อนุทิน 95200


วิรัตน์ คำศรีจันทร์
เขียนเมื่อ

๑๕๐. คนสอนหนังสือ คนทำงานความรู้ นักเรียนนักศึกษา ต้องเขียนบล๊อกและเรียนรู้การใช้ด้วยตนเอง

หลายคนเกรงเสียเวลากับการเขียนบล๊อก บางส่วนอยากเขียนแต่เขียนไม่ค่อยได้ บางส่วนกลัว เพื่อนร่วมงานผม รวมไปจนถึงน้องๆและภรรยา ก็มักบอกว่าเสียเวลา ผมเลยบอกว่า นอกจากไม่ควรคิดว่าเสียเวลาแล้ว กลับเป็นเรื่องหนึ่งที่จะต้องอดทนทำอีกด้วย เพราะบล๊อก เป็นรูปแบบหนึ่งของเครื่องมือทำงานสื่อสารความรู้และสร้างปฏิสัมพันธ์กับโลกรอบข้างด้วยเครื่องมือสื่อสารและจัดการข้อมูลผ่านเครือข่ายอินเทอร์เน็ต สร้างปรากฏการณ์ทางสังคมและส่งผลจริงต่อชีวิตประจำวันของผู้คน รวมทั้งก่อเกิดวงจรเศรษฐกิจและระบบสังคม โยงใยทั่วทุกขอบเขต จึงเป็นความเป็นจริงอย่างหนึ่งของสังคมไทยและสังคมโลก ที่คนทำงานความรู้และคนสอนหนังสือ ซึ่งใช้ความรู้สร้างสังคม ต้องสู้ทำให้มาก เพื่อได้รู้จักและเรียนรู้ก่อนให้กับสังคม คนมีโอกาสเข้าถึงนั้นเป็นคนส่วนน้อยของสังคม มีกำลังทางความรู้มากกว่าคนส่วนใหญ่ จึงต้องมุ่งทำหน้าที่เรียนรู้และเลือกสรรการเปลี่ยนแปลง ได้ความรู้ไปสอนคนอื่นจากการได้ทำจริง



ความเห็น (17)

อยากให้ดอกไม้และกด like 100 ครั้งครับ 555

ผมจะกด Like มากกว่าอาจารย์ขจิตครับ 555

ขอบพระคุณครับอาจารย์ขจิตครับ อาจารย์เห็นความสำคัญในแง่มุมนี้ด้วยใช่มั๊ย ใครที่เขียนและสร้างปฏิสัมพันธ์กับบล๊อกเกอร์อื่นๆ รวมทั้งใส่ใจที่จะสนองตอบต่อผู้อ่านอย่างดี ระหว่างทำงานและใช้ชีวิต ก็หมั่นเสาะหาเรื่องราว มาทำหน้าที่บันทึกและถ่ายทอด ซึ่งเหมือนกับช่วยกันเป็นเครือข่ายสื่อสารและเคลื่อนไหวชีวิตสังคม ภายในหน่วยส่งคมย่อยๆต่างๆ เหล่านี้ จะตระหนักและรับรู้เป็นอย่างดีว่าเป็นเรื่องที่เหนื่อย ต้องฝึกหัดตนเอง ต้องฝืนความสะดวกสบายของชีวิต ต้องเสียสละโอกาสตนเองที่จะเลือกทำแต่สิ่งที่มุ่งได้ความสุขและเกิดพอใจแต่เพียงลำพัง เรื่องราวในบล๊อกต่างๆนี่ ไม่ว่าจะเขียนอย่างไร อ่านและสัมผันปร๊าดก็รู้สึกได้ครับว่าเขียนด้วยมความสำนึกร่วมกับคนอื่นอยู่ตลอดเวลา เป็นการเดินออกมานอกตัวเอง เขียนเพื่อติดต่อและสร้างโยงใยทางสังคม จะดีไม่ดีอย่างไรนี่เป็นเรื่องที่ต้องสั่งสมการเรียนรู้และเป็นทักษะชีวิตในสิ่งแวดล้อมใหม่ๆที่ฝึกฝนบ่มเพาะกันได้ต่อไปอีก

พอจะร่วมสร้างเสริมกำลังใจเล็กๆน้อยๆและชวนได้วิธีคิดในบางแง่แก่บล๊อกเกอร์ทุกท่านได้บ้างนะครับ มันเป็นสื่อความรู้อย่างใหม่ที่เข้าไปอยู่ในมือทุกคนได้อย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน จึงเปิดโอกาสให้ทุกคนเรียนรู้ที่จะค้นพบความหมายและสร้างคุณค่าใหม่ๆ ทั้งต่อสังคมและต่อตนเองได้เป็นอย่างดี ชุมชนบล๊อกเกอร์ใน gotoknow นี้ ผมว่าเป็นกลุ่มหนึ่ง ที่เหมือนกับเป็นคลื่นความเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงระลอกแรกๆในวัฒนธรรมความรู้และในวิถีสังคมวัฒนธรรมที่สืบเนื่องอยู่กับพัฒนาการของวิทยาการและเทคโนโลยีอย่างนี้ อีกทั้งเป็นกำลังสำหรับการเรียนรู้ที่จะสร้างบทบาทให้กับสื่อการเรียนรู้ของสังคมอย่างนี้น่ะครับ

แน่นอนว่า ความที่เป็นคลื่นหัวเดิ่ง หรือระลอกคลื่นระลอกแรกๆนั้น ก็อาจจะดูยังไม่เข้าที่เข้าทาง เป็นคลื่นที่ไม่สวย บางทีก็สะพัดไปอย่างสะเปะสะปะ ปนสวะหยากไย่ กระทบสิ่งที่มีอยู่แต่เดิม ขุ่นมัวบ้าง ดีบ้าง เพื่อคลื่นที่เป็นสายธารหลากหลั่งตามมาทีหลัง จะสดใสและเป็นริ้วที่สวยงาม และได้ต่อเติม สั่งสมภูมิปัญญาปฏิบัติ เพิ่มพูนความงอกงามขึ้นจากความเป็นตัวของตัวเองในวิธีจัดการตนเองอย่างนี้ของสังคม

สวัสดีครับอาจารย์ Wasawat Deemarn ครับ ขอบพระคุณมากเช่นกันครับผม
เวลาเขียน-ทำงานหน้าจอไป ก็มักตาเบลอๆ เจ็บข้อมือ เจ็บหลัง เลยอยากบันทึกคุณูปการต่างๆของเรื่องราวที่คนเขาพากันสร้างไว้ใน gotoknow และแหล่งต่างๆ ในห้วงทุกขเวทนาอย่างนี้ไว้น่ะสิครับ มันเป็นเรื่องที่ทำได้ลำบากมากนะครับนี่

บางที เวลาผมเห็นรายงานและทรรศนะที่กังวลว่าเด็กๆจะให้เวลากับการเข้าอินเทอร์เน็ตมากไป หรือคนทั่วไปเมื่อใช้เวลามากกับการเขียนบล๊อก โดยเทียบกับสถานการณ์ปรกติทั่วๆไป ก็รู้สึกว่าจะเสียความสมดุลในชีวิต บางทีก็ไปไกลถึงกับตีตราและให้ความหมายเป็นไปในทางลบว่าเป็นโรคติดอินเทอร์เน็ต ซึ่งในมุมมองผมนั้น วิธีคิดอย่างนี้ และต่อกระบวนการเรียนรู้ของสังคมอย่างนี้นี่ ไม่น่าจะเอื้อต่อการทำให้สังคมพัฒนาตนเองไปสู่วัฒนธรรมความรู้และไม่ส่งเสริมให้มุ่งคิดมุ่งสร้างสังคมแห่งการเรียนรู้ในบริบทใหม่ๆได้

หากนึกถึงยุคอนาล็อค ที่อยากเห็นเด็กๆและพลเมืองทุ่มเทกับการศึกษาค้นคว้าและการศึกษาหาความรู้ รักการอ่านเขียน มีคุณธรรมของความเป็นผู้คงแก่เรียนในการน้อมตนไปหาครูอาจารย์ สำนักคิดสำนักประสบการณ์ต่างๆ และการใช้ชีวิตเที่ยวท่องหาประสบการณ์ต่อโลกกว้าง เหล่านี้ เราก็มักจะยอมรับกันว่าเป็นความเหนื่อยยากที่ต้องพากเพียรฝึกฝน ซึ่งก็คนส่วนน้อยเท่านั้นที่ก็จะสามารถทำจนเป็นวิถีชีวิตของตนเองได้ ในยุคนี้ก็คงจะต้องมองให้เห็นโอกาสอย่างนั้นเหมือนกัน

การเห็นเด็กๆและผู้คนที่มีพื้นที่จะรักการพัฒนาตนเองไปกับการเข้าถึงประสบการณ์ชีวิตและเพิ่มพูนการเรียนรู้ผ่านการใช้บล๊อกหรืออินเทรอ์เน็ตนี่ ยิ่งมากจนเป็นวิถีชีวิต เราก็ควรจะยิ่งต้องชื่นชมว่ามีความพากเพียร ทุ่มเท เพียงแต่ต้องค่อยๆแนะนำ พัฒนาวิธีคิดและวิธีใช้ ให้ไปในทางที่ส่งเสริมต่อชีวิตทางการเรียนรู้มากยิ่งๆขึ้น เพราะจะว่าไปแล้ว โดยนัยอย่างนี้  blogging literacy นี้ ก็คือ ๑ ใน Learning Literacy อย่างที่สังคมต้องการในอดีตนั่นเอง เพียงแต่สภาพความจำเป็นและสิ่งแวดล้อมทางเทคโนโลยีความรู้มันเปลี่ยนไปแล้วเท่านั้น

การเขียนสิ่งดีๆที่เราได้เรียนรู้ ได้คิด ได้รับประสบการณ์ด้วยตัวเองลงไว้ในบล็อกอย่างสม่ำเสมอเป็นการสะสมสิ่งดีๆในโลกอินเตอร์เน็ตเอาไว้ให้คนรุ่นต่อๆไป ที่ท่าทางจะสนทนากับคอมพิวเตอร์และโลกอินเตอร์เน็ตมากกว่าคนรอบๆตัวด้วยนะคะ วันนี้เขาอาจจะยังไม่มีเวลาอ่าน เวลาคิด แต่สักวันสิ่งที่เราเขียน สิ่งที่เราตั้งใจสื่อสารเก็บไว้ก็จะส่งผ่านไปถึงคนรุ่นหลังได้แน่นอนค่ะ และในยามที่เราไม่ได้เขียน การได้อ่าน ได้ท่องเที่ยวในอินเตอร์เน็ตก็จะพาเรามาหา GotoKnow ได้เสมอๆเพราะระบบการใส่คำสำคัญ ซึ่งเป็นเครื่องมือที่ดีมากๆในการสะสมสิ่งต่างๆอย่างเป็นระบบค่ะ

ขอบคุณอาจารย์วิรัตน์อย่างมาก ที่มักจะส่งผ่านความคิดที่ช่วยให้คนอ่านเกิดประกายความคิดต่อไปอีกได้เสมอๆ ซึ่งตัวเองคิดว่าคนที่ทำแบบนี้ได้ยิ่งสมควรเขียนเป็นอย่างยิ่ง และรู้สึกขอบคุณอาจารย์เสมอที่อาจารย์มีเรื่องดีๆมาบันทึกจุดประกายกันอยู่ตลอดเวลาค่ะ ขอบคุณในใจนานๆก็ส่งคำขอบคุณมาเป็นตัวอักษรสักที ขอบคุณจริงๆค่ะ

สวัสดีครับท่านดร.อโณทัยครับ นี่ทำให้ผมคิดถึงบรรยากกาศของการพบปะและได้เสวนาแบ่งปันประสบการณ์การกันที่บ้านของอาจารย์หมอเต็มศักดิ์เลยนะครับเนี่ย

ชอบแนวคิดของดร.โอ๋นี้มากอย่างยิ่งเลยครับ ตรงใจและได้อาสาทำในมุมนี้ไปด้วยอยู่เสมอเลยละครับ หลายอย่างนี่ทำเหมือนเดินหาบน้ำใส่ตุ่มเลยละครับ เอาไว้ให้คนที่มาทีหลัง ซึ่งเขาอาจจะทำหลายอย่างได้ดีกว่าที่เราทำด้วยตัวเขาเอง แต่สิ่งที่เขาจะไม่ได้จากสิ่งที่เขาทำ แม้จะให้ดีแค่ไหนก็คือ ความต่อเนื่องและการสั่งสมประสบการณ์ทางสังคม ที่เราได้ค่อยๆช่วยกันบันทึกมุมผ่านทางของเราและสร้างไว้  ขอบพระคุณมากเช่นกันครับ

ขอบพระคุณคุณครูกาญจนาที่แวะมาเยือนให้กำลังใจกันครับ
เห็นหมวกกับความอารมณ์ดีกลางเปลวแดดแล้ว ให้รู้สึกได้ถึงความสบายๆในชีวิตไปด้วยเลยละครับ ได้บรรยากาศเหมือนพบปะเพื่อนฝูงและคนคุ้นเคย

อ.วิรัตน์คะ

แนวคิดของอาจารย์ที่ได้ถ่ายทอดผ่านตัวหนังสือลงในอนุทินนี้สร้างแรงบันดาลใจได้ดีจังเลยค่ะ

หนูมองว่าการเขียนทำให้เราสร้างตัวตนตัวเองได้ชัดเจนขึ้น แต่ก็ยังทิ้งการอ่านไม่ได้ เพราะนี่คือสิ่งที่ไปคู่กัน และทำให้การเกิดตัวตนของเราชัดเจนมากขึ้นด้วยค่ะ

นั่นคือ เมื่ออ่านก็จะได้คิด เมื่อคิดแล้วเขียนก็เกิดการขัดเกลาตัวตนออกมาให้ชัดขึ้นค่ะ

^____^

ทำไมบางคนชอบวาดรูป

แต่บางคนชอบถ่ายรูป

ทำไมบางคนชอบเล่นเครื่องดนตรีเป็นเพลง

แต่บางคนชอบฟังเพลง

.....

ความชอบ ความสนใจ ความถนัด ความอยาก และแรงบันดาลใจมีส่วนสำคัญขั้นพื้นฐานในการให้คนทำสิ่งนั้นๆ

พี่เทพศิริ สุขโสภา ท่านวาดรูปมานาน แต่ไม่ถนัดใช้ drawing ด้วยดินสอ แต่เมื่อเกิดลูกฮึด ใครแวะเวียนไปเยี่ยมท่านที่เชียงใหม่ ต้องจับมานั่งให้ท่านวาดลายเส้นครบทุกคน แล้วเอาติดมือกลับบ้าน

ลายดินสอของท่านนั้น ท่านพยายามตวัดครั้งเดียวให้ได้รูปหน้า เส้นหนักเส้นเบาเป็นไปเองโดยธรรมชาติ แม้แต่พี่เทพจะวาดรูปมานานเท่าอายุท่าน แต่ทุกวันนี้ท่านก็ยังตวัดปลายดินสออยู่เพื่อหาความลงตัวของฝีมือ

แม้มีความชอบหากไม่ฝึกฝน ก็ไม่พัฒนา

จะฝึกฝนได้อย่างไร

บางคนมีความชอบก็ฝึกไปเรื่อยๆ

บางคนจำเป็นต้องทำ แล้วเกิดชอบ ก็ฝึกไปเรื่อยๆ

บางคนมีแรงบันดาลใจ ก็ฮึดขึ้นมา

ผมถามพี่เทพว่า ทำไมเกิดจะตวัดปลายดินสอล่ะครับ

ท่านชี้ไปที่รูปอาจารย์เฟื้อ หริพิทักษ์(หากเขียนนามสกุลท่านผิดกราบขออภัยด้วย)

แล้วบอกว่า นั่นคือแรงบันดาลใจของพี่......

สนับสนุนความเห็นน้องมะปรางครับ...

เห็นด้วยกับพี่โอ๋คะ ว่า ความเห็นที่ได้รับจากอาจารย์ได้ทั้งกำลังใจและประกายความคิดต่อยอด

การเขียนบล็อก และอ่านบล็อก เป็นการเรียนรู้ปฏิสัมพันธ์กับสังคมไปในตัว..

สวัสดีครับมะปรางเปรี้ยวครับ
เห็นด้วยอย่างยิ่งครับ เป็นบทบาทหนึ่งที่เด่นชัดและมีความหมายต่อสังคมมาก ในแง่ของการสื่อสารและการพัฒนาเรียนรู้ของสังคม ก็ต้องนับว่านี่เป็นการพัฒนาบทบาทของ New media ที่ส่งเสริมวัฒนธรรมความรู้ซึ่งเป็นพื้นฐานของสังคมแห่งการเรียนรู้ สังคมแห่งการอ่าน เขียน บันทึก ศึกษาค้นคว้า และพัฒนาทักษะการเรียนรู้ตลอดชีวิตให้กับพลเมือง

การที่คนมีความแตกฉานขึ้นด้วยตนเองในระดับหนึ่ง ผ่านการได้ทำกับตนเองโดยตรงจนเหมือนกับเป็นชีวิตประจำวัน ทางด้านแบ่งปัน สื่อสาร และเข้าถึงข้อมูลข่าวสาร ได้มากขึ้นทั้งในเชิงปริมาณและคุณภาพ ก็เป็นทุนมนุษย์ที่ดีๆสำหรับอีกหลายเรื่องแน่นอนครับ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องพัฒนาสุขภาพและคุณภาพชีวิต การพัฒนาสังคม เศรษฐกิจฐานราก การศึกษา 

สวัสดีครับท่านพี่บางทรายครับ

  • เมื่อพูดถึงอาจารย์เทพศิริ สุขโสภานี่ ผมก็นึกถึงเหมือนผู้คนที่จะรู้จักผลงานชิ้นเอกของท่านหลายชิ้นเหมือนกันครับ คือ 'วรรณกรรมบึงหญ้าป่าใหญ่' 'ของเล่นเดินทาง' ทางด้านดรออิ้งนั้น ผมนั้นชอบเส้นที่พลิ้ว แม่นยำ ความต่อเนื่องและลูกเล่นที่เชื่อมโยงกลมกลืน โดยเฉพาะจังหวะเหมือนกับการแตะเบาๆแล้วก็ปล่อยนั้น ช่างให้ความอิสระ ความสบาย ปลดปล่อยความคิดและจินตนาการ ได้ดีจริงๆ
  • ท่านศาสตราจารย์เฟื้อ หริพิทักษ์นั้น ในวงการศิลปะและการทำงานเพื่อสืบสานภูมิปัญญาของสังคมนี่ ต้องถือท่านเป็นครูทั้งสิ้นท่านหนึ่งเลยละครับ
  • สิ่งที่เราชอบและแม้จะทำได้เป็นอย่างดีนี่ ก็ต้องฝึกปรือไว้กับตัวเองอยู่เสมออย่างที่พี่ว่าเลยนะครับ

สวัสดีครับอาจารย์หมอ CMUpal ครับ
บันทึกและงานเขียนของอาจารย์นี่ช่างให้พลังความคิดดีมากเลยนะครับ เป็นคนเขียนหนังสือที่สื่อสะท้อนออกจากมุมมองข้างในที่ให้ความคิดสร้างสรรค์ได้ดีจริงๆ ต้องขอชมสักหน่อย

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท