วิพากษ์ยุทธศาสตร์การวิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ ๒๐ ปี (พ.ศ. ๒๕๖๐ - ๒๕๗๙) 46. การวิจัยด้านสังคมศาสตร์มนุษยศาสตร์กับความท้าทายของสังคมไทยในปัจจุบันและอนาคต


ตอนที่ ๑      ตอนที่ ๒      ตอนที่ ๓      ตอนที่ ๔      ตอนที่ ๕

ตอนที่ ๖      ตอนที่ ๗     ตอนที่ ๘      ตอนที่ ๙      ตอนที่ ๑๐

ตอนที่ ๑๑      ตอนที่ ๑๒      ตอนที่ ๑๓      ตอนที่ ๑๔      ตอนที่ ๑๕

ตอนที่ ๑๖      ตอนที่ ๑๗      ตอนที่ ๑๘     ตอนที่ ๑๙     ตอนที่ ๒๐

ตอนที่ ๒๑      ตอนที่ ๒๒      ตอนที่ ๒๓     ตอนที่ ๒๔      ตอนที่ ๒๕

ตอนที่ ๒๖      ตอนที่ ๒๗      ตอนที่ ๒๘     ตอนที่ ๒๙     ตอนที่ ๓๐

ตอนที่ ๓๑    ตอนที่ ๓๒      ตอนที่ ๓๓     ตอนที่ ๓๔      ตอนที่ ๓๕

ตอนที่ ๓๖     ตอนที่ ๓๗      ตอนที่ ๓๘      ตอนที่ ๓๙     ตอนที่ ๔๐

ตอนที่ ๔๑      ตอนที่ ๔๒    ตอนที่ ๔๓    ตอนที่ ๔๔    ตอนที่ ๔๕

สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) จัดการประชุมระดมความคิดเห็น“การวิจัยทางสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์กับความท้าทายของสังคมไทยในปัจจุบันและอนาคต” ในวันพฤหัสบดีที่ ๑๙ กันยายน ๒๕๖๒ เวลา ๑๓.๓๐ น.    ผมได้รับเชิญเข้าร่วมด้วย และโชคดีมีเวลาเข้าร่วมได้ จึงได้โอกาสไปเรียนรู้ว่านักวิจัยสายสังคมศาสตร์มนุษยศาสตร์ โดยเฉพาะคนหนุ่มคนสาว เขาคิดอย่างไร

จะฟังคนอื่นได้แม่นยำ  ผมต้องคิดเองล่วงหน้าไปก่อน    ว่าผมมีประเด็นข้อสงสัยหรือคำถามอะไรบ้าง

 ผมคิดว่า ผู้ดำเนินการประชุมน่าจะดำเนินการประชุมให้ผู้เข้าร่วมคิดเรื่อง ความท้าทายของสังคมไทยในปัจจุบันและอนาคตก่อน    แล้วจึงโยงเข้าสู่ การวิจัยด้านสังคมศาสตร์มนุษยศาสตร์ ต้องชวนผู้เข้าร่วมประชุมคิดภาพใหญ่ก่อน เพื่อ prime ความคิด    ให้ไม่คิดแยกส่วน    ไม่เอาการวิจัยเป็นตัวตั้ง แต่เอาความต้องการของสังคมไทยเป็นตัวตั้ง    เอาการวิจัยเป็นตัวสนอง

หากคิดตามแนวที่ผมเขียนข้างบน (เขียนตอนตีห้า วันที่ ๑๙ กันยายน ก่อนการประชุม)    โจทย์วิจัยที่เหมาะสมหรือมีลำดับความสำคัญสูง  จะตามมาเอง  

แต่ (ผมคิดว่า) โจทย์วิจัยที่ดีเท่านั้น ไม่เพียงพอ    ต้องการการดำเนินการ อย่างน้อย ๓ ด้านที่เชื่อมโยงกัน    เพื่อให้การวิจัยด้านสังคมศาสตร์มนุษยศาสตร์ สนองความต้องการของสังคมไทยในปัจจุบันละอนาคต    ได้แก่

  1. 1. กระบวนการจัดการงานวิจัย    เรื่องนี้ผมเขียนไว้ในหนังสือ การบริหารงานวิจัย แนวคิดจากประสบการณ์     โดยเฉพาะบทที่ ๕ การจัดการทุนสนับสนุนการวิจัยและพัฒนา     ท่านที่สนใจหาซื้อจาก สกสว. เพื่อนำไปศึกษารายละเอียดได้    สาระโดยย่อคือ ต้องมีการจัดการการตั้งโจทย์  จัดการความร่วมมือระหว่างผู้ใช้กับผู้ทำวิจัย  และความร่วมมือระหว่างนักวิจัยต่างสาขา (upstream research management)     การจัดการคุณภาพของผลงานวิจัย (midstream management)    และจัดการที่เรียกว่า downstream management     ประเด็นสำคัญคือ เพื่อให้เกิดการตั้งโจทย์ที่ยากและซับซ้อน  แต่ให้คุณค่าสูงต่อการพัฒนาบ้านเมือง   (โปรดอ่านข่าวจากบางกอกโพสต์ข้างล่าง)
  2. 2. การส่งเสริมให้มีการร่วมมือวิจัยหลายศาสตร์     ผมได้ยินนักวิจัยด้านสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์บ่น ว่าใน พรบ. ที่ออกมาใหม่ในปีนี้ เรื่องกระทรวง อว.  และระบบ ววน.    สะท้อนการละเลยความสำคัญของการวิจัยสาขาสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์    โดยที่ผมตีความว่าใน พรบ. เหล่านั้น ต้องตีความคำว่า “วิทยาศาสตร์” ว่าหมายถึง “วิทยาการ”    แบบเดียวกันกับวงการ science ในสหรัฐอเมริกา ตีความ    ทำให้ NSF (National Science Foundation) ของเขามีทุนวิจัยด้านสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ด้วย     เรื่องวิธีส่งเสริมการวิจัยข้ามศาสตร์นี้   ทำได้โดยใช้โจทย์วิจัยเป็นตัวเชื่อมโยง    และจัดการงานวิจัยปัญหาหรือประเด็นทางสังคมเป็น “ชุดโครงการวิจัย”    เช่น ชุดโครงการวิจัย สังคมยุคโทรศัพท์มือถือ     มองทั้งด้านบวกและด้านลบ    และตั้งโจทย์ย่อยได้มากมาย    ที่ต้องการนักวิชาการสารพัดศาสตร์เข้าร่วม 
  3. 3. การสร้างนักวิจัย    ผมได้ยินเสียงบ่นจากหลายทาง ว่าประเทศไทยขาดแคลนนักวิจัยสายสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์เก่งๆ    ซึ่งที่จริงก็ขาดแคลนทุกศาสตร์แหละครับ     โดยผมคิดว่า ต้องมีการจัดการการสร้างนักวิจัยที่เก่ง    โดยสร้างจากการฝึกปฏิบัติงานจริง และมี mentor ที่เก่ง     ผมชื่นชม ดร. วินัย พงศ์ศรีเพียร ที่พากเพียรพัฒนานักวิจัยด้านประวัติศาสตร์ (๑)     แต่ก็ยังคิดว่า หน่วยงานสนับสนุนการวิจัยน่าจะมีการจัดการเพื่อสนับสนุนการสร้างนักวิจัยในศาสตร์อื่นๆ  รวมทั้งฝึกจากการทำงานวิจัยข้ามศาสตร์   

เช้าวันที่ ๑๙ กันยายนนั่นเอง นสพ. บางกอกโพสต์ลงข่าว Stanford studies Thai society (2)    โดยบริษัทใหญ่ของไทย ๓ บริษัทเอาเงิน ๑๐๐ ล้านบาทไปให้ทีมวิจัยของมหาวิทยาลัสแตนฟอร์ดทำวิจัยตอบโจทย์หลากหลายด้านของสังคมไทย     ข่าวบอกว่าทีมสแตนฟอร์ดจะเปิดเผยผลวิจัยใน ๔ ปีข้างหน้า คือ พ.ศ. ๒๕๖๖   ทำให้ผมเดาว่า งานวิจัยนี้บริษัทเอกชนที่ลงทุน ต้องการผลไปใช้ประโยชน์ก่อนใครๆ     นี่คือตัวอย่างขีดความสามารถของทีมมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด ในการจัดการข้อ ๑ และข้อ ๒ ข้างบน    เพื่อใช้การวิจัยด้านสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ แก้ปัญหาที่ซับซ้อนของสังคม (จ. น่าน)    และเพื่อสร้างความสามารถในการแข่งขันในอนาคตของบริษัท (เอไอเอส)     

ข้างบนนั้น เขียนก่อนการประชุม

เมื่อไปถึงที่ประชุม จึงทราบว่าเป็นการจัดการประชุมร่วมกันระหว่าง วช. กับราชบัณฑิตยสภา     มีเป้าหมายความร่วมมือ ๒๐ ปี (พ.ศ. ๒๕๖๓ - ๒๕๘๓)    ในหัวข้อ ประเทศไทยในอนาคต    เพื่อสร้าง “เครือข่ายบุคลากรวิจัยและทรัพยากรอันมีคุณค่ายิ่งต่อการวิจัยและนวัตกรรมของประเทศไทย  ทั้งด้านวิทยาศาสตร์ สังคมศาสตร์ มนุษยศาสตร์    และจะเป็นการบูรณาการศาสตร์แขนงต่างๆ ที่ตอบโจทย์ความต้องการของประเทศได้อย่างดียิ่ง    และจะส่งเสริมการจัดทำโครงการ ‘ประเทศไทยในอนาคต (Future Thailand)’ เพื่อฉายภาพอนาคตที่เป็นจริงได้ ของประเทศไทยในอนาคต ในมิติสำคัญๆ ของประเทศ”     

ผู้ยกร่างแนวคิด ได้มองมิติต่างๆ ที่จะนำมาประกอบเป็นภาพฉายอนาคตของประเทศ ถึง ๑๐ มิติ คือ (๑) คนไทยและโครงสร้างประชากร  (๒) สิ่งแวดล้อม  (๓) การเมือง  (๔) การศึกษา  (๕) ชนบทและการเกษตรกรรม  (๖) บริบทโลก ปัจจัยคุกคาม และความมั่นคงของประเทศ  (๗) โครงสร้างพื้นฐานของประเทศ  (๘) วัฒนธรรมและภาษาไทย (อัตลักษณ์ความเป็นไทย)  (๙) โครงสร้างสังคม  (๑๐) เศรษฐกิจ อุตสาหกรรม และการบริการ    ถือได้ว่า คิดมาครอบคลุมดีมาก     

ผมตีความว่า ผู้คิดโครงการเน้นที่ supply-side research    คือวิจัยเพื่อบอกสังคม    ซึ่งก็นับว่าเป็นการริเริ่มที่มีคุณค่ายิ่ง    แต่ผมคิดว่าวิธีคิดแบบนี้เป็น 20thCentury Research Approach    ผมมองว่าในยุคนี้ต้องจัดการงานวิจัยด้วย 21st Century Approach   

ดู ppt ประกอบการประชุมแล้ว ผมเกิดคำถามว่า การประชุมสามชั่วโมงครึ่งนี้ต้องการอะไร    ต้องการให้แสดงความเห็นต่อโครงการ ประเทศไทยในอนาคต    หรือแสดงความเห็นในภาพใหญ่ของการวิจัยสนองความท้าทาย

ผมจ้องไปฟังข้อคิดเห็นของนักสังคมศาสตร์ มนุษยศาสตร์    จึงไม่ออกความเห็นเมื่อท่านผู้อำนวยการ วช. ขอให้พูด    โดยแจ้งว่า อยากฟังความเห็นของคนรุ่นหนุ่มสาว    ผมอยู่ในที่ประชุมถึง ๑๕.๒๐ น. แล้วต้องออกไปทำธุระต่อ     ในช่วงเวลาเกือบสองชั่วโมงผมได้ความรู้มาก    และได้คำตอบว่า ที่ประชุมมุ่งเสนอประเด็นหรือโจทย์วิจัย     โดยที่ความเห็นในที่ประชุมมีความเหมาะสมมาก และหลายประเด็นมีความลุ่มลึกสูงมาก    

ศ. ดร. ผาสุก พงษ์ไพจิตร ราชบัณฑิตท่านหนึ่งที่ได้รับเชิญมากล่าวนำ เสนอประเด็นที่ลุ่มลึกและเชื่อมโยงตามสไตล์ของท่านและเสนอกลไกการวิจัยข้ามศาสตร์    ศ. ดร. เอนก เหล่าธรรมทรรศน์ ราชบัณฑิตอีกท่านหนึ่งชี้ให้เห็นจุดแข็งของสังคมไทย ๔ ข้อ เพื่อใช้ทำวิจัยต่อยอดขยายผล ได้แก่ (๑) ความเข้มแข็งของชุมชนท้องถิ่น  (๒) การกลายเป็นเมือง  (๓) คนไทยเป็นมีความ “หลั่นล้า” เป็นจุดแข็งทางสังคม  (๔) ภูมิศาสตร์ที่เอื้อ    

รวมความแล้วบรรยากาศของที่ประชุมเน้นไปที่โจทย์วิจัย     ก่อนผมจะออกมาจากห้องประชุม ดร. วีระ สมบูรณ์ เสนอเรื่องการจัดองค์กรสนับสนุนการวิจัย  เสนอให้แยกหน่วยจัดการงานวิจัยด้านสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ออกมาต่างหาก     

ผมเดินไปลาท่าน ผอ. วช. (ศ. ดร. นพ. สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล)   มอบหนังสือ การบริหารงานวิจัย แนวคิดจากประสบการณ์  ให้ ๑ เล่ม     และบอกว่าจะส่ง reflection ของผม (ซึ่งก็คือบันทึกนี้) ไปให้ท่านทางอีเมล์    

ผมมีความเห็นว่า ความสำเร็จของระบบวิจัย ในการทำหน้าที่ขับเคลื่อนประเทศออกจากกับดักรายได้ปานกลาง     ไม่ได้ขึ้นอยู่กับโจทย์วิจัยที่ดีหรือถูกต้องเท่านั้น    ยังขึ้นกับปัจจัยอื่นอีกหลายประเด็น    และที่สำคัญที่สุดคือการจัดการระบบที่ถูกต้อง ที่ผมเรียกว่า 21stCentury Approach of research management    ที่ผมหมายความว่า จัดการงานวิจัยให้ฝ่าย “ผู้ใช้” ผลงานวิจัยเป็นผู้ตั้งโจทย์ และมีส่วนร่วมในการสนับสนุนและทำวิจัย ด้วย    ดังตัวอย่างข่าวในบางกอกโพสต์ข้างบน     

ลองคิดให้ลึกๆ นะครับ   ว่าข่าวในบางกอกโพสต์มันบอกอะไรเรา ในความหมายระหว่างบรรทัดบ้าง  

การประชุมวันนี้จึงเป็นการประชุม supply-side เท่านั้น    หากจะให้งานวิจัยด้านสังคมศาสตร์ มนุษยศาสตร์ และศิลปกรรม ก่อคุณค่าขับเคลื่อนสังคมไทยอย่างแท้จริง    ยังต้องมีกระบวนการดำเนินการเพื่อรวมพลังผู้มีส่วนได้ส่วนเสียอีกมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งการปรึกษาหารือ ทำความเข้าใจกับฝ่าย “ผู้ใช้”   และการร่วมกันตั้งโจทย์ “ชุดโครงการวิจัย” (การจัดการต้นทาง)    ที่มีการจัดการสนับสนุนให้เกิดความร่วมมือกัน  และมีกระบวนการช่วยเหลือให้ได้ผลงานคุณภาพสูง (การจัดการกลางทาง)     และเมื่องานวิจัยเสร็จ ก็มีการจัดการสื่อสารสังคมในวงกว้าง     เพื่อให้งานวิจัยก่อผลกระทบต่อสังคม (การจัดการปลายทาง)      ซึ่งหน่วยงานจัดการงานวิจัยต้องมีทักษะในการดำเนินการ    รายละเอียดอยู่ในหนังสือ การบริหารงานวิจัย แนวคิดจากประสบการณ์     

การจัดการงานวิจัย ไม่ใช่แค่การจัดสรรทุนวิจัยเท่านั้น   

วิจารณ์ พานิช        

๑๙ ก.ย. ๖๒

หมายเลขบันทึก: 673289เขียนเมื่อ 21 พฤศจิกายน 2019 17:15 น. ()แก้ไขเมื่อ 15 เมษายน 2020 07:03 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท