วิพากษ์ยุทธศาสตร์การวิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ ๒๐ ปี (พ.ศ. ๒๕๖๐ - ๒๕๗๙) ๑๑๖. แก้ปัญหาผลงานวิจัยขึ้นหิ้งด้วยความเอื้อเฟื้อต่อมหาวิทยาลัย


 

 

ตอนที่ ๘๑ ตอนที่ ๘๒ ตอนที่ ๘๓ ตอนที่ ๘๔ ตอนที่ ๘๕
ตอนที่ ๘๖ ตอนที่ ๘๗ ตอนที่ ๘๘ ตอนที่ ๘๙ ตอนที่ ๙๐
ตอนที่ ๙๑ ตอนที่ ๙๒ ตอนที่ ๙๓ ตอนที่ ๙๔ ตอนที่ ๙๕
ตอนที่ ๙๖ ตอนที่ ๙๗ ตอนที่ ๙๘ ตอนที่ ๙๙ ตอนที่ ๑๐๐
ตอนที่ ๑๐๑ ตอนที่ ๑๐๒ ตอนที่ ๑๐๓ ตอนที่ ๑๐๔ ตอนที่ ๑๐๕
ตอนที่ ๑๐๖ ตอนที่ ๑๐๗ ตอนที่ ๑๐๘ ตอนที่ ๑๐๙ ตอนที่ ๑๑๐
ตอนที่ ๑๑๑ ตอนที่ ๑๑๒ ตอนที่ ๑๑๓ ตอนที่ ๑๑๔ ตอนที่ ๑๑๕

 

วันที่ ๓ พฤษภาคม ๒๕๖๔ ในการประชุมคณะกรรมการที่ปรึกษาพัฒนาระบบ ววน.   มีการนำเสนอวาระ การสนับสนุนให้บุคลากรนำผลงานวิจัยและนวัตกรรมไปหาประโยชน์    เพื่อขอคำแนะนำจากคณะกรรมการ  

สอวช. ต้องการนำเอาความรู้จากการศึกษามาตรการของต่างประเทศ มาปรับใช้ในบริบทไทย

ตัวชี้วัดนี้ร่วมกันพัฒนาโดย UNDP ร่วมกับ MDRF (Mohammed Bin Rashid Al Maktoum Knowledge Foundation แห่งประเทศ UAE    มีตัวชี้วัด ๗ กลุ่ม ๑๙๙ รายการ    แม้ตัวชี้วัดนี้ไม่แพร่หลายมาก แต่การทำความเข้าใจและนำมาใช้ตรวจสอบระบบความรู้ของประเทศเรา ก็น่าจะมีประโยชน์   ช่วยให้เราคิดทิศทางและยุทธศาสตร์ได้แม่นยำขึ้น   เพราะการพัฒนาประเทศในยุคปัจจุบันและอนาคตมาความซับซ้อนมาก    หลงทางได้ง่าย (อย่างที่เราหลงทางในเรื่องระบบการศึกษา)   

  ตัวชี้วัด ๗ กลุ่มได้แก่  (๑) การศึกษาระดับก่อนมหาวิทยาลัย  (๒) อาชีวศึกษาและการศึกษาด้านเทคนิค  (๓) อุดมศึกษา  (๔) วพน. (วิจัย พัฒนา และนวัตกรรม)  (๕) ไอซีที  (๖) เศรษฐกิจความรู้  (๗) สภาพแวดล้อมทั่วไปที่เกื้อหนุน   

ไทยเรามี GKI อยู่ที่อันดับ ๕๓ จาก ๑๓๘ ประเทศ    มีคะแนนดัชนี ๔๘.๓  สูงกว่าค่าเฉลี่ยของโลกที่ ๔๖.๗   ถือว่าประเทศไทยมีความเข้มแข็งพอสมควรในด้านพื้นฐานความรู้    โดยจุดแข็งของเราคือ การเข้าถึงโทรศัพท์มือถือของพลเมือง อัตราว่างงานต่ำ ปัจจัยบวกทางเศรษฐกิจ (เช่น การคุ้มครองนักลงทุนรายย่อย  การสร้างมูลค่าเพิ่ม เป็นต้น)    และจุดอ่อนของเราคือ  สัดส่วนนักเรียนต่อครู  ส่งออกบริการเชิงสร้างสรรค์น้อย  อัตราการอบรมพนักงานในบริษัทต่ำ  จำนวนผลงานวิจัยตีพิมพ์ต่ำ 

ทีมศึกษาเรื่องนี้ของ สอวช. ทำการบ้านมาเสนออย่างดีมาก   ทำให้เราเห็นว่า เราต้องทั้งเชื่อและไม่เชื่อ GKI    เพราะเห็นชัดเจนว่า ในบางตัวชี้วัดเขาลงลึกได้ไม่ดี   วิเคราะห์ข้อมูลได้ชั้นเดียว ไม่สามารถวิเคราะห์ข้อมูลที่ซับซ้อนได้ดีนัก    ซึ่งก็น่าจะเป็นธรรมชาติของดัชนีโลกทั้งหลาย    ที่เราต้องรู้จักเอามาใช้ประโยชน์     โดยทำการบ้านในเชิงลึกอย่างที่ สอวช. ทำในครั้งนี้   โดยปัจจัยจำกัดตัวหลักคือ เขาใช้ข้อมูลทุติยภูมิ   แต่เรามีข้อมูลปฐมภูมิของประเทศเรา   

ผมไม่เชื่อว่า ประเทศไทยควรเอาใจใส่ยกระดับสัดส่วนนักเรียนต่อครู   โดยที่ปัญหาหลักด้านคุณภาพของการศึกษาขั้นพื้นฐานของเราอยู่ที่ระบบที่ล้าหลัง (เรียนแบบรับถ่ายทอดความรู้ – passive learning  แทนที่จะเรียนเชิงรุก – active learning) ต่างหาก   นี่คือจุดอ่อนอย่างหนึ่งของ GKI ที่ได้ข้อมูลเชิงปริมาณ แต่ไม่มีข้อมูลเชิงลึก     

“จุดแข็งของไทยคือการเข้าถึงโทรศัพท์มือถือของพลเมือง”   ก็เป็นประเด็นที่ผมเถียง   เราจะเข้มแข็งขึ้นมากหากคนไทยใช้โทรศัพท์มือถือเพื่อการเรียนรู้และสร้างสรรค์    มากกว่าใช้เพื่อเล่นสนุกไร้สาระ    จริงๆ แล้วเราไม่จำเป็นต้องเถียงเขา    แต่ต้องเตือนสติตนเองว่าอย่าหลงเชื่อเขา     เพราะเรามีข้อมูลที่ลึกกว่า สำหรับใช้พัฒนาตัวเราเอง   

เรื่อง “อัตราอบรมพนักงาน” ผมก็เถียง    เพราะผมเชื่อว่าในยุคนี้ การพัฒนาคนโดยการอบรม น่าจะเป็นมาตรการรอง   มาตรการหลักน่าจะเป็นเรื่อง “การเรียนรู้จากการพัฒนางาน” มากกว่า    คือไม่มุ่งไปรับการอบรมจากใคร  แต่มุ่งเรียนรู้จากการทำงาน และการดำเนินกิจกรรมเพื่อการพัฒนางานของตนเองร่วมกันในกลุ่มผู้ปฏิบัติงาน    ผมเชื่อว่า สถานประกอบการควรพัฒนาพนักงานโดยใช้สูตร ๗๐ – ๒๐ – ๑๐     คือพัฒนาโดยกระบวนการรวมกลุ่มกันพัฒนางาน (COP – Community of Practice หรือ PLC – Professional Learning Community) คือเรียนจากการปฏิบัติงานของตนเอง ในสัดส่วนร้อยละ ๗๐    พัฒนาโดยเรียนรู้จากผู้ปฏิบัติงานในหน่วยงานอื่นหรือองค์กรอื่น ร้อยละ ๒๐   และเรียนจากการไปเข้ารับการฝึกอบรม ร้อยละ ๑๐   

ผมมีความเชื่อว่า พื้นฐานด้านความรู้ที่น้ำหนักสูงสุดคือการวางพื้นฐานให้แก่เยาวชน    ให้เป็นผู้เรียนรู้ มีทักษะและฉันทะในการเรียนรู้ตลอดชีวิต   มีสมรรถนะในการเรียนรู้แบบร่วมมือกับผู้อื่น มากกว่ามุ่งแข่งขัน     ซึ่งจะต้องเป็นอุดมการณ์การศึกษาของประเทศ    ตามแนวทาง Learning Compass 2030 ของ OECD (๑) 

   กลุ่มดัชนีที่ไทยได้คะแนนต่ำสุดคือกลุ่มที่ ๔ วพน. (วิจัย พัฒนา และนวัตกรรม)    คะแนน ๒๕.๗ (เฉลี่ยโลก ๒๖.๐)   ซึ่งยุทธศาสตร์พัฒนาสำคัญของไทยคือ ทำให้มันเชื่อมโยงกับภาคเศรษฐกิจจริง (real sector)    หัวใจคือ alignment  ที่เราทำได้ไม่ดีเลย    คือวงการ วพน. (หรือ ววน.) ของเราไม่ค่อยเชื่อมโยงกันกับภาคเศรษฐกิจจริง   และเป็นระบบที่คนทางภาควิชาการยึดกุมภาวะการนำ    ผมมีความเห็นว่า หากจะให้เราเข้มแข็ง ต้องดำเนินการให้คนในภาคเศรษฐกิจจริงเข้ามาเป็นผู้นำการขับเคลื่อนระบบ   

กลุ่มดัชนีที่ ๗  สภาพแวดล้อมทั่วไปที่เกื้อหนุน ของเราคะแนนอยู่ในเกณฑ์ดี คือ ๖๑.๘ (เฉลี่ยโลก ๕๙.๙)    เป็นกลุ่มดัชนีที่ควรขุดคุ้ยหาจุดพัฒนา     โดยเขาบอกว่าเป็นปัจจัยด้านสังคม การเมือง สาธารณสุข และสิ่งแวดล้อม    กลุ่มนี้เขาให้คะแนนน้อยกว่ากลุ่มอื่น คือกลุ่มนี้คะแนน (น้ำหนัก) ๑๐   ในขณะที่กลุ่มอื่นคะแนน ๑๕   แต่ผมกลับมองว่าควรให้น้ำหนักกลุ่มนี้มากกว่ากลุ่มอื่น   แต่ก็ต้องทำความเข้าใจว่าเกื้อหนุนอะไร  ผมตอบว่าเกื้อหนุนระบบความรู้   

  ข้างบนนั้นเขียนก่อนการประชุม

ในที่ประชุมคณะกรรมการให้ความเห็นไปในทำนองเดียวกันว่า  ควรเอา GKI มาปรับด้วยข้อมูลปฐมภูมิของเรา   ปรับน้ำหนักและความหมายของบางตัวชี้วัดให้มันก่อคุณประโยชน์ต่อการพัฒนา ววน. และการพัฒนาประเทศของเรา     

นพ. สุวิทย์ วิบุลผลประเสริฐ ชี้ให้เห็นว่า เรื่องข้อมูลมีความซับซ้อน หรือมีหลายมิติ    ท่านยกตัวอย่างข้อมูลจำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่ ตามรายงานของ ศบค.  กับรายงานจากห้องปฏิบัติการต่างๆ ไม่ตรงกัน    แถมห้องปฏิบัติการราวๆ ร้ยละ ๑๕ ไม่ส่งข้อมูล   จึงเกิดประเด็นว่าข้อมูลไหนตรงกับความเป็นจริงมากที่สุด   

ดร. กฤษณพงศ์ ให้ความเห็นเรื่องตัวชี้วัดด้านการศึกษา สัดส่วนจำนวนนักเรียนต่ออาจารย์น่าจะมีความสำคัญน้อยลง    เพราะการศึกษาในปัจจุบันจะเป็น media-based มากขึ้น บทบาทขงครูต้องเปลี่ยนไป   และท่านแนะนำให้คิดประเด็นด้าน learning loss (๑)    ว่าการศึกษาคุณภาพต่ำ ทำให้เกิดการสูญเสียด้านต่างๆ มากน้อยแค่ไหน เช่นด้านสังคม ด้านเศรษฐกิจ 

สรุปได้ว่า ที่ประชุมเห็นว่า ควรหยิบเอา GKI มาแปลงให้กลายเป็นของประเทศไทย (localization)  สำหรับใช้ประโยชน์ติดตามความก้าวหน้าของระบบ ววน. ของเรา   

วิจารณ์ พานิช          

๓ พ.ค. ๖๔ 

                                                                                                                                                                              

หมายเลขบันทึก: 691010เขียนเมื่อ 8 มิถุนายน 2021 16:40 น. ()แก้ไขเมื่อ 8 มิถุนายน 2021 16:41 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท