สสส.เก็บข้อมูลร่างยุทธศาสตร์แผนอาหาร ปี 63 หวังสร้างพื้นที่ตัวอย่างก่อนดันสู่นโยบายระดับชาติ


           กลุ่มงานอาหารปลอดภัยความมั่นคงทางอาหารและภาคียุทธศาสตร์โภชนาการ สสส. เดินหน้าลงพื้นที่ทุกภาค เร่งทำยุทธศาสตร์แผนอาหารปี 63 จัดทำโมเดลและผลักดันสู่แผนใหญ่ระดับชาติ หลังพบแหล่งผลิตอาหารปลอดภัยของไทยน้อยลง ล่าสุดลงพื้นที่ภาคใต้ จ.พัทลุง ภาคีในพื้นที่ยอมรับทรัพยากรอาหารลดน้อยจนต้องซื้อนอกพื้นที่มาบริโภค

        การเติบโตทางด้านทุนอาหารอย่างรวดเร็วส่งผลต่อแหล่งผลิตอาหารที่มีประโยชน์ลดน้อยลง โอกาสของผู้บริโภคหรือประชาชนทั่วไปที่จะได้บริโภคอาหารปลอดภัยน้อยลงตามไปด้วย นายสามารถ กนกพงศ์ หนึ่งในภาคีเครือข่ายทำงานพื้นที่ภาคใต้ ร่วมกับ สสส. กล่าวในเวทีประชุมภาคีภาคใต้ “ตลาดสีเขียวชุมชน” ที่ จ.พัทลุงว่า ความมั่นคงทางด้านอาหารของคนภาคใต้ในอดีตนั้นมีมาก แต่ปัจจุบันลดน้อยลง ถึงขนาดต้องบริโภคอาหารที่ซื้อมาจากนอกพื้นที่ โดยเฉพาะความมั่นนคงทางอาหาร ด้านภูมิปัญญา น้อยลงจนแทบไม่มีเหลือให้เห็น ดูได้จากอดีตเมื่อมีคนในครอบครัวเจ็บป่วย แม่บ้านจะรู้ว่าพืชผักหรืออาหารประเภทไหนดีหรือมีประโยชน์ จึงนำมาปรุงอาหารเพื่อช่วยรักษาได้ แต่ปัจจุบันภูมิปัญญาเช่นนี้ไม่มีเหลือให้เห็นแล้ว

            ทั้งนี้เพราะการเติบโตทางด้านทุนอาหาร ได้ทำลายระบบการผลิตอาหารแบบดั้งเดิม ซึ่งผู้ผลิตหรือผู้บริโภคเคยรู้จักกัน แต่ปัจจุบันผู้บริโภคไม่รู้ด้วยซ้ำว่า อาหารผลิตมาจากไหน หรือถ้ารู้ ก็ไม่รู้ว่า อาหารที่ผลิตมานั้นมีคุณภาพหรือไม่ กลายเป็นระบบทุนผูกขาดด้านอาหาร สร้างวัฒนธรรมความเชื่อของผู้บริโภคแบบใหม่ ป็นผู้บริโภคนิยม ไม่สงสัยที่มาของอาหารว่ามาจากไหนและมีคุณภาพหรือไม่ ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าวิตกอย่างยิ่ง

            ซึ่งเรื่องนี้ นางวัลลภา แวน วิลเลียนส์วาร์ด ผู้ดูแลโครงการสนับสนุนวิชาการและการบูรณาการระบบอาหารสุขภาวะสู่การสร้างสรรค์พลเมืองอาหาร (กลุ่มงานอาหารปลอดภัยความมั่นคงทางอาหารและภาคียุทธศาสตร์โภชนาการ ) สสส. กล่าวว่า ปัญหาที่เกิดขึ้นได้ขยายวงกว้างและเป็นในทุกพื้นที่ไม่ใช่เฉพาะที่ภาคใต้ และเป็นปัญหาที่ไม่ควรปล่อยหรือละเลยให้นานไปมากกว่านี้ ตนและทีมจึงได้ลงพื้นที่ในทุกภาคของประเทศ เพื่อร่วมกับร่างยุทธศาสตร์แผนอาหาร จัดทำเป็นโมเดล และผลักดันเข้าสู่นโนบายระดับชาติในอนาคต

            เหตุที่ต้องการลงพื้นที่ไปทุกภาคเพราะอยากเข้าใจถึงเรื่องระบบอาหารและการเกษตรของภาคต่าง ๆ เพื่อช่วยทำให้การร่างยุทธศาสตร์ของแผนอาหารมีพลังขับเคลื่อนมาจากท้องถิ่น อยากให้มีการทำงานแบบประสานความร่วมมือ ให้คนในพื้นที่สะท้อนสภานการณ์ เงื่อนไข ความเป็นไปได้ หรือมีความท้าทาย ขณะเดียวกันเขาก็อาจจะมีต้นทุนทางสังคม ซึ่งสิ่งเหล่านี้ ไม่เคยถูกนำมาประมวลแล้วใส่อยู่ในการร่างแผนยุทธศาสตร์มาก่อน ที่ผ่านมาภาคีที่รับทุนของสสส.จึงไม่สามารถเชื่อมโยงสถานการณ์หรือบริบทรอบ ๆ ตัว สิ่งที่เหมือนกับตั้งเป้าแล้วทำโน่นทำนี่เป็นตัวชี้วัด จึงไม่สอดรับกับสถานการณ์จริงที่ สสส.เรียกร้อง

            ดังนั้นการทำยุทธศาสตร์แผนอาหาร ปี 63 ของ สสส. จึงต้องการสะท้อนการต้องดูแลฐานทรัพยากรทางด้านอาหารที่มีอยู่ โดยผูกความเป็นท้องถิ่น ภูมิภาคเข้าไป และ ทุกภาคจะมีบริบทในแบบของตนเอง เช่น ภาคเหนือ มีปัญหาเรื่องคอนแท็ค ฟาร์มมิ่งการปลูกข้าวโพด จนเป็นภูเขาหัวโล้น จนมีปัญหาหมอกควันตามมา ภาคอีกสาน การปลูกอ้อยกำลังรุกคืบเข้าทุกพื้นที่ เพื่อทำโรงงานน้ำตาล ผลที่ตามมานอกจากพื้นที่ผลิตอาหารหมด ยังปล่อยสารเคมีลงแหล่งน้ำด้วย ภาคใต้พบ การทำ ปาล์ม ทำให้วิถีดั้งเดิมทำประมงพื้นบ้าน และการเกษตร ฐานทรัพยากร ป่า นา ทะเล ที่เคยอุดมสมบูรณ์ ได้ถูกแย่งพื้นที่และกำลังจะหมดไป

            ซึ่งยุทธศาสตร์แผนอาหาร ของ สสส.ที่กำลังร่างกันอยู่นี้ จึงต้องมีเนื้อหารู้ทันสถานการณ์ และ รู้เท่าทันเรื่องเหล่านี้ทั้งหมด เพื่อร่างเป็นยุทธศาสตร์ และผลักดันเข้าสู่การแก้ไขในระดับชาติในที่สุด

            สำหรับขั้นตอนของการทำร่างยุทศาสตร์แผนอาหารที่กำลังดำเนินการอยู่ ขณะนี้อยู่ในขั้นตอนของเวทีระดับภาค โดยที่ผ่านมาเริ่มจากขั้นตอนที่หนึ่ง คือ การมีสถานการณ์ ปัญหาที่เกิดขึ้น ซึ่งได้กล่าวให้ทราบข้างต้น ขั้นตอนที่สองเป็นเรื่องของวัตถุประสงค์ ซึ่งก็มาจากแก้ไขสถานการณ์หรือปัญหาที่เกิดขึ้น และขั้นตอนที่สามเป็นเรื่องของตัวชี้วัด ในภาคอื่น ๆ ได้มาถึงขั้นตอนนี้แล้ว แต่สำหรับภาคใต้แม้จะยังไปไม่ถึงตัวชี้วัดก็ไม่เป็นไร เพราะมาคิดต่อได้หลังจากนี้ได้  

            เมื่อจบจากเวทีระดับภาคแล้ว ก็มาสู่ขั้นตอนการร่างแผน ต่อด้วยเวทีเชิงประเด็น  ซึ่งจะมีการจัดทำเป็นโดเมล เพื่อให้ง่ายเพื่อให้ภาคีใหม่นำไปใช้ในอนาคต แล้วจึงมาจบลงด้วยการสังเคราะห์วิชาการ ซึ่งขั้นตอนนี้จะมีน้ำหนักในเชิงวิชาการ ทำให้เกิดความน่าเชื่อถือ

            “ทีมเราต้องพัฒนาเพื่อให้ถึงจุดนั้น เพื่อเวลานำร่างแผนยุทธศาสตร์ทั้งหมดไปพูดกับฝ่ายนโยบาย เราจะพูดได้เลยว่า การทำแบบนี้จะสร้างสุขภาวะให้กับสังสังคมได้อย่างไร ตอบโจทย์การแก้ปัญหาได้อย่างไร เพื่อจะได้มีการผลักดันนำไปใช้ในระดับชาติต่อไป” นางวัลลภา กล่าวในตอนท้าย

หมายเลขบันทึก: 673287เขียนเมื่อ 21 พฤศจิกายน 2019 13:41 น. ()แก้ไขเมื่อ 21 พฤศจิกายน 2019 13:41 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท