วางใจ


การปรารถนาเป็นแม่ที่ทำให้ลูก รู้สึกมั่นคง ปลอดภัย อบอุ่นใจ

วางใจในตัวเราเป็นเรื่องที่ดี

.

แต่ก็ต้องระวัง ความคาดหวังของตัวเราที่อาจมีมากเกินไป

เช่น คาดหวังว่าลูกจะต้องเล่าเรื่องราวทุกข์สุข

ในชีวิตของเขาทุกเรื่องให้เราได้รับรู้

ลูกต้องไม่มีความลับ ไม่หมกเม็ด ไม่ปกปิด

.

พอเห็นลูกแสดงอาการผิดปกติ เราถามเขา ลูกบอก ไม่ได้เป็นอะไร

ในฐานะแม่ผู้ใส่ใจ ช่างสังเกต รับรู้ได้ถึงความผิดปกติ

เราคิดว่า มันน่าจะมีอะไร ด้วยความเป็นแม่ผู้เปี่ยมความรัก(ล้นๆ)

.

ไม่ได้ เราต้องสืบค้นหาความจริงจากลูกให้ได

 

แม่ “แม่สังเกตว่า2-3 วันมานี้ลูก ดูเงียบๆ ไป เหมือนลูกมีเรื่องอะไรในใจมั้ย?”

ลูก “ไม่มีอะไรแม่ ไม่ได้เป็นอะไร แม่ไม่ต้องเป็นห่วงหรอก แค่เหนื่อยๆ อะ การบ้านเยอะ”

(บอกบางส่วนของความรู้สึก บอกไม่หมด ไม่อยากให้แม่เป็นห่วง)

แม่ “จะไม่ให้แม่เป็นห่วงได้ยังไง ก็ดูซิ ลูกน่ะ รู้ตัวมั้ยว่าตัวเองน่ะดูเงียบๆ ไป เหมือนกำลังไม่สบายใจ บอกแม่มาเถอะ เผื่อแม่จะช่วยลูกได้ นี่แม่นะ ไม่วางใจในตัวแม่หรือไง” (พูดด้วยอารมณ์หงุดหงิด ลึกๆ ก็ห่วงใย)

ลูก หงุดหงิดไม่พอใจ เสียงดังใส่ “ก็บอกแล้วไง ว่าไม่เป็นอะไร ไม่มีอะไร แม่ไม่ต้องมายุ่งกับชีวิตหนูบ้างจะได้มั้ย ”

พูดจบก็เดินกระแทกเท้า ปิดประตูใส่ ล็อคห้องไปเลย

แม่ รู้สึกผิดหวัง เสียใจ น้อยใจ ส่วนทางลูกนอกจากจะมีเรื่องทุกข์ที่เก็บไว้ในใจอยู่แล้ว เจอเช่นนี้ก็รู้สึกแย่กับแม่ รู้สึกอึดอัด รู้สึกว่าตัวเองมันแย่ที่เผลอพูดแรงๆ กับแม่ด้วยอารมณ์

.

.

หากช้าลง แล้วได้อยู่กับตัวเองสักพัก เราอาจเห็นใจตัวเอง ว่า

แท้จริง สิ่งที่เราทำไป ลึกๆๆๆ เราทำเพื่อตัวเอง เราไม่สบายใจ ที่เห็น

ลูกไม่สบายใจ เราอยากได้รับความสบายใจ

.

เราอยากช่วยลูก(อัตตา)

คิดว่า หากลูกได้พูดระบายลูกคงจะรู้สึกดีขึ้น หรือไม่อาจได้แลกเปลี่ยนมุมมองกันได้คำตอบของปัญหาที่คาใจลูก เราอยากรู้เรื่องของเขาทุกเรื่อง เราอยากเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตเขา (มากไป) อาจกลายเป็นความปรารถนาดีที่มีคม

.

ดีกว่ามั้ย ถ้าเราสังเกตเห็น ว่า ลูกน่าจะมีปัญหาบางอย่างในใจ เราแค่บอกเขาสั้นๆ และเคารพในการตัดสินใจของลูก วางใจในศักยภาพของลูกว่าเขาจะสามารถแก้ปัญหา เรียนรู้ชีวิตของตัวเองด้วยตัวเองได้ (เมตตา)

+

แม่ สบตา ส่งความรัก ความห่วงใย และความรู้สึกเคารพเขา

เราต้องการสื่อสารเพื่อแสดงความรักความห่วงใย

(ดูจังหวะด้วยเนาะ ว่าควรพูดตอนไหน )

“แม่สังเกตว่า2-3 วันมานี้ลูก ดูเงียบๆ ไป เหมือนลูกมีเรื่องอะไรในใจมั้ย?”

ลูก “ไม่มีอะไรแม่ ไม่ได้เป็นอะไร แม่ไม่ต้องเป็นห่วงหรอก แค่เหนื่อยๆ อะ การบ้านเยอะ”

แม่ยิ้ม กอดลูก (อันนี้ต้องดูอีกแหละ ว่าลูกของคุณชอบสัมผัสแบบไหน อย่างไร)

“ขอบคุณที่ลูกเป็นห่วงความรู้สึกแม่ แม่ก็เป็นห่วงแหละ ความเป็นแม่เนาะ อีกใจก็วางใจว่าลูกแม่ดูแลตัวเองได้

และหากมีอะไรที่รู้สึกหนักมากไป รู้สึกไม่ไหว อยากให้แม่ช่วยอะไรบอกแม่ได้เสมอนะ ”

(พลังงานเช่นนี้ อาจใช้คำว่า ฉันอยู่ตรงนี้เพื่อเธอ เป็นการเคารพลูกด้วย เราจะเกื้อกูล แบบไม่ก้าวก่าย)

.

.

เรื่องนี้เป็นเรื่องจริงอิงนิยาย แม่ดาวเองเคยเป็นแม่ทั้ง 2 แบบ

 

 และพบว่าแบบที่ 2 นั้นดีต่อใจตัวเองและลูก(ผู้อื่น)มากกว่า

.

และในแบบที่2 นั้นพบว่า ผ่านไปสักพักหากลูกรู้สึกไม่ไหว เขาจะเปิดใจ เปิดปาก ขอคุยกับเราเอง โดยที่เราไม่ต้องไปคาดคั้น กดดันลูก

.

และการทำเช่นนี้ ลูกเองหากเขาผ่านปัญหานั้นไปได้ด้วยตัวเอง เขาก็จะรู้สึกดีกับตัวเอง ภูมิใจในตัวเองด้วยเนาะ เห็นว่า “ตัวฉันเองก็เป็นคนที่พึ่งตัวเองได้ ดูแลตัวเองได้ ดูแลความรู้สึกแม่ได้ด้วย”

.

แต่ละคนก็ล้วนมีศักยภาพในแบบของตัวเอง เราอาจผ่านปัญหาได้ด้วยวิธีการของตัวเอง และวิธีของเรานั้นก็อาจไม่ใช่วิธีการที่ดีสำหรับทุกคนก็ได้ สิ่งสำคัญ คือ ความศรัทธาและความรักที่มีต่อกัน คิดว่าเช่นนี้นะคะ

.

ดังนั้นเรื่องราวที่แบ่งปัน ก็เป็นเพียงมุมมองจากประสบการณ์ตัวเอง แค่เล่าไว้เรื่อยๆ เผื่อเป็นประโยชน์ ได้คิด และคิดวิธีการของตัวเองได้ ไม่ต้องลอกแบบใคร แต่เราสามารถเรียนรู้จากผู้คนแบบต่าง ๆ ได้เนาะ

+

ขอบคุณภาพประกอบจากแม่อ้อค่ะ ชอบมาก วาดแววตาแม่ได้อบอุ่นอ่อนโยนเป็นที่สุด

หมายเลขบันทึก: 691519เขียนเมื่อ 14 กรกฎาคม 2021 14:14 น. ()แก้ไขเมื่อ 14 กรกฎาคม 2021 14:14 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท