ชีวิตที่พอเพียง 3956. อยู่กับผู้ป่วยโรคสมองเสื่อม (๒๕) บันทึกเดือนเมษายน ๒๕๖๔


ผมเล่าเรื่องชีวิตยามสมองเสื่อมของสาวน้อยเป็นระยะๆ () () (๓)  (๔)  (๕)  (๖)   (๗)   (๘)   (๙)   (๑๐)   (๑๑)    (๑๒)   ๑๓   ๑๔   ๑๕  ๑๖  ๑๗  (๑๘)  (๑๙)  (๒๐)  (๒๑)   (๒๒)  (๒๓)   (๒๔)  เพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้ประสบการณ์กับท่านผู้อื่นที่ต้องเผชิญสภาพคล้ายๆ กัน ที่นับวันจะมีจำนวนมากขึ้น  

ช่วงเดือนเมษายน ๒๕๖๔    อาการหลงๆ ลืมๆ รุนแรงขึ้น    เรื่องผมมีกิ๊กยังอยู่ แต่ไม่ก่ออารมณ์รุนแรง    อาการสร้างเรื่องเป็นตุเป็นตะเพิ่มขึ้น    เกิดจากสมองส่วนกรองสัญญาณบกพร่อง    ทำให้ความคิดภายในสมอง หรือที่เรียกว่าจินตนาการ กลายเป็นความจริง    ในความรู้สึกของเขา

  

วันนี้พ่อไปไหน

นี่คือประโยคมาตรฐานประจำวัน    เมื่อเรานั่งผ่อนคลายอารมณ์ด้วยกันที่ระเบียงบ้าน    โดยผมนั่งอ่านหนังสือในไอแพ็ด หรือพิมพ์บันทึกในคอมพิวเตอร์    เธอนั่งกินอาหารเช้า ซึ่งมักประกอบด้วยกาแฟ (เขาทะลุ 3 in 1)   ไข่ต้ม ๑ ฟอง เอาไข่แดงออก    ถั่วลิสงต้ม ๑ ถ้วยเล็ก   และข้าวเหนียวปิ้ง ๑ ห่อ    

“วันนี้พ่อไปไหน”    “วันนี้ปู่เลี้ยงหลานทั้งวัน”   “ดีจัง”    คือคำสนทนามาตรฐาน    ที่คุยกันหลายรอบ   บางวันเกือบสิบครั้ง     เป็นอาการของสมองเสื่อม ทำให้ความจำระยะสั้น (recent memory) หายไป    ผู้เลี้ยงดูคนสมองเสื่อมต้องไม่รำคาญ    

เมื่อผมบอกว่า เมื่อสักครู่ก็ตอบไปสองหนแล้ว  เธอจะหัวเราะ (หัวเราะความขี้หลงขี้ลืมของตน)    เข้าใจว่า ความเป็นหมอ ช่วยให้เธอเข้าใจอาการสมองเสื่อมของตนเอง และยอมรับ   ผมตีความว่า  การที่เธอไม่รู้สึกอึดอัดหรือน้อยใจในอาการของตนเอง    กลับมองความหลงลืมเป็นเรื่องขบขัน   ช่วยให้ชีวิตในช่วงนี้ของเธอเป็นชีวิตที่มีความสุข

ต้องไปเที่ยว

เย็นวันที่ ๑๑ เมษายน เธอเอ่ยคำนี้หนึ่งครั้ง     เช้าวันที่ ๑๒ เอ่ยอีก    ผมแย้งว่า ต้องอยู่ในบ้านทั้งสองครั้ง    เธอไม่เถียง   

   

แป๋มเอาเด็กมาเลี้ยง

เย็นวันที่ ๑๑ เธอเอ่ยว่า แป๋มแด็กมาเลี้ยง     เป็นคำที่เธอเอ่ยเมื่อหลายวันก่อนว่าแป๋ม (แม่บ้านของต้อง) รับเลี้ยงเด็ก    มีที่มาจากช่วงหนึ่งลูกชายและลูกสะใภ้ของแป๋มเอาลูกน้อยอายุ ๑ เดือนมาฝากให้แป๋มช่วยเลี้ยง ๑ สัปดาห์    หลังจากนั้นก็เกิดคำพูดของเธอว่าแป๋มรับจ้างเลี้ยงเด็ก     

ชงกาแฟซ้ำ

เช้าวันที่ ๑๒ หลังจากเธอตื่น ผมออกไปเดินออกกำลัง     กลับมาบอกให้เธอ “ชงกาแฟให้ปู่ด้วย”    เธอไปเตรียมแก้วกาแฟสองใบ    ผมไปดูที่แก้วกาแฟอีกใบหนึ่งที่ตั้งอยู่ที่หน้าทีวี    ก็เห็นร่องรอยที่เธอชงกาแฟกินแล้ว     จึงบอกว่าให้ชงแก้วเดียว เพราะเธอกินแล้ว    เธอก็ยอมตามโดยดี       

เรื่องชงกาแฟซ้ำนี้ เกิดบ่อยมาก

ยังไม่ค่อยตื่น

เช้าวันที่ ๑๐ เมษายน เธอตื่นสายมาก ราวๆ ๗.๓๐ น.    ท่าทางงัวเงีย    และบอกว่าลืมตาไม่ค่อยขึ้น    ผมต้องบอกบทให้ชงกาแฟ จึงชงให้ตัวเองกินได้    แต่ไม่ชงให้ผมอย่างที่เคยทำ    ผมปล่อยเลยตามเลย    ของกินมื้อเช้าตามปกติก็ไม่กิน    ต้องบอกบทจึงกิน     

พ่ออะไรหวงของลูก

เย็นวันที่ ๑๕ เมษายน ๒๕๖๔ ลูกสาวคนโตที่เป็นหมอฟัน ได้รับโทรศัพท์จากคณะทันตแพทยศาสตร์ จุฬาฯ ว่า ผู้ช่วยทันตแพทย์ที่ช่วยงานตรวจรักษาผู้ป่วยเมื่อวันที่ ๘  มีอาการป่วยเมื่อวันที่ ๙  และไปตรวจโควิดวันที่ ๑๔ ผลยังไม่ออก    โดยที่ลูกสาวบอกว่าได้สวมหน้ากากอนามัยอย่างดีตลอดเวลา     ผมแนะนำว่ายังไม่ต้องกักตัวเอง    เพียงแต่ให้สวมหน้ากากอนามัยและรักษาระยะห่างก็พอ   

ดังนั้นวันที่ ๑๖ เราจึงไม่ทำอะไรด้วยกัน     ที่เคยออกไปกินอาหารเที่ยงก็งด    การกินอาหารที่บ้านตามปกติก็กินคนละเวลาอยู่แล้ว     แต่สาวน้อยยังมีความรู้สึกเชิงอารมณ์ไว    เมื่อผมเตรียมอาหารเที่ยงให้เธอและผมตอน ๑๑ น. เพราะเธอบอกว่าหิว     เธอบอกให้เผื่อแต้วด้วย    ผมบอกว่าไม่ต้อง แต้วเขาหากินเอง    เธอก็เข้าใจว่าผมโกรธกับแต้ว    เดินไปเดินมาด้วยความเป็นห่วงแต้วเรื่องไม่มีอาหารเที่ยงกิน    และบ่นผมว่า “พ่ออะไรหวงลูก”

ค่ำวันที่ ๑๖ แต้วได้ข่าวว่าผลแลบของเจ้าหน้าที่ผู้ช่วยทันตแพทย์เป็นบวก เท่ากับแต้วเป็นกลุ่มเสี่ยงติด    เช้าวันที่ ๑๗ แต้วกลับไปนอนที่คอนโด    วันที่ ๒๒ แต้วครบเวลากักตัว โดยปลอดอาการ 

พ่ออะไรตัดพ่อตัดลูก

ในวันที่ ๑๗ และ ๑๘ เรื่องเป็นห่วงแต้ว ว่าโดนพ่อไล่ออกจากบ้าน หวนกลับเข้ามาในสมองของเธอเป็นครั้งคราว วันละหลายๆ ครั้ง        บ่ายวันอาทิตย์ที่ ๑๘ เมษายนเป็นมาก    เอาโทรศัพท์บ้านมาบอกให้ผมโทรไปหาแต้วที่คอนโด    ผมใช้โทรศัพท์มือถือโทรหาแต้วทางมือถือของแต้ว    แต่พูดกันไม่รู้เรื่อง    เธอบ่นว่า “โกรธลูกเพราะลูกไม่เอาของมาให้กิน”    และอื่นๆ อีกมาก    

สักครู่มาพูดว่า “ลูกสาวคนเกิดเรื่อง” เอาของกินมาให้    ลูกเอามาฝาก   และอื่นๆ แบบสับสน  

ความหลงผิดเรื่องผมโกรธแต้ว คงอยู่เรื่อยมา พูดถึงทุกวัน จนต้นเดือนพฤษภาคม ก็ยังพูดทุกวัน    ความกังวลโดนเบี่ยงไปอยู่ที่แต้ว ทำให้กิ๊กหายไป 

มะม่วงบำบัด

ได้เล่าเรื่องให้เธอปอกมะม่วงเพื่อให้ได้ออกกำลังกล้ามเนื้อมือ และเป็นการกระตุ้นสมองด้วย   เดือนนี้ถ่ายรูปมาให้ดู    ผมใช้ มาตรการนี้เกือบทุกวันเพราะเป็นหน้ามะม่วง

วจีบำบัด

นึกขึ้นได้ว่า ผมใช้ “วจีบำบัด” ในการดูแลสาวน้อยของผม มาหลายปีแล้ว    หลักการคือ ใช้คำพูดและคำถามกระตุ้นสมอง    ทั้งด้านความคิดและอารมณ์    เพื่อให้สมองทำงาน  มีการออกกำลังสมองตามอัตภาพของเธอ    เอามาเล่าเผื่อผู้ที่กำลังเผชิญสถานการณ์เดียวกันจะนำไปปรับหรือทดลองใช้   

หลักการแรกคือ พูดแบบผู้ใหญ่พูดกับเด็ก    เพราะผมสังเกตว่าคนสมองเสื่อม สมองกลับไปคล้ายสมองเด็ก    ผมจึงสถาปนาตนเองเป็น “ปู่ “  และเธอเป็น “หลาน”    พูดเล่นกันแบบสมมติ    ซึ่งเธอก็พอใจและเล่นด้วย    วิธีนี้ใช้กรณีภรรยาสามีแบบสาวน้อยกับผมได้ผล    แต่เมื่อเอาไปใช้กรณี พ่อหรือแม่กับลูก คงต้องปรับให้เหมาะสมตามบริบท    คงต้องค่อยๆ ทดลองเอาเอง

หลักการที่สองใช้คำถามที่แสดงว่าให้ความสำคัญแก่ความรู้สึกของเธอ  “อร่อยไหม”   “สนุกไหม”   “ดีไหม” “อิ่มหรือยัง”  “เอาอะไรอีกไหม”   หรือบางโอกาสก็ใช้คำถามยอดนิยมของเธอเอง “วันนี้วันอะไร”   “วันนี้ลูกสาวคนไหนจะกลับมาบ้าน”    เมื่อเธอตอบถูกก็ชมเป็นการใหญ่    เพื่อสร้างความมั่นใจในตนเอง  

หลักการที่สาม ชวนสนทนาโต้ตอบเชิงไหวพริบ ที่เป็นเรื่องที่รู้กันสองคน  เช่น ระหว่างเดินออกกำลังตอนเย็น ช่วงกลับบ้าน ที่เธอหมดแรง ต้องเกาะแขนผม ผมพูดว่า “จำได้ไหมสมัยสาวๆ ก็เกาะแขนอย่างนี้    สมัยนั้นทำไมต้องเกาะแขน”    คำตอบคือ   “จะได้ไม่หลุดมือไป”    สะท้อนว่า สมองส่วนโต้ตอบเชิงไหวพริบยังดี    คำพูดโต้ตอบทันควันเชิงไหวพริบนี้เกิดขึ้นเป็นครั้งคราว บ่อยพอสมควร    ช่วยให้ผมมีความหวังว่า สมองหลายส่วนของเธอยังดีอยู่        

หลักการที่สี่ ตั้งคำถามให้เธอทวนความหลังที่สะท้อนความสามารถของเธอ  “เป็นผู้อำนวยการโรงพยาบาลถึงสองแห่งจำได้ไหม   โรงพยาบาลอะไรบ้าง”     “ทำไมจึงคิดตั้งโรงเรียนวิสัญญีพยาบาล”   ช่วยให้เธอรื้นฟื้นความหลังที่ภูมิใจ

ช่วยตัวเองบำบัด

นี่ก็เป็นอีกยุทธศาสตร์หนึ่งที่ผมคิดขึ้นเอง    คือหาทางให้เธอช่วยตัวเองให้มากที่สุด    เป็นทั้งการออกกำลัง และการกระตุ้นสมอง    เช่นให้เอาข้าวที่หุงแล้วใส่กล่องไว้ในตู้เย็น  แบ่งเอาไปอุ่นในไมโครเวฟ    เวลานั่งเธอจะลุกขึ้นยาก    และมักจะยื่นมือมาให้ผมฉุด    ผมจะรับมือไว้แต่แกล้งหย่อนมือไม่ฉุด ให้เธอใช้กล้ามเนื้อยกตัวขึ้นเอง    ผมเชื่อว่าวิธีการเช่นนี้จะช่วยลออาการสมองเสื่อม และช่วยให้อายุยืนขึ้น   

ใช้จิตวิทยาเชิงบวก

นี่ก็เอามาจากหลักการด้านการศึกษาสำหรับเด็ก    ครูหรือพี่เลี้ยงเด็กต้องรู้จักใช้จิตวิทยาเชิงบวก    ผู้ดูแลคนสมองเสื่อมก็ควรใช้หลักการเดียวกัน    ต้องไม่เอาเรื่องที่เขาเข้าใจผิดๆ หรือทำผิดๆ มาเป็นอารมณ์     เอาเฉพาะที่เขาทำได้ดีมาเป็นเรื่องเป็นราวของการพูดคุย หรือมีปฏิสัมพันธ์กัน    ไม่ว่าเธอจะทำเรื่องเดือดร้อนเพียงไร เราต้องไม่ปริปากพูดหรือโวยวย    เราจัดการแก้ไขเสียก็สิ้นเรื่อง    แต่เมื่อไรเขาทำได้ดี ต้องทำให้เป็นเรื่องใหญ่ เอามาพูดถึงซ้ำๆ เพื่อเรียกความมั่นใจในตนเองกลับคืนมา             

วิจารณ์ พานิช

๕ พ.ค. ๖๔

1

2 ทัดดอกไม้ก่อนเดิน

3 เดินออกกำลังไปนั่งเล่นริมอ่างน้ำทุกเย็น

4

5 flower therapy

6

7

8 ถ่ายกับดอกนนทรีย์

9 mango therapy

10 ถ่ายกับดอกหางนกยูง

11 ถ่ายปี ๒๕๕๘ ที่ตำบลมะลิวัน เมียนมาร์

หมายเลขบันทึก: 690643เขียนเมื่อ 16 พฤษภาคม 2021 17:55 น. ()แก้ไขเมื่อ 16 พฤษภาคม 2021 19:54 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท