ผมเล่าเรื่องชีวิตยามสมองเสื่อมของสาวน้อยเป็นระยะๆ (๑) (๒) (๓) (๔) (๕) (๖) (๗) (๘) (๙) (๑๐) (๑๑) (๑๒) ๑๓ ๑๔ ๑๕ ๑๖ ๑๗ (๑๘) (๑๙) (๒๐) (๒๑) (๒๒) (๒๓) (๒๔) (๒๕) (๒๖) (๒๗) ๒๘ ๒๙ ๓๐ ๓๑ ๓๒ ๓๓ ๓๔ ๓๕ (๓๖) (๓๗) (๓๘) (๓๙) (๔๐) (๔๑) (๔๒) เพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้ประสบการณ์กับท่านผู้อื่นที่ต้องเผชิญสภาพคล้ายๆ กัน ที่นับวันจะมีจำนวนมากขึ้น
เดินทางไปชุมพร
เราเดินทางไปทำบุญให้แก่บรรพบุรุษที่ชุมพรครั้งสุดท้ายเมื่อเดือนกรกฎาคม ๒๕๖๓ (๑) ซึ่งเป็นช่วงโควิด ตอนนั้นหมออมรายังช่วยตัวเองได้มากกว่านี้อย่างชัดเจน
คราวนี้ลูกสาวต้องให้แรงจูงใจว่าไปกินทุเรียน เธอจึงกระปรี้กระเปร่า และยินดีตื่นนอน และแต่งตัวออกเดินทาง เช้าวันศุกร์ที่ ๗ ตุลาคม ๒๕๖๕ โดยคุณหมี โชเฟอร์ประจำตัวผมเป็นผู้ขับรถโตโยต้าคัมรีอายุ ๑๔ ปีของเราไป
เธอไม่อยู่ในฐานะดูแลตนเองได้แล้ว ไม่คิดตระเตรียมเสื้อผ้าและเครื่องใช้ใดๆ เลย ผมเป็นผู้จัดการทั้งหมด และขอให้ลูกสาวช่วยเตรียมเครื่องสำอางให้ เพราะยามไปงาน เธอจะถามหาแป้งและลิปสติก
เราอยู่ที่ไหน
คืนวันที่ ๗ ตุลาคม ๒๕๖๕ ที่โรงแรมนานาบุรี จังหวัดชุมพร สาหัสมากสำหรับผม บอกผมว่า การดูแลคนสมองเสื่อมนั้น ควรให้อยู่ในสภาพที่เคยชิน จะสะดวกต่อทั้งผู้ป่วยและผู้ดูแล
ที่โรงแรม เนื่องจากเป็นโรงแรมราคาถูก (คืนละ ๗๕๐ บาท รวมอาหารเช้า) สิ่งอำนวยความสะดวกจึงไม่ดีนัก การอาบน้ำให้ ไม่สะดวก การขึ้นนอนบนเตียง ไม่สะดวก (ที่จริงไม่เคยชินมากกว่า) ทำให้เธออารมณ์เสีย และขึ้นนอนบนเตียงโดยยังไม่ได้กินยาค่ำ ยังไม่ได้สวมเสื้อกันหนาวแขนยาว และยังไม่ได้สวม pampers ทำให้ผมต้องสวม pampers ให้อย่างทุลักทุเล และตัดสินใจไม่รบกวนให้เธอลุกขึ้นกินยา
มีผลทำให้เธอหลับไม่สนิท และถามผมหลายครั้งว่า “เราอยู่ที่ไหน” ในช่วงที่เคยนอนหลับสนิทอยู่ที่บ้าน
เพราะนอนแบบไม่ถูกต้องตามที่ควรจะเป็น ทำให้เธอนอนที่ปลายเตียง โดนลมแอร์ และตอนตีสองบ่นว่าหนาว ผมได้โอกาสชวนลุกขึ้นกินยา สวมเสื้อกันหนาว และขึ้นนอนใหม่ให้อยู่ในตำแหน่งที่นอนสบาย ช่วยให้เธอนอนหลับยาวได้
ยังจำหมอเล็กได้
เธอคงจะผูกพันกับ นพ. วิชัย พานิช (ชื่อเล่นว่าเล็ก) น้องชายคนถัดจากผม ที่อยู่ที่เชียงรายและช่วยเธอลงทุนซื้อที่ดิน แล้วช่วยขายให้ เมื่อพบกันเย็นวันที่ ๗ ตุลาคม เธอจึงจำได้ แต่น้องและน้องสะใภ้คนอื่นๆ เธอจำไม่ได้ แต่ก็คุยด้วยอย่างดี และบอกว่าสนุก ได้พบคนมาก
เดี๋ยวนะ จะไปเปิดประตูให้
คืนวันที่ ๗ ต่อวันที่ ๘ ตุลาคม ที่ห้อง ๒๐๗ โรงแรมนานาบุรี ตอนราวๆ ตีหนึ่ง เธอลุกขึ้นนั่งและพูดว่า “เดี๋ยวนะ จะไปเปิดประตูให้” แสดงว่า เธอมีอาการประสาทหลอนทางหู (auditory hallucination) อย่างที่เคยเกิดตอนนอนที่บ้าน เตือนผมให้ระมัดระวังว่าเธออาจเปิดประตูบ้านแล้วเดินหายตัวไป แต่ในคืนนั้นผมตื่นขึ้นมาเรียกให้เธอนอนต่อ
ทักษะขึ้นรถ
วันที่ ๗ – ๙ ตุลาคม เรานั่งรถโตโยต้า คัมรี คันเก่าอายุ ๑๖ ปีไปชุมพร โดยมีคุณหมีเป็นโชเฟอร์ ดังเล่าแล้ว ช่วยให้เราเห็นความขึ้นๆ ลงๆ ของอาการสมองเสื่อม จากการสังเกตความสามารถในการขึ้นลงจากรถเก๋งของเธอ
วันที่ ๗ ตลอดวัน เธอขึ้นลงรถแบบคนขาแข็ง และไม่รู้ท่าของการขึ้นและลง แต่วันที่ ๘ ทำได้เองอย่างค่อนข้างคล่อง
ทักษะสังคม
ช่วง ๑๐ - ๑๓ น. วันที่ ๘ ในงานทำบุญเลี้ยงพระ และเลี้ยงญาติ ที่วัดหัวถนน เป็นช่วงที่ญาติๆ และมิตรสหายที่เคารพนับถือพ่อแม่ของผมมาชุมนุมกัน บางคู่มาจากชัยนาท ทุกคนจะมาทำความเคารพผมกับหมออมรา ในฐานะผู้มีอาวุโสสูงสุดในหมู่ลูกๆ ของพ่อแม่ จะเห็นว่า หมออมราแม้จะจำใครไม่ได้ แต่ก็ยิ้มร่ารับไหว้อย่างมีไมตรี แต่หากถามว่าจำได้ไหม ก็จะยิ้มและส่ายศีรษะอย่างอารมณ์ดีแถมขออภัย
เป็นทักษะสังคมที่ยังคงอยู่
ให้ช่วยตัวเองให้มากที่สุด
ไปชุมพรคราวนี้ ผมป้อนอาหารให้เธอตลอดทาง ในวันงานเลี้ยงพระ และเลี้ยงญาติ เที่ยงวันที่ ๘ ตุลาคม น้องสะใภ้ พญ. สุภาภรณ์ พานิช นั่งกินอาหารเที่ยงด้วยกัน เธอมีพ่อแม่สูงอายุเกือบ ๙๐ ปีทั้งคู่ จึงรู้วิธีดูแลผู้สูงอายุ เมื่อเห็นผมป้อนอาหารให้หมออมรา เธอก็ถามเจ้าตัวว่าตักกินเองได้ไหม จะได้ออกกำลังกล้ามเนื้อมัดเล็ก และชักชวนหมออมราให้ตักอาหารกินเอง แม้จะตกๆ หล่นๆ
ได้รถชวนผู้สูงอายุเดิน รถมือสองจากญี่ปุ่น
น้องชายและน้องสะใภ้ (นพ. วิโรจน์ - พญ. สุภาพร พานิช) ติดใจรถมือสองจากญี่ปุ่น ที่อาฤดี (อายุ ๘๗) ซื้อที่ชุมพร สำหรับใช้เป็นรถช่วยเดิน มีเบรก มีที่ใส่ของ และที่นั่ง ต้องการซื้อให้แม่ยาย (อายุ ๘๘ และเพิ่งผ่าตัดกระดูกต้นขาหัก) ใช้ฝึกเดิน ไปพบมีขายที่สุราษฎร์ธานี จึงซื้อส่งมาให้ ๑ คัน
เย็นวันที่ ๑๕ ตุลาคม ลองเอาไปเดินออกกำลัง ใช้การได้ดีมาก เอารูปมาโชว์ เพื่อแนะนำท่านที่ต้องการ ในกรุงเทพน่าจะมีขาย
ตื่นนอนแต่ลุกไม่ขึ้น บ้านหมุน
เช้าวันที่ ๒๔ ตุลาคม ๒๕๖๕ เกือบ ๘ น. เธอยังไม่ตื่นเดินออกมาหน้าบ้านเอง ผมจึงเดินเข้าไปดูที่ห้องนอน พบว่าตื่นแล้วแต่ลุกขึ้นทีไรบ้านหมุน ผมเข้าไปช่วยก็ไม่สำเร็จอยู่นาน ๒ ชั่วโมง ชวนลุกขึ้น พอตัวตั้ง ๔๕ องศา ก็บอกว่าบ้านหมุน ล้มลงนอนใหม่หลายครั้งมาก จนผมปล่อยให้นอนและชวนลองลุกขึ้นเป็นระยะๆ จน ๑๐ น. เธอบ่นปวดอุจจาระ จึงลองค่อยๆ ลุกขึ้นและพยุงเดินไปเข้าห้องน้ำได้
ออกจากห้องน้ำ ผมพาไปนั่งที่โซฟาหน้าทีวี ที่นั่งดูทีวีประจำ นั่งอยู่จนบ่ายจึงลุกขึ้นเดินได้ตามปกติ ตอนเย็นก็ออกไปเดินออกกำลังได้
ผมใจชื้น ที่วันรุ่งขึ้นเธอตื่นและลุกจากเตียงได้ตามปกติ แถมยังใส่ฟันปลอมเองได้ด้วย เรื่องใส่ฟันปลอมนี้ในช่วง ๑ สัปดาห์ก่อนผมต้องไปเอามาให้เธอใส่
สะท้อนสภาพขึ้นๆ ลงของความเสื่อม
เช้าวันที่ ๓๐ ตุลาคม เมื่อผมไปปลุกให้เธอลุกขึ้น เพราะเลยเวลา ๘ น. ไปมากแล้ว พบว่าเมื่อลุกขึ้นบ้านหมุนอีก ตอนนี้ผมรู้แล้วว่า อาการไม่ได้เกิดจากความดันโลหิตต่ำ (เพราะผมวัดความดันเช้าเย็นและพบว่าความดันของเธอปกติไปถึงค่อนข้างสูง) น่าจะเกิดจากปัญหาของระบบหูชั้นใน อย่างที่ อ. หมอยงชัยสันนิษฐานเมื่อวันที่ ๒๖ ผมจึงฝืนให้เธอนั่งสักครู่ก็หาย
ไปหาหมอ
เดือนที่แล้วเธอเบี้ยว ไม่ยอมไปพบหมอตามนัด ด้วยข้ออ้างว่าที่โรงพยาบาลคนแน่นไม่อยากไป และตอนนั้นผมอยู่กับเธอสองคน ลูกสาวไม่อยู่ ไม่มีคนช่วยปะเหลาะ เดือนนี้หมอ (รศ. นพ. ยงชัย นีละนนท์) นัด ๑๒ น. วันที่ ๒๖ ตุลาคม ลูกสาวช่วยกันวางแผน (หลอก) พาแม่ไปให้ได้
ลูกสาวคนที่ ๒ หลอกว่า พาไปบ้านลูกชาย มาปลุกตอน ๖ น. กว่าจะลุกขึ้นได้ ก็ต้องปลุกถึง ๔ ครั้งจึงลุกขึ้น และกว่าจะออกจากบ้านได้ก็ ๗.๐๐ น. ไปถึง รพ. ศิริราช ๘.๐๐ น. คุณฝน หัวหน้าหน่วย R2R กับคุณอิน และคุณเกด มาอำนวยความสะดวก นั่งรถเข็นไปอาคารผู้ป่วยนอกชั้น ๒ ตรงหน่วยเจาะเลือด ไปนั่งรออยู่ประมาณ ๑๕ นาทีในสภาพที่ผู้ป่วยมากจริงๆ (ดูรูป) โชคดีที่เธอไม่บ่น ทั้งเธอและผมได้เจาะพร้อมๆ กัน โดยเธอเจาะตรงที่บริการผู้ป่วยนั่งรถเข็น ผมเดินเข้าไปเจาะภายในห้องเจาะที่จัดใหม่สะดวกขึ้นมาก ระบบบริการดีมาก และเจ้าหน้าที่ก็ทำงานรวดเร็ว และอัธยาศัยดี แต่ผู้ป่วยรอมากเต็มห้อง
หลังจากนั้นเราไปนั่งกินอาหารเช้าที่เตรียมไป ที่ห้องอาหารชั้น B1 ของอาคารใหม่ติดกับอาคารผู้ป่วยนอกที่ผมลืมชื่อ กินเสร็จก่อน ๙ น. เล็กน้อย แล้วลูกสาวพาเธอนั่งรถไปบ้านลูกชายที่บางขุนนนท์ ผมไปตรวจ เอ็กซเรย์ปอด และตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ แล้วนั่งแท็กซี่ไปสมทบที่บ้านลูกชาย ลูกชายเลี้ยงอาหาร brunch แล้วนั่งพักคุยและงีบหลับ
ลูกชายเอาอัลบั้มรูปเก่าๆ ที่ผมเอามาเก็บไว้ที่บ้านนี้ตอนย้ายกลับจากหาดใหญ่ มาอยู่คอนโด แต่คอนโดแคบจึงเอาของมาเก็บไว้ที่นี่จนลืม เอามาให้แม่ดู ผมจึงได้รูปสมัยสาวๆ มาให้ดู
เรากลับไปให้หมอตรวจที่ชั้น ๔ อาคารศูนย์โรคหัวใจสมเด็จพระบรมราชินีนาถ พบว่าความดันโลหิตของเธอค่อนข้างต่ำ หมอจึงสั่งงดยาขยายหลอดเลือด และนัด ๑๕ สัปดาห์ โดยส่งให้หมอหูช่วยวินิจฉัยเรื่องบ้านหมุนด้วย ส่วนของผมผลตรวจดีทุกอย่าง หมอนัด ๘ เดือน
เธอไม่บ่นเรื่องไปตรวจที่โรงพยาบาลเลย
มีคนมาเรียก
เช้าวันที่ ๒๙ ตุลาคม เธอตื่นเช้ากว่าปกติ คือก่อน ๗ น. และมาบอกผมว่า มีคนมาเรียก บอกว่าไม่มีคนมาเรียกก็ไม่เชื่อ กระวนกระวายว่ามีคนมาหา โดยมาเรียกที่หลังบ้าน
วิจารณ์ พานิช
๓๑ ต.ค. ๖๕
1 อาหารเช้าวันที่ ๑๕ ต.ค. ๖๕ มะเขือเทศสีดา
2 รถชวนผู้สูงอายุเดินมือสองจากญี่ปุ่น
3 เดินเหนื่อยนั่งพักได้ มีห้ามล้อ
4 เดินออกกำลังเย็นวันที่ ๒๔ หลังจากเวียนศีรษะในตอนเช้าลุกไม่ขึ้นอยู่ ๒ ชั่วโมง
5 ที่นั่งพักประจำวัน
6 วันที่ ๒๖ ตุลาคม ๒๕๖๕ รอเจาะเลือดที่ตึกผู้ป่วยนอก ศิริราช
7 ถ่ายปี ๒๕๐๙ ที่บ้านบางโพธิ์
8 ถ่ายวันที่ ๑ ก.พ. ๒๕๓๓ ข้างบ้าน ๓ ทับ ๔ ในหมู่บ้านเก่า มอ. หาดใหญ่
ไม่มีความเห็น