 กรกฎาคม 2021 18:27 น. ()แก้ไขเมื่อ 15 กรกฎาคม 2021 17:35 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)

ขอบพระคุณอาจารย์ที่เล่าประสบการณ์ที่มีคุณค่าในการดูแลสาวน้อยนะคะ

ภาพอาจารย์และสาวน้อยสวยงามทุกภาพค่ะ

วันเวลาจากกันใกล้เข้ามาแล้ว อ่านแล้วใจหายนะคะอาจารย์

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท