อนุทินล่าสุด


วิรัตน์ คำศรีจันทร์
เขียนเมื่อ

๑๖๓. การสร้างคนรุ่นใหม่ให้วัฒนธรรมคุณภาพขององค์กรเข้มแข็ง

ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราช ทำงานโดยมุ่งเด็กผู้ป่วยเป็นศูนย์กลาง มีความเชี่ยวชาญที่อยู่ในตัวบุคคลากรเป็นจำนวนมาก อีกทั้งมีวัฒนธรรมองค์กรที่สืบทอดไว้อย่างเข้มแข็งกว่า ๖๐ ปี การสร้างคนรุ่นใหม่ในอดีตจะเน้นระบบการดูแลกันแบบครูพี่เลี้ยงผ่านการผูกพันกันด้วยระบบอาวุโส เน้นคัดเลือกคนและให้ความสำคัญด้านความมีคุณธรรม มีพื้นที่ให้พบปะสังสันทน์กันในภาควิชา การมีความอุทิศตนต่อความเป็นศิริราชและมีสิ่งยึดเหนี่ยวศรัทธาทางจิตใจที่มีร่วมกัน เช่น สมเด็จพระบรมราชชนก ปัจจุบัน การสร้างผู้นำรุ่นใหม่เริ่มมีเงื่อนไขแวดล้อมและลักษณะความแตกต่างระหว่างรุ่นต่างจากอดีต เวทีได้หยิบยกประเด็นเพื่อการสร้างคนรุ่นใหม่ให้มีวัฒนธรรมคุณภาพขององค์ที่เข้มแข็งยิ่งขึ้นหลายเรื่อง เช่น การปรับปรุงวิธีประเมินและสอบวุฒิบัตรที่เน้นการปฏิบัติเพื่อผู้ป่วยมากกว่าเน้นอ่านตำราเพื่อสอบ การใช้เทคโนโลยีเชื่อมปฏิสัมพันธ์กับนักศึกษา การมีระบบสืบทอดความเชี่ยวชาญและคุณธรรมองค์กรจากอาจารย์อาวุโส การพัฒนาทักษะบูรณาการฯ



ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

วิรัตน์ คำศรีจันทร์
เขียนเมื่อ

๑๖๒. วิธีคิด'ไม่มีขยะ' : Zero-Waste Paradigm

เสาร์-อาทิตย์ ๑๗-๑๘ กันยายนไปจัดเวทีให้กับคณาจารย์แพทย์กับทีมพยาบาลประมาณ ๗๐ คนของภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ศิริรราช ที่อิมพิเรียลหัวหินบีชรีสอร์ต มุ่งสร้างความผูกพันตนเองกับองค์กรและอุดมคติการทำงานด้วยการมีภาพสะท้อนความเป็นองค์กรอยู่ในชีวิตด้านในของคนทำงาน เช่น ปรัชญาชีวิต วัฒนธรรมองค์กร ค่านิยมองค์กร วิสัยทัศน์ต่อส่วนรวมขององค์กรที่มาจากแต่ละคน เรียนรู้ตนเอง เรียนรู้ความเป็นองค์กรในแนวคิดวิถีชุมชน จากนั้น ให้พูดคุยตามสบาย ในช่วงการคุยกันตามสบายนั้น ผู้ร่วมประชุมท่านหนึ่งสะท้อนคิดถึงความบันดาลใจที่จะกลับไปทำโครงการขยะด้วยแนวคิด Zero-Waste ในภาควิชา ทั้งเพื่อเป็นวัฒนธรรมคุณภาพองค์กรและเป็นตัวอย่างให้กับสังคม ถึงแม้นำเสนอสั้นๆ แต่การคุยกันในเวที ก็ให้วิธีคิดเพื่อเรียนรู้จากโครงการจัดการขยะเพื่อสร้างวิธีคิดที่ลึกซึ้ง การมีหรือไม่มีขยะอยู่ที่วิธีคิดและวิธีจัดการของมนุษย์ คล้ายกับวิธีคิดเชิงบวก http://www.gotoknow.org/blog/wiratkmsr-art/379917



ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

วิรัตน์ คำศรีจันทร์
เขียนเมื่อ

๑๖๑. น้ำท่วมกับกระบวนการสูญเสียพลังอำนาจของประเทศเกษตรกรรมอย่างไทย

ในช่วงชีวิตของผมกับคนรุ่นอายุ ๔๐-๕๐ ปีที่ผ่านมานี้ เชื่อว่าคงจะมีประสบการณ์ทางสังคมและพอจะรำลึกกันได้ถึงขั้วความขัดแย้งของสังคมโลกว่ามีความเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงอยู่เป็นระยะๆ นับแต่ในช่วง ๑๐ ปีใกล้ๆทศวรรษ ๒๕๐๐ ขั้วความขัดแย้งของสังคมโลกก็อยู่ที่การต่อสู้ชิงพันธมิตรระหว่างฝ่ายโลกเสรีประชาธิปไตย นำโดยอเมริกา กับโลกประชาธิปไตยแบบสังคมนิยมนำโดยสหภาพโซเวียต ต่อมาก็เกิดมหาอำนาจของกลุ่มพลังงานน้ำมันคือกลุ่ม OPEC ซึ่งก็ก่อให้เกิดสงครามและทำให้ประเทศเล็กประเทศน้อยได้ปั่นป่วนวุ่นวายไปด้วยกระทั่งบัดนี้ ประเทศไทยนั้นก็เคยเป็นประเทศมหาอำนาจผลิตและค้าขายข้าวของโลก ที่สามารถกำหนดความเป็นไปของเศรษฐกิจสังคมโลก ทุกๆวันและบางช่วงก็แทบจะทุกชั่วโมงที่ทั่วโลกต้องรอฟังและคอยปรับตัวตามราคาข้าวของประเทศไทย ปัจจัยสำคัญก็คือความอุดมสมบูรณ์ของน้ำท่า แต่ปัจจุบัน ไม่น่าเชื่อว่าสังคมไทยกลายเป็นตลาดที่ผูกติดกับการบริโภคพลังงาน พร้อมกับต้องเกิดความสูญเสียจากน้ำทุกปี ทั้งที่เคยเป็นปัจจัยพลังอำนาจการผลิตของโลก



ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

วิรัตน์ คำศรีจันทร์
เขียนเมื่อ

๑๖๐. เห็นภาพ 'ศิลปะและสื่อขับเคลื่อนกระบวนการชุมชน'

ไร่คุณมน สวนเกษตรผสมผสาน อ.บ่อพลอย กาญจนบุรี อยากได้รูปวาดที่ผมบันทึกและถ่ายทอดเรื่องราววิถีชีวิตชุมชนด้วยภาพลายเส้น ไปบริจาคเป็นสื่อให้โรงเรียนในชนบทสัก ๒ ชุด แล้วก็อยากจัดเวทีเรียนรู้พัฒนาเครือข่ายให้กับกลุ่มสตรีแม่บ้านเกษตรกร โดยมีรูปเขียนชุดนี้ไปเป็นสื่อสำหรับเป็นสภาพแวดล้อมช่วยในการที่เด็กๆและชาวบ้านได้ใช้พูดคุยกัน เจ้าของไร่คุณมน คือคุณมนรัตน์ สารภาพ เป็นผู้ริเริ่มแปรรูปผลิตภัณฑ์นมข้าวโพดและผลิตภัณฑ์จากผลผลิตทางเกษตร ที่เป็นตัวกระตุ้นให้เกิดวงจรการประกอบการธุรกิจของชุมชนเกษตรกรอีกหลายอย่าง ทำให้คุณมนรัตน์ได้รับการเชิดชูเป็นครูภูมิปัญญาไทยและอีกหลายอย่างทั้งในระดับท้องถิ่นและระดับประเทศ ผมจัดแจงนำรูปเขียนเกือบ ๕๐ ภาพไปถ่ายเอกสารอย่างดีและผนึกพลาสติก ระหว่างที่พนักงานของร้านทำ ก็ดูรูปและเริ่มคุยกันด้วยเรื่องราวในรูปไปด้วย ผมก็เลยช่วยอธิบาย สักครู่เด็กๆพนักงานทั้งร้านที่ช่วยกันผนึกพลาสติกก็คุยกันเรื่องชีวิตความเป็นมาของตนในชนบทเปรียบเทียบไปกับรูป กระทั่งงานเสร็จ



ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

วิรัตน์ คำศรีจันทร์
เขียนเมื่อ

๑๕๙. สังคมโลกทั้งช่างน่าทึ่งและน่ากลัว

วันนี้เป็นวันครบรอบ ๑๐ ปีของเหตุการณ์ ๙/๑๑,๑๙๙๑ เลยถือเป็นโอกาสที่จะได้ร่วมนั่งรำลึกโดยนั่งอ่านรายงานย้อนหลังของสื่อต่างๆที่มีข้อมูลปะติดปะต่ออย่างละเอียดและรอบด้าน อ่านไปก็ได้ทั้งความตื่นตา ตื่นใจ ทึ่งและอัศจรรย์ใจต่อมนุษย์และพัฒนาการทางด้านต่างๆอย่างซับซ้อนของสังคมโลก ขณะเดียวกันก็เห็นโลกที่เชื่อมต่อถึงกันด้วยความเป็นจริงผสมผสานกันหลายด้าน ทั้งด้านที่เป็นความก้าวหน้าและความโหดร้ายที่ขยายกำลังไปด้วยได้ไม่น้อยไปกว่าความเจริญก้าวหน้าทางวิทยาการและเทคโนโลยีในทุกด้านของสังคมโลกยุคใหม่ ในขณะที่จิตใจ จิตวิญญาณสากล ความเป็นผู้มีจิตใหญ่และการถือความเป็นญาติพี่น้องร่วมทุกข์สุขเดียวกันของมนุษย์ ดูเหมือนจะลดน้อยลงไปมากกว่าเดิม



ความเห็น (1)
  • สวัสดีค่ะอาจารย์วิรัตน์
  • ยังจำไม่ลืมกับข่าวนี้เพราะในวันนั้นนั่งจ้องทีวีเพื่อดูข่าว CNN ในขณะที่เครื่องบินลำที่ ๒ กำลังพุ่งเข้าชนตึกพอดี ยังไม่อยากจะเชื่อกับภาพที่เห็น กับจิตใจคนที่ใช้ชีวิตของผู้อื่นเป็นเครื่องต่อรอง ;(
  • วันนี้ ๙๑๑ วันเกิดคุณหมอต้อมด้วยหล่ะค่ะ (จำง่ายดี) เลยได้แค่ส่ง mms ไปอวยพร แต่ข่าวว่าไปต่างประเทศอีกแล้วค่ะ
วิรัตน์ คำศรีจันทร์
เขียนเมื่อ

๑๕๘. 'ศิลปะ'

  • วิธีอยู่กับตนเอง กล่อมเกลากระบวนการคิดและจิตใจให้สามารถสะท้อนความละเอียดอ่อน ความซาบซึ้ง มีความประนีตอ่อนโยน เสริมสร้างประสบการณ์ทางจิตวิญญาณและกระบวนการคิดในเชิงคุณค่าและความหมายที่ลึกซึ้ง ให้มนุษย์มีความสามารถพัฒนาและยกระดับความมีอิสรภาพ ความเป็นตัวของตัวเอง มีความสามารถเข้าถึงความสุข ความอิ่มเต็ม คุณค่า ความหมาย และความเป็นชีวิต ได้ด้วยศักยภาพตนเองได้มากยิ่งๆขึ้น
  • เป็นประสบการณ์สากล ที่สื่อสะท้อนและเข้าถึงความเข้าใจกันของมนุษย์ด้วยภาษาของการแสดงอารมณ์ ความรู้สึก โลกทัศน์ ชีวทัศน์ และสุนทรียภาพของมนุษย์ ซึ่งเป็นพื้นฐานสากลที่มีอยู่ในผู้คนทุกชาติทุกภาษา
  • เป็นการบันทึกและถ่ายทอดความเป็นจริงของสังคมด้วยสื่อตรงจากจิตใจและความเป็นชีวิตของผู้คนร่วมสมัย
  • เป็นการทำประโยชน์ใช้สอยและปัจจัยเงื่อนไขในการก่อเกิด ดำรงอยู่ และสร้างสรรค์ความเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงต่างๆของปัจเจกและชุมชนระดับต่างๆให้มีคุณค่าและความหมายต่อชีวิตจิตใจ ที่ลึกซึ้งและแยบคายมากกว่ามิติวัตถุและการสนองตอบความต้องการเฉพาะหน้าแต่เพียงลำพัง


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

วิรัตน์ คำศรีจันทร์
เขียนเมื่อ

๑๕๗. ญาติพี่น้องทางชีวิตการงาน

เย็นเสาร์ที่ ๑๐ กันยายน ๒๕๕๔ ครอบครัวของน้องๆ กลุ่มเล็กๆ ที่เคยเป็นเพื่อนร่วมงานเก่าแก่ที่สุดกลุ่มหนึ่งที่มหาวิทยาลัยมหิดล ศาลายา นับแต่ปี ๒๕๒๘-๒๕๓๕ ได้มาพบปะ นัดกินข้าวเลี้ยงอำลากันในโอกาสที่หลังเดือนกันยายน ๒๕๕๔ นี้แล้วผมจะออกจากกรุงเทพฯและไปปักหลักปักฐานใช้ชีวิตต่างจังหวัดอยู่ที่เชียงใหม่, น้องๆอดีตเพื่อนร่วมงานกลุ่มนี้ปัจจุบันเป็นบุคลากรที่มีความอาวุโสในการงาน บางส่วนได้ออกไปเป็นอัยการ บางส่วนก็เป็นทีมผู้บริหารหน่วยงาน เป็นครูอาจารย์ เป็นหัวหน้างาน ได้มีบทบาทและทำหน้าที่การงานให้กับมหาวิทยาลัยมหิดล โดยเฉพาะทางด้านสื่อ เทคโนโลยีและระบบสารสนเทศเพื่อการสื่อสารทางการศึกษาและการพัฒนาการเรียนรู้ พัฒนาและดำเนินการนหลักสูตรเทคโนโลยีการศึกษาสำหรับการศึกษาพิเศษของวิทยาลัยราชสุดา มหาวิทยาลัยมหิดล ได้บุกเบิกและทำงานมาด้วยกันนับแต่ในยุคที่มหาวิทยาลัยขาดแคลนคน ทรัพยากร และต้องพึ่งตนเองแทบทุกด้าน จึงเป็นกลุ่มที่มีความสนิทสนมกันเหมือนกับเป็นญาติพี่น้องทางการงานด้วยกัน



ความเห็น (1)
วิรัตน์ คำศรีจันทร์
เขียนเมื่อ

๑๕๖. แลกเปลี่ยนบทเรียนบนรายทางที่เดินมาด้วยกัน

เมื่ออาทิตย์ ๔ กันยายน ๒๕๕๔ ผมในฐานะกรรมการที่ปรึกษาทางวิชาการของบางกอกฟอรั่มและสสส.ในโครงการเรียนรู้สุขภาวะของชุมชน ๓ แห่งรอบที่ก่อตั้งสำนักงานศูนย์การเรียนรู้สุขภาวะของสสส.ที่ซอยสวนพลูและหน้าสมาคมธรรมศาสตร์ เขตสาทร กทม. http://www.gotoknow.org/blog/healthycom/431819 ไปร่วมสะท้อนบทเรียนร่วมกับชุมชนและทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องเพื่อปิดระยะการทำงาน ๑๘ เดือนที่ผ่านไป ผมช่วยดูความริเริ่มและความเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงใหม่ๆที่อยู่ในสิ่งเล็กๆ โดยดูกระบวนการเรียนรู้ทางสังคมเพื่อสร้างคุณค่าและความหมายใหม่ๆของสุขภาวะและความเป็นชีวิตทั้งของปัจเจกและชุมชน ดูการสร้างคนทำงานวิชาการเชิงเคลื่อนไหวสังคมในแนวประชาคม ดูบทบาทและแนวทางใหม่ๆขององค์กรสาธารณะดังเช่น สสส.ในการทำให้การปฏิสัมพันธ์ขององค์กรกับชุมชนเป็นเงื่อนไขสร้างพลเมืองและความหมายสุขภาวะจากวิถีชีวิตของชุมชน ดูความรู้และรูปแบบจัดการตนเองของชุมชนเกิดใหม่ที่เคลื่อนย้ายมาจากชนบทสู่เมืองใหญ่ด้วยวิธีคิดที่เป็นตนเองดีกว่าอดีต



ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

วิรัตน์ คำศรีจันทร์
เขียนเมื่อ

๑๕๕. เมื่อมองเป็นความเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงของสังคม

  • ๒๕๕๔ ฯพณฯยิ่งลักษณ์ ชินวัตรใช้เวลา ๑๐๐ กว่าวันในการเข้าสู่วงการเมืองและขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรี
  • เป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกของประเทศไทย
  • เป็นนายกรัฐมนตรีพลเรือนคนที่สองที่จบจากมหาวิทยาลัยในประเทศไทย โดยคนแรกคือฯพณฯนายชวน หลีกภัย
  • เป็นนายกรัฐมนตรีพลเรือนคนแรกที่จบจากมหาวิทยาลัยที่ก่อตั้งในภูมิภาค โดยจบปริญญาโทรัฐศาสตร์จากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ฯพณฯนายชวน หลีกภัยนั้นจบมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ฯและโรงเรียนช่างศิลป์ เตรียมมหาวิทยาลัยศิลปากร
  • มหาวิทยาลัยเชียงใหม่เป็นมหาวิทยาลัยแห่งแรกของประเทศที่ก่อตั้งขึ้นในท้องถิ่นภูมิภาคตามแนวคิดรัฐบาลฯพณฯจอมพลสฤษดิ์ ธนรัชต์ แต่เป็นมหาวิทยาลัยแห่งที่สองและสาขารัฐศาสตร์แห่งแรกที่มีส่วนสร้างผู้นำประเทศในยุคประชาธิปไตย


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

วิรัตน์ คำศรีจันทร์
เขียนเมื่อ

๑๕๔. รำลึก ๑๐๐ ปีชาตกาลหลวงพ่อเทียนและไปปฏิบัติเพื่อครูอาจารย์แด่เจ้าคุณวัดพระนอนจักรสีห์วรวิหาร

เมื่อต้นเดือนกรกฎาคม ๒๕๕๔ ที่ผ่านมา ผมและคณะ ในนามของหลายคณะของมหาวิทยาลัยมหิดล ได้ร่วมกับเครือข่ายศิษยานุศิษย์ของหลวงพ่อเทียน และผู้ที่ให้ความสนใจการเจริญสติภาวนา ได้ร่วมกันให้มหาวิทยาลัยมหิดลเป็นเจ้าภาพ จัดงานรำลึก ๑๐๐ ปีชาตกาลหลวงพ่อเทียน จิตฺตสุโภ เชื่อมโยงการเจริญสติภาวนาแนวเคลื่อนไหวของหลวงพ่อเทียน ในฐานะที่เป็นวิธีพัฒนาจิตสิกขาและจิตตปัญญาศึกษา เข้ากับเรื่องการพัฒนาการศึกษาเรียนรู้บนรากฐานของความรู้สึกตัว การพัฒนาครอบครัวและสุขภาวะ และสุขภาวะในมิติของการเจริญสติภาวนา, ในงานดังกล่าว พระเดชพระคุณท่านพระราชกิตติเมธี วัดพระนอนจักรสีห์วรวิหาร เจ้าคณะจังหวัดสิงห์บุรี ได้มาร่วมเป็นประธานและกล่าวสัมโมทนียกถา พระเดชพระคุณท่านเห็นกิจกรรมต่างๆที่จัดขึ้นแล้วก็ชอบใจและปรารภว่าอยากจัดให้กับคนต่างจังหวัดอย่างนี้ที่สิงห์บุรีบ้าง พวกเราได้น้อมรับไว้และพรุ่งนี้ คือ ๓๑ สิงหาคม ๒๕๕๔ ก็จะไปช่วยกันจัดสนองดำริพระเดชพระคุณท่านกับชาวบ้านสิงห์บุรี



ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

วิรัตน์ คำศรีจันทร์
เขียนเมื่อ

๑๕๓. คิดถึงหม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ปรีชา ทรัพย์โสภา และบรรยากาศการมุ่งสู่ท้องนายามเช้าตรู่

เวลาตื่นขึ้นมาทำงานตอนเช้าช่วงตี ๓-๔ กระทั่งสว่างทีไร ก็มักจะนึกถึงวิธีการใช้เวลาทำงานความคิดและงานเขียนที่ต้องการสมาธิที่สุดของท่านพล.ต.ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช เคยทราบจากการอ่านงานของท่านจากที่ไหนก็จำไม่ได้เสียแล้วว่าท่านจะตื่นขึ้นมาทำงานเขียนหนังสือต่างๆเมื่อตอนตี ๓ จนถึงสว่าง หลังจากสว่างไปจนถึงมืดค่ำแล้วก็จะเป็นกิจอย่างอื่นที่ท่านจะไม่มีเวลาอยู่คนเดียวเลย ระหว่างที่ผมนั่งทำงาน บางวันก็เปิดวิทยุไปด้วย ดังเช่นวันนี้ บรรยากาศของรายการวิทยุก็จะเต็มไปด้วยรายการข่าวและเพลงต้อนรับรุ่งอรุณ ซึ่งก็จะเป็นเพลงลูกทุ่ง ทูล ทองใจ ปอง ปรีดา ฟังไปก็ทำให้นึกถึงตอนที่อยู่บ้านนอก ยามเช้าอย่างนี้ก็จะต้องออกไปทำนา เสียงเพลงลูกทุ่งลอยลม ผสานผสมเสียงนกกา พอใกล้สว่างก็จะเป็นรายการวิทยุคุยโขมงหกโมงเช้าของดุ่ย ณ บางน้อย และตามด้วยการเล่าข่าวอย่างครึกครื้นของปรีชา ทรัพย์โสภา มันได้บรรยากาศชนบทและได้ความเคลื่อนไหวเพื่อการทำมาหากินที่มีชีวิตชีวาดีจริงๆ  



ความเห็น (2)

สมัยก่อนผมฟังคุณปรีชา ทรัพย์โสภา เกือบทุกเช้าครับ

หลังจากแกจากไปแล้ว ผมก็ไม่ได้เปิดวิทยุตอนเช้าฟังเลย

จะฟังบ้าง ก็เป็นคลื่นลูกทุ่งมหานครช่วงที่จัดโดย คุณกำภู ภูริภูวดลกับคุณรัชนี สุทธิธรรม นะครับ

สงสัยจะร่วมสมัยนะคะเนี่ย

ร่วมสมัย...เด็ก

ข่าวหกโมงเช้า...คุณปรีชา ทรัพย์โสภา

รายการโปรดของพ่อเลย

รวมทั้ง ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช

เล่มแรก ๆ ที่อ่านงานของท่าน

ของพ่อทั้งนั้นเลย

วิรัตน์ คำศรีจันทร์
เขียนเมื่อ

๑๕๒. ไปดูครูกับศิษย์ของโรงเรียนปากเกร็ด นนทบุรี จัดกระบวนการบูรณาการการเรียนรู้โดยใช้ศิลปะและสื่อกิจกรรมเป็นแกน

อาจารย์อวยชัย จินวัน ครูศิลปะของโรงเรียนปากเกร็ด นนทบุรี เตรียมเกษียณของตนเองโดยแทนที่จะรอให้คนอื่นจัดงานมให้ ก็กลับอยากจัดให้โรงเรียนและลูกศิษย์เสียเอง โดยอยากใช้ประสบการณ์ของตนจัดนิทรรศการศิลปะที่บูรณาการกับกระบวนการเรียนการสอน แอบใช้ช่วงวันหยุดเตรียมงาน แต่ไปๆมาๆหลายคนรอบข้างก็รู้ กระทั่งทางโรงเรียนและลูกศิษย์ก็รู้และอยากร่วมด้วย เลยกลายเป็นงานซึ่งไม่รู้ว่าจะเรียกว่านิทรรศการหรือกิจกรรมพิเศษของโรงเรียนดี ซึ่งพร้อมจะเปิดและจัดแสดงเต็มที่ใน ๓๐ สิงหาคม ๒๕๕๔ นี้ ผมตั้งใจจะไปชมในความเป็นศิลปะของการสอนและศิลปะของการจัดกระบวนการเรียนรู้อย่างผสมผสาน อาจารย์อวยชัยเป็นรุ่นพี่ของผมที่เพาะช่าง อดีตเป็นช่างศิลป์และมือจัดเวทีของรายการสโมสรผึ้งน้อย ต่อมาก็เป็นมืออาชีพพากษ์หนังทีวี ทำงานเวที และงานอีเว๊นท์ รวมทั้งเมื่อเป็นครู ก็เป็นมืออาชีพสาธิตการสอนและการใช้ศิลปะทำสื่อการสอนอย่างง่ายๆไปทั่วประเทศ เวลาสอนจะมีศิลปะ สนุก และให้ความรอบรู้ตลอดเวลา

 



ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

วิรัตน์ คำศรีจันทร์
เขียนเมื่อ

๑๕๑. มองทางหาครูคิมและหลายท่าน

หมู่นี้ครูคิมหายไปเลยหรือเปล่านะครับ ตั้งแต่งานของหนานเกียรติแน่ะ หลายท่านด้วยเช่นกัน เช่น คนไร้ราก คุณใบไม้ย้อนแสง อาจารย์ชยพร ดิเรก ดร.ชิว คุณหมอชาตรี หายไปนานๆ คิดถึงเหมือนกันนะครับ



ความเห็น (1)

ยกมือคิดถึงทุกท่านที่อาจารย์ถามถึงด้วยคนค่ะ อาจารย์วิรัตน์ แต่ก็เชื่อว่าทุกท่านก็จะแวะมาเสมอเมื่อโอกาสเหมาะสม ที่นี่คือบ้านที่สองของเรานะคะ 

วิรัตน์ คำศรีจันทร์
เขียนเมื่อ

๑๕๐. คนสอนหนังสือ คนทำงานความรู้ นักเรียนนักศึกษา ต้องเขียนบล๊อกและเรียนรู้การใช้ด้วยตนเอง

หลายคนเกรงเสียเวลากับการเขียนบล๊อก บางส่วนอยากเขียนแต่เขียนไม่ค่อยได้ บางส่วนกลัว เพื่อนร่วมงานผม รวมไปจนถึงน้องๆและภรรยา ก็มักบอกว่าเสียเวลา ผมเลยบอกว่า นอกจากไม่ควรคิดว่าเสียเวลาแล้ว กลับเป็นเรื่องหนึ่งที่จะต้องอดทนทำอีกด้วย เพราะบล๊อก เป็นรูปแบบหนึ่งของเครื่องมือทำงานสื่อสารความรู้และสร้างปฏิสัมพันธ์กับโลกรอบข้างด้วยเครื่องมือสื่อสารและจัดการข้อมูลผ่านเครือข่ายอินเทอร์เน็ต สร้างปรากฏการณ์ทางสังคมและส่งผลจริงต่อชีวิตประจำวันของผู้คน รวมทั้งก่อเกิดวงจรเศรษฐกิจและระบบสังคม โยงใยทั่วทุกขอบเขต จึงเป็นความเป็นจริงอย่างหนึ่งของสังคมไทยและสังคมโลก ที่คนทำงานความรู้และคนสอนหนังสือ ซึ่งใช้ความรู้สร้างสังคม ต้องสู้ทำให้มาก เพื่อได้รู้จักและเรียนรู้ก่อนให้กับสังคม คนมีโอกาสเข้าถึงนั้นเป็นคนส่วนน้อยของสังคม มีกำลังทางความรู้มากกว่าคนส่วนใหญ่ จึงต้องมุ่งทำหน้าที่เรียนรู้และเลือกสรรการเปลี่ยนแปลง ได้ความรู้ไปสอนคนอื่นจากการได้ทำจริง



ความเห็น (17)

อยากให้ดอกไม้และกด like 100 ครั้งครับ 555

ผมจะกด Like มากกว่าอาจารย์ขจิตครับ 555

ขอบพระคุณครับอาจารย์ขจิตครับ อาจารย์เห็นความสำคัญในแง่มุมนี้ด้วยใช่มั๊ย ใครที่เขียนและสร้างปฏิสัมพันธ์กับบล๊อกเกอร์อื่นๆ รวมทั้งใส่ใจที่จะสนองตอบต่อผู้อ่านอย่างดี ระหว่างทำงานและใช้ชีวิต ก็หมั่นเสาะหาเรื่องราว มาทำหน้าที่บันทึกและถ่ายทอด ซึ่งเหมือนกับช่วยกันเป็นเครือข่ายสื่อสารและเคลื่อนไหวชีวิตสังคม ภายในหน่วยส่งคมย่อยๆต่างๆ เหล่านี้ จะตระหนักและรับรู้เป็นอย่างดีว่าเป็นเรื่องที่เหนื่อย ต้องฝึกหัดตนเอง ต้องฝืนความสะดวกสบายของชีวิต ต้องเสียสละโอกาสตนเองที่จะเลือกทำแต่สิ่งที่มุ่งได้ความสุขและเกิดพอใจแต่เพียงลำพัง เรื่องราวในบล๊อกต่างๆนี่ ไม่ว่าจะเขียนอย่างไร อ่านและสัมผันปร๊าดก็รู้สึกได้ครับว่าเขียนด้วยมความสำนึกร่วมกับคนอื่นอยู่ตลอดเวลา เป็นการเดินออกมานอกตัวเอง เขียนเพื่อติดต่อและสร้างโยงใยทางสังคม จะดีไม่ดีอย่างไรนี่เป็นเรื่องที่ต้องสั่งสมการเรียนรู้และเป็นทักษะชีวิตในสิ่งแวดล้อมใหม่ๆที่ฝึกฝนบ่มเพาะกันได้ต่อไปอีก

พอจะร่วมสร้างเสริมกำลังใจเล็กๆน้อยๆและชวนได้วิธีคิดในบางแง่แก่บล๊อกเกอร์ทุกท่านได้บ้างนะครับ มันเป็นสื่อความรู้อย่างใหม่ที่เข้าไปอยู่ในมือทุกคนได้อย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน จึงเปิดโอกาสให้ทุกคนเรียนรู้ที่จะค้นพบความหมายและสร้างคุณค่าใหม่ๆ ทั้งต่อสังคมและต่อตนเองได้เป็นอย่างดี ชุมชนบล๊อกเกอร์ใน gotoknow นี้ ผมว่าเป็นกลุ่มหนึ่ง ที่เหมือนกับเป็นคลื่นความเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงระลอกแรกๆในวัฒนธรรมความรู้และในวิถีสังคมวัฒนธรรมที่สืบเนื่องอยู่กับพัฒนาการของวิทยาการและเทคโนโลยีอย่างนี้ อีกทั้งเป็นกำลังสำหรับการเรียนรู้ที่จะสร้างบทบาทให้กับสื่อการเรียนรู้ของสังคมอย่างนี้น่ะครับ

แน่นอนว่า ความที่เป็นคลื่นหัวเดิ่ง หรือระลอกคลื่นระลอกแรกๆนั้น ก็อาจจะดูยังไม่เข้าที่เข้าทาง เป็นคลื่นที่ไม่สวย บางทีก็สะพัดไปอย่างสะเปะสะปะ ปนสวะหยากไย่ กระทบสิ่งที่มีอยู่แต่เดิม ขุ่นมัวบ้าง ดีบ้าง เพื่อคลื่นที่เป็นสายธารหลากหลั่งตามมาทีหลัง จะสดใสและเป็นริ้วที่สวยงาม และได้ต่อเติม สั่งสมภูมิปัญญาปฏิบัติ เพิ่มพูนความงอกงามขึ้นจากความเป็นตัวของตัวเองในวิธีจัดการตนเองอย่างนี้ของสังคม

สวัสดีครับอาจารย์ Wasawat Deemarn ครับ ขอบพระคุณมากเช่นกันครับผม
เวลาเขียน-ทำงานหน้าจอไป ก็มักตาเบลอๆ เจ็บข้อมือ เจ็บหลัง เลยอยากบันทึกคุณูปการต่างๆของเรื่องราวที่คนเขาพากันสร้างไว้ใน gotoknow และแหล่งต่างๆ ในห้วงทุกขเวทนาอย่างนี้ไว้น่ะสิครับ มันเป็นเรื่องที่ทำได้ลำบากมากนะครับนี่

บางที เวลาผมเห็นรายงานและทรรศนะที่กังวลว่าเด็กๆจะให้เวลากับการเข้าอินเทอร์เน็ตมากไป หรือคนทั่วไปเมื่อใช้เวลามากกับการเขียนบล๊อก โดยเทียบกับสถานการณ์ปรกติทั่วๆไป ก็รู้สึกว่าจะเสียความสมดุลในชีวิต บางทีก็ไปไกลถึงกับตีตราและให้ความหมายเป็นไปในทางลบว่าเป็นโรคติดอินเทอร์เน็ต ซึ่งในมุมมองผมนั้น วิธีคิดอย่างนี้ และต่อกระบวนการเรียนรู้ของสังคมอย่างนี้นี่ ไม่น่าจะเอื้อต่อการทำให้สังคมพัฒนาตนเองไปสู่วัฒนธรรมความรู้และไม่ส่งเสริมให้มุ่งคิดมุ่งสร้างสังคมแห่งการเรียนรู้ในบริบทใหม่ๆได้

หากนึกถึงยุคอนาล็อค ที่อยากเห็นเด็กๆและพลเมืองทุ่มเทกับการศึกษาค้นคว้าและการศึกษาหาความรู้ รักการอ่านเขียน มีคุณธรรมของความเป็นผู้คงแก่เรียนในการน้อมตนไปหาครูอาจารย์ สำนักคิดสำนักประสบการณ์ต่างๆ และการใช้ชีวิตเที่ยวท่องหาประสบการณ์ต่อโลกกว้าง เหล่านี้ เราก็มักจะยอมรับกันว่าเป็นความเหนื่อยยากที่ต้องพากเพียรฝึกฝน ซึ่งก็คนส่วนน้อยเท่านั้นที่ก็จะสามารถทำจนเป็นวิถีชีวิตของตนเองได้ ในยุคนี้ก็คงจะต้องมองให้เห็นโอกาสอย่างนั้นเหมือนกัน

การเห็นเด็กๆและผู้คนที่มีพื้นที่จะรักการพัฒนาตนเองไปกับการเข้าถึงประสบการณ์ชีวิตและเพิ่มพูนการเรียนรู้ผ่านการใช้บล๊อกหรืออินเทรอ์เน็ตนี่ ยิ่งมากจนเป็นวิถีชีวิต เราก็ควรจะยิ่งต้องชื่นชมว่ามีความพากเพียร ทุ่มเท เพียงแต่ต้องค่อยๆแนะนำ พัฒนาวิธีคิดและวิธีใช้ ให้ไปในทางที่ส่งเสริมต่อชีวิตทางการเรียนรู้มากยิ่งๆขึ้น เพราะจะว่าไปแล้ว โดยนัยอย่างนี้  blogging literacy นี้ ก็คือ ๑ ใน Learning Literacy อย่างที่สังคมต้องการในอดีตนั่นเอง เพียงแต่สภาพความจำเป็นและสิ่งแวดล้อมทางเทคโนโลยีความรู้มันเปลี่ยนไปแล้วเท่านั้น

การเขียนสิ่งดีๆที่เราได้เรียนรู้ ได้คิด ได้รับประสบการณ์ด้วยตัวเองลงไว้ในบล็อกอย่างสม่ำเสมอเป็นการสะสมสิ่งดีๆในโลกอินเตอร์เน็ตเอาไว้ให้คนรุ่นต่อๆไป ที่ท่าทางจะสนทนากับคอมพิวเตอร์และโลกอินเตอร์เน็ตมากกว่าคนรอบๆตัวด้วยนะคะ วันนี้เขาอาจจะยังไม่มีเวลาอ่าน เวลาคิด แต่สักวันสิ่งที่เราเขียน สิ่งที่เราตั้งใจสื่อสารเก็บไว้ก็จะส่งผ่านไปถึงคนรุ่นหลังได้แน่นอนค่ะ และในยามที่เราไม่ได้เขียน การได้อ่าน ได้ท่องเที่ยวในอินเตอร์เน็ตก็จะพาเรามาหา GotoKnow ได้เสมอๆเพราะระบบการใส่คำสำคัญ ซึ่งเป็นเครื่องมือที่ดีมากๆในการสะสมสิ่งต่างๆอย่างเป็นระบบค่ะ

ขอบคุณอาจารย์วิรัตน์อย่างมาก ที่มักจะส่งผ่านความคิดที่ช่วยให้คนอ่านเกิดประกายความคิดต่อไปอีกได้เสมอๆ ซึ่งตัวเองคิดว่าคนที่ทำแบบนี้ได้ยิ่งสมควรเขียนเป็นอย่างยิ่ง และรู้สึกขอบคุณอาจารย์เสมอที่อาจารย์มีเรื่องดีๆมาบันทึกจุดประกายกันอยู่ตลอดเวลาค่ะ ขอบคุณในใจนานๆก็ส่งคำขอบคุณมาเป็นตัวอักษรสักที ขอบคุณจริงๆค่ะ

สวัสดีครับท่านดร.อโณทัยครับ นี่ทำให้ผมคิดถึงบรรยากกาศของการพบปะและได้เสวนาแบ่งปันประสบการณ์การกันที่บ้านของอาจารย์หมอเต็มศักดิ์เลยนะครับเนี่ย

ชอบแนวคิดของดร.โอ๋นี้มากอย่างยิ่งเลยครับ ตรงใจและได้อาสาทำในมุมนี้ไปด้วยอยู่เสมอเลยละครับ หลายอย่างนี่ทำเหมือนเดินหาบน้ำใส่ตุ่มเลยละครับ เอาไว้ให้คนที่มาทีหลัง ซึ่งเขาอาจจะทำหลายอย่างได้ดีกว่าที่เราทำด้วยตัวเขาเอง แต่สิ่งที่เขาจะไม่ได้จากสิ่งที่เขาทำ แม้จะให้ดีแค่ไหนก็คือ ความต่อเนื่องและการสั่งสมประสบการณ์ทางสังคม ที่เราได้ค่อยๆช่วยกันบันทึกมุมผ่านทางของเราและสร้างไว้  ขอบพระคุณมากเช่นกันครับ

ขอบพระคุณคุณครูกาญจนาที่แวะมาเยือนให้กำลังใจกันครับ
เห็นหมวกกับความอารมณ์ดีกลางเปลวแดดแล้ว ให้รู้สึกได้ถึงความสบายๆในชีวิตไปด้วยเลยละครับ ได้บรรยากาศเหมือนพบปะเพื่อนฝูงและคนคุ้นเคย

อ.วิรัตน์คะ

แนวคิดของอาจารย์ที่ได้ถ่ายทอดผ่านตัวหนังสือลงในอนุทินนี้สร้างแรงบันดาลใจได้ดีจังเลยค่ะ

หนูมองว่าการเขียนทำให้เราสร้างตัวตนตัวเองได้ชัดเจนขึ้น แต่ก็ยังทิ้งการอ่านไม่ได้ เพราะนี่คือสิ่งที่ไปคู่กัน และทำให้การเกิดตัวตนของเราชัดเจนมากขึ้นด้วยค่ะ

นั่นคือ เมื่ออ่านก็จะได้คิด เมื่อคิดแล้วเขียนก็เกิดการขัดเกลาตัวตนออกมาให้ชัดขึ้นค่ะ

^____^

ทำไมบางคนชอบวาดรูป

แต่บางคนชอบถ่ายรูป

ทำไมบางคนชอบเล่นเครื่องดนตรีเป็นเพลง

แต่บางคนชอบฟังเพลง

.....

ความชอบ ความสนใจ ความถนัด ความอยาก และแรงบันดาลใจมีส่วนสำคัญขั้นพื้นฐานในการให้คนทำสิ่งนั้นๆ

พี่เทพศิริ สุขโสภา ท่านวาดรูปมานาน แต่ไม่ถนัดใช้ drawing ด้วยดินสอ แต่เมื่อเกิดลูกฮึด ใครแวะเวียนไปเยี่ยมท่านที่เชียงใหม่ ต้องจับมานั่งให้ท่านวาดลายเส้นครบทุกคน แล้วเอาติดมือกลับบ้าน

ลายดินสอของท่านนั้น ท่านพยายามตวัดครั้งเดียวให้ได้รูปหน้า เส้นหนักเส้นเบาเป็นไปเองโดยธรรมชาติ แม้แต่พี่เทพจะวาดรูปมานานเท่าอายุท่าน แต่ทุกวันนี้ท่านก็ยังตวัดปลายดินสออยู่เพื่อหาความลงตัวของฝีมือ

แม้มีความชอบหากไม่ฝึกฝน ก็ไม่พัฒนา

จะฝึกฝนได้อย่างไร

บางคนมีความชอบก็ฝึกไปเรื่อยๆ

บางคนจำเป็นต้องทำ แล้วเกิดชอบ ก็ฝึกไปเรื่อยๆ

บางคนมีแรงบันดาลใจ ก็ฮึดขึ้นมา

ผมถามพี่เทพว่า ทำไมเกิดจะตวัดปลายดินสอล่ะครับ

ท่านชี้ไปที่รูปอาจารย์เฟื้อ หริพิทักษ์(หากเขียนนามสกุลท่านผิดกราบขออภัยด้วย)

แล้วบอกว่า นั่นคือแรงบันดาลใจของพี่......

สนับสนุนความเห็นน้องมะปรางครับ...

เห็นด้วยกับพี่โอ๋คะ ว่า ความเห็นที่ได้รับจากอาจารย์ได้ทั้งกำลังใจและประกายความคิดต่อยอด

การเขียนบล็อก และอ่านบล็อก เป็นการเรียนรู้ปฏิสัมพันธ์กับสังคมไปในตัว..

สวัสดีครับมะปรางเปรี้ยวครับ
เห็นด้วยอย่างยิ่งครับ เป็นบทบาทหนึ่งที่เด่นชัดและมีความหมายต่อสังคมมาก ในแง่ของการสื่อสารและการพัฒนาเรียนรู้ของสังคม ก็ต้องนับว่านี่เป็นการพัฒนาบทบาทของ New media ที่ส่งเสริมวัฒนธรรมความรู้ซึ่งเป็นพื้นฐานของสังคมแห่งการเรียนรู้ สังคมแห่งการอ่าน เขียน บันทึก ศึกษาค้นคว้า และพัฒนาทักษะการเรียนรู้ตลอดชีวิตให้กับพลเมือง

การที่คนมีความแตกฉานขึ้นด้วยตนเองในระดับหนึ่ง ผ่านการได้ทำกับตนเองโดยตรงจนเหมือนกับเป็นชีวิตประจำวัน ทางด้านแบ่งปัน สื่อสาร และเข้าถึงข้อมูลข่าวสาร ได้มากขึ้นทั้งในเชิงปริมาณและคุณภาพ ก็เป็นทุนมนุษย์ที่ดีๆสำหรับอีกหลายเรื่องแน่นอนครับ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องพัฒนาสุขภาพและคุณภาพชีวิต การพัฒนาสังคม เศรษฐกิจฐานราก การศึกษา 

สวัสดีครับท่านพี่บางทรายครับ

  • เมื่อพูดถึงอาจารย์เทพศิริ สุขโสภานี่ ผมก็นึกถึงเหมือนผู้คนที่จะรู้จักผลงานชิ้นเอกของท่านหลายชิ้นเหมือนกันครับ คือ 'วรรณกรรมบึงหญ้าป่าใหญ่' 'ของเล่นเดินทาง' ทางด้านดรออิ้งนั้น ผมนั้นชอบเส้นที่พลิ้ว แม่นยำ ความต่อเนื่องและลูกเล่นที่เชื่อมโยงกลมกลืน โดยเฉพาะจังหวะเหมือนกับการแตะเบาๆแล้วก็ปล่อยนั้น ช่างให้ความอิสระ ความสบาย ปลดปล่อยความคิดและจินตนาการ ได้ดีจริงๆ
  • ท่านศาสตราจารย์เฟื้อ หริพิทักษ์นั้น ในวงการศิลปะและการทำงานเพื่อสืบสานภูมิปัญญาของสังคมนี่ ต้องถือท่านเป็นครูทั้งสิ้นท่านหนึ่งเลยละครับ
  • สิ่งที่เราชอบและแม้จะทำได้เป็นอย่างดีนี่ ก็ต้องฝึกปรือไว้กับตัวเองอยู่เสมออย่างที่พี่ว่าเลยนะครับ

สวัสดีครับอาจารย์หมอ CMUpal ครับ
บันทึกและงานเขียนของอาจารย์นี่ช่างให้พลังความคิดดีมากเลยนะครับ เป็นคนเขียนหนังสือที่สื่อสะท้อนออกจากมุมมองข้างในที่ให้ความคิดสร้างสรรค์ได้ดีจริงๆ ต้องขอชมสักหน่อย

วิรัตน์ คำศรีจันทร์
เขียนเมื่อ

๑๔๙. Creative Communication and Presentation : ทำชีวประวัติบุคคลให้เป็นคลังปัญญาของสังคม

ผมได้มีโอกาสไปเชียงใหม่ ทีมทำงานกองทุนหมอเจ้าฟ้าซึ่งเป็นทีมทำหอเกียรติยศคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กับทีมประชาสัมพันธ์และงานโสตกับงานเวชนิทัศน์ ซึ่งได้ชวนผมไปทำ Concept Design จัดนิทรรศการและการนำเสนอสิ่งต่างๆเกี่ยวกับศาสตราจารย์นายแพทย์เกษม วัฒนชัย องคมนตรี ในหอเกียรติยศและอีกหลายแห่งในคณะ ผมเอาข้อมูลมาเล่าใหม่ด้วยการวาดภาพ ส่งต่อให้มือกราฟิคของคณะไปทำเป็นแผ่นนิทรรศการ ทางคณะและมหาวิทยาลัยได้จัดงานเสวนา จากนั้นก็ติดตั้งไว้ระยะหนึ่ง เป็นการทำงานเชิงสร้างสรรค์แบบผสมผสานหลายสาขา พอได้ขึ้นไปก็ได้ไปชม ทางทีมรวมตัวกันพาผมไปเลี้ยงข้าวขอบคุณ และผมก็ขอขอบคุณที่ได้ให้มีส่วนร่วมทำงานอย่างนี้ เป็นการทำงานที่แต่ละสาขาต่างทำงาน Creative ของตนแล้วนำมาบวกกัน ไม่ใช่เพียงเป็นการรวมแรงคนให้มากเรื่อง ทำให้งานมีคุณภาพดีสำหรับนำเสนอต่อสังคม ให้คุณค่าและความหมายเหมาะสมกับ Subject ซึ่งมีคุณค่าต่อวงการศึกษามาก



ความเห็น (2)

มือกราฟิก คงเป็นคนที่ผมรู้จัก อิ อิ

สวัสดีครับอาจารย์ Wasawat Deemarn ครับ
อาจารย์คงหมายถึงน้องคนหนึ่ง
ที่แฟนของเขาดูออกจะคล้ายๆผมแน่เลย ฮ่าา

วิรัตน์ คำศรีจันทร์
เขียนเมื่อ

๑๔๘. Cross-Discipline Learning : เติมวิถีชุมชนและวิชาเรียนรู้ทางสังคมให้กับ Bio-Medical Health Sciences

อาจารย์หมอนิรันดร์ หัวหน้าภาควิชากุมารเวชศาสตร์ ศิริราช และทีม มาขอแรงให้ไปช่วยจัดกระบวนการพัฒนา Lean Thinking เพื่อพัฒนางานการเรียนการสอนกับงานบริการทางวิชาการของภาควิชาให้กับคณาจารย์กับทีมพยาบาล นักวิทยาศาสตร์และเจ้าหน้าที่ภาควิชาให้หน่อย อาจารย์ได้รับการแนะนำจากสำนักพัฒนาคุณภาพของมหาวิทยาลัย ผมบอกว่า ๒-๓ เดือนนี้ผมเตรียม Fade Out จากงานต่างๆที่ไม่ใช่งานสอนกับคุมวิทยานิพนธ์ พร้อมกับเขียนหนังสือกับงานวิจัย และเตรียมตัวไปอยู่ต่างจังหวัด อีกทั้งไม่มีความรู้เรื่องงานในสาขาของหน่วยงานท่านเลย เลยแนะนำแหล่งวิทยาการหลายคนให้อาจารย์ไป แต่ที่สุดก็กลับมาอีกและทำให้ผมสบายใจว่าให้ผมไปช่วยกำกับให้คุยกันเองและระดมความคิดสบายๆ เลยก็ลองขึ้นแนวคิดไปด้วยกัน ผมบอกว่าจะลองเติมชีวิตชุมชนลงไปเพื่อให้วิธีคิดใหม่ต่อความเป็นองค์กรวิชาชีพ และบอกว่าไม่แน่ใจเลยว่าจะได้ผล แต่จะไปช่วยแบบงานไหว้ครูและถวายพระราชบิดาในฐานะศิษย์เก่าของครูอาจารย์ที่ศิริราช อาจารย์ชอบใจ ผมเลยตกลง



ความเห็น (2)

น่าสนใจมากเลยครับ น่าจะเป็นการเรียนรู้ในหลายบริบทได้เลยครับ...

จัดเมื่อไรครับอาจารย์ อยากไปเรียนรู้ด้วย ให้หิ้วกระป๋า ก็ได้ครับ เย้ๆๆ

วิรัตน์ คำศรีจันทร์
เขียนเมื่อ

๑๔๗. โอกาสการใช้คำแสดง 'กตเวทิตาจิต' และ 'มุทิตาจิต'

ช่วงนี้เป็นช่วงใกล้สิ้นเดือนกันยายน หน่วยงานต่างๆจะมีคนทำงานมานานจนถึงวัยเกษียณ ซึ่งก็เป็นโอกาสที่คนที่อยู่ข้างหลังและหน่วยงาน จะจัดงานให้ เมื่อจัดงาน โดยมากแล้วก็มักจะใช้ชื่องานว่า 'งานแสดงมุทิตาจิต' จนเป็นธรรมเนียมปฏิบัติที่ทำสืบต่อกันไปเรื่อยๆ อันที่จริงนั้น 'มุทิตาจิต' หมายถึง การน้อมตนแสดงความยืนดีเมื่อเห็นผู้อื่นได้ดี หากนำมาใช้กับงานเกษียณ และต้องการสื่อความหมายในภาษาธรรม ก็นับว่าถูกต้อง ในธรรมเนียมของงานแซยิดของชาวไทยจีนก็เช่นกัน เป็นการแสดงมุทิตาจิตได้เพราะเป็นงานเฉลิมฉลองวัยที่สามารถมีลูกหลาน เหลน  แต่งานเกษียณแบบธรรมเนียมไทยๆนั้น โดยมากแล้วมักทำเพื่อเป็นโอกาสที่คนรุ่นหลังจะได้แสดงความอาลัยและขอบคุณผู้ทำงานที่ได้อุทิศตนให้กับองค์กร ความอาลัยนั้นตรงกันข้ามกับความยินดีที่จะต้องอำลากัน ดังนั้น จึงควรใช้คำว่างาน 'กตเวทิตาจิต' จะตรงกับเจตนารมณ์ของงานมากกว่า ซึ่งมีความหมายว่าเป็นการขอบคุณ ความเคารพ และขอแสดงความกตัญญูกตเวทิตาต่อคุณงามความดีของผู้เกษียณ  



ความเห็น (2)

ความอาลัยนั้นตรงกันข้ามกับความยินดีที่จะต้องอำลากัน ดังนั้น จึงควรใช้คำว่างาน 'กตเวทิตาจิต' จะตรงกับเจตนารมณ์ของงานมากกว่า

ขอบคุณคะ อาจารย์ การพิจารณาอย่างละเอียดถึงรู้ว่ามีสิ่งที่ดีกว่า :-)

ความหมายนี้ต้องเอาไปขยายและขายต่อค่ะ อาจารย์ ขออนุญาตไว้ล่วงหน้าเลยนะคะ อาจารย์ เห็นด้วยอย่างยิ่งเลยค่ะ เคยคิดถึงคำนี้ในกรณีนี้มาแล้วเหมือนกันค่ะ แต่คิดไปไม่ถึงคำว่า "กตเวทิตาจิต" ชอบคำนี้มากๆเลยค่ะ เพราะที่คณะแพทย์ฯของเรา จะมีงานสำหรับผู้เกษ๊ยณอายุทุกท่าน ตั้งแต่อาจารย์แพทย์ไปจนถึงคนงาน เห็นว่าแต่ละท่านเราจะให้ความรู้สึกกับท่าน คนละแบบกัน คือมีทั้งที่เราอยากแสดง "มุทิตาจิต" เพียงอย่างเดียว หรือ "กตเวทิตาจิต" เพียงอย่างเดียว หรือบางท่านก็มีความรู้สึกทั้งสองกรณีรวมกัน แบบนี้เราควรจะใช้คำอะไรดีจึงจะเหมาะคะ จะเอามาสมาสกันได้อีกไหมคะอาจารย์ (ชักรู้สึกสงสัยขึ้นมาด้วย)

วิรัตน์ คำศรีจันทร์
เขียนเมื่อ

๑๔๖. การจัดการความเสี่ยง : ทำงานด้วยเทคโนโลยีต้องฝึกฝนทักษะการพึ่งตัวเปล่าๆของตนเองไปด้วยเสมอ

นั่งเขียนหนังสือกับงานวิจัย ความที่ต้องทำงานบนเครื่องด้วยตนเองมาหลายปีแบบไม่ต้องอาศัยผู้ช่วยพิมพ์ให้ ก็สังเกตว่าตนเองอดทนเขียนฉบับร่างด้วยมือเพื่อไปขอให้คนอื่นพิมพ์ให้อีกแทบจะไม่ได้เสียแล้ว เลยต้องพึ่งคอมพิวเตอร์และทักษะจิ้มดีดของตัวเองมาก แต่อินังกระดาษไฟฟ้านี้ก็เล่นเอาชีวิตโกลาหลอยู่เรื่อย ทั้งโดนไวรัสกินข้อมูล เครื่องพัง, เมื่อไม่นานมานี้ก็ทำฮาร์ดดิสค์พังไปพร้อมข้อมูลสารพัดที่ค้นคว้าสะสมไว้มากมายและใช้อยู่เสมอ พอไปกู้ที่ร้าน ตอนไปรับตามนัดร้านกลับเลิกกิจการ หายไปอย่างไม่มีตัวตนไปเฉยๆ มาคราวนี้รอบคอบกว่าเดิมเพราะทำไฟล์สำรองไว้หลายแห่ง แต่เครื่องก็เป็นปัญหาจุกจิกอย่างไม่น่าเชื่อ ทนไม่ไหวเลยไปที่ร้านให้เขาซ่อม พร้อมกับซื้อเครื่องใหม่มาทำงานไปด้วย ร้านบอกมีไวรัสตัวหนึ่งที่ชอบซ่อนไฟล์อยู่ในเครื่อง ครั้งหลังสุดเลยเขียนใหม่ เหนื่อยมาก แต่ก็พบว่าความที่รู้ว่าไม่มีไฟล์ข้อมูลให้ค้น ค้นใหม่ก็ไม่มีเวลา เลยนั่งเขียนรวดเดียวกันสดๆ กลับเร็วกว่าเดิม กลายเป็นเรื่องดีในเรื่องร้าย



ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

วิรัตน์ คำศรีจันทร์
เขียนเมื่อ

๑๔๕. ขอบคุณหนังสือ 'หนานเกียรติ' 

วันนี้ได้รับหนังสือ 'ด้วยเกียรติ' อนุสรณ์แห่งคนดี 'หนานเกียรติ' เกียรติศักดิ์ ม่วงมิตร ซึ่งคุณเอก จตุพร วิศิษฎ์โชติอังกูร มีน้ำใจนึกถึงและส่งไปให้ เมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมา ผมไปช่วยเวทีพัฒนาเครือข่ายครูเพื่อศิษย์ของอาจารย์ ดร.ขจิต ฝอยทอง ที่สุพรรณบุรี ผมก็ได้ยกตัวอย่างและกล่าวถึงหนานเกียรติ เพื่อเทียบเคียงการบอกเหตุผลว่าทำไมผมกับดร.ขจิตและเครือข่ายครูที่ได้เจอกันที่สุพรรณฯในครั้งนี้ ทำไมถึงต้องมาเจอกัน เป็นการบอกในทางอ้อมจากบทเรียนที่ผมได้เจอกับกรณีของหนานเกียรติว่า สิ่งดีๆและคนดีๆนั้น เราต้องรีบไปเจอและทำสิ่งต่างๆด้วย ผมเลยต้องไปที่สุพรรณฯ ต้องขอขอบคุณคุณเอก และอยากขอถือโอกาสอีกครั้ง แสดงความขอบคุณและเป็นกำลังใจคุณเอก พี่ครูคิม และอีกหลายท่าน ที่เหมือนกับเป็นผู้อยู่เบื้องหลัง แปรความโศกเศร้าอาลัยกันต่อคนทำงานให้เป็นความเคลื่อนไหวเพื่อดูแลกัน ร่วมทุกข์สุข และเสริมสร้างพลังใจให้แก่กันของผู้คน ให้เกิดขึ้นอย่างกว้างขวาง



ความเห็น (1)
  • อาจารย์ครับ
  • มารายงานความก้าวหน้า
  • นิสิตได้ฝึกเขียนบันทึกเพิ่มครับ

ธเนศ

http://www.gotoknow.org/blog/thanet/453682

 

http://www.gotoknow.org/blog/thanet/453855

 

http://www.gotoknow.org/blog/thanet/453857

 

อาร์ม

 http://www.gotoknow.org/blog/armyactivities/453905

 

นุ่น

http://www.gotoknow.org/blog/natnaree/453698

ยังเขียนไม่จบเลยครับ มีอีกหลายคน

วิรัตน์ คำศรีจันทร์
เขียนเมื่อ

๑๔๔. หอมละมุนมวลบุปผาในสายลมเย็น

ไปช่วยงานเครือข่ายครูเพื่อศิษย์ของอาจารย์ ดร.ขจิต ฝอยทองและคณะ ที่โรงเรียนวัดสระยายโสม อำเภออู่ทอง สุพรรณบุรี ได้เจอผู้คนซึ่งส่วนใหญ่ไม่เคยรู้จักกันมาก่อนโดยตรง แต่เมื่อได้สันถวะทักทายกันและกัน ก็ให้รู้สึกคุ้นเคยกันดังญาติพี่น้องทางการงานและการใช้ชีวิต ได้เจอกลุ่มครูจำนวนหนึ่งที่เขียนบล๊อก gotoknow.org เมื่อทักทายกันก็ข้ามขั้นการสร้างความคุ้นเคยไปสู่การคุยเรื่องการทำงานและประสบการณ์ชีวิตไปเลย บางส่วนก็เป็นคนทำวิจัยในแนวเดียวกัน รวมทั้งดร.สุริยะ ผู้อำนวยการโรงเรียนสระยายโสม ซึ่งเป็นนักศึกษาพุทธธรรมและมุ่งมั่นในงานวิจัยเชิงคุณภาพด้วย ได้รู้จัก อาจารย์ลำดวน ไกรคุณาศัย ซึ่งก่อนไป พี่ท่านก็ได้ทักทายด้วยก่อนแล้ว ผ่านทาง gotoknow นี้ พอไปถึงแล้วก็พบว่าท่านเป็นแม่งานคนหนึ่ง อีกทั้งพอเสร็จงานและก่อนจะแยกย้ายจากกัน ก็นำหลายอย่างมามอบให้ หนึ่งในนั้นที่ชอบมากอย่างยิ่งก็คือหนังสือ 'ในรูปเงา' วรรณกรรมรางวัลนายอินทร์อวอร์ดของเงาจันทร์ 'เงาจันทร์' เป็นนักเขียนที่เป็นครูสพฐ.อยู่ที่เพชรบุรี จบอักษรศาสตรบัณฑิตสาขาภาษาอังกฤษจากศิลปากร 



ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

วิรัตน์ คำศรีจันทร์
เขียนเมื่อ

๑๔๓.ได้ไปร่วมกับดร.ขจิต ฝอยทองกับเครือข่ายครูสุพรรณเรียนรู้การจัดการเรียนรู้อย่างบูรณาการเพื่อผู้เรียนมีความสุข

หลวงพ่อวัดกำแพง ดร.พระครูสุวรรณประชานุกูล รองเจ้าคณะอำเภออู่ทองจังหวัดสุพรรณบุรี สนับสนุนให้ดร.ขจิต ฝอยทองและคณะครูในเขตพื้นที่การศึกษาอำเภออู่ทองกับอำเภอสองพี่น้อง จัดอบรมเชิงปฏิบัติการ 'การบูรณาการการสอนเพื่อจัดกระบวนการเรียนรู้ให้ผู้เรียนมีความสุข' ที่โรงเรียนวัดสระยายโสม สุพรรณบุรี ครูส่วนใหญ่ขอสมัครเข้ามาเรียนรู้และอบรมเชิงปฏิบัติการด้วยกันในวันหยุดกว่า ๑๓๐ คน และทีมนิสิตมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์กับครูตัวอย่างที่อาสามาเป็นครูพี่เลี้ยง ก็ได้ร่วมกันจัดฐานการเรียนรู้ให้กับเด็กๆและให้ครูได้ร่วมกันพัฒนาทักษะการจัดกระบวนการเรียนการสอนภาษาอังกฤษอย่างบูรณาการเพื่อให้ผู้เรียนมีความเก่ง ดี มีสุข ผมกับอาจารย์ณัฐพัชร์ ทองคำ ได้ไปร่วมจัดกระบวนการเรียนรู้ประสบการณ์และเสริมความรู้การออกแบบและจัดการเรียนการสอนอย่างบูรณาการให้ด้วย ๑ วัน ปิดท้ายเวทีโดยรว่มกันสรุปบทเรียนและสะท้อนความบันดาลใจเพื่อพัฒนางานต่อไปในอนาคต 



ความเห็น (4)

ขอบคุณอาจารย์และพี่เหมียวมากครับที่มาช่วยจัดกิจกรรม

วิธีการผ่อนคลายก่อนทำงาน และให้มีความรู้สึกที่ดี รู้จักการแบ่งปัน ชอบมาก ครับ

 ประสบการณ์ครั้งนี้มีค่ามากครับ 

อยากให้เด็กไทยเรียนอย่างมีความสุขทุกคนค่ะ ความสุข ความสนุกช่วยกระตุ้นการเรียนรู้ได้ดี ^ ^

วิรัตน์ คำศรีจันทร์
เขียนเมื่อ

๑๔๒. ศ.ดร.สมจิตต์ สุพรรณทัสน์ นายกสมาคมวิชาชีพสุขศึกษา เคยเป็นศิษย์สำนักสิงห์แดง มธก.

วันนี้ผมได้รับวารสารของสมาคมวิชาชีพสุขศึกษา ฉบับเดือนพฤษภาคม-สิงหาคม ๒๕๕๔ เลยทำให้นึกขึ้นได้ว่า เมื่อต้นปีนี้ผมได้มีโอกาสแนะนำตนเองและสนทนากับท่านสมหมาย ฉัตรทอง อดีตรองผู้ราชการจังหวัดของหลายจังหวัดและอดีตผู้ตรวจราชการของกระทรวงมหาดไทย ซึ่งเหตุที่ได้เข้าไปเยี่ยมคารวะท่านก็เนื่องจากท่านเป็นอดีตนายอำเภอหนองบัว นครสวรรค์ บ้านเกิดของผม ที่เป็นผู้นำประชาชนไปซื้อรถแทรคเตอร์คันที่นายอำเภออรุณ วิไลรัตน์ใช้ขุดสระแก้ปัญหาขาดแคลนน้ำของอำเภอหนองบัวได้ มาเป็นอนุสาวรีย์ตั้งอยู่หน้าที่ว่าการอำเภอหนองบัวกระทั่งปัจจุบัน รวมทั้งเป็นนายอำเภอนักพัฒนาหลายอย่าง หลังคุยกันแล้วท่านให้หนังสือที่ท่านเขียนหลายเล่ม ส่วนหนึ่งเป็นเรื่องราวการศึกษาของท่านเมื่อครั้งเรียนเตรียมอุดมศึกษาบางปูและคณะรัฐศาสตร์ มธก. รวมทั้งที่ท่านเล่าให้ฟังด้วย เลยทำให้ทราบว่าท่าน ศ.ดร.สมจิตต์ สุพรรณทัสน์อดีตคณบดีคณะสาธารณสุข.มหิดลและเป็นนายก.สมาคมวิชาชีพสุขศึกษาปัจจุบัน ก่อนเรียนสาธารณสุขศาสตร์นั้นท่านเรียนรัฐศาสตร์ มธก.รุ่นเดียวกัน



ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

วิรัตน์ คำศรีจันทร์
เขียนเมื่อ

๑๔๑. เครือข่ายหนองบัว-นครสวรรค์ : สู่การสร้างสุขภาวะชุมชนให้เข้มแข็งและยั่งยืนด้วยการเรียนรู้อิงถิ่นฐานแบบบูรณาการ

โรงเรียนหนองบัว อำเภอหนองบัว นครสวรรค์ ได้เป็นศูนย์ประสานงานเพื่อพัฒนาศูนย์การเรียนรู้ภูมิปัญญาท้องถิ่นเพื่อพัฒนาการเรียนรู้อิงถิ่นฐานแบบบูรณาการ สมาชิกเป็นเครือข่ายครูปและเครือข่ายโรงเรียนในฝันของจังหวัดนครสวรรค์ ได้ให้ความสนใจที่จะเชื่อมโยงกับเครือข่ายคนเขียนและบันทึกความรู้ของหนองบัว ในเวทีคนหนองบัว เพื่อเป็นโอกาสในการใช้องค์ความรู้ท้องถิ่นเคลื่อนไหวให้เกิดพัฒนาการของเครือข่าย ได้จัดอบรมเชิงปฏิบัติการ ๒๕-๒๖ กรกฎาคม ๒๕๕๔ ผมออกแบบกระบวนการให้มุ่งไปสู่การสร้างสุขภาวะชุมชนและสร้างการเรียนรู้ที่พอเพียงสำหรับนำการปฏิบัติตนเองไปสู่การพัมนาที่ยั่งยืนในแนวเศรษฐกิจพอเพียง ผ่านการเรียนรู้และปฏิบัติการในชุมชนต่างๆเพื่อเรียนรู้และสร้างความรู้เกี่ยวกับท้องถิ่น สร้างทรัพยากรทางปัญญา เข้าถึงศักยภาพและทุนมนุษย์ และอื่นๆ เพื่อนำมาเป็นต้นทุนพัฒนาหลักสูตรท้องถิ่นและอื่นๆ ด้วยการริเริ่มและพึ่งตนเองได้อย่างยั่งยืน



ความเห็น (3)

เจอครูเขียนบันทึกแล้วครับ ขอไปทักทายครูก่อนนะครับ...

น่าสนใจมาก

ขอรายละเอียดเพิ่มเติมด้วยค่ะ

เข้าไปอ่านรายละเอียดและอ่านย้อนหลังบันทึกก่อนหน้านี้ได้ตามนี้เลยครับ http://www.gotoknow.org/blog/nongbua-community/451584

วิรัตน์ คำศรีจันทร์
เขียนเมื่อ

๑๔๐.วิชาการศึกษาและกระบวนการเรียนรู้ในภาคประชาสังคม

ไปถอดบทเรียนและเสริมความเข้มแข็งในการจัดการด้านกระบวนการเรียนรู้วิถีปฏิบัติให้กับเครือข่ายคนเมืองแพร่กับเครือข่ายพันธมิตร ได้ความรู้สึกเหมือนได้พบกับชุมนุมชนของเพื่อนเก่าและกลุ่มเรียนรู้เพื่อเป็นชุมชนเรียนรู้ที่อยู่นอกระบบการศึกษาที่เป็นทางการ เครือข่ายที่ร่วมเวที นอกจากยังคงมีภารกิจตามความสนใจร่วมกันแล้ว ก็เริ่มมีบทบาทในการเป็นแหล่งเรียนรู้ของผู้อื่นทั้งไทยและต่างประเทศ การจัดกระบวนการเรียนรู้ประสบการณ์ จึงเป็นทั้งการยืนบนประสบการณ์เพื่อจินตนาการอนาคตและสร้างศักยภาพเครือข่ายในการพัฒนากระบวนการศึกษาเรียนรู้ มีเวทีให้ตกผลึกความคิดและตัวปัญญา สร้างความรู้ จัดระเบียบประสบการณ์ รวมทั้งมีพี่เลี้ยงจัดสถานการณ์จริงให้ได้ทั้งการทำงาน สะสมความรู้ สร้างสื่อ พัฒนากระบวนการถ่ายทอด นำเสนอ ฝึกฟังและรับประสบการณ์ผู้อื่น แสดงทรรศนะวิพากษ์ เรียนรู้ความเชื่อมโยง พัฒนาความเป็นตัวของตัวเอง เหมือนเป็นวิชาครูและวิชาการเป็นผู้เรียนรู้ ที่เสริมเข้าไปให้กับเครือข่ายภาคประชาสังคมเพื่อบริหารจัดการบทเรียนที่มีชีวิตอยู่ในตนเองอยู่แล้ว



ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

วิรัตน์ คำศรีจันทร์
เขียนเมื่อ

๑๓๙.ถอดบทเรียนเสริมความเข้มแข็งและความยั่งยืนในการเรียนรู้วิถีปฏิบัติของเครือข่ายคนเมืองแพร่

ทีมบางกอกฟอรั่ม มาชวนไปพบกับเครือข่ายคนเมืองแพร่ ซึ่งเป็นกลุ่มคนที่เคลื่อนไหวเพื่อฟื้นฟูวิถีชีวิตเมืองเก่า ศิลปะ วัฒนธรรม สถาปัตยกรรม สิ่งแวดล้อมและวิถีชีวิตด้านในของผู้อยู่อาศัย กลุ่มผู้เข้าร่วมเวทีเป็นกลุ่มวิชาชีพและคนทำงานจากหลายหน่วยงาน เช่น สถาปนิก อาจารย์และนักวิ่งนักรณรงค์ทางสังคม นักธุรกิจท้องถิ่นในแนวทางเลือกและเป็นเครือข่ายผู้ปฏิบัติการเจริญสติภาวนาแนวหลวงพ่อเทียน จิตตสุโภ เครือข่ายคนเมืองน่าน อาจารย์สถาปัตย์จุฬาฯ ผู้ประสานงานของสำนักงานคณะรัฐมนตรีศึกษาของเอเชียแปซิฟิกหรือสปาฟา SPAAFA บางกอกฟอรั่มเป็นองค์กรที่ทำงานวิชาการภาคประชาสังคม เครือข่ายแพร่มีผลงานและความเคลื่อนไหวมาอย่างต่อเนื่องหลายด้าน การถอดบทเรียนเวทีนี้จึงเป็นกระบวนการแลกเปลี่ยนเรียนรู้และพัฒนาเครือข่ายให้เข้มแข็งด้วยการนำเอาประสบการณ์ต่างๆมาพูดคุยและแบ่งปันกัน เห็นความคิด บทเรียน ความเคลื่อนไหว แนวโน้มความสนใจและการดำเนินการต่างๆในอนาคต



ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท