วิพากษ์ยุทธศาสตร์การวิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ ๒๐ ปี (พ.ศ. ๒๕๖๐ - ๒๕๗๙) ๑๑๘. ใช้การจัดอันดับมหาวิทยาลัยโลก พัฒนาระบบอุดมศึกษาไทย


 

ตอนที่ ๘๑ ตอนที่ ๘๒ ตอนที่ ๘๓ ตอนที่ ๘๔ ตอนที่ ๘๕
ตอนที่ ๘๖ ตอนที่ ๘๗ ตอนที่ ๘๘ ตอนที่ ๘๙ ตอนที่ ๙๐
ตอนที่ ๙๑ ตอนที่ ๙๒ ตอนที่ ๙๓ ตอนที่ ๙๔ ตอนที่ ๙๕
ตอนที่ ๙๖ ตอนที่ ๙๗ ตอนที่ ๙๘ ตอนที่ ๙๙ ตอนที่ ๑๐๐
ตอนที่ ๑๐๑ ตอนที่ ๑๐๒ ตอนที่ ๑๐๓ ตอนที่ ๑๐๔ ตอนที่ ๑๐๕
ตอนที่ ๑๐๖ ตอนที่ ๑๐๗ ตอนที่ ๑๐๘ ตอนที่ ๑๐๙ ตอนที่ ๑๑๐
ตอนที่ ๑๑๑ ตอนที่ ๑๑๒ ตอนที่ ๑๑๓ ตอนที่ ๑๑๔ ตอนที่ ๑๑๕
ตอนที่ ๑๑๖ ตอนที่ ๑๑๗      

 

บ่ายวันที่ ๗ มิถุนายน ๒๕๖๔ มีการประชุม “หารือเพื่อจัดทำรายงานการวิเคราะห์ตัวชี้วัดความเข้มแข็งของมหาวิทยาลัยในประเทศไทย จากการจัดอันดับมหาวิทยาลัยโลกของ Times Higher Education (THE)”    ที่ผมเสนอให้เปลี่ยนเป็น “ตัวชี้วัดความเข้มแข็งของการบริหารระบบมหาวิทยาลัยไทย”    คือต้องเน้นการพัฒนาระบบอุดมศึกษา  และเน้นการพัฒนาความสามารถด้านการบริหารระบบนั้น   มากกว่าเน้นพัฒนามหาวิทยาลัยแต่ละแห่งแยกๆ กัน 

ผมทำนาย (กับ ศ. คลินิก นพ. ปิยะสกล สกลสัตยาทร ซึ่งขณะนั้นทำหน้าที่อธิการบดีมหาวิทยาลัยมหิดล) เมื่อราวๆ ๑๐ ปีมาแล้วว่า อันดับมหาวิทยาลัยไทยจะด้อยลง เพราะเราพัฒนาได้ในอัตราที่ช้ากว่าพัฒนาการของมหาวิทยาลัยทั้งโลก   เนื่องจากการจัดการระบบอุดมศึกษาของเราล้าหลัง ขาดประสิทธิผล    เรื่องนี้ต้องการการเปลี่ยนแปลงแบบ transformation    ไม่ใช่ adaptive change อย่างที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน

ตอนที่ผมทำนาย มหาวิทยาลัยมาเลเซียเริ่มนำหน้าไทยไปแล้ว     ตอนนี้ทิ้งกันไม่เห็นฝุ่น   

ที่จริงกลุ่มมหาวิทยาลัยไทย ที่ควรเข้าไปแข่งในลู่นี้ คือกลุ่มที่อยู่ในประเภทมหาวิทยาลัย “กลุ่มพัฒนาการวิจัยระดับแนวหน้าของโลก”    ที่ผมเสนอแนวทางส่งเสริมมหาวิทยาลัยกลุ่มนี้ไว้ที่ (๑) 

แผนด้านอุดมศึกษาเพื่อผลิตและพัฒนากำลังคนของประเทศ พ.ศ. ๒๕๖๔ – ๒๕๗๐ ระบุตัวชี้วัดเรื่อง world university ranking ไว้ว่า  (๑) สถาบันอุดมศึกษาติด University Rankings by Subject  ใน ๒๐๐ อันดับแรก  จำนวน ๑๒ แห่ง   (๒)  สถาบันอุดมศึกษาติด ๒๐๐ อันดับแรกของ World Class University Rankings  จำนวน ๒ แห่ง    เป็นหมุดหมายที่ดีมาก

นั่นคือ What

เราต้องช่วยกันคิด How    เพื่อบรรลุหมุดหมายดังกล่าวให้ได้     โดยผมเสนอว่า ต้องไม่หลงเน้นให้มหาวิทยาลัยตะเกียกตะกายเอาเอง  และแข่งขันกันเอง อย่างในปัจจุบัน    ต้องมี management platform ระดับประเทศเป็นพลังขับเคลื่อน    คือทำอย่างเป็นระบบ และหนุนให้ยกระดับขึ้นไปทั้งแผงของมหาวิทยาลัยกลุ่มนี้   เปลี่ยนจริตแข่งขันระหว่างกันในปัจจุบัน  ไปเป็นจริตร่วมมือกัน เพื่อสร้างผลกระทบต่อสังคม    เปลี่ยนความเชื่อจาก zero sum game ไปเป็น  positive sum game   

สามมหาวิทยาลัยไทย ที่ติดอันดับ THE 2021 สูงสุดคือ มหิดล  มฟล. และจุฬา  อยู่ที่อันดับ ๖๐๑ – ๘๐๐ การหนุนให้สองมหาวิทยาลัยขึ้นไปที่อันดับไม่เกิน ๒๐๐ จึงเป็นเรื่องท้าทายมาก   

ที่ตื่นตาตื่นใจผมคือ การวิเคราะห์ BoxPlot  THE DataPoints ที่ฝ่ายเลขานุการนำมาเสนอ   ช่วยให้เห็นตำแหน่งแห่งที่ของมหาวิทยาลัยไทย  เห็นจุดแข็งจุดอ่อนของเราดีขึ้นมาก    จุดแข็งที่ดีกว่าที่คาดคือ รายได้ด้านวิจัยจากอุตสาหกรรมค่อนข้างดี   สะท้อนภาพความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างอุดมศึกษาไทยกับภาคอุตสาหกรรม    จุดอ่อนก็คืองานวิจัยเหล่านั้นเอาไปตีพิมพ์ได้น้อย  มี citation น้อย   

การมีจำนวนนักศึกษาระดับบัณฑิตศึกษาจำนวนมาก โดยคิดเฉพาะด้านจำนวนไม่น่าจะเป็นยุทธศาสตร์ที่ถูกต้อง    คือต้องคำนึงถึงคุณภาพมากกว่าปริมาณ    ดังนั้น การดึงดูดด้วยโอกาสได้รับปริญญาไม่น่าจะถูกต้อง   น่าจะดึงดูดด้วยโอกาสในการสร้างตัวเป็นนักวิชาการ นักวิจัย ตามความใฝ่ฝันของตน    โดยที่มี research ecosystems ของประเทศที่ช่วยให้คนเก่งมั่นใจเข้ามาอุทิศชีวิตให้แก่งานวิชาการ   

พิจารณาสภาพปัจจุบันตามเกณฑ์เป้าหมาย ข้อ ๒ ข้างบน   

ตาม GRAS 2021 (3)   มีมหาวิทยาลัยไทยติดอันดับไม่เกินอันดับที่ ๒๐๐ รวม ๔ สาขา (จากจำนวนรวม ๕๔ สาขา) ใน ๕ มหาวิทยาลัย   หากนับซ้ำมหาวิทยาลัยรวมทั้งสิ้น ๗    ได้แก่   Mechanical Engineering : 151-200 KMUTT;    Veterinary Sciences : 101-150 CMU, CU, KU; 151-200 MU;    Dentistry & Oral Sciences : 151-200 CU;    Nursing : 151-200 CMU    โดยที่แผนฯ ๒๕๖๔ – ๒๕๗๐   กำหนดให้มี ๑๒ มหาวิทยาลัย    ดังนั้นเป้าหมาย ๑๒ น่าจะบรรลุได้ไม่ยากนัก   เพราะยังมีสาขาที่มีมหาวิทยาลัยไทยติดอันดับรองๆ ลงไปอีกจำนวนหนึ่ง   

ใน QS World University Rankings by Subject 2021 (4)    มีมหาวิทยาลัยไทยติดอันดับไม่เกิน ๒๐๐ จำนวน ๑๙ สาขาวิชา (จากทั้งหมด ๕๑ สาขาวิชา) ได้แก่ Architecture : 101-150 CU, 151-200 Asian Institute of Technology (AIT);  Linguistics : 151-200 CU, Mahidol University (MU);   Performing Arts : 51-100 MU;  Engineering – Chemical : 151-200 CU;   Engineering – Civil and Structural : 151-200 AIT;   Engineering – Petroleum : 51-100 CU, KMITL;  Life Sciences & Medicine : 142 MU;  Agriculture & Forestry : 63 Kasetsart University (KU), 151-200 CMU, Prince of Songkla University (PSU);  Anatomy & Physiology : 101-120 MU;  Medicine : 116 MU;  Nursing : 101-150 MU;  Pharmacy & Pharmacology : 101-150 MU, 151-200 CU;  Environmental Sciences : 151-200 CU;  Geography : 101-150 CU;  Business & Management Studies 151-200 CU;  Law and Legal Studies :151-200 CU;  Politics : 101-150 CU;  Social Policy & Administration : 51-100 CU;  Sociology : 151-200 CU    มี ๗ มหาวิทยาลัยที่มีชื่ออยู่ในรายการนี้ 

สรุปได้ว่า หากมองที่เป้าหมายการติดอันดับโลก ๒ เป้าหมายข้างบน  เป้าหมายแรกน่าจะพอทำได้    แต่เป้าหมายหลังน่าจะบรรลุยากภายใน ๕ ปี    แต่นั่นไม่ใช่ประเด็นสำคัญ   

ประเด็นสำคัญคือ ranking เป็น means ไม่ใช่ end    เราต้องไม่หลงเอา ranking เป็น end หรือเป้าหมายสุดท้าย   

เป้าหมายสุดท้าย หรือเป้าหมายที่แท้จริงคือ การที่มหาวิทยาลัยวิจัยระดับโลกจำนวนหนึ่งของไทยทำหน้าที่เป็นพลังขับเคลื่อนประเทศไทยสู่สังคมและเศรษฐกิจฐานความรู้ หรือเศรษฐกิจและสังคมสร้างสรรค์/นวัตกรรม   ซึ่งหมายความว่ามหาวิทยาลัยกลุ่มนี้มี social impact และ economic impact สูง   

ผมมองว่า ความเป็นมหาวิทยาลัยวิจัยระดับโลก ที่มี world ranking สูง เป็นเครื่องมือให้เราหาความร่วมมือจากภาคีได้ง่ายขึ้น    ทั้งที่เป็นภาคีในต่างประเทศและที่อยู่ในประเทศ    ทั้งที่เป็นมหาวิทยาลัยและสถาบันวิจัย และที่เป็นภาคประกอบการ    มีการทำงานวิจัยและนวัตกรรมร่วมกัน ในอันที่จะส่งผลพัฒนานวัตกรรมเชิงสังคม และเชิงเศรษฐกิจของประเทศไทย    global ranking ระดับสูง เป็น means ของการแสวงหาความร่วมมือกับภาคีคุณภาพสูง   คือ global ranking มีเอาไว้ใช้ประโยชน์ ไม่ใช่แค่เอาไว้อวด 

ผมมอง end หรือเป้าหมาย ที่ประเทศไทย ๔.๐ หรือประเทศไทยที่หลุดกับดักรายได้ปานกลาง    ส่วนมหาวิทยาลัยวิจัยระดับโลก  และ world ranking เป็น means หรือเครื่องมือ   

กลับมาที่เป้าหมาย ให้มี ๒ มหาวิทยาลัยไทย ติดอันดับ THE Rankings อยู่ใน ๒๐๐ อันดับแรก    ทำได้โดยการสนับสนุนให้มีผลงาน  Teaching, Research, Citation เข้าเกณฑ์คะแนนสูง    คือประเทศ (กระทรวง อว.) ต้องหนุนมหาวิทยาลัยกลุ่มวิจัยระดับโลกเป็นพิเศษ   ให้ดึงดูดนักศึกษาเก่งเข้ามาเรียนปริญญาตรี(อาจควบโท หรือควบเอก)     และเปลี่ยนนักศึกษาจากผู้เข้ามาดูดซับความรู้ ให้กลายเป็นผู้ร่วมสร้างความรู้ตามที่นักศึกษารักและมีแรงบันดาลใจ   ซึ่งหมายความว่านักศึกษาเหล่านี้ได้ทุนเรียน    เมื่อจบปริญญาตรี นักศึกษาชั้นยอดเหล่านี้เข้าเรียนต่อบัณฑิตศึกษาแบบ international คือมีช่วงเวลาหนึ่งไปฝึกในต่างประเทศในวิชาการแนวหน้าของโลก     

งานวิจัยที่นักศึกษาเหล่านี้ทำร่วมกับอาจารย์  ได้รับโจทย์มาจากภาคอุตสาหกรรม    ที่เมื่อทำสำเร็จ ภาคอุตสาหกรรมนำไปใช้ในทางธุรกิจ ฝ่ายมหาวิทยาลัยนำไปตีพิมพ์ในวารสารที่ impact factor สูง      นี่คือแนวทางที่ประเทศจีนยกระดับคุณภาพของมหาวิทยาลัยของตน ในช่วงเวลากว่าสิบปีที่ผ่านมา       

วิจารณ์ พานิช          

๒๗ มิ.ย. ๖๔ 

                                                                                                                                                                                                                                                          

หมายเลขบันทึก: 691366เขียนเมื่อ 5 กรกฎาคม 2021 17:32 น. ()แก้ไขเมื่อ 5 กรกฎาคม 2021 17:32 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท