ชีวิตที่พอเพียง 4379. อยู่กับผู้ป่วยโรคสมองเสื่อม (๔๕) บันทึกเดือนธันวาคม ๒๕๖๕ 


 

ผมเล่าเรื่องชีวิตยามสมองเสื่อมของสาวน้อยเป็นระยะๆ () ((๓)  (๔)  (๕)  (๖)   (๗)   (๘)   (๙)   (๑๐)   (๑๑)    (๑๒)   ๑๓   ๑๔   ๑๕  ๑๖  ๑๗  (๑๘)  (๑๙)  (๒๐)  (๒๑)   (๒๒)  (๒๓)   (๒๔)   (๒๕)   (๒๖)    (๒๗)    ๒๘  ๒๙   ๓๐   ๓๑   ๓๒   ๓๓   ๓๔   ๓๕   (๓๖)   (๓๗)    (๓๘)   (๓๙)   (๔๐)   (๔๑)   (๔๒)  (๔๓)   (๔๔)  เพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้ประสบการณ์กับท่านผู้อื่นที่ต้องเผชิญสภาพคล้ายๆ กัน ที่นับวันจะมีจำนวนมากขึ้น   

 

อยู่กับ “หลานเลี้ยง”

เพราะเป็น “พี่เลี้ยง” (care giver) คนแก่    เราจึงคิดว่าตอนนี้คุณยายมี care giver หลานเลี้ยง    ที่ดูจะเป็นที่พอใจของคุณยาย   เพราะดีกว่าอยู่กับผมสองคนมาก   ตอนอยู่กับผม และผมยุ่งกับประชุมออนไลน์   บางวันการกินอาหารเที่ยงก็ต้องกินเอง   ตอนนี้มีหลานป้อน พอใจมาก

แต่หลานที่ทำหน้าที่ care giver ก็มีความต้องการในชีวิตของเขา    จึงสมัครใจอยู่ถึงวันที่ ๒๗ ธันวาคมเท่านั้น   

 

วิธีชวนคนไม่มีอารมณ์ไปเที่ยว

ลูกสาวคนเล็กนัดเอารถตู้มารับแม่ไปเที่ยวสุพรรณ เช้าวันที่ ๑๒ ธันวาคม    เมื่อเขามาถึงเวลา ๘ น. แม่เกิดอารมณ์ บ่ จอย จากอะไรก็ไม่ทราบ   ไม่ยอมไป    ทั้งๆ ที่แต่งตัวให้แล้ว 

ลูกสาว ๓ คน รวมทั้งผม ช่วยกันเกลี้ยกล่อมก็ไม่สำเร็จ   ต้องปล่อยให้ไปดูทีวีประมาณครึ่งชั่วโมงแล้วผมไปชวน จึงสำเร็จ   

นี่คือข้อเรียนรู้ว่า    วิธีแก้ปัญหาคือ ปล่อยให้ลืม    ใช้เวลาไม่นาน 

รถตรงไปอุทยานมังกรสวรรค์    ไปถ่ายรูป และนั่งรอตรงตลาดทางเข้า    ให้ลูกสาวสองคนเขาไปเดินชมและถ่ายรูป    แล้วไปกินอาหารเที่ยงที่ร้านกุ้งเป็น อ. สามชุก   ที่ลูกสาวเขาติดใจรสชาติอาหาร      คุณอัญชลี คุรุธัช (ที่เคยพาเราเที่ยวซาน ฟรานซิสโกเมื่อ ๑๑ ปีที่แล้ว    ที่ผมเล่าไว้ ที่นี่) มาพบเราเข้าโดยบังเอิญ    จึงได้ถ่ายรูปร่วมกันเป็นที่ระลึก     แล้วลูกสาวไปซื้อของที่ตลาดร้อยปีสามชุก    เรานั่งรอในรถตามเคย    เพราะเธอเดินไม่สะดวก   ระหว่างรับประทานอาหารเที่ยง เธอมีความสุขมาก 

   แต่เมื่อกลับถึงบ้านก็ลืมหมดแล้ว ว่าไปเที่ยวที่ไหนมาบ้าง    ไปทำอะไร 

 

ไม่ไว้ใจ care giver

วันที่ ๒๐ ธันวาคม ๒๕๖๕ ผมออกไปประชุมข้างนอก   เมื่อกลับถึงบ้านตอนเกือบ ๑๖ น. แม่บ้านของลูกสาวก็รายงานว่า    เธอแสดงท่าทีระแวงต่อ แบม ที่เป็น care giver เกือบตลอดเวลาที่ผมไม่อยู่   แม่บ้านต้องมาเป็นเพื่อน และให้แบมหลบไปเสีย

ตอนที่ผมกลับมาถึง เธอก็ยังแสดงท่าทีไม่ไว้ใจ   ผมจึงบอกให้แบมหลบไปเสีย   หลังจากนั้นราวๆ ๑ ชั่วโมง   แบมมาป้อนอาหารเย็น  และอาบน้ำได้อย่างราบรื่น    โดยเธอลืมเรื่องระแวงไปหมดแล้ว

วันที่ ๒๑ อาการระแวงโผล่มาอีก แต่ไม่รุนแรง   

 

ยังไม่ได้กินข้าวเย็น

เย็นวันอาทิตย์ที่ ๒๕ ธันวาคม ๒๕๖๕ วันคริสต์มาส    ผมไปงานศพ ศ. ดร. เอกวิทย์ ณ ถลาง    กลับมาทุ่มครึ่ง   เข้าใจว่าเธอกำลังอาละวาดกับแบมผู้เป็น care giver    เมื่อผมกลับมาถึง แบมจึงหลบไปทันที   หมออมราบอกผมว่ายังไม่ได้กินข้าวเย็น  โดยพูดไม่เป็นภาษา  คล้ายจะบอกว่า แบมเอาข้าวของเธอไปกิน    ผมบอกว่ากินแล้ว    จนอาบน้ำแปรงฟันแต่งชุดนอนแล้ว    เธอก็ไม่เชื่อ   

เมื่อเอายามื้อค่ำให้กิน    เธอไม่ยอมกิน อ้างว่ายังไม่ได้กินข้าว    ผมต้องป้อนแบบยัดเข้าปาก    โชคดีที่เธอยอมกลืนและดื่มน้ำตาม       

จนเวลาสองทุ่มครึ่ง เธอก็ยังไม่ยอมนอน    และพูดไม่เป็นภาษา    ยืนยันให้ไปซื้ออาหารมาให้เธอกิน     ในที่สุดต้องโทรไปขอความช่วยเหลือจากลูกสาว (มุทิตา)   เธอมาถึงก็หาทางเบี่ยงเบนความสนใจ   เอารูปหลานที่สิงคโปร์ให้ดู   ชวนคุยเรื่องครอบครัวลูกสาวคนเล็กที่สิงคโปร์    เมื่อวนกลับมาที่เรื่องเข้านอน เธอก็บอกว่ายังไม่ได้กินข้าว     แต่เสียงอ่อนลง    ลูกสาวชวนคุยไปเรื่อยๆ   

เธอก็พูดแบบสับสนไปเรื่อยๆ   จนในที่สุดเธอไม่พูดเรื่องยังไม่ได้กินข้าว    และยอมเข้านอน    โดยบอกว่าต้องกินยานอนหลับด้วย   ผมก็โมเมเอายาที่ช่วยการนอนและลดอาการหลงผิดครึ่งเม็ดให้กิน    จนสามทุ่มเศษจึงเข้านอน    และนอนหลับสนิทตลอดคืน

เหตุการณ์นี้สอนว่า วิธีแก้ปัญหาโดยอธิบายเหตุผลของพ่อ (reassure) ของพ่อ ใช้ไม่ได้    ต้องใช้กลยุทธเบี่ยงเบนความสนใจ (distract) ของลูกสาว    โดยต้องค่อยๆ ชวนคุยเรื่องโน้นเรื่องนี้ ไปเรื่อยๆ จนลืมเรื่องเดิมที่หมกมุ่น   โดยต้องยอมใช้เวลา    ต้องอดทน 

ทั้งหมดนี้น่าจะเริ่มด้วยการที่ผมไม่อยู่ ทำให้เธอรู้สึกไม่ปลอดภัย    อยู่กับ care giver สองคนไม่ไว้ใจ    เกิดความระแวง แล้วโยง (แบบหลงผิด) ไปเรื่อง care giver เอาอาหารเย็นของเธอไปกิน   ทำให้เธอยังไม่ได้กินอาหารเย็น       

ลูกสาวเล่าในภายหลังว่า   ตอนที่เธอกำลังคุยเบี่ยงเบนความสนใจ    แม่ของเธอบอกว่า “อย่ามาเบี่ยงเบนความสนใจ”    สะท้อนว่า แม้สมองเสื่อม    ความฉลาดดั้งเดิมยังคงอยู่    และตอนให้กินยานอนหลับ เธอถามว่าเพียงครึ่งเม็ดเท่านั้นหรือ   

 

ฉี่ราด บอกก่อนไม่ได้

เช้าวันที่ ๒๘ ธันวาคม ๒๕๖๕ ผมต้องเข้าไปปลุกตอนเกือบ ๘.๓๐ น.    เพราะเวลา ๙.๐๐ น. ผมมีประชุมออนไลน์    และเมื่อเช้ามืด care giver กลับไปแล้ว  ผมต้องกลับมาทำหน้าที่ care giver ชั่วคราว จนกว่าคนใหม่จะมา     เมื่อตื่นดีแล้ว ผมก็ถอดผ้าอ้อมให้    แล้วให้เดินไปเข้าห้องน้ำ    ก่อนจะออกเดิน ฉี่ก็ราดอออกมาเสียก่อน    โดยยังไม่ได้สวมผ้าอ้อมผืนใหม่ให้

 

อึราด

เช้าวันที่ ๒๙ ธันวาคม  เธอตื่นตอนตีห้า    ผมบอกว่าเพิ่งตีห้า ให้กลับไปนอนใหม่     เธอบอกว่าจะอึ    ผมพาไปเข้าห้องน้ำ    และถอดผ้าอ้อมให้    พบว่าอึเต็มผ้าอ้อมและเรี่ยราดที่พื้นห้องน้ำ    การเก็บอึและเช็ดถูทำความสะอาด เป็นเรื่องที่ผมชำนาญ   ไม่ยุ่งยากเลย   ผมพาเธอนั่งโถส้วมและอึต่อ   วันนี้อึมากเพราะเมื่อวานกินกล้วยเล็บมือนางไปหลายผล     อึเสร็จ ล้างก้นให้    สวมผ้าอ้อม แล้วพาไปนอนต่อ        

 

จำ นพ. วิชัยได้

ศ. นพ. วิชัย อิทธิชัยกุลฑล จากภาควิชาวิสัญญี รามาฯ    ที่เคยทำงานหน่วยระงับปวดด้วยกัน นัดมาเยี่ยมเช้าวันที่ ๓๐ ธันวาคม ๒๕๖๕  ถามว่าจำหมอวิชัยได้ไหม   ตอบว่าจำเสียงได้   ถามว่าชื่ออะไร   ตอบว่าชื่อวิชัย    คุยกันไปสักครู่ถามใหม่ว่าชื่ออะไร    ตอบถูกว่าชื่อวิชัย    แต่สนทนากันได้น้อยมาก               

 

อยู่กับผม ไม่บ่นเรื่องยังไม่ได้กินข้าวเย็น

Care giver กลับไปตั้งแต่คืนวันที่ ๒๗    ดังนั้น วันที่ ๒๘ - ๓๑ ลูกสาวกับผม จึงช่วยกันดูแล   สังเกตว่า ไม่บ่นเรื่องยังไม่ได้กินข้าวเย็นเลย    เดาว่า ตอนอยู่กับ Care giver เธอไม่ค่อยไว้ใจ    ระแวงว่า Care giver จะขโมยของกิน    และไม่ให้เธอกินอาหารเย็น    ทั้งๆ ที่ที่จริงแล้ว Care giver คนนี้ (แบม - ลักษมี สารา) ดูแลคุณยายดีมาก     

 

วิจารณ์ พานิช          

๓๑ ธ.ค. ๖๕ 

 

 

1 สบายใจระหว่างเดินออกกำลังยามเย็น

2 เปลี่ยนทรงผมทุกวัน

3 ไปเที่ยวสุพรรณกับลูกสาว วันที่ ๑๒ ธ.ค.

4 ที่ศาลเจ้าหลักเมืองสุพรรณ

5

6 ที่ตลาดทางเข้าศาลเจ้า

7 ร้านกุ้งเป็น อ. สามชุก

8 คุณอัญชลี คุรุธัช มาพบโดยบังเอิญที่ร้านกุ้งเป็น

9 ลูกสาวซื้อเสื้อนอนตัวใหม่ให้

10 เย็นวันที่ ๒๘ ธ.ค.

11 เย็นวันที่ ๒๙ ธันวาคม เดินหมดแรง ขอนั่งพัก

12 ศ. นพ. วิชัย อิทธิชัยกุลฑล มาเยี่ยมวันที่ ๓๐ ธ.ค.

13 เดินออกกำลังเย็นวันที่ ๓๑ ธ.ค. ๖๕

หมายเลขบันทึก: 711286เขียนเมื่อ 15 มกราคม 2023 17:27 น. ()แก้ไขเมื่อ 15 มกราคม 2023 17:27 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

ส่งกำลังใจให้อาจารย์นะคะ สวัสดีปีใหม่ด้วยค่ะ ขอให้อาจารย์และครอบครัวสุขภาพแข็งแรงมีความสุขนะคะ

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท