อนุทินล่าสุด


วิรัตน์ คำศรีจันทร์
เขียนเมื่อ

๒๓๘. ความเป็นชุมชนในอาหาร 'เพราะเป็นของดี จึงต้องเป็นของส่วนรวม'

วันนี้ ภรรยาผมเอารังต่อที่ชาวบ้านแบ่งเอามาให้หลังจากเอารังต่อลงให้แล้ว ไปให้พ่อตาที่บ้านหางดง ขณะเดียวกัน ก็แบ่งกลับเอามาทำน้ำพริกกิน ทั้งผมและภรรยา กับน้องเพื่อนบ้านที่ทำขลุ่ยดินเผาโอคารินา ต่างก็ไม่เคยกินน้ำพริกรังต่อ เลยเกิดความคิดกันต่อไปอีกว่า พากันทำสำรับน้ำพริกผักไปนั่งกินข้าวด้วยกันดีกว่า

ผมอาสาไปเก็บผักในสวนหลังบ้าน ได้ดอกแค คอกเพกา ยอดแค ยอดตำลึง ผักบุ้งนา เป็นกาละมัง น้องเพื่อนบ้านก็แกงจืดหน่อไม้ ไปนั่งกินข้าวและคุยกัน จึงกลายเป็นว่า รังต่อรังหนึ่งที่ชาวบ้านที่บ้านห้วยส้ม สันป่าตอง มาช่วยกันเอาลงให้แล้วก็ได้รังต่อ ๒-๓ ชั้นนั้น ได้แจกจ่ายแบ่งปันต่อๆกันไปทำอาหารกินกันได้หลายครอบครัว ทั้งที่บ้านห้วยส้ม สันป่าตอง กับบ้านเดิมของภรรยาที่หางดง

ช่วงหนึ่งของการสนทนา ว่าชาวบ้านได้แบ่งมาให้อย่างไรและทำอะไรกินกันได้บ้างนั้น น้องเพื่อนบ้านให้ข้อคิดได้น่าสนใจว่า "...เพราะมันดี ชาวบ้านเลยแบ่งกันกิน ในชุมชนนั้น ของดีจะให้เป็นของส่วนรวม...." โดยทั่วไปแล้ว ในสังคมที่เต็มไปด้วยการแข่งขันช่วงชิง และในสังคมสมัยใหม่ เรามักจะคุ้นเคยกับการขวนขวายหาของดีมาเป็นของตนเอง มุ่งได้สิ่งที่ดีกว่าคนอื่น วิธีคิดและการให้บทสรุปที่เป็นวิถีชุมชนดังกล่าวนี้ จึงให้ปัญญาและการเห็นที่แตกต่างที่ดีมากจริงๆ



ความเห็น (1)

อาจารย์วิรัตน์ค่ะ เป็นความคิดที่น่าชื่นชมค่ะ เช่นเีดียวกันกับวิถีชุมชนที่นี่ ภาคใตัตอนล่าง ได้คุยกับปราชญ์ชาวบ้าน มุสลิม ...อาแบ "กอเซ็ง" กล่าวไว้น่าคิดเช่นเดียวกันว่า "ความดีที่กระทำไม่ใช่ทำเพื่อตัวเอง แต่เป็นการทำเพื่อส่วนรวม ให้ส่วนรวม" การที่จะระบุว่าใครเป็นคนดีนั้น ไม่ใช่ตนเองเป็นฝ่ายบอก สังคมบอกให้ได้จาการกระทำดี ที่ได้ก่อไว้เพื่อสังคม :-)) ...วิถีและแนวคิดเหล่านี้ ยังมีให้เรียนรู้/สัมผัสได้ค่ะ อาจารย์ ...ขอบคุณเรื่องราวดีๆ... ของดี-เป็นของส่วนรวม..

วิรัตน์ คำศรีจันทร์
เขียนเมื่อ

๒๓๗. น้ำใจชาวลูกทุ่งบ้านห้วยส้ม

เมื่อวานตอนเย็น ผมกำลังเดินตัดหญ้าและปรับพื้นที่ลานบ้าน แก้ปัญหาน้ำขังทั้งเฉอะแฉะ เพาะพันธุ์ยุงและสั่งสมสิ่งสกปรกนำโรค เพื่อรับหน้าฝน ก็มีหนุ่มน้อยคนหนึ่งเดินมาแนะนำตนเองว่าเป็นลูกหลานของอุ๊ยท่านหนึ่งในชุมชนบ้านห้วยส้ม สันป่าตองนั่นเอง บอกว่า ได้ทราบจากพ่อตาผมว่ามีรังต่ออยู่บนบ้านหลังหนึ่งของผม ซึ่งอยู่ต่ำและใกล้บริเวณคนเดินไปมา จะเป็นอันตราย เขาบอกว่าจะชวนน้าๆและลุงมาช่วยกันเอาลงให้ แต่ต้องทำกลางคืน ขอให้ผมเตรียมลากสายยางฉีดน้ำและอุปกรณ์ที่จะต้องใช้ ซึ่งก็ไม่มีอะไรมาก รวมทั้งช่วยเล่าให้เห็นภาพอีกด้วยว่าจะมีการทำอย่างไรและอาจจะเกิดอะไรขึ้นบ้าง เพื่อผมและภรรยาจะได้เตรียมตัว

ตกกลางคืนก็พากันมาช่วยกัน ๓-๔ คน ในกลุ่มนั้น นอกจากเป็นชาวบ้านในชุมชนแล้ว ก็เป็นสมาชิก อบต และผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านด้วย ใช้เวลาไม่นานก็เอารังต่อออก ได้รังต่อและตัวอ่อนด้วย ๓-๔ ชั้น คงจะแกงได้หลายหม้อ มือหลักที่คอยรมควันและแซะรังต่อออกนั้น บอกว่า ก่อนหน้าที่จะมาเอาต่อออกให้บ้านผมนี้ ก็เพิ่งโดนต่อต่อยตามมือและแขนขวา ๒ ตัว ยังคงปวดและบวมเป่งตามนิ้วและแขนอยู่ และเมื่อคืนนี้ พอเสร็จแล้วก็โชว์มือให้ดูอีกว่าโดนที่บ้านผมนี้อีก ๑ ตัวเสียแล้ว นิ้วมือเลยยิ่งบวมกว่าเดิม และบอกว่าจากประสบการณ์ที่ผ่านมา หากเจอจนาดนี้ เขาบอกว่าวันรุ่งขึ้นก็จะปวดและบวมทั้งท่อนแขน แต่ไม่เคยเป็นอะไรมากกว่านี้ ผมจัดหายาแก้ปวดให้ติดตัวไว้ ๑๐ เม็ด และขอขอบคุณอย่างที่สุด

ผมนั้น รู้กิตติศัพท์ดีถึงความดุร้ายและพิษสงของต่อต่อย ทั้งเคยเห็นและได้ยินได้ฟังมาอยู่เสมอ คนที่ร่างกายไม่แข็งแรงและไม่มีภูมิต้านทานเพียงพอนั้น หากโดนต่อต่อยเพียงไม่กี่ตัว บางคนก็กลายเป็นหัวขาวโพลนไปตลอดชีวิต บางคนสลบและอาเจียน เพื่อนผมคนหนึ่งและหลายคนที่ผมเคยเห็น ก็ถึงกับเสียชีวิต ผมเองจึงไม่กล้าลองเสี่ยงกับการเข้าไปยุ่งกับต่อและรังต่อ เห็นในบ้านแล้วก็แหยงอยู่เหมือนกัน

รุ่งขึ้นวันนี้ ทีมชาวบ้านที่เอารังต่อลงให้ ก็อุตส่าห์แบ่งไข่นมในรังต่อมาให้อีกสักครึ่งกิโลเห็นจะได้ แล้วก็เล่าให้ฟังว่า เมื่อคืนนี้ ระหว่างพากันไปนั่งแยกและทำความสะอาดรังต่อ ก็กินข้าวกินปลาและได้คุยกันสนุกครึกครื้นไปด้วย ลุงคนหนึ่งซึ่งปรกติก็ชำนาญในเรื่องเอาต่ออยู่เหมือนกัน ก็นั่งคุยและมือก็ทำรังต่อไปด้วย แต่สักพักก็เผลอตา ไม่ได้มองว่ามีตัวต่อยังตกค้างอยู่ในรังด้วย เลยโดนต่อต่อยเข้าให้อีกคนหนึ่ง แต่ก็ยังนั่งคุยกันต่อ ดูเป็นเรื่องธรรมดาๆมาก เมื่อคืนนี้ผมลองจับนิ้วของน้องคนที่โดนต่อต่อย ๓ ตัวแล้ว นิ้วมือของเขาบวมเป่งอย่างกับใส้กรอก



ความเห็น (2)
  • น่ากลัวนะครับ
  • ตอนเด็กๆเคยไ้ยินเรื่องต่อหลุมที่กินวัวได้ทั้งตัว

วันนี้เห็นยังเหลืออีก ๕ ตัว แถมกำลังช่วยกันขนดินมาทำรังที่เดิมอีก ขนาดเกือบเท่ากำปั้นแล้วอาจารย์ ทำอย่างไรดีล่ะทีนี้

วิรัตน์ คำศรีจันทร์
เขียนเมื่อ

๒๓๖. กระบวนทัศน์ใหม่ของการสื่อสารศึกษา (Communication Studies)

วันอาทิตย์ ๘ มิถุนายน ๒๕๕๕ ไปมหาวิทยาลัยพายัพกับรองศาสตราจารย์วาสนา จันทร์สว่าง อดีตอาจารย์คณะสาธารณสุขศาสตร์และพี่ที่รักเคารพท่านหนึ่งเมื่อครั้งที่ท่านอยู่ที่มหาวิทยาลัยมหิดล กับรองศาสตราจารย์ดวงพร คำนูณวัฒน์ ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยภาษาและวัฒนธรรมเพื่อพัฒนาชนบท มหาวิทยาลัยมหิดล อาจารย์ผู้พี่และทีมทำงานของมหาวิทยาลัยด้วยกันหลายงาน กับภรรยาผม พากันไปร่วมฟังการประชุมนำเสนอผลการวิจัย กระบวนทัศน์ใหม่ของการสื่อสารศึกษา ของเมธีวิจัยอาวุโส สำนักงานคณะกรรมการวิจัย : สกว รองศาสตราจารย์ ดร.กาญจนา แก้วเทพ กับเครือข่ายนักวิจัยและศิษย์ปริญญาโท-เอก ได้หนังสือน่าอ่าน ได้ฟังการนำเสนอผลงานวิจัยที่น่าสนใจ และได้พบปะสนทนากับอาจารย์และนักวิจัยที่ทำงานในแนวเดียวกันหลายคน

ท่านอาจารย์ดวงพรนั้น บอกว่าตั้งใจไปเที่ยวหา เยี่ยมเยือนผู้คน และพักผ่อนกับครอบครัวบ้าง แต่จุดหมายหลักคือต้องการชวนผมไปฟังและได้เชื่อมต่อกับเครือข่ายนักวิจัยทางด้านสื่อเครือข่ายนี้ในภาคเหนือ รวมทั้งท่านอาจารย์ดร.กาญจนา แก้วเทพ เมธีวิจัยอาวุโสของ สกว ด้วย เพราะเป็นเครือข่ายวิจัยที่มีแนวทำงานซึ่งน่าจะเชื่อมโยงและส่งเสริมกันได้มากหลายช่องทาง ได้ทราบแล้วก็ซาบซึ้งใจและเห็นพลังมากมายของคนสร้างโอกาสให้คน

ผมไม่มีอะไรที่เหมาะสมสำหรับคารวะและฝากอาจารย์ทั้งสองท่านเลย นอกจากเลือกของฝากกันแบบอาร์ตๆตามสไตล์ของท่านกับเราๆดีกว่า โดยพากันหาลำใยสีชมพูในบ้านพ่อแม่ของภรรยาได้ช่อหนึ่งไปฝาก มีอยู่สัก ๒๐ กว่าลูก เหมือนกับเป็นสิ่งเล็กน้อย แต่หาไม่ได้จากที่ไหนและมีอยู่เป็นพิเศษช่อเดียว เพราะเป็นช่อแรกของทั้งต้นที่เพิ่งจะสุกของปีนี้ อาจารย์ทั้งสองท่านนั่งแกะกินแบบเอาใจจนหมด



ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

วิรัตน์ คำศรีจันทร์
เขียนเมื่อ

๒๓๕. สันทนาการแบบออกกำลัง

แดดร่มลมตกแล้ว ได้เวลาลงไปตัดหญ้าและเตรียมไถนาปลูกข้าว จะหลีกเลี่ยงการเผาหญ้าหรือฉีดพ่นยาและสารเคมีขจัดหญ้าแล้วเผา เลยต้องยอมเดินใช้เครื่องตัดหญ้า ตัดและจะไถฝังกลบ เมื่อวานพอเลิกก็เห็นโทรศัพท์ขึ้น Miss Call ถึง ๑๑ สาย ต้องขออภัยทุกท่านที่ติดต่อไม่ได้นะครับ ไม่ใช่ไม่ได้รับหรอกครับ ตอนนี้กำลังลงไปตัดหญ้าในนาข้าวนะครับ จะกลับขึ้นมาอีกสักตอน ๑ ทุ่มครึ่ง ช่วงนี้ที่เชียงใหม่แปลกมากครับ สัก ๑ ทุ่มครึ่งโน่นถึงจะเริ่มมืดค่ำครับ



ความเห็น (2)

เราอยู่ชนบทครับท่านพี่ ... จึงมืดเร็วกว่าที่อื่น อิ อิ

มันมืดช้ามากน่ะสิครับอาจารย์ ตั้ง ๑ ทุ่มครึ่งแล้วนี่ ก็ยังเหมือนกับสัก ๖ โมงเย็นของกรุงเทพฯหรือถิ่นอื่นๆเลยเชียว แล้วก็ตกกลางคืน ขนาดเป็นข้างแรมมากแล้วนี่ ท้องฟ้าก็ยังสว่าง อย่างกับเป็นตอนหัวค่ำหรือเป็นคืนข้างขึ้นอยู่เลยครับ แปลกดี

วิรัตน์ คำศรีจันทร์
เขียนเมื่อ

๒๓๔. อีกมิติของสรรพชีวิตบนรอยต่อกาลเวลาที่เปลี่ยนไป

สัปดาห์นี้มืดช้ามาก เวลากว่า ๑ ทุ่มครึ่งแล้วก็ยังไม่มืด ยังคงสามารถมองเห็นทิวไม้ไปไกลได้เป็นกิโลเมตร นกกลางวันหายไปและไม่ส่งเสียงแล้ว นกกลางคืน รวมทั้งนกกวักเริ่มส่งเสียงร้องรับกันเป็นทอดๆ ในสระบัวในบ้าน เห็นนกกวักกับลูกน้อย พากันออกมาเดินลัดเลาะไปตามกอบัว ซึ่งคงเป็นวงจรกลางคืนก็เลยเริ่มออกมาใช้ชีวิตและพากันหากิน แต่ระหว่างนั้น เจ้าแมวมัดหมี่ ซึ่งปรกติก็คงอยู่บนบ้าน คลานไปซุ่มจับกินหนู หรือมีแบบแผนชีวิตสำหรับกลางคืนอีกแบบหนึ่ง แต่ช่วงนี้ หากเป็นเมื่อก่อนก็เป็นกลางคืนไปแล้ว แต่ตอนนี้ยังไม่มืด ก็ค่อยๆคลานไปหมอบที่ข้างขอบสระ คงคอยตามจ้องจะตะครุบหากลูกนกและแม่นกกวัก ว่ายน้ำหรือเดินเฉียดไปใกล้ขอบสระ วงจรชีวิตที่ปรกติแยกภพกันด้วยมิติเวลา ก็กลับมาเจอและเกิดกิจกรรมชีวิตที่สานปฏิสัมพันธ์กันได้



ความเห็น (1)

ชอบบรรยากาศของอนุทินนี้จังเลยค่ะ อาจารย์ เห็นภาพลอยออกมาจากตัวหนังสือเลย อาจารย์เขียนได้เก่งจริงๆ

วิรัตน์ คำศรีจันทร์
เขียนเมื่อ

๒๓๓. การพัฒนาเครือข่ายครูกลุ่มสาระสังคมศึกษา

คุณครูกลุ่มสาระสังคมศึกษาของโรงเรียนหนองบัว โรงเรียนมัธยมประจำอำเภอ อยากจัดเวทีพัฒนาเครือข่ายครูกลุ่มสาระสังคมศึกษาของโรงเรียนหนองบัวและเครือข่ายโรงเรียนในพื้นที่จังหวัดนครสวรรค์อีก เป็นโครงการต่อเนื่องจากที่โรงเรียนหนองบัวได้เป็นศูนย์การเรียนรู้และพัฒนาเครือข่ายให้กับโรงเรียนที่ได้รับรางวัลโรงเรียนในฝันของจังหวัดนครสวรรค์ ในการพัฒนาหลักสูตรและกระบวนการเรียนรู้ภูมิปัญญาในศิลปวัฒนธรรมอิงถิ่นฐานมาครั้งหนึ่งแล้ว แต่ครั้งที่ ๒ ซึ่งจะดำเนินการต่อเนื่องในปีนี้ จะพิจารณากลุ่มผู้เข้าร่วมเวทีให้เป็นกลุ่มที่มีขนาดเล็กลงจาก ๗๐-๘๐ คนของเมื่อปีที่ผ่านมาให้เหลือเพียงกลุ่ม ๓๐ คน เพื่อทำงานในเวทีให้ทั่วถึงและปฏิบัติการได้เข้มข้นมากกว่าเดิม



ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

วิรัตน์ คำศรีจันทร์
เขียนเมื่อ

๒๓๒. ภาพสะท้อนของกระบวนการที่เม็ดทรายสร้างหาดทรายและเขาพระสุเมรุในจักรวาล

ผมต้องขอขอบพระคุณอาจารย์ดร.จันทวรรณ ปิยะวัฒน์ ของ GotoKnow มอ. และคุณเด่น คุณพัฒนพงศ์ ของ สสค. ที่กรุณาออกปากชักชวนให้ผมเป็นคนหนึ่งที่ได้ไปร่วมประชุมระดมความคิดและปรึกษาหารือเรื่อง Open Education ที่สำนักงาน สสค.(สำนักงานสร้างสังคมแห่งการเรียนรู้และพัฒนาเครือข่ายเยาวชน) ของ สสส. เมื่อเย็นวาน ๘ มิถุนายน ๒๕๕๕ ที่ผานมา

ผมช่วยได้น้อยมาก เพราะเครือข่ายและทีมส่วนใหญ่มีประสบการณ์ร่วมกันในการทำงานพัฒนาเครือข่ายครูเพื่อศิษย์กับครูสอนดี ในขณะที่ผมไม่ได้มีโดยตรงเลย ได้แต่ติดตามอ่านทาง GotoKnow นี้เท่านั้น ดังนั้น ผมจึงมุ่งมองไปยังประเด็นร่วมในภาพรวม ที่จะสามารถเชื่อมโยงตนเองในทุกอย่างที่ทำอยู่และที่ยังคงทำต่อไปเรื่อยๆ ให้สามารถเป็นปัจจัยส่งเสริมและสนับสนุนกันได้ แม้ไม่ได้ทำกิจกรรมภายใต้โครงการเดียวกันหรือมีกลุ่มเป้าหมายจะเพาะร่วมกันโดยตรง กลุ่มที่คุยกันเป็นกลุ่มคนกลุ่มเล็กๆ ไม่ถึง ๑๐ คน

แต่ผมก็เห็นถึงความเป็นกลุ่มที่จะมีความหมายมากต่อสังคมไทยผ่านสิ่งที่ทุกท่านต่างทำกันอยู่ มาจากหลายแห่งของประเทศ อาจารย์ ดร.จันทวรรณใช้เป็นเวทีสำรวจและประเมินสภาวการณ์และความจำเป็นเพื่อพัฒนาระบบ GotoKnow ทาง สสค.และมูลนิธิสดศรี-สฤษวงษ์ ผุดประเด็นที่สำคัญหลายอย่างที่อาจจะคิดทำเป็นภารกิจร่วมกันได้ เช่น การถอดบทเรียนหรือประเมินผลที่เกิดขึ้น เพื่อให้การสนับสนุนเครือข่ายครูเพื่อศิษย์กับอีกจำนวนหนึ่งที่ได้เริ่มยกระดับเป็นพื้นที่นำร่อง ๑๕ จังหวัดเป็นเครือข่ายครูสอนดีและพัฒนาเครือข่ายบนระบบออนไลน์ของ Class Start ซึ่งได้ผ่านการอบรมที่ทางดร.จันทวรรณเป็นวิทยากรให้ ๒ รุ่น ๒ ครั้งไปแล้ว

ผมเองนั้น ยังไม่รู้ว่าจะเชื่อมโยงตนเองเข้ากับตรงไหน แต่ก็เห็นประเด็นความสำคัญมาก เลยร่วมระดมความคิดไปด้วยกว้างๆว่าอาจจะใช้ระบบของ Class Start กับ GotoKnow ช่วยทำงานเสริมเข้าไปให้มีบทบาทหลายมิติ ครอบคลุมประเด็นที่ สสค.และเวทีประชุมหยิบยกมาพิจารณาด้วย โดยอาจจะช่วยรีวิว วิเคราะห์ สังเคราะห์ และถอดบทเรียน แล้วก็พัฒนาห้องเรียนเสริมศักยภาพป้อนกลับไปมาผ่านบันทึกออนไลน์ เชื่อมโยงออกไปให้ถึงพื้นที่การทำงานต่างๆที่มีอยู่แล้วในระดับชุมชน โรงเรียน และเครือข่ายพื้นจังหวัด เช่น เวทีคหนองบัว และเครือข่ายพื้นที่การทำงานต่างๆ ที่ทำกันอยู่ เพื่อให้เกิดผลดีต่อการพัฒนาในเรื่องสำคัญต่างๆของประเทศด้วย

อีกส่วนหนึ่ง ก็เชื่อมโยงเข้ากับห้องเรียนของผมที่จะทำขึ้นให้เพื่อพัฒนาความเป็นเคือข่ายวิจัยแบบ PAR ซ้อนลงไป โดยทำเป็น Open Education พัฒนาเครือข่ายความเป็นนักวิจัยในชั้นเรียนด้วยการวิจัยแบบ PAR หรืออื่นๆที่ปรับปรุงระเบียบวิธีพัฒนาเป็นโมเดลขึ้นใหม่ให้จำเพาะที่จะทำให้เครือข่ายของคุณครู รวมไปจนถึงวิธีเก็บข้อมูล การบันทึก ซึ่งก็จะสามารถทำการสังเคราะห์ ประเมิน ถอดบทเรียน และแสดงความก้าวหน้า พร้อมกับยกระดับประสบการณ์ ให้สามารถจัดระบบปฏิบัติการร่วมกันได้ดียิ่งๆขึ้น

ผมเห็นภาพของกระบวนการที่จะทำบทเรียนเล็กๆของคนจำนวนไม่มาก ให้มีกระบวนการเรียนรู้บนการปฏิบัติ เพื่อเป็นตัวคูณและยกระดับสู่การสร้างบทเรียน สังเคราะห์เป็นพลังปัญญาจากการปฏิบัติเป็นคลื่นชี้นำการเปลี่ยนแปลงให้เกิดสิ่งดีๆขึ้นแก่สังคม จากเครือข่ายต่างๆที่ที่ประชุมกล่าวถึง

อาจารย์ ดร.จันทวรรณก็ได้สรุปประเด็นการพูดคุย และลองนำเสนอกรอบกว้างๆ ที่จะปรับปรุงระบบ GotoKnow และ Class Start ให้ยืดหยุ่นและเชื่อมโยงประเด็นการพูดคุยต่างๆ ไปสู่การริเริ่มและทำสิ่งต่างๆด้วยตนเองไปก่อนได้ ผมเป็นผู้เฒ่าที่สุดของที่ประชุม เลยชื่นชมพลังของคนหนุ่มคนสาวรุ่นใหม่จากหลายสถาบันและหลายองค์กรในเวทีนี้มากจริงๆ



ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

วิรัตน์ คำศรีจันทร์
เขียนเมื่อ

๒๓๑. การเป็นฆราวาสเพื่อช่วยพระให้ได้ปฏิบัติเอื้อเฟื้อต่อพระธรรมวินัยและร่วมปกป้องพระศาสนา ตามกาลเทศะและอัตภาพของตน

เมื่อไม่กี่วันมานี้ผมได้ทำบุญถวายทานครั้งหนึ่งด้วยความรู้สึกระคนกันทั้งการได้ความทุกข์ใจและความสบายใจ โดยวันหนึ่ง ผมเสร็จจากไปทำธุระต่างจังหวัดและเดินทางกลับบ้านที่เชียงใหม่โดยรถไฟชั้นตู้นอน ตื่นเช้าก็พบว่าผู้โดยสารที่นั่งและนอนในที่นั่งติดกันคู่ปีกซ้ายขวานั้น ที่นั่งหนึ่งเป็นภิกษุรูปหนึ่ง อีกที่นั่งหนึ่งเป็นชายสูงวัย พระภิกษุนั้นอยู่ในวัยไม่มาก ดูแล้วไม่งามและชวนให้ไม่สบายใจเมื่อได้พบเห็นหลายประการด้วยกัน นับแต่กริยาอาการที่ไม่สำรวม การเดินทางโดยลำพังรูปเดียว และการแสดงความสนใจชวนผู้โดยสารคนอื่นคุย

ส่วนชายสูงวัยนั้นดูภายนอกก็พอรู้ว่าเป็นคนทำงานและอยู่ในวัยเกษียณแล้ว ดูสุภาพและเป็นผู้ใหญ่ ทราบภายหลังว่าเคยทำงานเป็นมัคคุเทศน์และเป็นอาจารย์พิเศษของมหาวิทยาลัยเอกชนแห่งหนึ่ง ผมนั่งคนเดียว พระภิกษุปลีกตัวไปนั่งกับชายสูงวัยและชวนคุยเรื่องศัพท์ภาษาอังกฤษ แสดงความสนใจเรียนรู้ศัพท์ภาษาอังกฤษจากชายสูงวัยที่เป็นฆราวาส

เมื่อพนักงานจากตู้เสบียงเดินรับการสั่งอาหารเช้า โดยนำรายการอาหารไปให้พระภิกษุกับฆราวาสผู้สูงวัย แล้วก็ยืนรอให้ทั้งสองท่านเลือกสั่งอาหารก่อน ทั้งฆราวาสและพนักงาน ต่างก็ช่วยกันนำเสนอรายละเอียดของอาหารให้พระภิกษุท่านเลือก ระหว่างนั้นก็สนทนากันเรื่องอาหารและต่างเลือกไปตามความชอบใจกันไป ดูเหมือนคนกำลังหิว ซึ่งหลังจากนั้นแล้วก็จะต้องมีรายละเอียดอีกหลายอย่างตามมาที่จะทำให้พระท่านต้องอยู่ในสภาพที่จะรักษาวัตรปฏิบัติอันเหมาะสมต่อสมณสารูปได้ลำบาก นับแต่ขาดจากกิจของผู้ขอมากลายเป็นผู้ซื้อหาอาหารเอง* ขาดจากการพิจารณาและอนุโมทนาให้ผู้อื่นได้สำเร็จเจตนาในการทำทานมาเป็นการเลือกรสชาติอาหารเพื่อบริโภคตามอาการความชอบ ซึ่งลดวัตรปฏิบัติการยังชีพด้วยจตุปัจจัยเพื่อเจริญในธรรมของพระภิกษุอันสูงส่งให้เหลือเพียงเป็นกลไกสนองตอบความหิว ซึ่งอยู่ในขั้นที่ไม่กอปรด้วยธรรมที่ดี และอีกหลายหมวดปฏิบัติก็จะบกพร่องต่อเนื่องกันไปเป็นชุด ซึ่งแม้นไม่ผิดและเสียหายมากต่อพระธรรมวินัย แต่ก็ไม่งามและสังคมรอบข้างนำเอาไปติเตียนให้เกิดความสั่นคลอนทั้งต่อพระและพระศาสนธรรมได้ จัดอยู่ในกลุ่มของโทษต่อการล่วงพระธรรมวินัยในหมวดโลกวัชชะ หรือไม่ผิดมากและไม่ก่อความเสียหายโดยตรง แต่เป็นสิ่งที่ไม่งาม ทำให้โลกติเตียนตนเองและหมู่คณะได้

เพื่อไม่ให้เสียความเหมาะสมเกินไป แทนการให้พระท่านนั่งเลือกและถกกับฆราวาสแบบเป็นลูกค้าเสมอกัน ผมจึงลุกไปขอปวารณาต่อพระสงฆ์ว่าผมขอถวายภัตตาหารเช้าเป็นข้าวต้มและชุดอาหารเช้าแบบฝรั่งที่ท่านอยากฉัน พร้อมกับขอสั่งอาหารของผมเองไปด้วย จึงดูไม่จาบจ้วงเพ่งโทษต่อพระและสร้างบรรยากาศแปลกแยกให้เกิดขึ้นบนสิ่งที่ผู้คนทั่วไปมองอย่างเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นอย่างเป็นปรกติในสังคม

หลังจากนั้น ก็นั่งคุยกับฆราวาสผู้สูงวัย ด้านหนึ่งก็คุยด้วยความสนใจเพราะท่านดูมีประสบการณ์ชีวิต มีความรอบรู้ต่อสังคมวัฒนธรรมทั้งของไทยและต่างประเทศ ขณะเดียวกัน อีกด้านหนึ่ง ก็เป็นการฝืนใจจากการชอบนั่งดูบรรยากาศยามเช้านอกหน้าต่างรถไฟมานั่งคุยเพื่อไม่ให้พระท่านชวนโยมคุยเรื่องหาข้อมูลท่องเที่ยวและเรียนรู้ศัพท์ภาษาอังกฤษในสภาพแวดล้อมอย่างที่กำลังเป็น ในใจก็ต้องเฝ้าระวังความรู้สึกนึกคิดของตนเองอย่างที่สุดเพื่อละวางและไม่ให้ตำหนิพระ พิจารณาอยู่เสมอไปด้วยว่าท่านอยู่ในวัยลูกหลาน ต้องให้ความเมตตา และสภาพสังคมของเรามันก็เป็นอย่างนี้ ชาวบ้านและประชาชนอย่างเราๆนี่เองก็มีส่วนที่จะสร้างให้พระดีหรือไม่ดี จึงทำให้ใส่ใจไปที่การทำหน้าที่ของฆราวาสและการเป็นอุบาสกในสถานการณ์เฉพาะหน้า

ในใจนั้น ผมอยากจะขอรับใช้และเสนอที่จะนำท่านไปจำวัดที่วัดแห่งใดแห่งหนึ่งในเชียงใหม่แล้วถวายค่ารถเดินทางกลับ ไม่อยากให้เดินทางไปยังที่อื่นๆด้วยจุดมุ่งหมายเพื่อไปเที่ยวแต่โดยลำพังต่อไปเลย แต่เหตุปัจจัยที่มีต่อกันคงทำให้ทำได้เพียงแค่นี้

นับว่าเป็นประสบการณ์ในการทำบุญถวายทานครั้งหนึ่ง ที่ดำเนินไปด้วยความรู้สึกระคนกันทั้งการได้ความทุกข์ใจต่อสภาพสังคมและความสบายใจต่อโอกาสได้ปฏิบัติที่มาถึงตนเอง สบายใจที่ได้ปกป้องพระศาสนาให้พระท่านได้อยู่ในท่ามกลางสภาพแวดล้อมที่มีการปฏิบัติให้เอื้อเฟื้อต่อพระธรรมวินัยได้ครั้งหนึ่งซึ่งเชื่อมโยงอยู่กับระบบความเป็นส่วนรวมในหน่วยสังคมย่อยๆ แม้ท่านและโยมรอบข้างจะรู้หรือไม้รู้ก็ตาม.

..................................................................................................................................................................

*ภิกขุ แปลโดยความก็คือ 'ผู้ขอ' ที่ต้องเลี้ยงชีพด้วยการบำรุงเลี้ยงดูของชาวบ้าน เพื่อเป็นให้ดูอยู่ให้เห็นชีวิตที่จะสามารถพัฒนาได้อย่างสูงสุดตามศักยภาพและอัตภาพแห่งตนของมนุษย์ ด้วยการดำเนินชีวิตที่ขึ้นต่อปัจจัยภายนอกและการสั่งสมทางวัตถุที่น้อยที่สุด อีกทั้งเป็นองค์ธรรมให้ชาวบ้านได้อยู่กับการปฏิบัติกล่อมเกลา บริจาค ทำทาน ลดความเป็นตัวกูของกูพร้อมกับสร้างสุขภาวะส่วนรวมให้งอกงามเข้มแข็งขึ้นบนกระบวนการที่ปัจเจกมุ่งน้อมตนกระทำให้แก่ผู้อื่นในสังคมอย่างไม่เจาะจง ดังนั้น จึงต้องทำหน้าที่ทางสังคมโดยการเดินสัญจรบิณฑบาตร หรืออยู่ให้ชาวบ้านปวารณาถวายทาน ชาวบ้านที่รู้เจตนารมย์ที่อยู่เบื้องหลังการทำบุญทำทานและการบิณฑบาตร รวมทั้งเบื้องหลังความเป็นพระภิกษุอย่างนี้แล้ว เมื่อมีโอกาสก็ควรได้ช่วยกันรักษาไม่ให้ท่านต้องขาดจากความเป็นผู้ขอและเป็นนาบุญให้ชาวบ้านได้ปฏิบัติทาน ซึ่งจะทำให้วัตรปฏิบัติของท่านและอานิสงค์การทำบุญกุศลของชาวบ้าน ไม่มีพลังบริสุทธิคุณอย่างเต็มที่ วิธีหนึ่งดังที่ผมได้ประสบนี้ ก็คืออย่าให้ท่านต้องถึงกับขวนขวายหาปัจจัยที่ต้องการเอง ซึ่งจะทำให้กิจของท่านหย่อนลงไป หากเราได้พบเห็นแล้วละก็ ต้องรีบขอปวารณาตนเองเป็นผู้ถวายสิ่งที่ต้องการ ซึ่งจะทำให้เกิดองค์ประกอบที่ครบถ้วนต่อการที่พระสงฆ์จะได้เอื้อเฟื้อเกื้อกูลต่อพระธรรมวินัยในสถานการณ์อย่างนี้



ความเห็น (6)

อนุโมทนาบุญด้วย
ที่ช่วยเป็นหูเป็นตา
ทำหน้าที่พุทธบริษัทในฐานะผู้ใหญ่

เดินถือย่ามตามพระอาจารย์มหาแล อาสโย ขำสุข มานั่งฟั่งอาจารย์เล่าบางสิ่งบางอย่างที่ผ่านเข้ามาในชีวิตอาจารย์วิรัตน์ครับ

ขอบคุณครับ

กราบขอบพระคุณท่านพระอาจารย์มหาแลครับ

สวัสดีครับคุณแสงแห่งความดีครับ
บอกว่าเดินถือย่ามเดินตามท่านพระอาจารย์มหาแลนี่
ได้อรรถรสและบรรยากาศของชีวิตชนบทดีมากเลยละครับ

ขอบพระคุณคุณภูคาด้วยเช่นกันครับ

ขอบพระคุณอาจารย์ดร.โอ๋-อโณด้วยครับ

วิรัตน์ คำศรีจันทร์
เขียนเมื่อ

๒๓๐. พุทธชยันตี กับปฏิบัติศึกษาเพื่อความเป็นศาสนิกและอุบาสกในโลกสมัยใหม่

เนื่องในวาระวิสาขบูชาทั้งของสังคมไทยและสังคมชาวพุทธทั่วโลก ที่ได้จัดเป็นวาระพุทธชยันตี หรือการร่วมกันกำหนดรู้และน้อมโยนิโสมนสิการต่อชัยชนะอันยิ่งใหญ่ในวิธีคิดของชาวพุทธดังนำปฏิบัติโดยพระพุทธองค์ ที่เอาชนะต่อปัญหาและอุปสรรคทั้งปวง ทำความที่สุดแห่งทุกข์ มุ่งสู่ทางแห่งความสุขที่มีความเที่ยงแท้ถาวรกว่าทางอื่นที่ดำเนินไปด้วยการปรุงแต่งของกิเลส ใฝ่กล่อมเกลาตนเองเพื่อละความชั่ว ทำความดี และทำจิตใจให้เบิกบานแจ่มใส ได้ทำกิจกรรมเล็กๆน้อยๆให้ชีวิต พร้อมทั้งได้ความสุขความสบายใจไปกับสภาพแวดล้อมของชีวิตไปด้วยหลายอย่าง

๑. ทำกายใจและบ้านให้เป็นวิหารแห่งสติ : เปิดวิทยุ สร้างวาระการได้ฟังธรรมตามกาลในบ้านบ้าง ฟังการสวดทำวัตร การสวดชยันโต ชัยมงคลคาถา และการแสดงธรรมโดยท่านพุทธทาสภิกขุ เรื่อง พุทธศาสนากับสถานการณ์สังคมร่วมสมัย

๒. ได้เสริมพลังสัมมาอาชีวะ : ครอบครัวของญาติสนิทครอบครัวหนึ่ง ขอปรึกษาเพื่อสร้างความมั่นใจและได้ร่วมความยินดีไปด้วยกันไปด้วย ที่จะทำสวนผสมบนที่ดินแปลงหนึ่งที่อุทัยธานี โดยจะทำนาบัว คันดินรอบนาบัวก็จะปลูกมะพร้าว มะม่วง และผลไม้พืชผักต่างๆ โดยบอกว่าอยากได้ดอกบัวให้ตนเองและชาวบ้านได้ใช้ทำบุญไหว้พระ เป็นการคิดทำเศรษฐกิจครอบครัวและมุ่งดำเนินชีวิตบนฐานการคิดเรื่องการทำบุญและมุ่งวัฒนธรรมทางจิตใจ

๓. ได้น้อมอนุโมทนาต่อสัมมาปฏิบัติของผู้คน : น้องที่เคยทำงานด้วยกันกลุ่มเล็กๆกลุ่มหนึ่ง โทรแจ้งให้ทราบและให้ได้ร่วมอนุโมทนาบุญด้วยว่า ในวันหยุดและวันวิสาขบูชานี้ ได้กำหนดใจเพื่ออยู่กับการเจริญสติทั้งวัน งดกินเนื้อสัตว์ ไปสวดมนต์ และพากันไปฟังการแสดงธรรมเทศนา ที่วัดญาณเวศกวัน



ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

วิรัตน์ คำศรีจันทร์
เขียนเมื่อ

๒๒๙. ช่วยกันเป็นแรงสร้างพลังการเรียนรู้สิ่งดีและเผยแพร่ความริเริ่มสร้างสรรค์ในตนเองของสังคม

ในระยะที่ผ่านมา หน่วยหุ่นจำลองทางการแพทย์ งานโสตทัศนศึกษาและเวชนิทัศน์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้มีคณะผู้ศึกษาดูงาน ที่หน่วยงานและสถาบันการศึกษาต่างๆ จากหลายแห่งของประเทศ ขอส่งบุคลากร ครูอาจารย์ นักวิจัย นักวิชาการ และคนทำงานด้านสื่อการเรียนรู้ ไปศึกษาดูงานทางด้านการทำหุ่นจำลองทางการแพทย์ของคณะ ๒-๓ คณะจากกรุงเทพฯ พิษณุโลก และขอนแก่น ทางหน่วยงานและคณะผู้ต้อนรับการศึกษาดูงาน ได้เกิดความสนใจและสอบถามว่าทำไมจึงรู้จักและสามารถระบุได้ว่าจะดูงานเรื่องอะไรบ้าง ทางหน่วยงานของคณะผู้ศึกษาดูงานได้ให้รายละเอียดว่าได้อ่านจากบันทึก GotoKnow เลยรู้จักและเกิดความสนใจ ซึ่งเป็นบันทึกที่ผมนำมาเขียนถ่ายทอดและสื่อสารกับสังคมไว้ให้ ( เป็นเรื่องฝีมือการทำงานในหน่วยทำหุ่นจำลองทางการแพทย์ขององอาจ ศิลปะ รุ่นพี่ของผมคนหนึ่งที่เมื่อมีโอกาสไปเยี่ยมและนั่งคุย ผมก็มักจะนำเรื่องราวต่างๆมาบันทึกถ่ายทอดไว้ด้วย ดังตัวอย่างที่ http://www.gotoknow.org/blogs/posts/466246 )

ในอดีตนั้น การเขียนเนื้อหาและทำสื่อด้วยเนื้อหาและมีภาพประกอบสวยงามอย่างที่ผมได้ทำเป็นบันทึกให้นี้ หากทำสื่ออย่างง่ายที่สุด เช่น แผ่นพับและสื่อสิ่งพิมพ์ ก็จะต้องใช้งบประมาณในการจัดทำไม่ต่ำกว่า ๓ - ๕ หมื่นบาท หากรวมกำลังคน การใช้เวลา ค่าจัดส่ง ค่ากระบวนการก่อนการผลิต และระบบจัดการหลังการผลิตต่างๆด้วยแล้ว ก็จะเป็นต้นทุนที่ต้องใช้มากกว่า ๑ แสนบาท เมื่อจัดทำและเผยแพร่ไปแล้วก็ไม่สามารถหมุนเวียนมาใช้ได้อีก รวมทั้งจะส่งเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายได้อย่างจำกัด

ผมเคยศึกษาและวิเคราะห์จากข้อมูลต่อเนื่องรายปีในการออกหนังสือการจัดประชุมวิชาการต่างๆ พบว่า หากต้องการได้กลุ่มเป้าหมาย ๒-๓ ร้อยคนนั้น ก็จะต้องส่งจดหมายไปยังหน่วยงานต่างๆทั่วประเทศ ๒-๓ พันฉบับ ๒ รอบในระยะ ๒-๓ เดือนก่อนถึงงาน ดังนั้น การลงทุนทำสื่ออย่างนี้ ในครั้งหนึ่งๆ จึงได้ผลที่จะคาดหวังการตอบรับได้ประมาณ ๑๐-๒๐ เปอร์เซนต์ของจำนวนที่ลงทุนทำและแพร่กระจายสู่กลุ่มเป้าหมายที่ต้องการ ทำให้ชุมชน องค์กรสาธารณะ และหน่วยงานส่วนใหญ่ ไม่สามารถมีสื่อที่ดีอย่างต่อเนื่อง และโดยรวมแล้ว ก็เป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้ระบบข้อมูล ระบบจัดการความรู้ และการสร้างวัฒนธรรมการสื่อสารเรียนรู้ของสังคมอ่อนแอ แม้ในสังคมโลกจะมีเทคโนโลยีที่ก้าวหน้ามากมายมาช่วยแล้ว ก็ไม่สามารถเกิดขึ้นได้โดยง่าย

การได้ทราบผลที่เกิดขึ้นอย่างนี้ แม้เพียงเล็กย้อย แต่ก็เป็นสัญญาณที่มีความหมายอย่างยิ่ง ผมเพียงแต่ทำให้การได้พบเห็นสิ่งต่างๆ มีความหมายต่อการสร้างความรู้และการสร้างพลังการสื่อสารเรียนรู้ เพื่อเพิ่มพูนโอกาสให้สังคมได้เห็นสิ่งดีๆในตนเองมากยิ่งๆขึ้น โดยใช้กระบวนการเดินเข้าหากันเพื่อเรียนรู้ ถอดบทเรียน แล้วนำมาสื่อสาร บันทึก ถ่ายทอด ใช้วิธีการทางความรู้ทำงาน บนระบบที่ผู้คน ดังเช่น GotoKnow ก็ได้ช่วยกันสร้างให้กับสาธารณะ ก็สามารถลดต้นทุนและข้อจำกัดอีกหลายอย่าง ดังในข้างต้น ที่ยากจะทำอย่างนี้ได้อย่างในอดีต ลงไป และสามารถทำให้หลายแห่งทั้งระดับบุคคคล หน่วยงาน และชุมชน ปรากฏสิ่งดีๆที่สังคมทั่วประเทศไทยและทั่วโลก จะสามารถรู้และเข้าถึงได้หลายรอบมากกว่าแผ่นพับซึ่งเผยแพร่ได้รอบเดียวอย่างเทียบกันไม่ได้



ความเห็น (5)

แต่อาจารย์ขา ขนาดชวนคนกลุ่มเล็ก ๆ ในโรงพยาบาลมาเขียนที่นี่ยังยากเลยนะคะ ฝ่าด่าน Facebook ไม่ได้

น้อง ๆ ชอบส่งภาพกันทาง FB ไม่ค่อยชอบเขียนกันน่ะค่ะ

ชื่นชมกับดอกผลของความเพียรครับอาจารย์ และหวังว่าจะเป็นแสงส่องทางให้กับผู้เดินตามรอย

สวัสดีครับคุณหมอธิรัมภาครับ

ตรงที่คุณหมอว่านี้แหละครับ ที่ทำให้ผมชื่นชมคนที่พากเพียรเขียนบันทึกในบล๊อกและทำสื่อออนไลน์ ผมเคยชื่นชมอาจารย์ธนิตย์ แห่งโรงเรียนบ้านกร่าง พิษณุโลก และอีกหลายท่าน ที่บันทึกใน GotoKnow และนำเอาเรื่องราวต่างๆของที่ทำงาน รวมทั้งเรื่องราวของชุมชน คนรอบข้าง และกลุ่มเด็กๆนักเรียน มาบันทึก พร้อมกับได้ถ่ายทอดสื่อสารกับสังคมให้แพร่หลาย เรื่องอย่างนี้ เมื่อมองจากทั่วๆไปแล้ว ก็จะเห็นได้ว่าเป็นสิ่งที่คนทั่วไปทำได้ยาก

ในมุมมองผมนั้น คนที่เขียนบันทึกสื่อสารการทำงาน รวมทั้งนำเอาเรื่องราวต่างๆมาแลกเปลี่ยนแบ่งปันกันใน GotoKnow และที่อื่นๆ ในแง่หนึ่ง ก็กำลังเป็นเครือข่ายสื่อ เครือข่ายสร้างข้อมูล ความรู้ และเครือข่ายเขียนสังคม ที่ทำให้ความเป็นจริงของสังคมมากมายปรากฏขึ้นมาให้เข้าถึงและสัมผัสได้ มากกว่าสภาพที่เคยเป็นมาในอดีต หน่วยงาน องค์กร ชุมชน และปัจเจก ที่แทบจะเป็นสุญญากาศในโลกของระบบความรู้และสื่อสารข้อมูลเพื่อให้สังคมได้อยู่ด้วยกัน ก็สามารถมีสื่อและช่องทางถ่ายทอดสื่อสารกับสังคมวงกว้าง นับว่าเป็นปัจจัยพื้นฐานของการสร้างสังคมสุขภาวะให้มีวัฒนธรรมความรู้ที่ทัดเทียมกับความซับซ้อนต่างๆ ที่สำคัญมากที่สุดอย่างหนึ่ง

ขอบคุณครับคุณสุทธิพงศ์ พวกเราทางศิลปากรและมหิดล สุขสบายดีนะครับ
มีไฟและได้ทำสิ่งต่างๆที่อยากทำอยู่เสมอๆนะครับ คิดถึงทุกคนเลย

ขอบคุณคุณ ตัณฑุลาวัฒน์, คุณหมอ ทพญ.ธิรัมภา, อาจารย์หมอ ป. คุณสุทธิพงศ์ สภาพอัตถ์ และ อาจารย์ ดร.โอ๋-อโณ ครับ ที่ได้เข้ามาอ่าน ทักทาย ให้กำลังใจ

วิรัตน์ คำศรีจันทร์
เขียนเมื่อ

๒๒๘. เพียงได้เริ่มหารือและระดมความคิดด้วยกันก็ดีใจ

กลุ่มครูและผู้บริหารสถานศึกษาในจังหวัดภาคตะวันออก ได้มอบหมายให้ตัวแทนติดต่อทางโทรศัพท์และหารือเรื่องการจัดค่ายการเรียนรู้แบบบูรณาการที่มีกลุ่มสาระการเรียนรู้ทางสังคมศึกษาเป็นแกน เพื่อทำหลายอย่างไปในเวลาเดียวกัน โดยเป้าหามายหลักคือพัฒนาเด็กให้เข้าถึงคุณธรรมต่อสังคมปัจจุบันและทักษะการเรียนรู้ที่สำคัญทางด้านสังคมศึกษา โดยเฉพาะในบริบทใหม่ๆของสังคมที่จะต้องตื่นตัวและสร้างสำนึกพลเมืองบนความเป็นประชาคมอาเซียนของสังคมไทยกับประเทศเพื่อนบ้าน ขณะเดียวกันก็เป็นโอกาสพัฒนาเครือข่ายครูสังคมศึกษา พัฒนากระบวนการจัดการเรียนการสอน ตลอดจนร่วมมือกันศึกษาและพัฒนานวัตกรรมการเรียนรู้ต่างๆ คุณครูที่ติดต่อและหารือกันบอกว่าได้ความคิดและรายละเอียดต่างๆที่นำมาหารือกับผมจากเว๊บล็อก GotoKnow เราตกลงในหลักการที่จะลองพัฒนาโครงการขึ้นมาทำด้วยกัน ผมให้กำลังใจสนับสนุน และปวารนาตัวไว้ว่านอกจากจะร่วมทำด้วยกันอย่างเต็มที่แล้ว หากออกแบบกระบวนการกันได้ดี ก็จะช่วยชักชวนคุณครูและคนทำงานเชิงกระบวนการเรียนรู้มือดีจากหลายๆแหล่งไปทำเอาสนุกด้วยกันในเรื่องดีๆอย่างนี้ด้วย



ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

วิรัตน์ คำศรีจันทร์
เขียนเมื่อ

๒๒๗. จำต้องแตกต่างกันแม้เหมือนกัน

".......... คนเรามันก็มีตัวตน มีบทบาทหน้าที่แตกต่างกันไป บางทีก็รู้มือกันอยู่ อ่านตำราเล่มเดียวกัน ศึกษาทฤษฎีเดียวกัน ต่างก็มีสำนึกทางสังคม มีอุดมคติเหมือนกัน อยากให้สังคมดี เคยรบเคยต่อสู้มาอย่างถึงที่สุดด้วยกัน ....... เวลานั่งคุย นั่งพูดจากัน ก็คุยกันดี คุยรู้เรื่อง ไม่มีอะไร แต่พอต่างอยู่ในเวที อยู่ในสื่อ ก็คุยกันไม่รู้เรื่อง ที่เห็นว่าดี เห็นด้วย เห็นสอดคล้องกัน ก็กลับเห็นไปอีกทางหนึ่ง สู้กันอยู่คนละขั้ว มันก็เป็นอย่างนี้แหละ ต่างคนต่างทำหน้าที่ ......." ข้อคิดจากการสนทนากับอดีตสหายคนหนึ่ง



ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

วิรัตน์ คำศรีจันทร์
เขียนเมื่อ

๒๒๖. ศิลปะกับการสร้างสำนึกต่อความเป็นหนึ่งกับสาธารณะในถิ่นฐานและถิ่นอาศัย

....." สำหรับคำพันธ์ แซ่ว๊างแล้ว บ้านไม่ใช่เพียง อาคารและสิ่งปลูกสร้างทางกายภาพ แต่คือทุกที่ที่เขาเขียนรูปและทำงานศิลปะได้"....... ชิณวร ชมภูพันธุ์ ชมรมอนุรักษ์สถาปัตยกรรมท้องถิ่นเมืองแพร่ สะท้อนการเรียนรู้หลังจากนั่งสนทนากับอาจารย์ยุทธภูมิ สุประการจากโรงเรียนการศึกษาสงเคราะห์แพร่ ได้แบ่งปันประสบการณ์ผ่านเรื่องวราวของลูกศิษย์คนหนึ่งซึ่งเป็นชาวเขาเผ่าม้ง เสาร์ที่ ๒๖ พฤษภาคม ๒๕๕๕



ความเห็น (3)

I love to see more arts and crafts or creativity at community level -- the arts that people can understand ;-)

ขอบพระคุณ ดร.โอ๋ อโณ มากเลยครับที่มาเยือน

สำหรับเครือข่ายนี้นั้น จะมีแนวในการทำงานอย่างที่ท่าน sr อยากเห็นเลยละครับ เพราะจะสนใจศิลปะในฐานะเป็นวิธีพัฒนาเด็กกับประชาชนและชุมชน รวมทั้งเป็นปัจจัยในการดำเนินชีวิต ซึ่งจะเป็นด้านที่ศิลปะอยู่ในเครื่องใช้สอย เทคโนโลยี และภูมิปัญญาปฏิบัติ ในการทำมาหากิน การดำเนินชีวิต และการสร้างวิถีชีวิตเมือง จึงไม่ใช่จะเป็นเรื่องที่เน้นให้ชาวบ้านทั่วไปเข้าใจเท่านั้น แต่เป็นด้านที่ว่าด้วยศิลปะที่อยู่ในวิถีชุมชนและวิถีชีวิตประจำวันของคนทั่วไปเลยทีเดียวครับ

วิรัตน์ คำศรีจันทร์
เขียนเมื่อ

๒๒๕. บูรณาการการเรียนรู้สำหรับคนทำงานชุมชนของ กฟผ

ออกแบบกระบวนการและซ้อมทบทวน เพื่อใช้วิธีถอดบทเรียน ให้พนักงานของ กฟผ นำเอาประสบการณ์ที่ได้ลงไปทำโครงการปลูกต้นไม้และพัฒนาสิ่งแวดล้อมกับชุมชนที่จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ มาสังเคราะห์บทเรียน พร้อมกับเรียนรู้ พัฒนาศักยภาพ และพัฒนาแผนปรับปรุงกลวิธีการทำงานกับชุมชนและชาวบ้านในพื้นที่ต่างๆ ด้วยกระบวนการสื่อสารเรียนรู้บนการดำเนินโครงการ การพัฒนาเครือข่ายชุมชน และการทำงานในแนวประชาคม เพื่อทำงานชุมชนสัมพันธ์ในระดับปฏิบัติการของ กฟผ ให้มีความเหมาะสมกับเงื่อนไขแวดล้อมปัจจุบันได้ดียิ่งๆขึ้น



ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

วิรัตน์ คำศรีจันทร์
เขียนเมื่อ

๒๒๔.ไข่เค็มมิตรภาพจากน้องรัก ศสช.นครศรีธรรมราช

วันนี้ผมต้มข้าวต้มเพื่อกินกับไข่เค็มเป็นมื้อกลางวันมื้อพิเศษให้กับตนเอง ไข่เค็มเป็นไข่เค็มฝีมือชาวบ้านในชุมชนจังหวัดนครศรีธรรมราช น้องจี๊ด อาจารย์วีณาภรณ์ สำอางค์ศรี ศูนย์ สช : หรือ ศูนย์สนับสนุนสุขภาพภาคประชาชนภาคใต้ จังหวัดนครศรีธรรมราช ฝากน้องเหมียว อาจารย์ณัฐพัชร์ ทองคำ ไปให้ ระหว่างขนส่งคงจะผ่านสภาพที่ลุยสบักสบอมตลอดเส้นทาง ไข่เค็มเลยมีสภาพเหมือนโดนช้างเหยียบบู้บี้ไปหลายฟอง เลยต้องรีบกิน ได้กินความอร่อยจากน้ำใจด้วยความสนุกเพลิดเพลิน เพราะต้องแกะและเพ่งสายตาแยกเปลือกกับเนื้อไข่ขาวไปอยู่ตลอดเวลา อิ่มหมีพีมันและมีความสุขดี



ความเห็น (1)
  • เอ่อ! ไข่เค็มตอนจากมือพี่จี๊ดยังดูดีน่าอร่อยค่ะอาจารย์ แต่เผอิญเป็นของฝากชิ้นสุดท้ายเลยทำให้ไม่สามารถแพ๊คลงกล่องเพื่อโหลดขึ้นเครื่องมาได้ทันค่ะ จึงผ่านการขนส่งในขณะที่อยู่ในเป้ที่เต็มไปด้วยหนังสือ เอกสารและ notebook ไข่เค็มจากเมืองใต้มุ่งสู่ศาลายาจึงเป็นจังซั่นเด้อค่ะเด้อ ^^"
วิรัตน์ คำศรีจันทร์
เขียนเมื่อ

๒๒๓.รูปแบบการเขียนรายงานและนำเสนอผลที่เหมาะสมกับการวิจัยและพัฒนา

เมื่อสองสัปดาห์ก่อน ระหว่างเดินผ่านห้องตรวจคนไข้นอกของโรงพยาบาลสวนดอก คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้หยุดอ่านการนำเสนอโปสเตอร์ผลการวิจัยในงานประจำ (R2R) ของคณะ ซึ่งได้รับรางวัลและนำมาติดตั้งเผยแพร่แก่ผู้สนใจทั่วไป 2 เรื่อง เรื่องหนึ่งเกี่ยวกับดนตรีบำบัด และอีกเรื่องหนึ่งเกี่ยวกับการใช้ดิจิการ์ด เพื่อลดเวลาและขั้นตอนการให้บริการรับและตรวจคนไข้นอกของโรงพยาบาล นอกจากประเด็นการวิจัย ความสามารถแก้ปัญหา และการค้นพบนวัตกรรมสุขภาพ ที่น่าสนใจมากแล้ว สิ่งที่น่าสนใจมากก็คือเค้าโครงและรูปแบบของการเขียนนำเสนอผลการวิจัย ซึ่งเป็นอีกรูปแบบหนึ่งที่ดูแล้วทำให้ได้ความคิดและเห็นความเหมาะสมมากสำหรับดัดแปลงใช้กับข้อมูลผสมผสานทั้งวิธีการเชิงปริมาณและเชิงคุณภาพ ในงานวิจัยและพัฒนา หรือการปฏิบัติการพัฒนาแล้วค่อยถอดบทเรียนและวิจัยตามหลัง และการศึกษาที่ใช้ผลลัพธ์เป็นตัวตั้งแล้วศึกษาย้อนหลังเพื่ออธิบายและสร้างความรู้เชิงกระบวนการนับแต่จุดเริ่มต้นกระทั่งปรากฏผลออกมา ที่ไม่สามารถตั้งจุดหมาย วัตถุประสงค์ โจทย์วิจัย สมุมติฐาน และเทคนิคการเก็บข้อมูลต่างๆ ไว้ล่วงหน้า



ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

วิรัตน์ คำศรีจันทร์
เขียนเมื่อ

๒๒๒.แม่บ้านรถทัวร์ : ต้อนรับและดูแลกันด้วยบรรยากาศเยือนบ้านกันเอง

เมื่อครั้งผมไปเป็นวิทยากรบรรยายพิเศษ ที่สาขาเทคโนโลยีบัณฑิต (เวชนิทัศน์) คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยของแก่นที่ผ่านมา ขากลับทางคณะผู้จัดได้อำนวยความสะดวกให้กลับรถทัวร์ขอนแก่น-เชียงใหม่ ด้วยความที่ผมไม่เคยได้ยินชื่อบริษัทรถทัวร์ที่จองได้ในครั้งนี้มาก่อน อีกทั้งการติดต่อต่างๆก็ไม่สะดวกเลย นับแต่การจองตั๋ว การถามข้อมูลต่างๆ กระทั่งการขอทราบชานชาลาที่จะขึ้นรถที่แน่นอน ยุ่งยากและวุ่นวายพอสมควร จึงทำให้คาดการณ์ว่ารถและบริการต่างๆจะไม่ดี แต่ก็ยินดีที่จะเดินทางเพราะต้องการกลับบ้าน แต่เมื่อรถมาจอดรับผู้โดยสาร ก็พบว่าเป็นรถที่ดีมาก เบาะที่นั่งก็ไม่ทำให้ผมเจ็บหลังเหมือนทัวร์อื่นๆ และที่ทำให้ประทับใจมากคือ เมื่อมีรถทัวร์ที่หรูหราสำหรับเดินทางระยะยาวนั้น บริษัทต่างๆ ก็มักจะมีพนักงานต้อนรับและคอยอำนวยความสะดวกบนรถ หรือบัสโฮสต์เตส ที่แข่งขันกันด้วยความเป็นคนหนุ่มคนสาว มีเครื่องแบบ และมีรูปแบบเป็นมาตรฐานทั้งการพูดและการบริการต่างๆ แต่รถทัวร์ที่ผมได้นั่งครั้งนี้ กลับกลายเป็นอีกทางหนึ่ง โดยพนักงานเป็นสตรีวัยกลางคน ลักษณะเหมือนแม่บ้าน ไม่มีการแต่งหน้าแต่งตา สวมเสื้อซาฟารีและกางเกงขายาวสีน้ำเงินเข้ม คอยเดินดูความเรียบร้อยและคอยอำนวยความสะดวกเหมือนการอยู่ในบ้าน ให้ความหลากหลายและได้ประทับใจดีไปอีกแบบหนึ่งต่างไปจากที่เห็นทั่วๆไป



ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

วิรัตน์ คำศรีจันทร์
เขียนเมื่อ

๒๒๑. ห้องสุขาเกือบเป็นห้องทุกขาของผมเสียแล้ว

วันนี้ผมไปเป็นประธานสอบป้องกันวิทยานิพนธ์ของนักศึกษาปริญญาโท ที่สำนักของท่านอาจารย์ Wasawat Deemarn และในสาขาเทคโนโลยีและสื่อสารการศึกษาอีกด้วย (ไปสอบได้หลายคนแล้วเหมือนกัน ไม่รู้ว่าในหมู่กรรมการสอบที่หมุนเวียนกันมานั้น คนใดคนหนึ่งจะเป็นอาจารย์ Wasawat Deemarn ของเรา ที่มาสอบด้วยกันแล้วหรือเปล่าก็ไม่รู้) พอสอบเสร็จ ผมก็วางแผนว่าจะเดินเลียบถนนให้เพลินจากมหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ แวะปางสวนแก้ว แล้วก็ไปขึ้นรถกลับบ้านกับภรรยาซึ่งทำงานอยู่ที่คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลสวนดอก ซึ่งคงจะใช้เวลานาน เลยขอเข้าห้องน้ำห้องท่าเสียก่อน พอออกจากห้องสอบวิทยานิพนธ์ให้นักศึกษา ก็ตรงเข้าห้องน้ำของอาจารย์ พอเรียบร้อยแล้วก็เป็นเรื่องครับ....ประตูห้องน้ำเปิดไม่ได้ ลูกบิดเสียครับ ผมพยายามเปิดอย่างไรก็เปิดไม่ได้ อากาศก็ร้อนและอบอ้าวอย่างที่สุด โทรหาเจ้าหน้าที่ประสานงานก็ไม่เจอตัว ในที่สุด เลยต้องโทรหาผู้ที่ออกหนังสือเชิญผม...โทรขอความอนุเคราะห์ท่านคณบดีบัณฑติวิทยาลัยน่ะสิครับ!!! ผมบอก .. ท่าน ท่าน ส่งลูกน้องไปช่วยเปิดห้องน้ำให้ผมหน่อย .... โทรเสร็จก็ทั้งขำและข่มขื่นกับเหตุการณ์ชีวิตอันพิลึกกึกกือนี้ ... เสียงท่านคณบดีบัณฑิตวิทยาลัยรีบกุลีกุจอ บอกว่าเดี๋ยวให้คนไปเปิดให้ สักพัก ก็มีเจ้าหน้าที่ไปเรียก แล้วก็บอก อาจารย์ อาจารย์ อาจารย์ถอยไปอยู่ไกลๆบานประตูนะครับ ผมจะถีบ!!! พอผมบอกถอยแล้วครับ เขาก็ถีบ เปรี้ยงเดียวก็เปิด เฮ้อ...ห้องสุขานะเนี่ยเกือบเป็นห้องทุกขาเสียแล้ว



ความเห็น (3)

มิเจอผม อิ อิ ท่านพี่คณบดี ส่งคน Sky Kick มาได้ตรงงาน 555

เกือบจะไม่ได้เป็นสรพงษ์ ชาตรี แล้วนะครับท่านพี่วิรัตน์ ;)...

ก๊ากกก อาจารย์อย่างกับรู้ความคิดผมเลย ผมนึกอยู่นะครับว่าเจ้าหนุ่มที่ใช้วิชากังฟูเปรี้ยงเดียวประตูก็เปิดนี่ หมอแน่มากเลยแฮะ พอผมเดินออกไป พอขอบคุณเขาก็โค้งรับ แล้วก็เดินกลับไปสำนักงานแบบสบายๆด้วยมาดหล่ออย่างเป็นปรกติ แต่เดิมนั้น ผมคิดว่าเขาจะขนคนและเครื่องไม้เครื่องมือกันมาวุ่นวะวุ่นวายเสียอีก

วิรัตน์ คำศรีจันทร์
เขียนเมื่อ

๒๒๐. ร้านหนังสือสามัญชน หางดง

ร้านหนังสือสามัญชน หน้าคาร์ฟู หางดง เชียงใหม่ หายไปไหน .... หยุดปรับปรุง ? เลิกกิจการ ? ย้ายที่ ?



ความเห็น (1)

เป็นคำถามเดียวกันครับ ท่านพี่ ;)...

วิรัตน์ คำศรีจันทร์
เขียนเมื่อ

๒๑๙. อุดมการณ์ผัดกระเพราแบบลูกค้าเป็นศูนย์กลาง

วันนี้ผมออกไปกินข้าวมื้อเที่ยงที่ร้านค้าปากทางถนนเชื่อมต่อกับคลองชลประทานหลังมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ไปน้ำบ่อหลวง เข้าหมู่บ้าน ตรงปากทางเป็นตลาดและร้านค้าชุมชนที่ อบต.สร้างไว้ให้ชาวบ้านนำของมาวางขายในตอนเย็น ตอนกลางวันจะว่างและมีร้านขายข้าวตามสั่งอยู่ร้านเดียว เมื่อไปถึงก็มีเด็กๆ ๓-๔ คนนั่งกินข้าวอยู่โต๊ะหนึ่ง ผมคงเป็นลูกค้าโต๊ะที่สอง ผมสั่งข้าวผัดกระเพราะหมูไข่เจียวแล้วก็จึงคิดว่าคงจะรอไม่นาน แต่ก็นั่งรออยู่เป็นครู่จนอดสงสัยไม่ได้ว่าคนก็ไม่เยอะ แต่ทำไมไม่ถึงคิวผมได้รับอาหารสักที ยิ่งไปกว่านั้น เมียพ่อครัวก็หายไป สักครู่ก็เดินกลับมาร้านพร้อมกับใบมะกรูดเต็มกำมือ ผมก็คิดว่าคงมีใครสักผักพริกแกงอยู่ก่อนกระมัง แต่หลังจากนั้น พ่อครัวก็เดินออกไปอีก พร้อมกับเข็นมอเตอร์ไซค์ออกไปและสตาร์ทอยู่จนเหงื่อโทรมรถจึงติด พอขับออกไปสักครู่แม่ค้าจึงเข้ามาบอกให้ผมรออีกสักหน่อย พร้อมกับบอกว่าเมื่อสักครู่เดินออกไปซื้อไข่มาทำไข่เจียวให้ผมจากร้านค้า ๒ ร้านใกล้ๆกัน แต่ไม่มี เลยต้องเดินกลับมาพร้อมกับแวะเด็ดยอดมะกรูดติดมือมาเพราะดูงามดี พอกลับมาบอกสามีแล้ว สามีเลยต้องเอามอเตอร์ไซค์ออกไปซื้อจากร้านค้าที่อยู่ไกลออกไป สักพักก็กลับมา ผมได้ทราบแล้วก็นึกในใจว่าหากบอกผมสักหน่อยว่าไม่มีไข่ ผมก็จะเปลี่ยนเป็นรายการอาหารอย่างอื่นที่ไม่ต้องใช้ไข่ก็ได้ เล่นเอาวุ่นวายและเหงื่อตกกันเลยเชียว อย่างนี้ต้องเรียกว่าสูตรผัดกระเพราแบบลูกค้าเป็นศูนย์กลางนะนี่



ความเห็น (1)

อ่านแล้วเอาใจช่วยทั้งคนกินคนทำเลยนะคะ อาจารย์ คนกินก็น่ารักที่อุตส่าห์เอาใจใส่ความเป็นไปของคนทำ คนทำก็น่ารักที่พยายามจะตอบสนองคนกิน นี่ถ้าปรึกษากันสักนิดคงได้เมนูใหม่ไปแล้วนะคะ

วิรัตน์ คำศรีจันทร์
เขียนเมื่อ

๒๑๘.สุขภาวะทางสื่อ คือการได้แลกเปลี่ยนความแตกต่างหลากหลาย

แม่ชอบเปิดดูรายการโทรทัศน์ของสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ซึ่งสามารถรับได้ผ่านจานดาวเทียม โดยบอกว่าดูอ่อนโยน สุภาพ แต่งกายและแสดงออกสวยงาม ไม่โฉ่งฉ่างเหมือนเหมือนดาราและวัยรุ่นไทย ขณะเดียวกัน เมื่อไม่กี่ปีที่ผ่านมา ผมไปประเทศ สปป ลาว คนลาวก็ชอบฟังเพลงและดูรายการโทรทัศน์ไทย รวมทั้งชอบกินอาหารไทย



ความเห็น (1)

หลวงตาที่วัดตอนนี้ท่านมรณภาพแล้ว
ก่อนหน้าที่จะเสียชีวิตมีคนมาติดจานดาวเทียมให้

ท่านชอบดูทีวีลาวด้วย บอกว่าสุภาพ เรียยร้อยดี

วิรัตน์ คำศรีจันทร์
เขียนเมื่อ

๒๑๗. คนกินข้าว คนทำนา ข้าว หอยเชอรี่ นกกินหอย และ.....

พาแม่เดินบอกบุญงานอุปสมบทหลานในกลางเดือนที่จะถึง พร้อมกับไปเยี่ยมญาติคนเฒ่าคนแก่ที่บ้านใต้ ได้นั่งคุยกับญาติๆ คนที่บ้านบอกว่าเดี๋ยวนี้แถวบ้านมีฝูงนกปากห่างหรือที่ชาวบ้านเรียกว่านกกินหอยเป็นฝูงใหญ่เกาะอยู่ตามต้นไม้กลางทุ่งนา ชาวบ้านบอกว่ามีนกกินหอยอพยพมาอยู่ในท้องถิ่นหมู่บ้านได้หลายปีแล้ว ชาวบ้านส่วนใหญ่บอกว่าดี เพราะช่วยกินหอยเชอร์รี่และลดหนูลงไปได้มาก ก่อนหน้านี้ชาวนาเดือดร้อนจากเพลี้ย วัชพืช ตั๊กแตน เมื่อใช้ยาและสารเคมีหนักมากเข้า ก็เกิดปัญหาหอยเชอร์รี่ ซึ่งต่อมาก็จะตามมาด้วยฝูงหนูนา ทำความเสียหาต่อข้าวและการทำนาอย่างหนัก ต่อมาก็มีนกกินหอยเพิ่มจำรนวนมากขึ้น พอไถนาก็จะเดินตามชาวนากินหอยเชอร์รี่ ลดปัญหาจากหอยและลดการาใช้ยากับสารเคมีเป็นหลายพันบาท แต่ตอนนี้ หลายแห่งที่นกเกาะหนาแน่น ขี้ของนกกินหอยก็ทำให้ข้าวตาย ใบเยอะและเมล็ดลีบ ปัญหาจากหอยเชอร์รี่จึงเริ่มยกระดับไปสู่ปัญหาจากสัตว์ที่ใหญ่กว่าเดิมและมีแนวโน้มว่าจะแก้ปัญหาได้ยากกว่าเดิม



ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

วิรัตน์ คำศรีจันทร์
เขียนเมื่อ

๒๑๖.บันทึกภาพสระสาธารณะและชุมชนรอบเกาะลอย อำเภอหนองบัว

ตอนเย็นของ ๒๙ เมษายน ๒๕๕๕ ผมนัดกับเพื่อนหนองบัวกินข้าวและนั่งคุยกัน ระหว่างที่รอบถึงเวลานัดหมาย ก็ถือโอกาสขับรถตระเวนและทำความคุ้นเคยกับชุมชนละแวกต่างๆรอบตัวเมืองอำเภอหนองบัวทางด้านศูนย์การค้าธารบัวสวรรค์และโคกมะขามหวาน ลองแวะเข้าไปในซอยเล็กๆซอยหนึ่งที่คาดว่าจะเป็นบ้านของอาจารย์พนม จันทร์ดิษฐ์และอาจารย์สุนันท์ จันทร์ดิษฐ์ แต่เมื่อเข้าไปแล้วก็หาไม่เจอ เลยขับต่อไปเรื่อยๆ กระทั่งไปโผล่ข้างศาลเจ้าข้างเกาะลอย จึงถือโอกาสขับรถสำรวจไปรอบๆเกาะลอยพร้อมกับถ่ายภาพเก็บไว้ สระสาธารณะที่แต่เดิมเป็นเกาะลอยนั้น มีถนนรอบสระเลยทีเดียว ขอบสระก็ใหญ่และทำเป็นทางเดินรอบสระ บางแห่งมีแแหล่งออกกำลังกายและที่นั่งหย่อนใจ ปลูกต้นไม้ร่มรื่นรอบสระ



ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

วิรัตน์ คำศรีจันทร์
เขียนเมื่อ

๒๑๕. ไอดินกลิ่นซังข้าว

เมื่อคืนที่ผ่านมา ฝนตกและลมพัดใบไม้ปลิว เปิดหน้าต่างรอบห้องให้ลมเข้า ได้กลิ่นไอดิน กลิ่นซังข้าง และกลิ่นหญ้า เป็นวันแรกที่สามารถปิดพัดลมแล้วนอนฟังเสียงสายฝน อากาศหายร้อนอบอ้าว ยามเช้า ใบไม้ที่เริ่มผลิดูเขียวสดใส



ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

วิรัตน์ คำศรีจันทร์
เขียนเมื่อ

๒๑๔. ส่งหนังสือไปบ้านสันป่าตอง

เก็บเสื้อผ้าและหนังสือส่งผ่านบริการขนส่งพัสดุของนิ่มซี่เส็งไปบ้านที่สันป่าตองได้อีก ๑๔ กล่อง



ความเห็น (3)

คงเป็นพวกบ้าหอบฟางเหมือนอาจารย์เลยใช่ไหม ตอนนี้ขนลงกล่องและส่งไปรอบที่สองแล้วน่ะครับ แต่มันเพิ่งจะหมดไปชั้นหนึ่งน่ะสิครับ เหลืออีก ๒ ชั้นเหล็ก แต่ชุดที่เหลือนี้ส่วนใหญ่จะเป็นพวกพ๊อกเก็ตบุ๊ค เลยคงจะไม่ค่อยหนักและไม่ค่อยเปลืองที่ รอบนี้นี่ส่วนใหญ่เป็นหนังสือตำรา สิ่งตีพิมพ์ทางวิชาการ งานวิจัย และวิทยานิพนธ์ของนักศึกษา มันหนักน่าดูเลยละครับ 

ดีแล้ววันก่อนอาจารย์ชวนขึ้นไปชั้นบน ผมไม่ตามไป คงตกใจหนังสือและเอกสารของอาจารย์

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท