ชีวิตที่พอเพียง 4637. อยู่กับผู้ป่วยโรคสมองเสื่อม (๕๒) บันทึกเดือนพฤศจิกายน - ธันวาคม ๒๕๖๖ 


  

ผมเล่าเรื่องชีวิตยามสมองเสื่อมของสาวน้อยเป็นระยะๆ () ((๓)  (๔)  (๕)  (๖)   (๗)   (๘)   (๙)   (๑๐)   (๑๑)    (๑๒)   ๑๓   ๑๔   ๑๕  ๑๖  ๑๗  (๑๘)  (๑๙)  (๒๐)  (๒๑)   (๒๒)  (๒๓)   (๒๔)   (๒๕)   (๒๖)    (๒๗)    ๒๘  ๒๙   ๓๐   ๓๑   ๓๒   ๓๓   ๓๔   ๓๕   (๓๖)   (๓๗)    (๓๘)   (๓๙)   (๔๐)   (๔๑)   (๔๒)  (๔๓)   (๔๔)  (๔๕)  (๔๖)   (๔๗)   (๔๘)  (๔๙)   (๕๐)  (๕๑)  เพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้ประสบการณ์กับท่านผู้อื่นที่ต้องเผชิญสภาพคล้ายๆ กัน ที่นับวันจะมีจำนวนมากขึ้น   

เดินออกกำลังเก่งขึ้น

เข้าใจว่าเพราะเธอรู้สึกถูกโฉลกกับ ชมพู่ สาวนักบริบาลคนปัจจุบัน    จึงไม่อิดออดเมื่อชมพู่ชวนไปเดินออกกำลังตอนเย็น    ดูรูปที่ ๑  ถ่ายวันที่ ๒๘ พฤศจิกายน ๒๕๖๖  เมื่อเดินจบใกล้กลับเข้าบ้าน   

 

ร้องเพลง Happy Birthday  

เย็นวันที่ ๒๙ พฤศจิกายน ๒๕๖๖ ลูกสาวสองคนโต   หม  เอาขนมเค้กวันเกิดที่ลูกสาวนคนเล็กส่งมาให้เมื่อวันที่ ๒๗   แต่เรารอจนเย็นวันพุธที่ ๒๙ ที่แต้วจะกลับมาบ้านเป็นปกติทุกวันพุธ   เอาขนมมากินกัน   โดยสองลูกสาวจุดเทียนและร้องเพลง Happy Birthday กัน    เธอร่วมร้องได้อย่างดี    แล้วลูกสาวก็ช่วยกันตัดเค้กแบ่งกันกิน    เธอกินอย่างเอร็ดอร่อย    นั่นคือเวลาราวๆ ๑๗.๓๐ น. 

เวลาราวๆ ๑๘.๓๐ น. ชมพู่พาเธอเดินเข้าห้องนอน เตรียมไปอาบน้ำ     ผมถามว่าขนมอร่อยไหม    เธอถามว่าขนมอะไร    เพราะเธอลืมไปแล้วว่าเมื่อหนึ่งชั่วโมงก่อนมีการกินขนมเค้กกัน 

 

ไม่มีชื่อ

เช้าวันที่ ๓๐ พฤศจิกายน ๒๕๖๖  แต้ว ลูกสาวคนโตคุยกับแม่หลังแม่กินอาหารเช้าแล้ว    บอกว่าตนชื่อมุรธา แม่ชื่ออะไร   เธออตอบว่า “ไม่มีชื่อ” แล้วหัวเราะ    แต้วถามว่า ชื่ออมราใช่ไหม  ตอบว่าใช่    แต้วถามว่าแม่มีอาชีพอะไร  เป็นพยาบาลใช่ไหม ตอบว่าไม่ใช่    เป็นหมอใช่ไหม  ตอบว่าใช่ 

พอจะเห็นว่า เธออยู่อย่างมีความสุขกับความจำที่เสื่อม   ยอมรับสภาพที่เป็นอยู่

 

นอนหลับกลางคืนอย่างสบายใจ

เมื่อสี่ห้าปีก่อน  จนถึงสองปีก่อน เธอตื่นนอนกลางดึกบ่อยๆ   พร้อมกับเสียงพูดกับญาติที่ตายไปแล้วบ้าง     กับลูกสาวบ้าง    และเวลามีญาติผู้หญิงมาหาที่บ้าน เธอแสดงท่าทีไม่พอใจ หึงหวง    จนลูกๆ เตือนสติผมว่า แม่อยู่กับพ่อด้วยความระแวง กลัวผมจะมีผู้หญิงอื่นมาตลอด    เมื่อสมองเสื่อม ความรู้สึกนั้นก็ดำรงอยู่เรื่อยมา

ตอนนี้ ผมมีข้อสังเกตว่า จิตเธอสงบในเรื่องไว้ใจในความรักอย่างไร้เงื่อนไข ที่ผมมีต่อเธอ    ความหวาดระแวง ที่นำสู่ความรู้สึกไม่ปลอดภัยในชีวิตน่าจะหมดไป   จึงนอนกลางคืนหลับสนิท   

ข้อสังเกตนี้เกิดคืนวันที่ ๙ และ ๑๐ ธันวาคม ๒๕๖๖  ที่ผมมีอาการเป็นหวัด น้ำมูกไหล และไอมาเป็นสัปดาห์    จนลูกสาวสงสัย เอาชุดตรวจ ATK มาให้ลองตรวจ    ค่ำวันที่ ๙ ผลออกมามีขีดที่ T จางๆ ส่วนที่ C ชัดมาก   ลูกสาวปรึกษากับอาที่เป็นหมอสองคน ลงมติกันว่าให้ผมแยกห้องนอนดีกว่า    คืนนั้นผมจึงขึ้นไปนอนชั้นบน    ปล่อยหมออมราไว้คนเดียว     โดยปรึกษาลูกสาวว่าตอนที่เขานอนเป็นเพื่อน แม่ก็นอนหลับดีโดยไม่ตื่นเลย   

เช้าวันที่ ๑๐ ผมไปซื้อชุดตรวจ ATK อีกยี่ห้อหนึ่งมาตรวจ    ขึ้นขีดเดียว น้องชายลงมติว่าผมเป็นหวัดธรรมดา    แต่ลูกสาวบอกว่า พ่อแยกห้องนอนอีกคืนหนึ่งดีกว่า   โดยเขามีงานยุ่งจนดึกดื่น ปล่อยให้แม่นอนคนเดียวอีกหนึ่งคืน   ก็เรียบร้อยดี   นำสู่การตีความของผมว่า เธอก้าวสู่สภาพจิตใต้สำนึกที่มั่นใจในความปลอดภัยในชีวิตของตนเอง           

ผมภาคภูมิใจและมีความสุขที่ได้เห็นสภาพนี้ของเธอ   

บันทึกหัวข้อนี้เขียนบนเครื่องบิน จากกัวลาลัมเปอร์ไปบรูไน    วันที่ ๑๑ ธันวาคม ๒๕๖๖

พอดีบนเครื่องบิน ผมอ่านหนังสือเรื่อง A Joseph Campbell Companion : Reflections on the Art of Living ใน iPad ไปด้วย    ที่หน้า ๓๙ มีคำต่อไปนี้

“Marriage is not a love affair,

it’s an ordeal.

It is a religious exercise, a sacrament,

the grace of participation in another life.” 

การแต่งงานไม่เพียงเป็นเรื่องรักใคร่

แต่เป็นการพิสูจน์รักแท้

เป็นแบบฝึกหัดทางศาสนา    เป็นสัตยาธิษฐาน

เป็นความสง่างามของการมีส่วนร่วมกับอีกชีวิตหนึ่ง  

 

ดีเลิศ

ช่วงปิดยาวปีใหม่ นักบริบาลลาพักผ่อนกลับบ้านที่หัวหิน   ผมเข้ารับหน้าที่แทน ช่วยเสริมโดยลูกสาวคนโต ๒ คน   เมื่อผมแต่งตัวให้  ป้อนอาหาร  หรือทำอย่างอื่นให้ เธอจะพนมมือขอบคุณบ่อยๆ   ครั้งหนึ่งผมถามว่า “สามีบริการดีไหม”  คำตอบคือ “ดีเลิศ”

 

ไปเยี่ยมพี่ชาย

เย็นวันที่ ๓๑ ธันวาคม ๒๕๖๖  ลูกสาวพาขึ้นรถไปเยี่ยม “ลุงตุ๊” (นายช่างวีรวัช เศวตวรรณ) พี่ชายคนที่สอง  อายุ ๘๘ ปี    โดยเวลานี้ ๕ คนพี่น้องเหลืออยู่ ๒ คนนี้เท่านั้น   คือพี่คนที่ ๓  กับน้องสุดท้องคือตัวเธอ

การขึ้นลงรถเป็นเรื่องที่ยากลำบาก ต้องใช้เวลา    แต่เมื่อได้เห็นภาพ และคำที่สองพี่น้องคุยกันแล้ว ก็คุ้มกับความพยายามพาขึ้นรถ  เพราะเป็นการกระตุ้นให้เธอได้ใช้สมองเรียกความจำคืนมา    จนลูกสาวทั้งสองแปลกใจที่แม่ยังจำเรื่องต่างๆ ได้  แถมยังแนะนำชื่อลูกสาวทั้งสองต่อพี่ชายได้ด้วย   

 

ไปกินอาหารเย็น

ออกจากบ้านพี่ชาย  ลูกสาวพาไปกินอาหารเย็นที่ร้าน ชัยโภชนา ที่ซอยสามัคคี   ที่เป็นร้านอาหารใหญ่มาก อาหารอร่อย คุณภาพดี ลูกค้าแน่น บริการดี ราคาย่อมเยา 

เราก็ต้องเผชิญการพาเธอขึ้นลงรถ และพาไปนั่งรอคิว และพาเดินไปยังโต๊ะอาหาร  ลูกสาวสองคนผลัดกันป้อนแม่ 

เมื่อกลับมาบ้านผมก็สรุปกับตัวเองว่า คุ้มมากที่พาเธอไปเยี่ยมพี่ชาย และไปกินอาหารนอกบ้าน    ต่อไปนี้เราจะพาเธอไปกินอาหารนอกบ้านอย่างน้อยเดือนละครั้ง         

วิจารณ์ พานิช          

๑ ม.ค. ๖๗

 

 

1 เดินออกกำลังอย่างยิ้มแย้ม

2 ร่วมร้องเพลง Happy Birthday ให้สามี

3 วันที่ ๒๕ ธ.ค. ๖๖ อารมณ์ดีระหว่างเดินออกกำลัง

4 วันที่ ๓๐ ธ.ค. ๖๖ ออกไปเดินออกกำลังกับสามี

5 เย็นวันที่ ๓๑ ธ.ค. ๖๖ ไปเยี่ยมพี่ชาย

6 ระหว่างนั่งรออาหารที่ร้านอาหารชัยโภชนา เย็นวันที่ ๓๑ ธ.ค. ๖๖

หมายเลขบันทึก: 717039เขียนเมื่อ 14 มกราคม 2024 17:07 น. ()แก้ไขเมื่อ 14 มกราคม 2024 17:07 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท