เรื่องเล่า ดร.ผึ้ง ตอนที่ 25 Humanitude แนวคิดและเทคนิคใหม่ในการดูแลคนในครอบครัว


วันก่อน ได้รับหนังสือ ฮิวแมนนิจูด Humanitude แนวคิดและเทคนิคใหม่ในการดูแลคนในครอบครัว จาก รศ.ดร.จิราพร เกศพิชญวัฒนา หนังสือเล่มนี้เป็นหนังสือที่ให้ความรู้เรื่องการดูแลคนในครอบครัว โดยเฉพาะผู้สูงอายุ เหมาะกับสังคมปัจจุบันและในอนาคตที่จะมีผู้สูงอายุมากขึ้นเรื่อยๆ



ผู้เขียนเคยเขียนเล่า เรื่อง Humanitude ไว้ก่อนหน้านี้แล้ว

Humanitude Care ตอนที่ 1 Humanitude care คืออะไร กับกรณีศึกษา

Humanitude Care ตอนที่ 2 Humanitude care เทคนิคการ approach คนไข้

หนังสือเล่มนี้อ่านง่าย ไม่เน้นวิชาการมากเกินไป อีกทั้งมีภาพประกอบการ์ตูนน่ารักๆ ที่ช่วยให้เข้าใจมากขึ้น

Humanitude เป็นเทคนิค ที่ใช้สร้างสัมพันธภาพที่ดีกับผู้ป่วย ซึ่งปรับใช้ได้กับผู้ป่วยหรือผู้รับการดูแล แต่หนังสือเล่มนี้เน้นคำแนะนำในการดูแลผู้ป่วยที่การทำงานของสมองด้านการรู้คิด (cognitive function) เสื่อมลง

โดยสิ่งสำคัญของการดูแลผู้ป่วยมีสองประการคือ

(1) การสร้างสัมพันธภาพอันดีกับอีกฝ่าย และ (2) การไม่ช่วงชิงเอาความสามารถของบุคคลนั้นไป

-การสร้างสัมพันธภาพอันดีกับอีกฝ่ายโดยต้องเข้าใจว่า ทั้งผู้ทำหน้าที่ดูแลและผู้ได้รับการดูแล ต่างก็มีอิสระ มีความเท่าเทียม ความรู้สึกเคารพซึ่งกันและกันก็จะเกิดขึ้น

-การไม่ช่วงชิงเอาความสามารถของบุคคลนั้นไป  เวลาเราดูแลผู้ป่วย หรือแม้กระทั่งพ่อแม่ผู้สูงอายุ เรามักคิดว่า “การทำให้หมดทุกอย่าง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องอะไร” คือการดูแลที่ดีที่สุด แต่ความจริงแล้ว อาจะเป็น “การช่วงชิงเอาความสามารถของบุคคลนั้นไปด้วยการทำสิ่งที่เขาเคยทำได้มาก่อน”

เหตุที่ผู้ดูแลมักทำทุกอย่างให้นั้นอาจจะเพราะต้องการให้กิจกรรมนั้นๆ แล้วเสร็จด้วยความเรียบร้อย รวดเร็ว หากปล่อยให้ผู้ป่วยทำเอง อาจจะไม่เรียบร้อย เลอะเทอะ และเสียเวลา อาทิเช่น การเช็ดตัวหลังอาบน้ำ หากปล่อยให้ทำเอง อาจจะเช็ดเสร็จช้า หรือการปล่อยให้ลุกเดินไปทำอาหาร ไปเก็บผ้า ผู้สูงอายุหรือผู้ป่วยอาจจะลื่นล้ม เกิดอุบัติเหตุเป็นต้น ดังนั้น ผู้ดูแลจึงทำให้เสร็จทุกอย่าง

เทคนิคการสื่อสารตามแนวคิด Humanitude นั้นใช้หลัก 4 ประการ ได้แก่ “การสบตา” “การพูด” “การสัมผัส” และ “การจัดท่าทางในแนวตั้งตรง” 

อ่านแนวคิดแล้ว หลายคนคิดว่า ก็ไม่ใช่เรื่องแปลกใหม่อะไร ก็ปฏิบัติอยู่ทุกวัน แต่ทว่า จังหวะ ช่วงเวลาที่ “สบตา พูด สัมผัส” คนในครอบครัวที่ทำหน้าที่ดูแลส่วนใหญ่มักจะ “ทำตามแบบที่ตัวเองอยากทำ” โดยคิดว่า ช่วงเวลาเหล่านี้เป็นช่วงเวลา “การทำหน้าที่” เท่านั้น ทำให้ขาดโอกาสในการสื่อสารข้อความสำคัญ ว่า “ฉันให้ความสำคัญกับคุณ” ไป

ความเป็นจริงแล้วเราทำสิ่งที่เรียกว่าหลัก 4 ประการแบบไม่รู้ตัว ดังภาพประกอบ ที่ยกตัวอย่าง ทารก ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญ เรามักจ้องตาทารก พูดกับทารก กอดประคอง สื่อสารให้ทารกทราบว่า เรารักเขามาก เขาคือสิ่งสำคัญของเรา แต่พอเปลี่ยนจากทารกเป็นผู้ป่วยหรือผู้สูงอายุ เรากลับรู้สึกว่า เป็นการยากลำบากที่จะสื่อสารด้วยหลัก 4 ประการข้างต้น

ทั้งนี้หนังสือเล่มนี้ ถ่ายทอดแนวคิดพื้นฐาน วิธีการสร้างสัมพันธภาพที่ดี การใช้เวลาที่ดีร่วมกันกับผู้ป่วย โดยกล่าวเน้นการดูแลผู้ที่มีภาวะสมองเสื่อม

หนังสือปูพื้นหลักเบื้องต้น เรื่องการทำงานของความจำ เพื่อให้ผู้อ่านเข้าใจสถานการณ์ของผู้ป่วยที่มีภาวะสมองเสื่อม เพราะหากว่า ผู้ดูแลไม่ทราบว่าผู้ป่วยอยู่ในสถานการณ์แบบไหน ก็จะรับมือ ดูแลผู้ป่วยสมองเสื่อมด้วยความยากลำบาก โดยความจำมี ความจำระยะสั้น กับความจำระยะยาว ซึ่งเมื่อความจำระยะสั้นถูกจัดเก็บเป็นความจำระยะยาวจะแบ่งได้ 4 ประเภท ได้แก่

  • (1) ความจำอาศัยความหมาย (systematic memory)  สิ่งที่ได้จากการเรียนรู้ เช่น ตัวอักษร ความรู้ หน้าคน
  • (2) ความจำอาศัยเหตุการณ์ (episode memory) ความจำเกี่ยวกับเหตุการณ์ เช่น งานแต่งงาน
  • (3) ความจำเชิงกระบวนวิธี (procedural memory) เช่นการสวมใส่เสื้อผ้า การทำอาหาร
  • (4) ความจำที่ประกอบกับอารมณ์ความรู้สึก (emotional memory) คือความจำที่บันทึกเรื่องสนุก ดีใจ ประทับใจ เรื่องที่กลัวเอาไว้

การสูญเสียความทรงจำระยะยาวมีลำดับการสูญเสียที่มีลักษณะเฉพาะ โดยจะสูญเสีย “ความจำอาศัยความหมาย” ที่เรียนรู้มา อันดับแรก เช่นคิดเงินยากขึ้น อ่านหนังสือไม่ออก

ถัดมาคือ สูญเสีย “ความจำอาศัยเหตุการณ์” คือ ลืมเรื่องใหม่ก่อนและลืมเรื่องเก่าย้อนขึ้นไป เช่น ลืมว่ากินข้าวไปแล้ว ทั้งๆ ที่เพิ่งกินข้าวเสร็จ

แม้จะสูญเสียความจำ  “ความจำอาศัยความหมาย” และ  “ความจำอาศัยเหตุการณ์” ไปแล้ว แต่ความทรงจำที่เหลืออยู่ คือ “ความจำเชิงกระบวนวิธี” เช่น แม้จะลืมว่ากินข้าวไปแล้ว แต่ยังจับมีดทำอาหารได้ ขี่จักรยานได้ เป็นต้น

ดังนั้นในการดูแลผู้ที่มีภาวะสมองเสื่อม ผู้ดูแลสามารถใช้ลักษณะเฉพาะนี้ในการกระตุ้นให้ผู้ป่วยพยายามทำสิ่งที่ตนเองทำได้ให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้

ส่วน  ความจำที่ประกอบกับอารมณ์ความรู้สึก (emotional memory) นั้น จะเป็นความทรงจำที่หลงเหลืออยู่จนถึงวาระสุดท้ายของชีวิต แม้ว่าจะจำหน้าลูกไม่ได้ แต่ความจำที่เป็นช่วงเวลาที่ดีในอดีตจะคงอยู่ เช่น คนนี้เป็นคนดี จะคงอยู่ หรือควาทรงจำที่เชื่อมโยงกับการอาบน้ำ เช่น ก่อนอาบน้ำ ถูกบังคับให้ถอดเสื้อผ้า ความจำที่เชื่อมโยง “การอาบน้ำ” กับ “ความรู้สึกไม่ชอบ” จะหลงเหลือในความทรงจำ

ส่วนถัดมา หนังสือแนะนำเทคนิครับมือ (ดูแล) ผู้ป่วยสมองเสื่อม อาทิ

  • ไม่ขอให้ผู้ป่วยทำอะไรหลายอย่างในครั้งเดียว
  • สร้างสิ่งแวดล้อม ที่ทำให้ผู้ป่วยสบายใจและสามารถจัดการกับมันได้
  • รู้ว่าความทรงจำที่ดีของผู้ป่วยคืออะไร: การพูดคุยเกี่ยวกับเรื่องที่ผู้ป่วยจำได้เป็นอย่างดีจะช่วยกำจัดความกังวลของผู้ป่วยได้ ลองนึกถึงลักษณะความทรงจำที่ว่า จะสูญเสียความทรงจำใหม่สุดก่อน ดังนั้นลองพูดคุยเรื่องที่มั่นใจว่าผู้ป่วยจะนึกออกก่อนแทนที่จะเป็นเรื่องราวที่เพิ่งเกิดขึ้น เช่น ตอนแต่งงาน ตอนลูกเกิด เป็นต้น

ต่อมา หนังสืออธิบายเทคนิคตามหลัก 4 ประการของ Humanitude ซึ่งเป็นพื้นฐานในการสื่อสารให้อีกฝ่ายเข้าใจได้ว่า “ฉันให้ความสำคัญกับคุณ” คือ

  • (1) เทคนิค “การสบตา” ควรเข้าไปอยู่ในลานสายตาของผู้ป่วยก่อนพูด โดยการมองจากด้านหน้านั้น เป็นการสื่อสารให้อีกฝ่ายทราบว่า เราจริงใจกับเขา การมองระยะใกล้ สื่อสารว่า เรามีความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดกัน

การมองแนวราบ เป็นการสื่อสารว่า เราอยู่ในสถานะที่เท่าเทียมกัน

และการมองเป็นเวลานาน สื่อสารว่า เรารู้สึกดีกับเขา

  • (2) เทคนิค“การพูด” ควรใช้เสียงโทนต่ำพูดด้วยความใจเย็นและอ่อนโยนใช้ถ้อยคำเชิงบวกและไม่หยุดพูดกลางคัน การนิ่งเงียบทำให้อีกฝ่ายรู้สึกเหมือนถูกปฏิเสธการมีตัวตน
  • (3) เทคนิค“การสัมผัส” ไม่จับในลักษณะเหมือนการจับกุม ควรประคองขึ้นจากด้านล่างโดยให้พื้นที่สัมผัสมีบริเวณกว้างที่สุดเท่าที่ทำได้
  • (4) เทคนิค“การจัดท่าทางในแนวตั้งตรง” เทคนิคนี้ช่วยให้ผู้ป่วยไม่กลายเป็นผู้ป่วยติดเตียง กล่าวคือ กระตุ้นให้ลุกนั่ง ลุกยืน เท่าที่ผู้ป่วยทำได้

พร้อมภาพประกอบ ส่วนนี้อธิบายเทคนิคที่สามารถนำไปปฏิบัติได้ไม่ยาก

ส่วนถัดมาของหนังสือ บอกขั้นตอนการดูแล โดยเป็นการสร้างเรื่องราวเชื่อมโยงกัน

  • ขั้นตอนที่ 1 เตรียมตัวก่อนพบกัน “บอกให้รู้ถึงการมาเยือน” เช่น ก่อนเข้าไปพบ ต้องเคาะประตู หากเคาะประตูแล้วไม่ได้ยิน อาจจะเคาะที่เตียง หรือที่เท้าแขนเก้าอี้ เพื่อบอกว่า “มาแล้วนะคะ/ ครับ”
  • ขั้นตอนที่ 2 เตรียมตัวก่อนดูแล “สร้างสัมพันธภาพที่ดี” สิ่งสำคัญคือ การเข้าไปหาจากด้านที่ผู้ป่วยกำลังหันหน้าไป เพราะขอบเขตที่ผู้มีภาวะสมองเสื่อมสามารถรับรู้นั้นจะแคบลง ทั้งนี้ไม่พูดเรื่องการดูแลเป็นลำดับแรก ชวนคุยเรื่องอื่นเหมือนเพื่อนเจอเพื่อน
  • ขั้นตอนที่ 3 เชื่อมโยงการรับรู้ “ลงมือดูแล” ขั้นตอนนี้สำคัญมาก ต้องไม่ทำให้ข้อมูลที่สื่อสารไปขัดแย้งกันเอง เช่น ชวนผู้ป่วยไปเดินเล่น แต่การจับข้อมือผู้ป่วยกระทำในลักษณะการจับกุม (ผู้ดูแลจับข้อมือผู้ป่วยไม่ถูกวิธี)   
  • ขั้นตอนที่ 4 ตราตรึงความรู้สึก “นึกถึงช่วงเวลาดีๆ ที่มีร่วมกัน”
  • ขั้นตอนที่ 5 สัญญาว่าจะพบกันอีก “เชื่อมโยงไปสู่การดูแลครั้งต่อไป”

ส่วนสุดท้าย หนังสือบอกถึงสถานการณ์ที่พบบ่อยและวิธีการรับมือ อาทิ

  • ไม่ยอมรับประทานอาหาร
  • ถามเรื่องเดิมซ้ำๆ และพยายามไปที่ไหนสักแห่ง
  • ผู้ป่วยรู้สึกกังวลใจและกระวนกระวายใจ
  • บอกว่าจะไปรับลูกที่โรงเรียนประถม สถานการณ์นี้ เราต้องเข้าใจว่า “ตอนนี้” ของผู้ป่วยไม่ใช่ “ตอนนี้” ของเรา

รายละเอียดเทคนิคการรับมือ สามารถอ่านเพิ่มเติมได้จากหนังสือเล่มนี้

นอกจากนี้ บทส่งท้ายหนังสือ กล่าวถึง “การย้ายอำนาจในการตัดสินใจ” ที่เกิดเมื่ออ่อนแอมีภาวะสมองเสื่อม ถึงขนาดที่ไม่สามารถแสดงออกว่า “ฉันต้องการสิ่งนั้น” “ฉันอยากทำแบบนี้” จึงต้องพึ่งพาผู้อื่น อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เกิดความไม่เข้าใจกันระหว่างผู้ดูแลกับผู้ป่วย เมื่อถึงจุดนี้ ก็เกิด “การย้ายอำนาจในการตัดสินใจ” โดยผู้ดูแลตัดสินใจเอง และรวมถึงการถูกผู้อื่นช่วงชิงไป

จากที่อ่านหนังสือมา มีหลายเหตุการณ์ ที่ทำให้ฉุกคิดว่า “จริง” ดังที่หนังสือบอก ตัวอย่างคือ แม่ของตัวผู้เขียน blog แม้จะยังไม่มีอาการสมองเสื่อม แต่เริ่มจะลืมความทรงจำล่าสุด อาทิ แม่จำได้ว่า ถามแล้ว แต่แม่จำไม่ได้ว่าคำตอบคืออะไร แม่ก็จะบอกว่าแม่จำได้ว่าถามแล้ว แต่จำไม่ได้ว่าลูกตอบอะไร ลูกอย่าหงุดหงิดแม่นะ  ซึ่งบางวันแม่ถามคำถามเดิมซ้ำสามหน

นอกจากนี้ ตัวผู้เขียน blog มักจะช่วงชิงความสามารถของแม่ แม้ว่าแม่ยังไม่มีอาการสมองเสื่อม อาทิ ห้ามแม่ทำกับข้าว เพราะไม่อยากให้เหนื่อย และเกรงจะเกิดอุบัติเหตุเรื่องไฟฟ้า ทั้งๆ ที่แม่ชอบทำกับข้าวให้ลูกกิน และเป็นสิ่งที่แม่ถนัด เป็นความสุขของแม่ที่ได้ทำให้ลูกกิน หรือห้ามทำงานบ้าน เพราะเกรงจะล้ม เป็นต้น รวมทั้งหลายๆ เรื่องที่ตัวผู้เขียน blog ยึดอำนาจการตัดสินใจแทนแม่ ทั้งๆ ที่แม่ไม่ชอบสิ่งนั้น 

พอได้อ่านหนังสือเล่มนี้แล้ว ผู้เขียน blog จะนำเทคนิคต่างๆ ไปปรับใช้กับแม่ให้เหมาะสม เพื่อให้ท่านมีความสุขกายสบายใจ

แม้ว่าหนังสือเล่มนี้จะเน้นการดูแลผู้ป่วยสมองเสื่อม แต่ทว่า สามารถนำไปปรับใช้กับคนในครอบครัวโดยเฉพาะผู้สูงอายุได้เป็นอย่างดี 

ภัทรพร คงบุญ

21 กรกฎาคม 2563

ไม่ช่วงชิ่งความสามารถของผู้ป่วย

ตัวอย่างการรับมือกับผู้ป่วย โดยหาสิ่งที่ผู้ป่วยมีความมั่นใจให้ทำ ช่วยให้คลายกังวล

หมายเลขบันทึก: 679263เขียนเมื่อ 22 กรกฎาคม 2020 07:46 น. ()แก้ไขเมื่อ 4 สิงหาคม 2020 19:11 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท