เรื่องเล่า ดร.ผึ้ง ตอนที่ 20 Humanitude Care ตอนที่ 2 Humanitude care เทคนิคการ approach คนไข้


Humanitude Care ตอนที่ 1 Humanitude care คืออะไร กับกรณีศึกษา

วันที่ 13 มีนาคม 2562 ช่วงบ่าย คุณ Yves Gineste  อธิบายหลักการสื่อสารกับคนไข้ด้วย Humanitude care ดังนี้

1. การสบตา (Eye contact)

หากคนไข้ ไม่รับรู้ มองไปที่อื่นให้พยายามเรียกคนไข้ และสบตากับคนไข้ โดยจังหวะที่สบตานั้น สมองคนไข้จะรับรู้เป็นการสื่อสารไปที่สมอง  หลักสำคัญคือต้องมองสบตาคนไข้ จากประสบการณ์ของคุณ Yves Gineste พยาบาลจะไม่สบตา คนไข้ จะมองบริเวณที่ตนเองจะให้การพยาบาลเท่านั้น ซึ่งเมื่อขณะช่วงที่มองสบตากันนั้นจะส่งสัญญาณไปที่สมอง  โดยการมองสบตานั้นต้องมองในระยะใกล้ เพื่อให้คนไข้รับรู้ถึงความอ่อนโยน มิตรภาพ หรือมองในแนวเดียวกัน หรือระดับต่ำกว่า

2. การพูด (Speech)

เป็นการสื่อสารด้วยวัจนภาษา เพื่อส่งความรู้สึกนึกคิดไปยังคนไข้ เป็นการส่งสาร ให้ข้อมูล พูดในลักษณะให้กำลังใจ  หากคนไข้หูตึง ให้ใช้เครื่องมือช่วยขยายเสียง เช่นนำกระดาษมาม้วน แล้วพูดดังๆ ข้างหู เรียกคนไข้ บอกคนไข้ตลอดเวลา ว่ากำลังทำอะไร

3. การสัมผัส (Touch)

เป็นการสื่อสารแบบอวัจนภาษา ถ่ายทอดความรู้สึกไปยังคนไข้ แสดงความเอาใจใส่ ช่วยให้คนไข้เกิดความไว้วางใจ อบอุ่น ไม่รู้สึกว่าตนเองถูกทอดทิ้ง โดยการสัมผัสแบบ Humanitude care ต้องสัมผัสด้วยความอ่อนโยน (Tenderness) มีความสุข ความพอใจ (Pleasure) รู้สึกไว้วางใจ เชื่อใจ (Trust) โดยใช้เทคนิคสัมผัสแบบช้าๆ นุ่มนวล ทะนุถนอม

  • การสัมผัสตัวคนไข้นั้น โดยเฉพาะการให้การพยาบาลเช็ดตัว ต้องประเมินคนไข้ว่าคนไข้มีอาการอย่างไร โดยลำดับการเช็ดตัวคนไข้จะสัมพันธ์กับระบบประสาทการรับรู้สัมผัส  เนื่องจากผิวหนังแต่ละบริเวณมีหน่วยรับความรู้สึกสัมผัสแตกต่างกัน หากบริเวณใดมีหน่วยรับความรู้สึกสัมผัสมากกว่าส่วนอื่น บริเวณนั้นก็ไวต่อความรู้สึกมากกว่าผิวหนังบริเวณอื่น  ตัวอย่างดังภาพเปรียบเทียบอวัยวะที่มีขนาดใหญ่จะไวกว่าอวัยวะที่มีขนาดเล็ก เห็นได้ว่า มือและริมฝีปากเป็นส่วนที่รับความรู้สึกสัมผัสได้มากกว่าบริเวณอื่น

Credit ภาพจาก https://il.mahidol.ac.th/e-media/nervous/3_10.htm

ดังนั้นการให้การพยาบาลควรเริ่มเช็ดจากบริเวณที่ไวต่อการรับสัมผัสน้อยก่อน เช่น กรณีตัวอย่างคนไข้ไม่รู้สึกตัว จะเริ่มเช็ดจากบริเวณแผ่นหลัง ต่อไปจึงเช็ดบริเวณขา แล้วจึงค่อยมาเช็ดตัวด้านหน้า โดยขณะที่ทำการเช็ดตัวนั้นก็ต้องบอกคนไข้ให้ทราบด้วยว่ากำลังทำอะไร กำลังเช็ดส่วนไหน แม้ว่าคนไข้จะอยู่ในสภาพที่ไม่รับรู้ แต่ก็ต้องให้การพยาบาลโดยยึดหลักการเคารพคนไข้ เคารพการมีตัวตนของคนไข้ในฐานะมนุษย์ ดังนั้นต้องบอกคนไข้ เสมอว่าทำอะไร ขออนุญาตเสมอว่าจะทำอะไร  ซี่งจากวีดีโอ คนไข้มีการตอบสนอง แสดงว่าคุณ Yves Gineste สื่อสารไปถึงสมอง  โดยคุณ Yves Gineste ย้ำว่าพยาบาลไม่ใช่เครื่องจักรในการให้การพยาบาล ดังนั้นควรสื่อสารเพื่อกระตุ้นสมองของผู้ป่วยที่มีพยาธิสภาพที่สมอง ซึ่งการกระตุ้นสมองนั้น ทำได้โดยการให้ข้อมูลจากภายนอก ผ่านการพูด การสัมผัส การสบตา

คุณ Yves Gineste อธิบายว่า การสัมผัสด้วยท่าทางที่แตกต่างกัน แม้กระทั่งการจับมือทักทายแบบทางตะวันตก ยังสื่อความหมายต่างกัน ซึ่งผู้เขียนไปค้นข้อมูลเพิ่มเติม ดังแสดงในภาพ

Credit ภาพจาก http://blog.meraevents.com/2014/08/05/7-types-handshakes-mean/

คุณ Yves Gineste บอกว่า พยาบาล 100% ทั่วโลกปฏิบัติเหมือนกันหมด กล่าวคือ เมื่อถึงเวลาให้การพยาบาลคนไข้ จะเข้าไปจับแขนในลักษณะมือพยาบาลอยู่ด้านบน จับข้อมือคนไข้ เหมือนคนไข้ถูกจับกุม ลักษณะนี้ เป็นการส่งสัญญาณไปที่สมองคนไข้ ว่าพยาบาลเป็นศัตรู คนไข้ก็จะต่อต้าน ถอยหนี ขัดขืน แต่ Humanitude care จะสอนให้พยาบาลใช้มือช้อนข้อมือคนไข้ (มือพยาบาลอยู่ด้านล่าง)  ลักษณะนี้จะสื่อสารไปที่สมองคนไข้ในลักษณะที่พยาบาลเป็นมิตร คนไข้จะไม่ถอยหนี

Credit ภาพจาก การดูแลผู้สูงอายุภาวะสมองเสื่อมด้วย แนวคิดฮิวแมนนิจูด (Humanitude care)

คุณ Yves Gineste แสดงวิธีการจับมือในลักษณะการจับกุม

คุณ Yves Gineste แสดงวิธีการจับมือลักษณะจูงมือลูกสาว

คุณ Yves Gineste แสดงวิธีการจับมือที่พยาบาลมักจับข้อมือคนไข้ คนไข้ที่ dementia จะรู้สึกว่า พยาบาลเป็นศัตรู แล้วต่อต้าน

  • กรณีที่ต้องอาบน้ำให้คนไข้ พยาบาลจะต้องใช้มือหนึ่งข้างเข้าไปสื่อสารกับคนไข้ก่อน (มือนำ) แสดงความรักโดยการสัมผัส ให้คนไข้รับรู้ และมืออีกข้างซึ่งเป็นมือที่ให้การพยาบาล (technical hand) ค่อยเข้าไปสัมผัสทีหลัง เมื่อให้การพยาบาลเช็ดตัวเสร็จแล้ว ให้ดึงมือที่ให้การพยาบาลออกก่อน แล้วจึงค่อยชักมือที่ใช้สื่อสาร กับคนไข้กลับตามหลัง (มือที่สัมผัสก่อน เอาออกทีหลัง)

4.จัดท่าทางแนวตั้งตรง (verticality) คือช่วยจัดท่าทางให้คนไข้มีการเคลื่อนไหวร่างกายจากท่านอนเป็นท่านั่ง การยืน การเดิน เพื่อกระตุ้นการทำงานของระบบต่างๆ ในร่างกาย กระตุ้นระบบประสาทการรับรู้การสัมผัสในสมอง ให้รับรู้ลักษณะร่างกายตนเอง

  • การช่วยพยุงคนไข้ลุกเดิน  กรณีที่คนไข้ไม่ค่อยมีแรง นั่งรถเข็น เดินไม่ค่อยได้ ส่วนใหญ่ พยาบาลจะช่วยพยุงเดินในลักษณะหิ้วปีก ซึ่งคนไข้ส่วนใหญ่จะทรุดตัวลง ทิ้งตัวลง ในลักษณะไม่มีแรง ซึ่ง คุณอีฟ อธิบายว่า ต้องใช้หลักการการพยุง โดยเมื่อใช้มือสอดด้านใต้แขนคนไข้แล้ว (ไม่สอดใต้รักแร้) ช่วยประคองคนไข้ลุกขึ้นยืน เมื่อคนไข้ทิ้งน้ำหนักตัวลงลักษณะขาอ่อนแรง ให้คนพยุง ใช้น้ำหนักตัวกดไปที่ไหล่คนไข้ ให้ขาคนไข้รับน้ำหนักมากขึ้น โดยประมาณการว่าให้ขารับน้ำหนักเท่าน้ำหนักตัวคนไข้  เมื่อขารับน้ำหนักมากขึ้น จะส่งสัญญาณไปที่สมองว่าน้ำหนักคนไข้ถึงระดับปกติแล้วนะ สมองจะสั่งการให้ขาเหยียดยืนขึ้น เพื่อต้านน้ำหนักขึ้นมา  
  •  ตัวอย่างคนไข้หนัก 50 กิโลกรัม เมื่อคนพยุงช่วยพยุงลุกยืน (หิ้วปีก) ขาจะรับน้ำหนักประมาณ 40กิโลกรัม คนไข้จะทิ้งตัวลงไปที่พื้น เสมือนขาอ่อนแรง   ให้คนพยุงกดน้ำหนักไปที่ไหล่เพิ่มประมาณ 10 กิโลกรัม เมื่อขารับรู้ว่ามีน้ำหนักกดลงมาที่เท้า 50 กิโลกรัม จะส่งสัญญาณไปที่สมองให้ขาเหยียดยืนขึ้น ต้านน้ำหนักที่กดทับลงไป

คุณ Yves Gineste และ Dr. Honda Miwako สาธิตวิธีการช่วยพยุงคนไข้ลุกขึ้นยืน

คุณ Yves Gineste แสดงเป็นคนไข้ที่แขนขาอ่อนแรง และพยาบาลต้องเข้ามาช่วยพยุง

โดยสรุป

Humanitude care เน้นการสื่อสารกับคนไข้ โดย

  • การมองสบตา (eye contact)
  • การพูด (speech)
  • การสัมผัส (touch)
  • จัดท่าทางแนวตั้งตรง (verticality)

ทั้งนี้ต้องประยุกต์ใช้อย่างผสมผสานและแตกต่างเฉพาะบุคคล เพราะคนไข้แต่ละคนแตกต่างกัน บางคนอาจจะมีพยาธิสภาพที่สมอง บางคนอาจจะมีพยาธิสภาพที่ระบบการเคลื่อนไหว ประสาทสัมผัส เป็นต้น

อนึ่งผู้เขียนไม่ได้เข้าอบรมวันที่ 14 -15 มีนาคม 2562 หากบทความนี้มีข้อผิดพลาดหรือต้องแก้ไขประการใด รบกวนท่านที่เข้าอบรม แสดงความเห็นเพิ่มเติมได้เลยค่ะ

เพิ่มเติม humanitude

The concept of humanitude as applied to general nursing care

Humanitude care methodology: difficulties and benefits from its implementation in clinical practice

การดูแลผู้สูงอายุภาวะสมองเสื่อมด้วย แนวคิดฮิวแมนนิจูด (Humanitude care)

A Novel Video-based education and analysis system for caregivers of cognitively impaired seniors

ผู้เขียนไปค้นข้อมูลเพิ่มเติม เกี่ยวกับจิตวิทยา การวางมือ หรือการจับมือ อ่านเพิ่มเติม

The way you hold hands with your partner reveals a lot about your relationship

Concept humanitude from Pattie KB

ภัทรพร คงบุญ

18 มีนาคม 2562

แก้ไข 25 มีนาคม 2562

หมายเลขบันทึก: 660732เขียนเมื่อ 27 มีนาคม 2019 06:00 น. ()แก้ไขเมื่อ 27 มีนาคม 2019 13:13 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (4)

ขอบพระคุณค่ะอาจารย์

เป็นพยาบาลมานานค่ะ การอ่านเรื่องราวนี้เราสามารถนำมาใช้กับคนในครอบครัวได้ ขอบคุณค่ะ

ทดลองทำตามแล้วนะคะ ดีกว่าที่เคยทำ ขอบคุณค่ะอาจารย์

ขอบพระคุณาำหรับเนื้อหาเพิ่มเติมครับ ผมเป็นพยาบาลที่อยู่รพ.สต.ได้ศึกษามาประมาณ 1 ปีแล้วนำมาใช้กับผู้ป่วยทุกกลุ่มวัยในชุมชนได้ดีมากครับทั้งญาติและเราดูแลง่ายขึ้นมากเลยครับ โดยเฉพาะที่ผมนำมาใช้กับผู้สูงอายุติดเตียง มีความสุขในการดูแลมากครับที่ได้ใช้เทคนิคนี้

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท