เรื่องเล่า ดร.ผึ้ง ตอนที่ 19 Humanitude Care ตอนที่ 1 Humanitude care คืออะไร กับกรณีศึกษา


ผู้เขียนได้รับการชักชวน จาก รศ.ดร.จิราพร เกศพิชญวัฒนา  คณะพยาบาลศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย  ให้ไปเข้าฟังการอบรมทักษะการดูแลผู้สูงอายุที่มีภาวะสมองเสื่อมด้วยการดูแลแบบฮิวเมนนิจูด (Innovative Care for Dementia: Humanitude Care IV) ซึ่งปีนี้จัดเป็นครั้งที่ 4  โดยสถาบันเวชศาสตร์สมเด็จพระสังฆราชญาณสังวรเพื่อผู้สูงอายุ กรมการแพทย์ และโครงการบูรณาการสหศาสตร์เพื่อรองรับสังคมสูงอายุ (Chula ARi) จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย  ระหว่างวันที่ 13-15 มีนาคม 2562 อบรมที่ อาคาร DMS6 กระทรวงสาธารณสุข   ซึ่งผู้เขียนไปฟังวันที่ 13 มีนาคม  2562 มีผู้เข้าร่วมประมาณ 70 คนจากหลายหน่วยงาน อาทิ พยาบาล ผู้ดูแลผู้สูงอายุ อาจารย์พยาบาล กระทรวง พัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เป็นต้น

วิทยากร คือ คุณ Yves Gineste จากประเทศฝรั่งเศส ซี่งเป็นผู้พัฒนาการดูแลแบบ Humanitude Care มากว่า 30 ปี  ซึ่งได้นำไปประยุกต์ใช้แพร่หลายในประเทศฝรั่งเศส และประเทศแถบใกล้เคียง ซึ่งงานวิจัยและบทความส่วนใหญ่เป็นภาษาฝรังเศส  และวิทยากรอีกท่านคือ Dr. Honda Miwako แพทย์ชาวญี่ปุ่น มี  รศ.ดร.จิราพร เกศพิชญวัฒนา และ คุณพิชยนันท์ วัฒนวิทุกูร ทำหน้าที่ช่วยแปลเป็นภาษาไทย โดยแปลเฉพาะสาระสำคัญ ไม่ได้แปลแบบคำต่อคำ ซึ่งจริงๆ ทุกคนที่มาอบรมฟังเข้าใจ เนื่องจากวิทยากรพูดภาษาอังกฤษฟังง่าย แต่วิทยากรนั้น น่ารักมาก มีความกังวล ว่าคนฟังจะไม่เข้าใจ จึงให้แปลเป็นไทย ทุกครั้งที่บรรยาย

เบื้องต้นนั้นทางผู้จัดได้แจ้งว่า ไม่มีเอกสารบรรยายแจก เพราะ Humanitude care มีลิขสิทธิ์ และวีดีโอกับภาพที่นำเสนอในการอบรมซึ่งเป็นกรณีศึกษาคนไข้นั้น ไม่สามารถเผยแพร่ได้ เป็นการพิทักษ์สิทธิคนไข้  ขอความร่วมมือไม่บันทึกภาพ ออกไปเผยแพร่ต่อ ผู้เขียนจึงไม่ได้บันทึกภาพมา

สำหรับการนำ Humanitude ไปใช้ประเทศญี่ปุ่นนั้น Dr. Honda Miwako เล่าว่า เห็นบทความเรื่อง Humanitude care บนเครื่องบิน รู้สึกสนใจจึงได้ติดต่อคุณ Yves เมื่อหลายปีก่อน นำเรื่อง Humanitude Care ไปทำในญี่ปุ่น กระทั่งปัจจุบัน การดูแลแบบ Humanitude Care นี้ ได้รับการยอมรับในญี่ปุ่นอย่างแพร่หลาย  โดยเริ่มแรกอบรมให้กับ บุคลากรด้านสุขภาพ และขยายไปสู่สมาชิกในครอบครัว ตลอดจนชุมชน กระทั่งนำไปสอนให้เด็กในโรงเรียนประถม และ นักศึกษาแพทย์ ซี่งปัจจุบันรัฐบาลญี่ปุ่นให้การสนับสนุน  และเริ่มขยายการอบรม นำไปใช้ในการดูแล Geriatric, Dementia, Autism  แม้กระทั่งนักดับเพลิงก็ได้นำไปประยุกต์ใช้ด้วย และขณะนี้ได้นำระบบ Artificial Intelligence หรือ AI เข้ามาช่วยในการวิเคราะห์ ประมวลผลการใช้เทคนิค Humanitude Care โดยทีมวิศวกร ซึ่งผู้ให้การดูแล Humanitude Care จะสวมแว่นตา แล้วบันทึกข้อมูล ส่งกลับไปให้ทีม คุณ Yves โดยจะเห็นเป็นจุดสีแดง ๆ บริเวณใบหน้าคนไข้ ว่ามองห่างระยะกี่เซนติเมตร มองสบตาหรือไม่ 

คุณ Yves ให้เหตุผลว่า ที่ต้องนำระบบนี้มาช่วย เนื่องจาก ค่าใช้จ่ายในการส่งครู ไปสอนเป็นรายบุคคลนั้นแพงมาก ครูที่เชี่ยวชาญเรื่องนี้ มีจำนวนน้อย ไม่เพียงพอ จึงต้องใช้ระบบนี้มาช่วย และ ลด human error ด้วย เพราะ ระบบ AI จะบันทึกข้อมูลและสอนการดูแลพื้นฐานไม่ผิดเพี้ยน (it exactly what happen)

อ่านเพิ่มเติม AI venture company ExaWizards and INCJ announce investment agreement with the goal of establishing care based on scientifically-backed AI technology

ในปี 2006 ญี่ปุ่นนำเรื่อง Humanitude Care ไปใช้ใน รพ.แห่งหนึ่ง พบว่า ต่อมาในปี 2008 การใช้ยา Anti-psychotic ลดลงถึง 88%  และการผูกมัดคนไข้ก็ลดลงอย่างมีนัยสำคัญ

นอกจากนี้ Humanitude care ยังช่วยลดความเครียด ของ caregiver ได้ด้วย เนื่องจากคนไข้ให้ความร่วมมือ

จากการศึกษาพบว่า ช่วยลด burden ของ caregiver ในเดือนที่สองและสามอย่างมีนัยสำคัญ (Humanitude care reduce caregiver’s burden and dementia related symptom)

คุณ Yves กล่าวว่า การดูแล Humanitude care นี้ ยึดหลักพื้นฐานคือการเคารพสิทธิมนุษยชน เบื้องต้น จะไม่ผูกมัด จำกัดการเคลื่อนไหว ฝืนใจให้ทำสิ่งใดๆ  โดยหากผู้ป่วยไม่อยากอาบน้ำตอนเช้า ทีมผู้ดูแลก็จะกลับมาถามช่วงบ่าย หรือช่วงเย็น หรือช่วงค่ำ เพราะคนไข้แต่ละคนมีปัญหาต่างกัน การรับรู้ต่างกัน  บางคนอาจจะรู้สึกกังวล กลัวหากต้องอาบน้ำตอนสายๆ เหล่านี้เป็นต้น

คุณ Yves เล่าว่า ครั้งแรกตอนอายุ 27 ปีนั้น ไปสอนการเคลื่อนย้ายผู้ป่วย ให้กับพยาบาล (physical education) เนื่องจากพยาบาลต้องเคลื่อนย้ายผู้ป่วยตัวหนักทุกวัน พยาบาลปวดหลัง  จึงต้องไปสอนการเคลื่อนย้าย โดยครั้งแรกก็ไม่รู้หรอกว่า พยาบาลทำอะไร ก็สงสัยว่า ทำไมพยาบาลต้องสั่งคนไข้ไม่ให้เคลื่อนไหว ในเมื่อจะเคลื่อนย้ายคนไข้ (พยาบาล said don’t move don’t move) คุณ Yves ได้แต่ยืนดู และคิดในใจว่า ทำไมพยาบาลไม่ถามคนไข้ว่าลุกได้ไหม

หลังจากวันนั้น คุณ Yves รีบออกมาร้านหนังสือ หาหนังสือเกี่ยวกับการสื่อสารของพยาบาล แต่ทว่าไม่มีสักเล่ม ที่พบว่าขายตามร้านหนังสือคือวิธีการดูแลคนไข้ อาทิ วิธีการอาบน้ำผู้ป่วยบนเตียง (the complete bed bath)  สระผม ทำความสะอาดปาก การทำความสะอาดอวัยวะสืบพันธุ์ภายนอก (Perineal care or Flushing) เปลี่ยนผ้าปูเตียง เป็นต้น

นอกจากนี้ยังพบว่า พยาบาลมักจะดูแลคนไข้แบบเครื่องจักรให้การดูแล มีหน้าที่ดูแลตามที่ได้เรียนมา และพยาบาลมักใช้อำนาจเหนือคนไข้ สั่งคนไข้ให้ความร่วมมือ ซึ่งการ approach แบบออกคำสั่งนั้น ไม่มีใครชอบ เช่น ให้กางมือออก เพื่อจะเช็ดแขน  ตลอดจนการสัมผัสที่ผิดวิธี โดยเฉพาะในคนไข้ที่ไม่ค่อยรู้สึกตัว หรืออยู่ในภาวะโคม่า ทำให้เกิดการต่อต้าน

คุณ Yves  เล่าว่า จากการสังเกตพบว่า พยาบาลไม่เคยถามหรือบอกคนไข้ ว่าจะทำอะไร  ไม่ถามว่าคนไข้พร้อมไหม หรือทำได้ไหม และส่วนใหญ่จะบอกว่า “อย่าขยับ อย่าลุกจากเตียง”  ทั้งๆ ที่คนไข้หลายรายสามารถทำได้ และคุณ Yves  บอกว่าการเคลื่อนไหว ลุกเดิน ลุกนั่งทำให้ผู้ป่วยมีสุขภาพดีขึ้น ลดโอกาสการนอนติดเตียง แต่พยาบาลทั่วโลก ก็ได้รับการสอนต่อๆ กันมาว่าให้ระวังผู้ป่วยตกเตียง ดังนั้นพยาบาลจึงไม่ให้ผู้ป่วยเคลื่อนไหวมาก จำกัดการเคลื่อนไหว

Humanitude care คืออะไร

Humanitude care คือเครื่องมือหรือ tool สำหรับการดูแลคนไข้ โดยการสื่อสารกับคนไข้ (communication) ทั้งการพูด การสบตา การสัมผัส แม้ว่าคนไข้นั้นจะอยู่ในภาวะติดเตียง โคม่า ไม่รับรู้ แต่ก็ต้องสื่อสาร ต้องสบตา

โดยยึดหลักพื้นฐานคือ เคารพการมีตัวตนของคนไข้ (respect) เคารพสิทธิคนไข้ แม้ว่าคนไข้จะไม่รับรู้ แต่ก็ต้องพยายามสื่อสารให้คนไข้รับรู้ ไม่บังคับ ไม่สั่งคนไข้ ไม่ผูกมัดคนไข้เพื่อทำการพยาบาล ให้การดูแล

ผู้เขียนจับใจความสำคัญได้ว่า การดูแลคนไข้ ต้องยึดคนไข้เป็นศูนย์กลาง เคารพคนไข้ โดยอาจจะแบ่งได้สามส่วนใหญ่คือ

  1.  Head ผู้ดูแล ควรมีความรู้ในโรคของผู้ป่วย การดำเนินโรค  เช่น dementia สูงวัย  มีความรู้เทคนิคในการใช้เครื่องมือต่างๆ เช่น Humanitude care
  2. Heart มีหัวใจในการดูแล อ่อนโยน ซึ่งส่วนใหญ่ผู้ดูแล ตลอดจนพยาบาลนั้นมีหัวใจที่พร้อมให้การดูแลอยู่แล้ว แม้แต่ลูกที่ต้องการดูแลพ่อแม่ ก็มีหัวใจ อยากดูแลด้วยความรัก แต่ขาดความเข้าใจในโรคของผู้สูงอายุ ขาดทักษะในการสื่อสารเป็นต้น
  3.  Hand มือที่คอยให้การดูแล พยาบาล ซึ่งเป็นช่องทางสำคัญในการติดต่อสื่อสารกับคนไข้ ด้วยการสัมผัส

ผู้เขียนวาดภาพสรุปจากความเข้าใจ ดังภาพวงกลมด้านล่าง

ภาพสรุปตามความเข้าใจของผู้เขียน



ตัวอย่างกรณีศึกษา

รายแรก คุณตา อายุ 90  ตอนแรก พยาบาล ผู้ดูแลจะให้การพยาบาล ทำความสะอาดปาก แต่คุณตาไม่ให้ความร่วมมือ ไม่เปิดปาก และจะงับนิ้วพยาบาลด้วย แต่เมื่อนำ Humanitude Care เข้ามาประยุกต์ใช้ ปรากฎว่า คุณตาให้ความร่วมมือและยิ้ม  ซี่งลูกชายของคุณตาบอกว่า ไม่เห็นคุณพ่อ ยิ้มมาสองปีแล้ว

อีกตัวอย่าง คุณตาที่ติดเตียงกว่าสองปี ไม่สามารถลุกเดินได้ กลับมาลุกเดินได้ และกายภาพบำบัดที่บ้านได้เอง  หรืออีกกรณี วีดีโอบันทึกภาพ คุณยาย อาบน้ำในอ่าง ถูกมัดตัวไว้ ร้องโวยวาย แต่พอนำ Humanitude มาใช้ คุณยาย ลุกมานั่งบนเก้าอี้ ยอมให้อาบน้ำยิ้มอย่างมีความสุข 

นอกจากนี้มีเทคนิคเล็กๆ น้อยๆ รายละเอียด อาทิขณะอาบน้ำให้คนไข้ไม่รู้สึกตัวโดยใช้ฝักบัวนั้น ก็ต้องใช้ผ้าห่อที่ปลายฝักบัวไม่ให้น้ำกระเด็นโดนคนไข้ด้วย ซึ่งท้ายวีดีโอ คนไข้ที่ไม่รู้สึกตัวรายนี้ ยิ้ม

คุณ Yves ได้เชิญอาจารย์พยาบาลที่ร่วมอบรมท่านหนึ่งมาสาธิต โดยคุณ Yves เป็นคนไข้ และอาจารย์พยาบาลจะมาอาบน้ำให้คนไข้  คุณ Yves บอกว่าแค่เริ่มแรก ก็ approach คนไข้ ไม่ถูกวิธีแล้ว ทำให้คนไข้ต่อต้าน (ส่วนวิธีที่ถูกเป็นอย่างไร โปรดอ่านตอนต่อไปค่ะ)

อ่าน Humanitude care เพิ่มเติม

http://www.humanitude.fr/

http://www.humanitude.pt/en/news/back-to-simple-things

https://exawizards.com/en/service/humanitude

อ่าน Humanitude care ในประเทศญี่ปุ่น เพิ่มเติมได้ที่    The Japan Times News

อ่านงานวิจัยบางส่วนเพิ่มเติม

Improvement of Behavioral and Psychological Symptoms of Dementia (BPSD) by Comprehensive Standardized Care Methodology Austin J Clin Neurol 2015; 2(9): 1073.

ผลของการให้การดูแลตามแนวคิดฮิวแมนนิจูดโดยผู้ดูแลในครอบครัวต่อภาวะซึมเศร้าของผู้สูงอายุโรคหลอดเลือดสมอง (The Effect of Using Humanitude Concept by Family Caregivers Care  on Depression in Older Persons with Stroke) วารสารพยาบาลทหารบก 2561

The effectiveness of French origin dementia care method; Humanitude to acute care hospitals in Japan. European Geriatric Medicine 2013




ภัทรพร คงบุญ

15 มีนาคม 2562

1 ทีมวิทยากรและผู้ประสานงาน ถ่ายภาพร่วมกับ ผู้อำนวยการ นายแพทย์สกานต์ บุนนาค ผอ. สถาบันเวชศาสตร์ฯ

2 นายแพทย์สกานต์ บุนนาค ผอ. สถาบันเวชศาสตร์ฯ กล่าวเปิดการอบรม

3 รศ.ดร.จิราพร เกศพิชญวัฒนา เล่าความเป็นมา Humanitude Care

4  วิทยากร คุณ Yves Gineste จบการศึกษาด้าน Physical Education

5 วิทยากร Dr. Honda Miwako จบกฎหมายและเรียนแพทย์ต่อ

ุ6 รศ.ดร.จิราพร เกศพิชญวัฒนา ช่วยแปลเป็นภาษาไทย

7 คุณพิชยนันท์ วัฒนวิทุกูร ทำหน้าที่ช่วยแปลเป็นภาษาไทย

8 คุณ Yves แสดงเป็นคนไข้และให้อาจารย์พยาบาลท่านนี้แสดงวิธีปฏิบัติเมื่อจะมาอาบน้ำให้คนไข้

Publication บางส่วน 



Publication บางส่วน 



ความเห็น (1)

ยิ่งกว่าไปฟังเองเลยค่ะ ขอบพระคุณอาจารย์มากค่ะ ขวัญตั้งใจจะไปฟังแต่ติดงานค่ะ แนวคิดนี้บางส่วนคล้ายวัฒนธรรมไทยเช่นการ approach ต้องก้มต่ำ เคยฟังโดยสังเขปแล้วนำมาใช้ ถือว่าเป็นประโยชน์มากค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท