ชีวิตที่พอเพียง 4238. อยู่กับผู้ป่วยโรคสมองเสื่อม (๓๘) บันทึกเดือนพฤษภาคม ๒๕๖๕ 


 

ผมเล่าเรื่องชีวิตยามสมองเสื่อมของสาวน้อยเป็นระยะๆ () ((๓)  (๔)  (๕)  (๖)   (๗)   (๘)   (๙)   (๑๐)   (๑๑)    (๑๒)   ๑๓   ๑๔   ๑๕  ๑๖  ๑๗  (๑๘)  (๑๙)  (๒๐)  (๒๑)   (๒๒)  (๒๓)   (๒๔)   (๒๕)   (๒๖)    (๒๗)    ๒๘  ๒๙   ๓๐   ๓๑   ๓๒   ๓๓   ๓๔   ๓๕   (๓๖)   (๓๗)  เพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้ประสบการณ์กับท่านผู้อื่นที่ต้องเผชิญสภาพคล้ายๆ กัน ที่นับวันจะมีจำนวนมากขึ้น 

 

เดือนพฤษภาคม ๒๕๖๕ ผมไปประชุมที่เมือง Annecy (อ่านว่า อ๊านซี) ประเทศฝรั่งเศส    โดยเดินทางไปคืนวันที่ ๑๕  กลับเย็นวันที่ ๒๑   เป็นครั้งแรกในเวลาเกือบสามปีที่ผมจากไปนาน ๑ สัปดาห์   ให้ลูกสาวคนโตสองคนช่วยกันดูแลแม่   

แต่เราก็พบกันทุกวัน ผ่านทาง Line Video call    โดยผมเรียกมาเวลาระหว่าง ๑๒ - ๑๓ น. ของฝรั่งเศสซึ่งเวลาช้ากว่าบ้านเรา ๕ ชั่วโมง   ลูกสาวบอกว่า แม่บ่นทุกวันว่าพ่อไปไหน  เมื่อไรจะกลับ    โลกสมัยนี้สะดวกจริงๆ   อยู่ไกลกันแค่ไหนก็คุยกันได้แบบเห็นหน้ากัน    แถมยังฟรีเสียด้วย

เดือนนี้มีนัดไปให้ รศ. นพ. ยงชัย นีละนนท์ ตรวจ    โดยไปตรวจ MRI สมองก่อน ๑ สัปดาห์   และไปเจาะเลือดตรวจตอนเช้าวันที่หมอนัด      วันพบหมอวันที่ ๒๕ เวลา ๑๑ น.   ได้รับคำชมว่าค่าไตดีขึ้น  ค่าโคเลสเตอรอลก็ดีขึ้น  แต่ค่า triglyceride สูง    หมอจึงเพิ่มยาให้อีกอย่างหนึ่ง    และได้รับคำติว่าอ้วนขึ้นมากไป    ขอให้พยายามลดน้ำหนัก   

การไปโรงพยาบาลเป็นเรื่องที่เธอไม่ชอบ    และจะปฏิเสธ ผมต้องคะยั้นคะยอ    และบอกว่าจะมีคนมาอำนวยความสะดวกอย่างดี ไม่ต้องรอนาน    เราได้รับความกรุณาจากหัวหน้าหน่วย R2R ของศิริราช ให้เจ้าหน้าที่มาอำนวยความสะดวกถึง ๒ คน (คุณเกด กับคุณอิน)   เพราะต้องช่วยกันติดต่อหลายที่   ตอนไปตรวจเราให้เธอนั่งรถเข็นตลอดเวลา   เธอจึงรู้สึกผ่อนคลาย             

เหตุการณ์หูแว่วเกิดขึ้น ๑ ครั้ง คืนวันที่ ๒๗   เธอลุกขึ้นเดินไปเปิดประตูห้องนอน ตอน ๒๑.๔๕ น.   ผมยังหลับไม่สนิท     เมื่อเธอลุกขึ้นผมจึงรู้ตัว    และถามเธอว่าจะไปไหน    เธอทำท่างงๆ ลังเล   ว่าจะไปเปิดประตู    ผมบอกให้เธอกลับมานอน เธอก็เดินกลับมา     ผมสงสัยว่า หากผมไม่ตื่นจะเกิดอะไรขึ้น    หากเธอเดินออกจากบ้านหายไป ก็จะเป็นเรื่องใหญ่วุ่นวาย   เราจึงใส่กุญแจบ้านอีกชั้นหนึ่งและซ่อนลูกกุญแจไม่ให้เธอหาพบ     

ตอนอาบน้ำให้ เวลาราวๆ ทุ่มเศษๆ เธอมักถามว่าคุณชื่ออะไร   ถามบ่อยมาก    ผมจะตอบว่า “ไม่มีคุณ มีแต่พี่วิจารณ์”  เธอจะหัวเราะและกลับได้สติทุกครั้ง   

ตอนอาบน้ำเช่นเดียวกัน เธอจะถามบ่อย ว่ากินข้าวหรือยัง   ทำไมยังหิว    เข้าใจว่าเธอรู้สึกหิวบ่อยกว่าปกติ    บางวันตอนจะเข้านอนก็บอกว่า ต้องไปแปรงฟันก่อน  ทั้งๆ ที่แปรงแล้วตอนอาบน้ำเสร็จ   

ลูกๆ กับผมเริ่มปรึกษากันเรื่องหาผู้ดูแลมาช่วย    ลูกสาวมีเพื่อนช่วยแนะนำคนที่ทำงานดี อายุ ๕๖ ปี    มีประสบการณ์ดูแลผู้ป่วยใกล้ตาย และผู้สูงอายุ ทำงานดี    ช่วยดูแลทำความสะอาดบ้านได้ด้วย    เขาเรียกค่าบริการเดือนละ ๒๔,๐๐๐ บาท กินอยู่กับเรา     เรากำลังพิจารณาว่าถึงเวลาแล้วหรือยัง    เพราะต่อไปโควิดจาง ผมจะออกจากบ้านมากขึ้น    ลูกสาวบอกว่า ข้อดีคือเขาจะมาช่วยชวนแม่คุย และชวนออกกำลังได้มากขึ้น 

วิจารณ์ พานิช          

๓๑ พ.ค. ๖๕ 

 

 

 

 

1 ๑๗ พ.ค. ๖๕

2 ๑๘ พ.ค.

3 ๑๘ พ.ค.

4 ๒๑ พ.ค.

 

5 ๒๔ พ.ค. ๖๕

หมายเลขบันทึก: 703053เขียนเมื่อ 14 มิถุนายน 2022 17:14 น. ()แก้ไขเมื่อ 14 มิถุนายน 2022 17:14 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท