อนุทินล่าสุด


วิรัตน์ คำศรีจันทร์
เขียนเมื่อ

๓๘. การ Dialogue กัน ของมนุษย์ สังคม และโครงสร้างทางจิตวิญญาณ

เมื่อวันที่ ๑๘ ธันวาคม ๒๕๕๒ ผมเตรียมไปฟังการอภิปรายของอธิการบดี ๓ มหาวิทยาลัย คือ มหิดล ธรรมศาสตร์ และศิลปากร ในงาน"ความเปลี่ยนทางสังคมไทย โอกาสหรือวิกฤติ"  เนื่องใน  ๔๐ ปีของคณะสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล อย่างเต็มที่ แต่ก็ไม่ได้ไปเพราะป่วยเป็นไข้หวัดกระทันหันและตอนบ่ายต้องไปบรรยายที่มหาวิทยาลัยศิลปากร ทับแก้ว เลยต้องกินยาและพักผ่อนเพื่อเก็บกำลังสติปัญญาที่เหลือนิดเดียวไปใช้ในตอนบ่าย ผมอยากฟังนักวิชาการและผู้บริหารของสถาบันวิชาการครั้งนี้อภิปรายก็เนื่องจาก มหิดลนั้นเหมือนตัวปัญญาความเป็นมนุษย์ทั้งกายและใจ ธรรมศาสตร์เป็นตัวแทนปัญญาระบบและสุขภาวะสังคม และศิลปากรเป็นสุนทรียภาพและมโนปัญญาซึ่งเป็น Solf structure ที่สะท้อนไปสู่พลังการผลิตของสังคมและพลังความรู้สึกนึกคิดของมนุษย์ ปัญญาสามมิตินี้ของสังคมจะมองและฉายภาพทรรศนะต่อประเด็นร่วมของการเสวนาเรื่องต่างๆ ให้เห็นแก่นและ Ground งานเชิงปัญญาของสังคมไทยว่าอย่างไร



ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

วิรัตน์ คำศรีจันทร์
เขียนเมื่อ

๓๗. ดีใจที่เห็นชีวิตและจิตวิญญาณของเพื่อน

ในหนังสือสุดสัปดาห์ของมติชนสัปดาห์นี้ ได้เห็นบทกวีของ 'นฤเบศ' และเรื่องสั้นของ 'ธราธิป'  ซึ่งเป็นเพื่อนเก่าแก่และไม่เคยได้เจอกันเลยกว่า ๒๐ ปีเห็นจะได้ ตัวหนังสือของธราธิปอารมณ์ดี หากเป็นงานจิตรกรรมก็คงจะเหมือนกับงานที่ผสมผสานกันของ Humorist, Expressionist, Pop Art และ Folk Art เพราะเป็นการหยิบเอาลมหายใจและสีสันของชีวิตรอบๆตัว ทั้งในสังคมเมือง ในบ้าน และจากประสบการณ์ชีวิตในสังคมชนบท มาเป็นวัตถุดิบในการเขียน บางครั้งก็เอาแนวแสดงความรู้สึกและการครุ่นคิดภายในของปัจเจกมาเขียน มักเล่นกับอารมณ์ขันความคิด งานเลยให้ผู้อ่านอย่างน้อยก็ ๓ อารมณ์ คือ เห็นอัธยาศัยใจคอผู้เขียน ได้เรียนรู้วิถีชีวิตและผู้คนในสังคม ได้วิธีคิดเชิงบวกต่อสิ่งต่างๆ บ่มสร้างอารมณ์ขันและจิตใจที่รื่นรมย์ ทั้งสองคนหายไปจากบรรณภิภพเป็นนาน ยังนึกถึงอยู่ว่าชีวิตดำเนินไปอย่างไรกัน เพราะงานอย่างนี้มันเป็นอาหารชีวิตและเครื่องบำรุงจิตวิญญาณของเขา เห็นแล้วจึงดีใจ.



ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

วิรัตน์ คำศรีจันทร์
เขียนเมื่อ

๓๖. Be flowing with Saturday morning : ความสุขโดยจัดวาง Time และ Space เพื่ออยู่กับตนเอง

เย็นวันศุกร์หรือยามเช้าของเสาร์อาทิตย์ เป็นเวลาให้รางวัลตนเองได้มีความสุขกับการอ่านและการเติมพลังชีวิต เพื่อฟื้นฟูความสดและได้พลังความคิดสำหรับทำงานและการดำเนินชีวิตอย่างมีความสุขอยู่เสมอ ส่วนความสุขสงบของชีวิตด้านในก็ทำด้วยการอยู่กับตนเองในท้ายวันของทุกวัน หากเป็นเย็นวันศุกร์ ก็ซื้อผักและอาหารที่ไม่ใช่กลุ่มที่ให้คาร์โบไฮเดรตมากิน ซื้อหนังสือวิเคราะห์ข่าวสังคมรายสัปดาห์ทั้ง สยามรัฐ มติชน และเนชั่น ถึงบ้านก็อาบน้ำให้เย็นสบาย กินอาหารให้กำซาบลิ้น กาย ใจ เสร็จก็อ่านหนังสือ ดูรูป ดูงานความคิดสร้างสรรค์ของผู้คนและสังคม ดูงานศิลปะและวรรณกรรม เช้าวันเสาร์อาทิตย์ ก็ซื้อหนังสือพิมพ์และข้าวมื้อเช้า ต้มน้ำเพื่อชงกาแฟหอมๆ กินข้าวเสร็จก็นั่งอ่านหนังสือพิมพ์ ฟังข่าววิทยุยามเช้า คุยเล่นมุขกับภรรยา เล่นกีตาร์ร้องเพลงลูกทุ่ง ๒-๓ เพลง ทำงานความคิดเพื่อเขียนงานวิจัย เขียนหนังสือ เขียนรูป มีความสุขจริงๆ



ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

วิรัตน์ คำศรีจันทร์
เขียนเมื่อ

๓๕. ตลาดที่ไม่ต้องพูดและไม่ต้องมีมนุษย์ : บริบทและโครงสร้างสังคมโลก

เมื่อวาน จันทร์ที่ ๒๑ ธันวาคม ๒๕๕๒ ผม / รองศาสตราจารย์ดวงพร คำนูณวัฒน์ / นายแพทย์สมเกียรติ วสุวัฏฏกุล ผู้ช่วยอธิการบดี /ผอ.นภามาศ  ผอ.กองพัฒนาคุณภาพมหาวิทยาลัยมหิดล แล้วก็คนทำงานวิจัยแนวชุมชนจากคณะต่างๆ จับมือกันจัดเวทีถอดบทเรียน ระดมความคิด และปรึกษาหารือ เพื่อพัฒนาวิธีจัดการความรู้ สำหรับยกระดับและพัฒนางานวิจัยชุมชนในแนวบูรณาการและข้ามศาสตร์ของมหาวิทยาลัยมหิดล ในเวทีนี้ ดร.อุทัย ดุลยเกษม อธิการบดี มหาวิทยาลัยศิลปากร ได้ให้ข้อสังเกตระหว่างอภิปรายนำการเสวนาเกี่ยวกับอิทธิพลความเป็นท้องถิ่นและสังคมโลกาภิวัตน์ที่จะมีต่อบทบาทภาควิชาการและวิถีการวิจัยเพื่อให้วิธีคิดและเห็นบริบทของการทำงานเกี่ยวกับชุมชนอย่างหนึ่งว่า สังคมไทยและสังคมโลก กำลังมีวิถีชีวิตอยู่ในวิถีตลาดแบบไม่ต้องพูดกับคนและไม่ต้องมีมนุษย์ แต่ใช้เงิน คอมพิวเตอร์ และสื่อกลางต่างๆ สัมพันธ์กับโลกภายนอกและเข้าถึงสิ่งที่ต้องการ 



ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

วิรัตน์ คำศรีจันทร์
เขียนเมื่อ

๓๔. บ้านวิจัยและพัฒนาวิถีสุขภาวะชุมชน : Home for Learning Community

  • พื้นที่ต่ำกว่า ๕ ไร่ ออกแบบใช้สอยเพื่ออยู่อย่างพอเพียง ลดใช้พลังงานไฟฟ้า ใช้แสง ลม และความร่มรื่นจากธรรมชาติเป็นหลัก
  • มีสระบัวหลวง สำหรับวิจัยรหัสนัยจากบัวและเป็นสตูดิโอเขียนรูป สื่อการเรียนรู้ทางสังคม
  • ปลูกผัก ผลไม้ กอไผ่หวาน แนวต้นสัก กะท้อน ชมพู่ ลำไย มะม่วง
  • มีบ้านวิทยากร ห้องหนังสือ ห้องทำงาน โรงเวิร์คช็อปงานช่าง
  • มีห้องประชุมและห้องเอนกประสงค์ แสดงงานศิลปะจากกงานวิจัยชุมชนและวิถีชีวิตการเรียนรู้ของชาวบ้านสังคมไทย(ในอนาคตจะเป็นของกลุ่มประเทศอาเซียนและอินโดจีน) ที่จัดนั่งเสวนากลุ่มนักวิชาการชุมชนแนวทางเลือก จัดภาวนา และเวทีเรียนรู้พัฒนาศักยภาพชาวบ้าน จัดแสดงงานสร้างสรรค์ของชุมชน ที่พักกลุ่มหมู่มิตร ๒๕-๓๐ คน
  • (ส่วนที่จะสร้างต่อ) ร้านกาแฟและโรงเตี๊ยมหน้าบ้าน เพื่อนั่งพักคุยกันของคนผ่านทาง นั่งเล่น นั่งอ่านหนังสือ ขายข้าวราคาถูกให้ชาวบ้านใกล้เคียง


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

วิรัตน์ คำศรีจันทร์
เขียนเมื่อ

๓๓. การปรับพื้นฐานเพื่อทำงานในวิถีชีวิตและพัฒนาออกจากตนเอง

  • ๕ ปีจาก ๒๕๔๗-๒๕๕๒ ใส่เสื้อผ้าไม่ต้องรีด/หยุดใช้เครื่องซักผ้าไปใช้หยอดเรียน/เลิกดูทีวีซื้อวิทยุทรานซิสเตอร์มาฟัง/ลดหุงข้าวและทำอาหารเหลือเพียงทำในวันหยุดบางวัน แต่ละเดือนลดค่าไฟฟ้า/ค่าใช้จ่าย ได้กว่าครึ่งหนึ่งจาก ๓-๔ ร้อยบาทโดยเฉลี่ย ปีหนึ่งลดค่าใช้จ่ายไปกว่า ๕ พันบาท เพิ่มเวลาการเขียนรูปและทำงานลงพื้นที่เรียนรู้กับชุมชน
  • หยุดใช้รถส่วนตัว ขึ้นรถเมล์-แท๊กซี่ ลดค่าน้ำมันได้เดือนละ ๖ พัน- ๑ หมื่นบาท รวมทั้งค่าดูแลและบำรุงรักษารถ ทั้งปีลดไปกว่า ๕ หมื่นบาทหลังหักค่าเดินทาง แบ่งเงินเดือนใช้กับภรรยาคนละครึ่ง เหลือส่งสหกรณ์ ทำห้องหนังสือ ห้องประชุม/ห้องเอนกประสงค์ ซื้อที่นาเพิ่ม ทำบ้านอยู่อย่างพอเพียง
  • ลดซื้อหนังสือ ลดกินสังสันทน์ เพิ่มอ่านหนังสือ ภาวนา เขียนบล๊อก เขียนบทความ
  • พย.๕๒ หมดหนี้สหกรณ์ แสดงงานศิลปะ ๒ ครั้ง ได้บ้าน/หอประชุมเพิ่ม ๒ หลัง ทำหน้าต่างโบสถ์ให้พ่อ ผ้าป่าโรงเรียน ได้เครือข่ายข้อมูลบ้านเกิด


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

วิรัตน์ คำศรีจันทร์
เขียนเมื่อ

๓๒. นัยะของสื่อและเอกสารการอ่านเพื่อเรียนรู้และสร้างความรู้จากเวทีเสวนา

การจัดเวทีประชาคม เวทีชุมชน และเวทีปฏิบัติการกลุ่ม เพื่อสร้างสุขภาวะสาธารณะที่มีมิติการเรียนรู้ ทำให้ชุมชนและกลุ่มคนทำมีวิธีระดมความคิด สร้างยุทธศาสตร์การคิด วางแผน และกระจายออกไปเพื่อนำเอาสิ่งที่ได้ไปสะท้อนสู่การปรับปรุงวิถีชีวิตตามเงื่อนไขความพร้อมของตน ซึ่งองค์ประกอบการจัดการความรู้อย่างหนึ่งที่ทำให้กระบวนการเรียนรู้ดังกล่าวได้ผลดีก็คือ การทำสื่อและเอกสารเพื่อส่งเสริมการทำงานด้วยกันในเวทีให้เกิดผลดีที่สุดอีกต่อหนึ่ง ความรู้และความเป็นจริงที่สะท้อนไปสู่การปฏิบัติ จะเป็นสิ่งที่ร่วมกันสร้างขึ้นจำเพาะในบริบทหนึ่งๆบนเวทีซึ่งมีปัจจัยเสริมอีกหลายอย่าง ดังนั้น จึงควรมีวิธีถอดบทเรียนเวทีแต่ละครั้งเพื่อเป็นการปรับฐานความรู้ของกลุ่มก้อนและชุมชนนั้นๆให้ยกระดับไปด้วยกันอยู่เสมอ ขณะเดียวกัน สื่อและเอกสารความรู้ที่สร้างขึ้นสำหรับเวทีดังกล่าว จะเป็นเพียงองค์ประกอบบางส่วนที่มีบริบทเฉพาะของสถานการณ์ที่ให้ประสบการณ์ตรงผ่านการมีส่วนร่วมแต่ละเวที



ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

วิรัตน์ คำศรีจันทร์
เขียนเมื่อ

๓๑. การอ่านสร้างความรู้โดยดัชนี คำหลัก และคำสำคัญ ท้ายเล่ม

การอ่านหนังสือ มีวิธีอ่านได้หลายแนว รวมทั้งผู้อ่านสามารถพัฒนาเทคนิคในการอ่านที่ช่วยให้ตนเองบรรลุวัตถุประสงค์การอ่านได้ดีที่สุด เช่น การอ่านหลายรอบ รอบแรกอ่านภาพรวมหาประเด็นหลัก รอบที่สองจึงอ่านรายละเอียดตามสารบัญเนื้อหา แล้วรอบที่สามก็เจาะในรายละเอียดตามประเด็นที่ต้องการความเข้าใจให้ลึกซึ้ง หรือบางคนก็อ่านอย่างพิถิพิถันพร้อมกับบันทึกย่อและทำเครื่องหมายเพื่อกลับมาทบทวนอีกครั้ง ซึ่งวิธีเหล่านี้เป็นการอ่านโดยถือเอาเค้าโครงเนื้อหาตามสารบัญและเข้าใจตามที่ผู้เขียนต้องการ เป็นตัวตั้ง อีกแบบหนึ่งเป็นการอ่านแบบศึกษาค้นคว้าและสะสมความรู้ที่ต่อเนื่อง ไม่ใช่อ่านเพื่อเข้าใจเนื้อหาหนังสือเท่านั้น แต่เป็นการอ่านเพื่อสร้างความรู้ซึ่งหนังสือก็จะอยู่ในฐานะเป็นข้อมูลเพื่อตอบคำถามผู้อ่านมากกว่าแสดงคำตอบผู้เขียน วิธีอ่านคืออ่านจากท้ายเล่มผ่านดัชนีและคำสำคัญ แล้วเชื่อมโยงเนื้อหาต่างๆ เพื่อเพิ่มพูนและขยายพรมแดนความรู้ออกจากกรอบของผู้อ่าน 



ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

วิรัตน์ คำศรีจันทร์
เขียนเมื่อ

๓๐. การจัดการความเปลี่ยนแปลง

การจัดการความเปลี่ยนแปลงมี ๒ แนว คือยึดเอาผลงานตามเป้าหมายและวัตถุประสงค์เป็นศูนย์กลาง กับถือเอากระบวนการและวิธีการซึ่งเป็นเครื่องมือสร้างมรรคผลทางการปฏิบัติเป็นศูนย์กลาง แบบแรก มีความเป็น Planed Change วางแผนและจัดการให้สิ่งหนึ่งเปลี่ยนแปลงไปสู่สภาพที่เป็นเป้าหมาย หากมีการเปลี่ยนแปลงเพื่อดูแลโลกรอบข้างไปด้วย ก็มักถือว่าไม่เป็นงานและภารกิจที่ต้องทำ จึงมีความเป็นระบบปิดที่อิงกับเป้าหมายจำเพาะ(Close System)เหมาะกับงานระยะสั้นและไม่ซับซ้อน ส่วนแบบที่สอง มีเป้าหมายที่ต้องยกระดับไปกับเหตุปัจจัยรอบข้างได้อยู่เสมอ สร้างสรรค์ความหมายและความเป็นจริงขึ้นระหว่างถักทอความมุ่งหวังและร่วมกันแปรไปสู่การปฏิบัติ ต้องจัดการความเปลี่ยนแปลงและไม่แน่นอนให้เป็นโอกาสสร้างสรรค์เชิงบวกได้เสมอ สร้างการริเริ่ม การค้นพบ เรียนรู้การแก้ปัญหา มีความเป็นระบบเปิด ต้องการภาวะผู้นำ ความมีวิจารณญาณ ความรอบด้าน และความสำนึกต่อสังคมส่วนรวมมากกว่าแบบแรก 



ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

วิรัตน์ คำศรีจันทร์
เขียนเมื่อ

๒๙. ทำสิ่งดีเสริมกำลังใจและสร้างความเบิกบานแจ่มใสแก่ตนเอง

เมื่อเช้าผมเดินออกจากที่พักในคอนโดเพื่อเดินทางไปมหาวิทยาลัย ระหว่างเดินลงบันได ก็พบผีเสื้อเกาะอยู่บนพื้นและยังไม่ตาย ตัวใหญ่กว่าหัวแม่มือเล็กน้อย มีขนและสีภายนอกโดยรวมเหมือนสีเปลือกต้นไม้ หัวและหนวดเหมือนสวมเกราะ คงหล่นอยู่กับพื้นเมื่อตอนมาบินเล่นแสงจากหลอดนีออนแล้วหาทางออกจากอาคารไม่ได้ ผมเลยจะช่วย แต่พอจะจับขึ้นมาเพื่อนำออกไปปล่อยนอกอาคาร เจ้าผีเสื้อก็พยายามบินหนีและชนกระจกกับผนังตึกสะเปะสะปะจนน่าเกรงว่าจะบอบช้ำและตาย ทำให้ผมต้องตั้งหลัก คอยยืนสกัดและใช้สองมือปาดป่ายต้อนให้มันบินออกไปทางหน้าต่างอาคาร ระหว่างนั้นก็ชื่นชมเจ้าผีเสื้อว่าพอกางปีกบินแล้วมันช่างสวยงามมากจริงๆ ปีกและลำตัวสีส้มเหลืองและมีดอกขาวขอบดำอยู่ทั้งสองข้าง ผมยืนต้อนและต้องโกลาหลอยู่เป็นครู่ แต่ที่สุดผีเสื้อก็บินตรงออกนอกหน้าต่างได้ พลันในปัจจุบันขณะนั้น ผมก็ได้ความรู้สึกโปร่งโล่งใจขึ้นอย่างประหลาด เป็นอีกเช้าหนึ่งที่ได้ความรื่นรมย์ใจจากการให้รางวัลเล็กๆแก่ตนเองครั้งนี้



ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

วิรัตน์ คำศรีจันทร์
เขียนเมื่อ

๒๘.จิตใจและความเอื้อเฟื้อในชุมชนมหาวิทยาลัยมหิดล

เมื่อเช้าผมไปธนาคารซึ่งห่างจากที่ทำงานในคณะโดยใช้เวลาเดินเท้าไปตามทางเดินเลียบถนนสัก ๑๐ นาที เมื่อทำธุระเสร็จก็เดินกลับ พอเดินออกมาได้สักเล็กน้อย ระหว่างที่กำลังยืนรอข้ามถนน ก็มีรถนักศึกษาผ่านมาและจอดเทียบตรงหน้า ดูแล้วน่าจะเป็นนักศึกษา ป.ตรี คิดว่าจะหยุดถามทาง แต่นักศึกษาไขกระจกลงและถามว่าจะออกไปด้านหน้ามหาวิทยาลัยซึ่งไปทางเดียวกับที่เธอกำลังจะไปไหม ทำนองว่าจะเอื้อเฟื้อให้ขึ้นรถไปกับเธอ ผมบอกว่าไม่ได้ไปและขอขอบคุณ แล้วก็อำลาด้วยความประทับใจ เป็นการแสดงความมีน้ำใจเพียงเล็กน้อยของนักศึกษาซึ่งเป็นคนรุ่นใหม่ แต่ก็สะท้อนให้ผมจินตนาการไปถึงปัจจัยส่งเสริมต่างๆที่อยู่เบื้องหลังของการปรากฏ จิตวิญญาณใหม่ๆ ของคนในชุมชนมหาวิทยาลัย ที่เป็นเรื่องดี ให้ได้สัมผัสในครั้งนี้.....อะไรคือเหตุแห่งความบันดาลใจและความอิ่มเต็ม ที่ทำให้เธอแสดงสปิริตอย่างนี้ต่อผู้อื่นหนอ ผมเดินคิดถึงสิ่งดีๆไปตลอดทางกว่า ๑๐ นาทีในตอนขากลับ ได้มากมายหลายอย่างเหมือนกัน 



ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

วิรัตน์ คำศรีจันทร์
เขียนเมื่อ

๒๗.การสร้างความรู้ท้องถิ่น กับการเป็นกลุ่มตัวอย่างของท้องถิ่น เพื่อสร้างความรู้ตอบคำถามการวิจัยของนักวิจัย

การสร้างความรู้ท้องถิ่นรวมทั้งการสร้างศักยภาพคนท้องถิ่นผ่านการวิจัยและปฏิบัติการเชิงสังคมอย่างมีส่วนร่วม องค์ความรู้ที่สร้างขึ้นเป็นเรื่องราวตนเองของชุมชน มีตำแหน่งแหล่งที่ให้ปัจเจก ชุมชน และกลุ่มคนที่เป็นคนตัวเล็กๆ ได้แสดงภูมิปัญญาเกี่ยวกับตนเองและได้ร่วมเป็นเจ้าของความเป็นส่วนรวม องค์ความรู้ดังกล่าวชาวบ้านจะเป็นทั้งผู้วิจัย วิเคราะห์ และใช้ผลการวิจัย จึงควรให้ความสำคัญโดยแสดงความเป็นเจ้าของและการดำรงอยู่ เช่น มีชื่อและบทบาทที่เขาร่วมสร้างความเป็นจริงของชุมชนด้วยตนเอง สะสมไปทีละเล็กละน้อย เสมือนเป็นผู้สร้างประวัติศาสตร์การเปลี่ยนแปลงชุมชนของตนเอง เน้นการยอมรับและความไว้วางใจกัน

แต่ในการวิจัยที่ชุมชนมีฐานะเป็นกลุ่มตัวอย่างเพื่อตอบคำถามการวิจัยสร้างความรู้ของนักวิจัยและผู้อื่น การใส่ชื่อ เปิดเผย และใช้ข้อมูลที่กระทบต่อความเป็นส่วนตัวของชาวบ้านควรจะถือว่าขาดจริยธรรมและคุณธรรมการวิจัย



ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

วิรัตน์ คำศรีจันทร์
เขียนเมื่อ

๒๖. จิตใจกับสงคราม

พันตรีนายแพทย์ฮัดซัน จิตแพทย์นายทหารอเมริกัน ใช้ปืนสงครามกราดยิงทหารเสียชีวิต ๑๓ ศพ และบาดเจ็บกว่า ๒๐ นาย เนื่องจากเครียดจากการต้องฟังการเล่าเรื่องสงครามและการรบในสงครามอิรักจากทหารที่มาบำบัดรักษาภาวะบาดเจ็บทางจิตหลังสงคราม ทหารในกองใช้ปืนยิงต่อสู้และสามารถหยุดยั้งพันตรีฮัดซัน ได้รับการชื่นชมจากชาวอเมริกันเป็นวีรบุรุษจากสถานการณ์นี้



ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

วิรัตน์ คำศรีจันทร์
เขียนเมื่อ

๒๕. ภาวะว่างงานเพิ่มขึ้นหลายประเทศของโลก

ภาวะเศรษฐกิจถดถอยของอเมริกาและของโลก ทำให้บริษัทไมโครซอล์ฟลดและเลิกจ้างพนักงาน ๕,๐๐๐ คน ตัวเลขการว่างงานของหลายประเทศทั่วโลกเพิ่มสูงขึ้น



ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

วิรัตน์ คำศรีจันทร์
เขียนเมื่อ

๒๔. Living Library กับอุทยานหนังสือและการอ่านสาธารณะ

ที่คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มีส่วนหนึ่งของห้องสมุดของคณะจัดเป็น Living Library  มีห้องเดี่ยวสำหรับอ่านหนังสือและทำงานด้วยบรรยากาศที่แวดล้อมด้วยคนอ่านหนังสือ มีที่นั่งอ่านและนอนอ่านอย่างสบายๆทั้งเป็นกลุ่มบนพื้นกับเพื่อนๆ และมุมนั่งอ่านที่เล่นพื้นที่ลดหลั่น มีมุมขายกาแฟและเครื่องดื่ม หนังสือที่จัดหาไว้เป็นหนังสือแนวเสริมการอ่าน ส่งเสริมการเรียนรู้ตามอัธยาศัย หนังสือวรรณกรรม หนังสือเรียนรู้สังคมเพื่อความรอบด้าน นักศึกษาชอบเข้าไปอ่านเป็นกลุ่มๆ ดูมีความผ่อนคลายและเป็นอิสระ ทว่า มีความเงียบสงบและได้บรรยากาศการอ่านที่ดีมาก เห็นแล้วนึกถึงมหาวิทยาลัยใต้ร่มไม้ในมหาวิทยาลัยมหิดลและในสวนสาธารณะ ที่ร่วมกันจัดกับชมรมชีวเกษมและนักกิจกรรมจากมูลนิธิครูองุ่น มาลิก สถาบันปรีดี พนมยงค์ ที่อำเภอพุทธมณฑล แล้วก็อยากให้มีอุทยานหนังสือและการอ่านกับแหล่งสัมผัสศิลปะและกิจกรรมพัฒนาการเรียนรู้ที่มีชีวิตอย่างนี้ แพร่หลายในสังคม



ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

วิรัตน์ คำศรีจันทร์
เขียนเมื่อ

๒๓. เทวดาในร่างเด็ก จากงาน ๕๐ ปีแพทยศาสตร์เชียงใหม่

อังคารที่ ๒๗ ตุลาคม ๒๕๕๒ ผมได้ไปเดินในงานซึ่งจัดขึ้นเนื่องใน ๕๐ ปีแพทยศาสตร์ของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มีกิจกรรมและการแสดงเวทีหลายอย่าง นักร้องเด็กคนหนึ่งชื่อเล่นว่าผึ้ง อายุเพียง ๑๐ ขวบได้รับเชิญมาร้องเปิดเวที ร้องเพลงแม่ผ่องศรี วรนุช ๒ เพลง และเพลงซึ่งมืออาชีพแต่งให้เธอร้องบันทึกเสียงอีก ๑ เพลง เสียงร้องอันไพเราะ การคุยทักทายผู้ดู และการนำเข้าสู่เพลงแต่ละเพลงของเธอ ในขณะที่พิธีกรบอกว่าอายุเพียง ๑๐ ขวบนั้น สะกดผู้ชมทั้งสนามให้หยุดคุยและหันไปฟังเพลง งานนี้ผมได้ลองเรียนรู้ตนเองเพื่อจะได้ทำในสิ่งที่ไม่เคยมีประสบการณ์เลยหลายอย่างคือ ได้ขึ้นชิงช้าสวรรค์ซึ่งเมื่อตอนเป็นเด็กไม่เคยมีสตางค์ขึ้นและเมื่อโตก็คิดว่าตนเองแก่เกินไปที่จะไปหาความรื่นรมย์จากเครื่องเล่น กับยืนเข้าแถวยาวเหยียด ๒-๓ รอบเพื่อไปรับอาหารฟรีจากการออกร้าน เป็นการเปลี่ยนอริยาบทของชีวิตที่ได้ความประทับใจดีอย่างง่ายๆ



ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

วิรัตน์ คำศรีจันทร์
เขียนเมื่อ

๒๒. บทบาทการเป็นผู้ประสานความรู้ โดยผู้นำภาคราชการและผู้บริหารภาครัฐท้องถิ่น 

ในเวทีระดมความคิดมหาวิทยาลัยมหิดลกับ สส. และคนเมืองกาญจน์ เรื่องการสร้างมหาวิทยาลัยมหิดลกาญจนบุรี เมื่อศุกร์ที่ ๑๖ ตุลาคม ๒๕๕๒ นายเริงศักดิ์ มหาวินิจฉัยมนตรี ผวจ.กาญจนบุรี ดำเนินรายการและร่วมนำเสนอข้อมูลเพื่อเปิดประเด็น ผู้ว่านำเสนอข้อมูลเชิงวิชาการและวิเคราะห์แนวโน้มความเปลี่ยนแปลงของเมืองกาญจน์และประเทศเพื่อนบ้าน รวมทั้งชี้ให้เห็นแนวโน้มการพัฒนาภูมิภาคลุ่มน้ำโขงตอนล่าง ที่มีความหมายต่อทั้งเมืองกาญจน์ ประเทศไทย และกลุ่มประเทศในลุ่มแม่น้ำโขงตอนล่าง ฟังแล้วน่าประทับใจและเห็นอีกบทบาทหนึ่งของผู้ว่าราชการที่หาได้ยาก การทำให้คนมองไกล กว้าง และประสานความร่วมคิด-ร่วมทำของคนที่ต่างองค์กร ต่างข้อมูล ต่างผลประโยชน์ ยากที่จะเกิดโดยสั่งให้เป็น การใช้วิถีการนำความคิดริเริ่มด้วยการนำเสนอความรู้และให้กลุ่มผู้เข้าร่วมได้หารือกัน อย่างที่เห็นจากกรณีผู้ว่าเมืองกาญจน์นี้ เป็นวิธีที่แก้ปัญหานี้ได้อย่างดียิ่ง  



ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

วิรัตน์ คำศรีจันทร์
เขียนเมื่อ

๒๑. มหาวิทยาลัยมหิดลเพื่อความเป็นผู้นำการพัฒนาท้องถิ่น

เมื่อบ่ายวันศุกร์ ๑๖ ตุลาคม ๒๕๕๒ ผศ.นคร เหมะ รองอธิการบดีฝ่ายวิทยาเขต มหาวิทยาลัยมหิดล วิทยาเขตอำนาจเจริญและกาญจนบุรี ชวนไปคุยแลกเปลี่ยนความคิดและร่วมสังเกตการณ์การประชุมระดมความคิดกับคนเมืองกาญจน์ที่สำนักงานจังหวัดเพื่อนำเสนอวิสัยทัศน์ของมหาวิทยาลัยมหิดลที่เมืองกาญจน์ซึ่งเปลี่ยนจากแนวคิดความเป็นวิทยาเขตสารสนเทศและมุ่งความเป็นสากล สู่มหาวิทยาลัยเพื่อเป็นผู้นำการพัฒนาท้องถิ่น ผู้ว่าราชการจังหวัดและรองอธิการบดี ร่วมกันเป็นผู้ดำเนินการเสวนา กลุ่มผู้ร่วมประชุมเสวนาประกอบด้วยกลุ่มครูเขตพื้นที่การศึกษา สส.๓ คน หอการค้าจังหวัด นักธุรกิจท้องถิ่น และกลุ่มผู้บริหารของมหาวิทยาลัยมหิดล ได้แนวทางพัฒนาความร่วมมือกับจังหวัดอีก ๓ เรื่องคือ การมีศูนย์ประสานความร่วมมืออยู่ในตัวเมืองกาญจน์สัก ๑ แห่ง | การพัฒนากลไก(ในรูปกรรมการร่วม)เพื่อทำงานด้วยกันให้ต่อเนื่อง | ประเด็นร่วมเพื่อการพัฒนาในอนาคตของจังหวัดและภูมิภาคของประเทศ



ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

วิรัตน์ คำศรีจันทร์
เขียนเมื่อ

๒๐. ทรรศนะพื้นฐานของอารยันอินเดียโบราณที่สะท้อนอยู่ในมหาภารตยุต

สัจธรรมนั้น มีทางมองเห็นและเข้าหาได้หลายทางด้วยกัน เพราะฉนั้น ขันติธรรมหรือความอดกลั้นต่อความเชื่อถือที่แตกต่างกันหรือแม้แต่ที่ขัดแย้งกัน จึงมีอย่างกว้างขวาง | ใน  พบถิ่นอินเดีย ยวาหระลาล เนห์รู เขียน กรุณา กุศลาสัย แปล สำนักพิมพ์ศยาม ฉบับพิมพ์ครั้งที่ ๔, ๒๕๔๕ : ๑๘๗ 



ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

วิรัตน์ คำศรีจันทร์
เขียนเมื่อ

๑๙. แก่นทรรศนะในมหาภารตยุต

สิ่งใดที่ตัวท่านเองไม่ชอบ สิ่งนั้นจงอย่าทำแก่ผู้อื่น | คุณธรรมเป็นสิ่งประเสริฐกว่าความไม่ตายและชีวิต | ใน  พบถิ่นอินเดีย ยวาหระลาล เนห์รู เขียน กรุณา กุศลาสัย แปล สำนักพิมพ์ศยาม ฉบับพิมพ์ครั้งที่ ๔, ๒๕๔๕ : ๑๙๐ 



ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

วิรัตน์ คำศรีจันทร์
เขียนเมื่อ

๑๘. สามวิถีทางแห่งความเจริญก้าวหน้าของมนุษย์ในภควัทคีตา

วิถีทางสามประการอันนำความเจริญก้าวหน้ามาสู่มนุษย์ ๑.วิถีทางแห่งปัญญา ชญานมารฺค ๒.วิถีทางแห่งการกระทำ กรฺมมารฺค ๓.วิถีทางแห่งความภักดีเชื่อมั่น ภกฺดิมารฺค ใน พบถิ่นอินเดีย ยวาหระลาล เนห์รู เขียน กรุณา กุศลาสัย แปล สำนักพิมพ์ศยาม ฉบับพิมพ์ครั้งที่ ๔, ๒๕๔๕ : ๑๕๓ 

 



ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

วิรัตน์ คำศรีจันทร์
เขียนเมื่อ

๑๗. มหาวิทยาลัยเพื่อพัฒนาท้องถิ่นกับเพื่อการเป็นผู้นำด้วยความเป็นตัวของตัวเองของสังคมนั้นไม่เหมือนกัน

มหาวิทยาลัยและสถาบันการศึกษาขั้นสูงที่อยู่ในภูมิภาคและมีบทบาทต่อเรื่องท้องถิ่นของสังคมไทย มักถูกมองว่าเชี่ยวชาญเรื่องท้องถิ่น และเรื่องท้องถิ่นนั้นก็จะไม่มีความเป็นเลิศในระดับสากล เลยมักมุ่งไปขึ้นเวทีประกวดระดับโลกและระดับสากล โดยลืมไปว่าสังคมไทยมีความเฉพาะที่เป็นหนึ่งหลายอย่างและมีอยู่ประเทศเดียวบนแผนที่สังคมโลก หากรู้เรื่องตนเองดีและสะท้อนปัจจัยแวดล้อมสังคมโลกสู่บริบทของตนเองได้อย่างพอดีอย่างไทยๆ สร้างทรรศนะอธิบายโลกได้จากความเป็นตัวของตัวเอง ก็จะไม่มีที่ใดของโลกจะรู้ดีและมาเป็นผู้นำได้ดีกว่า แต่การรู้จักสังคมไทยและวิธีแก้ปัญหาตนเองของสังคมไทยหลายอย่างกลับต้องไปเรียนรู้ตามหลังต่างประเทศ แม้แต่เรื่องของตัวเองที่ทำเพียงเพราะได้ชื่อว่าแบรนด์นอก เพราะฐานคติเชื่อว่าเรื่องของตนเองเป็นท้องถิ่นและการทำให้ได้อย่างคนอื่นเขาที่อยู่แถวหน้าเป็นการเรียนรู้ที่เป็นสากล ทำให้สังคมกับการพัฒนาการศึกษาไม่สะท้อนกันและกัน



ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

วิรัตน์ คำศรีจันทร์
เขียนเมื่อ

๑๖. หลายแนวทางของ 'การจัดการความเปลี่ยนแปลง'

การตั้งเป้าหมายให้ต่างไปจากฐานเดิมแล้วจัดการให้กระบวนการต่างๆมุ่งสู่เป้าหมายและมีปัจจัยที่คงที่นั้น มีลักษณะเป็นการจัดการความเปลี่ยนแปลงแบบระบบปิด หากระหว่างกระบวนการมีความเปลี่ยนแปลงไปจากที่วางไว้จะถูกมองว่าเป็นปัญหา ซึ่งจะไม่สอดคล้องกับความเป็นจริงของโลก จึงใช้ได้ดีกับภายในองค์กรและชุมชนขนาดเล็กหรือกิจกรรมที่ไม่ซับซ้อน หากใช้กับสังคมที่เปิดกว้างก็อาจจะก่อให้เกิดความขัดแย้งและเป็นความรุนแรงเชิงโครงสร้างได้ง่าย อีกวิธีหนึ่งคือการจัดการความเปลี่ยนแปลงอย่างเน้นกระบวนการ การรู้ว่ากำลังอยู่ตรงไหนและได้ความซาบซึ้ง ได้สุขภาวะจากสิ่งที่ทำ ควบคู่ไปกับมีการเรียนรู้และได้ตัวปัญญาที่พอใช้ในเงื่อนไขนั้นๆไปด้วยตลอดเวลา เป็นการเจริญสติภาวนาและถือเป็นการเดินถึงเป้าหมายในเชิงกระบวนการ วิธีหลังนี้จึงไม่มองความเปลี่ยนแปลงและไม่แน่นอนว่าเป็นปัญหา ทว่า เป็นเรื่องที่ต้องจัดการความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นตลอดเวลานั้น ให้เป็นโอกาสสร้างสรรค์สิ่งดีๆบนรายทางได้อยู่เสมอ



ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

วิรัตน์ คำศรีจันทร์
เขียนเมื่อ

๑๕. ความยั่งยืนในการเรียนรู้และการจัดการความเปลี่ยนแปลง

สังคมไทยและสังคมทั่วโลกมีความซับซ้อน หลากหลาย  มีกิจกรรมสังคม ติดต่อสื่อสาร และมีปฏิสัมพันธ์กันอย่างใกล้ชิดความเปลี่ยนแปลงจะเกิดขึ้นอย่างรวดเร็วเป็นทวีคูณ ความเข้มแข็งและความยั่งยืนที่มีลักษณะหยุดนิ่ง ไม่ว่าจะเป็นตัวความรู้ ตัวบ่งชี้ การจัดองค์กร และลักษณะการจัดการ หากพยายามทำให้คงที่หรือหยุดนิ่งก็จะเหมือนความพยายามจับล้อรถที่กำลังวิ่ง หากไม่ทำให้ตนเองเสียหาย ก็จะก่อความเสียหายให้สังคมรอบข้าง ในสภาวการณ์อย่างนี้ ความยั่งยืน ความสมดุล และความพอเพียง ต้องมีลักษณะพลวัตร สัมพัทธ์ เคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลง มีการเรียนรู้พร้อมกับละวาง และจัดการความเปลี่ยนแปลงได้อย่างเหมาะสมตลอดเวลา องค์กรสื่อ องค์กรพัฒนาการเรียนรู้ที่หลากหลาย ผู้จัดกระบวนการเรียนรู้ ผู้ประกอบการและจัดการทางสังคม น่าจะเป็นองค์กรชนิดใหม่ที่เพิ่มการมีบทบาทต่อภาคสาธารณะของสังคม



ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

วิรัตน์ คำศรีจันทร์
เขียนเมื่อ

๑๔.การศึกษาทางเลือกและการพัฒนาการเรียนรู้ชุมชน

วันพฤหัสบดี ที่ ๑ ตุลาคม ๒๕๕๒ ผมเริ่มการทำงานที่คณะสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล คณะสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดลนี้ มีความน่าท้าทายต่างจากมหาวิทยาลัยอื่น โดยเมื่อมองผ่านสาขาวิชาการที่มีความบูรณาการแล้ว จะเห็น ๓-๔ คณะของที่อื่นมารวมอยู่ด้วยกัน คือ สังคมศาสตร์ มนุษยศาสตร์ ศึกษาศาสตร์ และบางส่วนของศิลปศาสตร์ จึงจัดว่าเป็นคณะสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ที่ใหญ่ที่สุดและไม่เหมือนมหาวิทยาลัยใดของประเทศ ขณะเดียวกัน ก็อยู่ในมหาวิทยาลัยมหิดลซึ่งมีความเป็นผู้นำการศึกษาทางการแพทย์ วิทยาศาสตร์ และสาธารณสุข มาก่อน จึงนอกจากจะมีความสำคัญอยู่ในตนเองแล้ว ก็สามารถเป็นคณะวิชาที่ส่งเสริมให้ความเป็นมหาวิทยาลัยอันแท้จริงที่ถึงพร้อมในความเป็นสหวิทยาการของมหาวิทยาลัยมหิดลให้เด่นชัดขึ้นและไม่เหมือนมหาวิทยาลัยใด รองศาสตราจารย์ ดร.เนาวรัตน์ พลายน้อย หัวหน้าภาควิชาศึกษาศาสตร์ ให้การต้อนรับอย่างน่าประทับใจโดยให้นั่งที่โต้ะทำงานของท่านเพื่อเป็นการประเดิมวันแรกของการทำงาน   



ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท