อาหารไทยที่เชื่อมโยงกับวรรณคดี


อาหารไทยที่เชื่อมโยงกับวรรณคดี

อาหารไทยนอกจากจะพิถีพิถันเรื่องรสชาติแล้วยังมีการจัดจานอย่างสวยงาม มีการประดิดประดอยและแกะสลักพืชผักอย่างงดงาม นอกจากนี้ยังมีการตั้งชื่อแต่ละเมนูให้เชื่อมโยงกับวรรณคดีไทยอีกด้วย

พระรามลงสรง เป็นเมนูที่ได้รับอิทธิพลจากอาหารจีน ที่เรียกว่าพระรามลงสรงเพราะมีสีเขียวของผักบุ้ง ลงสรงคือการนำทั้งผักบุ้งและเนื้อหมูไปลวกให้สุก แล้วราดด้วยน้ำราดที่มีลักษณะคล้ายกับน้ำหมูสะเต๊ะ
ที่มา : พระรามเป็นตัวละครเอกในเรื่องรามเกียรติ์ เป็นพระนารายณ์อวตารลงมาเป็นโอรสท้าวทศรถและนางเกาสุริยา มีผิวกายสีเขียว ส่วนลงสรงเป็นคำราชาศัพท์มีความหมายว่าอาบน้ำ

สีดาลุยไฟ เป็นอาหารที่มีกุ้งแม่น้ำเป็นวัตถุดิบหลัก จะนำกุ้งแม่น้ำมาทอดแล้วราดด้วยเครื่องแกงฉู่ฉี่
ที่มา : นางสีดาเป็นตัวละครในเรื่องรามเกียรติ์ เป็นมเหสีของพระรามที่ถูกทศกัณฐ์ลักพาตัวไปไว้ที่เมืองลงกา ภายหลังพระรามชิงตัวนางสีดากลับมาได้ เพื่อเป็นการพิสูจน์ความบริสุทธ์ของตนเองนางสีดาจึงเข้าพิธีลุยไฟพิสูจน์ความบริสุทธ์ของตนเอง เครื่องแกงฉู่ฉี่ที่ราดบนกุ้งทอดจะผัดกับกะทิที่แตกมันจนมีสีแดงสวยเหมือนกับไฟ

หนุมานคลุกฝุ่น เป็นอาหารพื้นเมืองของภูเก็ต ใช้เนื้อหมูหรือไก่สับคั่วกลิ้ง มีรสชาติเผ็ดร้อนของสมุนไพรไทย รับประทานกับผักสดต่างๆ
ที่มา : หนุมานเป็นทหารเอกของพระรามในเรื่องรามเกียรติ์ เป็นตัวละครที่สร้างสีสันให้กับวรรณคดีเรื่องนี้ เพราะหนุมานมีอิทธิฤทธิ์และกลยุทธ์แพรวพราวที่ทำให้ผู้อ่านได้รับความสนุกสนาน

เบญกายแปลง เมนูนี้ใช้ปลากระพงทอดกรอบทั้งตัว ราดด้วยน้ำราดที่มีลักษณะคล้ายกับซอสมะขาม
ที่มา : นางเบญกายเป็นหลานของทศกัณฐ์ ได้รับคำสั่งให้แปลงกายเป็นนางสีดา แกล้งทำตายลอยน้ำไปเพื่อให้พระรามเข้าใจผิดคิดว่านางสีดาตายแล้ว จะได้เลิกทัพกลับไป แต่นางเบญกายทำแผนการไม่สำเร็จเพราะหนุมานเกิดความสงสัยจึงนำร่างแปลงของนางเบญกายไปเผาไฟ ความจึงแตกว่าเป็นนางเบญกายแปลงมา

จรกาลงสรง หรือหมึกน้ำดำ ใช้ปลาหมึกไข่ต้มสดๆกับน้ำปลา น้ำตาลปี๊บ หอม กระเทียม โดยใส่ปลาหมึกลงไปทั้งตัวไม่ต้องเอาน้ำหมึกออก ทำให้น้ำแกงและปลาหมึกมีสีดำ
ที่มา : จรกาเป็นตัวละครในเรื่องอิเหนา เป็นเจ้าเมืองรองทำให้ได้การดูหมิ่นว่าต่ำศักดิ์ ไม่อาจเทียบได้กับอิเหนาและนางบุษบาผู้สืบเชื้อสายมาจากวงศ์เทวัญผู้สูงส่ง ในวรรณคดีเรื่องอิเหนาจะบรรยายลักษณะของจรกาว่าเป็นคนรูปชั่วตัวดำ ดังนี้
...ระตูรำพึงถึงองค์
รูปทรงอัปลักษณ์หนักหนา
ดูไหนมิได้งามทั้งกายา
ลักขณาผมหยักพักตร์เพรียง
จมูกใหญ่ไม่สง่าราศี
จะพาทีแห้งแหบแสบเสียง..
ความอัปลักษณ์ของจรกาจึงถูกนำมาเปรียบเทียบกับปลาหมึกน้ำดำ

จรกาห่มผ้า เป็นเมนูที่ใช้ปลาทูทั้งตัวทอดกรอบ ราดด้วยน้ำราดใส่งาขาว รสชาติเผ็ดๆหวานๆเปรี้ยวนิดๆ
ที่มา : ปลาทูทอดเปรียบได้กับความอัปลักษณ์ของจรกาที่อิเหนาค่อนขอดว่า
...ยิ้มเหมือนหลอกหยอกเหมือนขู่
ไม่ควรคู่เคียงพักตร์สมัครสมาน
ดังกากาจชาติช้าสาธารณ์
มาประมาณหมายหงส์พงศ์พระยา...

ขอบคุณภาพประกอบจากอินเทอร์เน็ต

หมายเลขบันทึก: 691362เขียนเมื่อ 5 กรกฎาคม 2021 13:13 น. ()แก้ไขเมื่อ 5 กรกฎาคม 2021 14:18 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท