ชีวิตที่พอเพียง 4682. อยู่กับผู้ป่วยโรคสมองเสื่อม (๕๓) บันทึกเดือนมกราคม - กุมภาพันธ์ ๒๕๖๗


 

 

ผมเล่าเรื่องชีวิตยามสมองเสื่อมของสาวน้อยเป็นระยะๆ () ((๓)  (๔)  (๕)  (๖)   (๗)   (๘)   (๙)   (๑๐)   (๑๑)    (๑๒)   ๑๓   ๑๔   ๑๕  ๑๖  ๑๗  (๑๘)  (๑๙)  (๒๐)  (๒๑)   (๒๒)  (๒๓)   (๒๔)   (๒๕)   (๒๖)    (๒๗)    ๒๘  ๒๙   ๓๐   ๓๑   ๓๒   ๓๓   ๓๔   ๓๕   (๓๖)   (๓๗)    (๓๘)   (๓๙)   (๔๐)   (๔๑)   (๔๒)  (๔๓)   (๔๔)  (๔๕)  (๔๖)   (๔๗)   (๔๘)  (๔๙)   (๕๐)  (๕๑)  (๕๒)  เพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้ประสบการณ์กับท่านผู้อื่นที่ต้องเผชิญสภาพคล้ายๆ กัน ที่นับวันจะมีจำนวนมากขึ้น   

มีบทความเล่าอาการเริ่มต้นที่สังเกตได้จากการจัดบ้านที่ (ก)    บอกว่าในโลกนี้มีคนสมองเสื่อม ๕๕ ล้านคน    อาการสมองเสื่อมเกิดจากโรค ๒๐๐ ชนิด   และอาการแสดงออกเริ่มต้นเห็นได้จากการวางของผิดที่ เช่นเอากาต้มน้ำไปไว้ในตู้เย็น   หรือไม่สามารถทำสิ่งที่เคยทำเป็นประจำได้ เช่นบีบยาสีฟันใส่แปรงสีฟัน    ผมสังเกตเห็นความผิดปกติของหมออมรา ที่การเก็บของในกระเป๋าถือไม่เป็นระบบ ทำให้ต้องคุ้ยหาของใช้ในกระเป๋าทุกเช้า    เกิดก่อนมีอาการสมองเสื่อมชัดๆ ไม่ต่ำกว่า ๕ ปี    

อาการดีขึ้นชัดเจนจากการพาออกไปเที่ยวนอกบ้าน

ลูกๆ และผมพาเธอออกนอกบ้านบ่อยในช่วงวันหยุดปีใหม่   และวันเสาร์ที่ ๑๓  อาทิตย์ที่ ๑๔  และเสาร์ที่ ๒๐ มกราคม    สังเกตเห็นได้ชัดเจนว่า    เธอมีท่าทีกระปรี้กระเปร่าขึ้น   และดูมีความสุขชัดเจน       

สร้างความมั่นใจในความรัก และการดูแล  

ทุกคืน เธอจะเข้านอนเวลาราวๆ สองทุ่ม   โดยผมเป็นคนพาขึ้นเตียงด้วยวิธีพิเศษของผม    เพราะเธอขึ้นเตียงเองไม่ได้     หากพาขึ้นเตียงไม่ดี เธอจะนอนใกล้ขอบเตียงเกินไป เสี่ยงต่อการตกเตียง   คืนไหนผมออกไปนอกบ้านตอนหัวค่ำ  กลับมาตอนดึกและลูกสาวพาขึ้นเตียงแล้ว   ผมต้องไปปลุกและขยับตัวเธอให้นอนห่างขอบเตียง ปลอดภัยจากการตกเตียง   

ผมจะเข้านอนราวๆ สามทุ่ม   บ่อยครั้งเธอจะตื่น   ผมจะเอาผ้าห่มของผมห่มให้อีกชั้นหนึ่ง และกอดมือเธอ    และถามว่า สามีกอดมีความสุขไหม   เธอจะตอบว่า มีความสุข    ผมคิดว่า ทำเช่นนี้เป็นประจำจะทำให้เธอเกิดความมั่นใจว่าจะได้รับความรักและการดูแล    ไม่ถูกทอดทิ้ง    สังเกตได้จากการที่เธอพนมมือไหว้ผมบ่อยๆ เวลาผมทำอะไรบางอย่างให้เธอ   

วิธีเปลี่ยน mood

คำว่าอารมณ์มีสองความหมายในภาษาอังกฤษ คือ mood กับ emotion   โดยคำว่า mood หมายถึงพื้นฐานทางอารมณ์ในขณะใดขณะหนึ่ง    เราสังเกตว่า เมื่อถึงตอนเย็น หลังกินอาหารเย็นเสร็จ และรอจนถึง ราวๆ ๑๗.๓๐ น. แดดอ่อนลงแล้ว    เป็นเวลาออกไปเดินออกกำลัง    บางวันเธอ mood ไม่ดี   งอแงไม่ยอมไปเดิน    ผมพยายามหาวิธีเปลี่ยน mood ของเธอ

มาพบวิธีการที่ได้ผลชะงัด คือผมยื่นแก้มให้เธอหอมหนึ่งฟอด  จากหน้ามุ่ยจะกลายเป็นยิ้มแย้มทันที  และลืมความงอแงไม่ยอมออกไปเดินทันทีด้วย   

ผมขอตั้งชื่อวิธีการนี้ว่า “จุมพิตบำบัด”     

จำรูปตัวเองไม่ได้

ช่วงนี้ เพื่อนร่วมรุ่น ศิริราช ๗๑ ที่เรียนจบปี ๒๕๐๙ ส่งรูปเก่าๆ เข้ามาใน Line Group มากมาย    นพ. กฤษณ์ หิรัญรัศ ที่ช่วยเป็นกองเชียร์ให้ผมไปจีบน้องใหม่ส่งรูปถ่ายที่บ้านบางโพของ นพ. วินัย - พญ. ถาวรวรรณ เศวตวรรณ ในปี ๒๕๐๗ มาให้ (ดูรูปที่ ๖) 

ผมเอาให้เธอดูว่าจำได้ไหมว่าเป็นรูปใคร    เธอตอบว่าไม่รู้จัก    ผมบอกว่า ก็รูป นศพ. อมรา เศวตวรรณไง    จำไม่ได้หรือ    ตอบว่าจำไม่ได้    เอารูปผมให้ดู ก็ไม่รู้จักเหมือนกัน 

มีความสุขกับเก้าอี้นอนเอกเขนกตัวใหม่

ลูกสาวร่วมกันซื้อเก้าอี้นอนเล่นตัวใหม่มาให้    ได้นอนท่ายกขาที่เป็นท่าโปรด    เสียอย่างเดียว เมื่อจะลงจากเก้าอี้ต้องมีคนมาช่วยดันคันยกขาลง 

วิจารณ์ พานิช          

๒๙ ก.พ. ๖๗

 

 

 

1 ๑๓ มกราคม ๒๕๖๗ ตลาดปากเกร็ด

2 ๒๐ มกราคม ตลาด ๑๐๐ ปี สามชุก

 

3 ๒๐ มกราคม ร้านกุ้งเป็น เจ๊เน้ย สามชุก สุพรรณบุรี

4 ๒๐ มกราคม ลูกสาวพาเข้าห้องน้ำ ร้านกุ้งเป็น เจ็เน้ย สามชุก

5 ๕ กุมภาพันธ์ เดินออกกำลังกับลูกสาวคนโตกับนักบริบาล

 

6 นศพ. อมรา เศวตวรรณ ปี ๒๕๐๗ ที่บ้านของ นพ. วินัย เศวตวรรณ ที่บางโพ

7 เดินออกกำลังกับนักบริบาล วันที่ ๒๕ ก.พ. ๖๗

8 โพสต์ยิ้มให้ถ่ายรูป

9 มีความสุขกับเก้าอี้นอนตัวใหม่

หมายเลขบันทึก: 717632เขียนเมื่อ 17 มีนาคม 2024 16:00 น. ()แก้ไขเมื่อ 17 มีนาคม 2024 16:00 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท