การวิจัยธรรม: เซน (zen)


ใช้ชีวิตอยู่ในโลก แต่อย่าให้ฝุ่นของโลกเกาะติดได้ เหมือนดอกบัวเกิดในโคลนตม แต่ไม่ติดโคลนตมฉันนั้น
เซน ( zen )


" เซน " คือวิธีแห่งการรู้แจ้งอันสมบูรณ์ ใครก็ตามที่ได้ปฏิบัติเซน ย่อมสามารถเข้าถึง การรู้อย่างฉับพลัน และใช้ชีวิตใหม่ในสถานะแห่งพุทธะ

เซนอยู่ในชีวิตประจำวันนั่นเอง เป็นชีวิตตามธรรมดาๆ แต่ก็ไม่ใช่ธรรมดาตามธรรมดาที่เราเข้าใจกันอยู่โดยปกติทั่วไป

ที่จริงเซนนั้นก็เหมือนกับการตื่นนอน ล้างหน้า แปรงฟัน กินอาหาร อาบน้ำ ล้างถ้วย ล้างชาม อันเป็นกิจวัตรสามัญประจำวันของคนเรา ดำเนินไปตามครรลองที่มันควรจะเป็นเท่านั้นเอง

วิธีการปลุกเร้ากายใจให้สดชื่นนั้น คือ ถึงเวลาหิวก็กินข้าว ถึงเวลาอ่อนเพลียก็นอน ซึ่งเป็นท่วงทำนองของธรรมชาติ ที่ตัวตนจะดำรงอยู่ ณ ที่นี้อย่างแท้จริงอยู่เสมอ

จงใช้ชีวิตอยู่กับเหตุ ทิ้งผลไว้ให้แก่กฎอันยิ่งใหญ่ของจักรวาล

จุดมุ่งหมายของเซน คือการทำให้เราตระหนักว่าไม่มีตัวตน

ใช้ชีวิตอยู่ในโลก แต่อย่าให้ฝุ่นของโลกเกาะติดได้ เหมือนดอกบัวเกิดในโคลนตม แต่ไม่ติดโคลนตมฉันนั้น

ชีวิตนี้แสนสั้น เราย่อมไม่อาจที่จะใช้ชีวิตที่มีเวลาอยู่นี้ ไปในการขบคิดใคร่ครวญเรื่องทางอภิปรัชญา อย่างไม่มีวันสิ้นสุด เพราะอภิปรัชญาไม่อาจนำไปสู่สัจจะอันยิ่งใหญ่ได้เลย

ชีวิตของเราจะสูญเปล่าไป หากเราหลีกหนีการใช้ชีวิตตามความจริง เมื่อไปอยู่ในโลกแห่งความคิดอันล้ำลึกแล้ว เราก็จะเป็นเพียงวิญญาณพเนจร หากยังวุ่นวายอยู่ด้วยความคิดว่ามีหรือไม่มี ชีวิตก็จะสูญเปล่าไปเสีย

ให้ดูทุกข์ และความไม่มีทุกข์ ที่มีอยู่ในใจ จึงจะเข้าถึงธรรมที่ปราศจากทุกข์ได้

ปาฏิหาริย์ที่แท้ อยู่ในชีวิตประจำวันธรรมดาๆ นี่เอง ให้กิจวัตรประจำวันดำเนินไปตามครรลองของมันอย่างเป็นธรรมชาติ ชีวิตคุณมีอยู่เพียงขณะเดียว อดีตก็ละไปแล้ว อนาคตก็ยังมาไม่ถึง ทำปัจจุบันให้ดีที่สุด คนเราสามารถมีชีวิตอยู่ได้ ก็แต่ในขณะปัจจุบันเท่านั้น

เดี๋ยวนี้ คือสิ่งที่เรา เป็น มันไม่สามารถจะเป็น เป้าหมาย หรือ ภาวะ ที่เราจะต้อง มุ่ง ไปให้ถึง เดี๋ยวนี้ คือการกระทำ หรือ ความเคลื่อนไหว ซึ่งปรากฏอยู่ในขณะนี้ ก่อนที่ ความคิด จะปิดบังมันไว้เสีย

ถ้าเราพบความผิดในบุคคลอื่น เราเองก็ตกอยู่ในความผิดนั้นด้วยเหมือนกัน เมื่อผู้อื่นทำผิด เราไม่จำเป็นต้องเอาใจใส่ เพราะมันจะเกิดความผิดขึ้นแก่เราเอง ในการที่จะไปรื้อหาความผิด

ทุกๆ ครั้งที่มีการเตือนตนเองให้ถ่อมตน อัตตาของตนก็จะขยายทั้งแง่ขอบเขตและกำลัง ความถ่อมตนที่แท้จะเกิดขึ้นเมื่อเราไม่ได้นึกถึงความถ่อมตน วิปัสสนานั้นไม่ใช่การให้ความสำคัญแก่ตนเอง หรือการปฏิเสธละทิ้งตนเอง

มันจะมีประโยชน์อะไร ที่จะมานั่งอภิปรายกันว่า ต้นหญ้าและต้นไม้ตรัสรู้ได้อย่างไร ปัญหามันอยู่ที่ว่า ตัวท่านเองนั่นแหละ จะสามารถบรรลุถึงการตรัสรู้ได้อย่างไร

ยึดมั่นคราใดเป็นทุกข์ครานั้น การปฏิบัติทุกอย่างต้องมาลงที่ความไม่ยึดมั่นถือมั่น สิ่งใดหรือเรื่องใดที่ปฏิบัติแล้ว ยิ่งทำให้เกิดยึดมั่นถือมั่นมากยิ่งขึ้น ถือว่าผิดแล้ว

การตรัสรู้ธรรมหรือไม่ หาได้อยู่ที่การปฏิบัติเข้มงวด หรือเคร่งครัดเป็นเวลานานไม่ แต่ขึ้นอยู่กับการปฏิบัติถูกต้องหรือไม่ต่างหาก

ระหว่าง รู้ กับ ทำ นั้นช่างห่างไกลกันเสียเหลือเกิน

คำของปรมาจารย์รุ่นแรกสุดของเซ็น มีอยู่ 4 ประโยค

1. พ้นจากการบัญญัติ
2. เข้าถึงไม่ได้ด้วยการเรียนตามตำรา
3. ลัดตรงเข้าสู่ใจ
4. มองดู ( รู้ ) พุทธะก็เกิด


ฮวงโป

ไม่มีอะไรจะต้องลุถึง เพียงแต่ลืมตาตื่นเท่านั้นสิ่งๆ นั้นก็จะปรากฏแก่เธอ ( การลืมตาตื่นเพื่อเห็นสิ่งที่เต็มบริบูรณ์อยู่แล้วตรงหน้านั้น ไม่ได้หมายถึงการเริ่มลอกกิเลสเป็นชั้นๆ จนลอกหมดแล้วจึงตื่น แต่จิตนั้นเอง คือผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน ทันทีที่มีสติสัมปชัญญะ ไม่หลง ไม่เผลอ จิตปราศจากการครองคลุมของโมหะ เมื่อนั้นคือการตื่น หรือการรู้ ที่เราพูดถึงกันบ่อยๆ นั่นเอง

จิตที่ปราศจากโมหะ มีความรู้ตัว จะเห็นประจักษ์ธรรมต่อหน้าต่อตา เริ่มจากธรรมในฝ่ายที่เกิดดับ หรือสังขตธรรม จนปัญญาแก่รอบ สามารถปล่อยวางธรรมในฝ่ายที่เกิดดับได้ ก็จะเข้าไปรู้จักธรรมในฝ่ายที่ไม่เกิดไม่ดับ

ดังนั้น ทันทีที่รู้ ก็คือทันทีที่ตื่น พ้นจากภาวะหลับฝันทั้งที่ลืมตา และทันทีที่ตื่น จิตก็ถึงความเบิกบาน อันเป็นคุณสมบัติของจิตเอง ไม่ใช่รู้แล้วลอกกิเลสเป็นชั้นๆ ไปจนหมด จึงตื่น จิตรู้ หรือจิตตื่น มีความเบิกบานในตัวเอง ปลอดภัยอยู่ท่ามกลางความแปรปรวนและไฟกิเลส เหมือนลิ้นงู ในปากงู เหมือนดอกบัว ที่ไม่เปื้อนด้วยโคลนตม )

คนพาล ย่อมหลีกเลี่ยงปรากฏการณ์ภายนอก แต่ไม่หลีกเลี่ยงความคิดปรุงแต่ง คนฉลาดย่อมหลีกเลี่ยงความคิดปรุงแต่ง แต่ไม่หลีกเลี่ยงปรากฏการณ์ภายนอก

ท่านฮวงโป เดินเข้าไปในหอพระ เห็นรินไซ (หลินจิ) กำลังนั่งสัปหงกอยู่ ท่านฮวงโปเลยเอาไม้เท้าไปกระทุ้งพื้น พอรินไซเห็นก็แกล้งทำเป็นหลับต่อ พระอีกองค์นึงนั่งอยู่ใกล้ๆแต่ไม่สัปหงกกลับโดนท่านฮวงโปดุเอาว่า เอาแต่นั่งฟุ้งซ่านอยู่ได้ แล้วฮวงโปก็หันไปชมรินไซที่กำลังสัปหงกอยู่ว่า ปฏิบัติดี


รินไซ

เหมือนคนคิดว่าหัวของตัวเองหาย เมื่อเขาหยุดมองหาหัวของตัวเองอย่างเอาเป็นเอาตาย เขาพบว่าไม่มีสิ่งใดต้องค้นหา

ก็รินไซนี่แหละครับ ที่ไปหาฮวงโปแล้วโดนกระบองตี เรื่องนี้ที่ผมเคยถามหลวงอา เพราะอ่านแล้วไม่เข้าใจเลย ท่านว่าธรรมะไปถามคนอื่นได้ไง หาได้ที่ตัวเอง

ตอนหลังท่านฮวงโปก็มอบให้รินไซสืบทอดคำสอนต่อ ท่านฮวงโปให้คนใช้ไปเอาตราประทับที่ได้จากอาจารย์ไปจ้างมาให้รินไซ (ตราประทับที่แสดงว่าท่านผู้นั้นสมควรได้รับการสืบทอดคำสอนไปยังรุ่นต่อไป สืบทอดกันมาเป็นรุ่นๆ พอฮวงโปสั่งคนใช้ให้ไปเอามา ท่านรินไซก็บอกให้คนใช้เอาไฟมาเผาด้วย


โพธิธรรม

อะไรเกิดขึ้นที่จิตก็ให้รู้ไป ไม่ต้องไปแบ่งแยกให้ค่าว่า อันนี้ถูก อันนี้ผิด ถ้าหลุดพ้นจากการให้ค่าพวกนี้ได้ ก็จะเข้าใจจิตได้ครับ


เค็งเซ็น

สิ่งที่ตาเธอเห็นอยู่นั่นแหละคือความจริง (ปรมัตถ์) ธรรมทั้งปวงก็คือปรมัตถ์ เธอจะต้องหาอะไรอีกเล่า


จ้าวโจ

บางที ก็มีพระมาถามว่า 'ผมถึงจุดที่ไม่ยึดถืออะไรแล้ว ผมจะต้องทำอย่างไรครับ' ท่านก็ตอบว่า 'ก็ทิ้งมันไว้ตรงนั้นสิ'

มีพระมาถามว่า 'ถ้าบรรลุถึงนิพพานแล้ว จิตจะเป็นยังไงครับ' ท่านอาจารย์บอกว่า 'ทำให้ถึงตรงนั้นก่อน แล้วฉันจะตามไปบอก'

พระองค์นึงถามอาจารย์จ้าวโจว่า 'ที่เมืองจีนใครเป็นอาจารย์องค์แรกครับ' ท่านจ้าวโจว่า 'ท่านโพธิธรรม' 'แล้วท่านอาจารย์เป็นอาจารย์อยู่ในลำดับที่เท่าไรครับ' 'ฉันอยู่นอกลำดับ' 'อยู่นอกลำดับแล้วตกลงอยู่ไหนครับ' 'อยู่ในหูเธอ' เข้าใจว่า พระองค์นั้นโดนดุเรื่องถามอยู่นั่นแหละ ก็พูดให้ฟังอยู่นี่แล้วยังไปสงสัยอะไรมากมาย คืออาจารย์องค์นี้ท่านมักจะใช้คำพูดให้ศิษย์หลุดออกมาจากความสงสัย อ่านดูศิษย์ท่านแต่ละคนช่างซักช่างถามเสียเหลือเกิน


โจซู

มีพระรูปหนึ่งไปถามท่านโจชูว่า ตัวเองปฏิบัติแบบนี้แล้วถูกรึเปล่า ท่านโจชูบอกว่าเริ่มปฏิบัติได้ก็ดีแล้วนี่ (ท่านไม่ตอบว่าถูกหรือผิดเลย) คำสอนพระท่านส่วนใหญ่จะเน้นให้ลูกศิษย์ละวางการให้ค่าสิ่งต่างๆ ที่เป็นคู่ๆ ว่า นี่ดี นี่ไม่ดี นี่ก้าวหน้า นี่ถอยหลัง อะไรทำนองนี้


อิ๊กคิวซัง

เหตุแห่งความทุกข์ และความเศร้าหมองที่เกิดขึ้นในชีวิต ล้วนเกิดจากจิตที่เต็มไปด้วยอัตตา


Zen in the Martial Arts

สติที่เป็นสติสัมโพชฌงค์ ก็คือสติที่มีเองทุกขณะ โดยไม่ต้องออกแรงตั้งใจให้มีสติ และมีอยู่เองโดยไม่มีความต้องการที่จะให้มีสติ เพราะเห็นว่าสตินั้นมีประโยชน์
- วันทิพย์


การบรรลุธรรม หมายความอย่างง่ายๆ ถึงการตระหนักในความกลมกลืนกัน อันไม่อาจแบ่งแยกออกได้ในชีวิตประจำวัน ความรู้อันแท้จริงแล้วต้องผ่านประสบการณ์ตรง เราจะอธิบายรสน้ำตาลได้อย่างไร การบรรยายด้วยวาจาไม่อาจให้ความรู้สึกได้ การจะรู้รส ต้องมีประสบการณ์กับมัน ปรัชญาของศิลปแขนงนี้ ไม่ใช่ว่าจะครุ่นคิดออกมาได้เอง จะต้องมีประสบการณ์ ดังนั้น จึงช่วยไม่ได้ที่ถ้อยคำเป็นเพียงการนำความหมายไปได้บางส่วนเท่านั้น
- Joe Hyams


รู้จักคนอื่นเป็นความฉลาด รู้จักตนเองเป็นการตรัสรู้
- เล่าจื๊อ


เมื่อคุณแสวงหา คุณไม่อาจพบมัน
- บททายของเซน


คุณต้องเรียนรู้วิธีดำรงชีวิตอยู่ในปัจจุบัน ไม่ใช่อดีตหรืออนาคต เซนสอนว่า ชีวิตต้องยึดขณะปัจจุบัน โดยการอยู่กับปัจจุบัน คุณต้องสัมพันธ์กับตนเอง และสิ่งแวดล้อมอย่างเต็มที่ ต้องไม่ทำให้พลังของคุณกระจายไป ต้องพร้อมเสมอในปัจจุบัน ไม่มีความเสียใจต่ออดีต โดยการคิดถึงแต่อนาคต ก็ทำให้ปัจจุบันเบาบางลง เวลาที่จะดำรงอยู่คือ "เดี๋ยวนี้"
- อาจารย์หาน


ล่องลอยไปตามกระแส ไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้น จงปล่อยให้จิตใจเป็นอิสระอยู่ ด้วยความเป็นกลาง ด้วยการรับรู้สิ่งที่กระทำอยู่นั้น นี่เป็นสิ่งสูงสุด
- จวงจือ


จิตใจไม่ควรอยู่ที่ใดเป็นการเฉพาะ
- ต้ากวน


เวลาทำอะไร ทำให้ดี ขอให้ทำให้ไม่มีที่ติ ทำให้สุดความสามารถของคุณ แม้ว่าผู้เชี่ยวชาญที่สุดด้านศิลปการต่อสู้ จะใช้เวลาหลายปีเรียนรู้เทคนิค และการเคลื่อนไหว นับร้อยท่าจนชำนาญ แต่ในยกหนึ่งๆ แชมป์จะใช้เทคนิคสี่หรือห้าอย่างซ้ำแล้วซ้ำอีก เทคนิคเหล่านี้ เป็นเทคนิคที่เขาทำได้ดีเลิศ ไม่มีที่ติ ทั้งเขารู้ว่า เขาพึ่งเทคนิคเหล่านั้นได้

หยุดเปรียบเทียบตัวเองตอนสี่สิบห้ากับยี่สิบหรือสามสิบ อดีตเป็นมายา คุณต้องเรียนรู้ที่จะมีชีวิตอยู่ในปัจจุบัน และยอมรับว่า ตัวเองเป็นอะไรตอนนี้ สิ่งที่คุณขาด คือความยืดหยุ่น กับความปราดเปรียว ที่คุณต้องสร้างเสริมขึ้นมาด้วยความรู้ และการฝึกหัดอย่างคงเส้นคงวา
- บรุซ ลี




ปริศนาเซน และการสอน โดยการไม่สอน ไม่พูด

ถ้าท่านอ่านมาถึงตรงนี้ เกิดปัญหาขัดแย้งมากมาย นั่นเพราะท่านไปติด อยู่กับสมมติของภาษา ติดอยู่กับสิ่งที่รู้อยู่ก่อน มองไม่ออกถึงแก่น ของสิ่งที่เป็นจริง “การรู้ของจริง กับการจำของจริงมาพูด ” มันเป็นคนละเรื่องกัน ของจริงจะต้องรู้อย่างเดียวกัน (ของจริงในที่นี้คือ สภาวะ) แต่อาจอธิบายด้วยสำนวนภาษาที่ต่างกัน ผู้มีปัญญาเท่านั้นจึงจะเข้าใจกันได้


ผู้รู้ใช้ภาษาสมมติ แบบไม่แยแส เป็นตัวของตัวเอง เพราะรู้แจ้งเห็นจริงด้วยตัวเอง มิได้จำคำที่ไหนมาพูด เมื่อจะสอนใครจึงรู้ถึงข้อจำกัด และ ความสามารถของสมมติภาษา จะสร้างความสับสนทางการตีความมากกว่า จะเกิดประโยชน์ในการปฏิบัต

ปริศนาธรรมของเซน ไม่ได้ให้มีไว้หาคำตอบเป็นสำคัญ แต่มีไว้สำหรับช่วงท้ายที่สุดในการตระหนักรู้ ว่าทำไม คนสอนถึงให้ปัญหานี้มา เพราะ ณ. จุดนั้น ผู้เรียนจะเข้าใจว่า อะไรคือ ต้นเหตุของความทุกข์ทั้งปวง

ปริศนาธรรมมีไว้เพื่อเปลี่ยนคนให้เป็น โสดาบัน ด้วยตัวของตัวเองเท่านั้น ไม่ได้มีไว้เพื่อทำผู้ขบคิดให้เป็น อรหันต์ แต่หลังจากเป็นโสดาบันแล้ว จะพอมองออกเองว่า จะเดินไปจนสุดทางทำได้เช่นไร เมื่อนั้นปริศนาธรรมก็จะทำหน้าที่ต่อคนๆนั้นโดยสมบูรณ์ 
 




บทเพลงแห่งเซน

"การมีอยู่" ไม่ใช่ "การมีอยู่"
"การไม่มีอยู่" ไม่ใช่ "การไม่มีอยู่"
หากพลาดจากกฏนี้ไปแม้เพียงเท่าเส้นผม
จุดหมายก็จะอยู่ห่างไกลถึงพันไมล์
เมื่อลืมตาตื่นขึ้นสู่ความเป็นจริง
ความดีที่เป็นรูปแบบใดๆย่อมไม่ปรากฏ
บุญกุศลที่ทำด้วยความยึดมั่น
ย่อมนำความเพลิดเพลินยินดีมาให้
แต่ก็เหมือนกับการยิงลูกศรขึ้นไปในอากาศ
เมื่อหมดแรงมันก็ตกลงมาที่พื้นอีก
จงทำงานตามลำพังเสมอ
จงเดินตามลำพังเสมอ
ศากยบุตรล้วนยากจนทางกาย
แต่ไม่ยากจนในวิถีทางแห่งเซน
เขาสวมเสื้อผ้าที่เก่าขาดเสมอ
แต่ย่อมแฝงเพชรอันมีค่ามิได้อยู่ภายใน
แม้ว่าจะใช้มันอย่างอิสระเพื่อช่วยผู้คนที่ผ่านพบ
ย่อมไม่มีทางที่จะใช้ได้หมดสิ้น
เมื่อไม่เข้าใจความหมายอันล้ำลึกของสรรพสิ่ง
สันติสุขแท้จริงของจิตใจก็ถูกรบกวนไม่ให้มีอยู่
การเปิดใจรับผัสสะและความคิดอย่างเต็มที่
ด้วยดวงจิตที่ตระหนักรู้ เป็นสิ่งเดียวกับธรรมชาติเดิมแท้.
หมายเลขบันทึก: 159235เขียนเมื่อ 14 มกราคม 2008 20:16 น. ()แก้ไขเมื่อ 22 มิถุนายน 2012 16:46 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (35)

พวกเซน มีปรัชญาชีวิตอย่างไร จึงใช้ชีวิตท้าทายโลก ท้าทายสังคม และท้าทายกฎระเบียบพิธีรีตองต่างๆ ทางศาสนาได้อย่างไม่ยี่หระอะไรเลย

บทความ "ปล่อยวางอย่างเซน" นี้จะเสนอปรัชญาชีวิตของเซนในรูปของบทความง่ายๆ อ่านสนุก จบเป็นตอนๆ ในตัวเอง โดยนำเอานิทานเซนและประวัติตลอดจนประสบการณ์ของอาจารย์เซนทั้งหลายมาประมวลไว้ พร้อมให้อรรถาธิบายโดยย่อประกอบ อันจะช่วยให้ทุกๆ ท่านสามารถทราบสาระแห่งเซนได้ดีขึ้น และสามารถเข้าถึงเซนในจิตใจของตนได้ภายในเวลาอันรวดเร็ว

พอล เรพส์ ได้เขียนไว้ในคำนำหนังสือ "เนื้อหนังและกระดูกแห่งเซน" (Paul Reps, Zen Flesh, Zen Bones, Peguin Books 1982) ว่า

"อาจกล่าวได้ว่า เซน เป็นศิลปะในด้านใน เป็นประดิษฐกรรมของชาวตะวันออก ที่เริ่มรากฐานขึ้นในประเทศจีนโดยท่านโพธิธรรม ซึ่งเดินทางจากประเทศอินเดียไปถึงประเทศจีน ในคริสต์ศตวรรษที่ 6 และต่อมาก็ได้เผยแผ่ออกไปยังทิศตะวันออก ไปสู่ประเทศญี่ปุ่น ในราวคริสต์ศตวรรษที่ 12 ทั้งนี้ โดยมีอัตลักษณ์ว่า "การส่งมอบหรือการถ่ายทอดชนิดพิเศษนอกพระสูตร, ไม่พึ่งพิงอยู่บนคำพูดและตัวอักษร ชี้ตรงไปยังจิตของบุคคล, ให้เห็นธรรมชาติเดิมแท้ของตนโดยตรง, และบรรลุเป็นพุทธะ.

ในประเทศจีน คำว่า เซน นี้จะถูกเรียกว่า ฌาน และฌานาจารย์หรือคณาจารย์เซนทั้งหลายนั้น แทนที่จะวางตัวเองในฐานะของศิษย์หรือสาวกแห่งพระพุทธะ กลับปรารถนาที่จะเป็นเพื่อนของพระองค์ คือมองว่าพระพุทธะเป็นเพื่อนผู้แสวงหาทางรอดด้วยกัน และยังกำหนดความสัมพันธ์ของท่านเหล่านั้นเองที่มีต่อจักรวาลนี้ ให้มีลักษณะเฉกเช่นพระพุทธะ และพระเยซูด้วย เหตุนั้น เซนจึงไม่ใช่นิกายแต่จะหมายถึงประสบการณ์ในการเข้าถึงธรรมเท่านั้น

ลักษณะนิสัยของเซนในการแสวงหาตัวเอง โดยใช้สมาธิภาวนา เพื่อที่จะประจักษ์ได้ถึงธรรมชาติแท้ของบุคคลนั้น ประกอบกับการไม่สนใจต่อพิธีรีตองต่างๆ นานา รวมทั้งย้ำที่จะควบคุมตัวเองให้ได้ เป็นนายตัวเองให้ได้ และเน้นการใช้ชีวิตอย่างง่ายๆ เช่นนี้ ในที่สุดทำให้ได้รับความเลื่อมใสศรัทธาจากชนชั้นขุนนาง และชนชั้นปกครองในประเทศญี่ปุ่นเป็นอย่างมาก รวมทั้งได้รับความคารวะอย่างลึกซึ้ง จากนักศึกษา ปรัชญาทุกระดับชั้นในโลกซีกตะวันออก

กล่าวกันว่า ถ้าคุณมีเซนในชีวิตของคุณ คุณจะไม่มีความกลัว จะไม่มีความสงสัยอะไรในชีวิต จะไม่มีความละโมบ จะไม่มีอารมณ์อันปั่นป่วนรุนแรงชนิดเหวี่ยงไปสุดขั้ว (ดีใจสุด-เสียใจสุด เป็นต้น) และจะไม่มีอะไรมารบกวนคุณได้ ไม่ว่าจะเป็นการกระทำอันเห็นแก่ตัว หรือทัศนคติที่จำกัดเสรีใดๆ ก็ตาม คุณจะรับใช้มนุษยชาติอย่างสุภาพถ่อมตน และทำให้การมีชีวิตอยู่บนดลกนี้มีคุณค่าขึ้น ด้วยการเมตตาต่อทุกคน รวมทั้งให้ชีวิตของคุณล่วงผ่านไปดุจกลีบดอกไม้ที่ร่วงหล่นลงไป จากดอกของมันด้วย ชีวิตจะมีแต่ความปลอดโปร่ง คุณจะเบิกบานกับชีวิตที่สงบอย่างล้ำลึก และนั่นเป็นสปิริต หรือวิญญาณของเซน ซึ่งมีเครื่องประดับเป็นวัดนับพันในประเทศจีน และประเทศญี่ปุ่น เป็นพระภิกษุและสามเณร เป็นทั้งความมั่งคั่งและเกียรติคุณ รวมไปถึงความเป็นพิธีรีตองต่างๆ ซึ่งมันจะข้ามไปให้พ้นด้วย

"การศึกษาเซน หรือการเบ่งบานขึ้นซึ่งธรรมชาติแท้ของบุคคลคนหนึ่งๆ นั้น ไม่ได้เป็นเรื่องง่ายๆ ไม่ว่าในยุคในสมัยใด และบรรดาครูทั้งหลายทั้งที่แท้และที่เท็จ ที่ถูกและผิดต่างก็มีเจตจำนองที่จะช่วยเหลือศิษย์ทั้งหลาย ให้บรรลุถึงซึ่งที่หมายด้วยกันทั้งสิ้น และจากการผจญภัยในเซนมากมายหลายครั้ง สุดจะนับได้ตั้งแต่อดีตสมัยก็ก่อให้เกิดเป็นบันทึกประสบการณ์และนิทานเซนขึ้นมา เป็นเครื่องส่องทางแห่งเซน ดังที่ท่านจะได้อ่านต่อไปนี้ ขอให้ท่านผู้อ่านจงได้โปรดประจักษ์และระลึกถึงมันให้ได้ ในประสบการณ์ในชีวิตประจำวันของท่านในปัจจุบันสมัยนี้"

เซน คือ...

"อย่ายึดเอาข้อสรุปใดเป็นคำตอบ"

เซน คือ อะไร? สงสัยกันมาก สงสัยกันมานาน อ่านมาก็มาก ฟังมาก็มาก แต่เล้วเซน คืออะไร?

จะศึกษาเซนจากประวัติศาสตร์ จากรากศัพท์ นั่นก็ไม่ใช่เซน เซนคือปรัชญาหรือ? ก็ไม่ใช่อีก ถ้าจะให้เรียกเห็นจะเรียกว่าเซนคือธรรมนั่นแหละ พอฟังได้หน่อย เข้าถึงเซน คือเข้าถึงธรรม แล้วขยายความต่อไปว่าธรรมนี้รวมทุกสิ่ง ทั้งนิพพาน ฯลฯ อะไรก็ตามใจ

สิ่งที่พวกเซนเขามุ่งหมายกันนั้นไม่ใช่เรื่องธรรมดาทั่วๆ ไปที่บางคนเข้าใจ เพราะพวกเขาไม่สนใจเรื่องนรก-สวรรค์อะไรเลย แม้ว่าจะจัดว่าเป็นฝักใฝ่ทางศาสนาก็ตาม หากแต่เขามุ่งไปให้ไกลกว่านั้นมากนัก คือ เน้นไปที่ความหลุดพ้น การตรัสรู้ วิมุตติ การบรรลุธรรม ซึ่งดูให้ดี จะเห็นความแตกต่างไปจากแนวคติมหายานโดยทั่วไป ที่มักจะพากันเน้นที่การมุ่งเนำสรรพสัตว์ทั้งหลายให้ข้ามพ้นวัฏสงสารให้ได้ก่อน แล้วตัวเองจึงค่อยบรรลุธรรม ดังนั้น ในแง่หนึ่ง เซน จึงคล้ายคลึกกับทางเถรวาทมาก และในข้อวัตรปฏิบัติบางประการ เซนก็ดูๆ ไปจะละม้ายกับเถรวาทสำนักวัดป่าที่เน้นวิปัสสนา เป็นอย่างมากเช่นกัน

ท่านโตสุยเป็นอาจารย์เซนผู้หนึ่ง ซึ่งได้ละทิ้งแบบแผนการใช้ชีวิตในวัดออกไปอาศัยอยู่ร่วมกับคนขอทานทั้งหลายใต้สะพานแห่งหนึ่ง เมื่อท่านชราภาพมากขึ้น เพื่อนของท่านคนหนึ่งก็ช่วยขอทานอาหารมาให้ท่านใช้ยังชีพ และแสดงให้ท่านเห็นถึงวิธีการรวบรวมเอาข้าวมาทำเป็นน้ำส้ม (ไว้รับประทาน) และท่านโตสุยก็ทำเช่นนี้ไปจนสิ้งอายุขัยของท่าน

ในขณะที่ท่านโตสุยกำลังทำน้ำส้มอยู่นั้น คนขอทานคนหนึ่งก็นำเอารูปของพระพุทธเจ้ามาให้ท่านใบหนึ่ง (รูปพระพุทธเจ้าอมิตาภะซึ่งฝ่ายมหายานถือว่า พระพุทธเจ้าองค์นี้อยู่ในสวรรค์ คอยช่วยเหลือมนุษย์ที่ท่องบนพระนามของพระองค์บ่อยๆ ให้ได้ขึ้นสวรรค์และจักได้นิพพานในเมืองสวรรค์นั้น) ท่านโตสุยได้แขวนภาพนั้นไว้ข้างฝาผนังกระท่อมของท่าน และเขียนไว้ที่ข้างๆ ภาพว่า

"นายอมิตาภะ พุทธะ ห้องนี้ค่อยข้างแคบอยู่สักหน่อย ฉันยังคงปล่อยให้ท่านเป็นสิ่งที่ไม่จีรังอยู่ต่อไปอีกได้ แต่อย่าได้คิดว่าฉันจะขอร้องให้ท่านช่วยเหลือให้ฉันได้ไปเกิดในสวรรค์ของท่านเลย"

สิ่งที่พวกเซนเน้นมากก็เช่นเดียวกับคำสอนพุทธศาสนาสายอื่นๆ โดยทั่วๆ ไป คือเรื่องอนิจจัง เรื่องอนัตตา ความไม่ใช่ตัวไม่ใช่ตน ความว่าง ฯลฯ

ก่อนที่ท่านนินากาวะจะจากไป (ตาย) อาจารย์เซนที่ชื่ออิ๊กคิวได้แวะมาเยี่ยม "จะให้ผมนำทางให้ไหม?" อิ๊กคิวถาม
นินากาวะตอบขึ้น "ฉันมาที่นี่แต่เพียงลำพังคนเดียว และฉันก็จะไปคนเดียว คุณจะช่วยอะไรฉันได้?"
อิ๊กคิวตอบว่า "ถ้าคุณคิดว่าคุณมาและไปจริงๆ แล้ว นั่นเป็นโมหะ (ความหลงผิด) ของท่านละ ขอให้ผมได้แสดงทางซึ่งไม่มีการมาและไม่มีการไปให้ท่านดูสักหน่อยเถิด"

ด้วยคำพูดเพียงเท่านั้น อิ๊กคิวก็ได้ช่วยเปิดเผยเส้นทาง (แห่งธรรม) ให้แก่นินากาวะเรียบร้อยแล้ว และนินากาวะก็ยิ้มแล้วจากไปอย่างสงบ

สุภูติ (สุ-ภู-ติ) เป็นศิษย์ของพระพุทธะรูปหนึ่งที่มีความสามารถเข้าใจในพลังอำนาจของความว่างได้เป็นอย่างดี ซึ่งมันก็เป็นแนวทัศนะที่ว่าไม่ได้มีอะไรปรากฏอยู่เลย นอกจากความสัมพันธ์ของอัตวิสัยและภาววิสัยเท่านั้น

วันหนึ่ง ท่านสุภูติได้นั่งอยู่ภายใต้ต้นไม้ต้นหนึ่ง ในอารมณ์แห่งความว่างอันสูงเลิศ และดอกไม้ก็ได้หล่นโปรยปรายลงมารอบๆ กายของท่าน "พวกเรากำลังสรรเสริญท่านในการที่ท่านเทศนาเรื่องความว่างให้แก่พวกเรา" ปวงเทพทั้งหลายกระซิบแก่ท่านดังนี้
"แต่อาตมาภาพยังไม่ได้พูดเรื่องความว่างอะไรเลย" ท่านสุภูติกล่าว
"ท่านไม่ได้พูดเรื่องความว่าง, และพวกเราก้ไม่ได้ยินเรื่องความว่าง" ปวงเทพกล่าวตอบ "นี่แหละเป็นความว่างที่แท้ละ" แล้วมวลดอกไม้ก็โปรยปรายลงมาที่ท่านสุภูติดุจดังสายฝน

เซน ตืออะไร ขอให้ขบกันต่อไป อย่ายึดเอาข้อสรุปใดเป็นคำตอบ จงแสวงหาไปอย่าหยุด จนกว่าจะพบ "เซน" เข้าด้วยตนเองอย่างตรงๆ

ปล่อยวางอย่างเซน

"ยึดมั่นคราใด เป็นทุกข์ครานั้น"

ความยึดมั่นถือมั่น เป็นโซ่ตรวนเส้นสำคัญที่ผูกพันพวกเราไว้ในวังวนแห่งวัฏสงสาร พระศาสดาเท่านั้นที่หักโซ่ตรวนเหล่านี้เสียได้ และพยายามสั่งสอนให้เราปฏิบัติตาม ทำลายโซ่ตรวนอันไร้สาระนี้เสีย

การเป็นผู้ประพฤติปฏิบัติอยู่ในศีลต่างกับผู้ที่ยึดมั่นในศีล การเป็นผู้ปฏิบัติดีต่างกับผู้ยึดมั่นในความดี ต้องแยกให้ออก มิฉะนั้นจะเป็นทุกข์โดยไม่จำเป็น (คนมีศีลไม่เป็นทุกข์ แต่คนยึดมั่นในศีลจะต้องเป็นทุกข์เดือดร้อนใจอยู่เสมอในเรื่องที่เกี่ยวกับศีล ฯลฯ) ยึดมั่นคราใด เป็นทุกข์ครานั้น

ท่านเว่ยหล่างหรือฮุยเหน็ง พระสังฆปรินายกแห่งเซนองค์ที่ 6 (สายจีน) ได้เน้นถึงความไม่ยึดมั่น ว่าเป็นเรื่องที่สำคัญมาก เป็นหัวใจของพุทธศาสนาอย่างหนึ่งทีเดียว การปฏิบัติทุกอย่างต้องมาลงที่ความไม่ยึดมั่นถือมั่นสิ่งใดหรือเรื่องอะไรที่ปฏิบัติแล้วยิ่งทำให้เกิดยึดมั่นถือมั่นมากยิ่งขึ้นถือว่าผิด ไม่ยึดมั่น ในภาษาที่เราใช้กันโดยทั่วๆ ไปก็คือ "ปล่อยวาง" นั่นเอง ต้องรู้จักปล่อยวางเสียบ้างจะได้ไม่ทุกข์

พระลูกศิษย์อาจารย์ชา วัดหนองป่าพง รูปหนึ่ง ปล่อยให้หลังคากุฏิรั่ว ไม่ยอมซ่อมไม่ยอมอุดรูรั่วเสียที หน้าฝนก็ใกล้เข้ามาแล้ว ท่านอาจารย์ชาทราบเข้า ก็เดินไปหาถามว่าทำไม่ไม่ซ่อมหลังคาที่รั่วเสียที พระรูปนั้นตอบว่า "ผมไม่ยึดมั่น" ท่านอาจารย์ชากล่าวว่า "โธ่คุณ มันไม่ใช่อย่างนั้น" นี่เป็นเรื่องเข้าใจผิดต่อคำว่า "ไม่ยึดมั่นและปล่อยวาง" กรณีหนึ่ง (ที่จริงมีอีกหลายๆ กรณีทีเดียว)

ครั้งหนึ่งพระภิกษุทันซันและเอกิโด ร่วมเดินทางไปตามถนนซึ่งเป็นโคลนตมสายหนึ่ง ขณะนั้นฝนกำลังตกหนักจึงทำให้มีน้ำเจิ่งไปทั่วถนน เมื่อทั่งสององค์เดินมาถึงหัวโค้งถนน ก็พบหญิงสาวสวนคนหนึ่งแต่งกายด้วยเสื้อกิโมโนไหมที่มีสายคาดเป็นแพรเนื้อดี เธอไม่อาจเดินข้ามห้วงน้ำที่กำลังเจิ่งถนนตอนนั้นได้ (เพราะเกรงว่าเสื้ออันสวยงามของเธอจะเปียกเปื้อน) ทันใดนั้น พระภิกษุทันซันได้เดินเข้าไปหาหญิงสาวผู้นั้นและกล่าวว่า "มานี่ซิเธอ ฉันจะช่วย" ว่าแล้วก็อุ้มหญิงสาวบุกข้ามห้วงน้ำนั้นไป

พระภิกษุเอกิโด ได้มองดูการกระทำของเพื่อนร่วมทางอย่างเงียบๆ และมิได้ปริปากพูดอะไรขึ้นอีกเลย ทั้งสองรูปเดินทางต่อไปจนค่ำ และเข้าอาศัยพักอยู่ในวัดแห่งหนึ่ง เมื่อต่างองค์ได้จัดที่ทางเรียบร้อยแล้ว เอกิโดจึงได้กล่าวขึ้น ด้วยอดรนทนไม่ได้อีกต่อไปว่า "นี่แน่ะท่าน ในฐานะที่เราเป็นสมณะ ไม่ควรบังอาจเข้าไปใกล้สตรี โดยเฉพาะอย่างยิ่งสตรีที่สาวและสวย เพราะมันเป็นอันตรายต่อพรหมจรรย์อย่างร้ายกาจ เมื่อกลางวันนี้ทำไมท่านจึงเข้าไปอุ้มหญิงสาวผู้นั้น" "ผมวางเธอไว้ที่นั่นตั้งแต่กลางวันนั้นแล้ว" พระภิกษุทันซันตอบ "ท่านยังอุ้มเธออยู่อีกหรือ"

ไหวพริบ - สิ่งอันเป็นที่ต้องการในทุกกรณี

"เราต้องไม่เข้าจัดการกับปัญหาต่างๆ ด้วยอารมณ์"


ในการเผชิญปัญหา ไม่ว่าปัญหาใดๆ การเดินหน้าเข้าใส่อย่างตรงๆ บางทีนอกจากไม่ได้ผลแล้วยังต้องเจ็บตัวฟรีอีกด้วย ในบางกรณีหรือส่วนมากแล้ว การใช้ไหวพริบเข้าจัดการอย่างมียุทธวิธีที่ดี จะอำนวยผลเป็นที่น่าพอใจเสมอๆ แต่ที่แน่ๆ เราต้องไม่เข้าจัดการกับปัญหาต่างๆ ด้วยอารมณ์ ด้วยอำนาจของโทสะ ต้องละมุนละม่อมและแยบคาย ดังประสบการณ์ของของอาจารย์บังเกอิเป็นตัวอย่างที่ตัวอย่างหนึ่ง

การเทศนาของอาจารย์บังเกอิมีผู้เข้ามาฟังมากมาย ไม่เฉพาะแต่นักศึกษาเซนเท่านั้น หากแต่มีผู้ฟังมาจากทุกระดับชั้นยศและทุกนิกาย ท่านไม่เคยยกเอาข้อความในพระสูตรมาอ้าง อีกทั้งไม่ยอมถกเถียงเชิงวิชาการอะไรกับใครด้วย ตรงกันข้าม ถ้อยคำของท่านพูดออกมาตรงๆ จากใจของท่านสู่ใจของผู้ฟังทั้งหลายโดยตรง

การที่อาจารย์บังเกอิมีผู้มาฟังมากๆ เช่นนี้ ทำให้พระนิกายนิชิเรนโกรธมาก เพราะบรรดาโยมอุปัฏฐากเขาได้หนีมาฟังคำสอนเซนกันหมด พระนิชิเรนผู้สำคัญตน (คิดถึงแต่ตนเอง เอาตัวเองเป็นศูนย์กลาง จึงได้มาที่วัดของอาจารย์บังเกอิ ตั้งใจจะมาโต้วาทะกับอาจารย์บังเกอิให้จงได้

"เฮ้ อาจารย์เซน! เขาตะโกนเรียก "รอเดี๋ยว คนที่เขาเลื่อมใสแกเขาจะเชื่อฟังแกทุกอย่าง แต่คนอย่างฉันไม่เลื่อมใสแกเลย แกจะทำให้ฉันเชื่อฟังแกได้ไหม?"
"เข้ามาที่ข้างๆ ฉันซิ แล้วฉันจะแสดงให้ท่านดู" อาจารย์บังเกอิกล่าวขึ้น" พระรูปนั้นก้าวเดินผ่านฝูงชนอย่างกระหยิ่มใจ เข้ามายืนข้างๆ ท่านอาจารย์บังเกอิ อาจารย์บังเกอิยิ้มแล้วพูดขึ้น "เข้ามายืนทางข้างของฉันซิ" พระรูปนั้นก็ปฏิบัติตาม
"ไม่เอา" อาจารย์บังเกอิกล่าวขึ้น "เราจะพูดคุยกันได้ดีกว่านี้ถ้าท่านอยู่ที่ด้านขวามือของฉัน ก้าวมายืนที่นี่ดีกว่า"
พระรูปนั้นก้าวเดินอ้อมมายืนที่ด้านขวามือของท่านอาจารย์อย่างกระหยิ่มใจ "ท่านเห็นแล้วใช่ไหม" อาจารย์บังเกอิกล่าวสรุป "ท่านเชื่อฟังฉัน และฉันก็คิดว่าท่านเป็นคนสุภาพมากคนหนึ่ง เอาละ ทีนี้นั่งลงฟังฉันได้แล้ว"

การปฏิบัติธรรมก็เหมือนกับการทำงานอื่นๆ โดยทั่วๆ ไปนั่นแหละ เวลาใดที่ใจเราตกลงเราก็ต้อง "ยก" ใจของเราขึ้นมาบ้าง และเวลาใดที่ใจเราฟุ้งซ่านมากเกินไป เราก็ต้องรู้จักข่มมันลงไปเสียบ้าง ท้งนี้ต้องด้วย "ไหวพริบ" เท่านั้น

เซนผู้ไม่หวั่นไหว

"พวกเซนก็เป็นอีกพวกหนึ่งที่ไม่กลัวความตาย"

ความตาย ใครๆ ก็กลัว หากไม่บ้าบิ่นหรือเลือดเข้าตา คนธรรมดาโดยทั่วๆ ไปต้องกลัวตาย… ที่จริงไม่ใช่กลัวตาย หากแต่เป็น "รักที่จะมีชีวิตอยู่" มากกว่า

ชาวพุทธที่แท้ไม่กลัวตาย เขาไม่ได้รักชีวิต เพราะรู้ว่าชีวิตและความตายเป็นเพียงธรรมชาติธรรมดาของโลกเท่านั้น และเขาหมดเยื่อใยต่อโลกเสียแล้ว

ไม่ได้เสพติด "รส" ของการมีชีวิตอยู่อีกต่อไปแล้ว พวกเซนก็เป็นอีกพวกหนึ่งที่ไม่กล้วความตาย หากจะตายขอตายอย่างมีสติรู้ตัว เผชิญหน้ากับความตายอย่างสงบๆ ไม่ต้องเรื่องมากวุ่นวายจนตายไปอย่างไร้สติดุจเช่นวัฒนธรรมการตายของคนสมัยใหม่ในปัจจุบัน

วัฒนธรรมของชาวพุทธ ก่อนตายจะรำลึกถึงพระพุทธคุณ สั่งสอนลูกหลายเป็นวาระสุดท้ายถึงเรื่องราวของชีวิต การทำบุญทำทาน การปล่อยวาง และดับไปอย่างสงบอย่างมีสติรู้ตัวตลอดเวลา เป็นการเผชิญความตายอย่างกล้าหาญยิ่งใหญ่เพียงใดลองคิดดู

อาจารย์เซนชื่อโฮชิน ได้อาศัยอยู่ในประเทศจีนนานนับปี ต่อมา ท่านได้กลับมายังภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศญี่ปุ่น มาสั่งสอนสานุศิษย์อยู่ที่นั่น เมื่อท่านชราภาพมากแล้วท่านได้เล่าถึงเรื่องราวเรื่องหนึ่งที่เกิดขึ้นในประเทศจีน ที่ท่านได้ยินได้ฟังมา ให้แก่บรรดาสานุศิษย์ทั้งหลายได้ฟัง เรื่องมีอยู่ว่า

ในวันที่ 25 เดือนธันวาคมในปีหนึ่ง อาจารย์โตกุฟุ ผู้ชราภาพมากแล้วได้กล่าวแก่สานุศิษย์ของท่านว่า "ฉันจะไม่อยู่ไปถึงปีหน้า ดังนั้น พวกเธอทั้งหลายจงปฏิบัติต่อฉันในปีนี้ให้ดีๆ หน่อย" พวกลูกศิษย์พากันคิดว่าท่านพูดตลกหรือล้อเล่น แต่เพราะท่านเป็นครูผู้มีจิตใจอันยิ่งใหญ่ บรรดาลูกศิษย์แต่ละคนจึงผลัดเปลี่ยนกันเข้ามาหาปฏิบัติรับใช้เลี้ยงดูท่านในวันต่อๆ มาของปีนั้น ในวันก่อนขึ้นปีใหม่ 1 วัน ท่านไดกุฟุได้กล่าวสรุปว่า "พวกเธอดีต่อฉันมาก ฉันจะจากพวกเธอไปในวันพรุ่งนี้แล้ว ในตอนบ่าย เมื่อหิมะได้หยุดแล้ว" พวกลูกศิษย์พากันหัวเราะ คิดกันไปว่าท่านอาจารย์แก่แล้วชอบพูดอะไรที่เหลวไหล เพราะว่าคืนนั้นอากาศแจ่มใสและปราศจากหิมะสิ้นเชิง แต่แล้วพอเที่ยงคืนหิมะก็เริ่มตกลงมา และในวันรุ่งขึ้น พวกเขาก็ไม่พบครูของพวกเขาเสียแล้ว พวกเขาพากันค้นหาไปจนถึงหอสมาธิ ที่นั่นท่านอาจารย์ของพวกเขานั่งสมาธิจากไปอย่างสงบ อาจารย์โฮชินผู้เล่าเรื่องนี้ได้บอกกับลูกศิษย์ทั้งหลายว่า "ไม่จำเป็นที่อาจารย์เซนจะต้องทำนายถึงการจากไปของท่าน แต่หากท่านปรารถนาที่จะทำเช่นนั้นท่านก็สามารถกระทำได้" "แล้วท่านละ ทำได้ไหม?" ลูกศิษย์คนหนึ่งถามขึ้น "ได้" ท่านอาจารย์โฮชินตอบ "ฉันจะแสดงให้พวกเธอดูถึงสิ่งที่ฉันสามารถกระทำได้ 7 วันนับแต่นี้ไป" ไม่มีลูกศิษย์คนใดเชื่อท่านเลย และพวกเขาทั้งหมดต่างก็พากันลืมคำพูดของอาจารย์ไปเสียสิ้น เมื่ออาจารย์โฮชินได้เรียกประชุมครั้งใหม่ "เมื่อ 7 วันที่แล้ว" ท่านกล่าวขึ้น "ฉันพูดว่าฉันจะจากพวกเธอไปแล้ว และมันเป็นธรรมเนียมที่จะต้องเขียนบทกวีอำลาขึ้น 1 บทด้วย แต่ฉันก็ไม่ได้เป็นทั้งกวีและไม่ได้เป็นทั้งนักเขียนลายสืออักษรงามด้วย พวกเธอคนหนึ่งจงมาช่วยจารึกคำสุดท้ายของฉันหน่อยเถิด" สานุศิษย์ของท่านพากันคิดว่าท่านกำลังล้อเล่น แต่มีคนหนึ่งเตรียมพร้อมเขียน "เธอพร้อมหรือยัง?" อาจารย์โฮชินถาม "พร้อมแล้วครับ ท่าน" ศิษย์ผู้นั้นตอบ ท่านอาจารย์โฮชินจึงบอกให้เขียนดังนี้ ฉันมาจากความสุกใส และกลับสู่ความสุกใส. นี่มันคืออะไร? บทกวียังขาดอยู่อีก 1 บรรทัด จากธรรมเนียมการเขียนซึ่งจะต้องมี 4 บรรทัด ดังนั้น ลูกศิษย์ผู้ทำหน้าที่เขียนตามคำบอกจึงพูดขึ้นว่า "อาจารย์ครับ เรายังขาดอยู่อีก 1 บรรทัดครับ" ท่านอาจารย์โฮชินตะโกนขึ้นด้วยเสียงอันดังกึกก้องดุจสิงโต (ราชสีห์) ผู้มีชัยว่า "ก้า!" แล้วก็ดับลง (สิ้นลม, ตาย)

คำว่า "ก้า" นี้เป็นคำที่อาจารย์รินชาย นิยมใช้เป็นเครื่องมือปลุกจิตสำนึกของลูกศิษย์ให้ตื่นขึ้นเสมอๆ เช่น พระนั่งสัปหงกขณะอยู่ในชั่วโมงปฏิบัติสมาธิภาวนาจะถูกพระหัวหน้าผู้ควบคุมการฝึกเข้ามาตะโกน "ก้า" กรอกหูปลุกให้ตื่นเสมอๆ (รินชาย เป็นอาจารย์เซนชาวญี่ปุ่นผู้นำเซนสาขาฮวงโป มาสู่ประเทศญี่ปุ่นคนแรก และเซนสายนี้ ต่อมาเรียกกันว่า "รินชายเซน") อาจารย์แต่ละท่านจะมีวิธีการต่างๆ กันไปเป็นพิเศษเฉพาะตัว เช่น อาจารย์โตกุซัน หากมีลูกศิษย์มาถามปัญหาฟุ้งซ่านไร้สาระท่านจะ "หวด 30 ที"

เคร่ง - ไม่เคร่ง

"ชีวิตที่มีค่าดูได้ที่เนื้อหาสาระ ไม่ใช่ดูที่รูปแบบอันสวยหรู"

รูปแบบและเนื้อหา เป็นสิ่งที่พวกเราจะต้องคอยสังเกตอยู่ตลอดเวลา ในบางครั้งรูปแบบสวยหรูแต่ไม่มีเนื้อหาสาระเลย และบางครั้งรูปแบบไม่งดงาม หากแต่เต็มไปด้วยสาระ

ในสังคมที่มีคนหมู่มาก รูปแบบยังเป็นสิ่งที่ใช้ได้ดีอยู่เสมอดังที่ขงจื้อได้เน้นเรื่องพิธีรีตรองต่างๆ มากมาย ทั้งนี้ก็เพื่อจะดึงดูดใจของมหาชนเอาไว้ให้ได้ แต่ในเรื่องของปัจเจกบุคคลอย่างเราๆ ท่านๆ แต่ละคนแล้ว เรื่องเนื้อหาดูจะเป็นสิ่งที่สำคัญกว่ารูปแบบที่งดงามมากนัก

ชีวิตที่มีค่าดูได้ที่เนื้อหาสาระของชีวิตนั้น ไม่ได้ดูที่รูปแบบอันสวยหรูของชีวิตนั้น รูปแบบโก้หรูแต่ที่จริงยากจน รูปแบบใหญ่โตน่านับถือ แต่เนื้อหาคือนักคอรัปชั่นชั้นเลว หรือรูปแบบเชยๆ เปิ่นๆ แต่เต็มไปด้วยความจริงใจสุจริต ฯลฯ กรณีมือถือสากปากถือศีล ก็เป็นเรื่องของรูปแบบและเนื้อหาเช่นกัน หรือหน้าซื่อใจคด ก็เช่นกัน

วิถีดำเนินชีวิตของเราอาจจะไม่หรู ไม่ทันสมัยกับชาวบ้านเขา ล้าหลังกว่าแฟชั่นเขา ฯลฯ แต่ต้องเป็นวิถีชีวิตที่มั่นคง สุขสงบ ไม่ฟุ้งซ่าน ไม่ตกเป็นทาสของกิเลสตัณหา ไม่เป็นเหยื่อให้นักการค้าหรือนักโฆษณาบ้าเลือดที่มอมเมาผู้คนโดยแสวงกำไรสูงสุด

ในทางธรรม เมื่อเลิกอบายมุขแล้ว อย่าได้ไปดูถูกพวกที่ยังเลิกไม่ได้ว่าไม่ใช่คน เข้าวัดเข้าวาแล้วออกมาต้องสุขุม สงบ ใจเย็น มีแต่ความเอื้อเฟื้อและเมตตาต่อทุกๆ คน ทั้งมิตรและศัตรู ไม่ใช่ออกมาแล้วก็เหมือนเดิม อย่าเอาแต่รูปแบบว่าเข้าวัด นั่งฟังธรรม นั่งสมาธิ แต่เนื้อในแล้วใจคอเหี้ยมโหด ไม่ให้อภัยเพื่อนมนุษย์

ในเมืองโตเกียว ในสมัยเมจิ มีครูผู้มีชื่อเสียงโดดเด่น 2 คน ซึ่งมีลักษณะอุปนิสัยแตกต่างกันอย่างตรงกันข้ามทีเดียว คนหนึ่งชื่อ ฮุนโซ เป็นครูผู้สอนอยู่ในชิงงอน เป็นคนที่รักษาศีลตามคำสอนของพระพุทธะอย่างเคร่งครัด เขาไม่เคยดื่มของเมาเลย และไม่รับประทานอาหารหลัง 5 โมงเช้าไปแล้วด้วย ส่วนอีกคนหนึ่งชื่อตันซัน เป็นศาสตราจารย์วิชาปรัชญาที่มหาวิทยาลัยแห่งพระจักรพรรดิ ไม่เคยถือศีลเลย เมื่อเขารู้สึกอยากรับประทานอาหาร เขาก็รับประทานอาหาร และเมื่อเขารู้สึกอยากนอนในเวลากลางวัน เขาก็เข้านอน

วันหนึ่งอุนโชได้เยี่ยมตันซันผู้ซึ่งขณะนั้นกำลังดื่มเหล้าองุ่นอยู่ เครื่องดื่มชนิดนี้ไม่เป็นที่ต้องการให้แตะลิ้นของชาวพุทธเลยแม้แต่หยดเดียว

"สวัสดี พี่ชาย" ตันซันกล่าวทักทาย "จะไม่ดื่มสักถ้วยหนึ่งหรือ?"
"ฉันไม่ดื่มมันเลย!" อุนโชกล่าวตอบอย่างเคร่งขรึม
"คนที่ไม่ดื่มมันนั้นไม่ใช่คน" ตันซันกล่าวขึ้น
"คุณตัดสินว่าฉันไม่ใช่คน เพียงเพราะฉันไม่เสพน้ำเมาเท่านั้นรึ!" อุนโชกล่าวอุทานขึ้นด้วยความโกรธ "ก็ถ้าฉันไม่ใช่คนแล้วฉันเป็นอะไร?"
"เป็นพระพุทธะองค์หนึ่ง" ตันซันกล่าวตอบ

คนที่ไม่ถือศีลคงจะสู้คนที่ถือศีลไม่ได้ แต่คนถือศีลเยี่ยงอุนโชนี้ เห็นทีจะมีแต่รูปแบบ สู้ตันซันไม่ได้ เพราะตันซันยังใช้ชีวิตเป็นธรรมชาติมากกว่า ผู้รุปบอกว่า ที่จริงตันซันไม่ใช่นักเลงเหล้าอะไรดอก ที่ทำๆ ไปนั้นก็เพื่อจะสั่งสอนเพื่อนให้รู้รูปแบบและเนื้อหามากกว่า เพราะอย่างไรเสีย คนที่ไม่มีศีลก็จะสู้คนที่มีศีลมีธรรมไม่ได้

เปิดใจให้กว้างเอาไว้

"ปัญหาของสังคมและของปัจเจกบุคคลจะลดลงได้มา หากแต่ละคนเปิดใจให้กว้างไว้"

สังคมเจริญขึ้น เทคโนโลยีก้าวหน้าขึ้น โลกที่เราอาศัยอยู่ดูจะเล้กลง แต่โลกแห่งการรับรู้ของเรากว้างขึ้น ทุกๆ วัน เราจะได้ยินได้ฟังได้พบได้เห็นอะไรๆ แปลกๆ ใหม่ๆ มากยิ่งขึ้นทุกทีๆ ถ้าเราไม่เปิดใจให้กว้างเอาไว้ ความขัดแย้งจะต้องเกิดมีขึ้นอย่างแน่นอน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ถ้าสิ่งที่เราได้พบได้เห็นนั้นเกิดมาขัดกับทิฐิ หรือทฤษฎี หรือความคิด ความเชื่อของเราที่มีอยู่ก่อนนั้นเข้า

ยิ่งเทคโนโลยีก้าวไกลเท่าใด เราก็ต้องยิ่งเปิดใจให้กว้างมากยิ่งขึ้นเท่านั้น เพราะมนุษย์จะมีความคิดความอ่านหลากหลายยิ่งขึ้นไปด้วยเช่นกัน

สิ่งอื่นนอกเหนือจากความรู้ความเข้าใจนอกเหนือจากที่เรารู้จัก อาจจะเป็นสิ่งที่ดี และถูกต้องยิ่งกว่าสิ่งที่เราได้เคยยึดถือเอาไว้ก็ได้ ไม่จำเป็นว่าของใหม่หรือคนอื่นจะผิดหมดแล้วของเราถูกอยู่แต่ผู้เดียว!

ปัญหาของสังคมและของปัจเจกบุคคลแต่ละคนจะลดลงได้มาก หากแต่ละคนเปิดใจให้กว้างไว้ และเข้าใจสิ่งต่างๆ ตามที่มันเป็น ไม่เอาแต่ทิฐิของตนเองเป็นศูนย์กลาง

นักศึกษามหาวิทยาลัยผู้หนึ่งได้ไปเยี่ยมทานกาซัน และถามว่า "ท่านเคยอ่านพระคริสต์ธรรมคัมภีร์บ้างไหม?"
"ไม่เคยเลย อ่านให้ฉันฟังซิ" ท่านกาซันกล่าวตอบ
นักศึกษาผู้นั้นเปิดพระคัมภีร์ และอ่านจากท่อนของเซนต์แมทธิว "และทำไมท่านจึงคิดถึงเสื้อผ้า? จงคิดถึงต้นลิลลี่ในสนามซิ มันเติบโตขึ้นมาได้อย่างไร มันไม่ได้ทำงานอย่างหามรุ่งหามค่ำ อีกทั้งยังไม่ได้ปั่นฝ้ายอีกด้วย และกระนั้นข้าพเจ้าก็จะบอกแก่ท่านว่า แม้แต่กษัตริย์โซโลมอน ในระยะที่รุ่งเรืองเฟื่องฟูที่สุด ก็ยังไม่ได้รับการตกแต่งประดับประดางดงามเหมือนอย่างพวกมันเหล่านี้เหลย... เพราะฉะนั้นไม่ต้องไปคิดถึงวันพรุ่งนี้ เพราะวันพรุ่งนี้จะคิดถึงสิ่งต่างๆ ด้วยตัวของมันเอง"
กาซันกล่าวขึ้นว่า "ใครก็ตามที่เปล่งถ้อยคำเหล่านี้ออกมา ฉันคิดว่า เขาเป็นผู้ที่ตรัสรู้แล้วคนหนึ่งทีเดียว"
นักศึกษาผู้นั้นอ่านต่อไปอีก "จงร้องขอแล้วมันจะถูกนำมาให้ท่าน จงแสวงหาแล้วท่านจะพบ จงเคาะแล้ว(ประตู) จะเปิดให้ท่าน เพราะทุกๆ คนที่ร้องขอจะได้รับ และผุ้ที่แสวงหาจะได้พบ และสำหรับผู้ที่เคาะ (ประตู) มันก็จะเปิดออก"
กาซันกล่าวเสริมอีกว่า "นี่ยอดเยี่ยมมาก ใครก็ตามที่กล่าวเช่นนี้ ไม่ได้อยู่ไกลไปจากพุทธภาวะเลย"

ชีวิตประจำวันนั่นแหละคือเซน

"ชีวิตอย่าเซนก็คือชีวิตที่ธรรมดาๆ นั่นเอง"

พวกเรามีสัญชาตญาณอะไรบางอย่างที่ชอบสนใจเรื่องลึกลับๆ อะไรที่ดูง่ายๆ มักไม่ค่อยสนใจ เห็นไปว่าไร้ค่า ไม่น่านิยมยินดี พูดถึง "เซน " พวกเราก็มักนึกไปถึงอะไรบางอย่างที่ลึกลับๆ เข้าใจไม่ได้ พูดถึงการตรัสรู้ธรรม พวกเราก็นึกกันไปถึงอะไรบางอย่างที่เราจะได้รับมาจากการปฏิบัติท่าทางแปลกๆ รูปแบบพิสดารต่างๆ นานา และว่าเป็นสิ่งที่เร้นลับอย่างยิ่งยวด!

ถ้ามีใครมาบอกว่าชีวิตอย่างเซน ก็คือชีวิตที่ธรรมดาๆ นั่นเอง คิดว่าพวกเราไม่น้อยคงจะสงสัย และไม่ค่อยจะเชื่อ หรือบอกว่าการตรัสรู้มิใช่ว่ารู้สิ่งใดๆ หากแต่เป็นการรู้จักจิตของตนอย่างถ่องแท้นั่นเอง พวกเราก็ดูจะไม่สะใจ ต้องดูดกันด้วยศัพท์หรูๆ หรือใช้ถ้อยคำแปลกๆ ให้ฟังกันแล้วเวียนหัว จึงจะดูน่าศรัทธาน่าเลื่อมใสดี! เป็นกันเสียอย่างนั้น

มีคำคมจีนประโยคหนึ่งที่ว่า "สูงสุดคืนสู่สามัญ" หมายความว่า ในที่สุดความต่ำต้องนั่นแหละที่สูงส่งที่สุด ความหมายก็อยู่ในนัยเดียวกันกับที่เรากำลังพินิจพิจารณากันอยู่นี้

ชีวิตของเรามีอยู่ด้วยกัน 3 ขั้นตอน แบ่งอย่างง่ายๆ คือ ขั้นแรก เป็นชีวิตธรรมดาสามัญของพวกเราชาวบ้านทั่วๆ ไป ขั้นที่สอง เป็นขั้นที่ปลีกตัวแยกออกต่างหาก จากกลุ่มกลายเป็นพวกพิเศษออกไปอย่างโดดเด่น บางทีถึงกับเป็นปฏิปักษ์ต่อชีวิต ตามขั้นตอนแรกเสียด้วยซ้ำไป พอขั้นที่สาม ชีวิตจะเป็นไปในรูปแบบเดิมเหมือนขั้นหนึ่งอีก แต่เป็นขั้นเดิมที่ไม่เหมือนขั้นเดิม หรือเป็นขั้นที่หนึ่งที่ไม่เหมือนขั้นที่หนึ่ง

เปรียบเทียบกับนักร้องก็ได้ เมื่อเริ่มแรกร้องเพลงไม่เป็นก็ร้องไม่ได้จังหวะจะโคน ฟังกระโดกกระเดกชอบกล พอขั้นที่สองเริ่มฝึกฝนก็ร้องได้อย่างมีระบบมีแบบแผน แตกต่างจากการร้องในขั้นที่หนึ่งอย่างยิ่ง มีทฤษฎี มีการกำหนดจังหวะเคร่งครัด ฯลฯ พอถึงขั้นที่สามที่เรียกว่าบรรลุธรรมทางการร้องเพลง ตอนนี้ ก็จะร้องเพลงกระโดกกระเดกและไร้ทฤษฎีอีกเช่นเดิม แต่ทว่าไม่เหมือนเดิมในขั้นแรกอีกแล้ว เพราะเป็นขั้นที่อยู่พ้นไปจากทฤษฎีต่างๆ ไม่ถูกกักขังอยู่ในวังวนแห่งทฤษฎีเช่นในขั้นที่สอง แต่ก็ไม่ใช่ไร้ทฤษฎีส่งเดชเช่นขั้นที่หนึ่ง หากแต่เป็นการไร้ทฤษฎี เพราะเป็นตัวทฤษฎีเสียเอง พอจะร้องเพลงก็เป็นเพลงเสียเอง ที่เรียกว่าเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันกับเพลง (เหมือนสำนวนนิยายกำลังภายในที่ว่าเป็นอันหนึ่งอันเดียวกับดาบ ดาบคือใจ หรือดาบอยู่ที่ใจนั่นเอง)

อาจารย์เซนท่านหนึ่งบอกว่า เมื่อแรกก่อนปฏิบัติเซนเห็นภูเขาเป็นภูเขา เห็นแม่น้ำเป็นแม่น้ำ พอปฏิบัติเซนก็เห็นภูเขาไม่ใช่ภูเขา แม่น้ำไม่ใช่แม่น้ำ แต่พอบรรลุธรรมก็เห็นภูเขาเป็นภูเขา เห็นแม่น้ำเป็นแม่น้ำอีก หรือในพระไตรปิฎกก็มีคำกล่าว่า เด็กเป็นฉายาของพระอรหันต์ คือเด็กเล็กๆ กับพระอรหันต์นั้นเหมือนกัน แต่ทว่าก็ไม่เหมือนกัน (เหมือนกันตรงที่จิตสะอาดเหมือนกัน แต่ไม่เหมือนกันตรงที่พระอรหันต์ คือผู้ที่บรรลุแล้วจิตบริสุทธิ์ถาวรแล้ว ส่วนเด็กทารกยังไม่บรรลุธรรม จิตอันประภัสสรอาจจะถูกกิเลสจรเข้ามา ทำให้แปดเปื้อนเมื่อไรก็ได้)

และก็มาถึงบทสรุปว่าเซนก็อยู่ในชีวิตประจำวันนั่นเอง เป็นชีวิตตามธรรมดาๆ นั่นเอง แต่ก็ไม่ใช่ธรรมดาตามธรรมดาที่เราเข้าใจกันอยู่โดยปกติทั่วไป ยิ่งเขียนยิ่งงง ดูเรื่องของเซนเขาดีกว่า

นายแพทย์หนุ่มคนหนึ่งในเมืองโตเกียว ชื่อว่า กุสุดะ ได้พบกับเพื่อนร่วมวิทยาลัยคนหนึ่ง ซึ่งกำลังศึกษาเซนอยู่ จึงได้ถามเพื่อนคนนั้นว่า เซนคืออะไร
"ผมไม่สามารถจะบอกคุณได้ว่ามันคืออะไร" เพื่อนคนนั้นกล่าวตอบ "แต่สิ่งที่แน่นอนอย่างหนึ่งก็คือ ถ้าคุณเข้าใจเซนคุณจะไม่กลัวตายเลย"
"ดีจริง" กุสุดะกล่าวขึ้น "ผมจะลองดู แล้วผมจะหาอาจารย์ได้ที่ไหน
"ไปหาอาจารย์หนัน อิน ซีครับ" เพื่อนผู้นั้นบอกกับหมอหนุ่ม

ดังนั้นกุสุดะจึงได้เดินทางไปเยี่ยมอาจารย์หนัน อิน เขานำเอามีดสั้นยาว 9 นิ้วครึ่งติดไปด้วย อยากจะพิสูจน์ให้รู้แน่ว่า ตัวอาจารย์น่ะกลัวตายหรือไม่

เมื่อท่านหนัน อินเห็นกุสุดะท่านก็อุทานว่า "สวัสดีเพื่อน เป็นอย่างไรบ้าง สบายดีหรือ?" เราไม่ได้เจอกันนานแล้วนะ!"
เรื่องนี้ทำให้กุสุดะงุนงงมาก เขากล่าวตอบว่า "เราไม่ได้เคยพบกันมาก่อนเลยนะครับ"
"เออ จริง" ท่านอาจารย์หนัน อินกล่าวตอบ "ฉันเข้าใจเธอผิดคิดว่าเป็นหมออีกคนหนึ่ง เขาเคยมาฟังคำสอนที่นี่"
ด้วยการเริ่มต้นเช่นนั้น กุสุดะก็หมดโอกาสทดสอบอาจารย์ เขาจึงเรียนถามอาจารย์หนัน อินอย่างไม่สู้เต็มใจใจนักว่า เขาจะรับคำสอนเซนได้บ้างหรือไม่
ท่านหนัน อินกล่าวขึ้นว่า "เซนไม่ใช่เรื่องยาก ถ้าเธอเป็นหมอ เธอจงรักษาและปฏิบัติต่อคนไข้ของเธอด้วยความเมตตากรุณา นั่นแหละเซนละ"

กุสุดะแวะไปเยี่ยมอาจารย์หนัน อิน 3 ครั้ง ทั้ง 3 ครั้งท่านหนัน อิน ก็บอกกับเขาเรื่องเดียวกันนั้นเอง "พวกหมดไม่ควรจะมาเสียเวลาที่นี่ เธอจงกลับไปบ้านและดูแลรักษาคนไข้ของเธอให้ดี"

กุสุดะไม่เข้าใจเลยว่าคำสอนเช่นนั้นจะช่วยขจัดความกลัวตายได้อย่างไร ดังนั้น ในการแวะเยี่ยมครั้งที่ 4 เขาจึงบ่นตออาจารย์ว่า "เพื่อนของผมบอกผมว่า ถ้าเราเรียนเซนเราก็จะหมดความกล้วตาย แต่ทุกครั้งที่ผมมาที่นี่ ทั้งหมดที่ท่านอาจารย์บอกผม ก็คือให้กลับไปดูแลรักษาคนไข้ของผมให้ดี ผมทราบเรื่งอนี้ดีอยู่แล้ว และถ้าท่านอาจารย์ว่านั่นเป็นเซนแล้วละก็ ผมจะไม่แวะมาเยี่ยมท่านอาจารย์อีก"
อาจารย์หนัน อิน ยิ้มและตบไหล่หมอเบาๆ "ฉันเข้มงวดต่อเธอมากเกินไปสักหน่อย เอาละ ฉันจะมอบโกอานให้แก่เธอสัก 1 บท" แล้วท่านก็มอบโกอาน "มู ของโจซู" ให้กุสุดะนำเอาไปเพ่งพินิจ โกอานบทนี้เป็นปัญหาสำหรับปลุกจิตบทแรก อยู่ในหนังสือรวมโกอานชื่อ "ประตูที่ไร้ประตู"

กุสุดะ ขบปัญหาเรื่องมู (ไม่มีอะไร, ว่าง) เป็นเวลา 2 ปี ในที่สุด เขาก็คิดว่าเขาได้ลุถึงซึ่งระดับจิตอันมั่นคงแล้ว แต่อาจารย์กลับตอบกลับมาว่า "เธอยังไม่ถึงๆ"

กุสุดะเพิ่งโกอ่านบทนั้นต่อไปอีก 1 ปีครึง จิตของเขาก็สงบเงียบลง ปัญหาต่างๆ สลายไป ความไม่มีอะไร (ความว่าง) กลายเป็นสัจจะสูงสุดสำหรับเขา เขาดูแลบริการคนไข้ของเขาอย่างดี และในที่สุดก็เป็นอิสระได้จากเรื่องตาย-เกิด (ชีวิตและความตาย) โดยไม่รู้ตัว เมื่อเขากลับไปเยี่ยมอาจารย์หนัน อินอีกครั้ง ท่านอาจารย์เฒ่าก็เพียงแต่ยิ้ม

โกอาน "มู ของโจซู" มีดังนี้ ในคัมภีร์แห่งมหายานกล่าวไว้ว่า สัตว์ทั้งหลายมีธรรมชาติแห่งพุทธะด้วยกันทั้งนั้น (หมายถึงมีโอกาสตรัสรู้ได้ด้วยกันทั้งสิ้น) วันหนึ่ง พระรูปหนึ่งก็สงสัยในเรื่องนี้มาก และได้ไปเรียนถามอาจารย์โจซูว่า "อาจารย์ครับ แล้วหมามันมีธรรมชาติแห่งพุทธะหรือไม่ครับ" "มู" อาจารย์ตอบ
เงื่อนต่อสำคัญคือ ถ้าหากหมามีธรรมชาติแห่งพุทธะด้วยแล้ว ด้วยเหตุที่หมาเป็นสัตว์ชนิดหนึ่ง ในสรรพสัตว์ทั้งหลาย เช่นนี้หมาก็คงจะบรรลุธรรมได้ด้วยละซิ... อาจารย์ตอบความช่างสงสัยนั้นด้วย "มู" ซึ่งตามตัวอักษรแปลว่าว่าง ไม่มีอะไร... พระรูปนั้นจะต้องขบปัญหานี้ให้แตกว่า "มู" ที่อาจารย์โจชูพูดนั้นหมายถึงอะไร ถ้าขบแตกก็จะบรรลุธรรม เห็นความหลอกลวงของปัญญาอย่างโลกๆ ที่อยู่ในวังวนแห่งอนิจลักษณะและอาตมลักษณะ (อัตตา) ฯลฯ และในเรื่องของกุสุดะ หมอหนุ่ม เขาก็เข้าใจเซนได้ในที่สุด

สปิริตแห่งเซน

"ชีวิตเซนเป็นชีวิตที่ไม่มีอดีต ไม่มีอนาคต มีอยู่แต่วันนี้"

สปิริตหรือจิตใจของเซน มีลักษณะเฉพาะที่ไม่เหมือนใคร คำว่า "ไม่ถอย-ไม่สู้, ไม่อยู่-ไม่หนี" เป็นคำอธิบายขยายความสปิริตแห่งเซนได้ดี (แต่อ่านแล้วก็ไม่รู้ว่าหมายถึงอะไร?)

ชีวิตเซนเป็นชีวิตที่ไม่มีอดีต ไม่มีอนาคต มีอยู่แต่วันนี้ หรือพูดให้ลึก ชีวิตเซนคือชีวิตที่ดำรงอยู่ขณะเดียว ทีละขณะ ที่ละขณะ เริ่มและจบในจุดเดียว (่ท่านเขมานันทะเคยกล่าวว่า "ชีวิตคุณมีอยู่เพียงขณะเดียว" ใครที่ชอบโกอาน หรือปริศนาธรรม เอาไปขบให้แตกว่า ท่านหมายความว่าอะไร)

เมื่อทุกข์จงทุกข์ เมื่อสุขจงสุข มีสติอยู่กับปัจจุบันขณะ อดีตก็ละไปแล้ว อนาคนก็ยังไม่มา (อดีตเมื่อ 10 ปี 5 ปี ฯลฯ จนอดีตเมื่อวินาทีที่แล้วต่างก็ผ่านเลยไปแล้วไม่หวนกลับ, และอนาคตเมื่อ10 ปีข้างหน้า 5 ปีข้างหน้า ฯลฯ จนอนาคต "อีก 1 วินาทีข้างหน้า" ก็ยังไม่มาฉ จงใช้ชีวิตอยู่กับวันนี้ (ชั่วโมงนี้ นาทีนี้ วินาทีนี้) ทำขณะนี้ให้ดี วันพรุ่งนี้มันจะดูแลตัวของมันเองได้อย่ากังวลไปเลย... จนแม้แต่ความเป็นความตายก็ไม่สำคัญสำหรับเซน อยู่ที่จิตอันวิมุตติหลุดพ้น ปล่อยว่างวางธรรมทั้งปวงได้เป็นพอ

พระพุทธะ ได้ตรัสสาธกนิยายในพระสูตรให้หมู่พระภิกษุสงฆ์ฟัง...
ชายคนหนึ่ง ขณะกำลังเดินทางข้ามท้องทุ่ง ก็ประจันหน้าเข้ากับเสือใหญ่ตัวหนึ่ง เขารีบวิ่งหนึโดยทันใด และเสือก็วิ่งไล่กวดตามเขาไป พอมาถึงหน้าผา เขาก็โหนรากเถาวัลย์ป่าลงไปห้อยต่องแต่ง อยู่ตรงขอบหน้าผานั้น ส่วนเสือก็วิ่งมาดมกลิ่นตามล่าเขาอยู่ข้างบนหน้าผานั่นเอง และเมื่อชายคนนั้นมองลงไปข้างล่าง เขาก็ต้องสั่นสะท้านด้วยความกลัวโน่น เสืออีกตัวหนึ่งกำลังรอกินเขาอยู่หากเขาหล่นลงไป มีเพียงเถาวัลย์ป่าเส้นนี้เท่านั้น ที่ช่วยต่อชีวิตของเขาเอาไว้ หนู 2 ตัว ตัวหนึ่งขาว ตัวหนึ่งดำ เริ่มแทะเถาวัลย์ป่าที่เขาโหนอยู่ทีละน้อยๆ ชายคนนั้น (ในขณะที่กำลังโหนอยู่นั้น) ก็เห็นลูกสตรอเบอรี่หวานฉ่ำห้อยอยู่ใกล้เขา เขาจึงโหนเถาวัลย์ป่าด้วยมือข้างหนึ่ง ส่วนมืออีกข้างหนึ่งก็เอื้อมไปเด็ดลูกสตรอเบอรี่ส่งเข้าปาก โอ มันช่าวหวานอะไรเช่นนี้!

ชีวิตคุณมีอยู่เพียงขณะเดียว อดีตก็ละไปแล้ว อนาคนก็ยังไม่มา ทำปัจจุบันให้ดีที่สุด "ไม่ถอย-ไม่สู้, ไม่อยู่-ไม่หนี"

ด้วยจิตอันโปร่งโล่ง

"รู้จักปลง รู้จักยอม รู้จักเย็น"

หมอผ่าตัดที่ว่าเก่งที่สุด พอลูกของตัวเองป่วยต้องผ่าตัด ก็ผ่าตัดลูกของตัวเองไม่ได้ ต้องขอให้หมอคนอื่นๆ ช่วยผ่าตัดให้ สถาปนิกยอดเยี่ยม ออกแบบบ้านใครต่อใครได้เลิศหรู พอถึงบ้านของตัวเองต้องขอให้สถาปนิกคนอื่นช่วยออกแบบให้ ตัวอย่างเช่นนี้มีให้เห็นอยู่บ่อยๆ ทำไมจึงเป็นเช่นนั้น?

...เล่นเทนนิสสนุกๆ ก็สบายดี แต่พอเล่นแบบแข่งขันเท่านั้น ก็เกร็งไปหมด ยิ่งเล่นพนันเอาแพ้-ชนะด้วย ก็ยิ่งเกร็งยิ่งเครียดกันไปใหญ่ พนักงานพิมพ์ดีดคนหนึ่งพิมพ์งนได้เก่งมาก แต่พอ "นาย" มายืนจ้องเท่านันแหละพิมพ์ผิดพิมพ์ถูกยกใหญ่ หรือนักเรียนที่ว่าเรียนเก่ง หากขณะที่กำลังสอบครูเข้าไปยืนอยู่ใกล้ๆ แล้วจากเก่งก็ชักจะเกร็งกันไปหมด

เมื่อเข้าไปที่วัดของโอบากุในเมืองเกียวโต เราจะเห็นตัวอักษรงดงามสลักอยู่เหนือประตูทางเข้ามีใจความว่า "หลักการอันแรกสุด" ตัวอักษรมีขนาดใหญ่เป็นพิเศษ คนที่ชอบการเล่นลายสืออันงดงามต่างพากันชื่นชมมันมากว่า เป็นผลงานอันยอดเยี่ยมจริงๆ ลายอักษรอันงดงามนี้วาดขึ้นโดยอาจาร์โกเสนเมื่อ 200 ปีมาแล้ว เมื่อครั้งที่อาจารย์โกเสนวาดมันขึ้นมา ท่านวาดมันลงบนกระดาษ แล้วจากนั้นคนงานก็นำมันไปขยายและสลักลงบนแผ่นไม้ ขณะที่อาจารย์โกเสนร่างตัวอักษรนั้น ศิษย์ผู้หนึ่งซึ่งออกจะห่ามๆ กล้าๆ อยู่สักหน่อยได้ช่วยฝนแท่งหมึก ทำน้ำหมึกสำหรับเขียนลายสือให้ท่าน อาจารย์หลายแกลลอนทีเดียว และวิพากษ์วิจารณืงานของอาจารย์ของเขามิได้หยุดหย่อน

"นั่นไม่ดีเลยครับ" เขาบอกกับท่านอาจารย์โกเสนหลังจากท่านอาจารย์เขียนแผ่นแรกเสร็จ
"อันนี้ละ เป็นอย่างไร" ท่านอาจารย์เขียนขึ้นใหม่เป็นแผ่นที่อง
"แย่ แย่ยิ่งกว่าแผ่นแรกเสียอีก" ศิษย์ผู้นั้นแถลงความเห็น
ท่านอาจารย์โกเสนเขียนอย่างอดทน แผนแล้ว แผ่นเล่า จนถึง 84 แผ่นลวดลาย "หลักการอันแรกสุด" ก็ยังไม่ได้รับคำรับรองเห็นชอบจากศิษย์คนนั้นอยู่ดี
แต่แล้ว เมื่อเด็กหนุ่มผู้เป็นศิษย์ได้ออกไปธุระข้างนอกสักครู่หนึ่ง ท่านโกเสนก็คิดขึ้นในใจว่า "เอาละ" ทีนี้เป็นโอกาสของฉันที่จะรอดพ้นไปจากสายตาอันแหลมคมของมันได้" แล้วท่านก็รีบเขียนขึ้นทันทีด้วยจิตใจอันอิสระโล่งโปร่งจากความฟุ้งซ่านนานา สำเร็จเป็น "หลักการอันแรกสุด" "ผลงานชิ้นเยี่ยม" ศิษย์หนุ่มแสดงความเห็น

"หลักการอันแรกสุด" คงจะไม่ใช่อะไรอื่นนอกจากการปล่อยวาง รู้จักปลง รู้จักยอม รู้จักเย็น และปล่อยให้สิ่งต่างๆ ดำเนินไปตามธรรมชาติ

"หากไม่ดูจิตก็จะไม่เห็นจิต จะไม่รู้จักตัวเอง"

เรื่องของกายไม่ค่อยมากเรื่องเท่าใดนัก เพียงไม่ป่วยไม่ไข้ก็ดีถมไปแล้ว (เรื่องการตกแต่งร่างกายให้สวยให้งาม นั่นเป็นอีกเรื่องหนึ่ง ซึ่ง "เรื่องมาก" พอสมควร)

สำหรับเรื่องจิต เป็นเรื่องที่พวกเรามองข้ามกันเสมอ จนแม้กระทั่งการปฏิบัติธรรมก็ลืมปฏิบัติจิต ไปเน้นแต่รูปแบบท่าทางทางภายนอกกันไปเสียหมด พลาดจากสาระสำคัญไปเสียสิ้น ทั้งนี้เพราะ การปฏิบัติธรรมเป็นการปฏิบัติที่จิต ที่ร่างกายภายนอกนั้นไม่นับว่าเป็นประเด็นสำคัญอะไร ดังจะพบว่า บวชกายยังไม่สู้บวชใจ บางคนบวชกายโกนหัวเข้าวัดหรือเป็นนักบวชแต่ใจ "ต่ำ" ยิ่งกว่าชาวบ้านหัวดำๆ ที่อยู่ในสังคมโลก ซึ่งบวชใจแล้วไม่ได้

เซน ไม่เคยพลาดเรื่องนี้ เซนย้ำเสมอว่า การปฏิบัติธรรมเป็นการบำเพ็ญเพียรทางจิต เป็นการกระทำทางจิตใจ ดังโศลกของพระโพธิธรรมที่กล่าวว่า เซนเป็นการถ่ายทอดนอกคัมภีร์ ไม่พึ่งพาอยู่กับคำพูดหรือตัวอักษร ชี้ไปที่จิตให้เห็นจิต แล้วบรรลุเป็นพระพุทธะองค์หนึ่ง

เซน จึงเน้นการดูจิตดูใจเป็นสำคัญ และไปไกลถึงขนาดที่ว่านั่งสมาธิท่าอะไรก็ได้ ขอแต่ให้จิตมีสมาธิก็พอ ...แล้วพวกเราดูจิตกันบ้างหรือเปล่า? บางคนไม่เคยสังเกตจิตของตัวเองเลย แม้โกรธจัดอย่างไร ก็ไม่รู้สึกว่าตัวเองโกรธ พอเพื่อนมาทักกลับเถียงอีกว่าไม่ได้โกรธ ที่เถียงนั่นก็ไม่ใช่ว่าจะเถียงแก้กลุ้ม หากแต่เถียงเพราะเข้าใจผิดด้วยไม่รู้ตัวว่า ตัวเองกำลังโกรธอยู่ ไม่รู้ว่าโกรธเพราะไม่เคยดูจิต จึงไม่รู้ว่าจิตปกติเป็นอย่างไร จิตที่โกรธเป็นอย่างไร จิตที่โลภเป็นอย่างไร จิตที่หลงเป็นอย่างไร

หากไม่ดูจิตก็จะไม่เห็นจิต จะไม่รู้จักตัวเอง ดูกายไม่เท่ไรก็จะไม่มีทางเห็นตัวเอง ไม่มีทางรู้จักตัวเองแน่นอน ลองหันมาดูจิตของตัวเองกันให้มากเถิด ดูให้ต่อเนื่อง แล้วจะรู้ว่า "ภาพยนตร์" เรื่องนี้มีทั้งหวานชื่นและขื่นขมยิ่งทีเดียว

หลังจากที่อาจารย์บังเกอิได้มรณภาพไปแล้ว คนตาบอดคนหนึ่งซึ่งอาศัยอยู่ใกล้ๆ กันกับวัดที่ท่านอาจารย์ได้เคยพำนักอยู่ได้พูดกับเพื่อนของเขาคนหนึ่งว่า "เพราะผมตาบอด ผมจึงไม่สามารถเฝ้าดูและสังเกตใบหน้าของคนอื่นๆ ได้ ดังนั้น ผมจึงต้องวินิจฉัยลักษณะอุปนิสัยของแต่ละคนโดยสังเกตเอาจากเสียงพูดของพวกเขาเหล่านั้น ซึ่งตามปกติ เมื่อผมได้ยินใครคนหนึ่งกำลังแสดงความยินดีในความสำเร็จ หรือในความสุขของบุคคลอีกคนหนึ่ง ผมก็จะได้ยินน้ำเสียงแห่งความริษยา ปรากฏอยู่อย่างลึกๆ ด้วย และเมื่อมีการแสดงความเสียใจ และเห็นใจในโชคร้ายของบุคคล ผมก็ได้ยินความพอใจและความเบิกบานใจ ราวกับว่าคนที่เสียใจนั้นมีความดีใจเป็นอย่างยิ่ง ที่ยังมีบางสิ่งหลงเหลืออยู่ให้เขาได้กอบโกยเอาไว้บ้างในโลกส่วนตัวของเขานั้น"

"อย่างไรก็ตาม จากประสบการณ์ของผมทั้งหมดเท่าที่ผ่านมา เสียงของทานอาจารย์บังเกอินั้น ปรากฏมีแต่ความจริงใจอยู่เสมอ เมื่อใดก็ตามที่ท่านพูดแสดงความสุขและความยินดีออกมา ผมก็ไม่ได้ยินอะไรเลย นอกจากความสุขและความยินดี และเมื่อใดก็ตามที่ท่านพูดแสดงความเสียใจ และเศร้าใจออกมา ก็มีแต่ความเสียใจและความเศร้าใจเท่านั้นที่ผมได้ยิน" "ไม่มีสิ่งอื่นใดเลย"

ทำใจ

"ต้องมั่นใจให้ได้ว่า ไม่มีอะไรได้ดังใจเรา"

ชีวิตประจำวันของเราช่างเต็มไปด้วยปัญหาจริงๆ ปัญหาการเงิน ปัญหาการงาน (ทั้งการเมืองในสำนักงาน และปัญหาผู้ร่วมงานที่ร้ายกาจ ฯลฯ) ปัญหาครอบครัว ปัญหาความรัก ปัญหาคู่ครอง ปัญหาทางเพศ ฯลฯ ทำไมนะอะไรๆ ที่เราเข้าไปแตะจึงเป็นปัญหาไปเสียทั้งหมด

ไม่ว่าจะเป็นอะไร ทำงานอะไร นายแบงก์ หรือเสมียนพนักงาน ต่างก็มีปัญหาด้วยกันทั้งสิ้น จะใช้ชีวิตชาวบ้านหรือนักบวชก็ไม่เว้น แล้วจะทำอย่างไร?

ปัญหาทุกอย่างมีเหตุมีปัจจัยก่อให้เกิดขึ้นมา ผลักดันให้เกิดมีขึ้นมา หากขจัดเหตุแห่งปัญหาได้ ปัญหาก็จะสิ้นสุดลง แล้วจะทราบได้หรือไม่ว่า เหตุปัจจัยแห่งปัญหาของเรานั้นมีมาจากอะไร... ตอบว่า มันก็แล้วแต่ว่า เราจะมีเหตุมีปัจจัย ช่วยให้เราทราบถึงต้นเหตุแห่งปัญหานั้นหรือไม่ ...โอ๊ย! ปวดหัว

ข้อเท็จจริงมันมีอยู่เช่นนั้น ต้องรู้และขจัดเหตุปัจจัยแห่งปัญหานั้นให้ได้ ถ้าขจัดไม่ได้ปัญหานั้นก็ยังคงมีอยู่ ปัญหาของชีวิตมี 2 ด้าน คือ ปัญหาทางกายภาพ เช่น รถชนกัน เป็นต้น เป็นเรื่องที่จะต้องแก้ไขไปตามกติกาสังคมที่เราอยู่ ว่ากันไปตามนั้น แต่อีกปัญหาหนึ่งคือ ปัญหาทางจิต อันได้แก่ ความกลุ้มอันเกิดจากรถไปชนกันนั่น เป็นเรื่องที่เราจะต้อง "ทำใจ" แต่เพียงอย่างเดียว ถ้าทำใจได้ ก็ไม่ทุกข์มากกับเรื่องนั้น ถ้าทำใจไม่าได้ก็ทุกข์ 2 ซ้อน คือ ทุกข์เพราะรถชนกันแล้วยังทุกข์ตรงกลัดกลุ้มอีกด้วย

ทำใจได้ ก็จะสู้ต่อไปได้ ทำใจไม่ได้ก็จะหมดแรง ท้อถอย ว้าวุ้น แก้ปัญหาไม่ตรงจุดต่อไปอีก ทำใจยุ่งหนักขึ้นไปอีก ข้อสำคัญต้องมั่นใจให้ได้ว่า ไม่มีอะไรได้ดังใจเรา โลกนี้เป็นโลกแห่งเหตุผล มีแก่นสารเป็นความเปลี่ยนแปลงนิรันดร "อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา" ต้องแม่นยำอยู่ในคลองแห่งความคิดในจิตสำนึกอยู่ตลอดเวลา เมื่อมีเหตุปัจจัยอย่างนั้น กรณีนั้นๆ ก็ต้องเกิดขึ้น และเราก็ต้องปลง ส่วนจะจัดทำแก้ไขอย่างไรต่อไป ก็ต้องดูว่ามีเหตุปัจจัยให้แก้ไขได้หรือไม่...ฯลฯ

ท่านอิ๊กคิว (ที่เรารู้จักกันนามของ อิ๊กคิวซัง) เป็นอาจารย์เซนองค์หนึ่งในประเทศญี่ปุ่น มีชื่อเสียงมาก ในวัยเด็กท่านได้ชื่อว่าเป็นคนที่มีความเฉลียวฉลาดมาก ครูของท่านมีถ้วยน้ำชาอันงดงามและมีค่ามากอยู่ถ้วยหนึ่งและเป็นของที่หายากเสียอีกด้วย วันหนึ่งเจ้าหนูอิ๊กคิวก็ทำถ้วยน้ำชาอันเก่าแก่ใบนั้นแตกและก็ตกใจมาก พอได้ยินเสียงฝีเท้าของครูของท่านเดินมา พ่อหนูน้องก็ถือเศษถ้วยที่แตกซ่อนเอาไว้ข้างหลัง เมื่อท่านอาจารย์โผล่เข้ามา หนูอิ๊กคิวก็รีบถามขึ้น "ทำไมคนเราต้องตายด้วยล่ะครับ?"
"มันเป็นธรรมดาน่ะ" ท่านอาจารย์อธิบาย "ทุกๆ สิ่งที่มีชีวิตอยู่ต่อมาก็ต้องตาย"
เจ้าหนูน้อยอิ๊กคิวจึงยื่นถ้วยแตกให้อาจารย์ดู "มันได้เวลาที่ถ้วยของท่านต้องตายแล้วละครับ"

ปลงให้ตก

"การปลง เป็นการยุติเรื่องนั้นให้หยุดอยู่แต่นั้น"

ภาษาไทยมีที่ใช้กว้างขวางลุ่มลึกมากในทางศาสนา คำบางคำช่วยบรรเทาทุกข์ได้ระดับหนึ่งทีเดียว (ไม่นับคำยุ สู้-สู้-สู้ หรือ ราวี-ราวี-ราวี) เมื่อมีเรื่องผิดคาด "มันเป็นเช่นนั้นเอง" มันเป็นของมันพรรค์นั้นแหละ" "รู้จักยอม-หยุด-เย็นเสียบ้างซิ" "จะไปยึดมั่นอะไรกันนักหนา" "สุดแต่บุญแต่กรรมเถอะ" "ปลงเสียเถอะแม่จำเนียร" ฯลฯ

การ "ปลง" เป็นการยุติเรื่องนั้นให้อยู่แต่นั้น ไม่ให้ลูกลามเผาลนจิตใจของเราอีกต่อไป พระภิกษุเมื่อทำผิดวินัยก็มีการ "ปลงอาบัติ คือการมาสารภาพความผิดต่อพระภิกษุผู้อาวุโส แล้วก็เป็นอันหมดข้อข้องจิตที่จะติดเป็นปมด้อยอีกต่อไป

ในกรณีทีเราทำดีแล้วไม่ได้ดี ทำงานดีไม่มีเส้นสายเลยถูกกีดกัน ไม่ได้เลื่อนขั้นเลื่อนตำแหน่งกับเขาเสียที ก็ต้องปลง (ปลงให้ตกแล้วสู้ต่อไป อย่างชนิดที่ไม่มีความทุกข์ค้างอยู่ในจิต) ทำดีแทบตายแม่สามีไม่เห็นคุณความดีก็ต้องปลงให้ตก ท่านอาจจะเป็นคนเช่นนั้นมักก็ต้องเป็นเช่นนั้น จะไปทุกข์อะไรกับเรื่องนี้ แต่เราก็ต้องทำดีต่อไป (เพราะเรื่องดี-ไม่ดีในการกระทำของเรามันกระทบผูกพันที่ตัวเรา ไม่เกี่ยวกับคนอื่นว่าจะต้องมารับรองหรือไม่)

ทำอะไรดีๆ แล้วคนไม่เข้าใจ เราก็ต้องปลง ต้องอดทน บางทีเราก็พูดอธิบายไม่ได้เสียด้วย มันก็ต้องปล่อยไปอย่างนั้น แต่ทว่าเราจะยังคงแน่แน่ของเราต่อไป เราหวังทำเพื่อความถูกต้องถูกธรรมมิใช่หรือ เรามิได้ทำเพื่อหวังจะให้ถูกใจใครมิใช่หรือ?

เก็สเส็น เป็นพระจิตรกรที่มีชื่อมากรูปหนึ่ง ก่อนที่ท่านจะเริ่มเขียนรูปหรือวาดรูป ท่านมักจะยืนกราน ให้มีการจ่ายเงินค่าจ้างล่วงหน้าเสมอๆ และค่าจ้างของท่านก็สูงเสียด้วย ผู้คนรู้จักท่านในนามของ "จิตรกรขี้เหนียว"

เกอิชา (หญิงบริการประเภทหนึ่งในประเทศญี่ปุ่น) คนหนึ่งได้ให้ค่าเหนื่อยในการวาดภาพแก่ท่าน "คุณจะจ่ายให้ได้มากเท่าไร?" เก็สเส็นถามขึ้น
"ท่านคิดมาก็แล้วกัน เท่าไรก็ได้" หญิงสาวตอบ "แต่ดิฉันต้องการให้ท่านวาดอยู่ต่อหน้าฉันนี่แหละ"

ดังนั้น วันต่อมาเก็สเส็น ก็ถูกเกอิชาคนนั้นตามตัวให้มาวาดภาพให้เธอขณะที่เธอกำลังจัดเลี้ยงรับรองแขกของเธออยู่ เก็สเส็นจัดการวาดภาพด้วยฝีมืออันงดงาม เมื่องานสำเร็จลง ท่านก็เรียกราคาค่าจ้างเป็นจำนวนเงินที่สูงที่สุดเท่าที่ว่าจ้างกันในเวลานั้น

ท่านได้รับค่าจ้งของท่าน แต่แล้วเกอิชาก็หันไปหาลูกค้าของเธอและกล่าวว่า "ทั้งหมดที่จิตรกรท่านนี้ต้องการก็คือเงิน ภาพของเขางามมาก แต่จิตของเขาสกปรก เงินทำให้จิตของเขามืดมัว ด้วยการวาดชนิดที่จิตเต็มไปด้วยความโสโครก เช่นนั้น งานของเขาจึงไม่เหมาะที่จะเอาไปอวดแสดงให้ใครๆ ดูได้ มันคงจะเหมาะแก่เพททิโคท (กระโปรงชั้นในของผู้หญิง) ของฉันมากกว่า"

เธอกล่าวแล้วก็เลิกกระโปรงชั้นนอกของเธอขึ้น และขอให้เก็สเส็นวาดภาพอีกภาพหนึ่ง ลงที่ด้านหลังของเพททิโคทของเธอ
"คุณจะจ่ายเท่าไร?" เก็สเส็นถาม
"โอ. เท่าไรก็ได้" หญิงสาวตอบ
เก็สเส็นเรียกราคาสูงลิ่ว แล้ววาดภาพอีกภาพหนึ่งตามที่เธอร้องขอ จากนั้นก็จากไป ทราบกันในเวลาต่อมาว่า เก็สเส็นมีเหตุผลบางประการในการต้องการเงินมาใช้จ่าย (คือ)

  1. ทุพภิกขภัยอันร้ายกาจได้เข้าไปเยือนจังหวัดของท่าน คนรวยไม่ยอมช่วยเหลือคนจน ดังนั้น เก็สเส็นจึงตั้งโกดังลับๆ แห่งหนึ่งขึ้น ซึ่งไม่มีใครทราบ และเก็บเมล็ดธัญพืชไว้เต็ม โกดังเพื่อเตรียมรับความขาดแคลนฉุกเฉินเหล่า
  2. จากหมู่บ้านของท่านไปยังสถูปแห่งชาติ ถนนอยู่ในสภาพที่แย่มาก และผู้เดินทางต่างก็ประสบความลำบากมาก เมื่อใช้เส้นทางสายนี้ ท่านปรารถนาที่จะสร้างถนนที่ดีขึ้นกว่านี้อีกสัก 1 สาย
  3. ครูของท่านได้จากไป โดยไม่สามารถที่จะทำให้ความปรารถนาของตัวเองสำเร็จผลขึ้นมาได้ คือครูของท่านต้องการสร้างวัดขึ้นมาสักหลังหนึ่งให้ได้ ดังนั้น เก็สเส็นจึงปรารถนาที่จะสร้างวัดให้สำเร็จ เพื่อครูของท่าน

หลังจากที่เก็สเส็นได้สำเร็จผลในความปรารถนาทั้ง 3 ประการนี้แล้ว ท่านก็ขว้างพู่กันและอุปกรณ์ของจิตรกรทิ้ง และหลีกเร้นไปพำนักในภูเขา ไม่วาดภาพใดๆ อีกเลย

ปาฏิหาริย์

"มนุษย์เป็นสัตว์ประเสริฐ เป็นสัตว์ที่มีปัญญา และมีเหตุผล
แต่เมื่อตกอยู่ในปัญหา มนุษย์ก็เหมือนคนตาบอด"

นักจิตวิทยาท่านหนึ่งกล่าวว่า มนุษย์เรามีประสบการณ์ในการเป็นผู้รับมาตั้งแต่ก่อนเกิดทีเดียว อยู่ในครรภ์มารดา ก็ไม่ต้องทำอะไร คอยรับอาหารจากมารดาอย่างเดียว ออกซิเจนก็ได้จากมารดาเพื่อการหายใจ พอคลอดออกมาก็ยังได้รับการดูแลฟูมฟักหรือเอาอกเอาใจจากมาดาอีก ฉะนั้น มนุษย์จึงติดนิสัยการเป็นผู้รับ ไม่อยากเป็นผู้ให้ เคยชินต่อการรับจากบิดามารดามาตั้งแต่เด็กๆ และมักจะติดนิสัยเอาแต่ได้ ไม่ชอบให้คนอื่น รวมไปถึงไม่อยากแลกเปลี่ยน ไม่อยากซื้อ มีแต่อยากได้ของฟรีๆ มากๆ ทั้งสิ่งของและอารมณ์

จะจริงอย่างที่ท่านกล่าวหรือไม่เป็นเรื่องที่ต้องพินิจดู สิ่งแวดล้อมต่างกัน มนุษย์ก็เติบโตต่างกัน คนไทยเคยชินกับระบบอุปถัมภ์หรือระบบพึ่งพิงผู้อื่น เวลามีปัญหาก็อดไม่ได้ที่ต้องการ "อัศวินม้าขาว" มาช่วยเหลือ ไม่ว่าทั้งการบ้านหรือการเมืองก็ตาม ความคิดที่จะช่วยตัวเองมีน้อยมาก

แนวโน้มเรื่องอิทธิปาฏิหาริย์ จึงมีอยู่สูงในสังคมไทย ไม่ได้พูดว่าปาฏิหาริย์มีจริงหรือไม่นะ พูดเพียงแต่ว่า การยึดติดหรือหวังพึ่งพิงในปาฏิหาริย์มีอยู่สูงมากเท่านั้น สำนักทรงเจ้าในเมืองไทยมีอยู่มากมาย เพื่อตอบสนองความต้องการทางอารมณ์ของพวกเรา ในสังคมที่ชอบการแก้ปัญหาแบบปฏิหาริย์...มี "ปัญหาทางการเมือง" ในที่ทำงานหรือขัดแย้งกับผู้ร่วมงานก็แอบไปปรึกษาคนทรงเจ้า ว่าจะมีทางแก้ไขอย่างไรบ้าง

จากหน่วยเล็ก มันก็คืบคลานเข้าไปสู่หน่วยใหญ่ด้วย เมื่อมีเคราะห์หรือสิ่งอันไม่พึงประสงค์เข้ามาเยี่ยมเยือนครอบครัวของเรา เราหันเข้าหาคนทรงเจ้าเพื่อการขจัดปัดเป่า และหลังจากนั้นในตำแหน่งนายธนาคาร หรือนักการมือง นักการทหาร ฯลฯ พวกเราก็หนีไม่พ้นที่จะต้องเข้าหาคนทรงเจ้า เพื่อปัดเป่าให้ (โดยเราไม่ต้องทำอะไรเลย) และขอให้ทำนายโชคเคราะห์ของธุรกิจ หรือชะตากรรมของบ้านเมือง!

ไปหาคนทรงแล้วก็ยังกังวลอีก เช่น คนทรงเจ้าคนนี้ทำนายแม่ยำดีไหม? เขามีตาทิพย์จริงๆ หรือ? หรือว่าเดาเอา? และถ้ามีตาทิพย์จริง อำนาจของเขาเสื่อมหรือยัง และ อ้อ.. ค่า "ครู" หรือค่าทำนายแพงไปไหม?

ที่จริงมนุษย์เป็นสัตว์ประเสริฐ เป็นสัตว์ที่มีปัญญาและมีเหตุผล แต่เมื่อตกอยู่ในปัญหามนุษย์ก็เหมือนคนตาบอด มองอะไรไม่ออก มองอะไรไม่เห็น เขาเรียกว่า "จิตตก" คือมันดูมืดไปหมด เคว้งคว้างเหมือนลอยคออยู่กลางทะเลทีเดียว อะไรลอยผ่านมาก็คว้าไว้หมด เพื่อช่วยพยุงตัวเอาไว้ และการเข้าพึ่งคนทรงเจ้าก็เป็นกรณีหนึ่ง

จิตที่ตกหรือจิตที่แฟบนั้น ทางศาสนาในหมู่นักปฏิบัติจะมีวิธี "ยกจิต" และในจิตที่ฟุ้ง นักปฏิบัติธรรมก็จะมีอุบายข่มจิตด้วย ถ้าทำไม่สำเร็จ ก็ต้องพึ่งกัลยาณมิตรหรือครูอาจารย์ให้ช่วย (ปลอบโยน-ดุด่า)

ในคนธรรมดาทั่วไป เมื่อจิตตก ก็จะได้อาศัยความช่วยเหลือปลุกปลอบจิตจากเพื่อน หรือญาติ หรืออำนาจลึกลับของคนทรงเจ้า แทนที่จะพึ่งตัวเอง ซึ่งในแง่นี้ก็ไม่ได้ต้องการอะไรมากไปกว่าศรัทธาและความหวัง

ถ้าเราไม่ต้องการพบกับจิตแพทย์หรือนักจิตวิทยา แต่สะดวกใจที่จะไปพึ่งคนทรง ก็ขอให้ตรวจสอบหรือสังเกตอะไรบางอย่างดังนี้...

ถ้าคุณเชื่อการทรงเจ้า จงอย่าวางใจคนทรงเจ้า หรือเจ้า ที่แนะนำให้เราทำอะไรๆ ที่มันผิดศีลธรรม

ถ้าคุณเชื่อการทรงเจ้า จงระวังและอย่ายอมเจ้าหรือคนทรงเจ้า ที่เรียกร้องเงินทองหรือของบูชาที่แพงๆ เพื่อเป็นค่าตอบแทนในการแก้ไขโชคชะตาที่เลวร้ายของเรา เจ้าที่แท้จริงน่าจะต้องเต็มไปด้วยเมตตา ต้องมาให้ ไม่ใช่มาเอา หรือไม่คนทรงเจ้า ก็จะเอาเสียเอง ยิ่งไปหาเจ้ายิ่งทุกข์มากขึ้น จะไปหาทำไม มีอะไรก็แก้ไขเอาเองไม่ดีกว่าหรือ?

ประการสุดท้าย ถ้าคุณเชื่อการทรงเจ้า จงสังเกตวิถีชีวิตของคนทรงเจ้า ด้วยว่าเขาใช้ชีวิตอย่างไร เป็นคน "สะอาด" ไหม? มีศีลธรรมต่อเพื่อนมนุษย์ต้องเป็นคนเสียสละมากทั้งเวลาและเงินทอง (มานั่งทรงเจ้าเลยไม่ได้ทำมาหากินร่ำรวยอย่างคนอื่นๆ และคนทรงที่แท้จะต้องเป็นคนจน ด้วยไม่โลภ) คือคนทรงเจ้าที่ดีจะต้องไม่โลภ และต้องอดทนเป็นคนที่มีความอดทนสูง

เจ้าที่ดีหรือคนทรงเจ้าทีดี จะต้องให้ข้อแนะนำการปฏิบัติตนเป็นธรรมะอย่างง่ายๆ เพื่อให้ "ลูกช้าง" ทั้งหลายปฏิบัติธรรม ทำสมาธิภาวนา ด้วยเพื่อให้เกิดปัญญาหาทางออกจากปัญหาชีวิตได้ด้วยตัวของตัวเอง

"มนุษย์มักไม่ค่อยตระหนักว่า การหลุดพ้นจากความทุกข์ทรมานทั้งหลาย มีจุดเริ่มต้นอยู่ที่จิตของบุคคลแต่ละคนนั่นเอง เริ่มจากการละความโลภ (เอาอีก, เอาอีก) ความโกรธ (ไม่เอา, ผลักไส, ทำลาย) และความหลง (งุนงง, สงสัย, มัวเมา)"

ต้องทำด้วยตัวเอง คนอื่นแนะได้ ให้กำลังใจได้ แต่ตัวเองต้องทำด้วยตัวของตัวเอง ไม่ต้องไปรอปาฏิหาริย์จากใครอะไรที่ไหน "ถ้าคุณ่ำไม่ได้ (ละโลภ โกรธ หลง ไม่ได้) ก็ไม่มีอะไรจะมาช่วยได้ ไม่มีใครจะมาช่วยคุณได้" และที่จริง ปาฏิหาริย์ที่แท้ ก็อยู่ในชีวิตประจำวันธรรมดๆ นี่เอง

ในขณะที่ท่านอาจารย์บังเกอิ ทำการสอนศิษย์อยู่ที่วัดริวมอนนั้น พระนิกายชินชูองค์หนึ่ง (ซึ่งเป็นนิกายที่ถือว่า การกล่าวนามหรือท่องบ่นชื่อของพระพุทธเจ้าอมิตาภะ อันเป็นพระพุทธเจ้าแห่งควาารรักอยู่เสมอๆ จะทำให้ถึงซึ่งความหลุดพ้นได้) พระนิกายชินชูองค์นี้อิจฉาในการที่ท่านอาจารย์บังเกอิมีศิษย์มากมาย จึงเดินทางมาเพื่อทำการโต้วาทีกับท่านอาจารย์บังเกอิ

พระนิกายชินชู ได้ดินทางเข้ามาสู่ที่ประชุม ซึ่งอาจารย์บังเกอิกำลังเทศนาสั่งสอนศิษย์อยู่ และส่งเสียงรบกวน ท่านอาจารย์จึงได้หยุดเทศนาและถามถึงการส่งเสียงเช่นนั้น

พระนิกายชินชูองค์นั้น ได้กล่าวด้วยท่าทางวางโตว่า

"นี่แนะ อาจาย์บังเกอิ ท่านอาจารย์ผู้ก่อตั้งนิายของฉันนั้น สามารถแสดงปาฏิหาริย์ได้อย่างมหัศจรรย์ คือตัวท่านยืนชูพูกันอยู่บนแม่น้ำฝั่งนี้ แล้วให้ลูกศิษย์ชูกระดาษอยู่อีกฝั่งหนึ่ง ท่านสามารถเขียนพระนามของพระพุทธเจ้าอมิตาภะพุทะะในอากาศได้ ให้ไปติดในกระดาษฝั่งโน้นได้ แล้วคุณล่ะทำอะไรที่เป็นปาฏิหารย์อย่างนี้ได้ไหม?"

ท่านอาจารย์บังเกอิกล่าวตอบอย่างสงบว่า "บางทีสุนัขจิ้งจอกของท่านอาจสามารถแสดงกลนั้นได้ แต่นั่นมันไม่ใช่วิธีการของเซน ปาฏิหาริย์ของฉันมีดังนี้คือ เมื่อฉันรู้สึกหิวฉันก็กิน และเมื่อรู้สึกกระหายฉันก็ดื่ม

ประหลาดจริง พวกเราอยากได้ปาฏิหาริย์ที่มหัศจรรย์ในชีวิตประจำวันของเรา ความขัดแย้งในการงานของเรา เราก็ต้องการแก้ไขด้วยปาฏิหาริย์ต่างๆ ไม่ชอบแก้ไขด้วยหลักมนุษยสัมพันธ์ จิตวิทยา ฯลฯ อย่างเรียบๆ ง่ายๆ แต่ในเซนเรากลับพบว่า ปาฏิหาริย์ที่แท้นั้น ก็อยู่ในวิถีชีวิตประจำวันเรียบๆ ง่ายๆ ของเรานั่นเอง อย่าไปดิ้นรนหาเรื่องอะไรอื่น มาสุมให้ต้องยุ่งยากคอยถากคอยถางมันออกทิ้งไปในภายหลังเลย!

จัดชีวิตให้เป็นระเบียบ

"เคยชินต่อความเป็นระเบียบ แล้วจะประหยัดเวลา ประหยัดพลังงาน ประหยัดหัวสมอง"

โต๊ะทำงานก็รก บ้านก็รก ครัวก็รก เสื้อผ้าก็อีเหละเขะขะ จะทำอะไรก็ให้ว้าวุ่น วุ่นวายไปหมด งานง่ายๆ ก็เลยดูเป็นงานยาก เรื่องง่ายๆ อย่างเรื่องการแต่งตัวก็ยังลังเลว่าจะแต่งชุดไหนดี ใส่ตัวนี้เสร็จ ไม่ทันจะเดินไปได้กี่ก้าว เอ. เปลี่ยนเป็นอีกตัวหนึ่งดีกว่า เปลี่ยนอยู่นั่นแหละ ไม่รู้สึกสำนึกแ้แต่น้อยว่า กำลังใช้ชีวิตที่ซับซ้อนยุ่งเหยิง

จะคิดจะนึกถึงอะไรก็ย้ำคิดย้ำทำ คิดแล้วก็คิดอีก แม้ตกลงใจไปแล้ว ก็ยังวิ่งไปเปลี่ยนใจอีก เปลี่ยนจนหมดเวลาที่จะเปลี่ยน ก็ยังอยากจะเปลี่ยน! ทำไมไม่รู้จักใช้ชีวิตให้เป็นระเบียบ? ยิ่งสังคมซับซ้อนยุ่งเหยิง ต้องแข่งขันกันมากยิ่งต้องการชีวิตที่เป็นระเบียบ และเรียบง่ายมากยิ่งขึ้น ถ้าไปใช้ชีวิตเชิงซ้อน จะยิ่งพากันยุ่งไปใหญ่

คิดให้เป็นระเบียบ ทำให้เป็นระเบียบ จะเดิน จะนั่ง จะพูด ฯลฯ ต้องเดินต้องนั่งต้องพูด ฯลฯ ให้เป็นระเบียบ จะได้ไม่ต้องมาเสียพลังงานกับเรื่องยุ่งเล็กๆ น้อยๆ เหล่านี้ ไม่ก่อให้เกิดปัญหาอื่นๆ อันไม่จำเป็นขึ้นมาด้วย

ตอนแรกๆ จะทำได้ยาก แต่หากพยายามอย่างต่อเนื่องและเป็นนิสัยแล้ว ต่อไปจะเคยชินต่อความเป็นระเบียบ แล้วจะประหยัดเวลา ประหยัดพลังงาน ประหยัดหัวสมองด้วย สงวนพลังงาน สงวนเวลาไว้ทำเรื่องที่สำคัญๆ ดีกว่า เรื่องเล็กๆ น้อยๆ ทั่วๆ ไปให้ความมีระเบียบในชีวิต ช่วยจัดการให้จะดีกว่า

โสเอน ชาขุ อาจารย์เซนชาวญี่ปุ่นคนแรกที่ได้เดินทางไปยังประเทศสหรัฐอเมริกา ได้กล่าวว่า "หัวใจของฉันเร่าร้อน (เผาไหม้) ดังไฟแต่ตาของฉันยังเย็นเฉียบดุจขี้เถ้าตายซาก" ท่านได้ตั้งกฎเกณฑ์ต่อไปนี้ขึ้น และท่านก็ปฏิบัติตามด้วย ตลอดชีวิตของท่าน

1. ในตอนเข้า ก่อนแต่งตัว ให้จุดธุปเทียนขึ้นและนั่งสมาธิ
2. หยุดพักจากงานในชั่วโมงเดียวกันทุกวันเป็นปกติสม่ำเสมอ
3. รับประทานอาหารในช่วงเวลาเดียวกันทุกวันเป็นปกติสม่ำเสมอ ให้รับประทานแต่ปานกลาง แต่พอดี ไม่รับประทานจนอิ่ม
4. จงรับแขกของคุณด้วยทัศนคติหรือท่าทีดุจเดียวกันกับเมื่อคุณอยู่เพียงลำพังคนเดียว และเมื่ออยู่เพียงลำพังคนเดียวก็จงวางตัวดุจเดียวกับที่คุณกำลังรับแขกของคุณอยู่
5. คอยสังเกตดูให้ดีว่าตัวเองพูดอะไรออกไป และไม่ว่าจะพูดอะไรออกไป ต้องปฏิบัติให้ได้ตามนั้น
6. เมื่อโอกาสมาถึงจงอย่าปล่อยให้มันผ่านล่วงเลยไป แต่จงลงมือทำ และคิดทบทวน 2 ครั้งเสมอ ก่อนจะลงมือกระทำ
7. อย่าเสียใจกับอดีตที่ผา่นไปแล้ว จงมองไปสู่อนาคต
8. จงมีท่าทีอันไร้ความกลัวดุจเดียวกับที่วีรบุรุษมี และจงมีหัวใจอันเปี่ยมรักดุจเดียวกับที่หัวใจของเด็กน้อยมี
9. ในการพักผ่อนนอนหลับ จงเข้านอนราวกับว่าคุณกำลังจะหลับลงเป็นครั้งสุดท้ายแล้ว และในการตื่นนอน จงลุกออกมา (ทิ้งเตียงไว้ข้างหลัง) โดยฉับพลันทันที ราวกับว่าคุณกำลังสลัดรองเท้าเก่าๆ คู่หนึ่งทิ้งไป

เซนเกะจิ อาจารย์เซนชาวจีนสมัยราชวงศ์ถัง ได้เขียนคำแนะนำให้แก่ลูกศิษย์ของท่านดังนี้

1.การอยู่ในโลกโดยไม่เกาะติดหรือยึดมั่นต่อฝุ่นของโลก (กิเลส) เป็นทางแห่งนักศึกษาเซนที่แท้
2.เมื่อเห็นการกระทำที่ดีๆ ของคนอื่นๆ จงกระตุ้นเตือนและให้กำลังใจตนเองที่จะกระทำตามตัวอย่างนั้นๆ ด้วย เมื่อได้ยินการกระทำที่ผิดๆ ของคนอื่นๆ จงแนะนำตัวเองอย่าให้ไปแข่งดีกับเขา (ในทางที่ผิดๆ) อย่างนั้น
3. แม้อยู่ในห้องมืดๆ เพียงคนเดียว ก็จงปฏิบัติตัวราวกับว่า คุณกำลังปรากฏตัวอยู่ต่อหน้าแขกผู้มีเกียรติของคุณ จงแสดงความรู้สึกของคุณออกมา แต่อย่าแสดงออกมามากเกินกว่าธรรมชาติเดิมแท้ของตัวคุณเอง
4. ความยากจนเป็นทรัพย์สมบัติของคุณ อย่าเอามันไปแลกกับชีวิตที่ง่ายๆ (มักง่าย)
5. บุคคลผู้หนึ่งอาจจะทำตัวเหมือนคนโง่ แต่กระนั้นก็ไม่ได้เป็นคนโง่ เขาอาจจะเพียงกำลังคุ้มครองป้องกันปัญญาของเขาอย่างระมัดระวังก็เป็นไปได้
6. คุณธรรม เป็นผลมาจากการควบคุมตัวเอง และคุณธรรมไม่ได้หล่นลงมาจากสวรรค์ดุจหยาดฝนหรือละอองหิมะ
7. ความสุภาพสงบเสงี่ยมเป็นรากฐานของคุณธรรมทั้งปวง จงให้เพื่อนบ้านของคุณค้นพบตัวคุณ ไม่ใช่ทำตัวเองให้เป็นที่รู้จักต่อเพื่อนบ้าน
8. ผู้ที่มีหัวใจอันสูงส่งจะไม่ผลักดันตัวเองไปข้างหน้า คำพูดของเขาจะเป็นดุจอัญมณีที่หายาก ไม่ใคร่จะปรากฏ (พูด) ออกมาแต่มีคุณค่ามหาศาล
9. สำหรับนักศึกษา (เซน) ที่สัตย์ซื่อและจริงใจ ทุกๆ วันเป็นวันที่โชคดี เวลาผ่านไปๆ แต่เขาจะไม่ถูกทอดทิ้งไว้เบื้องหลัง (ไม่ล้าหลัง) ทั้งความเรืองรองและความอับอาย ต่างก็ไม่อาจจะมาผลักไสเขาให้ไหวเคลื่อนไปได้
10. จงตรวจสอบตัวเอง อย่าไปตรวจสอบคนอื่นเลย อย่างมุ่งถกเถียงเอาผิด-ถูก
11. สิ่งต่างๆ บางสิ่งแม้ว่าจะเป็นสิ่งที่ถูก ก็อาจจะถูกพิจารณา (คิด) กันว่าเป็นสิ่งที่ผิดนับเป็นเวลาหลายชั่วอายุคนก็ได้ และเพราะว่าคุณค่าของความเที่ยงธรรมอาจจะไม่เป็นที่ยอมรับกันในเวลาอันรวดเร็ว (จะรับกันได้ก็หลังจากเวลาผ่านไปนับศตวรรษแล้ว) ดังนั้น จึงไม่จำเป็นที่จะต้องปรารถนา หรือละโมบต่อความระลึกถึง หรือความซาบซึ่งต่างๆ นานา (ของผู้อื่น) ในเวลาอันฉับพลันทันใด
12. จงใช้ชีวิตอยู่กับเหตุ ทิ้งผลไว้ให้แก่กฎอันยิ่งใหญ่ของจักรวาล และผ่านวันแต่ละวันไปด้วยการเพ่ง(ฌาน) อันเต็มไปด้วยความสงบสันติ

ผู้หญิงกับเซน

"ในเซนไม่มีหญิงไม่มีชาย มีแต่ธรรมชาติล้วนๆ"

ในสังคมทั้งหลาย ทั้งในอดีตและปัจจุบัน ค่านิยมที่กดขี่ผู้หญิงหรือเอารัดเอาเปรียบผู้หญิง มีให้เห็นอยู่ตลอดเวลา น่าอเนจอนาถใจจริงๆ แทนที่จะเห็นว่าเธอเป็นน้องสาวกลับไปคิดว่าเธอเป็นข้าทาสบริวารผู้รับใช้ ทำไมไม่คิดว่า เธอคือผู้เสริมชีวิตในโลกให้บริบูรณ์ เป็นส่วนหนึ่งของมนุษยชาติที่สำคัญส่วนหนึ่ง อันจะขาดเสียมิได้

แต่นั่นแหละ เมื่อยังคิดว่ามีหญิง ก็ต้องเกิดการกดหญิงเชิดชายกันอยู่ตลอดเวลา ...แต่ เซน ไปพ้นจากของคู่ต่างๆ เลยไปพ้นจากการยึดติดในเรื่อง หญิง - ชาย เป็นเพียงการกำหนดหมายเพื่อสื่อความกันให้รู้เรื่อง เป็นการแบ่งหน้าที่ของมนุษยชาติเท่านั้น ไม่ได้มีความหมายแฝงที่จะเอารัดเอาเปรียบสตรีเพศเลยแม้แต่น้อย และการปฏิบัติศาสนกิจของชาวเซนก็เปิดโอกาสให้ผู้หญิงเท่าๆ กับผู้ชายด้วย

กิโช ได้ออกบวชเป็นแม่ชีเมื่ออายุได้ 10 ขวบ เธอได้รับการฝึกฝนดุจเดียวกันกับที่เด็กผู้ชายได้รับ เมื่อเธออายุได้ 16 ปี เธอได้เดินทางไปศึกษาธรรมกับอาจารย์หลายท่าน จากอาจารย์องค์นี้ไปสู่อาจารย์องค์นั้น เธอไปศึกษาอยู่กับอาจารย์อุนซัน 3 ปี ไปอยู่กับอาจารย์กุเคอิ 6 ปี แต่ก็ยังไม่อาจจะได้รับความเข้าใจที่ชัดเจน (เกี่ยวกับเซนหรือธรรม) ในที่สุด เธอก็ได้ไปหาอาจารย์อิซาน

ท่านอาจารย์อิซานไม่ได้แสดงให้เธอเห็นถึงความแตกต่างอะไรเลยเกี่ยวกับเพศของเธอ (สตรีเพศ) ในการสั่งสอน ท่านด่าเธอด้วยเสียงอันดังลั่นดุจเสียงฟ้าคำราม ท่านเคยฟาดเธอด้วยมือ เพื่อปลุกเเธอให้ตื่นขึ้นสู่ธรรมชาติในด้านในของเธออีกด้วย

กิโซ ได้ศึกษาอยู่กับอาจารย์อิซาน 13 ปี และในที่สุดเธอก็ได้พบกับสิ่งที่เธอเสาะแสวงหา! อาจารย์อิซานได้เขียนบทกวีสรรเสริญเธอไว้ดังนี้ "แม่ชีคนนี้ศึกษาอยู่ 13 ปี ภายใต้การชี้แนะของฉัน. ตอนเย็นเธอขบโกอานบทที่ลึกซึ้งที่สุด, ตอนเช้าเธอก็หมกตัวอยู่กับโกอานอีกบทหนึ่ง. แม่ชีชาวจีนชื่อเตจีมะซึ่งเก่งกว่าเธอ, และนับตั้งแต่มูจาขุมาทั้งหมดก็ไม่ได้เป็นคนจริงยิ่งกว่าเธอ-กิโชคนนี้! แต่นั่นก็ยังมีอีกหลายประตูที่เธอจะต้องผ่านไปให้ได้ตลอด. เธอยังคงน่าจะได้รับกำปั้นเหล็กของฉันเพิ่มเติมอีก."

หลังจากกิโชได้บรรลุธรรมแล้ว เธอได้เดินทางไปยังจังหวัดบังชู และสร้างวัดเซนของเธอเองขึ้นที่นั่น เธอสั่งสอนชีศิษย์อยู่ 200 คน และจากไปในปีหนึ่ง ในเดือนสิงหาคม

ความคับแคบแห่งจิต

"หากไม่รู้จักตัวเอง เที่ยวเอาตัวเองไปเทียบเปรียบกับคนโน้นคนนี้
ไม่นานก็จะเห็นตัวเองน่าเกลียด"

ในโลกที่เจริญด้วยวัตถุธรรมเช่นทุกวันนี้ ดูๆ ไปแล้วมันก็เหมือนกับสวรรค์ในนิยายโบราณๆ ที่เราได้เคยอ่านกันมาเมื่อตอนเด็กๆ ไม่ว่าจะเป็นการได้หูทิพย์ตาทิพย์ (โทรศัพท์ โทรทัศน์ กล้องจุลทรรศน์) หรือการดำน้ำลุยไฟ (เรือดำน้ำ ชุดสวมลุยไฟทนไฟ) ฯลฯ สมัยนี้พวกเราทำได้ทั้งนั้น จะไปไหนมาไหนก็ชั่วอึดใจเดียวเหาะไป (ขึ้นเครื่องบิน ยานอวกาศ) ไปได้อย่างรวดเร็ว แต่ที่น่าอดสูใจก็คือ พวกเราที่อยู่บนโลกเป็นประดุจสวรรค์ ช่างไม่ได้ละม้ายแม้นเหมือนเทวดากับเขาเลย

เทวดาคือ บรรดาผู้ที่มีหิริโอตตัปปะ มีความละอายและเกรงกลัวต่อบาป แต่พวกเรากลับเผลอไผล ไม่ละอาย ไม่เกรงกลัวต่อบาป ลืมไปว่าจิตอันไร้มลทินนั้น พึงปรารถนาอย่างยิ่ง และหาได้ยากอย่างยิ่งด้วย โลกยิ่งกว้างขวางออกไปด้วยเทคโนโลยีเพียงใด ใจคนก็กลับคับแคบลงอย่างน่าหวั่นวิตกเพียงนั้น ขาดแคลนความพอดี ขาดแคลนความอดทน อดกลั้น เต็มไปด้วยใจอันริษยา ฉ้อฉล (โทสจริต) และโลภโมโทสัน (ราคะจริต) น้ำใจชนิดที่ร่วมอนุโมทนาด้วยหากเธอได้ดี ไม่ค่อยมีให้เห็น มีแต่ถ้าเธอได้ดีฉันจะคอยปัดขาเธอ ถ้าเธอตกต่ำฉันจะดีใจ หรือไม่หากฉันไม่ได้ เธอก็ต้องไม่ได้ด้วย !

คนสมัยไหนๆ ต่างก็มีกิเลสด้วยกันทั้งนั้น พระภิกษุที่ปฏิบัติบกพร่องก็มีมาตั้งแต่สมัยพุทธกาลแล้ว อะไรๆ ล้าหลังได้ แต่กิเลสไม่ล้าหลังกับใคร นอกจากนี้ยังอาจแปรรูปแสดงบทบาทได้กว้างขวางลึกล้ำยิ่งขึ้นเสียอีกด้วย หากไม่รู้จักตัวเอง ไม่รู้จักคุณความดีของตนเอง เที่ยวเอาตัวเองไปเทียบเปรียบกับคนโน้นคนนี้ ไม่นานก็จะเห็นตัวเองน่าเกลียดจนได้ และจะพาลอิจฉาตาร้อนคนอื่นๆ ไปอย่างไม่จำเป็น แล้วจะหาความสงบแห่งจิตได้ที่ไหน?

ชาวนาคนหนึ่งได้ขอร้องให้พระนิกายแทนได (เทียน-ไห้) ท่องพระสูตร(สวดมนต์) อวยพรอุทิศให้แก่ภรรยาของเขาที่ได้สิ้นชีวิตไปแล้ว หลังจากที่การสวดมนต์ได้ผ่านไปแล้ว ชาวนาคนนั้นก็ได้ถามขึ้นว่า "ท่านคิดว่าภรรยาของผมจะได้รับบุญกุศลจากการกระทำเช่นี้หรือไม่ครับ?"

"ไม่เพียงแต่ภรรยาของคุณเท่านั้น แต่สรรพสัตว์ทั้งหลายต่างก็จะได้รับคุณประโยชน์ จากการสวดมนต์ครั้งนี้ด้วยกันทั้งสิ้น" พระรูปนั้นกล่าวตอบ

"ถ้าท่านว่าสรรพสัตว์ทั้งหลายทั้งปวงจะได้รับคุณประโยน์ด้วย" ชาวนากล่าวสวนขึ้น "บางทีภรรยาของผมอาจคงจะเป็นคนอ่อนแอมาก และคนอื่นๆ ก็จะมาเอาเปรียบเธอ มาเอาบุญกุศลที่เธอควรจะได้ไปเสีย ดังนั้น ขอท่านได้โปรดสวนมนต์เฉพาะเพื่อเธอเถิดครับ"

พระรูปนั้นได้อธิบายว่า มันเป็นความปรารถนาของชาวพุทธทั้งหลาย ที่จะอำนวยพรและปรารถนาที่จะเผื่อแผ่บุญกุศลไปให้แก่ทุกๆ สรรพสัตว์อย่างถ้วนทั่ว

"นั่นเป็นคำสอนที่ดีมากครับ" ชาวนาคนนั้นกล่าวสรุป "แต่ได้โปรดยกเว้นสักครั้งเถอะครับ ผมมีเพื่อนบ้านคนหนึ่งซึ่งเป็นคนหยาบคายและชั่วร้ายต่อผมมาก ตัดเขาออกไปจากสรรพสัตว์ทั้งหลายเถอะครับ"

แม่ชีผู้หนึ่งซึ่งเสาะแสวงหาการตรัสรู้กับเขาด้วยคนหนึ่ง ได้สร้างพระพุทธรูปขึ้นมาองค์หนึ่ง และเคลือบองค์พระด้วยทองคำเปลวเหลืองอร่ามไปทั้งองค์ ไม่ว่าเธอจะไปยังที่ใด เธอจะนำพระพุทธรูปองค์นั้นไปด้วยเสมอ

หลายปีผ่านไป แม่ชีก็ยังคงนำเอาพระพุทธรุปนั้นติดตัวไปกับเธอตลอดเวลา และได้ไปอาศัยอยู่ในวัดเล็๋กๆ ในเมืองแห่งหนึ่ง ซึ่งที่นั่นมีพระพุทธรูปประดิษฐานอยู่มากมายในสถูปแต่ละองค์ แม่ชีผู้นั้น ปรารถนาที่จะจุดธุปบูชาพระพุทธรูปทองคำของเธอ แต่ก็ไม่อยากให้กลิ่นหอมของธูปเฉไปยังพระพุทธรูปองค์อื่นๆ ดังนั้น เธอจึงทำกรวยขึ้นมาอันหนึ่ง ใช้เป็นท่อนำควันธูปลอยขึ้นไปสู่พระพุทธรูปที่เป็นของเธอแต่เฉพาะองค์เดียวเท่านั้น การทำเช่นนี้ทำให้จมูกของพระพุทธรูปทองคำองค์นั้น ถูกเขม่าควันจับจนกลายเป็นจมูกสีดำ น่าเกลียดเป็นอย่างยิ่ง

เซนไม่เลือกปฏิบัติต่อ...

"ต้องเท่าเทียมกันในใจของเรา ไม่มีใครมาทำให้ใจของเรากระเพื่อมได้"

ความเสมอภาคมีอยู่จริงหรือ ในชีวิตประจำวันของเรา หรือว่ามีอยู่แต่ในทฤษฎีอันสวยหรูเท่านั้น? ความไม่เสมอภาคทางกายภาพ หรือทางร่างกายนั้น ยอมให้มีได้และเห็นได้ชัด แต่ความเสมอภาคทางจิตล่ะ มีไหม?

ไม่จำเป็นว่ากายภาพไม่เสมอภาคแล้ว จิตจะเสมอภาคไม่ได้ จิตเสมอภาค หมายถึง ความสัมพันธ์ของเราที่มีต่อคนอื่นๆ นั้นท่าเทียมกันตลอด ไม่ได้มีการเลือกปฏิบัติแต่อย่างใด ไม่ใช่ว่าถ้าเป็นผู้ยิ่งใหญ่ เราจะนอบน้อม ถ้าเป็นคนที่ต่ำต้อยเราจะข่มขี่! อย่างนี้เรียกว่า ไม่เสมอภาคทางจิต (ในจิตของเรามีความไม่เสมอภาคเสียแล้วนั่นเอง)

ในสังคมไทยมักคิดว่ามีคน 2 ระดับเท่านั้น คือผู้ใหญ่และผู้น้อย ถ้าเราเป็นผู้ใหญ่ เราก็จะมีผู้น้อยอยู่ใต้เรา, หรือถ้าเราเป็นผู้น้อย ก็จะมีผู้ใหญ่อยู่เหนือเรา ไม่เคยเลยที่เราจะอยู่ตรงกลาง (ส่วนใหญ่เรามักจะจัดตัวเองเข้าไปในกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งได้เสมอ ไม่น้อยก็ใหญ่ กลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง แล้วแต่สถานะความสัมพันธ์ในแต่ละขณะนั้นๆ)

การจำแนกเป็นผู้ใหญ่-ผู้น้อย ไม่ใช่สิ่งที่น่าเกลียด และการมีสัมมาคาระวะ ก็ไม่ใช่สิ่งที่น่าเกลียด แต่ทว่าในทางจิตแล้ว ในจิตใจของเรา จะต้องดำรงอยู่ศูนย์กลาง คือเป็นกลาง ให้ความเสมอภาคเท่าเทียมกันทั้งแก่ผู้ใหญ่กว่าเรา และผู้น้อยกว่าเรา

จำเป็นอะไรที่จะต้องไปแสดงอำนาจต่อผู้น้อยด้วย ในเมื่อต่อผู้ใหญ่กว่าเรา อ่อนน้อมนอบน้อมเสียจนสุนัขที่ว่ามีความภักดีสูงยังต้องอาจ ภารโรงกับผู้จัดการมีอะไรต่างกันหรือ ในความเป็นมนุษย์ เราจึงมีใจหรือเพ่งใจเข้าใส่คนทั้ง 2 ต่างกัน สำหรับพระพุทธเจ้าแล้ว พระเทวทัตกับพระอานนท์ไม่ได้มีความแตกต่างกันเลยในจิตของพระองค์ แต่พระพุทธองค์โปรดที่จะไปไหนมาไหนกับพระอานนท์มากกว่า แต่ไม่ใช่ว่าเพราะเกลียดพระเทวทัตแน่นอน

ดังนั้น สำหรับเราแล้ว ภารโรงกับผู้จัดการ ต้องเท่าเทียมกันในใจของเรา ไม่มีใครมาทำให้ใจของเรากระเพื่อมได้ แต่แน่ละแบบแผนการปฏิบัติตนในสังคม ต้องต่างกันไปตามกติกาของสังคมนั้นๆ ซึ่งก็ต้องไม่ใช่แตกต่างเพราะเลือกปฏิบัติ (คนไหนให้ผลประโยชน์ก็เข้าไปพินอบพิเทา ใครไม่ได้ให้คุณให้โทษ ก็ไม่สนใจไยดี หรือบางทีก็ข่มขู่เขาเล่นๆ ก็มี นี่เป็นวุฒิภาวะของ "เด็กอมมือ" ทางจิตวิญญาณทีเดียว จัดว่าเป็น "คนพาล" หรือคนที่ยัง "อ่อน" อยู่มากต่อสัจจะของโลก พาลแปลว่าอ่อน!)

พระพ่อครัวรูปหนึ่งแห่งวัดของท่านบังเกอิ ชื่อ ไดเรียว ได้ตัดสินใจที่จะเอาใจใส่ดูแลสุขภาพของท่านอายรย์ผู้ชรา ให้มากขึ้น และจะให้ท่านได้ฉันแต่มิโสที่สดๆ เท่านั้น (มิโส คือ แป้งถั่วเหลืองผสมกับแป้งข้าวสาลี หมักไว้จนชื้น ออกรสเปรี้ยว) ท่านบังเกอิได้สังเกตเห็นว่า ท่านได้รับมิโสที่ดีกว่าศิษย์ของท่านทั้งหมด ท่านจึงถามขึ้นว่า "วันนี้ใครเป็นพ่อครัว" (พระในวัดเซนจะต้องผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนกันเข้ามาเป็นพ่อครัว ตามวาระที่กำหนดไว้ทั่วทุกองค์)

ไดเรียว จึงถูกส่งมาพบกับท่านบังเกอิ และท่านบังเกอิก็ได้ทราบว่า ด้วยเหตุแห่งวัยและตำแหน่งของท่านนั้น ท่านควรจะฉันแต่มิโสสดๆ เท่านั้น ดังนั้น ท่านจึงได้กล่าวแก่พระพ่อครัวว่า "แล้วเธอก็คิดว่าฉันไม่ควรจะกินอะไรเลย (ใช่ไหม?)" กล่าวเท่านี้แล้ว ท่านก็เข้าห้องของท่านและปิดประตูเงียบ

ไดเรียวนั่งอยู่ข้างนอกห้องของท่าน ร้องขออภัยจากอาจารย์ของเขา แต่ท่านบังเกอิไม่ตอบ จวบจน 7 วันผ่านไป ไดเรียวก็ยังนั่งอยู่ข้างนอก และท่านบังเกอินั่งอยู่ข้างใน

ในที่สุด พระผู้อุปัฏฐาก (รับใช้) องค์หนึ่งก็ตะโกนเรียกท่านบังเกอิด้วยเสียงอันดังลั่น "ท่านอาจจะถูก ท่านอาจารย์เฒ่า แต่เจ้าศิษย์น้อยผู้นี้ต้องกินอาหาร เขาไม่อาจจะอยู่ได้โดยไม่มีอาหารนะครับ!"

ได้ยินดังนั้น ท่านบังเกอิก็เปิดประตูออกมา ท่านยิ้ม และบอกแก่ไดเรียวว่า "ฉันยังยืนยันที่จะกินอาหารลักษณะเดียวกันกับลูกศิษย์ผู้ต่ำต้อยที่สุดของฉันอยู่ เมื่อเธอกลายเป็นครู ฉันไม่ต้องการให้เธอลืมเรื่องนี้"

กับคนบางคนพูดด้วยยาก

"คนมันไม่เหมือนกัน ต้องเข้าใจเขา เข้าใจเราให้ถูกต้อง"

วิชามนุษย์สัมพันธ์ ดูจะเป็นวิชาที่ท้าทายพวกเราในสังคมมาก ในเมื่อต้องอยู่ร่วมกันกับคนหมู่มาก ที่มีนิสัยใจคอและรสนิยมต่างๆ กันไป ซึ่งในทางศาสนาแล้ว เขาไม่คิดมาก พูดได้ด้วยสูตรสำเร็จว่า มนุษย์ทุกคนมีกิเลส คือ มีความโลภ โกรธ หลง เป็นสันดานอยู่แล้ว ไม่มากก็น้อยทุกคน หรือถ้าจะเจาะลงไปให้ลึก ก็ระบุไปว่า ปัญหาทุกอย่างอยู่ที่เรื่องตัวตน เกิดจากการมีตัวตน ยึดถือในตัวตน คิดว่ามีตัวของตัวที่แท้ เลยหล่อเลี้ยงปกป้องตัวหรือหน้าของตัว ใจของตัว ฯลฯ แล้วก็เกิดไปกระทบกระทั่งกับคนอื่นๆ ซึ่งต่างก็หล่อเลี้ยงและปกป้องตจัวของตัวเขาด้วยเช่นกัน เป็นปัญหาลูกโซ่ไม่รู้จบ... จะมองอย่างไรก็ถูกทั้งนั้น!

มนุษย์เป็นสัตว์มีเหตุผล คำว่าเป็นสัตว์ ก็หมายความอยู่ในตัวแล้วว่า มีน้ำหนักแห่งอารมณ์อยู่มาก แต่เมื่อเป็นสัตว์มีเหตุผล มนุษย์จึงเหนือกว่าสัตว์อื่นตรงที่มีเหตุผลกำกับชีวิต แต่เหตุผลต้องผสมหรือประกอบกับอารณ์อย่างได้ส่วน หากมีแต่เหตุผลมากไป หนักเหตุผล แก่เหตุผล ก็จะทำให้ชีวิตแห้งแล้วอยู่สักหน่อย จะเห็นได้ว่าอยู่ใกล้คนแก่เหตุผลหรือเจ้า่เหตุผลนั้นไม่ค่อยเพลินเลย แต่ถ้าหนักไปทางอารมณ์ เจ้าอารมณ์ เจ้าบทบาท เอาแต่ใจตัว ก็ดูออกจะเป็นคนเปียกแฉะปั่นป่วนอยู่สักหน่อย คนอยู่ใกล้รู้สึกอบอุ่น เพลิดเพลิน แต่ก็รู้สึกยากที่จะจับใจได้ถูก จับทางได้ยากว่า จะเอาอย่างไร เดี๋ยวเอาอย่างนั้น เดี๋ยวอารมณ์จะเอาอย่างนี้เสียแล้ว (ที่จริงคนเจ้าเหตุผลก็เอาแต่ใจตนได้ โดยอาศัยเหตุผลมารองรับสมอ้างอีกที!)

ใครที่มีเจ้านายแก่เหตุผลจะสบาย ถ้าทำอะไรๆ ตามหลักการตรงเผง แต่บรรยากาศจะดูแห้งๆ อย่างไรชอบกล เหมือนเดินไปบนพื้นดินแข็งโป๊ก ส่วนคนที่มีเจ้านายเจ้าอารมณ์ เอาแต่อารมณ์ ก็จะสบายถ้าหากทำถูกใจ (อาจเป็นการประจบสอพลอก็ยังได้ด้วย) ซึ่งบรรยากาศจะเหมือนกับเดินไปในแม่น้ำโคลน เดี๋ยวเจอดินแข็ง เดี๋ยวเจอหล่มโคนติดกึกกักอยู่ตรงนั้นเดายาก

แต่ไม่ว่าจะเจอคนเช่นไร ต้องถือหลักไว้ว่า "คนมันไม่เหมือนกัน" และต้องเข้าใจเขา เข้าใจเราให้ถูกต้อง จากนั้นก็วางบทบาทให้ถูกให้เหมาะสมพอดีพองาม กำหนดตายตัวไม่ได้เลยว่า จะต้องวางตัวอย่งไร ต้องอาศัยวิจารณญาณในแต่ละกรณีไป แต่ต้องไม่กระด้างหยาบคาย และต้องไม่อ่อนจนถึงขนาดก้มเอาหัวเช็ดเท้าเจ้านายได้ (จะทำเช่นนั้นได้ ก็แต่เฉพาะต่อศาสดา เจ้าเหนือหัว บิดา มารดา ครูผู้เฒ่าและอุปัชฌาย์ (อาจารย์ผู้ทรงคุณเท่านั้น ด้วยศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์) การมีพระคุณเพียงแต่เป็นผู้บังคับบัญชาที่ดีเล็กๆ น้อยๆ เช่นนั้น อย่าไปคิดว่ามันเป็นเรื่องยิ่งใหญ่ล้นฟ้าอะไรนักหนา หรือกรณีที่เราให้ข้าวให้น้ำคนอื่นๆ ให้ได้ดื่มได้กิน ก็อย่าได้เรียกร้องขอการตอบแทนให้มันเกินขอบเขตไปนัก เช่นกัน)

กับเจ้านายบางครั้ง (ส่วนใหญ่) พูดด้วยยากมาก คือ ท่านไม่ค่อยจะเข้าใจอย่างที่เราจะให้เข้าใจ ท่านอยากเข้าใจของท่านอย่างนั้น พูดกับผู้ที่ต่ำกว่าเราในสายงาน หรือพูดกับเพื่อนร่วมงาน คู่ครอง เพื่อนบ้าน มิตรสหาย ฯลฯ ก็ในทำนองเดียวกัน พูดไปเถอะ เขาไม่ได้ยินกันดอก เขาได้ยินเสียงของตัวเขาเองในสมองดังกึกก้องอยู่ทุกเวลา พอเราอ้าปาก เขาก็ได้ยินเสียงก้องในสมองของเขาเอง แล้วว่าเราพูดอะไร มันจึงสื่อความกันไม่ค่อยจะรู้เรื่อง ไม่ต้องนับถึงการพูดรู้เรื่องความกันดี แต่ไม่เอาเพราะไม่ถูกใจฉันอีกกรณีหนึ่ง การติดต่อสื่อสารสัมพันธ์กันนี่ไม่ใช่เรื่องง่ายเลยนะ

ปกติอาจารย์เซนจะให้คำแนะนำในการปฏิบัติธรรมแก่ศิษย์เป็นการส่วนตัวทีละรายๆ ในห้องที่แยกต่างหากออกไปเป็นการเฉพาะ ในระหว่างที่ครูและศิษย์อยู่ด้วยกันนั้น จะไม่มีใครเข้าไปในห้องนั้นเลย

ท่านโมกุไร เป็นอาจารย์เซนแห่งวัดเคนนินในเมืองเกียวโต ผู้มีชื่อเสียงมากองค์หนึ่ง ท่านชอบสนทนากับพ่อค้า นักหนังสือพิมพ์ เท่าๆ กับชอบสนทนากับลูกศิษย์ของท่าน ช่างทำถังน้ำคนหนึ่งเป็นคนไม่รู้หนังสือ อ่านไม่ออกเขียนไม่ได้ เขาชอบมาถามปัญหาโง่ๆ กับท่านโมกุไร มาดื่มน้ำชาแล้วก็กลับ

วันหนึ่ง ขณะที่ช่างทำถังน้ำคนนั้นกำลังอยู่ที่นั่น ท่านอาจารย์ก็ประสงค์ที่จะให้คำแนะนำการปฏิบัติธรรมเป็นการส่วนตัวแก่ลูกศิษย์ของท่านคนหนึ่ง ดังนั้น ท่านจึงได้ขอร้องให้ช่างทำถังน้ำคนนั้นไปรอที่อีกห้องหนึ่ง

"ผมเข้าใจว่าท่านเป็นพระพุทธะที่มีชีวิต" ชายผู้นั้นประท้วงขึ้น "แม้แต่พระพุทธะหินในวันนี้ ก็ไม่เคยเลยที่จะปฏิเสธผู้คนทั้งหลายที่มาชุมนุมอยู่เฉพาะหน้าของพระองค์ แล้วทำไมผมจะต้องถูกกีดกันออกไปด้วยล่ะ?

ท่านโมกุไร จึงจำเป็นต้องออกไปพบกับลูกศิษย์ข้างนอก

ทุ่มชีวิตตามเจตจำนง

"เป้าหมายของใคร ก็เป้าหมายของคนนั้น"

ชีวิตของเรามีองค์ประกอบอยู่ด้วยกัน 3 ส่วนคือ ชีวิตในทางกายภาพ ชีวิตในทางจิต และชีวิตในทางจิตวิญญาณ ดุลยภาพของชีวิต คือ การใช้ชีวิตให้สัดส่วนทั้ง 3 นี้ ได้ดุลกัน ไม่หนักไปในทางด้านใดด้านหนึ่งเท่านั้น วิธีที่ดีที่สุดคือ ตั้งเป้าหมายไว้ทั้ง 3 หมวดแล้วตรวจสอบให้ดีว่า แต่ละหมวดนั้นเหมาะสมพอที่จะนำเอาไปเป็นอุดมคติ กำหนดแนวทางชีวิตได้หรือไม่

เป้าหมายทางกายหรือทางกายภาพ เราจะตั้งว่าอย่างไรดี บางคนมุ่งที่ความงาม บางคนมุ่งที่อายุยืน บางคนมุ่งที่ปัจจัย 4 อุดมสมบูรณ์ และก็มีบางคนมุ่งหมายเกินเลยออกไปกว่าปัจจัย 4 มีถึงปัจจัยที่ 5, 6, 7 ฯลฯ ลองกำหนดขึ้นมาเองก็แล้วกันว่า ทางวัตถุและกายภาพนั้น เราต้องการอะไร แค่ไหน กี่อย่าง

เป้าหมายทางจิต เราจะยกระดับจิตไปถึงไหน ต้องการเพียงไม่เป็นโรคจิตโรคประสาทเท่านั้นหรือ หรือว่าต้องการมีสุขภาพจิตดี มีความยิ้มแย้มแจ่มใส มีมนุษยสัมพันธ์ดี มองโลกในแง่ดี มีความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ จิตใจสงบ ฯลฯ

เป้าหมายทางจิตวิญญาณ เราจะวางไว้ลึกล้ำเพียงใด จะมุ่งหลุดพ้น หรือหวังเพียงแค่ได้บุญกุศลทั่วๆ ไป มุ่งขจัดความทุกข์ ความโลภ ความโกรธ ความหลง มุ่งกำจัดตัวตนอันเป็นมายาพิสดาร ซึ่งเป็นที่มาแห่งปัญหาทั้งปวง หรือเพียงหวังแค่เป็นคนดีมีตัวตนที่ดี (บางคนอาจจะมุ่งหลุดพ้น ละความยึดมั่นถือมั่นในทุกสิ่งในโลกนี้อย่างสิ้นเชิง ปล่อยวางสิ้นเชิงก็เป็นได้ ฯลฯ)

ทุกคนควรจะลองร่างความต้องการหรือเป้าหมาย 3 ประการนี้ดูด้วยตนเอง และตรวจสอบตรวจทานให้ดี นำไปเป็นกรอบการดำเนินชีวิตได้ ทั้ง 3 ประการควรจะสอดคล้องต้องกันไปโดยตลอด ประสานกันให้ดี อย่างน้อยนึกถึงปัญหาให้ชัด เช่น หากเกิดโรคทางกาย เราไปหาหมอที่โรงพยาบาล โรคทางจิตก็ต้องไปหาจิตแพทย์ หรือหมอทางโรคประสาท โรงทางกาย และทางติตต้องมี "เงิน" สื่อกลางแห่งการแลกเปลี่ยนไปด้วยนะ และโรคทางจิตวิญญาณ ก็ต้องพึ่งหมอสูงสุด คือ พระพุทธเจ้าหรือพระศาสดาทั้งหลาย (ฟรี) ชีวิตของเราก็ต้องบรรลุเป้าหมายทั้ง 3 ประเภทนี้อย่างสอดคล้องต้องกันไปด้วย

เป้าหมายของใครก็เป้าหมายของคนนั้น ไม่มีการดีกว่าหรือแย่กว่ากัน "คนอื่นไม่เกี่ยว" ที่นอกเหนือไปจากการตั้งเป้าหมายให้ชีวิต ทั้ง 3 ระดับนั้นแล้ว ต่อแต่นี้ไปก็เหลืออยู่แต่การลงมือกระทำ หรือปฏิบัติตามเป้าหมายของเราที่ได้วางเอาไว้ให้สัมฤทธิ์ผลเท่านั้น เหมือนเดินเรือไปตามทิศทางที่เราได้ตกลงขีดเส้นลากเป็นอุดมคติไว้บนแผนที่เดินเรือแล้ว ไม่ช้าก็เร็วต้องถึงจุดหมายแน่นอน

แต่ทว่า เรามีความบากบั่นหนักแน่นเพียงพอกับภาระธุระนี้หรือไม่? เราจะยอมทุ่มชีวิตตามเจตจำนงที่ได้ตั้งเอาไว้อย่างดีแล้วนั้นหรือไม่?

แม่ชีในพระพุทธศาสนาคนหนึ่งชื่อ เรียวเนน เกิดเมื่อ ค.ศ.1797 เป็นหลานสาวของท่านชิเงน ผู้เป็นนักรบที่มีชื่อเสียงมากคนหนึ่งของประเทศญี่ปุ่น เธอมีความสามารถในเชิงกวีเป็นอย่างมาก ประกอบกับความงามอันน่าหลงใหลของเธอด้วย ทำให้ในวัยเพียง 17 ปี เธอก็ได้เข้าไปถวายการรับใช้พระจักรพรรดินีในพระราชวังหลวง และแม้แต่ในวัยอันเยาว์เช่นนั้น ชื่อเสียงก็รอคอยเธออยู่แล้ว ต่อมาพระจักรพรรดินีผู้เป็นที่รักได้สิ้นพระชนม์ลงโดยฉับพลัน ทำให้ความฝันอันงดงามและเต็มไปด้วยความหวังของเธอต้องมลายลงไปด้วย เธอเริ่มสำเหนียกรู้ถึงความไม่เที่ยงถาวรของชีวิตในโลกนี้อย่างรุนแรง และปรารถนาที่จะศึกษาเซน

อย่างไรก็ตาม บรรดาญาติของเธอก็ไม่เห็นด้วย และได้บังคับเธอให้เข้าสู่วิวาห์ โดยให้คำมั่นสัญญาว่า เธอจะออกบวชเป็นแม่ชีได้ หลังจากได้ให้กำเนิดบุตรอย่างน้อย 3 คนแล้วเท่านั้น ซึ่งเธอก็ยินยอมตกลงตามนั้น ไม่ทันถึงอายุ 25 ปี เธอก็สามารถปฏิบัติตามสัญญาได้ครบถ้วน ดังนั้น สามีและบรรดาญาติพี่น้องของเธอก็ไม่สามารถกีดกันเธอจากความปรารถนาอันเข้มแข็งของเธอได้ เธอจึงได้โกรศีรษะและใช้นามว่า เรียวเนน ซึ่งหมายถึง การประจักษ์แจ้งอย่างแจ่มชัด แล้วเริ่มต้นออกธุดงค์

เธอได้มาถึงเมืองเอโด และขอให้ท่าน เตจิกิว รับเธอไว้เป็นศิษย์ แต่ด้วยการเหลือมองดูเธอเพียงแวบเดียว ท่านอาจารย์ก็ปฏิเสธที่จะรับเธอไว้ว เพราะว่าเธอมีความสวยมากเกินไป เรียวเนนจึงเดินทางไปหาอาจารย์ท่านอื่นอีกท่านหนึ่ง คือท่านฮะกูโอะ ซึ่งท่านฮะกูโอะก็ปฏิเสธเธอด้วยเหตุผลเดียวกันนั้นเอง โดยกล่าวว่า ความงามของเธอมีแต่จะก่อให้เกิดเรื่องยุ่งขึ้น

เรียวเนนจึงได้นำเอาเหล็กร้อนมาวางนาบลงบนใบหน้าของเธอ และในชั่วพริบตาเดียว ความงามของเธอก็สูญหายไปตลอดกาล ท่านฮะกูโอะ จึงรับเธอไว้เป็นศิษย์ เพื่อระลึกโอกาสนี้ เรียวเนนจึงเขียนบทกวีขึ้นบทหนึ่ง บนด้านหลังของกระจกส่องหน้าเล็กๆ ว่า

"ในการรับใช้พระจักรพรรดินีของฉัน ฉันเผาธุปหอมเพื่ออบเสื้อผ้าของฉันให้หอมหวน
เดี๋ยวนี้ในฐานะของนักบวช (ผู้ภิกขาจาร) ที่ไร้บ้าน ฉันเผาใบหน้าของฉันเพื่อสู่วัดเซน"

เมื่อเธอกำลังจะจากโลกนี้ไป เธอได้เขียนบทกวีขึ้นอีกบทหนึ่ง

"หกสิบหกครั้งแล้วที่ดวงตาคู่นี้ได้เห็นการแปรเปลี่ยนไปของฉากภาพแห่งฤดูใบไม้ร่วง.
ฉันมีแสงจันทร์มากพอแล้ว. ไม่ขออะไรอีก. แต่ขอเพียงให้ได้ยินเสียงของตนสนและต้นสีดาเมื่อยามลมสงบเท่านั้น"

เถรตรง-ดื้อรั้น/เชื่อมั่น-ตรงแน่ว

"คนตรงคือคนที่รอบรู้สถานการณ์ต่างๆ ดี มีความยืดหยุ่นในตัวเองสูง"

เส้นเขตแดนจำแนกความแตกต่างระหว่าง การเป็นคนตรง (ตรงแน่ว) กับการเป็นคนเถรตรงนั้น ดู้ไปแล้วไม่น่ามีปัญหา แต่มันก็เป็นปัญหาขึ้น เพราะพวกเราเข้าใจไขว้เขว... รวมไปถึงคำว่า "ดื้อรั้นและเชื่อมั่น" ด้วย คำว่า "เถรตรง" นี้มีที่มาเป็นนิทานของไทยโบราณเรื่องเกี่ยวกับตาเถร ยายชี อะไรทำนองนั้นแหละ

ตาเถรคนหนึ่งแกถือความตรงเป็นสาระสำคัญของชีวิตแกอย่างยิ่ง ทำอะไรก็ทำตรงๆ ไม่อ้อมค้อม พูดก็พูดตรงๆ ไม่อ้อมค้อม เดินไปไหนแกก็เดินไปตรงๆ ไม่ยอมอ้อมเช่นกัน วันหนึ่งแกก้เดินผ่านไปกลางนา ก็ไปเจอเข้ากับต้นตาลต้นหนึ่งขวางทางอยู่ แกก็ไม่ยอมหลบ ด้วยวิสัยความเป็นคนตรงของแกนั่นแหละ แทนที่จะเดินอ้อมไปสักหน่อยแกก็ไม่ยอม แกกลับปีนขึ้นต้นตาลตรงไปถึงยอด แล้วข้ามยอดตาลไปอีกซีกหนึ่งของลำต้น แล้วไต่ลงไป แต่แทนที่จะหันหน้าเข้าต้นตาล แกก็หันหน้าไปข้างหน้าและหันหลังให้ลำต้น (ด้วยความเป็นคนตรงของแกนั่นเอง) ฝ่ายยายชีมาเห็นเข้าก็ร้องตือนว่า ทำไมไม่ไต่ลงมาโดยหันหน้าเข้าลำต้นละ หันหลังให้ลำต้นจะตกลงมาตายเสียเปล่าๆ ตาเถรก็เถียงว่า ไม่ได้ ฉันเป็นคนตรง ฉันจะเดินไปข้างหน้า ดังนั้น ฉันจะไม่หันกลับเด็ดขาด ว่าแล้วแกก็ไต่ลงมาจากต้นตาล โดยหันหลังให้ลำต้นอย่างนั้น และแกก็หล่นลงมาคอหักตายในที่สุด

เถรตรงจึงเป็นอันตรายเช่นนี้ และเมื่อพูดถึงคนที่เป็นเถรตรงก็มักจะหมายถึง คนที่ทำอะไรตรงๆ แล้วจะเกิดผลลัพธ์ที่เป็นอันตรายเช่นนี้นั่นเอง ส่วนการเป็นคนตรง หรือที่เราใช้ว่า ตรงแน่ว นั้นเป็นคนละเรื่อง เพราะในตัวอย่างของเถรตรงนั้น ถ้าเป็นคนตรง เขาจะอ้อมต้นตาลไปหน่อย แล้วเดินต่อไปจนถึงจุดหมายได้ โดยไม่มีอันตรายอะไรเกิดขึ้นแก่ตัวเองเลย หมายความว่า คนตรง คือ คนที่รอบรู้สถานการณ์ต่างๆ ดี มีความยืดหยุ่นในตัวเองสูง แต่ทั้งนี้ ไม่ได้หมายความว่า เขาจะทอดทิ้งเป้าหมายหรืออุดมคติอะไรของเขาไปเสีย หากแต่ในบางสถานการณ์ต้องดำรงตนอย่างหนึ่งและในอีกสถานการณ์หนึ่ง ก็ต้องปรับแปรไปบ้างเป็นธรรมดา เพราะโดยหลักการเดิมนั้นเอง เมื่อเผชิญกับคนต่างกัน สิ่งแวดล้อมต่างกัน เป็นธรรมดาอยู่เองที่จะต้องปรับวิธีการไปบ้างให้เหมาะสม จะทำตนเป็นคนตรงชนิดยอมหักไม่ยอมงอ (เหล็ก?) บางทีก็เลยหักไปจริงๆ เลย

ในเรื่องของความดื้อรั้นและความเชื่อมั่นก็เช่นกัน บางคนกล่าวว่า ความดื้อรั้นคือความเชื่อมั่นของเราที่ฝ่ายตรงข้ามไม่ชอบใจ และตำหนิว่า เราดื้อรั้นไมยอมเปลี่ยนใจ ฯลฯ และความเชื่อมั่น ก็คือความดื้อรั้นที่ถูกทางนั่นเอง! ที่จริง ความเชื่อมั่น จะมาจากความเข้าใจในตัวเอง เข้าใจในสถานการณ์ที่แวดล้อม มีความพึงพอใจในตัวเอง แล้วจากนั้นจึงจะเกิดมีความเชื่อมั่นในตัวเอง มันไม่ใช่สิ่งที่จะเกิดขึ้นมาลอยๆ หรือคิดๆ นึกๆ เอา

แต่ความดื้อรั้นนั้นไม่ขึ้นอยู่กับอะไรเลย นอกจากความพอใจของตนเอง นึกอยากเอาอย่างนั้นก็มุ่งมั่นอย่างนั้นไม่พึ่งใคร ยืนยันเด็ดเดี่ยวอย่างนั้นไม่เปลี่ยนแปลง และมั่นอกมั่นใจในแนวทางของตนนั้นไม่เปลี่ยนแปลง ดูไปก็คล้ายเชื่อมั่นในตัวเองมาก แต่ที่แท้เป็นความดื้อรั้นดึงดันเอาตามทิฐิมานะของตน ไม่เหมือนความเชื่อมั่นในตัวเองที่จะมีการปรับแปรหรือยืดหยุ่นได้ ไม่แข็งกระด้างและตายซากดุจความดื้อรั้น

ฉะนั้น ต้องคอยตรวจสอบตัวเองบ่อยๆ ว่า ความเชื่อมั่นในตัวเองในเรื่องต่างๆ นั้นไม่ได้กลายเป็นความดื้อรั้นไป และความตรงแน่วหรือการยึดมั่นในหลักการหรือวิธีการต่างๆ นั้น อย่าให้กลายเป็นควาเถรตรง ชนิดยอมหักไม่ยอมงอ เพราะจะมีแต่ผลเสียแต่ประการเดียว เราลองมาดูกันว่า เซนที่ตรงต่ออุดมการณ์เป็นอย่างไร

กิตาโน เก็บโป เป็นสมภารแห่งวัดเออิเฮอิ ในประเทศญี่ปุ่น ท่านจากไปในปี ค.ศ.1933 ด้วยอายุ 92 ปี ตลอดชีวิตของทาน ท่านพากเพียรอย่างยิ่งที่จะไม่ยึดติดในสิ่งใดๆ เลย ในฐานะของนักบวชผู้ภิกขาจารไปทั่ว ขณะเมื่อท่านอายุได้ 20 ปี ท่านก็ได้พบเข้ากับนักเดินทางผู้หนึ่งซึ่งชอบสูบยาเส้นเป็นประจำ ขณะที่เดินทางไปด้วยกันตามถนนในหุบเขา พวกเขาทั้งสองก็ได้หยุดแวะพักที่ใต้ต้นไม้ต้นหนึ่ง และนักเดินทางคนนั้นก็ได้ให้ยาเส้นแก่กิตาโนได้ลองสูบดู ซึ่งทานก็รับมาสูบ เพราะขณะนั้นท่านหิวข้าวมากจริงๆ "การสูบบุหรี่นี่มันช่างเพลิดเพลินดีจริงๆ " ท่านกล่าวแสดงความเห็นขึ้น นักเดินทางคนนั้น จึงได้ให้กล้องยาสูบและยาเส้นแก่ท่านอีกจำนวนหนึ่ง ก่อนจะแยกเดินทางไปตามทางของเขา

กิตาโน รู้สึกขึ้นมาว่า "สิ่งที่น่าเพลิดเพลินเช่นนี้อาจจะรบกวนสมาธิภาวนาของเราได้ ดังนั้น ก่อนที่มันจะไปไกลเกินกว่านี้ เราจะต้องหยุดมันเสียก่อน" คิดดังนั้นแล้ว ท่านก็ขว้างเครื่องเคราและอุปกรณ์การสูบยาเส้นทิ้งไปเสียในทันที

เมื่อท่านอายุได้ 23 ปี ท่านก็ศึกษา อี้-จิง อันเป็นคัมภีร์แสดงหลักทฤษฎีของจักรวาลที่ลึกซึ้งที่สุดเล่มหนึ่ง ในขณะนั้นเป็นฤดูหนาว และบังเอิญท่านก็ต้องการเสื้อผ้าหนาๆ ไว้กันหนาว ท่านจึงได้เขียนจดหมายไปถึงครูท่าน ผู้ซึ่งอาศัยอยู่ไกลออกไปนับเป็นร้อยๆ ไมล์ บอกให้ทราบถึงความต้องการของท่าน และมอบจดหมายนั้นให้ผู้เดินทางที่ผ่านมาเป็นผู้นำไปส่งให้

จวบจนฤดูหนาวได้ผ่านไปจนจะพ้นอยู่แล้ว ก็ยังไม่มีคำตอบ และไม่มีเสื้อผ้าจากอาจารย์ส่งกลับมา ดังนั้น กิตาโนจึงหันไปพึ่งตาทิพย์หรืออำนาจการหยั่งรู้เหตุการณ์ล่วงหน้าของอี้-จิง ซึ่งสามารถนำมันมาใช้เป็นเครื่องมือทำนายทายทักได้ด้วย ท่านใช้ค้นคว้าหาคำตอบว่า จดหมายของท่านได้ส่งไปผิดหรือไม่ และคำตอบจากอี้-จิง ก็เป็นเช่นนั้น ต่อมาก็มีจดหมายมาจากครูของท่าน ซึ่งก็ไม่ได้มีการพูดถึงเรื่องเสื้อผ้าอะไรเลย

"ถ้าฉันทำการวินิจฉัยสิ่งต่างๆ ได้อย่างถูกต้องตรงเผงด้วย อี้-จิง เช่นนี้ บางทีฉันอาจจะละเลยต่อการปฏิบัติสมาธิภาวนาของฉันเสียก็ได้" กิตาโนเริ่มรู้สึกดังนั้น เหตุนี้เอง ท่านจึงได้ทิ้งคำสอนอันมหัศจรรย์นี้เสีย และไม่เคยพึ่งอำนาจการพยากรณ์ของอี้-จิง อีกเลย

เมื่อท่านอายุได้ 28 ปี ท่านได้ศึกษาบทกวีและการเขียนลายสือจีนอันงดงาม ซึ่งท่านก็มีความเชี่ยวชาญในศิลปะแขนงนี้เป็นอย่างยิ่ง จนแม้แต่อาจารย์ผู้สอนท่านก็ยังชมเชยยกย่อง แต่กิตาโนใคร่ครวญดูแล้ว "ถ้าฉันไม่หยุดเสียเดี๋ยวนี้ ฉันก็จะกลายเป็นกวีไป ไม่ใช่อาจารย์เซน" ดังนั้น ท่านจึงไม่เขียนบทกวีอีกเลย นับแต่นั้นมา

นี่เป็นความตรงแน่วทั้งในอุดมการณ์และวิธีการ อย่างน่าสรรเสริญยิ่งทีเดียว จะทำอะไรก็ทำให้จริง จะเป็นอะไรก็เป็นให้จริง อย่าทำล่อหลุบ ผลุบเข้า ผลุบออก ดุจ "หัวเตา" ให้เสีย "ธรรม" ไม่เลย!

กุศโลบาย

"เราต้องใช้กุศโลบายในการควบคุมจิตของเราด้วย"

ชีวิตคือความสัมพันธ์ ถ้าชีวิตอยู่โดดเดี่ยว นั่นไม่เรียกว่าชีวิต ชีวิตเป็นความสัมพันธ์ของตัวเรากับสิ่งต่างๆ รอบตัวเรา เป็นความสัมพันธ์กับผู้คนรอบๆ ตัวเรา และเป็นความสัมพันธ์กับความคิดของเรา ในความสัมพันธ์เหล่านั้น สิ่งที่เรียกว่าอุบายหรือวิธีในการดำรงความสัมพันธ์เป็นสิ่งที่สำคัญที่สุด เพราะไม่ว่าสิ่งใด เราไม่อาจจะเข้าไปเผชิญได้อย่างทื่อๆ หรือตรงเกินไป จำเป็นต้องอาศัยอุบายหรือวิธีการที่เหมาะสม

แต่คำว่า "อุบาย" มีความหมายไปในทางทำนองชั่วร้าย เลยจึงต้องมีคำว่า "กุศโลยาย" ขึ้นมาใช้แทน เราต้องใช้กุศโลบายในการคบคน ในการปกครองคน ในการผูกมิตร ในการจัดการกับสิ่งต่างๆ และแม้แต่จิตของเราเอง เราก็ต้องใช้กุศโลบายในการควบคุมจิตของเราด้วย ใช้ทั้งในการข่มจิตเมื่อจิตฟุ้ง และยกชูจิตในกรณีจิต "ตก" หรือแฟบ ห่อเหี่ยว

เมื่อชีวิตเป็นความสัมพันธ์ ผู้ที่เข้ามาสัมพันธ์กับเรา จึงมีความสำคัญเป็นประการต่อมา นั่นคือ ผู้คนที่อยู่รอบข้างเรานั่นเองที่มีบทบาทต่อเรามากที่สุด โดยเฉพาะอย่างยิ่งเพื่อนที่ดี หรือที่พระพุทธองค์ทรงเรียกว่า "กัลยาณมิตร" กัลยาณมิตร มีความสำคัญต่อการบรรลุธรรมเป็นอย่างมาก (ในกิจกรรมอื่น มิตรก็มีความสำคัญเช่นกัน) แต่กัลยาณมิตรที่ยิ่งใหญ่ที่สุดก็คือ "ครู" หรือผู้ชี้ทางนั่นเอง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ครูทางจิตวิญญาณ

ความเมตตาของครูทำให้ครูอดทนได้ต่อความดื้อรั้นของลูกศิษย์ และอิ่มเอมใจเมื่อศิษย์ประสบความสำเร็จ แต่จะเสียใจเมื่อศิษย์ดำเนินชีวิตผิดพลาด ความภาคภูมิใจของครูนั้นยิ่งใหญ่ยิ่งนัก ความเสียสละของครูก็ยากที่จะประมาณได้ ต้องใช้ทั้งความอุตสาหะ มานะอดทน พร่ำสอนด้วยกุศโลบายต่างๆ นานา เพื่อนำลูกศิษย์ให้บรรลุถึงจุดหมายปลายทางให้จงได้ ลองมาดูสปิริตครูของเซนดูบ้างว่า ท่านใช้กุศโลบายแยกคายอย่างไรบ้าง ในการสร้างศิษย์ของท่าน

สุยโอ ได้ชื่อว่าเป็นครูที่ดีคนหนึ่ง ท่านเป็นศิษย์ของฮะกูอิน อาจารย์เซนผู้มีชื่อเสียงคนหนึ่งของประเทศญี่ปุ่น ในระหว่างช่วงการหลีกเร้นบำเพ็ญภาวนาในฤดูร้อน นักศึกษาผู้หนึ่งก็ได้เดินทางมาจากเกาะทางตอนใต้ ของประเทศญี่ปุ่น มาขอศึกษาเซนจากท่าน ท่านสุยโอ ได้ให้ปริศนาธรรมแก่เขานำไปขบคิดว่า "จงฟังเสียงของมือข้างเดียวให้ได้ยิน" (เสียงจากากรตบมือ 2 ข้างนั้น เรารู้จักกันดี แต่เสียงของมือข้างเดียวล่ะ เป็นอย่างไร?)

นักศึกษาผู้นั้นอยู่กับท่าน 3 ปี แต่ก็ยังไม่อาจจะผ่านการทดสอบบทนี้ได้ คืนวันหนึ่งเขาจึงได้เข้าไปหาท่านสุยโอด้วยน้ำตานองหน้า "ผมต้องกลับไปใต้ด้วยความอับอาย และหนักใจมาก" เขากล่าวขึ้น "เพราะผมไม่อาจจะไขปัญหานี้ได้"

"รออีกสัก 1 สัปดาห์เถิด และทำสมาธิภาวนาให้ต่อเนื่องเข้าไว้" ท่านสุยโอให้คำแนะนำ แต่กระนั้นการตรัสรู้ก็ยังไม่ปราฏแก่นักศึกษาผู้น่าสงสารคนนั้น "จงพยายามอีกสัก 1 สัปดาห์เถิด" นักศึกษาก็เชื่อฟังท่าน แต่ก็ไร้ประโยชน์

"อีกสัปดาห์หนึ่งเถิดน่ะ" แต่กระนั้นก็ไม่มีอะไรเกิดขึ้น ด้วยความสิ้นหวังนักศึกษาผู้นั้นก็ได้มาขอลาจากไป แต่ท่านสุยโอก็ขอร้องหใ้ทำสมาธิต่ออีก 5 วัน ซึ่งก็ไม่ได้ผลอะไรอีกเช่นกัน จากนั้นท่านก็กล่าวว่า "จงทำสมาธิภาวนาต่ออีก 3 วันเถิด และถ้าเธอยังไม่อาจจะบรรลุถึงซึ่งธรรมได้แล้วละก็ เธอจงไปฆ่าตัวตายเสีย" ในวันที่สองนั่นเองนักศึกษาผู้นั้นก็ได้บรรลุธรรม

มีนักศึกษาจำนวนมากศึกษาสมาธิภาวนาอยู่ภายใต้การสั่งตอนของอาจารย์เซนชื่อ "เซนไก" นักศึกษาคนหนึ่งชอบลุกขึ้นในตอนกลางคืน และปีนข้ามกำแพงวัดหลบเข้าไปหาความสำราญในเมือง คืนวันหนึ่ง ท่านเซนไกได้ตรวจสอบโรงนอนของพระนักเรียนก็ได้พบว่า นักศึกษาคนนี้ได้หายไป และท่านยังได้พบม้าสูงตัวหนึ่งที่นักศึกษาผู้นั้นใช้ต่อตัวปีนข้ามกำแพงด้วย ท่านเซนไกจึงย้ายเอาม้าสูงตัวนั้นออกไป และเข้าไปยืนแทนที่ตรงนั้น

เมื่อนักท่องราตรีกลับมา ด้วยไม่รู้ว่าอาจารย์เซนไกได้เข้าไปยืนแทนม้าสูงตรงนั้น เขาก็เอาเท้าเหยียบลงบนหัวของอาจารย์เข้าพอดี และใช้ต่อตัวกระโดดลงพื้น ทันทีที่พบว่าเขาได้ทำอะไรลงไป เขาก็ตัวสั่นเทาด้วยความตกใจกลัว ท่านเซนไกกล่าวขึ้นเบาๆ ว่า "ตอนเช้ามืดอย่างนี้อากาศหนาวเย็นมากนะ จงระมัดระวังอย่าให้เป็นหวัดล่ะ" นักศึกษาผู้นั้นไม่ออกไปข้างนอกในยามค่ำคืนอีกเลยนับแต่นั้นมา

น้ำใจของครูนั้นช่างประเสริฐแท้ และกุศโลบายของท่านก็ยอดเยี่ยมด้วยการอุทิศตัวเอง เสียสละและเอาใจใส่ต่อศิษย์อย่างชนิดที่ไม่อาจจะหาถ้อยคำใดมาพร่ำสรรเสริญให้ครบถ้วนได้

สัตย์ซื่อและจริงใจ

"ชีวิตที่ประสบความสำเร็จ กับชีวิตที่ร่ำรวยมันเป็นคนละเรื่องกัน"

ความซื่อสัตย์เป็นนโยบายที่ดีที่สุด ภาษิตบทหนึ่งเขาว่าไว้อย่างนี้ และปัจจุบันนี้ก็ยังเป็นเช่นนี้อยู่ แต่ทว่าผู้คนจำนวนไม่น้อยเริ่มไม่เชื่อว่า ความซื่อสัตย์จะเป็นสิ่งที่ดีที่สุดเสียแล้ว บางคนเห็นไปว่า ซื่อกับเซ่อนั้นเป็นสิ่งเดียวกัน การได้ เป็นสิ่งที่ดี การสูญเสียหรือการอดเป็นสิ่งที่เลว

ถ้ามองจากความโลภออกมา ประเมินโดยมีความโลภอยู่ในใจแล้ว การซื่อตรงแล้วอดก็คงจะสู้การคดโกงแล้ว "ได้" ไม่ได้จริงๆ แต่ซื่อกินไม่หมด คดกินไม่นาน ก็ยังได้รับการโฆษณาให้ได้ยินกันอยู่ทุกวัน แล้วมันจริงหรือ?

ในทุกวงการ ความซื่อสัตย์และความจริงใจ เป็นที่ต้องการกันเป็นอย่างมาก ไม่ว่าในทางโลก อย่างวงการค้า การติดต่อธุรกิจ หรือในวงการเมืองไม่ต้องนับในวงการศาสนาก็ได้ เพราะในวงการศาสนานี้ หากไม่สนใจเรื่องความซื่อสัตย์เสียแล้ว ก็คงจะไปไม่ได้ไกลสักแค่ไหน คนทุกวันนี้เริ่มคลางแคลงใจในคุณค่าของความสัตย์ซื่อและความจริงใจกันมากขึ้น ก็เพราะไปมองดูผู้ที่โกงกินแล้วร่ำรวยเป็นตัวอย่าง คนซื่อสัตย์กลับสูญเสีย เลยไม่น่าเอาเป็นตัวอย่าง แต่ไม่ได้มองให้ลึกลงไปว่า บรรดาผู้ที่โกงเขามาจนร่ำรวยนั้น มีความสุขสงบใจดีอยู่หรือ ถ้ามองกันตื้นๆ เพียงแค่การมีวัตถุธรรมมากมายเป็นสิ่งที่ดีงามละก็ ไม่ใช่เรื่องยาก เพราะเราก็โกงเป็น ใครๆ ก็โกงเป็น

แต่ที่ไม่โกงก็เพราะชีวิตมันมีอะไรๆ มากยิ่งกว่าวัตถุปัจจัยเล็กๆ น้อยๆ เพียงเท่านั้น ถ้าเราต้องการสร้างตัวสร้างชีวิต ไม่ว่าจะในทางโลกหรือในทางธรรม สิ่งแรกที่ต้องเน้นคือสัจจะ และความสัตย์ซื่อจริงใจ จำเป็นต้องมี การต่อสู้กันในเกมนั้นมีได้ ไม่ว่าในเชิงการค้าหรือะุรกิจ หรือการเมือง แต่โดยเนื้อแท้แล้วต้องถือสัจจะ มีความสัตย์ซื่อจริงใจต่อกัน ไม่เช่นนั้น จะเจริญในทางธรรมไม่ได้ และในทางโลกก็ไม่เจริญด้วย (แต่อาจจะร่ำรวยก็ได้นะ ชีวิตที่ประสบความสำเร็จกับชีวิตที่ร่ำรวยนั่นมันเป็นคนละเรื่องกัน ต้องแยกให้ออก อย่าเอาไปปนกัน...เหมือนกับผู้ดีกับผู้ที่ร่ำรวยนั่นแหละ มักจะสับสนเอาไปปนกันบ่อยๆ)

ท่านกาซานได้รับกิจนิมนต์ให้ไปประกอบพิธีทางศาสนาในพิธีฝังศพของขุนนางผู้ใหญ่ในเมืองแห่งหนึ่ง ท่านไม่เคยได้พบกับบรรดาขุนนางและผู้มีชื่อเสียงมากๆ มาก่อนเลย ดังนั้น ท่านจึงกระวนกระวายใจมาก เมื่อพิธีเริ่มขึ้น ท่านกาซานก็ถึงกับเหงื่อตก

หลังจากนั้นต่อมา เมื่อท่านกลับไปถึงวัดของท่าน ท่านก็ได้เรียกประชุมนักศึกษาทั้งหลายผู้เป็นสานุศิษย์ของท่านทั้งหมด และสารภาพแก่ที่ประชุมว่า ท่านยังไม่มีคุณสมบัติเหมาะที่จะเป็นครูสอนใครได้ เพราะว่าท่านยังไม่มีท่าทีแห่งจิตอันสงบเย็นเฉกเช่นกำลังอยู่คนเดียวในวัดอันสงบ ในเมื่อมาอยู่ในสังคมโลกแห่งชื่อเสียงและเกียรติยศเช่นนี้

แล้วกาซานก็ลาออกและไปขอศึกษาอยู่กับอาจารย์เซนอีกท่านหนึ่งอีก 8 ปี ต่อมาท่านจึงได้บรรลุธรรมและได้กลับมาสั่งสอนลูกศิษย์ของท่านตามเดิม จงสัตย์ซื่อและจริงใจต่อผู้อื่นและต่อตัวเองเสมอ

อย่า "อะไรก็ได้"

"เรามักเข้าใจผิดว่าการเป็นคน อะไรก็ได้นั้น หมายถึงการเป็นคนง่ายๆ ไม่มีปัญหามาก

เป็นคนสมถะซึ่งทางศาสนายกย่อง- ผิดถนัด!"

จะทำอะไรสักอย่างหนึ่ง ต้องมีจุดหมายหรือที่หมาย ที่จริงแล้วทุกคนต่างก็มีจุดหมายหรือที่หมายของตนทั้งนั้น หากแต่จะชัดในสำนึกของตนเองหรือไม่นั่นเป็นอีกเรื่องหนึ่ง บางคนสำเหนียกถึงจุดหมายของตนชัดเจน บางคนไม่รู้สึกถึงจุดหมายของตนเองว่าคืออะไร บางคนจุดหมายไม่แน่นอน แปรเปลี่ยนไปได้เรื่อยๆ บางคนไม่กำหนดจุดหมายเอาไว้เลย ทำใจไปว่าอะไรก็ได้ อย่างไรก็ได้...ปัญหามันก็เกิดมีขึ้นมาตามสัดส่วนเดียวกัน

เรือ 2 ลำออกท่องทะเลพร้อมกัน ลำหนึ่งกำหนดจุดหมายไว้แน่นอนว่าจะไปไหน ส่วนอีกลำหนึ่งออกเรือไปแล้วก็ยังไม่รู้เลยว่าจะไปที่ไหน คือไม่ได้กำหนดเป้าหมาย แล้วมันจะถึงที่สุดแห่งการเดินทางได้อย่างไร? แม้การเดินทางผจญภัย ยังไม่รู้ที่หมายข้างหน้า แต่นั่นก็มีเป้าหมายหรือมีจุดหมายแห่งการเดินทางแล้วว่าจะมุ่งหน้าไปเรื่อยๆ จนกว่าจะพบเกาะแปลกๆ หรือฝั่งที่ยังไม่มีใครสำรวจมาก่อน ไม่ใช่ว่าเขาจะเดินทางไปอย่างไร้จุดหมาย คือไม่ใช่ไร้จุดหมายโดยสักแต่ว่าแล่นเรือไปก็แล่นมันไปอย่างนั้นเอง (ไม่ใช่ถามว่า หวังจะพบเกาะแปลกๆ หรือ "เปล่า" หรือว่าต้องการทดสอบการเดินเรือเฉยๆ "เปล่า" อีก หรือว่ามุ่งหน้าตรงไปยังฟากฝั่งโน้น ก็ "เปล่า" อีกแล้วไม่รู้ว่าออกเดินทางไปทำไม!)

ถ้าเรากำหนดเป้าหมายหรือจุดหมายได้ เราจะสามารถกำหนดทิศทางที่เราจะเดินทางได้ คือ "เป้าหมายกำหนดวิธีการ" นั่นเอง แต่ถ้าเราเดินเรือไปโดยไม่กำหนดที่หมายข้างหน้า เราก็อาจจะเดินทางเปะปะไปเรื่อยไม่รู้ว่าเมื่อใดจะได้พัก (เพราะบรรลุถึงที่หมายแล้ว) สักที หรือบางทีก็อาจจะไปเกยตื้นหรือชนหินโสโครกในทะเลคว่ำลงเสียก่อนก็เป็นไปได้ เพราะไม่ได้กำหนดที่หมายและวิถีทางให้ดีเสียก่อน

บางคนไม่ชอบกำหนดเป้าหมาย เพราะกลัวว่าจะกำหนดพลาด นี่เป็นความกลัวอีกประเภทหนึ่ง ที่จริงเป้าหมายหรือที่หมายในชีวิตและการงานของเรานั้น แปรเปลี่ยนหรือปรับได้เรื่อยๆ ด้วยความรู้หรือข้อมูลใหม่ที่เหมาะสม ไม่ใช่ว่าจะต้องตายตัวอยู่อย่างนั้น เพราะมีข้อเท็จจริงว่า เด็กก็รู้จักชีวิตในลักษณะหนึ่ง ผู้ใหญ่ก็รู้จักชีวิตในลักษณะหนึ่ง ฯลฯ เมื่อโตขึ้น เจริญด้วยวุฒิภาวะ (ความรู้และประสบการณ์ต่างๆ) มากขึ้นก็อาจปรับแก้เป้าหมายในชีวิตของเราให้เหมาะสมได้ ไม่ใช่เรื่องน่าอับอาย ไม่ใช่เรื่องผิดปกติแต่อย่างใด

ดังนั้น ไม่ว่าเรื่องเล็กหรือเรื่องใหญ่ เรื่องสำคัญหรือเรื่องธรรมดาในชีวิตประจำวัน เราต้องกำหนดเป้าหมายหรือที่หมายของการกระทำนั้นๆ ของเราให้ชัดในห้วงสำนึกเสมอ อย่า "อะไรก็ได้" รามักเข้าใจผิดว่า การเป็นคน "อะไรก็ได้" นั้นหมายถึงการเป็นคนง่ายๆ ไม่มีปัญหามาก เป็นคนสมถะซึ่งทางศาสนายกย่อง-ผิดถนัด!)

คนที่ไม่รู้ตัวว่ากำลังทำอะไรลงไปนั่นแหละที่ศาสนาตำหนิ ไม่รู้ตัว แม้แต่ว่าตัวเองจะเอาอย่างไร เลยตัดปัญหาไปว่า "อะไรก็ได้" ...การเป็นคนง่ายๆ นั้นดีแน่ กินง่าย อยู่ง่าย แต่งตัวง่ายๆ ฯลฯ แต่ "อะไรก็ได้" ชนิดที่ตัดสินใจไม่ได้ (จึงสรุปออกมาเช่นนั้น) เป็นเรื่องควรตำหนิอย่างยิ่ง

เข้าไปร้านอาหาร เพื่อนถามว่า จะรับประทานอะไรดี "อะไรก็ได้" ...สั่งข้าวราดแกง แม่ค้าถามว่าจะรับแกงอะไรดี "อะไรก็ได้"...ทำงานชิ้นนี้เพื่ออะไร ต้องการอะไร "ก็ทำไปงั้นๆ แหละ อะไรก็ได้" ...ชีวิตนี้ต้องการอะไร ตั้งเป้ามหายของชีวิตไว้อย่างไรบ้าง "ก็ไม่มีอะไร ไปเรื่อยๆ อะไรก็ได้"...ดูเหมือนเป็นคนง่ายๆ สมถะๆ แต่ที่จริงเป็นคนมักง่ย ไม่กล้าเผชิญชีวิตจริง ไม่ยอมรับรู้โลกแห่งความจริงว่า กำลังเป็นไปอย่างไร และเราจะต้องมีบทบาทอย่างไรในแต่ละเรื่องแต่ละกรณีของชีวิต

ดังนั้น ทุกเรื่องเราต้องกำหนดให้ชัดในใจว่าเราจะทำอะไร เพื่อะไร มีอะไรเป็นเป้าหมายหรือที่หมายและด้วยวิธีใด ทำเล่นแก้กลุ้มหรือว่าทำจริงเพื่อชีวิต ต้องเด่นชัด มีทิศทาง และซีเรียสจริงจังกับมันทุกเรื่อง (แต่กำหนดแล้วต้องปล่อยวาง อย่าไปแบกถือชนิดไม่ผ่อนคลายให้ต้องอึดอัด ในที่นี้เราต้องการเพียงให้สำเหนียกรู้ชัดถึงเป้ามหายเท่านั้น ไม่ได้ต้องการให้วิตกกังวลในเป้าหมายนั้นแต่อย่างใด ไม่มักง่ายกับชีวิตและการงาน แต่ก็ต้องไม่ยึดมั่นและวิตกกังวลกับชีวิตและการงานด้วย)

เซนโนริคิว อาจารย์เซนผู้เชี่ยวชาญในการชงชา ปรารถนาที่จะแขวนกระเช้าดอกไม้ไว้บนเสาต้นหนึ่ง ท่านจึงได้เรียกช่างไม้คนหนึ่งให้มาช่วย โดยท่านเป็นคนชี้กำหนดที่ที่จะแขวนกระเช้าดอกไม้ใบนั้น สูงอีกหน่อย ต่ำลงหน่อย ไปทางขวา ไปทางซ้าย จนกระทั่งได้จุดที่เหมาะสมอย่างแท้จริง "นั่นแหละที่ตรงนั้นแหละ" เซนโนริคิวกล่าวขึ้นในที่สุด ช่างไม้ผู้นั้นต้องการที่จะทดสอบอาจารย์เซน จึงแอบทำเครื่องหมายที่จุดนั้นไว้ แล้วแกล้งทำเป็นลืม และถามอาจารย์เซนโนริคิวใหม่ว่า ที่ตรงโน้นใช่ไหม? "หรือว่าที่ตรงนั้น?" ช่างไม้ถามไปก็ชี้ไปยังที่ต่างๆ บนเสาต้นนั้น

แต่ความรู้สึกทางสัดส่วนของอาจารย์เซนผู้เชี่ยวชาญการชงชาท่านนี้ ช่างถูกต้องครบถ้วนอย่างไม่มีที่ติ ช่างไม้ชี้ไปเรื่อยๆ จนกระทั่งไปถึงจุดที่ท่านได้กำหนดไว้แต่แรกแล้วนั่นเอง ที่ท่านเซนโนริคิวได้ให้คำรับรองว่าถูกแล้ว ถูกแล้ว ถ้าหากอาจารย์เซนโนริคิว เป็นคนประเภท "อะไรก็ได้" แม้ช่างไม้ก็คงอดไม่ได้ที่จะต้องยิ้มเยาะท่าน

สติ-ที่พึ่งอันปลอดภัย

"เพราะไม่รู้ตัวอยู่เสมอๆ พอความคิดเกิดขึ้นก็ตั้งตัวไม่ติด
พลัดตกลงไปในกระแสแห่งความคิด"

"................"
ประโยคในอัญประกาศข้างบนนั้น คงจะเป็นประโยคที่ถูกต้องที่สุดในการอธิบายถึงเรื่งอขงสติ ในกทางโลกและทางธรรม บางทีเราเข้าใจไม่ตรงกันในความหมายของคำว่า "สติ" คนที่ขี้หลงขี้ลืม ทางโลกเราก็มักเรียกกันว่าเป็นคนที่ไม่มีสติ และคนที่เสียสติก็คือคนที่เราเรียกว่า "วิกลจริต" หรือบ้านั่นเอง ตรงกับคำว่าสติฟั่นเฟือนคือจิตใจเลอะเลือน และคำว่า "สติไม่ดี" คือจิตใจและอารมณ์ผิดปกติ บ้าๆ บ้อๆ และแม้แต่คนที่จิตใจเลื่อนลอย เราก็เรียกว่าสติไม่อยู่กับตัว

แต่ในทางธรรม สติจะมุ่งหมายถึง ความรู้สึกตัว เป็นสำคัญ เป็นความระลึกได้ในตัวของตัว (ใกล้เคียงกับคำว่า สัมปชัญะ ซึ่งหมายถึงความรู้ตัว

ความสำคัญของสติ อยู่ที่ตรงไหน?
พระอรหันต์ คือผู้ที่สิ้นทุกข์ สิ้นกรรม พ้นจากสังสารวัฏสิ้นเชิง เป็นผู้ที่จิตพ้นวิเศษ และข้อสำคัญ ท่านเป็นผู้ที่มีสติอันบริบูรณ์เต็มเปี่ยม ความสำคัญของสติ อยู่ที่ตรงนี้

คนสามัญธรรมดา สติจะกะพร่องกะแพร่ง แต่สติจะบริบูรณ์มากขึ้นโดยลำดับเมื่อบรรลุธรรมแม้ขั้นต้นๆ และสติจะสมบูรณ์ที่สุดเมื่อจิตวิมุตติหลุดพ้นเป็นพระอรหันต์ คนที่ไม่มีสติ คือคนที่ลืมตัว ไม่รู้สึกตัว พอมีอะไร เกิดขึ้นก็พลัดเข้าไปในสิ่งนั้นๆ ไหลไปตามกระแส ตั้งตัวไม่ติด มีความคิดเกิดขึ้นในจิตก็พลัดเข้าไปในความคิด ต้องเดือดร้อนเป็นทุกข์ไปจนกว่าความคิดนั้นๆ จะดับลง ทั้งๆ ที่รู้ว่าทุกเรื่องปรากฏขึ้นเพราะความคิด (เรื่องอะไรก็แล้วแต่ ถ้าไม่คิด มันก็ไม่เป็นเรื่องขึ้นมาให้ต้องทุกข์ต้องโศก แต่เพราะไม่รู้ตัวอยู่เสมอๆ พอความคิดเกิดขึ้นก็ตั้งตัวไม่ติด พลัดตกลงไปในกระแสแห่งความคิด เป็นเรื่องเป็นราวขึ้นมาทีเดียว) ที่จะไม่ให้คิดนั้นเป็นไปไม่ได้ เพราะว่าความคิดมันเป็นธรรมชาติของจิตของเรา แต่เราป้องกันมิให้ตกเข้าไปในกระแสแห่งความคิดได้ หรือเมื่อตกลงไปในกระแสของความคิดแล้ว หากรู้สึกตัวได้ทันก็ออกจากความคิดได้เหมือนกันยังนับว่า "ทันท่วงที"

บางคนนั่งอยู่ดีๆ พอคิดวูบขึ้น โกรธทันที ตกเข้าไปในกระแสความคิด (โกรธ) ทันที เพราะมัวเหม่อลอยไม่รู้สึกตัวว่ากำลังคิด หรือบางคนไม่มีสติ ไม่รู้สึกตัว พอมีคนพูดว่าร้าย โกรธขึ้นมาทันที พลัดเข้าไปในความโกรธทันที ไม่ทันได้ตั้งสติรู้สึกตัวว่าความโกรธคืออะไร กำลังก่อตัวอย่างไร ฯลฯ ไม่ได้เห็นพอความคิด (ความโกรธ) พลุ่งขึ้นก็กระโจนผลุงเข้าไปในความคิดนั้นทันที แล้วก็ต้องเร่งร้อน ร้อนอกร้อนใจไม่หยุดหยุ่น

วิธีที่ปลอดภัยคือ ต้องมีสติตลอดเวลา ต้องรู้สึกตัวตลอดเวลา คอยสังเกตดูความคิดว่ามันก่อตัวขึ้นอย่างไร สำแดงอิทธิพลออกมาอย่างไร และจบลงอย่างไร ดูให้รู้ จะเริ่มเท่าทันมันมากยิ่งขึ้นทุกที หรือเมื่อพลัดเข้าไปในความคิดแล้ว ก็ต้องรีบสลัดตัวเองออกมาให้ได้ ออกจากความคิดให้ได้อย่าไปหมกจมเหม่อลอยหรือฝังตัวอยู่กับความคิด ทำได้ดี ทำได้เร็วก็เรียกว่าสติมั่นคงดีขึ้น

อุบายในการออกจากความคิด หรือการป้องกันมิให้พลัดตกเข้าไปในความคิดนานา พระพุทธองค์ทรงวางระบบไว้ให้ดีแล้ว คือสติปัฏฐานสี่ อันได้แก่ธรรมหรือสิ่งซึ่งเป็นที่ตั้งแห่งสติ 4 อย่าง หมายความว่า ถ้าเอาสติตั้งมั่นไว้ที่กาย เวทนา จิต และธรรม ในที่สุดจะพ้นทุกข์ได้สิ้นเชิง

สติอยู่ในกาย คือเมื่อกายไหว กายเคลื่อนก็ให้รู้สึกตัว รู้สึกในการไหวการเคลื่อนนั้น อยู่กับความรู้สึกของกายที่เคลื่อนไหวนั้นให้ต่อเนื่อง ต่อจากนั้นเมื่อประณีตหรือต่อเนื่องได้ดีแล้ว มันจะรู้สึกตัวอยู่ตลอดเวลา จิตใจมี "อาการ" คือเกิดมีความโลภ โกรธ หลง (รวบเข้า ผลักออก งุนงง) ก็จะรู้สึกตัวตลอดเวลา เห็นอาหารเหล่านั้นชัดเจนตลอดเวลา และในที่สุดจะเลื่อนระดับไปเห็น "ธรรม" คือเห็นกฎแห่งความเปลี่ยนแปลงใจหยั่งลงถึงความเปลี่ยนแปลงของสรรพสิ่ง จิตวิมุตติหลุดพ้นได้อย่างถึงที่สุดในขั้นนี้

ในชั้นแรก หากมีสติรู้สึกตัวอยู่เสมอ ตลอดเวลา จะทำให้มีความทรงจำดีโดยไม่ต้องไปกำหนดจดจำเป็นพิเศษ จิตจะหลุดจากความฟุ้งซ่านของความคิด จะนิ่งสงบไม่พุ่งพล่าน มีเรื่องอะไรก็ถอยกลับมาตั้งต้นที่สติ-ความรู้สึกตัวใหม่เสมอ คือรู้สึกอยู่ที่เนื้อที่ตัวที่กายในการไหวในการเคลื่อน รับประกันได้ว่า ไม่มีทางที่จะเสียสติหรือสติวิปลาสอย่างแน่นอน ตรงกันข้าม ในการรักษาผู้ที่เป็นโรคจิต โรคประสาท อุบายวิธีที่ดีที่สุด ก็คือหาทางให้คนไข้ทำงานออกแรงกายให้มากที่สุด จนเหนื่อยล้าและอ่อนล้า ชนิดที่จิตก็ขี้เกียจจะคิดอะไรอีกแล้ว พอพักก็อยากจะพักนิ่งสงบอย่างเดียว (นอน?) ไม่นานจิตจะฟื้นคืนตัวได้ดังเดิมอีก (เคยมีคนวิกลจริตไปหายไข้ได้ที่สวนโมกข์หลายราย หลังจากทำงานทางกายอย่างหนักชนิดที่ใครๆ ก็คิดไม่ถึง) แต่กรณีเช่นนี้คงต้องเป็นวิกลจริตอย่างอ่อน และวิกลจริต เพราะควบคุมความคิดไม่ได้ คิดฟุ้งซ่านหรือกลัดกลุ้มจนเป็นบ้า-มากกว่าจะวิกลจริตเพราะอวัยวะในสมองบางส่วนบกพร่องหรือพิการ ซึ่งต้องแก้ไขไปตามวิทยาการทางกายภาพนั้นๆ

นักศึกษาเซนทั้งหลาย จะต้องอยู่กับอาจารย์อย่างน้อย 10 ปีก่อนที่จะตั้งตนเป็นผู้สอนคนอื่นได้ วันหนึ่งเทนโน ซึ่งเป็นครูสอนเซนคนหนึ่งที่ได้ผ่านขั้นฝึกหัดปฏิบัติเซนเรียบร้อยแล้ว ได้ไปแวะเยี่ยมท่านอาจารย์หนัน-อิน วันนั้นเกิดฝนตกลงมา เทนโนจึงต้องสวมรองเท้าไม้มา และกางร่มมาด้วย หลังจากทักทายปฏิสันถารกันแล้วท่านหนัน-อิน ก็ได้กล่าวขึ้นว่า "ผมคิดว่าท่านคงจะถอดรองเท้าไม้ (และร่ม) ของท่านไว้ในห้องพักหน้าห้องโถงนี้ ผมอยากทราบว่าท่านวางร่มของท่านไว้ที่ข้างขวาหรือข้างซ้ายของรองเท้าของท่าน "

เทนโน สับสน และไม่อาจจะตอบขึ้นได้ในทันใด ท่านตระหนักแน่แก่ใจรู้สึกตัวขึ้นมาในขณะนั้นว่า ท่านไม่อาจจะมีเซนได้ทุกนาที ท่านจึงกลับสมัครเข้าเป็นศิษย์ของอาจารย์หนัง-อิน และศึกษาอยู่เป็นเวลา 6 ปี จึงได้ลุถึงซึ่งเซนทุกนาทีในที่สุด

อย่าว่าแต่ลืมล่มเลย บางคนแม้การกะพริบตาของตนก็ยังลืม ไม่รู้สึกถึงการกะพริบตาของตน มันเคยชินมากไปหรืออย่างไร? บางคนกำลังหายใจอยู่ก็ไม่ได้รู้สึกถึงการหายใจของตนเลยก็ยังมี มัวเอาสติไปจดจ่อใจกับอะไรก็ไม่รู้ เพลินไปตามสิ่งต่างๆ เสียจนไม่รู้สึกตัว

สมาธิ-ทางรอดของชีวิต

"สมาธิทำให้เกิดความสุขในการปฏิบัติ"

พวกเราคงเคยได้ยินบ่อยๆ ถึงคำว่าปฏิบัติธรรม เช่นคนสมัยนี้ไม่ปฏิบัติธรรมเหมือนคนสมัยก่อน เราก็คงสงสัยว่า การปฏิบัติธรรมนั่ะ ทำอย่างไร ยิ่งอ่านพบในพระคัมภีร์กล่าวไว้ว่า พระพุทธองค์ทรงสรรเสริญปฏิบัติบูชา ไม่สรรเสริญอามิสบูชา (การบูชาด้วยวัตถุเครื่องหอม เช่น ธูปเทียน เป็นต้น) เราก็ยิ่งอยากรู้ว่าปฏิบัติบูชาน่ะทำอย่างไร และอย่างไรเป็นการปฏิบัติธรรม

อะไรคือการปฏิบัติธรรม เดินจงกรมหรือ? หรือการเดินธุดงค์? การสวดมนต์หรือ? การนั่งสมาธิหรือ? ฯลฯ ลองศึกษาแบบถอยหลังคงจะได้อะไรดีๆ... ลองมาดูก่อนว่าเราปฏิบัติธรรมเพื่ออะไร ให้ได้อะไร คำตอบก็คือ เพื่อความหลุดพ้น เพื่อความพ้นทุกข์ เพื่อความสุขนิรันดร์ ฯลฯ

ดังนั้น อะไรก็ตามที่ทำให้ไปสู่จุดหมายนั้น ได้ถือว่าเป็นการปฏิบัติธรรมทั้งสิ้น ทั้งนี้ให้ยึดหลักตรวจสอบ 8 ประการไว้เสมอ (ในโคตมีสูตร) เช่นต้องไม่เป็นไปเพื่อความโลภ เพื่อความอยากใหญ่ เพื่อสะสมกิเลส เพื่อเป็นคนเลี้ยงยาก ฯลฯ (ทำบุญ 1 บาท จบแล้วจบอีกขอให้ได้เกิดใหม่ร่ำรวยหรือต่ายไปให้ได้ขึ้นสวรรค์ น่าจะไม่ถูกต้อง เพราะเป็นไปเพื่อการสะสมกิเลส โลภมากไปหน่อย ค้ากำไรเกินควร น่าจะทำบุญเพื่อสละออกซึ่งความเห็นแก่ตัวมากกว่า)

การเป็นผู้มีจิตหลุดพ้นได้ต้องมีศีลบริบูรณ์ ปัญญาเต็มรอบ สมาธิบริบรูณ์และผู้หบุดพ้นจะเ็นผู้มีสติบริบูรณ์ การปฏิบัติสมาธิภาวนานั้น ผลที่สำคัญคือทำให้มีสติบริบูรณ์ เพราะแต่ละลำดับของการเจริญสมาธิ เป็นการสะสมสติให้บริบูรณ์แล้ว ใช้ปัญญาแทงตลอดซึ่งธรรมทั้งหลายจนแจ่มแจ้ง

สมาธิคืออะไร? สมาธิ คือ ความตั้งมั่นแห่งจิต ความแน่วแน่แห่งจิต หรือการสำรวมใจให้แน่วแน่ การมีจิตเพ่งเล็งแน่วแน่อยู่ในสิ่งใดสิ่งหนึ่งโดยเฉพาะ หรือแม้แต่การตรึกตรองอย่างเคร่งเครียดในสิ่งใดสิ่งหนึ่งก็ทำให้เกิดสมาธิได้

วิธีปฏิบัติที่นิยมกันคือ การกำหนดลมหายใจ คือรู้สึกถึงการเคลื่อนไหวของลมหายใจเข้า-ออกของเรา หรือรู้สึกถึงการเคลื่อนไหวของร่างกายของเรา ซึ่งอาจเป็นการนั่งหรือยืนหรือเดิน หรือนอนทำก็ได้ (พวกเซนมีการวิ่งสมาธิด้วย!) การเป็นคนมีศีลมีธรรมก่อนปฏิบัติสมาธิ ก็เพื่อมิให้มีเรื่องรบกวนจิตใจ ในขณะจิตตั้งมั่นเป็นหนึ่งเดียว เพราะขณะนั้นจิตจะมีพลังมาก และจะสร้างภาพนิมิตขึ้นมาต่างๆ นานาจากความทรงจำ ซึ่งบางเรื่องที่ร้ายๆ อาจทำให้เราเกิดความกลัว จึงต้องเป็นคนดีรักษาศีลก่อนมาทำสมาธิ "ปลอดภัยไว้ก่อน" แต่ไม่ใช่ว่าต้องรักษาศีลเสียก่อนจึงจะมาปฏิบัติสมาธิได้ ไม่จำเป็น จะเริ่มที่สมาธิทันทีเลยก็ย่อมได้

และเมื่อจิตเป็นสมธิ เป็นหนึ่งแน่วแล้ว จิตจะมีกำลังมาก เหมือนน้ำที่ถูกกักเก็บปิดล้อมไว้ เจาะช่องทางออกให้ช่องทางเดียว จึงมีกำลังแรงมากเมื่อนำมาเพ่ง (ฌาน) ในข้อธรรมะต่างๆ ก็จะเกิดปัญญาได้โดยง่าย เพ่งความเปลี่ยนแปลงของสรรพสิ่งก็จะเห็นกฎแห่งอนิจจังได้โดยง่าย

คุณของสมาธิมีกล่าวไว้ในคัมภีร์มากมาย แต่ที่แน่ๆ (ไม่นับเรื่องการได้อำนาจจิตพิเศษ หูทิพย์ ตาทิพย์?) การทำสมาธิจะทำให้ได้รับความสุขในปัจจุบันจริงๆ เพราะจิตจะสงบนิ่งมาก ไม่ไหวกระเพื่อมไปตามกระแสโลก "สุขอื่นใดนอกจากความสงบเป็นไม่มี" และที่สำคัญได้กล่าวแล้วว่า สมาธิทำให้สติบริบูรณ์ได้โดยง่าย เมื่อสติสมบูรณ์ก็จะรู้เท่าทันชีวิต ปัญหาต่างๆ ก็จะสิ้นสุดลง

ดังนั้น ไม่ว่าใครจะเน้นที่ศีล ไม่ว่าใครจะเน้นที่ปัญญา ฯลฯ แต่ก็ทุกคนเห็นพ้องต้องกัน คือสมาธิทำให้เกิดความสุขในการปฏิบัติ เยือกเย็น มีพลังจิตสูง และทำให้จิตสมบูรณ์ เป็นแนวทางที่นำปฏิบัติอย่างยิ่ง

จิอุน เป็นอาจารย์พุทธศาสนานิกายชิงอน ซึ่งมีชื่อเสียงเด่นมากในความรู้ทางภาษาสันสกฤต แห่งสมัยโตกุกาวะ เมื่อท่านยังหนุ่มๆ อยู่นั้น ท่านเคยบรรยายะรรมให้นักศึกษารุ่นน้องๆ ฟัง มารดาของท่านได้ยินเรื่องนี้เข้าก็เขียนจดหมายมาถึงท่านทันที

"ลูกรัก, แม่ไม่คิดว่าลูกจะเป็นผู้มีศรัทธาในพระพุทธะ เพียงเพราะเหตุที่ลูกปรารถนาที่จะเป็นพจนานุกรมที่เดินได้สำหรับคนอื่นๆ เท่านั้น มันไม่มีที่สิ้นสุดดอก สำหรับข่าวสารข้อมูลและอรรถาธิบาย อีกทั้งความรุ่งโรจน์และเกียรติยศด้วย แม่อยากจะให้ลูกเลิกธุรกิจการบรรยายนั้นเสีย เก็บตัวเองเงียบอยู่ในวัดเล็กๆ ในภูเขาที่ไกลโพ้น อุทิศเวลาทั้งหมดของลูกเพื่อสมาธิภาวนา ด้วยวิธีนี้ลูกจึงจะลุถึงได้ซึ่งการประจักษ์แจ้งอย่างแท้จริง"

นักศึกษานิกายเทนได (เทียน ไท้) อันเป็นสำนักศึกษาพระพุทธศาสนาที่เก่งทางปรัชญาสำนักหนึ่ง ได้มายังวัดของอาจารย์เซนชื่อกาซาน เพื่อมาขอเป็นศิษย์ศึกษาเซนด้วย เมื่อเขามาลาจากไปในอีกไม่กี่ปีต่อมา ท่านกาซานก็ได้เตือนเขาว่า "การศึกษาสัจจะโดยการคิดคำนึงคำนวณเอา เป็นวิธีที่มีประโยชน์สำหรับการสะสมรวบรวมวัสดุอุปกรณ์เพื่อใช้ในการเทศน์การสอน แต่จงจำไว้ว่า คุณจะต้องปฏิบัติสมาธิภาวนาอย่างต่อเนื่องเท่านั้น แสงแห่งสัจจะของคุณจึงจะส่องออกมา"

ปัญญา-ศาสตราวุธ

"ใช้ชีวิตอยู่ในโลก แต่อย่าให้ฝุ่นของโลกเกาะติดได้"

ศาสตราวุธ คือ ของมีคมที่ใช้เป็นอาวุธสำหรับ "ตัด"
ปัญญา คือ ศาสตราวุธ หมายถึงปัญญาดุจของมีคมเพื่อใช้สำหรับตัดปัญหา เพื่อความสิ้นทุกข์
ปัญญาไม่ใช่ "ความรู้" ต้องกำหนดแยกแยะให้ชัด

ในทางพระพุทธศาสนา ปัญญามี 3 ประเภทคือ

  1. สุตมยปัญญา คือ ปัญญาได้จากการฟัง ฟังมากๆ ก็รอบรู้มาก เกิดปัญญามาก
  2. จินตามยปัญญา คือ ปัญญาได้จากการขบคิด ตรึกตรองมากๆ ก็เกิดปัญญา
  3. ภาวนามยปัญญา คือ ปัญญาที่เกิดจากการเพ่งภาวนา อบรมให้มีขึ้น

ได้ยินได้ฟังเรื่องโลกไม่เที่ยง เปลี่ยนแปรเป็นนิจ ก็นำมาพินิจพิจารณาว่า ไม่เที่ยงในอาการอย่างไร ฯลฯ แล้วกำหนดหมายให้แม่ยำประทับแน่นชัดเจนในดวงจิต เข้าถึงกฎแห่งความเปลี่ยนแปลงนั้นได้ในที่สัด ปัญญาในทางพระพุทธศาสนานั้นเน้นที่รู้อริยสัจสี่ เป็นสำคัญรู้อะไรมากมาย แต่ไม่รู้อริยสัจสี่ก็เท่ากับล้มเหลว เท่ากับไม่รู้อะไรเลยในทางศาสนา

ทุกข์ต้องกำหนดรู้ สมุทัยต้องละ นิโรธต้องทำให้แจ้ง มรรคต้องเจริญให้มาก ทำให้ได้ครบทั้งสี่ประการนี้ จึงจะได้ชื่อว่า "รู้" อริยสัจสี่! และรู้อริยสัจสี่เมื่อใดก็สิ้นทุกข์เมื่อนั้น จะตั้งต้นจากเห็นโลกไม่เที่ยง เปลี่ยนแปลงอยู่เป็นนิจ (อนิจจัง) หรือเห็นโลกนี้ไร้ตัวตน (อนัตตา) เอาจริงเอาจังไม่ได้ มีแต่ความว่าง (สุญตา) ก็ได้ตามถนัด ที่สุดของมันเสมอกัน

วิธีการเข้าสู่วิมุตติก็๋มีได้หลายทาง ตามถนัดของแต่ละบุคคล ไม่มีข้อจำกัดแคบๆ เพราะในวิมุตตายตนนะ ก็มีระบุทางแห่งความหลุดพ้นได้ถึง 5 วิธี หรือ 5 แนวทางด้วยกัน

บางคนได้ฟังธรรมก็เห็นอรรถเห็นธรรม เกิดปิติปราโมทย์ มีกายสงบ เสยสุข มีจิตตั้งมั่น, บางคนแสดงธรรม แล้วเกิดเห็นธรรมเอง, บางคนสาธยาย (ท่องบ่น) ธรรมที่ได้ฟังได้เรียนมาแล้ว ก็เกิดเห็นอรรถเห็นธรรม, บางคนตรึกตรอง เพ่งด้วยใจ ซึ่งธรรมที่ได้ฟังแล้วเรียนแล้วก็เกิดเห็นธรรม, และบางคนก็ทำสมาธิ ถือเอาสมาธินิมิตอันใดอันหนึ่งไว้ด้วยดี ใส่ใจด้วยดี ทางธรรมด้วยดี แทงทะลุด้วยปัญญา เห็นอรรเห็นธรรมมีจิตตั้งมั่น เมื่อเห็นอรรถเห็นธรรมแล้วจะเกิดความสงบรำงับ เกิดปิติและสุขจนที่สุดจะเกิดสมาธิจิตตั้งมั่น บริสุทธิ์ และว่องไวต่อการงานรู้แจ้ง จากนั้นก็จะเกิดยถาภูตญาณทัศนะ คือเห็นสิ่งทั้งปวงตามที่เป็นจริง เกิดความรู้สึกว่าไม่ควรยึดมั่น แล้วจะเกิดนิพพิทา ความหน่ายต่อสิ่งที่เป็นทุกข์ และเกิดวิราคะ ความคลายกำหนัดแล้วท้ายสุดจะเกิดวิมุตติ คือหลุดพ้นจากกิเลสได้ในที่สุด

ปัญญาต้องรู้ชัดว่า โลกนี้ยึดมั่นเข้าแล้วเป็นทุกข์ ไม่มีอะไรไดดังใจเรา ทุกสิ่งมีแต่ความเปลี่ยนแปลงเป็นกฎหลักเป็นไปตามเหตุ ตามปัจจัย ไม่มีอะไรเป็นตัวตนเที่ยงแท้ของเรา ไม่มีอะไรอยู่ในังคับของเรา ทุกสิ่งว่างจากความหมายแห่งความเป็นตัวตน ฯลฯ ใช้ชีวิตอยู่ในโลกแต่อย่าให้ฝุ่นของโลกเกาะติดได้ เหมือนดอกบัวเกิดในโคลนตม แต่ไม่ติดโคลนตมฉันนั้น ที่สุดของชีวิตอยู่ที่ตรงนี้ อย่าไปห่วงอย่างอื่นจนเสียการ

ในระหว่างสมัยกามากุระ ชินกัน ได้ศึกษาเทนได (เทียน-ไห้) อยู่ 6 ปี และศึกษาเซนอีก 7 ปี จากนั้นได้เดินทางไปศึกษาเซนในประเทศจีนอีก 13 ปี เมื่อกลับมายังประเทศญี่ปุ่น คนจำนวนมากก็อยากจะสัมภาษณ์ท่าน อยากจะถามปัญหาที่มืดมนต่อท่าน แต่เมื่อท่านชินกันออกรับแขกที่มาเยี่ยม (ซึ่งก็ไม่ใช่เรื่องบ่อยนัก) ท่านก็ไม่ใครจะตอบคำถามของพวกเขาเลย

วันหนึ่งนักศึกษาผู้มุ่งตรัสรู้คนหนึ่งอายุ 50 ปี ได้มาเยี่ยมและกล่าวแก่ท่านชินกันว่า "ผมได้ศึกษาอยู่ในสำนักศึกษาเทนไดมาตั้งแต่ยังเป็นเด็กน้อย แต่สิ่งหนึ่งที่ผมยังไม่เข้าใจก็คือ สำนักศึกษาเทนไดอ้างว่า แม้แต่ต้นหญ้าและต้นไม้ก็อาจจะบรรลุธรรมได้ อาจจะตรัสรู้ได้ ซึ่งสำหรับผมแล้วมันเป็นเรื่องแปลกมา"

"มันมีประโยชน์อะไรที่จะมาอภิปรายถกเถียงกันว่า ต้นหญ้าและต้นไม้สามารถตรัสรู้ได้อย่างไร?" ท่านชินกันถามขึ้น "ปัญหาก็คือว่าตัวของคุณจะสามารถตรัสรู้ได้อย่างไรมากกว่า คุณเคยคิดเรื่องนี้ไหม?"
"ผมไม่เคยคิดเรื่องนี้เลยครับ" นักศึกษาเฒ่าตอบด้วยความพิศวง
"ถ้าอย่างนั้น กลับไปบ้านแล้วก็คิดเสีย" ท่านชินกันสรุป

โกอาน-ปริศนาธรรม

"ปริศนาธรรมาของเซนนั้น ว่ากันว่าหากขบแตกแล้ว ก็จะตรัสรู้หรือบรรลุธรรมได้ในที่สุด"

ในการปฏิบัติธรรมอย่างเซน เขามีวิธีการสำคัญอยู่ 3 วิธี คือ ม็อนโด (การสนทนาธรรม) การขบโกอาน (ปริศนาธรรม) และการทำซาเซน (ทำสมาธิภาวนา) ทั้ง 3 วิธี มีประวัติการทำให้บรรลุธรรมได้โดยฉับพลันมาแล้วทั้งสิ้น เฉพาะซาเซนนั้นมีรายละเอียดมากคล้ายการทำสมาธิของฝ่ายเถรวาทเรา จึงขอผ่านไปจะนำมาเสนอเฉพาะม็อนโดและโกอานเท่านั้น

ตัวอย่างของม็อนโด
พระองค์หนึ่งได้กล่าวกับท่านโจชูว่า "ผมเพิ่งเข้ามาอยู่ในวัด, ท่านโปรดช่วยสอนผมด้วย"
ท่านโจชูถามขึ้น "เธอกินข้าวต้มของเธอหรือยัง?"
"กินแล้วครับ" พระตอบ
ท่านโจชูจึงกล่าวขึ้นว่า "ถ้าเช่นนั้นเธอก็ควรจะล้างชามของเธอเสีย"
ในวินาทีนั้นเองพระก็ตรัสรู้ (บรรลุธรรม)
ตัวอย่างม็อนโด มีอีกมากมายในประวัติศาสตร์ของเซน...

ทีนี้จะลองมาดูโกอานหรือปริศนาธรรมของเซนกันบ้าง
โกอานหรือปริศนาธรรมของเซนนั้นว่ากันว่า หากขอบแตกแล้วก็จะตรัสรู้หรือบรรลุธรรมได้ในที่สุด ปริศนาก็มีทั้งลึกและตื้น เช่น "ต้นสนเฒ่าแสดงธรรม" หรือ "ธรรมชาติสอนดีกว่าพระพุทธเจ้าสอน" "มูของโจชู" และ "เสียงของมือข้างเดียว" เป็นต้น

ในประวัติของเซน โกอานบท "มูของโจชู" ได้ช่วยเปิดดวงตาแห่งธรรมให้แก่สานุศิษย์แห่งเซนมานับไม่ถ้วนแล้ว แต่ในที่นี้จะนำเอาเรื่องราวเกี่ยวกับ "เสียงของมือข้างเดียว" และ "คำตอบของคนตาย" มาเล่าให้ฟัง

จากนิทานเรื่อง "เสียงของมือข้างเดียว"
อาจารย์เซนแห่งวันเคนนินคือท่านโมกุไร ซึ่งชื่อของท่านก็มีความหมายว่า "เสียงฟ้าร้องอันเงียบเชียบ" ท่านมีเด็กน้อยอายุเพียง 12 ปี คนหนึ่งชื่อ โตโย เป็นลูกศิษย์ที่อยู่ในความาดูแลของท่าน โตโยเห็นศิษย์รุ่นพี่ๆ เข้ามาเยี่ยมอาจารย์ที่ห้องทุกเช้าและเย็นเพื่อรับคำสั่งสอนเกี่ยวกับซาเซน (สมาธิภาวนาแบบเซน) หรือไม่ก็มาขอรับคำแนะนำในการขบโกอานที่ได้รับไป (ซึ่งจะใช้มันหยุดพฤติกรรมของจิตที่ชอบท่องเที่ยวเพลิดเพลินไปต่างๆ นานาของพวกเขา)

โตโยน้อยก็ปรารถนาที่จะทำซาเซนกับเขาบ้าง
"รอก่อน" ท่านโมกุไรกล่าวขึ้น "เธอยังเด็กนัก"
แต่เด็กน้อยก็ยืนกรานอยู่เช่นเดิม ดังนั้น ในที่สุดท่านอาจารย์เฒ่าก็ยินยอม
พอถึงตอนเย็นเจ้าโตโยน้อยก็หาโอกาสไปยังธรณีประตูห้องซาเซนของท่านโมกุไร เขาเคาะฆ้องเป็นสัญญาณบ่งบอกถึงการมาของเขา โค้งคำนับอย่างคารวะยิ่ง 3 ครั้งที่ข้างนอกประตู แล้วก็เข้าไปนั่งข้างหน้าอาจารย์อย่างเงียบๆ ด้วยความคารวะ

"เธอคงเคยได้ยินเสียงของมือ 2 ข้างที่ผู้คนเขาใช้ตบมือกัน" ท่านโมกุไรกล่าวขึ้น "ทีนี้ลองแสดงเสียงของมือข้างเดียวให้ฉันฟังซิ"
โตโยโค้งคารวะแล้วลาออกมายังห้องพักของเขา เพื่อมาขบคิดปัญหานี้ให้แตกให้จงได้ จากหน้าต่างห้องพักของเขา เขาได้ยินเสียงดนตรีของพวกเกอิชา "อา, ฉันได้มันแล้ว!" เขาประกาศก้อง

ค่ำวันต่อมา เมื่ออาจารย์ของเขาขอให้เขาแสดงเสียงของมือข้างเดียวให้ฟัง โตโยก็เริ่มต้นทำเพลงของเกอิชาขึ้นทันที
"ไม่ใช่ ไม่ใช่" อาจารย์โมกุไรกล่าวขึ้น "นั่นมันไม่ใช่ดอก นั่นไม่ใช่เสียงของมือข้างเดียว เธอยังไม่รู้จักมันเลย"

ด้วยความคิดว่าเสียงดนตรีดังกล่าอาจจะขัดขวางการเสาะหาของเขา โตโยจึงได้ย้ายไปพำนักอาศัยอยู่ในสถานที่เงียบสงัดกว่าเก่า และเริ่มทำสมาธิภาวนาอีกครั้งหนึ่ง "เสียงของมือข้างเดียวนี่มันเป็นอย่างไรกันน่ะ?" และก็บังเอิญเขาก็ได้ยินเสียงน้ำหยดลงสู่พื้น "ได้แล้ว ฉันได้มันแล้ว" โตโยคิด

เมื่อเขาได้มาอยู่ต่อหน้าอาจารย์เฒ่าอีก โตโยก็ทำเสียงเลียนเสียน้ำหยดให้อาจารย์ฟัง
"อะไรน่ะ?" ท่านโมกุไรถามขึ้น "นั่นมันเสียงน้ำหยดนี่ ไม่ใช่เสียงของมือข้างเดียว ลองดูใหม่อีกที"

โตโยกลับมาปฏิบัติสมาธิฟังเสียงของมือข้างเดียวอย่างไร้ผล เขาได้ยินเสียงของลมที่พัดวูบไป แต่นั่นก็ถูกอาจารย์ปฏิเสธอีก เขาได้ยินเสียงร้องของนกเค้าแมว แต่อาจารย์ก็สั่นหน้าอีก และเสียงของมือข้างเดียวก็ไม่ใช่เสียงของตั๊กแตนอีกด้วยเช่นกัน

มากกว่า 10 ครั้งที่โตโยเข้าไปพบอาจารย์โมกุไรด้วยเสียงที่แปลกๆ แตกต่างกัน แต่ทั้งหมดก็ไม่ใช่ เป็นเวลาเกือบ 1 ปี ที่เขาเพ่งพินิจอยู่ตลอดเวลาว่าเสียงของมือข้างเดียวมันควรจะเป็นอย่างไร

ในที่สุด โตโยน้อยก็ได้ลุถึงสมาธิภาวนาที่แท้ และข้ามพ้นเสียงนานาไปเสียได้ "ฉันไม่ได้ยินเสียงอะไรอีกแล้ว" เขาอธิบายในเวลาต่อมา "ดังนั้น ฉันจึงได้ยินเสียงที่ไร้เสียงได้ในที่สุด" โตโยได้ประจักษ์แล้วต่อเสียงของมือข้างเดียว

อีกเรื่องหนึ่งเป็นเรื่อง "คำตอบของคนตาย"
เมื่อมานิยา (ผู้ซึ่งในเวลาต่อมาจะได้เป็นครูผู้สอนเซนที่มีชื่อเสียง เป็นที่รู้จักกันอย่างกว้างขวาง) ได้เข้าไปขอคำแนะนำเป็นการส่วนตัวจากอาจารย์ เขาได้รับการขอร้องให้อธิบายถึงเสียงของมือข้างเดียให้อาจารย์ฟัง

มานิยาเพ่งอยู่กับปัญหาที่ว่า เสียงของมือข้างเดียวควรจะเป็นอย่างไร แต่ "เธอยังไม่ปฏิบัติให้อุกฤษฎ์ (หนัก) มากพอ" อาจารย์ของเขากล่าวเตือน "เธอยึดติดในอาหารมากเกินไป ในความมั่งคั่ง ในสิ่งของต่างๆ นานา และยึดติดในเสียงด้วย มันอาจจะเป็นการดีกว่านี้ หากเธอตายไปเสีย นั่นมันจะช่วยให้เธอแก้ปัญหาได้"

ในเวลาต่อมา มามิยาได้มาอยู่ต่อหน้าของอาจารย์ ชื่ออาจารย์ก็ได้ขอให้เขาแสดงเสียงของมือข้างเดียวกัน แต่มามิยาก็แกล้งล้มลงทำเป็นตายทันที
"เอาละ เธอก็ตายไปแล้ว" อาจารย์กล่าวขึ้น "แล้วไหนล่ะเสียงของมือข้างเดียวน่ะ?"
"ผมยังไขไม่ออกเลยครับ" มามิยากล่าวตอบพร้อมทั้งเงยหน้าขึ้นมองอาจารย์
"คนตายเขาไม่พูดดอก" อาจารย์กล่าวสวนทันควัน "ออกไป!

เรียนรู้ด้วยใจถ่อม

"คนที่รอบรู้ที่สุด จะบอกว่าเขาไม่รู้อะไรเลย"

ชีวิตคือการเรียนรู้ ปราชญ์เคยว่าไว้อย่างนี้ แต่บางคนก็ว่าชีวิตคือการต่อสู้ ศัตรูคือยากำลัง ก็ไม่ผิด แต่จะต่อสู่หรือไม่ก็ตาม เราก็ต้องเรียนรู้กันจนตลอดอายุขัย เราต้องเรียนรู้อยู่ตลอดเวลา ทั้งด้านกายภาพ ด้านจิต และด้านจิตวิญญาณ ไม่ว่าจะชอบหรือไม่ก็ตาม จะรู้ตัวหรือไม่ก็ตาม

ขงขื้อ กล่าวว่า เดินกันมา 3 คน ต้องมีคนหนึ่งเป็นครูของฉันได้ แน่นอน-เป็นพยานเน้นความสำคัญของการเรียนรู้ได้ดีเรื่องหนึ่ง และท่านยังได้สรุปว่า ความรู้ที่แท้คือเมื่อรู้ก็รู้ว่ารู้ เมื่อไม่รู้ก็รู้ว่าไม่รู้ นี่แหละคือความรู้ที่แท้ละ

โสกราตีส นักปราชญ์ชาวกรีกสมัยโบราณผู้ยิ่งใหญ่ท่านหนึ่งกล่าวว่า การรู้ตัวเองไม่รู้อะไรนั้นเป็นความรู้ที่ยิ่งใหญ่ที่สุด และคนที่รอบรู้ที่สุดจะบอกว่าเขาไม่รู้อะไรเลย

แต่ปัจจุบันนี้ เราจะพบคนประเภทหนึ่งที่เข้าใจอยู่ว่าตัวของเขานั้นรู้ทุกเรื่อง รอบรู้ไปสารพัด ไอ้นั่นฉันก็รู้ ไอ้นี่ฉันก็รู้ ฯลฯ แม้บางเรื่องจนใจจริงๆ ต้องถามคนอื่นเขา แต่พอเขาอธิบายได้เพียง 2-3 คำก็คอยหาจังหวะสอดแทรกเข้าว่า "ฉันรู้แล้ว" อยู่เสมอ คนพวกนี้จะถูกกักขังอยู่ในคุกแห่งอวิชชาตลอดกาล (อวิชชา แปลว่า ความไม่รู้) เพราะสิ่งที่เขาอวดโอ่ว่ารู้ๆ นั่นแหละ พอตรวจสอบเข้าอย่างจริงจังเป็นเรื่องเหลวไหลทั้งเพ น่าสมเพชจริงๆ คนพวกนี้ แต่อย่างไรก็ตาม อาจารย์เซนก็มีเมตตาธรรมสูงพอที่จะอดทนอดกลั้นได้ต่อคนพวกนี้ และพยายาม "เปิดดวงตาแห่งธรรม" ของพวกเขาเหล่านี้ให้ได้เสมอๆ

ครั้งหนึ่งในรัชสมัยราชวงศ์เมจิ ท่านอาจารย์นัน-อิน แห่งนิกายเซนได้ต้อนรับอาจารย์มหาวิทยาลัยผู้มีชื่อเสียงปราดเปรื่องคนหนึ่ง ซึ่งเดินทางมาเพื่อถามปัญหาเกี่ยวกับเซน ท่านอาจารย์ได้จัดรินน้ำชาเพื่อเลี้ยงอาคันตุกะผู้มีเกียรตินั้นด้วยตนเอง ท่านรินน้ำชาลงถ้วยจนเต็มแล้วล้นไปๆ แต่ก็ยังไม่ยอมหยุดจนอาจารย์มหาวิทยาลัยคนนั้น ซึ่งเฝ้ามองดูอยู่ด้วยความแปลกใจ ทนอยู่ไม่ได้รีบกล่าวท้วงขึ้น
"ล้นแล้วท่านอาจารย์ ใส่ลงไปอีกไม่ได้แล้ว"
"ท่านเองก็เหมือนถ้วยนี่แหละ" ท่านอาจารย์ตอบ "ก็ในเมื่อสมองของท่านเต็มไปด้วยความคิดเห็นและทฤษฎีต่างๆ ออกมากมายอย่างนั้น ข้าพเจ้าจะอธิบายเรื่องเซนให้เข้าใจได้อย่างไร หากท่านไม่ทำให้ถ้วยของท่านว่างลงเสียก่อน

พื้นฐาน 5 ประการของพุทธนิกายเซน

(1) ความจริงสูงสุดเป็นสิ่งที่ไม่สามารถแสดงได้ด้วยคำพูด ความจริงสูงสุดของเซนเป็นสิ่งที่ไม่สามารถแสดงออกได้ด้วยคำพูดหรือตัวหนังสือ ดังคำพูดของเซนที่ว่า "การส่งมอบพิเศษนอกคัมภีร์ ไม่ต้องอาศัยคำพูดหรือตัวหนังสือ" ซึ่งก็ตรงกับคำพูดในปรัชญาเต๋าที่ว่า "เต๋าเป็นสิ่งที่ไม่อาจเรียกได้ด้วยคำพูด เต๋าที่เรียกได้ด้วยคำพูดไม่ใช่เต๋าที่แท้จริง" และ "ผู้พูดไม่รู้ ผู้รู้ไม่พูด" พุทธะอันสูงสุดนั้นคือธรรมชาติอันแท้จริงที่มีอยู่ภายในชีวิตของเรานี้เอง เมื่อคำพูดและความคิดปรุงแต่งหยุดลง ธรรมชาติดังเดิมก็พลันปรากฎ

ดังนั้นเซนจึงมุ่งหวังในเรื่องประสบการณ์ ความตื่นของชีวิตมากกว่าคำพูด ประสบการณ์นี้เรียกว่า "ความว่าง" หรือ "ธรรมชาติแห่งความเป็นพุทธะ" หรือ ธรรมชาติดั้งเดิม เปรียบเสมือนการดื่มน้ำ ร้อนหรือเย็นรู้ได้โดยไม่ต้องบอก

(2) การฝึกฝนในทางธรรม เป็นสิ่งที่ไม่อาจฝึกได้ (ด้วยความพยายามที่เกิดจากการปรุงแต่ง) ในความคิดปรุงแต่งใดๆก็ตาม จะมีความรู้สึกที่มีตัวตนประสมอยู่ด้วยเสมอ ทำให้เกิดการแบ่งแยกระหว่างสิ่งที่เป็นภายในกับสิ่งที่เป็นภายนอก และทำให้เกิดความยึดมั่นผูกพันกับวัตถุภายนอก ความพยายามที่เกิดจากการปรุงแต่ง ไม่ว่าจะเป็นการฟังคำสอนของพระพุทธเจ้า การท่องพระสูตร การบูชาพระพุทธรูป การประกอบพิธีต่างๆนั้น โดยแท้จริงแล้วเป็นสิ่งที่ไม่มีประโยชน์ ตรงข้าม บุคคลควรปล่อยจิตใจให้เป็นอิสระ เฝ้าดูและขจัดกระแสแห่งความคิดปรุงแต่ง และจะต้องเข้าถึงธรรมชาติของความเป็นเอง การปฎิบัติธรรมที่แท้จริงจึงเกิดขึ้นได้

(3) ผลบั้นปลายสุดท้าย ไม่มีอะไรที่ใหม่ ประสบการณ์ของความตื่น ความรู้สึกตัวถึงเอกภาพอันแบ่งแยกมิได้ของสรรพสิ่งทั้งมวล การเห็นแจ้งธรรมชาติแห่งความเป็นพุทธะภายในของตน เหล่านี้ไม่ได้หมายความว่า ได้อะไรมาใหม่ เพียงแต่เป็นการรู้แจ้งบางสิ่งบางอย่างที่มีอยู่ในตัวเองตลอดเวลาเท่านั้น ปัญหามีเพียงว่าที่เราไม่ได้รู้สึกตัวถึงสิ่งนี้เป็นเพราะอวิชชาของเราเอง ในภาวะของความตื่น เมื่อตัวตนที่ปรุงแต่งถูกขจัดออกไป ธรรมชาติในส่วนลึกลับอันแอบเร้นลับปรากฎตัวขึ้นแทนที่และผู้กระทำจะกระทำสิ่งต่างๆอย่างปราศจากตัวตนและอย่างเป็นกันเอง

(4) "ไม่มีอะไรมากในคำสอนทางพุทธศาสนา" แท้จริงแล้วนั้น ส่งที่เรียกว่าความคิด ลัทธิ และคำพูด ไม่มีความหมายแต่อย่างใด สิ่งสำคัญที่สุดเพียงประการเดียวคือ ประสบการณ์ของความตื่นเท่านั้น ไม่มีสิ่งที่เรียกว่าพระพุทธเจ้า ไม่มีสิ่งที่เรียกว่าชาวพุทธ และไม่มีแม้กระทั่งสิ่งที่เรียกว่าพุทธศาสนา เพราะตราบใดที่ยังยึดติดในสิ่งเหล่านี้ก็ยังไม่อาจรู้แจ้งความเป็นจริงในสิ่งทั้งหลายอยู่ตราบนั้น

(5) ในขณะที่กำลังหาบน้ำ ผ่าฟืน นั่นแหละ เป็นขณะแห่งการสัมผัสกับชีวิตทางธรรม การตรัสรู้นั้นไม่จำกัดอยู่ในรูปแบบใด ในขณะแห่งการทำงาน ในชีวิตประจำวันก็อาจเป็นขณะแห่งการตรัสรู้ได้ ธรรมชาติแห่งความเป็นพุทธะเป็นสิ่งสากล เราอาจพบมันได้ในทุกหนทุกแห่ง ดังบทเพลงจีนบทหนึ่งที่ว่า

ทันทีที่พระอาทิตย์ขึ้น

ทันทีที่พระอาทิตย์ตกดิน

เราขุดบ่อน้ำ

เราไถหว่านบนผืนดิน

อำนาจอะไรของเทพเจ้า

เราเริ่มต้นทำงาน

เราพักผ่อน

และเราดื่ม

และเรากิน

จะมาเกี่ยวข้องกับเรา

อัตตลักษณ์ของเซน

เซนเชื่อในมนุษย์ทุกคนคือเชื่อว่าทุกคนมีธรรมชาติแห่งพุทธอยู่ด้วยกันทุกคน มีโอกาสตรัสรู้ได้ทุกคน และแจ่มแจ้งในตัวเองหรือการเข้าถึงพุทธะนั้นก็ไม่จำเป็นต้องอาศัยรูปแบบใดๆทางภายนอกเลยด้วย

เซนชี้อีกว่า การตรัสรู้นี้ไม่จำกัดว่าจะต้องเป็นเพศใด เป็นผู้คงแก่เรียนหรือไม่ อายุหรือวัยเท่าใด ฯลฯ เพราะไม่ว่าจะเป็นใครต่างก็มีธรรมชาติเดิมแท้อันบริสุทธิ์ อยู้ด้วยทุกคน เมื่อสิ่งที่มาครอบคลุมปกปิดถูกรื้อถอนออกไป ความสว่งไสวจะปรากฎออกมาทุกคน ไม่เว้นใครเลย

เซนไม่เน้นเรื่องอื่น เช่นพระเจ้ามีจริงหรือไม่ นรก-สวรรค์มีจริงหรือไม่ บุญกุศลคืออะไร ฯลฯ เซนจะหลีกเลี่ยงเรื่องเหล่านี้ โดยเห็นว่าเป็นเรื่องไร้สาระ หากแต่มุ่งในการทำตัวเองให้แจ่มแจ้งในปัจจุบันขณะนั้นก็พอ ไม่ปรารถนาอะไรอื่น โดยการถกเถียง หรือการเรียนในเชิงปรัชญาเพ้อเจ้อไปนั้น เซนถือว่าไม่ใช่เรื่องของเซนเอาเลยทีเดียว

เซนคือทางและเป็นทางอันตรงแน่วที่นำพาเราไปให้พ้นจากปัญญาในระนาบเหตุผลสามัญ หมายความว่าเซน ไม่ใช่เรื่องตรรก เราไม่อาจใช้ตรรกหรือเหตุผลตามธรรมดามาจับเซนได้ และเราไม่อาจอาศัยตรรกเพื่อเข้าสู่วิมุตติได้อีกด้วย

เซนจะจัดการในเรื่องความคิดรวบยอด หรือที่เรียกว่าความคิดปรุงแต่ง (คือความคิดที่ก่อให้เกิดการจำแนกสิ่งต่างๆออกเป็น 2 ขั้ว ต่างกัน เช่น ดี-ฃั่ว ผิด-ถูก พอใจ-ไม่พอใจ) ซึ่งเซนถือว่าความคิดนี้เป็นเรื่องผูกมัดมนุษย์ไว้ในกรงแห่งความทุกข์และอวิชชา ถ้าหากทำลายความคิดปรุงแต่งเหล่านี้เสียได้จะเป็นอิสระ และจะเห็นสิ่งต่างๆตามที่เป็นจริงของมัน ไม่ใช่ผ่านแว่นแห่งตรรกหรือผ่านความคิดรวบยอดต่างๆนานา

ตัวอย่าง

โศลกของเซนบทหนึ่งมีชื่อเสียงมากในเรื่องของการเป็นปฎิปักษ์หรืออยู่พ้นไปจากตรรกหรือเหตุผลโศลกบทนั้นมี 4 บาท คือ

"ฉันไปด้วยมือที่ว่างเปล่า และดูนั่น มีจอบอยู่ในมือของฉัน

ฉันเดินไป แต่กระนั้นฉันก็กำลังขี่ไปบนหลังของวัวตัวหนึ่ง

เมื่อฉันข้ามสะพาน

โอ น้ำไม่ได้ไหล สะพานต่างหากที่ไหล "

ในระดับลึก เซนจึงไม่วางใจในตรรกหรือเหตุผลในระนาบสามัญแม้แต่น้อย ตรงกันข้าม เซนจะเน้นที่ประสบการณ์ตรงมากกว่า คือเข้าถึงโดยไม่ผ่านสื่อกลางใดๆ และในเรื่องของเซนไม่มีการแย้งกันในเรื่องระหว่างถูกหรือผิด หรือระหว่างความสมบูรณืและความไม่สมบูรณ์ หรือระหว่างความมีหรือไม่มี เพราะถือเป็นการเรื่องของการยึดมั่นถือมั่น

ดังนั้นการรู้จักตนเอง การเห็นแจ้งในเรื่องธรรมชาติเดิมแท้ของตนเอง นั่นคือการตรัสรู้ ในทรรศนะของเซน

แน่นอนเรื่องทั้งหมดนี้ต้องเกี่ยวเนื่องไปถึงเรื่องของ "ตัวตน" หรือ
"ความยึดมั่นถือมั่น" หรือ "การปล่อยวาง"ด้วยอย่างไม่ต้องสงสัย

เรียบเรียงจากหนังสือ : วิถีแห่งเซน

 

ตัวตนและการปล่อยวางอย่างเซน

เซนเน้นที่การดูจิตใจของตัวเองเป็นหลัก และคำสอนที่สำคัญก็เกี่ยวเนื่องกับการปฎิบัติเพื่อการตรัสรู้เป็นหลัก และเซนยังยึดถือในอริยสัจสี่ด้วย คือ

1.ทุกข์ ได้แก่เกิด แก่ เจ็บ ตาย ฯลฯ โดยย่อคือการยึดมั่นถือมั่นในเรื่องของเบญจขัน 2.สมุทัย เหตุแห่งทุกข์ ได้แก่ตัณหา อุปาทาน อวิชชา เป็นต้น
3.นิโรธ ความดับลงแห่งความทุกข์
4.มรรค ทางแห่งการดับลงแห่งทุกข์ (ดับเหตุแห่งทุกข์)

สภาวะสิ้นทุกข์เป็นสภาวะแห่งโลกุตตระ อยู่พ้นโลก เหนือความบีบคั้นของโลก ทำลายความยึดมั่นในขันธ์ 5 ลงได้ ซึ่งในเซน อุปสรรคสำคัญที่ขวางหนทางในการตรัสรู้คือ ตัวตนนั้นเอง และตัวตนนี้เองที่เป็นประดุจตอไม้ในกระแสธารแห่งชีวิต ที่คอยขวางการไหลไปของกระแสชีวิต และเป็นตัวที่บ่นพร่ำถึงความเจ็บปวดนานา

ความจริงตัวตนไม่มีอยู่จริง แต่ที่คิดว่ามีอยู่ เป็นเรื่องอวิชชา และตัวตนหนึ่งๆก็จะมองสิ่งต่างๆในแง่มุมของมันเองโดยเฉพาะ นั่นคือ เห็นไปว่าความตรงกันข้ามของสิ่งที่เป็นของคู่ตรงข้ามนั้นเป็นสิ่งจริงจัง จนเกิดการยึดมั่น ยึดนี่ยุ่งไปหมด และวิธีแก้ไขก็ง่ายมาก...

ดังเช่นตัวอย่างนี้

พราหมณ์คนหนึ่งเดินเข้ามาเฝ้าพระพุทธองค์ ในมือทั้งสองของพราหมณ์ประคองดอกไม้มาสองมือ เมื่อพระพุทธองค์ทรงเห็นดังนั้นก็ตรัสว่า
"วางเถิดพราหณ์"
พราหมณ์คนนั้นก็วางดอกไม้ในมือขวาลง แต่พระพุทธองค์ก็ทรงตรัสอีกว่า
"วางเถิดพราหมณ์"
พราหมณ์คนนั้นจึงวางดอกไม้ที่เหลือในมือข้างซ้ายลงอีก แต่กระนั้นแม้เมื่อพราหมณ์มือเปล่าแล้วพระพุทธองค์ก็ทรงตรัสอีกว่า
"วางเถิดพราหมณ์"
ดังนั้นพราหมณ์คนนั้นก็บรรลุธรรม

อีกตัวอย่างหนึ่ง

มีพระรูปหนึ่งได้ถามอาจารย์เซนว่า "อะไรคือทาง"
อาจารย์ตอบว่า "ภูเขาลูกนี้ช่างงามนัก"
"ผมไม่ได้ถามถึงเรื่องภูเขา ผมถามเรื่องทางต่างหาก"
"ตราบเท่าที่เธอยังไม่ได้พ้นภูเขา เธอก็จะไม่สามารถไปให้ถึงทางได้"อาจารย์ตอบ
เห็นได้ชัดว่าคำว่า "ภูเขา" ในที่นี้หมายความถึงตัวตนนั้นเอง

ครั้งหนึ่ง พระได้ถามอาจารย์ว่า
"อะไรคือทาง(เต๋า)"
"มันอยู่ตรงหน้าเธอแล้ว"อาจารย์ตอบ
"ทำไมผมไม่เห็นมันเลย"พระถามขึ้นอีก
"เพราะเธอมี ผม เธอเลยไม่เห็นมัน ตราบที่ยังมีเธอ มีฉัน ตราบนั้นยังมีการปรุงแต่งครอบงำซึ่งกันและกัน และไม่อาจมี "การเห็น"ในความหมายที่แท้จริงได้"อาจารย์กล่าวตอบ
"ตรงนี้แหละ ถ้าไม่มีเธอไม่มีฉัน แล้วจะสามารถมีการเห็นได้หรือไม่"พระถามขึ้นอีก
"ถ้าไม่มีเธอไม่มีฉัน แล้วใครละที่ต้องการจะเห็น" อาจารย์กล่าวชี้ขาดครั้งสุดท้าย

ขอยกตัวอย่างอีกเรื่องหนึ่งกล่าวคือ ท่านตันกะแห่งสมัยราชวงศ์ถัง ประเทศจีน ได้เดินทางไปวัดเยรินจิ อันเป็นวัดใหญ่แห่งหนึ่ง ขณะนั้นเป็นเวลาหนาวเย็นยิ่ง จนในที่สุดท่านก็เอาพระพุทธรูปไม้จากหิ้งบูชาพระในศาลาวัดไปเผาทิ้งเสีย เพื่อใช้ผิงไฟให้อบอุ่น รพะที่เฝ้าศาลาก็ตกใจยิ่งนัก
"นี่คุณกล้าเอาพระพุทธรูปไม้ของฉันมาเผาเชียวหรือ"พระเฝ้าศาลาเอยถามขึ้น
ท่านตันกะได้กล่าวตอบหลังจากทำท่าคุ้ยเขี่ยหาอะไรบางอย่างในกองขี้เถ้าด้วยไม้เท้าของท่านว่า "ผมอยากจะได้พระสารีรธาตุไปบูชาสักหน่อย"
"นี่คุณ"พระเฝ้าศาลาท้วงด้วยความขุ่นเคืองผสมกับความกังขา "นี่มันพระพุทธรูปไม้นะ มันจะมีพระสรีรธาตุได้อย่างไร"
"ถ้าเช่นนั้น"ท่านตันกะสวนขึ้น "ที่เหลืออีก 2 องค์นั่นก็เอามาให้ผมอีกเถอะ"

นี่เป็นเรื่องจริงหรือไม่ ไม่ใช่เรื่องสำคัญ แต่การกระทำของท่านตันกะมิได้เป็นการดูหมิ่นดูแคลนสิ่งอันเป็นที่เคารพนับถือเลย ตรงกันข้าม ท่านหลับช่วยเปิดดวงตาของพระผู้เฝ้าศาลาผู้ยึดมั่นถือมั่นจัดให้เกิดแสงสว่างทางปัญญาขึ้นมาอีกด้วย

การยึดถือในของคู่ (ดี-ชั่ว , บุญ-บาป , สุข-ทุกข์ , พอใจ-ไม่พอใจ ฯลฯ) เป็นความโง่เขลาเท่าๆกันทั้งสิ้น ไม่ว่าจะยึดในแง่ดีหรือแง่ไม่ดีก็ตาม เพราะแม้ว่าจะละชั่วและทำดีแล้ว ยังต้องมีภาระกิจที่ต้อง "ทำจิตใจให้บริสุทธิ์"อีกด้วย ต้องพ้นไปจากทั้งความดีและชั่วอีกด้วยนั่นเอง

คำเตือนแห่งเซน

การเดินตามแบแผนและติดในกฎเกณฑ์
เป็นการผูกมัดตัวเองโดยไม่ต้องมีเชือก

การกระทำสิ่งต่างๆตามอำเภอใจ
เป็นสิ่งอกุศลและเลวร้าย

การกระทำเพียงแค่รวมจิตเป็นหนึ่ง
และบังคับมันให้สงบลง
เป็นลัทธินิยมความนิ่งเฉยและเป็นเซนที่ผิด

การยึดถือความคิดของตนเอง
และลืมโลกที่ปรากฎอยู่ตามสภาพของมัน
เป็นการตกลงไปสู่หลุมที่ลึก

ความรู้สึกยึดมั่นที่ว่าตนจะต้องรู้ทุกอย่าง
และไม่ยอมให้สิ่งใดมาหลอกลวง
เป็นการตกลงไปสู่หลุมที่ลึก

ความรู้สึกยึดมี่ยที่ว่าตนต้องรู้ทุกอย่าง
และไม่ยอมให้สิ่งใดมาหลอกลวง
เป็นการใส่โซ่ตรวนให้กับตัวเอง

การคิดถึงความดีและความชั่ว
เป็นการติดอยู่ในสวรรค์หรือนรก

การค้นหาพระพุทธเจ้านอกตัว
การค้นหาความจริงนอกตัว
เป็นการถูกคุมขังอยู่ในระหว่างซี่กรงเหล็กทั้งสองซี่

ใครที่คิดว่าเขาบรรลุเห็นแจ้ง
ด้วยการยกระดับความคิด
เป็นเพียงการเล่นกับสิ่งอันหลอกลอน

การนั่งอย่างเลื่อนลอยในเซน
เป็นเงื่อนไขของสิ่งที่เลว

การทำให้ก้าวหน้า
เป็นเพียงสิ่งลวงตาในทางปัญญาอันเกิดจากการปรุงแต่ง

ความเสื่อมถอย
เป็นสิ่งที่เข้ากันไม่ได้กับหนทางของเรา

การไม่ก้าวหน้าและไม่ถอยหลัง
เป็นเพียงลมหายใจของบุคคลที่ตายแล้ว

เธอจะต้องมานะพยายามอย่างถึงที่สุด
ในอันที่จะบรรลุถึงการตรัสรู้ของเธอในชีวิตนี้
และจะต้องไม่ผลัดมันออกไปวันแล้ววันเล่า
ด้วยการก้าวข้ามพ้นโลกทั้งสาม

จาก : หนังสือบทเพลงแห่งเซน

คำอธิฐานของพระโพธิสัตว์

เมื่อข้าพเจ้านักศึกษาธรรมได้มามองดูลักษณะอันแท้จริงของจักรวาลทั้งหมด
ทุกสิ่งทุกอย่างเป็นปรากฎการณ์อันไม่สิ้นสุดของความจริงอันเร้นลับแห่งตถตา
ในทุกๆเหตุการณ์ ในทุกๆขณะ และในทุกๆแห่ง
ไม่มีสิ่งใดที่มิใช่การปรากฎอันยิ่งใหญ่แห่งรัศมีอันสุกสว่างของมัน


การเห็นแจ้งนี้ทำให้พระสังฆปรินายกและอาจารย์เซนผู้ทรงคุณธรรมของเรา
ขยายความเอาใจใส่อย่างระมัดระวังด้วยจิตใจที่เคารพบูชา
แม้ต่อสิ่งมีชีวิตเช่นสัตว์และนก
การเห็นแจ้งนี้สอนให้รู้ว่า
อาหารประจำวันของเรา เครื่องดื่ม เสื้อผ้า และเครื่องปกป้องชีวิต
คือ เนื้อและเลือดอันอบอุ่น แห่งอุบัติอันเมตตาปรานีของพระพุทธเจ้า

ใครบ้างจะสามารถอกตัญญูหรือไม่ให้ความเคารพนับถือ แม้แต่สิ่งที่ไม่มีชีวิต
อย่าว่าแต่มนุษย์เลย
แม้แต่บุคคลที่โง่เขลา
ก็จงให้ความอบอุ่นและความเมตตาปรานีต่อเขา
ถ้าบังเอิญเขากลับมุ่งร้ายต่อเรา
กลายเป็นศัตรูคู่อาฆาต กล่าวร้าย และจะประหัตประหาร
เราควรน้อมคำนับด้วยความจริงใจ
ด้วยวาจาอันอ่อนน้อมถ่อมตน

ในความเชื่ออันน่าเคารพที่ว่า
เขาคือพระพุทธเจ้า
ผู้อวตารมาด้วยความเมตตาปรานี
เพื่อจะให้อุบายปลดเปลื้องเราให้พ้นจากบาปกรรม
ที่เราก่อขึ้นและสะสมมา
ด้วยความหลงและความบึดติดในอัตตาของเราเอง

เป็นเวลาชั่วนานชั่วกัปชั่วกัลป์
และแล้วในแต่ละชั่วแวบความคิดของเรา
ดอกบัวก็ผุดขึ้น
และในดอกบัวแต่ละดอก
ก็ปรากฎพระพุทธเจ้าองค์หนึ่ง
พระพุทธเจ้าเหล่านี้จะยัง สุขาวดี แดนแห่งความบริสุทธิ์
ให้ปรากฎในทุกขณะและในทุกแห่ง

ขอเราจงแผ่ขยายจิตใจนี้ไปยังสรรพสัตว์ทั้งหลาย
เพื่อว่าเราและโลกทั้งมวล
จักบรรลุถึงความสมบูรณ์ในปัญญาของพระพุทธเจ้า

จาก : หนังสือบทเพลงแห่งเซน

จิตแห่งความเชื่อมั่น

หนทางอันยิ่งใหญ่นั้นไม่ใช่สิ่งที่ยากลำบากอะไร
สำหรับบุคคลผู้ไม่มีความรู้สึกเปรียบเทียบ
เมื่อรักและชังไม่มีอยู่
ทุกสิ่งทุกอย่างก็แจ่มแจ้งและเปิดเผยตัวเองออก
แต่ถ้ามีการแยกความแตกต่างแม้เพียงเล็กน้อยที่สุด
ฟ้าและดินจะถูกแยกห่างกันอย่างหาประมาณมิได้

ถ้าเธอปราถนาจะเห็นความจริง
จงอย่ายึดถือความเห็นที่คล้อยตามหรือขัดแย้ง
การดิ้นรนระว่างสิ่งที่ตนชอบและสิ่งที่ตนไม่ชอบ
เป็นเชื้อโรคร้ายแห่งจิตใจ
เมื่อไม่เข้าใจความหมายอันลึกล้ำของสรรพสิ่ง
สันติสุขแท้จริงของจิตใจก็ถูกรบกวนไม่ให้มีอยู่

เมื่อเธอพยายามหยุดการกระทำ
เพื่อจะได้ถึงความหยุดนิ่ง
ความพยายามของเธอนั่นแหละ
ที่ทำให้เธอเต็มไปด้วยการกระทำ
ตราบใดที่เธอยังอยู่ในภาวะสุดโต่งข้างใดข้างหนึ่ง
เธอจะไม่มีวันรู้จักภาวะแห่งความเป็นหนึ่ง
ผู้ที่มิได้อยู่บนหนทางแห่งความเป็นหนึ่ง
ย่อมตกไปสู่การกระทำและความหยุดนิ่ง
ทั้งการยืนยันและปฎิเสธ
การปฎิเสธความจริงของสรรพสิ่ง
เป็นการพลาดไปจากความจริงนั้นฅ
การยืนยันถึงความว่างของสรรพสิ่ง
ก็เป็นการพลาดไปจากความจริงนั้น

ยิ่งเธอพูดคิดมากเท่าใด
เธอยิ่งห่างไกลจากความจริงมากเท่านั้น
จงหยุดการพูดและการคิด
และจะไม่มีสิ่งใดที่เธอจะไม่รู้

การกลับคืนสู่รากเหง้าคือการค้นพบความหมาย
แต่การเดินตามสิ่งปรากฎภายนอก
เป็นการพลาดไปจากต้นตอ
ในช่วงขณะแห่งความแจ้งภายใน
มีการข้ามพ้นสิ่งภายนอกและความว่าง
ความเปลี่ยนแปลงที่ดูเหมือนเกิดขึ้นในโลกที่ว่างนี้
เราบอกว่าเป็นจริงเพราะอวิชชาของเรานั่นเอง
อย่าได้ค้นหาสัจธรรม
ให้เพียงแต่หยุดถือความเห็นต่างๆเท่านั้น

เมื่อปราศจากความคิดแบ่งแยก
จิตก็ไม่มี
เมื่อความคิดหายไป ตัวที่ทำหน้าที่คิดก็หายไป
เช่นเดียวกับเมื่อจิตหายไป วัตถุก็หายไปด้วย

สิ่งทั้งหลายมีอยู่เพราะว่ามีตัวรับรู้
จิตมีอยู่ก็เพราะว่าสิ่งทั้งหลายมีอยู่
ขอจงได้เข้าใจความสัมพันธ์ระหว่างสิ่งทั้งสองนี้
และความจริงพื้นฐาน
นั่นคือความเป็นหนึ่งแห่งความว่าง

ถ้าดวงตาไม่เคยหลับใหล
ความฝันทั้งหมดก็หยุดลงโดยธรรมชาติ
ถ้าจิตไม่สร้างความแบ่งแยก
สรรพสิ่งทั้งหลายก็เป็นเช่นที่มันเป็น
อันมีสาระดั้งเดิมแต่เพียงอย่างเดียว

ชั่วขณะแห่งความเห็นแจ้ง
เราเป็นอิสระจากเครื่องจองจำ
ไม่มีสิ่งใดมายึดเกาะเรา
และเราก็ไม่ยึดเกาะต่อสิ่งใด
ทุกสิ่งว่าง ชัดเจน และแจ่มแจ้งในตัวของมันเอง
โดยที่จิตไม่ต้องใช้พลกำลังแต่อย่างใด
ณ ที่นี้ ความคิด ความรู้สึก ความรู้และจินตนาการ
ไร้คุณค่าโดยสิ้นเชิง

จาก : หนังสือบทเพลงแห่งเซน

คำสอนเซ็นที่น่าสนใจ

ตักม้อ (พระโพธิธรรม แห่งวัดเส้าหลิน - เป็นผู้ที่นำเอานิกายเซ็นไปเผยแพร่ที่จีน)

  • การส่งมอบพิเศษนอกคัมภีร์ ไม่ต้องอาศัยตัวหนังสือ ชี้ตรงไปยังจิตของมนุษย์ เห็นแจ้งในภาวะที่แท้จริง และบรรลุความเป็นพุทธะ.
  • มองดูความขัดแย้งที่อยู่ในใจต่อสู้กัน แล้วสำรวจในตนเองว่ามันคิดมีมายาอย่างไร.
  • หลักการปฏิบัติธรรม 4 ประการของตักม้อ
    1.) สามารถพิจารณาสำรวจใจของตน ซึ่งเป็นรากฐานในการทำสมาธิให้ใจสงบ
    2.) ปฏิบัติตามธรรมชาติ แสวงหาผู้เคลื่อนไหวที่แท้จริง (จิตใจ - ธัมมโชติ)
    3.) ยึดถือศีลเสมือนหนึ่งลมหายใจเข้าออก ไม่จำนนต่อความยากลำบากใดๆ ทั้งสิ้น
    (ตักม้อให้ถือว่าความยากลำบากเป็นผลของกรรมเก่า - ธัมมโชติ)
    4.) แหวกกรอบไม่ว่าเป็นวัตถุ หรือจิตใจ (ให้ใจเป็นอิสระ ไม่ยึดติดสิ่งใดๆ - ธัมมโชติ)
  • มองดูทุกสิ่งทุกอย่างที่ผ่านไปในอดีต เหมือนภาพในความฝัน
    (เป็นเหมือนภาพมายา หาสาระแก่นสารใดๆ ไม่ได้ - ดูเรื่องธรรมะจากเลขศูนย์ "0" ในหมวดบทวิเคราะห์ ประกอบ - ธัมมโชติ)
  • มองดูทุกสิ่งทุกอย่างในปัจจุบัน เหมือนเป็นฟ้าแลบ
    (ตั้งอยู่ได้ไม่นาน ไม่ช้าก็แปรปรวนไป ดับไป ยึดมั่นอะไรไม่ได้ - ธัมมโชติ)
  • มองดูทุกสิ่งทุกอย่างในอนาคต เหมือนเมฆหมอกที่ล่องลอยอยู่ไปมา.
    (ยังเลือนลาง ไม่ชัดเจน แปรปรวนอยู่ตลอดเวลา ยังไม่รู้ว่าจะเป็นอย่างไรกันแน่ - ธัมมโชติ)
  • ชาวโลกมักตั้งชื่อ (ให้กับสิ่งต่างๆ - ธัมมโชติ) ไปต่างๆ ถ้าเรายึดมั่นในชื่อที่เรียกขาน จิตใจก็ถูกแบ่งแยก ธรรมที่ปฏิบัติและคำพูดต่างๆ จะเป็นรูปธรรมผูกมัดใจกายของผู้ยึดมั่นขึ้นมาทันที ทำให้ไม่อิสระ ไม่ว่าง ...... ชื่อนั้นจึงไม่มีความหมาย ไม่ควรที่ผู้ใดจะไปยึดมั่น เพียงแต่รู้และเข้าใจก็เพียงพอ.
  • หากใจเพ่งธรรมมากเกินไป ธรรมจะคอยดึงใจอยู่เสมอ ถ้าเคร่งธรรมอย่างเดียว จิตมีแต่จะต่ำต้อย (เพราะจิตใจจะถูกผูกมัดไว้ ไม่เป็นอิสระ - ดูเรื่องธรรมเปรียบเหมือนแพ ในหมวดธรรมทั่วไป ประกอบ - ธัมมโชติ)
คำสอนเซ็นที่น่าสนใจ (2)

เว่ยหลาง (ฮุ่ยเน้ง สังฆนายกองค์ที่ 6 แห่งนิกายเซ็นในประเทศจีน)

  • เมื่อเราพบเห็นความดีก็ตาม ความชั่วก็ตามของบุคคลอื่น เราไม่ถูกดึงดูดให้ชอบ หรือไม่ถูกมันผลักให้ชัง หรือเราไม่เกาะเกี่ยวกับมัน เมื่อนั้นลักษณะแห่งจิตใจของเราเป็นของว่างเท่ากันกับอวกาศ.
  • เมื่อใดใจของเราทำหน้าที่ของมันโดยไม่ติดขัด และเป็นอิสระที่จะไปหรือมา เมื่อนั้นชื่อว่ามันอยู่ในภาวะแห่งปรัชญา. (คือเมื่อใดจิตใจไม่ยึดมั่นผูกพัน ไม่เกาะเกี่ยวในสิ่งใดๆ เลย เมื่อนั้นได้ชื่อว่าจิตกำลังมีปัญญา - ธัมมโชติ)
  • คำว่าปรัชญาหมายถึงปัญญาความรู้รอบแจ้งชัด คือเมื่อใดเราสามารถรักษาจิตของเรา ไม่ให้ถูกพัวพันด้วยความทะเยอทะยานอันโง่เขลา ได้ทุกกาละทุกเทศะ ทำอะไรด้วยความฉลาด (คือไม่ยึดมั่นถือมั่นในสิ่งใดๆ เลย - ธัมมโชติ) ไปทุกโอกาส เมื่อนั้นชื่อว่าเรากำลังประพฤติอบรมปรัชญาอยู่ทีเดียว.
  • ..... การมีท่าทีซึ่งไม่เป็นทั้งการผลักดัน หรือการดึงดูดต่อสรรพสิ่งทั้งมวล เหล่านี้คือการรู้แจ้งแทงตลอดซึ่งตัวจิตเดิมแท้ เพื่อการบรรลุถึงพุทธภูมิ.
  • เมื่อเราใช้ปรัชญาของเราในการเพ่งพิจารณาในภายใน เราย่อมมีความสว่างแจ่มแจ้งทั้งภายในและภายนอก และอยู่ในฐานะที่จะรู้จักใจของเราเอง (การดูจิตตนเองย่อมทำให้รู้จักและเข้าใจ ทั้งจิตของตนเองและจิตผู้อื่น รวมทั้งสิ่งอื่นๆ ด้วย เพราะมีธรรมชาติคือความไม่เที่ยง เป็นทุกข์ ไม่อยู่ในอำนาจ ยึดมั่นถือมั่นไม่ได้เหมือนกัน- ธัมมโชติ)

    การรู้จักใจของเราเองก็คือการลุถึงวิมุตติ การลุถึงวิมุตติก็คือการลุถึงสมาธิฝ่ายปรัชญา ซึ่งเป็นความไม่ต้องคิด ความไม่ต้องคิดคือการเห็นและการรู้สิ่งทั้งหลายทั้งปวงด้วยใจที่ไม่มีอะไรห่อหุ้มพัวพัน เมื่อเราใช้มันมันแทรกเข้าไปได้ในทุกสิ่ง แต่ไม่ติดแจอยู่ในสิ่งใดเลย

    สิ่งที่เราจะต้องทำนั้นมีเพียงการชำระจิตให้ใสกระจ่าง เพื่อวิญญาณทั้ง 6 (คือตัวรับรู้ความรู้สึกทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ตามลำดับ - ธัมมโชติ) เมื่อแล่นไปตามอายตนะทั้ง 6 (คืออายตนะภายใน 6 ได้แก่ ประสาทตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ อันเป็นฐานให้วิญญาณ 6 เกิดทางทวารนั้นๆ ตามลำดับ ดูเรื่องอายตนะ 12 ในหมวดธรรมทั่วไป ประกอบ - ธัมมโชติ) จะไม่ถูกทำให้เศร้าหมองโดยอารมณ์ทั้ง 6 (อารมณ์ 6 คืออายตนะภายนอก 6 ได้แก่ รูป เสียง กลิ่น รส สัมผัสทางกาย ความคิดความรู้สึกต่างๆ ที่มากระทบกับอายตนะภายใน 6 อันทำให้การรับรู้ต่างๆ คือวิญญาณ 6 เกิดขึ้น - ธัมมโชติ)

    เมื่อใดใจของเราทำหน้าที่ของมันได้โดยอิสระ ปราศจากอุปสรรค (คือความยึดมั่นถือมั่น - ธัมมโชติ) และอยู่ในสถานะที่จะมาหรือไปได้โดยอิสระ เมื่อนั้นชื่อว่าเราได้บรรลุสมาธิฝ่ายปรัชญา หรืออิสรภาพ สถานะเช่นนี้มีนามว่าการทำหน้าที่ของความไม่ต้องคิด

    แต่ว่าการหักห้ามความคิดถึงสิ่งใดๆ ให้ความคิดทั้งหมดถูกกดเอาไว้ ย่อมเป็นการกดธรรมะไว้ ข้อนี้ย่อมเป็นความเห็นผิด (คือให้รับรู้สิ่งต่างๆ ได้ตามปรกติ แต่ไม่ยึดมั่นผูกพัน หรือเกาะเกี่ยวอยู่กับสิ่งใดเลย ทางเถรวาทใช้คำว่าธรรมเครื่องเนิ่นช้า อันได้แก่ ตัณหาความทะยานอยาก และอุปาทานความยึดมั่นถือมั่น ซึ่งเป็นสิ่งที่ทำให้จิตไม่เป็นอิสระ - ธัมมโชติ)
คำสอนเซ็นที่น่าสนใจ (3)

เว่ยหลาง (ต่อ) (ฮุ่ยเน้ง สังฆนายกองค์ที่ 6 แห่งนิกายเซ็นในประเทศจีน)

  • ความคิดเรื่องตัวตน หรือเรื่องความมีความเป็น คือเขาพระสุเมรุ ..... เมื่อใดท่านขจัดความเห็นว่าตัวตน และความเห็นว่าเป็นนั่นเป็นนี่ออกไปเสียได้ เขาพระสุเมรุก็จะหักคะมำพังทลายลงมา.
  • การเถียงกันย่อมหมายถึงความดิ้นรนจะเป็นฝ่ายชนะ ย่อมเสริมกำลังให้แก่ความยึดมั่นถือมั่นว่าตัวตน และย่อมจะผูกพันเราไว้กับความยึดถือด้วยความสำคัญว่าตน ว่าสัตว์ ว่าชีวะ ว่าบุคคล.
  • "การยึดถือในตัวตน" เป็นทางมาแห่งบาป แต่การถือว่า "การได้บรรลุธรรม หรือผลใดๆ ก็ตาม เป็นเพียงของลมๆ แล้งๆ" นี้เป็นทางมาแห่งกุศลอันใหญ่หลวง. (คือต้องไม่ยึดมั่นทั้งในตัวตน และไม่ยึดมั่นว่าได้บรรลุธรรมใดๆ ด้วย คือไม่ยึดมั่นในสิ่งใดเลย รวมทั้งไม่ยึดมั่นว่าไม่ยึดมั่นด้วย - ธัมมโชติ)
  • ..... ฉันจะให้คำตักเตือนแก่พวกท่านในเรื่องการสั่งสอน เพื่อท่านจะได้รักษาธรรมเนียมแห่งสำนักของเรา
    1. ครั้งแรกจงกล่าวถึงธรรม 3 ประเภท (คือ ขันธ์ 5, อายตนะ 12, ธาตุ 18 - ธัมมโชติ)
    2. ต่อไปก็กล่าวถึงสิ่งที่เป็นของคู่ประเภทตรงข้าม 36 คู่ (เพื่อให้เห็นความสุดโต่ง เช่น ยาว/สั้น ดำ/ขาว ดี/ชั่ว - ธัมมโชติ) อันเป็นความไหวตัวของภาวะที่แท้แห่งจิต (จิตเดิมแท้ - ธัมมโชติ)
    3. จากนั้นก็สอนวิธีหลีกเลี่ยงความสุดโต่งทั้งสองข้าง (ให้ผู้ฟังเข้าใจสภาวะจิตที่เป็นกลางๆ ไม่หวั่นไหวไปกับความรู้สึกที่สุดโต่ง - ธัมมโชติ)
    4. การสอนทุกคราวอย่าเบนออกไปจากภาวะที่แท้แห่งจิต
    5. เมื่อเพิกถอนการอ้างอิงต่อกันและกันของคำคู่นี้โดยสิ้นเชิงแล้ว ก็จะเหลือเป็นความหมายอันเฉียบขาด (อิสระจากทุกสิ่ง - ธัมมโชติ)

      (เช่นมียาวเพราะมีสั้นมาเปรียบเทียบ มีดีเพราะมีชั่วมาเปรียบเทียบ มีดำเพราะมีขาวมาเปรียบเทียบ ถ้าไม่มีสิ่งมาเปรียบเทียบ หรือไม่มีการเปรียบเทียบแล้ว ก็ไม่มียาว สั้น ดี ชั่ว ดำ ขาว ฯลฯ ถ้าใจไม่ไปปรุงแต่ง ยึดมั่นผูกพันแล้ว ใจก็จะเป็นอิสระจากทุกสิ่ง ไม่เอียงไปข้างใดเลย - ธัมมโชติ)

ฮวงโป

  • ..... วิธีการชนิดฉับพลัน กล่าวคือการขจัดความคิดปรุงแต่ง โดยอาศัยความรู้อันเด็ดขาดว่า ไม่มีอะไรเลยที่จะตั้งอยู่อย่างไม่ต้องแปรผัน ไม่มีอะไรเลยที่จะอิงอาศัยได้ ไม่มีอะไรเลยที่จะมอบความไว้วางใจได้ ไม่มีอะไรเลยที่ควรจะเข้าไปอยู่อาศัย ไม่มีอะไรเลยที่ตั้งอยู่ในฐานะเป็นผู้กระทำ หรือผู้ถูกกระทำ.
  • คนโง่มัวแต่หลบหลีกปรากฏการณ์ต่างๆ ไม่หลบหลีกจากความคิดปรุงแต่ง ส่วนคนฉลาดย่อมหลบหลีกจากความคิดปรุงแต่ง และไม่ต้องหลบหลีกปรากฏการณ์.
  • โดยการคิดถึงอะไรบางอย่าง เธอย่อมสร้างความมีอยู่ (ของตัวตนอย่างใดอย่างหนึ่ง) ขึ้นมาอย่างหนึ่ง และโดยการคิดถึงความไม่มีอะไร เธอย่อมสร้างความมีอยู่ (ของความไม่มีอะไร) ขึ้นมาอีกอย่างหนึ่ง
    ขอให้การคิดในทำนองที่ผิดๆ เช่นนี้ จงสูญสิ้นไปโดยเด็ดขาดเถิด แล้วก็จะไม่มีอะไรเหลืออยู่ให้เธอเที่ยวแสวงหาอีกต่อไป!

ขอบคุณมากคะ ทั้งคุณคนดิบ และเซนน้อย ที่ได้รวบรวมกลั่นกรองมาทำให้เข้าใจ เซน มากขึ้น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท